การเซ็นเซอร์เป็นสิ่งที่น่าขนลุกขนพอง! (ชะโงกตัวมาคว้าแก้วบรั่นดีและเอานิ้วชี้เคาะกับกระจกปูโต๊ะกาแฟอย่างแรง) และเป็นพืชพันธุ์ระยำอัปรีย์ที่ทรหดตายยากถ้ามันได้ฝังรากลงแล้ว…
– บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ อัลแบร์โต โมราวียา
คำถามหนึ่งในชีวิตที่มักต้องเจอเสมอ คือ หากไม่เป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนี้ หากวันนั้นเราเลือกได้ บางทีชีวิตอาจดีกว่านี้ หากวันนั้นเราเลือกที่จะบอกไป วันนี้คงไม่ต้องมาทวงถามกับเงาของอดีต
หากวันนั้น ฉันเลือกที่จะไม่ออกไปเป่านกหวีด วันนี้คง…
แต่ที่จริง พูดได้ไหมว่าเรามีสิทธิ์เลือก พูดได้ไหมว่าภายใต้ระบอบปกครองเผด็จการและโครงสร้างอำนาจที่กดทับ เรามีเสรีภาพที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เลือกที่จะยากจนหรือร่ำรวย ถ้าจนแล้วเราจะต้องทำอย่างไรให้พ้นจากความยากจน หรือแค่ร้องเพลง “…อย่างน้อย สิ่งที่เรานั้นทำลงไป ไม่คิดอะไร แค่ภูมิใจที่เป็นคนดี…”
ใน La Romana หรือ นางกลางโรม ของ อัลแบร์โต โมราวียา สำนวนแปลโดย เลิศ กำแหงฤทธิ์ เล่าเรื่องราวของ อเดรียนา (Adriana) เด็กสาววัย 16 ที่แม่มองเธอเป็นเพียงสินค้าเอาไปเร่ขายกับผู้ให้ราคาสูงที่สุด โดยมีฉากหลังอยู่ในห้วงที่อิตาลีถูกปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี
เริ่มต้นด้วยการเป็นนางแบบภาพเปลือยให้กับศิลปิน แล้วหลงรักกับ จีโน คนขับรถของคหบดีผู้หนึ่ง จนเตลิดไปสู่การเป็นโสเภณีหลังถูกนางแบบด้วยกันล่อลวงเธอไปสู่การถูกข่มขืนโดยตำรวจใหญ่ของมุสโสลินี กระทั่งตกหลุมรักอีกครั้งต่อ มิโน นักศึกษาหัวก้าวหน้าที่เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านมุสโสลินี ที่ต่อมากลับใจเข้าร่วมกับตำรวจรัฐ นำไปสู่ความรู้สึกผิดและนำไปสู่การฆ่าตัวตายของมิโนในที่สุด
ขณะที่อเดรียน่าใช้ลูกในท้องของผู้หญิงสักคนมาสมอ้างเป็นลูกของมิโนเพื่อให้ครอบครัวของเขารับผิดชอบเลี้ยงดู
แม้ในท้ายที่สุด อเดรียน่าจะรู้ทั้งรู้ว่าลูกของตนจะต้องเติบโตขึ้นมาโดยอาจจะถูกประณามได้ว่าเป็นลูกของฆาตกรและโสเภณี แต่ครอบครัวมิโนมีสิ่งที่อเดรียน่าใฝ่หามาตลอด นั่นคือ ความร่ำรวย
จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในบทนำพิเศษของนิยายเล่มนี้ว่า
…ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้ยินชื่อ อัลแบร์โต โมราวียา นักเขียนนวนิยายนามวิโรจน์ชาวอิตาเลียนแห่งยุคปัจจุบันนัก แต่ในยุโรปและในอเมริกา ชื่อเสียงของโมราวียาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป นวนิยายของเขาได้รับความนิยมมากถึงกับได้รับการแปลถ่ายออกเป็นภาษาต่างๆ สิบกว่าภาษา และยิ่งกว่านั้นในขณะเดียวกันก็ถูกประณามอย่างหนักโดยสันตะปาปาประมุขของนิกายโรมันคาทอลิกถึงกับได้ออกประกาศิตห้ามชาวโรมันคาทอลิกทั้งหลายทั่วโลกอ่านหนังสือของโมราวียาทุกเล่มอย่างเด็ดขาด…
