ดูจากชื่อปกแล้วเข้าใจได้อย่างไม่ยากว่าต้องเป็น how to อะไรสักอย่าง – และก็เป็นเช่นนั้น
แก่ช้าลงแน่ แค่ปล่อยให้ท้องหิว เป็นหนังสือแมส และขายดี ทุกวันนี้ก็ยังอยู่บนหิ้งร้านหนังสือใหญ่ในไทย เขียนโดยนายแพทย์ที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ความหิวบำบัด’ สำหรับสารพัดอาการ
เอาเข้าจริง หลายคนคงไม่ค่อยอินกับหนังสือแบบนี้เท่าไหร่ ไม่ใช่ how to รวย ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่วรรณกรรมสร้างสรรค์ ลึกซึ้ง ไม่ใช่ปรัชญาหรือศาสตร์ที่จะนำมาเป็นคู่มืออธิบายสภาพสังคมปัจจุบัน และอาจไม่ตรงกับรสนิยมกับนักอ่านที่ชอบครุ่นคิด
หนังสือเล่มเล็กๆ นี้มองแคบกว่านั้น คือใช้เป็นคำอธิบายตัวเองในฐานะมนุษย์
อาจจะไม่ตรงกับชื่อปกนัก แม้ผู้เขียนจะอธิบายหลักการใช้ชีวิตของตัวเองที่การ ‘ปล่อยให้ท้องร้อง จ๊อก…’ เป็นเครื่องมือช่วยจัดระเบียบให้ระบบต่างๆ ในร่างกาย แต่เนื้อหาด้านในมีมากกว่านั้น อืม จะเรียกว่าเป็นคู่มือการใช้ชีวิตก็คงไม่ผิดนัก
ไล่ตั้งแต่วัฏจักรเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฮอร์โมนตัวหลักๆ ที่เกี่ยวพันกับระบบต่างๆ ของร่างกาย การจัดตารางชีวิตให้สมดุล อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์อย่างง่าย – จับความปกติมาเรียงตามเส้นเรื่องอย่างเบสิค การเลือกกิน เลือกอยู่ เลือกนอน ไม่มีการตีวงเลี้ยวไปหาที่เป็น myth ยิบย่อยที่สร้างข้อถกเถียงมากนัก ชนิดที่คิดตามแล้ว “เออว่ะ”
ถ้าจะมีจริงๆ ก็ myth ขนาดใหญ่เลย เช่น “การปล่อยให้ตัวเองหิวมันดีจริงๆ เหรอ” ถ้าจะพูดให้ยาวก็จะนั่งถกกันได้จนน้ำลายแห้ง ตั้งแต่ฮอร์โมนไปยันศาสนา
แก่ช้าลงแน่ แค่ปล่อยให้ท้องหิว ไม่มีตัวหนังสือมากมายลายตา มี ‘ต้นโกโบะ’ เป็นตัวการ์ตูนเล่าเรื่องด้วยภาพชนิดเข้าใจง่ายสไตล์ญี่ปุ่น ที่ต่อให้คุณสมาธิสั้นหรือขี้เกียจอ่านหนังสือก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่มีอะไรตกหล่นไปมากนัก
ถ้าจะโยงให้เข้ากระแสรักสุขภาพ ก็คล้ายๆ กับคู่มือสุขภาพหนึ่งเล่ม ที่แนะนำอาหารคลีนๆ วิธีการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำไมต้องนอนเร็วตื่นเช้า ฟังก์ชั่นของการออกกำลังกาย และสร้างความเคยชินให้กับทั้งหมดที่ว่าอย่างเคร่งครัด ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่เรื่องของการ ‘แก่ช้าลงแน่’ แต่เป็นการดูแลร่างกายให้ใช้งานได้นานที่สุด ซึ่งปลายทางก็คงเป็นการ ‘ตายช้า’ นั่นแหละ
แก่ช้าลงแน่ แค่ปล่อยให้ท้องหิว นพ.โยะชิโนะริ นะงุโมะ เขียน โยซุเกะ แปล สำนักพิมพ์ WE LEARN |