เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ภาพ: สวรรณยา พรรัตนสกุล
แทนที่จะทำหนังด่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ไปเลยตรงๆ เขาก็เปลี่ยนไปทำหนังโป๊เลย
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หรือ Filmsick นักเขียนและคอลัมนิสต์ เปิดบางส่วนของหนังโป๊สัญชาติฟิลิปปินส์ ที่ว่าด้วยเรื่องความโสมมของสังคมชาวแฟลตในยุค เฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล เอดราลิน มาร์กอส (Ferdinand Emmanuel Edralin Marcos) หรืออดีตประธานาธิบดีคนที่ 10 ของประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 21 ปี บุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ฉ้อฉลที่สุดคนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจาก ซูฮาร์โต แห่งประเทศอินโดนีเซีย
นี่คือบางส่วนของวงเสวนาเรื่อง ‘สงคราม เซนเซอร์ ศาสนา ผี และโฆษณาชวนเชื่อ ในภาพยนตร์อุษาคเนย์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาประเทศไทยในมิติทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง และ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหนังที่ถูกแบน เรื่อง Boundary (ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง) ภาพยนตร์สารคดีสะท้อนปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ชวนวิวัฒน์เข้าห้องบรรยายและร่วมพูดคุยในประเด็นที่ว่า ทำไมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อุษาคเนย์ ทั้งที่ถูกแบนและไม่ถูกแบน ถึงได้วนเวียนอยู่แต่ในเรื่องสงครามศาสนา ผี และโฆษณาชวนเชื่อ
ภาพยนตร์สร้างชาติ
“ปกติเวลาที่เราดูหนังสงครามเวียดนาม เราก็จะดูผ่านมุมมองของฝั่งอเมริกา แต่ถ้าเรามาดูหนังสงครามของเวียดนามที่สร้างโดยคนเวียดนามเอง เราจะเห็นความแตกต่างที่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างระหว่างหนังของเวียดนามเหนือที่ขณะนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และหนังจากเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา”
วิวัฒน์เปิดฉากด้วยภาพยนตร์จากประเทศเวียดนาม ภาพยนตร์ที่สร้างในยุคสงครามตัวแทนช่วงสงครามเย็นที่เกิดขึ้น กินอาณาเขตสามประเทศ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยมีชาญวิทย์คอยเสริมบริบทและแง่มุมประวัติศาสตร์ รวมทั้งเปรียบเทียบปี พ.ศ. และเทียบเคียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย เพื่อให้เห็นความสอดร้อยของประวัติศาสตร์การเมืองในอุษาคเนย์ด้วย
“ในขณะที่หนังของเวียดนามเหนือจะเต็มไปด้วยเนื้อหาปลุกใจให้คนรู้สึกว่าอยากจะต่อสู้ หนังเรื่อง Warrior: Who Are You ของเวียดนามใต้เต็มไปด้วยความหดหู่หม่นหมอง มีแต่ความสูญเสียและการบาดเจ็บล้มตาย แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภายในของตัวเอก ก็จะพากลับไปสร้างความปลุกใจลึกๆ ให้กับตัวเอง แสดงออกถึงความรักชาติ ผ่านการดูชีวิตของทหารหลายๆ นายที่ต้องจบชีวิตลงในสงคราม”
