‘อบอุ่น’
คือคำเดียวที่สามารถอธิบายความรู้สึกทั้งหมดของเราต่อหนังเรื่องนี้
เสียงปรบมือดังไปทั่วโรงทันทีที่ฉากสุดท้ายของ Life, Animated สิ้นสุดลง ถึงแม้ว่าครอบครัวซัสไคนด์ (Suskind) จะไม่ได้ยินเสียง แต่เรารู้ว่าทุกคนที่มาดูหนังต่างต้องการส่งกำลังใจให้กับครอบครัวนี้ รวมถึงใครก็ตามที่อยู่ในภาวะออทิสซึม และครอบครัวของพวกเขา
1.
โอเวน ซัสไคนด์ (Owen Suskind) มีพัฒนาการที่เป็นปกติมาโดยตลอด จนกระทั่งเขาอายุได้ 3 ขวบ ภาวะออทิสซึมก็พุ่งเข้าใส่เขาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว จากเด็กสดใสร่าเริงค่อยๆ กลายเป็นไม่พูดไม่จาและสื่อสารไม่ได้ หัวใจของครอบครัวซัสไคนด์แตกสลาย พวกเขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้โอเวนตัวน้อยของเขากลับมาร่าเริงและช่างพูดช่างจาเหมือนเดิม
รอน ซัสไคนด์ (Ron Suskind) พ่อของเขาให้สัมภาษณ์ในหนังว่า ทุกครั้งที่นั่งดูการ์ตูนดิสนีย์ด้วยกัน โอเวนคนเดิมจะกลับมา
วันหนึ่งขณะที่พวกเขานั่งดูเรื่อง The Little Mermaid พร้อมหน้าพร้อมตากัน โอเวนก็พูดเลียนแบบตัวละครในนั้นเพียงสามคำสั้นๆ แต่กลับทำให้หัวใจของครอบครัวซัสไคนด์พองโตและเริ่มมีความหวัง วันถัดมาครอบครัวซัสไคนด์จึงลองพูดคุยกับโอเวนเป็นบทสนทนาที่อยู่ในการ์ตูนดิสนีย์ และมันได้ผล โอเวนตอบสนองพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นเขายังต่อบทได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะประโยคไหนโอเวนก็จำได้หมด
ทุกคน (โดยส่วนใหญ่) ล้วนเติบโตมากับการ์ตูนดิสนีย์ โอเวนก็เช่นกัน โลกแห่งจินตนาการได้ดึงให้เขากล้าเผชิญกับโลกแห่งความจริง รวมถึงเป็นกาวชั้นดีที่ช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างเขากับครอบครัว
2.
เรามักได้ยินวลีเดิมๆ ที่โหดร้ายและใส่ร้ายเกินจริงและแทบจะสร้างเป็นภาพลักษณ์ให้กับผู้ที่มีภาวะออทิสซึมว่าพวกเขา ‘ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์’
เราค้นพบว่าไม่จริงเลยสักนิด เราทุกคนล้วนมีความรู้สึกแต่เราทุกคนแค่แสดงออกมาไม่เหมือนกัน
อย่างน้อยที่สุดเราก็เห็นความรักที่โอเวนมีให้ต่อการ์ตูนดิสนีย์ เขารักมันมาก และมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา
ภาพในหนังสารคดีปรากฏฉากหนึ่งเป็นห้องเรียนห้องหนึ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชมรมดิสนีย์’ เด็กที่มีภาวะออทิสซึมนั่งเต็มห้อง แทบไม่มีเก้าอี้เหลือว่าง สายตาทุกคนจับจ้องไปยังทีวีจอแบนที่ฉายเรื่อง The Lion King
เด็กที่มีภาวะออทิสติกทุกคนล้วนแสดงความรู้สึกผ่านสีหน้าที่หลากหลายออกมา
เมื่อหนังเรื่อง The Lion King จบลง โอเวนในฐานะที่เป็นประธานชมรมดังกล่าว ได้ถามความคิดเห็นเพื่อนๆ ของเขาว่ารู้สึกยังไงต่อหนังเรื่องนี้ และหนังเรื่องนี้สอนอะไรเรา
ทุกคำตอบทำให้เรายิ้มตาม
มากไปกว่านั้น เราเห็นความรักของโอเวนที่มีต่อครอบครัวอย่างสุดหัวใจ การที่เขามีภาวะออทิสซึมทำให้เขาต้องพยายามอย่างหนักและต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่างเพื่อให้เขาสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมให้ได้
โอเวนรักครอบครัวของเขามาก รักจนเขายอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
3.
