ชอบออกกำลังกายนะ และชอบออกอย่างจริงจังแบบบ้าพลังเลยด้วย แต่มีเวลาออกแค่เสาร์-อาทิตย์เท่านั้น อย่างนี้จะทำให้สุขภาพดีได้จริงเหรอ?
ข้อกังวลเหล่านี้จะหมดไป เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลักห์เบอระห์ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ ยืนยันว่าอัตราเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ระหว่างผู้ที่ออกกำลังกายอย่าง ‘จริงจัง’ สองครั้งต่อสัปดาห์ กับผู้ที่มีตารางเวลาออกกำลังกายเกือบทุกวัน ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันมาก
เก็บตัวอย่างประชากรผู้ใหญ่ชาวอังกฤษและสก็อตแลนด์ราว 6,000 คน ตั้งแต่ปี 1994 ถึง 2012 พบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างจริงจัง (ยิ่งจริงจังมากเท่าไร คุณก็ยิ่ง ‘พูดไปด้วย ออกกำลังกายไปด้วยยากเท่านั้น’ เช่น การออกกำลังกายแบบผสมผสานอย่าง High Intensity Interval Training: HIIT) ราว 75 นาทีต่อสัปดาห์ และอย่างชิลล์ๆ (เช่น จ็อกกิ้ง ว่ายน้ำ) ราว 150 นาทีต่อสัปดาห์ พบว่า จะลดอัตราเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจราว 40 เปอร์เซ็นต์ และโรคมะเร็งราว 20 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่กลุ่ม ‘Weekend Warriors’ หรือ ‘ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างบ้าพลัง เฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์’ พบว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงลดลงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและมะเร็งราว 40 เปอร์เซ็นต์ และ 18 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
แต่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า ‘Weekend Warriors’ เป็นการออกกำลังกายอย่างจริงจัง (vigorous exercise) เลยนะ มิใช่การเดินเร็วๆ เรียกเหงื่ออย่างคำศัพท์ moderate exercise เพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แกรี โอ โดโนแวน (Gary O’Donovan) หัวหน้าทีมวิจัยยืนยันว่า การออกกำลังกายอย่าง moderate exercise เช่น เดินเร็วๆ อย่างกระฉับกระเฉง วิ่งจ็อกกิ้งเบาๆ ก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มออกด้วยท่วงท่าเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ แล้วค่อยเพิ่มความถี่ หรือระยะเวลาให้มากขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ ไม่ต้องหักโหม ไม่ต้องรู้สึกว่าต้องออกอย่างหนักหน่วงเท่านั้น จึงจะถือเป็นการออกกำลังกายที่ถูกต้อง