เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
#เจอครูแบบไหนกันมาบ้าง แฮชแท็กนี้บนโลกโซเชียลทำให้ทุกคนพร้อมใจกันถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองในห้องเรียน บ้างก็เป็นประสบการณ์ที่ดี บ้างก็เป็นเรื่องที่เลวร้าย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า และเมื่อไม่นานมานี้เรายังเห็นคนจำนวนไม่น้อยแชร์คลิปวิดีโอของชายผิวดำคนหนึ่งเต็มไทม์ไลน์เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ คลิปนั้นเป็นคลิปไวรัลของ Prince Ea ที่ชื่อว่า ผมขอฟ้องระบบการศึกษา (I JUST SUED THE SCHOOL SYSTEM!) จากคลิปดังกล่าวทำให้เราอนุมานได้อย่างหนึ่งว่า การศึกษาของ (เกือบ) ทั้งโลกมีปัญหา แต่ท่ามกลางปัญหาของระบบการศึกษาที่เราอยู่กับมันมาเนิ่นนาน ครูไทยคนหนึ่งอย่าง ‘ครูจุ๊ย’–กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ลุกขึ้นมาปฏิวัติการสอนของตนเอง
ภายใต้กรอบแว่นสีสด และผมหน้าม้า เธอคือแขกที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเคยเชิญไปดูงานที่ประเทศเกาหลีเหนือ กุลธิดามีประสบการณ์สอนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมจนถึงปริญญาโท โดยรับหน้าที่สอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนโรงเรียนมัธยม และสอนวิชาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในระดับมหาวิทยาลัย
กุลธิดาเป็นเด็กไทยธรรมดาอีกคนที่ถูกเคาะออกจากพิมพ์ที่มีชื่อว่าระบบการศึกษาไทย กระทั่งเธอมีโอกาสไปเรียนที่ฟินแลนด์ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนช่วงมัธยมปลาย ก่อนจะกลับไปเรียนปริญญาโทที่ฟินแลนด์อีกครั้งในคณะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
ทำไมถึงมาเป็นนักการศึกษา
ตอนแรกที่เริ่มทำก็ไม่ได้สนใจการศึกษาเลย มันเป็นอาชีพหนึ่งที่เราคิดว่าเราถนัดแล้วก็มาลอง แต่สุดท้ายแล้วทำๆ ไปก็เห็นปัญหาต่างๆ นานามากมายในการที่จะเข้าใจว่าแต่ละ sector มันมีปัญหาอะไร เราเลยตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นลองหลายๆ ที่ ลองทำในหลายๆ ระดับ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วตัวเราจะเอาตัวเรา (เน้นเสียง) ไปช่วยในส่วนไหนได้บ้าง
ตอนเป็นครูใหม่ๆ สอนนักเรียนอย่างไร