จาก Warrior: Who Are You ของฝั่งเวียดนามใต้ วิวัฒน์เปิดภาพยนตร์เรื่อง Girl from Hanoi จากเวียดนามเหนือเปรียบเทียบมุมมองและมุมมองความรักชาติผ่านสายตาอีกกรอบ เป็นภาพและเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่เดินตามหาพ่อท่ามกลางซากปรักหักพังของหน่วยทหาร จนกระทั่งไปเจอกับความยากลำบากของคนฮานอย
“แล้วฉากที่เห็นอยู่ในหนังเรื่อง Girl from Hanoi ก็เป็นสนามและสถานการณ์จริงด้วย การทำหนังของคนเวียดนามยุคนั้นน่าสนใจมาก ตรงที่ผู้กำกับส่วนใหญ่เป็นทหารและก็สร้างหนังด้วย”
จากเวียดนามไปสู่กัมพูชากับ After The Curfew เรื่องราวของทหารที่กลับมาที่ประเทศกัมพูชาหลังจากการรบกับเขมรแดง และไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เปลี่ยนไปได้
ต่อด้วยหนังโฆษณาชวนเชื่อจากประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างหนัง propaganda ของตัวเอง โดยฐานการสร้างใหญ่อยู่ที่อินโดนีเซีย และเผยแพร่หนังไปทั่วเอเชีย
“ระหว่างปี 1941-1945 ก่อนสงครามโลกสิ้นสุด ญี่ปุ่นบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในยุคโกบุริกับอังศุมาลิน ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นหนังที่บอกว่าชีวิตในค่ายกักกันมันช่างดีและมีความสุข ในชื่อเรื่อง Calling Australia” วิธีการจำหน่ายหนังคือ เอาภาพยนตร์ใส่เครื่องบิน แล้วหย่อนชูชีพลงไปที่ประเทศออสเตรเลีย
จากนั้นก็ค่อยไล่เรียงและฉายให้เห็นภาพวงการหนังพม่า กัมพูชา ลาว และลำดับเวลาเริ่มไล่เรื่อยตีเบียดเข้าใกล้ช่วงเวลาปัจจุบัน
ภาพยนตร์ในยุคสงครามไม่เคยถอยห่างจากความพยายามสร้างชาติ หรือบอกเล่ากล่อมเกลามุมมองความรักชาติในรูปแบบของตัวเองเลย
ภาพยนตร์เขียนบทให้ดอกไม้สร้างชาติ
จากข้อสังเกตในวงสนทนาของวิวัฒน์ว่า หนังในยุคสร้างชาติส่วนใหญ่มักมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงและเด็ก วิวัฒน์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า
“คิดว่าเพราะหนังส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างมาเพื่อปลุกเร้าให้ทหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายต้องมารักชาติแล้ว แต่เราสร้างหนังมาให้ประชาชนรักชาติ ผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นผู้ถูกกระทำ จึงถูกดึงขึ้นมาเป็นตัวละครหลัก และพอพูดถึงชาติ ในความเป็นอุษาคเนย์นั้น ผู้หญิงก็ถูกแทนค่าว่าเป็นแผ่นดินแม่ด้วย นอกจากนั้นมันก็มีผลเรื่องการดึงอารมณ์ในเชิงสัญลักษณ์ออกมาทางผู้หญิงได้ง่ายกว่า”
พราหมณ์ พุทธ ผี อิสลาม
“ศาสนากับผี จะเป็นสิ่งที่เชื่อมสังคมอุษาคเนย์ไว้ด้วยกันเป็นอย่างดี” ทั้งเรื่องพุทธผีในแบบจักรๆ วงศ์ๆ เช่น นางสิบสอง เวอร์ชั่นกัมพูชา การตีความพุทธจากสายเถรวาทของไทยและพม่า เป็นหนังสัญชาติไทยแต่เล่นกับผีเขมรอย่างหนังเรื่อง ลองของ ผีพื้นเมือง ผีข้ามชาติ หรือหนังรวมมิตรผีหลายๆ ชาติอยู่ในหนังเรื่องเดียว
