มายาคติการปลูกป่า: รอยต่อของงานอนุรักษ์-มหกรรมฟอกเขียว กับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

เมื่อศตวรรษที่แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเคยแน่นขนัดไปด้วย ‘ป่าธรรมชาติ’ แต่ไม่กี่สิบปีให้หลัง ป่าเหล่านั้นได้อันตรธานหายไปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่ทวีจำนวนขึ้น เมื่อป่าถูกทำลายอย่างหนัก ภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ และจิตอาสาจากหลายองค์กร จึงร่วมกันผลักดันนโยบายและจัดกิจกรรม ‘ปลูกป่า’ เป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและรับมือความแปรปรวนของภูมิอากาศ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบว่าต้นไม้ที่ปลูกมักจะตายภายในเร็ววัน พื้นที่ป่าไม่เคยเพิ่มขึ้น และป่าที่สร้างใหม่มีหน้าตาไม่เหมือนป่าเดิม ทำให้ต้องกลับไปปลูกต้นไม้ซ้ำแทบทุกปี 

บทความนี้ผมจึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักกับวิทยาศาสตร์ของป่า เพื่อตั้งคำถามว่าการปลูกป่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ พร้อมร่วมกันไตร่ตรองว่าสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และสิ่งใดเป็นเพียงมายาคติที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย

กำเนิดของป่าแห่งแรก

เมื่อครั้งที่โลกของเรายังเยาว์ พื้นผิวโลกเคยถูกปกคลุมด้วยหินหลอมเหลวร้อนระอุ เมื่อเวลาผ่านไป โลกก็สูญเสียความร้อนให้กับอวกาศ แล้วกลายเป็นดาวเคราะห์หินแข็งที่เย็นกว่าเดิม หลังจากนั้น แสงแดด สายลม และหยาดฝนก็ทำให้หินแข็งบนพื้นผิวโลกผุกร่อนกลายเป็นตะกอนน้อยใหญ่

ไม่กี่ร้อยล้านปีต่อมา สิ่งมีชีวิตยุคแรกก็ถือกำเนิดขึ้นใต้มหาสมุทร วิวัฒน์มาเป็นจุลินทรีย์ เห็ดรา สัตว์ และพืช สาเหตุดังกล่าวทำให้พืชดึกดำบรรพ์มีโครงสร้างเรียบง่ายและต้องอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำตลอดเวลาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป พืชก็พัฒนาโครงสร้างให้มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ค่อยๆ ขยับออกห่างจากทะเล แล้วแผ่ขยายเข้ามาครอบครองผืนพิภพอันไร้ชีวิต เรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบปฐมภูมิ’ (primary succession) พร้อมเชิญชวนเหล่าสรรพสัตว์จากท้องทะเลตื้นให้อพยพขึ้นมาบนบก นี่คือจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ถูกขนานนามว่า ‘ป่า’

การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบปฐมภูมิ

ป่าแห่งแรกมีหน้าตาอย่างไร อยู่ที่ไหน อายุเท่าไร คงเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ‘ป่าบรรพกาล’ (paleoforest) ที่เก่าแก่ที่สุดถูกฝังอยู่ใต้ชั้นหินอายุมากกว่า 385 ล้านปี ซึ่งป่าในปัจจุบันก็คือ ‘ลูกหลาน’ ที่สืบเชื้อสายมาจากป่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วนั่นเอง

ลักษณะและความหลากหลายของป่า

เมื่อมองป่าจากระยะไกล เราจะเห็นพืชนานาพรรณ ถ้าเพ่งมองอีกหน่อย เราอาจเห็นเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ แต่ถ้าเดินเข้าไปใกล้ เราอาจเห็นเห็ดรา รวมถึงได้ยินเสียงและกลิ่นของป่า ดังนั้นป่าจึงไม่ใช่แค่สถานที่ที่ต้นไม้มาชุมนุมกัน แต่เป็น ‘บ้าน’ ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่วิวัฒนาการร่วมกับแผ่นดิน แหล่งน้ำ และภูมิอากาศ มาเนิ่นนานนับแสนนับล้านปี การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เรียกว่า ‘ชีวภูมิศาสตร์’ (biogeography)