เราก็เริ่มจากการเป็นครูทั่วๆ ไป ครูที่แบบสนุกจังเลย พูดให้นักเรียนฟังได้สามชั่วโมงโดยที่ไม่มีใครพูดกับเราเลย แล้วก็สนุกกับสิ่งนั้น เข้าใจว่านั่นคือความสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วเราก็นึกได้ว่า ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้ชอบบรรยากาศห้องเรียนแบบนี้นี่นา เราไม่ได้ชอบมานั่งฟังใครพูดสามชั่วโมง เราอยากคุยกับครูได้ ก็เลยเริ่มพยายามเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่ได้คุยกับนักเรียนมากขึ้น แล้วก็เป็นพื้นที่ให้เขาได้ทำสิ่งต่างๆ
แล้วจัดการกับระยะห่างของสถานะครูกับนักเรียนอย่างไร
เราก็มีความเขินระหว่างกันช่วงต้น แต่ว่าอยู่กันไปแล้ว ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันน่ะค่ะ ถ้าครูลดระยะห่างระหว่างครู-นักเรียนลง นักเรียนเขาคุยกับเรานะ แบบเราเป็นเพื่อนกัน ก็คุยกันได้สิ มันคือการลดระยะห่าง นึกง่ายๆ เราอยากคุยกับคนที่เรารู้สึกว่าเขาอยากเปิดใจคุยกับเรา เขายืนอยู่ระดับเดียวกับเราแบบนี้ เราไม่อยากคุยกับคนที่เรารู้สึกว่ากลัวหรือว่าจะพยายามกดเราตลอดเวลา ดังนั้นเราก็แค่เป็นคนนั้น
อยากให้อธิบายการสอนปัจจุบันของคุณ
อย่าง ม.ปลายจะสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาอังกฤษที่บูรณาการอย่างอื่นอยู่ในวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเรามองว่าภาษาคือเครื่องมือการสื่อสาร จะสื่อสารได้จะต้องมีคอนเทนต์หรือเนื้อหา เราจะสอนภาษาแบบ “Hello, Mr.Joe is going to” นั้นนี้โน้น คือสุดท้ายแล้วเราก็ได้ภาษาอังกฤษแบบที่เราสื่อสารไม่ได้ เพราะมันไม่มีเนื้อหาจะสื่อสาร ดังนั้นถ้าจะฝึกก็ต้องมีเนื้อหา เราเลยเริ่มที่เนื้อหาก่อนแล้วภาษาเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง
อีกวิชาหนึ่งที่สอนคือ การสื่อสารด้านวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมศึกษา เราดีใจที่มหาวิทยาลัยเริ่มมีวิชานี้ มันคือวิชาความเข้าใจคน ความเข้าใจมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้วจะไม่ต้องมีวิชานี้เลยถ้ามันถูกระบุอยู่ในระบบการศึกษาแกนกลางของเรา หรือมันสอดแทรกอยู่ในวิชาสังคม หรือทุกๆ วิชาที่เราเรียนกัน แต่ว่ามันไม่มี ก็เลยมีวิชานี้แยกออกมา
ถ้าทุกคนได้เรียนวิชาวัฒนธรรมศึกษาที่เราอยากให้เรียน จะเป็นอย่างไร
มันอาจจะสร้างสังคมที่คุยกันได้มากขึ้น ด้วยความที่เราเข้าใจความต่างของแต่ละคน ตอนนี้เรามีสังคมที่หันหน้ากันไปคนละทาง แล้วก็อาจจะคุยกันน้อยไปสักหน่อย สำหรับเราคือเราไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน แต่เข้าใจว่าที่มาของความคิดชุดนี้มาจากไหน มันอาจจะทำให้เราหันมาคุยกันมากขึ้น
ความจริงแล้วครูมีอิสระที่จะสอนแบบไหนก็ได้?
