WAY to READ: โลกเปลี่ยน โรงเรียนต้องเปลี่ยน

137
ลาดพร้าว 101
คลองจั่น บางกะปิ

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2560

ถึง คุณ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เรื่อง เรามีเยาวชนแบบคุณน้อยไป

ผมเพิ่งได้อ่าน โลกเปลี่ยน โรงเรียนต้องเปลี่ยน หนังสือที่รวบรวมจดหมายทั้ง 11 ฉบับที่คุณเขียน และทางสนพ.สำนักนิสิตสามย่านได้จัดพิมพ์ เพื่อแสดงมุทิตาจิตในโอกาสเกษียณอายุราชการของ รองศาสตราจารย์ ดร.วัญชา ชลาภิรมย์ และ ครูนิตยา รัฐสมุทร

จดหมายทั้ง 11 ของคุณ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสถานศึกษาด้วยความห่วงใยต่ออนาคตของรุ่นน้อง ด้วยความกังขาต่อระบบจัดการในด้านต่างๆ ของโรงเรียน ซึ่งหากเรายอมรับอย่างตรงไปตรงมา โรงเรียนเก่าในความหมายที่ผมเข้าใจเป็นได้แต่เพียงการคืนสู่เหย้า เพื่อทบทวนถึงความล้มเหลวและความสำเร็จในชีวิตการเรียน ไปจนถึงการสานต่อความสัมพันธ์ใหม่กับเพื่อนเก่า ผมไม่รู้คุณเป็นเช่นนั้นไหม ผมรู้แค่ว่าจดหมายแต่ละฉบับล้วนสะท้อนการตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดประโยชน์แน่ๆ ต่อโรงเรียนในระดับมัธยมที่คุณจบมา และอาจเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนอื่นๆ ตลอดจนสังคมต่อคำถามที่คุณได้เขียนเช่นกัน

อาทิ จากฉบับที่ 1 ที่คุณเขียนไว้ว่า

ปัญหาไม่ใช่ว่านักเรียนมีปัญหาในการจำเนื้อหาตลอดระยะเวลาสามปี แต่ปัญหาคือเรื่องโรงเรียนกำลังมีเป้าหมายอยู่ที่ไหน? โรงเรียนมีเป้าหมายอยู่ที่การผลิตผลลัพธ์ที่ออกมาแบบไหนก็ได้ แล้วให้พวกเขาไปแข่งขันกันเองใช่หรือไม่

ข้าพเจ้าขอถามอย่างสัตย์ซื่อว่า ถ้าปราศจากครูที่อุทิศตนแล้วไซร้ จะมีผู้อำนวยการที่เลอเลิศได้อย่างไร ผลแห่งชื่อเสียงเกียรติยศและคุณภาพนักเรียนที่ดีจะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร

จม.ฉบับที่ 2 หน้า 12

การมีเครื่องมือในการช่วยให้คนได้พูดในสิ่งที่เขาคิด จะมีผลเชิงบวกต่อการพัฒนา

และ

เพราะการติดกรอบสถาบันชั้นนำของไทยไม่ได้ช่วยให้จินตนาการ และความรู้อันหลากหลายเกิดการสนทนาอย่างแท้จริง

จม.ฉบับที่ 3 หน้า 19 และ 21

ความเคี่ยวกรำที่คุณมีต่อตัวเองนำมาซึ่งการเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อในท้ายสุด สถานศึกษาจะกลายเป็นสถานที่ผลิตบัณฑิตในความหมายของนักศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่แรงงานที่ถูกต้อนเข้าสู่ระบบแรงงานปริญญาที่แม้แต่ความเหลื่อมล้ำภายใต้โรงเรียนยังมองไม่เห็น

การมองแบบคนเหมือนกันโดยไม่ใส่ใจพิสูจน์แล้วในทศวรรษที่ผ่านมาว่ามันสร้างความล้มเหลวในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ

จม.ฉบับที่ 5 หน้า 37

อย่างที่คุณได้เขียนไว้ในคำนำว่า งานเขียนตรงนี้อาจไม่มีประโยชน์กับโรงเรียนที่ปิดขังตัวเองอยู่ในกะลาคับแคบ แต่ผมเชื่อว่างานของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนที่มองเห็นสภาพปัญหาทางการศึกษาในแนวทางเดียวกับคุณ และหากจะช่วยเปิดใจอันคับแคบของผู้ใหญ่บางคนได้ นั่นก็คือที่สุดแล้วที่เราจะหวังได้จากหนังสือเล่มหนึ่ง

การให้ใครสักคนได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเองเมื่อหน้าหนังสือนั้นปิดลง

