WAY to READ: จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง

หลังศตวรรษ 19 วงการการแพทย์และยาก้าวหน้ามาก สามารถรักษาโรคระบาดและโรคติดต่อให้หายไป ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น จนทำให้คนใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตที่อมตะ แต่มะเร็งกลับเผยตัวและฉุดรั้งความฝันอยากเป็นอมตะของมนุษย์

หลายคนเชื่อว่า ‘มะเร็ง’ เป็นโรคสมัยใหม่ แต่หลังจากที่อ่านหนังสือ จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง
ทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้ว มะเร็งอยู่คู่กับมนุษยชาติตั้งแต่อดีตกาล ผู้เขียนย้อนกลับไปถึงสมัยอียิปต์โบราณ เมื่อพิสูจน์หลักฐานโบราณคดีก็จะเห็นโรคมะเร็ง แต่พบในจำนวนคนที่น้อยมาก จนไปถูกนับว่าเป็นโรคสำคัญอย่างโรคระบาด เช่น กาฬโรค

จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง เขียนโดย สิทธัตถะ มุกเคอร์จี แพทย์และนักวิจัยโรคมะเร็ง ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาการแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (แปลโดยสุนันทา วรรณสินธ์ เบล) หนังสือที่จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักโรคมะเร็งได้ดีที่สุด

ยอมรับว่าก่อนหน้าที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ ความรู้เรื่องมะเร็งมีน้อยมาก รู้แค่ว่ามีประเภทอะไรบ้าง ถ้าเป็นก็จะต้องผ่าตัดทำคีโม หรือไม่ก็รอวันตาย และเชื่อมาตลอดว่ามะเร็งเป็นโรคร่วมสมัย ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากโลกสมัยใหม่

แต่หลังจากอ่านหนังสือแล้ว รู้สึกเหมือนได้รื้อชุดความคิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งใหม่ทั้งหมด ทั้งความเป็นมาของโรคไปจนถึงการรักษามะเร็ง อาจเรียกได้ว่าเป็นการถอนรากถอนโคนของชุดความรู้เรื่องมะเร็งเลยก็ว่าได้

ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ทางการแพทย์แทบไม่ได้ระบุว่ามีโรคมะเร็งอยู่เลย แต่ผู้เขียนสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า มะเร็งอยู่ควบคู่กับประวัติศาสตร์มนุษย์มาอย่างยาวนาน อย่างเช่น มีบันทึกด้วยอักษรอียิปต์ที่ปัจจุบันเชื่อว่าเขียนขึ้นเมื่อ 1,700 ปีก่อนคริสตกาล โดย อิมโฮเทป แพทย์ชาวอียิปต์ผู้มีชีวิตอยู่ประมาณปี 2625 ก่อนคริสตกาล ระบุถึงก้อนเนื้อหน้าอก

“นี่เป็นก้อนที่งอกออกมาที่ข้าต้องจัดการ…เนื้องอกยื่นออกมาจากอก หมายความว่ามีหน้าอกบวม ใหญ่ แข็งและแพร่กระจาย จับดูเหมือนจับก้อนผ้า หรืออาจเปรียบได้กับผลเฮมัตดิบ จับแล้วเย็นและแข็ง”

สิทธัตถะ มุกเคอร์จี อธิบายว่า “การที่มะเร็งปรากฏตัวขึ้นมาเป็นผลจากการที่โรคร้ายคร่าชีวิตมนุษย์อื่นถูกขจัดไป แพทย์ในศตวรรษที่ 19 มักเชื่อมโยงมะเร็งกับชีวิตสมัยใหม่ซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตทางพยาธิวิทยาในร่างกายอย่างประหลาด ความเกี่ยวเนื่องนั้นถูกต้อง แต่ไม่เกี่ยวเนื่องแบบเป็นเหตุเป็นผล ความเจริญทางอารยธรรมไม่เป็นสาเหตุของมะเร็ง แต่จากการยืดชีวิตมนุษย์ให้ยาวขึ้น ความเจริญก้าวหน้า เปิดเผย โฉมหน้าของมะเร็ง”