มันมีกรอบอยู่ค่ะ แต่กรอบมันเป็นเหมือนเกณฑ์คร่าวๆ เราจะทำยังไงก็ได้ให้นักเรียนสามารถไปถึงกรอบนั้น วิธีไปถึงกรอบนั้นมันไม่ได้มีวิธีเดียว ครูจะสร้างสรรค์ยังไงก็ได้ แต่ตอนนี้ครูจะลุกขึ้นมาสร้างสรรค์อะไรบ้างในห้องเรียน
ปกติเราจะนึกว่าครูไม่สามารถออกแบบการศึกษาอะไรได้เยอะ ซึ่งมันไม่จริง จริงๆ แล้วครูมีอิสระพอสมควรในการออกแบบ เพียงแต่ว่าเราต้องมองว่าในฐานะครูเรายึดติดกับรูปแบบเดิมที่เราเคยเรียน เคยถูกสอนมารึเปล่า แต่แน่นอนว่ามันจะมีแรงเสียดทาน แรงต้านทานจากโครงสร้าง จากผู้อยู่เบื้องบนบ้างอยู่แล้วค่ะ
ตอนนี้มีครูคนอื่นที่คิดเหมือนคุณไหม
จริงๆ เราว่ามีครูแบบเราอีกหลายคนมากๆ ที่เข้าใจแล้วว่าการศึกษาระบบเดิมมันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง แล้วพยายามจะแก้ไขมัน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ชัดเจน แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา 6-7 ปีที่เป็นครูมา เราเห็นครูที่เข้าใจระบบการศึกษา พยายามเปลี่ยนมันในห้องเรียนโดยเริ่มจากตัวเอง ก็ยังมีอยู่นะ
แล้วนักเรียนไทยล่ะ
มันหลากหลายมากเลยนะ เราเคยให้สัมภาษณ์แล้วมีคนถามว่า “คิดว่าเด็กไทยโง่ไหม” ซึ่งเราคิดว่าเด็กไทยไม่โง่ และไม่เคยโง่ด้วย แต่เรามองว่าระบบการศึกษานี้ไม่ได้สร้างพื้นที่ให้ ‘เขา’ พัฒนาศักยภาพตัวเองจริงๆ ต่างหาก
ถ้ามีระบบการศึกษาที่ทำให้เขาได้ลองทำนั่นทำนี่ เขาก็จะพบเองว่าจริงๆ แล้วเขาถนัดอะไร เขาทำอะไรได้บ้าง ระบบการศึกษาเรามันไปกดทับเขาไว้ ทำให้เขาไม่ได้ลอง เขาอาจไม่พบเจอสิ่งที่เขาได้ชอบหรือสนใจจริงๆ เพราะมันมีอยู่ไม่กี่อย่างเรียนในโรงเรียนน่ะ
ถามว่าใครมีประสบการณ์ในโรงเรียนแบบวันเดอร์ฟูล มายก็อด กรี๊ดกร๊าด (คนฟังนิ่ง) ก็นั่นแหละ เราว่ามันคือปัญหาการศึกษาไทย
มองว่าอะไรเป็นปัญหาของการศึกษาไทย
มันคือระบบการศึกษาที่มองการศึกษาแค่ปลายทางเท่านั้น จะทำยังไงก็ได้จะวิ่ง sprint ไปสู่ปลายทางให้เร็วที่สุด ปลายทางก็คือ เกรด ใบปริญญา เราจะไม่สนใจระหว่างทางเลยว่าระหว่างทางคุณจะได้เรียนรู้ทักษะอะไร คุณจะรู้จักตัวเองไหม คุณจะรู้ไหมว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร หรือถนัดอะไรด้วยซ้ำ เราแค่อยากจะวิ่งๆๆ ไปสอบๆ เสร็จไป เรียนจบ ทำงาน
เราจะเจอคำถามว่า “ครูขางานไหนง่ายที่สุดคะ เอางานนั้นน่ะค่ะ” สมมุติถ้ามีเมนูให้เลือกอย่างนี้ คำถามที่ได้ยินคือ ครูอันไหนง่ายสุด ซึ่งจริงๆ มันก็คือ survival ของเด็กพอสมควร ว่างานไหนได้คะแนนง่ายสุด เพราะเขากลัวเขาจะไม่ได้คะแนนแหละ ก็ต้องถามเขากลับไปว่า สุดท้ายเรียนแล้วทำสิ่งนี้ไปหนึ่งก้อนเพื่อทำคะแนนเท่านั้นเหรอ จะไม่เรียนรู้อะไรระหว่างทางนั้นเลย จะทำแล้วให้คะแนนจบๆ ไป ผ่านๆ ไปแค่นั้นหรือ