ปกติแล้วต้นไม้ภายในป่าจะแข่งขันเพื่อแย่งชิงอาณาเขต อาหาร และแสงแดด แต่บางครั้งต้นไม้ขนาดใหญ่จะช่วยปกป้องต้นไม้ขนาดเล็กจากแสงอาทิตย์แผดกล้า แรงปะทะจากเม็ดฝน พายุโหมกระหน่ำ ความร้อนของเปลวไฟ และน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้พวกมันยังแบ่งปันสารอาหารและเตือนภัยแก่กันด้วยสัญญาณไฟฟ้ากับสารเคมีที่ถ่ายทอดผ่านสายใยของเห็ดราและรากของพืชที่ถักทอเข้าด้วยกัน เรียกว่า ‘โครงข่ายไพศาลของต้นไม้’ (wood wide web)

โครงข่ายไพศาลของต้นไม้ | photo: New Zealand Geographic

หลายคนอาจมี ‘ภาพจำ’ ว่าป่าต้องมีต้นไม้มากมายมาอยู่รวมกันและมีสีเขียวขจี แต่ภาพจำดังกล่าวผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะป่าบางแห่งเต็มไปด้วยพืชพรรณน้อยใหญ่ บางแห่งมีเพียงหญ้ากับไม้พุ่ม บางแห่งมีสีเขียวตลอดปี และบางแห่งแปรเปลี่ยนสีสันไปตามฤดูกาล ป่าในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ป่าไม่ผลัดใบ (evergreen forest) คือ ป่าที่พืชพรรณเป็นประเภทไม่ผลัดใบ หรือเมื่อใบเก่าถูกผลัดทิ้ง ใบใหม่จะผลิออกมาแทนที่เกือบทันที เช่น ป่าฝนเขตร้อน ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าบึง ป่าชายเลน ป่าชายหาด

2. ป่าผลัดใบ (deciduous forest) คือ ป่าที่พืชพรรณเป็นประเภทผลัดใบ โดยพวกมันจะทิ้งใบในฤดูแล้งและแตกใบอ่อนเมื่อฝนมาเยือน เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าทุ่ง

วิวัฒนาการอันยาวนานและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันนี้เองที่ผลักดันให้ป่ากลายเป็นระบบมีชีวิต (living system) ที่เต็มไปด้วย ‘ความหลากหลาย’ เช่นเดียวกับมนุษย์ เราจึงไม่สามารถนำกฎเกณฑ์เพียงหนึ่งเดียวมาตัดสินว่าป่าแบบใดมีคุณค่ามากกว่าป่าแบบใด เพราะป่าแต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง

บทบาทและความสำคัญของป่า

เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ป่าเป็นคลังรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นเครื่องฟอกอากาศ เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นตัวช่วยบรรเทาการกัดเซาะหน้าดิน เป็นแหล่งอาหาร ยา วัสดุ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สามารถชุบชูการทำงานของปอด ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ความดันโลหิต และสุขภาพจิตให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมที่เรียกว่า ‘การอาบป่า’ (forest bathing)

ผืนป่าใหญ่เปรียบเสมือนเครื่องสูบชีวภาพ (biotic pump) ที่คอยผลิตไอน้ำและชะลอการไหลของความชื้นจากทะเลเข้าสู่แผ่นดิน ฝนจึงตกภายในแผ่นดินนานขึ้น สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) ที่พืชพรรณปล่อยออกมาก็มีบทบาทต่อการก่อตัวของเมฆ สีสันของใบไม้ยังทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลืนกับการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นผิวโลก ทำให้ภูมิอากาศเกิดความเสถียร และเมื่อพืชรุ่นเก่าสิ้นอายุขัย เศษซากไม้ที่ผุพังจะแตกสลายกลายเป็นแร่ธาตุจำนวนมากคืนกลับสู่ผืนดิน แล้วเปลี่ยนเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงพืชรุ่นใหม่ต่อไป

