ข้อมูลของกรมที่ดิน ที่ถูกนำเสนอโดยสำนักข่าว BBC Thai เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า อันดับการถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติในไทย ปี 2564 มีคนจีนเป็นเจ้าของมากที่สุดอันดับ 1 มูลค่ารวมอยู่ที่ 19,588 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘วานูอาตู’ ประเทศที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหู ถือครองเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,111 ล้านบาท โดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งให้ข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วผู้ถือพาสปอร์ตวานูอาตูมากกว่าครึ่งคือคนจีนเป็นหลัก
หลักฐานสำคัญล่าสุดที่เห็นได้ชัด คือการบุกค้นบ้านหรูของนายเซา เซียนโป ที่ซอยอมยิ้ม ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่านายเซียนโปผู้มีความข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหลายประการ ถือพาสปอร์ตทั้งสิ้น 2 สัญชาติ คือ จีนกับวานูอาตู
ดูเหมือนว่าในกลุ่มประเทศยุโรปต่างก็เริ่มจัดการอย่างจริงจังกับผู้ถือพาสปอร์ตวานูอาตูแล้วเช่นกัน เนื่องจากตรวจพบว่าผู้ขอพาสปอร์ตของประเทศดังกล่าวไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในวานูอาตู หรือกระทั่งสามารถขอพาสปอร์ตเล่มดังกล่าวได้แม้เจ้าตัวจะอยู่ในลิสต์รายชื่อเฝ้าระวังขององค์การตำรวจสากล (องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ – International Criminal Police Organization หรือ Interpol) ก็ตาม ยังสามารถขออนุมัติพาสปอร์ตได้ภายใน 2 เดือน ขอเพียงแค่มีเงินถึง ซึ่งปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาจำนวนมากต่างก็มีพาสปอร์ตเล่มดังกล่าวไว้ในครอบครอง
รู้จัก ‘วานูอาตู’ ประเทศในฝันของมหาเศรษฐีสีเทา
วานูอาตู (Vanuatu) ประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะเป็นหมู่เกาะที่แบ่งออกเป็น 13 เขต มีประชากรประมาณ 315,700 คน ฐานเศรษฐกิจสำคัญคือเกษตรกรรม ก่อนที่จะเริ่มขยับขยายมาสู่การท่องเที่ยวและการให้บริการทางการเงินแก่คนต่างชาติเป็นหลักในภายหลัง
วานูอาตูมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ 3,127.45 ดอลลาร์สหรัฐ มีหนี้สาธารณะจำนวนมากที่เกิดจากภัยพิบัติพายุไซโคลนถล่มในปี 2014 มีอัตราส่วนผู้เข้าถึงพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 67.3 จากจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ และมีอัตราสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเพียงร้อยละ 26
ย้อนกลับไปในปี 2021 สำนักข่าว The Guardian ได้รายงานกรณีอื้อฉาวนี้เอาไว้ว่า มีปัจเจกบุคคลมากกว่า 2,000 คนที่เข้าร่วมกับโครงการ ‘Golden Passport’ ของประเทศวานูอาตู โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจที่ตำรวจทั่วโลกกำลังต้องการตัว ซึ่งพาสปอร์ตวานูอาตูสามารถใช้เดินทางได้ถึง 130 ประเทศ โดยไม่ต้องมีวีซ่า (Visa) เช่น ยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ไปจนถึงฮ่องกง
โครงการ ‘Vanuatu Citizenship Program’ ถูกก่อตั้งครั้งแรกโดยรัฐบาลวานูอาตูในปี 2017 ที่ให้สิทธิพิเศษยาวนานถึง 10 ปี และยังครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย โดยเว็บไซต์ Citizenship Invest ระบุว่าเป็นโครงการที่เปิดให้เข้าร่วมได้ในลักษณะ ‘บริจาค’ เพื่อนำไปพัฒนาชาติวานูอาตูเป็นเงินทั้งสิ้น 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ
วาตูอานูยังขึ้นชื่อเรื่องการให้บริการเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ (Offshore Bank) ที่ให้อิสระและรักษาความลับของลูกค้าเป็นอย่างดี เมื่อรัฐบาลไม่รู้จำนวนรายได้ที่แน่นอนของปัจเจกบุคคล ก็มีโอกาสมากขึ้นที่พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีได้ด้วยการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารวานูอาตู
เหล่าผู้ถือพาสปอร์ตวานูอาตู คือคนจีนสูงสุดอันดับ 1
สำนักข่าว The Guardian รายงานด้วยว่า ในจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการพาสปอร์ตวานูอาตูล้วนเต็มไปด้วยผู้ทำผิดกฎหมาย อาทิ นักธุรกิจชาวซีเรียที่ถูกสหรัฐฯ หมายหัว นักการเมืองของเกาหลีเหนือ นักธุรกิจอิตาลีที่ถูกกล่าวหาว่ารีดไถเงินจากวาติกัน มาเฟียมอเตอร์ไซค์ออสเตรเลีย ไปจนถึงนักปล้นสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับผู้ถือพาสปอร์ตนี้ทั้งหมดจะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นผ่านสัญชาติดั้งเดิมของผู้เข้าร่วมโครงการ
สำนักข่าว The Guardian ระบุว่าสามารถสืบค้นรายชื่อบางส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้ทั้งสิ้น 2,200 คน ในปี 2020 โดยพบว่ามีจำนวนถึง 1,200 คนที่เป็นคนจีน รองลงมาคือคนจากภูมิภาคตะวันออกกลางอีกประมาณ 390 คน และจากแอฟริกาอีกประมาณ 230 คน ตามด้วยชาวยุโรป เอเชีย สหรัฐ และออสเตรเลีย
