รัฐสวัสดิการต้องมี เลือกตั้งต้องมา

ก่อนการเลือกตั้ง – ที่ยังไม่มีใครกล้ายืนยันสถานะการ ‘เลื่อน’ จะมาถึง การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงเป็นสิ่งยืนยันถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตและปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความหวังของการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ โดยเครื่องมือสำคัญที่กำลังเป็นที่พูดถึงคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่จะทำให้การเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าของประชาชนเกิดขึ้นได้จริง

‘เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ’ ได้จัดเวทีฟังเสียงจากพรรคการเมือง ภายใต้หัวข้อ ‘เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา’ โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยมีคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างชัดเจนอยู่หลายคำถาม และหนึ่งในคำถามสำคัญคือ “ทุกพรรคเชื่อหรือไม่ว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นเครื่องมือที่แก้ความยากจนเรื้อรัง”

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “เราเชื่อว่าสวัสดิการที่รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนจะสามารถยกระดับประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน พรรคเรามีรากเหง้ามาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเราได้จัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนมาแล้ว ก็คือกองทุนหมู่บ้านและชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน และสามารถประกอบอาชีพได้ อันนี้เป็นหลักการกระจายโอกาสให้กับประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นโครงการเพื่อประชาชน เมื่อประชาชนไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ก็จะมีเงินเหลือในการใช้จ่าย อยู่กิน”

ขณะที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ และติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด มองว่า สภาวการณ์ที่เป็นในปัจจุบันไม่ใช่มีเพียงเรื่องคนตกงานหรือการเข้าไปช่วยเหลือ และไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงอายุอย่างเดียว เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนมากมาย

“การตกงาน การต้องมีบำนาญหรือการต้องช่วยเหลือมันใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที ขั้นแรกเราขีดเส้นที่เรียกว่า universal basic income หรือตัวรายได้ที่ไม่ควรต่ำกว่านี้ เส้นนี้คือเดือนละ 10,000 บาท เราไม่เลือกที่จะใช้วิธีการขึ้นค่าแรง โดยเราไปดูภาคแรงงาน สิ่งที่รัฐจะใส่เข้าไปให้คือส่วนต่างของรายได้ ซึ่งไม่เหมือนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เรียกว่าเป็นหลักประกันด้านรายได้ ส่วนนี้เวลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายจ้างกระทบเต็มๆ และมันไม่ได้เป็นตัวโจทย์ที่บอกว่านายจ้างหรือรัฐบาลอยากได้ สิ่งที่ทำคือรัฐบาลจะใส่เงินเข้าไปในส่วนต่าง

“ส่วนภาคที่สองคือกรณีของเกษตรกร จะเป็นการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ซึ่งเคยทำมาแล้วในสมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเรื่องนโยบายของเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุเป็นนโยบายที่เราทำมาตั้งนานแล้ว และเบี้ยผู้ยากไร้ ที่มีการกำหนดคำว่าผู้ยากไร้ลงไปเพื่อให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเข้าใจของเรากับพรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนกัน พรรคพลังประชารัฐใช้เป็นบัตรคนจน แต่ของเราเป็นการจ่ายโอนตรง โดยจะส่งผลให้คนจนเข้ามาในระบบได้เพิ่มเติม”

ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ตนไม่ถึงขนาดเชื่อว่าจะแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังได้ แต่สิ่งที่เชื่อคือจะต้องมีระบบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยที่ต้องเป็นของประชาชน ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีศักดิ์ศรีแล้วก็ความยุติธรรม ความเท่าเทียม และต้องมีระบบเลือกตั้ง

“วันนี้ถ้าคุณไม่คืนอำนาจให้ประชาชน งบประมาณประเทศมันก็จะมีความเหลื่อมล้ำ พรรคเรามีนโยบายชัดเจนว่าเราส่งเสริมระบบบำนาญแหงชาติ และสวัสดิการถ้วนหน้า โดยรัฐต้องให้ประชาชนอย่างเสมอหน้าด้วยสิทธิที่เสมอกัน ส่วนเส้น 3,00 บาท อันนี้เราเห็นด้วย แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ เรื่องแรกระบบการคลังต้องมีการแก้ไข”

มายังตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่ ศิริกัญญา ต้นสกุล ยืนยันต่อคำถามว่า ได้ เพราะถ้าตีความรัฐสวัสดิการในความหมายที่กว้าง โดยการที่ทุกประโยชน์ที่จะได้รับต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้ามีประชาชนที่มีความต้องการเฉพาะเราก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่จำเพาะเจาะจงให้ด้วย

“ถ้ามองมุมนี้ มีแต่รัฐสวัสดิการเท่านั้นที่จะยุติความยากจนเรื้อรังได้ แรงงานหนึ่งคนจะต้องดูแลทั้งลูกและผู้ใหญ่ในบ้าน ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดูแลช่วยเหลือในลักษณะที่เป็นสิทธิ ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน มันจะสร้างหลักประกันของความมั่นคงด้านรายได้ สามารถวางแผนระยะยาวในชีวิตได้ ซึ่งอันนี้จริงๆ แล้วอนาคตใหม่ก็มีสิทธิประโยชน์ที่เป็นแพ็คเกจของรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าครบวงจร ที่จะเสนอเบื้องต้นคือดูเฉพาะที่เราทำได้ตอนนี้เลย อย่างตัวบำนาญเราก็สนับสนุนเป็นบำนาญถ้วนหน้า แต่ก็ถ้าทำได้ตามนี้เลยจะอยู่ที่ 1,800 บาท”

ส่วนวิสัยทัศน์ของพรรคชาติไทยพัฒนา อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา ตอบว่า แนวทางของพรรคมีมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การมีนโยบายในการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา การพัฒนาตนให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีเกียรติ

“เราเห็นว่าเราสามารถจัดสวัสดิการที่เหมาะสมได้ แต่ขึ้นอยู่กับการออม เพราะฉะนั้นเราสนับสนุนเรื่องการออม และสามารถนำมาเป็นสวัสดิการได้ อีกอย่างหนึ่งเราก็สนับสนุนการสร้างคุณภาพชีวิตด้วย เพราะฉะนั้นเราเชื่อในรัฐสวัสดิการ และมุ่งสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการออม”

อย่างคึกคักและเรียกเสียงปรบมือได้มากที่สุด สมบัติ บุญงามอนงค์ จากพรรคเกรียน กล่าวอย่างจริงจังถึงความเชื่อที่ว่า รัฐสวัสดิการจะเป็นพื้นฐานในสังคมที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึงให้ได้ ส่วนว่าจะไปถึงอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนครั้งที่คนไทยต้องอ่านออกเขียนได้

“ดังนั้นเราจึงวางเป้าหมายว่าสวัสดิการของประชาชนเป็นพื้นฐาน นั่นหนึ่ง สอง-ความยากจนในความหมายของผม ‘จน’ นี่ผมนึกถึงคำว่า ‘จนตรอก’ คือมันไปต่อไม่ได้ เวลาผมทำงานกับคนที่ยากจน ผมดูว่าเขาไปต่อได้ไหม

“ทีนี้ความจนมันเกิดจากอะไร มัน ‘ยาก’ ก่อน และคุณไม่สามารถผ่านขั้นตอนของความยากไปได้ ถามว่าทำไมมันยาก หนึ่ง-มันมีอุปสรรค เพราะคนยากจนทำงานหนักกว่าคนรวย แต่ว่ายังจน แสดงว่ามันมีนโยบายอะไรที่เป็นอุปสรรคของประชาชน เอามันออกไป เพื่อจะให้ประชาชนเบา สอง-ไปดูว่า เราให้โอกาสอะไรกับเขา ดังนั้นเอาอุปสรรคออกแล้วใส่โอกาสเข้าไป เบื้องต้นคือต้องเอาชีวิตรอด สอง โอกาสในการพัฒนา การศึกษา การงาน”

สุดท้ายยังคำตอบจากพรรคสามัญชน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตอบสั้นๆ ก่อนว่า “เชื่อ” แต่ก็ฝากคำถามไว้ด้วยว่าเราจะสามารถเปลี่ยนเพดานเงินสวัสดิการจาก 3,000 เป็น 4,000-5,000 ได้ไหม?