แล้วคุณตอบนักเรียนไปว่าอะไร
เชื่อครูใช่ไหมคะ ถ้าครูพูดแล้วเชื่อครู งั้นเดี๋ยวครูบอกว่าอันไหนง่ายสุด แล้วก็ตั้งใจจะบอกอันที่ยากสุด ซึ่งเขาไม่เชื่อหรอก เพราะเขาเห็นอยู่แล้วว่าอันไหนมันง่าย มันยาก แล้วมันต้อง request-require อีกเยอะ-น้อย เพียงแต่ก็มาถามเพื่อย้ำความมั่นใจว่าครูว่าอันไหนง่ายสุด
ถ้าเราไม่เรียนเพื่อไปทำงาน แล้วเราเรียนเพื่ออะไร
เราเชื่อว่าถ้ามีครูรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างการวิ่ง sprint ไปสู่จุดหมายนี้ กับการที่เด็กได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง
เอาจริงๆ ข้อมูลและความรู้ไม่ได้สำคัญกับเด็กอีกต่อไปแล้วเมื่อเรามีกูเกิล ปัญหาคือเราจะทำยังไงให้เด็กมีทักษะที่จะสามารถจัดการกับความรู้ล้านแปด นั่นคือทักษะที่จำเป็นสำหรับเขา
ถ้ากูเกิลก็ให้ความรู้ได้แล้วครูเป็นอะไรในห้องเรียน
ตั้งแต่เรารู้มาครูไทยถูกเรียกว่าเป็น ‘แม่พิมพ์’ แม่พิมพ์คือเครื่องพิมพ์ แล้วเวลาเราพิมพ์ เราพิมพ์ทุกอย่างเหมือนกันหมด เราพิมพ์มนุษย์แบบที่คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แต่เราคิดว่าครูต้องเป็น ‘แม่ยก’ คือต้องช่วยให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ ทำยังไงก็ได้ให้เขาได้ฝึก ให้เขาได้ลอง ให้เขาได้เกิดความสนใจ แล้วเขาจะได้เอาสิ่งเหล่านั้นไปใช้ต่อในชีวิตเขาได้ สำหรับเรา เราเป็นแม่ยกถ้าเห็นเด็กสนใจอะไรแล้วก็จะพยายามพาเขาไป
ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ อยากรู้ว่าเมื่อเทียบกับฟินแลนด์ ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาอย่างไร
สิ่งที่เราเก่งที่สุดในการทำการศึกษาไทยคือการเปลี่ยนโครงสร้างตลอดเวลา เราจับอันนี้มาปนกับอันนั้น พยายามเปลี่ยนโครงสร้างมันตลอด เอนทรานซ์เปลี่ยนมากี่รอบแล้วตั้งแต่จำความได้ แต่เราแทบจะไม่มีการมานั่งคุยกันเลยว่ากระบวนทัศน์หรือมุมมองที่มีต่อการศึกษาคืออะไร
เราพูดว่าปัญหาการศึกษา แต่เราไม่เคยมองลึกลงไปว่าแล้วการเรียนรู้ที่เรามองอยู่มันเป็นอย่างไร เรามองว่ามันคือการเรียนให้จบได้เกรด ได้ใบปริญญา หรือเรามองว่ากระบวนการนั้นมันสำคัญมากเลย ระหว่างทางนั้นเด็กจะต้องอยู่ในกระบวนการนั้น แล้วเกรดอาจจะเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำ ถ้าจะตามฟินแลนด์จริงๆ เราก็มองว่ายากมาก ฟินแลนด์ไม่มีสอบเพื่อจัดลำดับที่ ตอนจบปริญญาโทมาก็ไม่มี GPA
เรียนอย่างไรไม่มีสอบ?