ข้อเท็จจริงและมายาคติเกี่ยวกับการปลูกป่า

ความจริงแล้ว ‘การปลูกป่า’ เป็นคำที่มีความหมายอย่างหลวมๆ โดยอาจแบ่งจุดประสงค์ออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

1. การฟื้นฟูป่า (forest restoration) หมายถึง การทำให้ป่าที่ถูกทำลายกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

2. การสร้างป่าใหม่ (reforestation) หมายถึง การนำพืชพรรณกลับคืนสู่บริเวณที่เคยเป็นป่า โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสถานที่ท่องเที่ยว ทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ชะลอการกลายเป็นทะเลทราย (desertification) บรรเทาภาวะโลกร้อน (global warming)

3. การขยายพื้นที่ป่า (afforestation) หมายถึง การเปลี่ยนบริเวณที่ไม่มีพืชพรรณปกคลุมให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เหมือนกับการสร้างป่าใหม่

ผู้อ่านคงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า การปลูกป่ามี ‘ความหมาย’ ที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคล โดยวิธีการปลูกป่าอาจแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

1. การฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติ

เป็นแนวทางที่เชื่อว่าป่าที่ถูกทำลายสามารถฟื้นคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมได้ด้วยตัวเอง เรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบทุติยภูมิ’ (secondary succession) สาเหตุเพราะบนพื้นดินยังหลงเหลือตอไม้ที่มีชีวิตและใต้พื้นดินยังมีแหล่งเก็บเมล็ด (seed bank) ที่พืชเดิมทิ้งเอาไว้ โดยพืชจะมีเส้นโค้งการรอดชีวิตแบบที่ 3 (survivorship curve type III) กล่าวคือ พืชรุ่นเก่าจะโปรยเมล็ดหรือสปอร์จำนวนมหาศาลออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่จะมีเมล็ดเพียงหยิบมือที่สามารถเติบโตเป็นพืชรุ่นต่อไป เมล็ดส่วนหนึ่งจะอยู่ในระยะพักตัว (dormancy state) เพื่อรอเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการเติบโต และเมล็ดบางส่วนจะถูกสัตว์แทะกินหรือตายไปตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ลม น้ำ และสัตว์ ก็สามารถช่วยพาเมล็ดจากป่าใกล้เคียงมาสู่ป่าที่ถูกทำลายแล้วกลายเป็นป่ารุ่นใหม่ได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบทุติยภูมิ

2. การปลูกป่าเสริม

เป็นแนวทางที่เชื่อว่าควรทำการปิดล้อมป่าที่ถูกทำลายเป็นเวลาหลายปีเพื่อสังเกตศักยภาพการฟื้นฟูตัวเองของป่า หากป่าสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องนำพืชเข้าไปปลูก แต่ถ้าป่าถูกทำลายมากเกินไป เช่น การกักเก็บน้ำลดลง สารอาหารน้อยลง เมล็ดพืชท้องถิ่นหายไป ไม่มีสัตว์ป่าคอยช่วยฟื้นฟู ป่าแห่งนั้นอาจคืนสภาพได้น้อย กลายเป็นทุ่งหญ้าถาวร หรือถูกพืชต่างถิ่นเข้ามายึดครอง กรณีข้างต้น มนุษย์อาจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการกำจัดพืชต่างถิ่น ปรับปรุงคุณภาพดิน และสังเกตการฟื้นฟูตัวเองของป่า หากป่ายังฟื้นคืนตัวเองได้ไม่ดีค่อยนำเมล็ดหรือต้นกล้าของพืชท้องถิ่นเข้าไปปลูก แต่การปลูกต้นไม้จำเป็นต้องคำนึงถึงชนิด จำนวน การกระจุกตัว การกระจายพันธุ์ ลำดับการมาก่อน-หลัง ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเติบโต อัตราการรอดชีวิต ประสิทธิภาพการช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และความเสี่ยงต่อการถูกทำลายจากสาเหตุต่างๆ