“เพราะมันไม่น่าจะพอกิน ดังนั้นเราจะสามารถไปได้ไหม ไปให้สุดเพดาน เพราะว่าประเทศนี้คนรวยมันเยอะ ต้องเฉลี่ยทรัพย์คนรวยมาให้คนจนมากกว่านี้ ในขั้นต้นผมเห็นด้วยกับตัวเลข 3,000 แต่ว่าถ้าจะมากกว่า 3,000 จะทำได้ไหม?”

คำถามของเลิศศักดิ์นำมาสู่ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อไปยังรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคต คือ ถ้าประเทศนี้จัดรัฐสวัสดิการได้ แต่ต้องจัดสรรหรือจัดการกระจายงบประมาณแผ่นดินใหม่ มีความเป็นไปได้แค่ไหน และแต่ละพรรคคิดเห็นอย่างไร?

เลิศศักดิ์กล่าวตอบต่อว่า สังคมเคยเทียบกับโครงการจำนำข้าวของเพื่อไทยไหมว่าเป็นประโยชน์ต่อคนแค่ไหน ใช้เงินประมาณ 200,000 – 300,000 ล้าน แต่เคยดูไหมว่า ที่ลดหย่อนภาษีให้นักลงทุน เราสูญเสียไปเท่าไร

“จากการคำนวณเงินสวัสดิการจำนวน 1 ล้านล้านบาท เราสามารถเอาเงินจากส่วนต่างๆ มาใช้ได้ อย่างเช่น ถ้ายกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับ BOI อย่างน้อยได้ 240,000 ล้านบาท ถ้าปรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เอาไปซื้อเรือดำน้ำ เราได้เงินกลับมาอีก 200,000 – 300,000 ล้านบาท เครือข่ายรัฐสวัสดิการได้แสดงให้เห็นแล้วว่า งบประมาณ 1.4 ล้านบาทสามารถเอามาจากตรงไหนได้บ้าง กล่าวคือ เห็นด้วยว่าจะต้องมีการจัดสรรการกระจายของงบประมาณแผ่นดินใหม่”

ขณะที่ตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่ก็มองว่า “จริงๆ แนวนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคอนาคตใหม่ก็ได้มาจากประชาชน เราคิดว่าเราสามารถทำได้นะคะ ซึ่งเรามีแพลนในการปฏิรูปกองทัพเรียบร้อย ว่าเราจะตัดลดกำลังพลขนาดไหน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเงินเดือนให้สวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยเพิ่มขึ้น แล้วก็ลดจำนวนนายพล เราก็จะสามารถเซฟเงินได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

“อย่างการยกเลิก BOI ซึ่ง 240,000 ล้านบาทจะยกเลิกทันทีไม่ได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่รัฐได้ผูกพันไว้กับเอกชน แต่เป็นการทยอยลด และเกลี่ยงบกลาง ลดงบประจำ และการลดหย่อนภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นการให้สิทธิคนที่รวย เราก็ต้องไปจำกัดตรงนี้ ก็จะได้เงินกลับมาอีก ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ”

มองมาที่เพื่อไทยระบุว่า การหาเงินงบประมาณมาใช้เพื่อประชาชนในการช่วยเหลือประชาชนต้องได้รัฐบาลที่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ

“พรรคเราก็ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่ทำงานเป็นและประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ เรายังคงเชื่อมั่นเราสามารถฟื้นเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ เศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปจากการไร้ฝีมือของรัฐบาลมันก็จะกลับมาเฟื่องฟู เพราะเรามองเห็นทุกกลไกที่เม็ดเงินจะไหลเข้าสู่กระเป๋าของคนยากคนจน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลสามารถสร้างกลไกให้สามารถเป็นผู้ผลิตและสร้างรายได้โดยพวกเราในประเทศไทย เราแทบจะไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเลย เพราะฉะนั้นเรามองว่า เงินที่รัฐบาลหามาได้ จะทำให้เกิดความมั่งคั่งแน่นอนโดยไม่ต้องไปขูดรีดภาษีประชาชน”