ถ้าจะมีสักอย่างที่ผมเสียดาย คือเรามีเยาวชนในแบบคุณและเพื่อนๆ คุณไม่มากพอ แต่มีผู้ใหญ่ที่พร้อมจะปิดตัวเองอยู่ในกะลาคับแคบมากเกินไป

ด้วยความนับถือ

นิธิ นิธิวีรกุล


วิธีเดินทางกับแซลมอน

Umberto Eco / นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ: แปล
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

“ไอ้บ้า” หรือไม่ก็มีคำประมาณเดียวกันตามมาเป็นระลอก บทแรกๆ ผ่านบทต่อๆ มาก็ยังเอามือทาบอกสบถในใจ “ไอ้…”

วิธีเดินทางกับแซลมอน เป็นเรื่องเล่า เรื่องแต่ง เรื่องมโน เรื่องมั่วๆ เอา จะจัดวางในหมวดไหนก็แล้วแต่ผู้อ่าน แล้วแต่ทางใครใคร่ๆ นิยม เกี่ยวกับ ‘วิธีการ’ ทำเรื่องต่างๆ เช่น วิธีพูดถึงสัตว์ วิธีใช้คนขับแท็กซี วิธีไม่พูดเรื่องฟุตบอล ทั้งหมดเป็นเรื่องสั้นๆ เพียงไม่กี่หน้า flow แบบวิ่งเร็วกว่าสายตา อ่านไม่กี่อึดใจก็จบ มันออกแบบมาสำหรับรับใช้คนสมาธิสั้นกุดแท้ๆ

เสน่ห์สุดร้ายคือการเอาเรื่องราวเอาเรื่องราวที่ค่อนข้างไปทางเพ้อเจ้อ เรื่องไม่เป็นเรื่อง มาทำให้เป็นเรื่อง บางคนอาจจะบอกว่ามันไม่น่าสนใจ แต่สงสัยในวิธีคิด ว่า อุมแบร์โต เอโค มีสมองหรือวิธีคิดแบบไหน ถึงสามารถใช้ความแถไถให้เป็นประโยชน์อย่างคล่องแคล่ว มีชั้นเชิง กระแนะกระแหนผู้คน ประชดแดกดัน หรือใช้เพียงไม่กี่ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องใหญ่โตอย่างหน้าตาเฉย

แต่เชื่อเถอะ งานเขียนสั้นๆ แบบนี้ ไม่ได้มาจากความมั่วที่ไร้แก่นไร้ฐาน คล้ายๆ การเอาโน้ตหลายๆ ตัวมาเล่นแบบไร้ฟอร์มปลอดทฤษฎี ใครบางคนอาจบอกว่ามั่ว แต่หากเรียกมันว่า แจ๊ส ก็คงเป็นเรื่องของเรา

ถ้าอ่าน วิธีเดินทางกับแซลมอน แล้วรู้สึกว่าคิดง่ายเขียนง่าย คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การอิมโพรไวส์ให้เป็นเรื่อง ใช้ทักษะในระดับที่คิดไม่ถึงทีเดียว

ผจญไทยในแดนเทศ

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
วีรพงษ์ สุนทรฉัตรวัฒน์: อ่าน

อ่านสนุกเป็นบ้า ผู้เขียนสืบค้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โลก เลือกสรรบางฉากบางตอน แต่สำคัญคือมีชาวสยามหรือชาวไทยเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นตัวละครของฉากนั้นๆ เช่น การปฏิวัติรัสเซีย, ชาวสยามที่เกือบได้ขึ้นเรือไททานิก, ชาวเพชบุรีที่หลงรักเมืองซานฟรานซิสโกในคริสตศักราช 1906 ฯลฯ

ผู้เขียนแต่งหนังสือเก่ง เขาวางซีเควนส์แต่ละช่วงตอนจนคนอ่านติดหนับ อยากรู้อยากเห็นชะตาชีวิตชาวสยามในหน้าประวัติศาสตร์โลก แหล่งสืบค้นข้อมูลหลายแหล่งทั้งบันทึกความทรงจำ ตำราประวัติศาสตร์ หนังสืองานศพ นวนิยาย ฯลฯ นี่คือเรื่องราวการผจญภัยของตัวละครชาวสยามในฉากของโลก อาชญาสิทธิ์ทำหน้าที่พาเราผจญภัยเข้าไปในตัวบท ร้อยเรียงด้วยสำนวนภาษาค่อนข้างสวิงสวายและฟุ่มเฟือยอารมณ์ขัน หนังสือเล่มนี้จึงอ่านสนุก