3. การปลูกป่าใหม่

เป็นแนวทางที่เชื่อว่าป่าที่ถูกทำลายจะฟื้นฟูตัวเองได้ยากหรือไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เลย โดยแนวทางนี้จะทำการขุดดิน พรวนดิน ใส่ปุ๋ย โปรยเมล็ด จัดวางต้นกล้า และรดน้ำ หากต้นไม้ที่ปลูกเป็นพืชท้องถิ่นก็อาจไม่ต้องดูแลมากนัก แต่ถ้าพืชไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อดูแลเป็นเวลานาน

แม้ว่าการปลูกป่าจะแบ่งออกเป็นหลายแนวทาง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักไว้เสมอ คือ ป่าเป็นระบบซับซ้อน (complex system) ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของสสาร พลังงาน พื้นที่ และความหลากหลาย ที่เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ซึ่งหมายความว่าป่าที่เกิดจากการปลูกโดยมนุษย์อาจไม่สามารถเลียนแบบป่าธรรมชาติได้ครบถ้วนอย่างแท้จริง

ประเด็นชวนคิดเรื่องการปลูกป่า

การปลูกป่าตามแนวทางที่ 1 และ 2 มีสมมติฐานที่คล้ายคลึงกัน แต่แนวทางที่ 3 กลับมีลักษณะแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า “ป่าฟื้นฟูตัวเองได้จริงหรือไม่?”

ประเด็นนี้ผมอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งข้อสังเกตว่า ป่าบนโลกดำรงอยู่มายาวนานกว่า 385 ล้านปี รวมถึงเคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และภัยพิบัติร้ายแรงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งอุกกาบาตตก แต่ป่าก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน หลักฐานเชิงประจักษ์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ป่าที่ถูกทำลายสามารถฟื้นคืนด้วยตัวเองได้เสมอ

หากใครจินตนาการไม่ออก ลองนึกถึงเวลาที่เราไม่ได้ตัดหญ้าในสวนเป็นเวลานานก็ได้ครับ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง กลุ่มพืชที่เรียกว่า ‘สปีชีส์เบิกนำ’ (pioneer species) จะเข้ามาเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อปล่อยพื้นที่นั้นทิ้งไว้หลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่มีการรบกวนซ้ำ สปีชีส์เบิกนำจะเริ่มตายไป แล้วกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติหล่อเลี้ยงพืชพรรณชนิดอื่นๆ ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่แห่งนั้น กระบวนการที่สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกเข้าครอบครองพื้นที่แล้วส่งผลกระทบสืบเนื่องไปยังกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาภายหลัง เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ลำดับความสำคัญ’ (priority effect)

หลักฐานการคืนชีพของป่าทำให้เราตีความได้ว่า ‘ป่าเสื่อมโทรม’ เป็นเพียงสภาวะชั่วคราวขณะที่ป่าถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่สภาวะที่คงอยู่อย่างถาวร เช่นเดียวกับ ‘พื้นที่รกร้าง’ ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงคำจำกัดความอันคับแคบที่มนุษย์นิยามโดยยึดถือการตีความตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้ง โดยมองข้ามประโยชน์ทางชีวภาพ เพราะซากต้นไม้ที่หักโค่นและพงหญ้ารกชัฏสามารถเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น เห็ดรา ไส้เดือน แมลง ได้เช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม การผลีผลามนำต้นไม้เข้าไปปลูกในป่าที่เพิ่งถูกทำลายจะส่งผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศโดยรวมเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น

1. ป่าแต่ละบริเวณมีความจุรองรับ (carrying capacity) ที่จำกัด พูดง่ายๆ คือพื้นที่แห่งหนึ่งจะรองรับพืชพรรณได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น หากนำต้นไม้ที่มีอายุไล่เลี่ยกันเข้าไปปลูกเพิ่มอีก ต้นไม้แต่ละต้นจะเข้าสู่สภาวะแข่งขัน (competition state) เพื่อแก่งแย่งทรัพยากรจากกันและกัน จำนวนต้นไม้ในป่าจึงลดลงหรือเกิดภาวะแคระแกร็น เรียกว่า ‘กฎการบางลงด้วยตนเอง’ (self-thinning rule)