เรื่องที่ชอบคือ การผ่าตัดเอามะเร็งออก วิทยาการการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกนั้นผู้เขียนเล่าตั้งแต่การศึกษาวิชากายภาพ ว่าในสมัยก่อนการเรียนแพทย์เป็นเรื่องที่ทรหดมาก การจะรู้กายภาพของร่างกายคน หมอต้องแอบไปผ่าศพที่สุสาน เอาอวัยวะมาทีละชิ้น แล้วจ้างจิตรกรมาวาด

เมื่อรู้เรื่องกายเป็นอย่างดี ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบ องค์ประกอบต่างๆ อยู่ตรงไหน สัมพันธ์กันอย่างไร การผ่าตัดเนื้องอกก็เป็นไปได้และปลอดภัยมากขึ้น มีความเชื่อที่ว่า ถ้าสามารถผ่าเนื้องอกออกแบบถอนรากถอนโคนได้ก็จะทำให้มะเร็งหมดไปอย่างถาวร ผู้ป่วยบางคนที่เป็นมะเร็งเต้านม จึงมิใช่แค่ผ่าเอาหน้าอกออกเท่านั้น แต่ต้องคว้านลึกไปถึงคอหอย หรือรักแร้ แต่พอผ่าไปเรื่อยๆ ก็พบว่าต่อให้ผ่าแบบถอนรากถอนโคนออกไปแบบหมดจดแค่ไหน สุดท้ายแล้วมะเร็งก็กลับมาอีกครั้ง

หรือเรื่องการใช้เคมีบำบัด ที่เริ่มแรกสร้างเพื่อตอบโจทย์การสร้างสีย้อมผ้า จนกลายมาเป็นเคมีที่ใช้บำบัดโรคมะเร็ง เพราะอุตสาหกรรมการย้อมผ้าต้องใช้พันธะทางเคมีเพื่องสร้างสีสำหรับการย้อมผ้า จากนั้นก็มีการพัฒนาความรู้ด้านเคมีเรื่อยมา จนกลายเป็นการบำบัดมะเร็งด้วยเคมีในปัจจุบัน

เล่าถึงตอนนี้อาจจะคิดว่า หนังสือเล่มนี้น่าเบื่อหรือเปล่า เล่าลึกไปแล้วมันจะเชื่อมโยง หรือมีความสำคัญน่ารู้หรือไม่ แต่เอาจริงๆ แล้ว ถ้าอ่านแล้วจะพบว่า มันทำให้เรารู้วิธีการรักษา และที่สำคัญผู้เขียนเขียนได้สนุกจริงๆ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อเป็นตำราของแพทย์ แต่เขียนเพื่อให้คนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เรียนแพทย์สามารถเข้าใจได้ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย การเล่าเรื่องที่ลื่นไหล เร้าอารมณ์ จนบางครั้งก็คิดว่าเป็นงานวรรณกรรมด้วยซ้ำไป

ในทางกลับกัน เราได้เห็นการทำงานของหมอที่รักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นโลก ความเจ็บปวด การต่อสู้ของหมอ ภายใต้ชุดกาวน์สีขาวนั้น มันเต็มไปด้วยแรงกดดันที่อยากให้ผู้ป่ายหายจากโรคมะเร็งถาวรแต่กลับเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตเรื่อยๆ เหมือนที่ สิทธัตถะ มุกเคอร์จี เปรียบไว้ว่า โรงพยาบาลก็ไม่ต่างอะไรกับโรงฆ่าสัตว์

ทุกวันนี้การรักษาโรคมะเร็งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และคนก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ยังมีความหวัง เพราะที่ผ่านมาการรักษาโรคมะเร็งพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แม้ว่าตอนนี้จะมีเพียงแค่สองทางดังที่ สิทธัตถะ มุกเคอร์จี เขียนไว้ว่า “ในทางวิทยาศาสตร์ มะเร็งยังคงเสมือนกล่องดำ… แพทย์มีทางเลือกสองทางเท่านั้น คือผ่าตัดเอาเนื้องอกออกหรือเผาด้วยรังสี เป็นทางเลือกระหว่างความร้อนจากรังสีหรือความเย็นจากปลายมีด” ก็ตาม

 

จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง
สิทธัตถะ มุกเคอร์จี เขียน
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปล
สำนักพิมพ์มติชน

 

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า