เราต่างมีความป่วยไข้อยู่ในตัว มีความประหลาดแตกต่างกันไปคนละเล็กคนละน้อย
หลังอ่านหนังสือปกน้ำเงินเล่มนี้จบ ข้อความข้างต้นก็แทรกผุดเข้าในหัวโดยมิอาจยับยั้ง เหมือนแขกมิได้รับเชิญ ละม้ายสิ่งแปลกหน้า ครั้นเมื่อคุณคิดถึงมันหรือเขาหรือเธอเข้าแล้ว คุณจะสูญเสียความสามารถในการปิดกั้นได้อีก ผนังสำหรับกลั่นกรองความนึกคิดถูกลดทอนความแข็งแรง สิ่งเหล่านั้นจะทะลักล้นเข้ามาคล้ายเขื่อนแตก มิอาจหักห้าม
ไม่รู้สิ ในบางด้าน มันอาจเป็นคล้ายกลุ่มอาการของโรค โอซีดี (Obsessive-compulsive Disorder: OCD) ที่ความคิดล่วงล้ำบางประการจะบุกทะลวงเข้าในหัวคุณ แทงทะลุซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณอยากคิดถึงมันเสียเมื่อไหร่กันล่ะ ดังนั้น เพื่อขจัดปัดกวาดให้ห้องหับภายในหัวของคุณสะอาดสะอ้าน คุณจำต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง
คำถามสำคัญคือ หากคุณลงมือทำแล้ว ทว่าความคิดล่วงล้ำนั่นยังหวนกลับมาเรื่อยๆ ล่ะ เอาแล้วสิ! เริ่มน่าพรั่นพรึงแล้วใช่ไหม หากยังนึกไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่งคุณล้างมือ หรือล็อคประตูบ้านเสร็จแล้ว คุณกำลังจะขึ้นรถ ความคิดล่วงล้ำเจ้ากรรมก็เริ่มทำงาน คุณเริ่มกังวลแล้วว่า มือไม้ของคุณสะอาดจริงหรือเปล่า ประตูหน้าต่างบ้านลงกลอนแน่นหนาดีหรือยัง
คุณหวนกลับไปตรวจตรา ขยับกลอนประตู กึกกักๆ คุณเดินกลับออกมา ฉับพลันความกังวลก็โจมตีคุณอีกเงียบงัน คุณนิ่วหน้ากลับไปเช็คซ้ำเพื่อความแน่ใจ กระทั่ง เปิดก๊อกน้ำชำระล้างมือของคุณใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณหวาดหวั่นว่าเชื้อโรคจะติดเปื้อน นี่คือการอธิบายอย่างง่ายของโรค ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ โรคลึกลับที่ทำร้ายผู้คนเป็นจำนวนมหาศาลและอาจยาวนานตลอดชีวิต
ไม่จำกัดวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศหรืออายุ เป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่พบมากสุดเป็นอันดับ 4 ในบรรดาความเจ็บป่วยทางจิต โรคแสนทุกข์ทรมานผิดประหลาดที่ผลักจากเบื้องลึกให้มนุษย์ทำสิ่งเพี้ยนๆ ไม่รู้สิ เราเรียกผู้อื่นว่าคนเพี้ยนได้รึเปล่า แล้วพฤติกรรมแบบไหนของมนุษย์ที่เราสามารถตีตราว่าเพี้ยนได้บ้างล่ะ ในเมื่อมนุษย์คือผลผลิตจากธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความเว้าแหว่ง ขาดพร่อง เกินล้น ใช่หรือไม่ว่า มนุษย์ล้วนคือความครึ่งๆ กลางๆ แทบทั้งนั้น
เดวิด อดัม ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ The Guardian จึงมีลูกล่อลูกชนแพรวพราว มีเทคนิคการถ่ายทอดและสื่อสารเรื่องราวทางการแพทย์ที่ดูเหมือนจะยุ่งยาก ซับซ้อน และน่าเบื่อ ให้ออกมาได้อย่างโคตรสนุก คุณจะติดตามเรื่องราวของเขาไปจนจบเล่มได้อย่างเพลิดเพลิน
อ้อ! ลืมชี้แจงไปอีกประการ อดัมเองก็ป่วยเป็นโรค โอซีดี หรือย้ำคิดย้ำทำ ความกังวลว่าตนจะติดเชื้อเอชไอวีทำให้ชีวิตของเขาประหนึ่งควงหมุนอยู่ในพายุคลั่ง แต่มันกลับเป็นข้อดีที่ทำให้เขาตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเรื่องนี้จนรอบด้าน ก่อนนำมาเขียนเป็นหนังสืออ่านสนุกมากๆ เล่มนี้
อดัมจะพาคุณไปสำรวจตัวอย่างของผู้ที่ประสบกับโรคนี้ชนิดเล็กน้อย ไล่ไปจนถึงหนักหนา สาเหตุและการรักษาเท่าที่เป็นไปได้ จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ พันธุศาสตร์ การบำบัดด้วยความกลัว ปรัชญา ประวัติศาสตร์สังคม มุมมองของศาสนาอันโหดเหี้ยม หรือกระทั่งสัตววิทยา อย่างลงลึกและแหลมคม รวมไปถึงเปี่ยมอารมณ์ขันอย่างเหลือเชื่อ
หากมีโอกาสพลิกอ่านเล่มจริง คุณจะพบกับเด็กหญิงที่กินฝาบ้านจนปวดท้อง คนที่ชอบสะสมของจนห้องหับรกไร้ที่เดิน คนที่ขยาดกลัวจดหมายเวลาบุรษไปรษณีย์นำมาหย่อนไว้หน้าบ้าน คนที่ไม่อาจหักห้ามตนเองให้ดูหมิ่นพระเจ้า คนที่โรคโอซีดีหลับใหลอยู่ในตัวมานานกว่า 7 ทศวรรษและจู่ๆ มันก็ตื่นขึ้นเล่นงานเขาตอนอายุ 70 หรือหญิงบางคนที่เป็นโรคหวั่นกลัวว่าตนจะหยิบฉวยของคนอื่นโดยมิเจตนา
ในกรณีหากคุณกังวลว่าจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนี้ ผู้เขียนอย่างอดัมคล้ายต้องการจะบอกกับทุกคนว่า ข้างในหัวของคนเราเป็นสิ่งลึกลับและมนุษย์ทุกคนไม่อาจเป็นสิ่งสมบูรณ์แบบ ทางเดียวคือการศึกษาเรียนรู้มันอย่างถ่องแท้ และอยู่กับมันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยไม่ต้องกลัวถูกทำร้ายจากความคิดล่วงล้ำอีก หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนด้านในตัวคุณได้
นับจากนี้ หากคุณเห็นใครสักคน เพื่อนชิดใกล้ ญาติผู้ใหญ่ กระทั่งคนในข่าวสาร มีพฤติกรรมแปลกประหลาดในสายตาคุณ อย่าเพิ่งรีบตัดสินหรือด่าทอนะครับ เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า ในสมองอันลึกลับและกว้างใหญ่ไพศาลของพวกเขานั้น บรรจุไว้ด้วยภูมิประเทศแบบไหน
คิดไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ เดวิด อดัม เขียน วรางคณา เหมศุกล แปล สำนักพิมพ์เอสไอเดีย |