2. ต้นไม้ที่ถูกนำเข้าไปปลูกจะรบกวนการฟื้นฟูตัวเองของป่า เพราะเมล็ดที่มีอยู่เดิมจะถูกต้นไม้ที่มนุษย์ปลูกแก่งแย่งที่อยู่และอาหาร เมล็ดภายในดินจึงเติบโตได้น้อย เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์แทนที่’ (replacement effect) ดังนั้นการที่ต้นไม้แปลกปลอมตายไปหลังจากถูกปลูกจึงเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูตัวเองของป่ามากกว่าการที่ต้นไม้เหล่านั้นรอดชีวิต

3. เมล็ดที่ถูกปล่อยออกสู่ป่าจากการยิงหนังสติ๊กและการโปรยจากเครื่องบิน (หรือโดรน) จะแพร่กระจายแบบสุ่มเป็นบริเวณกว้าง เมล็ดจำนวนหนึ่งจะงอกและเติบโตในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ แล้วแย่งชิงอาหารจากพืชที่อยู่มาก่อน ส่วนเมล็ดอีกจำนวนหนึ่งจะตกเกลื่อนกราดบนพื้นป่าแล้วกลายเป็นอาหารของสัตว์กินเมล็ด (granivore) ซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมการหาอาหารของพวกมันผิดแปลกไป

4. การที่คนกลุ่มใหญ่เดินเท้าหรือขับรถเข้าไปในป่าเพื่อปลูกต้นไม้อาจทำให้เนื้อดินด้านบนถูกบดอัดจนแน่น รากของพืชจึงชอนไชได้ยาก ต้นอ่อนของพืชอาจถูกเหยียบย่ำจนตาย และอาจทำให้พืชแปลกปลอมภายนอกป่าเข้าไปปะปนกับพืชท้องถิ่นภายในป่า นำมาซึ่งปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (genetic contamination) และการกร่อนทางพันธุกรรม (genetic erosion) ที่ทำให้พันธุกรรมของพืชท้องถิ่นถูกทำลาย

5. การปลูกต้นไม้แปลกปลอมภายในป่าอาจชักนำสิ่งมีชีวิตที่เป็นสปีชีส์ต่างถิ่น (alien species) เข้ามารุกรานสิ่งมีชีวิตที่เป็นสปีชีส์ท้องถิ่น (native species) จนลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป

จากเหตุผลข้างต้น การฟื้นฟูป่าตามแนวทางที่ 1 จึงเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด โดยเรามีหน้าที่เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ป่าถูกทำลายซ้ำหรืออาจช่วยกำจัดสปีชีส์ต่างถิ่นไม่ให้เข้ามารุกรานป่าที่กำลังฟื้นตัวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องน่าฉงนที่ภาครัฐกลับมองข้ามวิธีการฟื้นฟูป่าที่ง่ายและประหยัดงบประมาณ (จากภาษีประชาชน) แล้วเลือกวิธีการปลูกป่าแบบที่ 3 ซึ่งมีผลเสียเยอะกว่าและสิ้นเปลืองงบประมาณมากที่สุดแทน!

ผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปลูกป่า

1. การทำลายถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์

หลายสิบปีที่ผ่านมา องค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวนมากได้ทำการปลูกต้นไม้ในบริเวณที่ไม่เคยเป็นป่า เนื่องจากตกเป็นเหยื่อของความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ‘ยิ่งบริเวณหนึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเท่าไร ระบบนิเวศยิ่งอุดมสมบูรณ์มากเท่านั้น’ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการปลูกต้นไม้บนหาดเลนที่ไม่เคยเป็นป่าชายเลนมาก่อน เพราะเชื่อว่าเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศและบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าต้นไม้จำนวนมากไม่เติบโตและตายลงหลังเวลาผ่านไปไม่นาน สาเหตุมาจากสปีชีส์เบิกนำของป่าชายเลนไม่ใช่ ‘ต้นโกงกาง’ แต่เป็น ‘ต้นแสม’ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเหลวของหาดเลน ความเค็มของน้ำทะเล ระดับน้ำขึ้น-น้ำลง และแรงปะทะจากคลื่นลมได้ดีกว่า

