รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของนักเขียนหนุ่มผู้ผ่านเกิดมาหลากหลายเวที กระทั่งเข้ารอบรางวัลระดับประเทศในชื่อ ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล ของ วิกรานต์ ปอแก้ว เล่มนี้ อาจไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก ด้วยระยะเวลาที่เผยแพร่สู่สาธารณชนครั้งแรกตั้งแต่มกราคม 2559 รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถูกพูดถึงไปบ้างแล้ว จนผู้เขียนเองก็สงสัยว่าการหยิบมารีวิวอีกครั้งจะทำให้เป็นการเปลืองเวล่ำเวลาของผู้ที่เคยอ่านมาแล้วหรือไม่ กระนั้นด้วยความเชื่อว่าทั้งวรรณกรรมเอย งานวิชาการเอย กระทั่งหมายรวมถึงหนังสือในทุกนิยามควรถูกอ่านซ้ำมากกว่าหนึ่ง และไม่มีหนังสือเล่มใดที่เก่าเกินจะหยิบมาอ่าน แม้จะผ่านพ้นเวลาที่มันถูกตีพิมพ์ไปแล้วก็ตาม
ด้วยกรอบความคิดนี้ หรืออาจจะมองในอีกแง่ คือ อาจเป็นเพียงความรู้สึกผิดที่ดองหนังสือเล่มหนึ่งไว้นานเกินไป การเลือกหยิบเอา ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล มาอ่านในวาระเดือนแห่งความรักก็มีความหมายบางอย่างในตัวเอง
ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องอบอวลอยู่ในบรรยากาศของความรัก การพลัดพราก ความตาย และสภาวะหลังจากนั้น ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้คำคำเดียว ‘ความโดดเดี่ยว’ ก็อาจทำให้คิดและทบทวนต่อนิยามของความรักที่ใช่ว่าจะจบลงด้วยการครองคู่ ใช่ว่าจะจบลงด้วยความสมหวัง กระทั่งใช่ว่าเราจะเป็นเจ้าของร่างกายอย่างแท้จริงหากมีสองวิญญาณในร่างเดียว
ธีมหลักของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงถูกโอบคลุมด้วยชุดคำของการสิ้นสลายของคำตอบที่ลอยกรุ่นอยู่เหนือแก้วกาแฟ และในเสียงเพลงต่างๆ แต่แม้ว่าจะโอบคลุมด้วยเรื่องราวของความรัก สองเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกันอย่าง ‘บันทึกของอรชุน’ และ ‘เรื่องราวที่ถูกเล่าวนซ้ำด้วยน้ำเสียงอื่น’ ที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองสองช่วงเวลา คือ ปี 2516 กับปี 2535
กระนั้นเรื่องสั้นที่กลับไม่เพียงไปด้วยกันกับชื่อรวมเรื่องสั้น และยังรู้สึกกระทบใจได้มากกว่ากลับเป็นเรื่องสั้นที่ข้องเกี่ยวกับ ‘นักวิ่ง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิกรานต์ให้ความสนใจโดยตรงในฐานะนักวิ่งมาราธอน ทั้ง ‘หลุมดำกลางจักรวาล’ และ ‘พื้นที่ต้องห้าม’
จริงอยู่ที่การเข้าใจความโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวกับการวิ่ง ในความหมายระดับจิตวิญญาณ เราล้วนต้องทำงานคนเดียวเป็นเบื้องต้นก่อนทั้งสิ้น อาจจะแค่บางงาน กระนั้นที่สุดแล้ว งานและชีวิต ซึ่งประกอบขึ้นจากความหมายที่ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงความโดดเดี่ยวล้วนแล้วแต่ผลักไสและหนุนเสริมกันและกันแทบทั้งสิ้น อาจจะดูเป็นการตบเข้าประเด็นของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ตามที่ผู้เขียนเข้าใจมากไปนิด แต่ส่วนหนึ่งของเรื่องสั้น ‘พื้นที่ต้องห้าม’ วิกรานต์ก็ได้บอกแล้วว่าความหมายของความโดดเดี่ยวอาจไม่ได้อยู่ที่สภาวะก่อนหรือหลังความโดดเดี่ยว แต่เป็นสภาวะที่เราดำรงอยู่ในความโดดเดี่ยวนั้น อยู่ในทุกจังหวะของการก้าววิ่ง ซึ่งสำหรับบางคน อาจไม่มีวันได้เห็นปลายทาง
…บนเส้นทางของนักวิ่งระยะไกลนั้นไม่มีสิ่งใดให้คว้าจับความภาคภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง หรือแม้แต่มิตรภาพที่พานพบระหว่างทาง ล้วนปรุงแต่งขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเองทั้งนั้น สิ่งเดียวที่เฝ้ารออยู่บนระยะทางวิ่งยาวไกลซ่อนตัวรอเข้าครอบคลุมจิตใจอันเปราะบาง คือความโดดเดี่ยวอันเงียบสงัดและเยือกเย็น…
– หน้า 203