Ghost Tower and Me
เรื่องของตึกร้างสาธรยูนีค

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน

นี่คือเรื่องของตึกที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ เหมือนอนุสรณ์สถานตั้งตระหง่านแสดงแนวคิดบางอย่าง ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ความเฟื่องฟูและพังพาบของเศรษฐกิจไทย สถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นที่เป็นตัวแทนของความหรูหราแห่งยุคสมัย หรือกระทั่งเมื่อตึกนี้เป็น ‘จุดชมวิว’ และมีการฉวยโอกาสหาประโยชน์ นี่ก็เป็นอนุสาวรีย์สะท้อนความด้อยประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

หนังสือเล่าที่มาที่ไปจากมุมมองของเจ้าของตึก ธุรกิจของครอบครัว (ตัวผู้เขียนคือลูกชายของ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกเจ้าของโครงการ) จึงมีน้ำเสียงส่วนตัวและรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มาก แกนของเรื่องเล่าจึงขยายจากวิกฤติการเงินไปถึงชีวิตการทำงานของสถาปนิกรุ่นก่อน บรรยากาศของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุคที่การเก็งกำไรขายใบจองยังเป็นเรื่องใหม่ เม็ดเงินมหาศาล และการคัดง้างกับผู้ทรงอิทธิพล

ผู้อ่านอาจสงสัยใครรู้ในบางประเด็นที่ไม่ได้เล่า แต่ Ghost Tower คือตัวเอกในหนังผีเรื่องนี้ และคงไม่มีผีที่ไหนแถลงไขจนกระจ่างถึงสาเหตุของการหลอกหลอน เราพยายามได้แค่สืบค้นจากวัตถุพยานและประวัติศาสตร์

หิมาลัยไม่มีจริง

นิ้วกลม
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

จุดเด่น

  • อัดแน่นด้วยพลังการเล่าเรื่องของคนหนุ่มระดับทะลักทะลายเขื่อน คนที่ไปเดินค่ายฐานเอเวอเรสต์ 10 วัน แต่สามารถเขียนต้นฉบับออกมาหลายร้อยหน้าได้ ย่อมต้องมีแรงบันดาลใจมหาศาล
  • คลี่ให้เห็นร่องรอยความสนใจประเด็นจิตวิญญาณของผู้เขียนอย่างละเอียด อาจไม่ครบทุกซอกทุกมุม แต่สำแดงให้เห็นทิศทางความสนใจและการเติบโตด้านในอย่างแจ่มชัด
  • นอกจากประเด็นทางจิตวิญญาณ ข้อมูลพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับหิมาลัยก็ใส่มาเต็มๆ แถมถูกต้องแม่นยำ อ่านแล้วไม่แทบต้องไปหิมาลัยเองก็ได้
  • อ่านเพลินดี ฉากที่สนุกคือสมรภูมิขับถ่าย และวินาทีแห่งความสุขตอนอาบน้ำอุ่น
  • หนังสือออกแบบสวยงาม โปรดักชั่นประณีตตามแบบฉบับคนรักหนังสือ เท่าที่อ่านรอบแรกยังไม่เจอคำผิด

จุดกวนใจ

  • ไม่แน่ใจว่า ผ่านไปอีกสักระยะผู้เขียนจะรู้สึกไหมว่า ข้อมูลหรือข้อความแทนใจที่โควทหรือสกัดจากแหล่งอื่นใส่เข้ามา มันยังเบลนด์ไม่เข้าที่กับโครงเรื่อง หลายจุดสามารถตัดออกได้โดยที่ตัวเรื่องไม่เสียหาย
  • แต่ก็อย่างว่า….ควรแก่อีกหน่อยค่อยคิดแบบนี้ ตอนนี้นิ้วกลมยังถือเป็นคนหนุ่มเขียนอย่างนี้แหละดีแล้ว ยังไม่ต้องรีบแก่
  • คนที่ไม่ค่อยอินหรือถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับท่วงทำนองแบบโค้ชชีวิต (life coach) อาจมีปัญหากับงานเล่มนี้
  • มีคำว่า ‘เปลี่ยวเหงา’ ปรากฎอยู่ในหนังสืออย่างน้อยสองสามจุด คนที่เห็นวงโคจรชีวิตของนิ้วกลมจากระยะไกลๆ อาจสงสัยว่าพี่ไปเปลี่ยวเหงาตอนไหน…แต่ก็อีกนั่นแหละ เราไม่มีทางรู้จักใครทุกแง่มุม จนกว่าจะได้อ่านตัวหนังสือของเขา (ต่อให้อ่านแล้วก็ยังไม่แน่)
  • มีอารมณ์ขันและจังหวะยิงมุกน้อยกว่าที่คาด

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า