และอย่างแหลมคมกับข้อเสนอของพรรคเกรียน คือการตั้งคำถามไปที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในมุมที่ต่างออกไป

“เพราะผมไม่มีปัญหาถ้ากลาโหมจะเพิ่มงบประมาณด้วย ผมมีเงื่อนไขเดียวคือ ถ้าจะเพิ่มงบประมาณกลาโหม คือกลาโหมต้องหาเงินเองได้ ซึ่งผมมีข้อเสนอว่าอะไรที่มันไม่จำเป็นก็ควรที่จะไปใช้ในส่วนที่จำเป็น ความมั่นคงของมนุษย์ควรเริ่มที่ปากท้องของประชาชน ที่คนค้ายาปล้นจี้ก็เพราะเขาจน ดังนั้นความจนเป็นภัยความมั่นคง ดังนั้นเอางบความมั่นคงไปใส่ในเรื่องนี้ เรื่องการจัดซื้ออาวุธ ผมคิดว่าต้องมีนะ แต่ขอว่า การจัดซื้ออาวุธให้เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ เราควรสนับสนุนงานวิจัยให้มีการผลิตในประเทศไทย อันนี้ก็เป็นการจัดสรรงบ เพราะฉะนั้นผมไม่มีปัญหากับงบกลาโหม แต่กลาโหมต้องรู้จักทำมาหากินให้เป็น”

และสุดท้าย ข้อสรุปสั้นๆ จากพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่า ในตอนนี้การจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง แล้วรัฐบาลมาบอกประชาชนว่าไม่มีเงินพอสำหรับรัฐสวัสดิการ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในมุมของประชาธิปัตย์มองว่า มีการหลอกตัวเองเยอะมาก เช่น การไปจำกัดงบประจำ บางคนเป็นลูกจ้างชั่วคราว

“บางอาชีพอย่างพยาบาลหรืออาชีพบริการประชาชน บรรจุไปเลย ความเป็นจริงแล้วเราก็จ้างคนนอกในอัตราส่วนที่เท่ากันหรือแพงกว่าอยู่ดี ซึ่งมันเป็นกลไกที่บิดเบือนมาตั้งแต่ต้น

“ส่วนเรื่องภาษี อย่าง BOI บริษัทชาเขียวมาขอยกเว้นภาษีได้ สายการบิน low cost ขอยกเว้นภาษีได้ ดังนั้นเรื่อง BOI ต้องลด สอง-การเทรดในตลาดหลักทรัพย์ รายได้ส่วนมากที่มาจากการเสียภาษีนิติบุคคล จะหนักอยู่ที่บริษัทในตลาด ดังนั้นการเก็บภาษีดีๆ ไปแท็คกับคนที่เขามีรายได้ที่เกิดจากหุ้นมันดีกว่า ดีกว่ามานั่งขูดเลือกขูดเนื้อจากภาษีบุคคลธรรมดา หรือกับบริษัท”

ถึงจุดนี้ คงพอได้เห็นภาพต่อวิสัยทัศน์ของพรรคแต่ละพรรคว่ามีทิศทางลมเช่นไรต่อคำถามในเรื่องรัฐสวัสดิการต้องมีในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น…ทว่าคำถามสำคัญต่อจากนี้ต่อไปอาจถอยกลับไปยังจุดตั้งต้นของคำถามสำคัญที่สุดคำถามเดียว การเลือกตั้ง…จะเกิดขึ้นหรือไม่?

ถ้าตรงนี้คำตอบไม่ชัดเจน คำถามอื่นๆ ก็คงเป็นได้แค่ภาพฝันอันเลือนรางต่อไปของประชาชน

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า