จิตรนำบริบทของโลกวรรณกรรมในสังคมอิตาลียุคนั้นมาสะท้อนนัยยะทางอุดมการณ์สังคมนิยม และการที่วรรณกรรมเล่มหนึ่งจะถูกสั่งห้ามทั้งจากทางฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายรัฐบาล โดยที่จิตรอาจไม่รู้เลยว่าในกาลเวลาต่อมาหลังจิตรเสียชีวิตไปแล้ว วรรณกรรมแทบทุกเล่ม รวมถึงงานเชิงวิชาการของจิตรเอง ก็กลับกลายเป็นหนังสือระดับต้องห้ามของรัฐไทย
แม้โมราวียาไม่ได้พิพากษาทางเลือกของอเดรียน่าว่าเป็นเรื่องผิด แต่ทัศนะของตัวละคร ทั้งตัวอเดรียน่าเอง ทั้งตัวมิโนที่มองเธอในตอนแรกอย่างรังเกียจ ก็อาจบอกนัยยะของสังคมที่มีต่ออาชีพโสเภณีได้ระดับหนึ่งจากผู้คนที่มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว และอาจจะดูใจร้ายไปนิดที่จะมองว่าผู้คนในอิตาลียุคนั้นคับแคบต่อทัศนะที่มีต่อโสเภณี ซึ่งเราอาจจะมองอีกแง่ได้ว่า โมราวียาเพียงแต่ต้องการให้อเดรียาน่าสะท้อนภาพของสังคมอิตาลีภายใต้รัฐบาลเผด็จการในยุคสมัยของความโกลาหลวุ่นวายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่า และหากมองให้ไกลกว่าตัวบทที่สำแดงออกมาในนางกลางโรม ชีวิตของอเดรียน่าก็อาจเปรียบได้กับประชาชนที่ยังยากจนในอิตาลี ประชาชนที่ไม่มีทางเลือกให้กับชีวิตมากนัก
เราอาจประณามวรรณกรรมเล่มหนึ่งในฐานะที่มันเป็นหนังสือลามกเพราะแสดงภาพของความจริงที่ปรากฏอยู่ในซอกมุมของสังคม แต่เราปฏิเสธความจริงที่อยู่นอกตัวบทของวรรณกรรมเล่มนั้นไม่ได้ ความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ แต่เราเลือกจะไม่มอง แค่เพราะมันไม่ได้ให้ภาพที่สวยงามของผู้คน ของเมืองอันงดงามดั่งเทพสวรรค์สร้าง
ชีวิตของอเดรียน่าอาจไม่เป็นเช่นที่ปรากฏ ถ้าหากเธอไม่ถูกล่อลวง ไม่ถูกข่มขืนโดยตำรวจภายใต้รัฐเผด็จการ แต่ในโลกของอำนาจชายเป็นใหญ่เช่นนั้น เราพูดไม่ได้หรอกว่าเธอมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า คุณจะเดินไปฟ้องตำรวจให้จับพวกเดียวกันได้อย่างไร จะเป็นไปได้อย่างนั้นหรือ ลองหวนดูสังคมเราที่ผู้มีอำนาจแสดงให้เห็นสิ
การใช้เรือนร่างของตัวเองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการกลับคืนมา จึงนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อแล้ว แต่สังคมดัดจริตก็มักจะพิพากษาแต่เพียงว่า คุณมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ทำไมไม่ทำตาม…ถ้าเพียงแต่คุณยึดมั่นในความดีงาม ความดีจะต้องตอบแทน หากทว่าขณะที่คำกล่าวเช่นนั้นปรากฏให้เห็น คำถามสำคัญไม่เคยเกิดขึ้น ทำไมพวกเขาถึงเลือกเช่นนั้น
ทำไมอเดรียน่าถึงเลือกเป็นโสเภณี
ทำไม ไผ่ ดาวดิน ถึงเลือกต่อต้านการรัฐประหาร
คนละเรื่องเดียวกัน? ก็อาจใช่, แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันใช่ไหม เมื่อมีทางเลือกเท่าๆ กัน ทำไมคนหนึ่งถึงเลือกอีกทาง ทำไมพวกเขาถึงยอมให้ตัวเองถูกประณาม อาจจะดีกว่า ถ้ากลับมาตั้งคำถาม ทำไมพวกเขาถึงเลือกเช่นนั้น และ…ทางเลือกที่ดีกว่านั้น แท้ที่จริงเป็นทางเลือกของใคร…
พนิน
วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ / ปราบดา หยุ่น: แปล
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน
ทิมัฟเฟย์ พนิน คือชื่อของศาสตราจารย์ชาวรัสเซียพลัดถิ่น เขาสอนภาษารัสเซียในวิทยาลัยเล็กๆ เช่าห้องอยู่ร่วมบ้านกับเพื่อนอาจารย์ที่คุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เอาเข้าจริงพนินมีเพื่อนไหม ผมไม่แน่ใจ บุคลิกของเขาที่ตัวหนังสือบรรยายดูตลก แต่ก็ดูจริง (เราต่างรู้จักใครสักคนในชีวิต ที่ทำอะไรมีแบบแผนเสมอ แต่มีจังหวะการพูดแปลกๆ หลงใหลการอ่านคู่มือ แคตตาล็อก และเชื่อมั่นตารางเวลารถไฟมากกว่าการถามไถ่เพื่อนมนุษย์ แต่ถ้าถามเจ้าตัว เขาจะบอกว่า “ธรรมดา”)
ในแวดวงการศึกษา เหล่าคณาจารย์ต่างสนใจในสิ่งเฉพาะ บ้างก็ค้นคว้าภาษาโบร่ำโบราณที่ไม่มีใครใช้ บ้างก็สนทนาโดยมีเชิงอรรถห้อยท้ายแทบทุกประโยค (นิยายเล่มนี้จึงพร้อยไปด้วยเชิงอรรถ) แต่พนินยิ่งแปลกแยกไปกว่านั้น “มุขตลกแบบอเมริกันที่ยังไงผมก็ไม่เข้าใจ” เขาโอดครวญด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงตลกๆ (นั่น ลิ้นเซาธ์อีสต์เอเชียยังจะไปเหยียดสำเนียงยุโรปเขาอีก) เพื่อนร่วมชาติที่สอนวิชาจิตรกรรมก็ดันเป็นพวกสุดขอบที่ขยันสร้างแต่ภาพฝาผนังแนวพรอพากันด้า — วาดผู้อำนวนการสถาบันรับคบไฟความรู้จากอริสโตเติ้ล…อะไรเทือกๆ นั้น
ตัวเรื่องราวเล่าเป็นเส้นตรง บรรยายละเอียดละออ ให้ชีวิตของชายคนหนึ่งที่ไม่มีบ้าน ทั้งบ้านจริงๆ และบ้านของจิตวิญญาณ (ดวงใจของเขาก็ดันมอบให้กับอดีตภรรยา นักวิชาการพราวเสน่ห์ผู้กระโจนลงไปในแวดวงจิตบำบัด แน่นอน เธอรับมันไว้…ก่อนจะค่อยๆ ใช้เท้าขยี้กับพื้นปูนสกปรก)
เชื่อว่าในชีวิตนี้ เราน่าจะรู้จักพนินกันบ้าง และบางเวลา วิถีพนินเนี่ยนก็ช่างเปี่ยมประสิทธิภาพ แต่เราก็ล้อเขาเป็นตัวตลกกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง
ถ้า โลลิต้า ทำให้รู้สึกมวนท้อง พนิน ก็จะเป็นความรู้สึกอีกแบบ ไม่ฉูดฉาดเท่า แต่วูบวาบติดค้างในจิตใจเรา และอาจชวนให้พิจารณาก่อนตัดสินใจลี้ภัยการเมือง 😛
สัตว์สัตว์
แครอล เกสส์ และ เคลลี มากี / ณัฐกานต์ อมาตยกุล และ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ: แปล
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน
หากเขียนถึงเรื่องเพศในยุคก่อนหน้านี้อาจถูกมองเป็นขบถแหกกฎอินดี้ ทว่าความลึกซึ้งของความเป็นมนุษย์แบบนี้คือความสวยงามทางวรรณกรรมร่วมสมัย
‘สัตว์สัตว์’ จั่วหัวว่าด้วยเรื่องเพศๆ และความสัมพันธ์แปลกๆ ระหว่างมนุษย์ แต่เรื่องสั้นเล่มนี้กลับมีเสน่ห์ดึงดูด ไม่ถึงกับกลืนง่ายย่อยง่ายแบบ ‘สัตว์สัตว์’ แต่ทุกบทก็มีชีวิตชีวากำเนิดและดำเนินโลดแล่นให้เลือกชิมได้หลากรสชาติในสำรับเล่มเดียวกันโดยไม่เปลี่ยนโทน
ทั้งหญิงที่ออกลูกเป็นมังกรแล้วต้องเตรียมตัวรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว หรือแม่ที่ต้องจัดการฝาแฝดบุตรคนและม้าของเธอ รวมถึงบรรยายความสัมพันธ์คู่หญิง-หญิงผ่านการกำเนิดของลูกปลาเรืองแสงในท้องที่มาจากความผิดพลาดของการผสมเทียม
ชีวิตไม่ใช่เรื่องวิตถาร เรื่องสั้นสารพัดมารดาที่มีบุตรเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ จะพาผู้อ่านพบความมืดที่ปนเปผสานสมาสสนธิกับหลากหลายอารมณ์ ก่อนจะพบแง่มุมความรักอันอบอุ่นของแม่…และพ่อซ่อนอยู่