“หนังผีไทยมันมีวิวัฒนาการ จากที่แต่ก่อนเป็นสไตล์ที่คนขอพรพระแล้วพระจะมาช่วย ไปเป็นพุทธซ่อนผี เป็นหนังพระหนังผีที่ตลก และปัจจุบันเริ่มเป็นหนังผีวิทยาศาสตร์สไตล์ฮอลลีวูด ที่ต้องแก้ปมปัญหาให้กับผี แล้วผีจะไปสู่สุคติ”
ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงหนังทำเงินอย่าง หลวงพี่แจ๊ส 4G ว่า เอาเข้าจริงแล้วหากคนที่ทำหนังเรื่องนี้เป็น อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หนังเรื่องนี้ก็อาจถูกแบนไปแล้ว เพราะหนังพูดเรื่องของลูกเทพ การหนีปัญหาทางโลกไปบวช และอื่นๆ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่กระแทกวงการศาสนาอย่างมาก แต่เพราะมันถูกบิดให้เป็นหนังกึ่งตลก กึ่งธรรมะสอนใจ ก็เลยหลุดจากการตั้งคำถามของกองเซ็นเซอร์เมืองไทยไปได้ ซึ่งประเด็นนี้วิวัฒน์กล่าวเสริมอีกว่า
“สิ่งที่จะเซ็นเซอร์คือสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม แต่ควบคุมสิ่งที่เป็นภัยต่อรัฐ แต่กรณี หลวงพี่แจ๊ส 4G มันเป็นตลาดแมส หนังที่พูดและดึงเรื่องของคนชนชั้นล่างออกมา ซึ่งมันน่าสนใจมากว่าในขณะที่มันทำเงิน 150 ล้าน ชนชั้นกลางกลับด่ากันแหลกว่ามันห่วยอย่างไรบ้าง ซึ่งเข้าใจได้ว่า เป็นหนังที่ไม่ได้ดีมาก แต่สิ่งที่ลึกลงไปกว่าความห่วย คือสารที่กระแทกวงการศาสนา และความจริงของชนชั้นกลางได้แรงมาก
“สังคมไทยมองหนังเป็นมหรสพ อย่างลิเก คนเล่นเป็นยาจก แต่ก็แต่งให้แพรวพราวได้ มัน hypereality ไม่มีใครเอานิยายกับมัน แต่เมื่อไรก็ตามที่หนังมันเข้าใกล้ความจริง มันท้าทาย
การตลกผ่านการเหยียดหยามไม่ถือว่าเป็นเรื่อง abuse ไง ซึ่งมันเป็นเรื่องเลวร้ายมาก
สร้างได้ ฉายไม่ได้
“ท้องก่อนแต่งไม่ได้ กินเหล้าสูบบุหรี่พร้อมกันไม่ได้ เครื่องแต่งตัวตะวันตกใส่กระโปรงหรือกางเกงไม่ได้ เคี้ยวหมากไม่ได้ ผู้หญิงนั่งดื่มแล้วมีผู้ชายมาติดพันไม่ได้” นี่คือมาตรฐานการแบนหนังของประเทศพม่า และมาตรการนี้ในช่วงยุคนายพลเนวิน เคยรุนแรงถึงขนาดที่คนในชาติเลิกทำหนังการเมืองไปเลย
การแบนหนังที่เป็นตะวันตกมากไปของประเทศพม่า คล้ายกับมาตรฐานการเซ็นเซอร์หนังของประเทศเวียดนามหลังรวมชาติเช่นกัน
การกีดกันในอีกรูปแบบหนึ่งคือ การคืนภาษี 25 เปอร์เซ็นต์จากหนังต่างชาติให้กับคนทำหนังในประเทศมาเลเซีย แต่มีเงื่อนไข 70 เปอร์เซ็นต์ในหนังที่ทำต้องเป็นภาษามาลายู แปลว่าคนต่างชาติย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในอีกแบบหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การจำกัดและควบคุมเนื้อหาหนังจากภาครัฐ ก็มีส่วนผลักดันให้กับคนทำหนังเลือกปลดปล่อยความคับข้องใจและสะท้อนปัญหาสังคมในรูปแบบอื่น เช่น ประเทศฟิลิปปินส์เลือกทำหนังโป๊ ที่ให้ภาพการเป็นอยู่ของคนชนชั้นล่างแทน