นอกจากเราจะเห็นความพยายามของโอเวนแล้ว เรายังเห็นความรักที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว คงไม่ถือว่าเป็นการกล่าวเกินเลยไป หากจะบอกว่า ‘ครอบครัวคือทุกอย่าง’
อาจเป็นเพราะเราอยู่ในวัยที่รัฐบอกว่าเหมาะสมต่อการมีลูกเพื่อชาติ ทำให้เราเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่อย่างยิ่ง
เรานับถือความรักที่ยิ่งใหญ่ของรอนและคอร์เนเลีย (Cornelia Suskind) ที่มีให้ลูกชายของเขา นอกจากความรักแล้วพวกเขายังมีความเชื่อใจ คาดหวังว่าโอเวนจะสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ หากเขาทั้งสองคนต้องจากโลกนี้ไป
สำหรับเราแล้ว ความรักที่มาพร้อมกับความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สวยงาม
พวกเขาไม่เคยละทิ้งความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อโอเวน ไม่ว่าจะตอนไหน ความเชื่อมั่นที่ว่าลูกชายจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ หากพวกเขาหายไปจากโลกใบนี้ และเหมือนว่าโอเวนก็รู้เช่นกัน
“การพึ่งตัวเองได้นั้นเป็นเรื่องวิเศษ” คือคำที่โอเวนกล่าวทิ้งไว้
4.
หนังเรื่องนี้ยังพูดถึงประเด็นท้าทายโอเวนที่แน่นอนว่าการ์ตูนดิสนีย์ไม่สามารถพูดได้ เพราะเรื่องราวในโลกแห่งความจริงที่ซับซ้อนมากไปกว่านั้น เช่น เรื่องเซ็กส์
เราเห็นฉากหนึ่งที่พี่ชายของเขาพยายามที่จะชวนคุยเรื่องดังกล่าว แต่ท่าทีของโอเวนมีแต่ความกระอักกระอ่วนใจ ส่วนหนึ่งเรามองว่าเขาอาจจะเขินอายแต่อีกส่วนพี่ชายของเขาอธิบายว่า โอเวนหวาดกลัวสิ่งที่เขาไม่รู้จัก เพราะที่ผ่านมาโอเวนดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อมโยงโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกดิสนีย์ เนื่องจากโลกดังกล่าวแบ่งทุกอย่างชัดเจนว่าสีขาวเป็นอย่างไรและสีดำเป็นอย่างไร มันจึงไม่สามารถตอบโจทย์โลกแห่งความจริงที่เป็นสีเทาได้
ทุกอย่างเลยกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีภาวะออทิสซึม
สุดท้าย…
เราอยากแนะนำทุกคนให้ไปดูหนังเรื่องนี้ (กล้าแนะนำอย่างเต็มปากเลยทีเดียว) หากคุณกลัวว่าการไปดูหนังสารคดีจะทำให้คุณง่วงนอน เรื่องนี้จะทำให้คุณยิ้มตามและเป็นกำลังใจให้กับโอเวนแทน
แล้วก็ขอบคุณโอเวน ซัสไคนด์ที่ยอมเปิดโลกของคุณให้เราได้ไปทำความรู้จัก
ป.ล. ขอเสริมว่าหนังสารคดีเรื่องนี้มีที่มาจาก Life, Animated: A Story of Sidekicks, Heroes, and Autism (2014) หนังสือติดอันดับขายดีที่พ่อของโอเวนเป็นคนเขียนเล่าเรื่องโอเวนที่มีภาวะออทิสซึมเอง นอกจากนั้นแล้ว รอนยังเป็นนักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง Wall Street Journal, New York Times และ Esquire