การที่หาดเลนบางแห่งไม่กลายเป็นป่าชายเลนด้วยตัวเองตามธรรมชาติ เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นไม่เอื้อที่จะกลายเป็นป่าชายเลนตั้งแต่แรก ดังนั้นการปลูกป่าชายเลนบนหาดเลนจึงเป็นการแทรกแซงระบบนิเวศดั้งเดิม เพราะทำให้สิ่งมีชีวิตบนหาดเลนถูกแย่งชิงบ้านและเกิดการแตกย่อยของถิ่นอาศัย (habitat fragmentation) จนสิ่งมีชีวิตลดจำนวนลง ดังนั้น ‘การปลูกป่าทดแทน’ จึงไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียง ‘การปลูกป่าทับที่’ เท่านั้น

2. มลภาวะทางอากาศและอาการแพ้เรณู

การปลูกต้นไม้บางชนิดสามารถก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ (air pollution) และอาการแพ้เรณู (pollen allergy) ตัวอย่างที่พบบ่อยในบ้านเราคือ กลิ่นฉุนของต้นพญาสัตบรรณและกลิ่นหอมรุนแรงยามดึกของต้นราตรีที่ทำให้หลายคนเวียนหัว น้ำมูกไหล และนอนไม่หลับ ตัวอย่างที่รุนแรงในต่างแดน ได้แก่ บางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกามีการปลูก ‘ต้นสน’ เป็นจำนวนมาก ผลลัพธ์คือเกิดวิกฤตการแพร่กระจายเรณู (pollen apocalypse) ที่ทำให้คนจำนวนมากเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง

3. การเหือดแห้งของลำธารและการเสียสมดุลของธาตุอาหาร

ปกติแล้วภายในป่าจะเต็มไปด้วยสารอาหารที่เกิดจากการผุพังของแร่ธาตุและการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นจะถูกพัดพาไปตามลมและไหลลงมาตามลำธาร แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาได้เกิดแนวคิด ‘การปลูกต้นไม้โตเร็วบริเวณป่าต้นน้ำ’ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก แต่ต้นไม้โตเร็วเหล่านั้นกลับดูดซับสารอาหารและน้ำในลำธารมากเกินไปจนสารอาหารน้อยลงและลำธารแห้งขอด

ความจริงแล้ว น้ำป่าเป็นรูปแบบหนึ่งของน้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) ซึ่งมีหน้าที่ชะล้างใบไม้ กิ่งไม้ ท่อนไม้ และตะกอนที่ทับถมอยู่ตามลำธาร รวมถึงช่วยกระจายเมล็ดของพืชน้ำ น้ำป่าจึงไม่ใช่ภัยพิบัติ แต่เป็นกลไกที่ควบคุมสมดุลของป่าต้นน้ำ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอันตรายจากน้ำป่าที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การปลูกต้นไม้หรือสร้างฝาย แต่เป็นการไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ธารน้ำมากจนเกินไป

4. สงครามระหว่างพืชและการกัดเซาะชายฝั่ง

พืชบางชนิดจะมีกลยุทธ์กำจัดพืชคู่แข่งที่เรียกว่า ‘อัลลีโลพาธี’ (allelopathy) ซึ่งเป็นการปล่อยสารพิษออกมายับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายพืชชนิดอื่นที่อยู่ข้างเคียง ตัวอย่างในบ้านเราคือการปลูก ‘ต้นสนทะเล’ บนหาดทรายที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สังเกตจากการที่บริเวณรอบต้นสนทะเลแทบไม่มีพืชชนิดอื่นเติบโตอยู่เลย ไม่เพียงเท่านั้น รากของต้นสนทะเลยังยึดเกาะกับพื้นทรายได้แย่ เมื่อปะทะกับคลื่นลมเป็นเวลานาน ต้นสนทะเลจะล้มลงแล้วเร่งให้เกิดการพังทลายของหาดทราย กรณีดังกล่าวพบที่หาดสนกระซิบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