นอกเหนือไปจากนี้ยังค้นพบว่า หากบุคคลหนึ่งได้รับสิทธิพลเมืองของวานูอาตู แล้วไปแจ้งเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ที่วานูอาตูอย่างเป็นทางการ จะสามารถสร้างตัวตนปลอมขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การได้รับสิทธิพลเมืองด้วยการ ‘ลงทุน’ หรือ ‘บริจาค’ นั้นไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และหลายประเทศก็มีโครงการในลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่กระบวนการตรวจสอบผู้เข้าร่วมโครงการที่ไม่รัดกุมมากเพียงพอ ทำให้ประเทศที่มีโครงการในลักษณะนี้เป็นที่ชุกชุมขององค์กรอาชญากรรม รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้องค์กรหรือบุคคลลักษณะดังกล่าวมีฐานปฏิบัติการอย่างชอบธรรมในที่ห่างไกล ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในวานูอาตู
หากมองหาข้อห้าม ‘อย่างเป็นทางการ’ จะพบว่าวานูอาตูไม่อนุญาตให้มอบพาสปอร์ตแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศซีเรีย อิรัก อิหร่าน เยเมน และเกาหลีเหนือ ยกเว้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่นอกประเทศเหล่านั้นอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งสำนักข่าว The Guardian พบช่องโหว่ขนาดใหญ่ว่า หากผู้อยู่อาศัยในประเทศเหล่านี้ใช้พาสปอร์ตประเทศอื่นในการยื่นขอพาสปอร์ตวานูอาตูก็ยังทำได้อยู่เช่นเดิม กรณีตัวอย่างคือ นักการเมืองระดับสูงของเกาหลีเหนือและภรรยาที่สามารถยื่นขอพาสปอร์ตได้ผ่านการใช้พาสปอร์ตสัญชาติจีน เป็นต้น
ปี 2020 วานูอาตูมีรายได้จากโครงการนี้ทั้งสิ้น 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พลเมืองจีนและวานูอาตู กับการกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทย
ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้คนต่างชาติซื้อกรรมสิทธิ์อาคารห้องชุดได้ที่ร้อยละ 49 จากพื้นที่ห้องชุดทั้งหมดที่มีขายในอาคาร โดยเฉลี่ยห้องชุดทั้งประเทศมีจำนวนอยู่ที่ 1.5 ล้านยูนิต นั่นหมายความว่า ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ได้สูงสุดถึงประมาณ 90,000 ยูนิต โดยข้อมูลปี 2564 ระบุว่า มูลค่ารวมของห้องชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 29,795 ล้านบาท
แต่หากตั้งสมมุติฐานว่าชาววานูอาตูที่เป็นผู้ซื้ออันดับ 2 ในกรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นชาวจีนที่ถือพาสปอร์ตวานูอาตู อาจประมาณการณ์ได้ว่ากรรมสิทธิ์การถือครองห้องชุดของชาวจีนจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 20,699 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 69 ของจำนวนมูลค่าห้องชุดทั้งหมดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
หากขยับมามองสถานการณ์การขายบ้านเดี่ยว พบว่าบ้านเดียวในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพญาไท จตุจักร ดินแดง ลาดพร้าว และวังทองหลาง รวมถึงยังมีโครงการบ้านเดี่ยวราคาเริ่มต้นที่ 30 ล้านบาทอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 95 ล้านบาทต่อหลัง ซึ่งเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26,502 บาทเท่านั้น หรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงเองซึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 125,000 บาทต่อเดือน ก็ยังไม่สามารถผ่อนบ้านในราคาดังกล่าวได้ ข้อสันนิษฐานสำคัญคือ โครงการบ้านเดี่ยวจำนวนมากนี้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติที่มีกำลังซื้อ สำหรับกรณีนี้ก็คือกลุ่มผู้ถือพาสปอร์ตจีนและวานูอาตู ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นกลุ่มคนเดียวกัน
แน่นอนว่าการดึงดูดให้ชาวต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์เข้ามาลงทุนหรืออยู่อาศัยในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องดีในทางเศรษฐกิจ ทว่าขั้นตอนและวิธีการคัดกรองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่สหภาพยุโรปเพิกถอนการเดินทางแบบ Visa-free ของผู้ถือพาสปอร์ตวานูอาตู โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 เป็นต้นไป และจะดำเนินมาตรการเช่นนี้ต่อไปจนกว่ารัฐบาลวานูอาตูจะจริงจังกับการแก้ไขปัญหาให้มากยิ่งขึ้น
หากผู้ถือพาสปอร์ตวานูอาตูจำนวนมากที่มีความคลุมเครือในความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา สามารถที่จะเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้อย่างมหาศาลเช่นนี้ และมีความเป็นไปได้ว่าการถือ 2 พาสปอร์ต จะทำให้ได้เปรียบในการหลบเลี่ยงข้อบังคับหลายประการของกฎหมายไทย ประเทศไทยก็อาจจะต้องแสดงท่าทีที่จริงจังในการปรับมาตรการให้เท่าทันกับกลวิธีสีเทาเหล่านี้มากขึ้น ดังเช่นที่สหภาพยุโรปกำลังเร่งปรับตัวในปัจจุบัน
ที่มา
- ต่างชาติซื้อที่ดิน : เปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมไฟเขียวต่างชาติถือครองบ้านที่ดินไม่เกิน 1 ไร่
- ตม.บุกค้นบ้านนายทุนจีน สวมบัตรไทย ตะลึงคฤหาสน์หรูมีหัวรถไฟความเร็วสูงตั้งโชว์
- Citizenship Invest
- Britannica
- World Bank
- EU halts Vanuatu visa-free access over ‘golden passports’ scheme