จริงๆ มันยังมีการสอบหนึ่งครั้งในชีวิตนักเรียน มีการวัดผลกลาง หรือการวัดผลคุณภาพการศึกษา แล้วที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนแล้วว่าโรงเรียนจะทำอย่างไร
ซึ่งมันมีการวัดผลหลากหลายวิธี อาจจะไม่ได้สอบเป็น multiple choice อย่างเดียว เพราะว่าฟินแลนด์เปลี่ยนกระบวนทัศน์การมองการศึกษาไปแล้ว จากการที่เกรดเป็นสิ่งสำคัญ เขามองว่าระยะทางที่จะไปถึงเกรดต่างหากสำคัญกว่าตัวเกรด เขาก็เลยมองว่าวิธีวัดผลเด็กในหนึ่งเทอม ดูความก้าวหน้าของเด็ก หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ ทำงานสามครั้งสี่ครั้งอาจจะได้ผลที่ไม่เท่ากัน ดูความก้าวหน้าก็ได้
ตั้งแต่ ม.ปลายที่ไปอยู่ที่นั่น เราถูกสอนให้เขียน essay เขียนเสร็จก็มาคุยกัน มีการวัดผลเป็นกิจกรรม ทำกิจกรรมแล้วมารายงานผลกับครู จำได้ว่าวิชาจิตวิทยาเรียนตอน ม.ปลาย งานที่ต้องส่งครูคือรายงานที่เราไปสังเกตเด็กๆ ในเนิร์สเซอรีมา ซึ่งถ้าเรามาย้อนนึก ม.ปลายบ้านเราก็คงจะไม่มีงานอะไรแบบนี้ให้ทำมากนัก
ที่เป็นแบบนี้เพราะฟินแลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือเปล่า
อยากเล่าย้อนว่ากว่าที่ฟินแลนด์จะมาถึงทุกวันนี้ ตอนนี้เราเห็นแค่ความสำเร็จ เห็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่กว่าเขาจะมาถึงทุกวันนี้ มันเป็นประเทศที่ผ่านความขัดแย้งมา ผ่านสงครามกลางเมืองมา ผ่านอะไรหลายๆ อย่างมา แล้วก็เริ่มมองว่า ตายแล้ว ถ้าคนไม่มีคุณภาพ ประเทศเราจะเดินหน้าไม่ได้เลย ถ้าอย่างนั้นเรามาปฏิรูปการศึกษากันดีกว่า แล้วเขาใช้เวลา
ในโครงสร้างฟินแลนด์คือเริ่มมาตั้งแต่ยุค 1970 แล้วถ้าถามว่ารู้จักฟินแลนด์กันปีไหน ก็คือไม่กี่ปีมานี้ บวกลบคูณหารกันดูว่าตั้งแต่ 1970 จนถึง 2000 กว่าๆ ต้องใช้เวลากี่ปี การศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำแล้วเห็นผลเลย
แนวคิดสำคัญอะไรที่ทำให้ฟินแลนด์ปฏิวัติระบบการศึกษาได้สำเร็จ
เราว่ามันคือความที่เขายืดหยุ่นต่อระบบการศึกษาตัวเอง เพราะมนุษย์มันยืดหยุ่น เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราเข้าใจว่ามนุษย์ต้องมีระบบระเบียบ แต่ว่าเราก็ต้องถามว่าแล้วระเบียบที่สร้างไว้ในระบบการศึกษานี้มันได้ผลนี้จริงหรือเปล่า ทำไมในประเทศฟินแลนด์ที่ไม่ได้มีระเบียบแบบที่เราทำ คนก็มีระเบียบแล้วก็เคารพกฎได้
คุณอาจจะเคยคิดว่าในระบอบการศึกษา คนที่กำหนดชะตากรรมของนักเรียนก็คือ ‘ครู’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจเหนือกว่า’ แต่จากบทสนทนานี้ เราเริ่มไม่แน่ใจในความเชื่อเดิมของตนเอง หากเราต้องการพัฒนาอะไรบางอย่าง มันอาจไม่ได้มาด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือเปลี่ยนทัศนคติของคนอื่น แต่เลือกที่จะ ‘เปลี่ยนแปลงตัวเอง’
อาจไม่ถึงขนาดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจครูมากขึ้น เข้าใจตัวตนที่ไม่ได้จำเป็นต้องออกมาจากบล็อกพิมพ์มากขึ้น
เพราะมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์