5. การฆาตกรรมพืชผิดตัว

หลายครั้งหลายคราที่นักปลูกต้นไม้มักจะเรียกพืชพรรณท้องถิ่นที่พวกตนไม่ต้องการว่า ‘วัชพืช’ แล้วแผ้วถางพวกมันทิ้งเพื่อปลูกต้นไม้ที่ตัวเองชื่นชอบ ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘วัชพืช’ เป็นคำศัพท์ทางเกษตรกรรม ไม่ใช่นิเวศวิทยา และสิ่งที่ใกล้เคียงกับวัชพืชคือพืชต่างถิ่น ไม่ใช่พืชท้องถิ่นที่คนบางกลุ่มคิดเองเออเองว่าไร้ค่า การตีความที่ผิดพลาดจึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พืชพรรณท้องถิ่นถูกทำลาย

การปลูกป่าช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือ?

แนวทางการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่กำลังมาแรงและภาครัฐให้ความสนใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการปลูกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิต (carbon credit) แม้จะมีจุดประสงค์เริ่มต้นที่ดี แต่ผมคิดว่าวิธีการดังกล่าวยังเต็มไปด้วยข้อควรระวังหลายประการที่เราต้องร่วมกันทบทวนเพื่อลดทอนความผิดพลาด เช่น

1. หลายภาคส่วนยังไม่ทราบว่า การปลูกต้นไม้ในป่าเป็นการรบกวนระบบนิเวศดั้งเดิมของป่า

2. โลกไม่มีพื้นที่ว่างเปล่านอกเขตป่ามากพอที่จะปลูกต้นไม้เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อน

3. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุการคงอยู่ในบรรยากาศ (atmospheric lifetime) ยาวนานถึง 200 ปี อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงยังคงสูงขึ้นแม้ทุกประเทศทั่วโลกจะหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างฉับพลัน

4. ป่าปลูกมีโครงสร้างของสังคมพืช ความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วงวัยของพืชพรรณน้อยกว่าป่าธรรมชาติ ป่าปลูกจึงกักเก็บคาร์บอนได้น้อยกว่าป่าธรรมชาติ

5. การปลูกต้นไม้จำเป็นต้องคัดเลือกชนิดพืช ขุดหลุม พรวนดิน ใส่ปุ๋ย และรดน้ำเป็นประจำ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนแลกมาด้วยการสร้างก๊าซเรือนกระจกและกระตุ้นจุลชีพใต้ดินให้ย่อยสลายสารอินทรีย์มากขึ้น ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาอาจมีปริมาณมากกว่าที่ต้นไม้ดูดกลับเข้าไป

จากเหตุผลข้างต้น การรีบเร่งปลูกป่าอย่างไม่รอบคอบเพื่อแลกคาร์บอนเครดิตจึงอาจกลายเป็น ‘การฟอกเขียว’ (green washing) ที่ทำร้ายโลกของเรามากกว่าเดิม!

ใช่หรือไม่ว่า หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูป่าควรเริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติแบบที่ธรรมชาติเป็น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามที่เราต้องการ รวมถึงเราต้องย้ำเตือนกับตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอว่า การปลูกต้นไม้ไม่เท่ากับการฟื้นฟูป่า พร้อมตระหนักว่าการอนุรักษ์ป่าที่ดีที่สุดคือ การปกป้องไม่ให้ป่าถูกทำลาย และการปลูกต้นไม้ไม่ใช่ตัวเลือกแรก แต่ต้องเป็นตัวเลือกสุดท้ายของการฟื้นฟูป่า

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า