รักดงดิบ WILDERNESS I&II: ความรัก (ห้าม) เบ่งบาน เพื่อส่งต่ออุดมการณ์และสิ้นหวังใหม่

“อย่ามีความรักจนกว่าการปฏิวัติจะสมบูรณ์”
– รักดงดิบ WILDERNESS I&II

รักดงดิบ WILDERNESS I&II  ละครเวทีอันว่าด้วยเรื่องนักละครสองเส้นเวลา การเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และสภาวะการเมืองหลังการชุมนุมประท้วง ช่วงปี 2563  

ความน่าสนใจของเรื่องคือ ท่ามกลางความจริงจังในกลุ่มควันของเวที 

ฉากละครซ้อนละครหลากเลเยอร์ที่ไล่เรียงตัวกัน กลับวางตนอย่างไม่จริงจัง ลักลั่น สำแดงความทะเเม่งๆ แปร่งๆ ออกมาอย่างไม่ไว้ตัว กระชากคนดูออกจากภวังค์ของเรื่องเล่า ตกใต้ซิมโบลิกอันก่อมาจากก้อนความอัดอั้นตันใจของความสิ้นหวัง ความหนืดหน่วง ความหวังใหม่ และการหายวับไป ในสภาพการณ์ร่วมสมัยที่ใครต่อใครเผชิญมาด้วยกัน

Chapter 1: ในพาร์ตต้น ละครว่าด้วยเรื่องของเหล่าสหายที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่าด้วยเรื่องความสมบูรณ์แบบของหลักการ อุดมคติอันเเน่วแน่ที่อาศัยอยู่ภายในปัจเจกที่มีเลือดเนื้อ และเขาเหล่านั้นไม่เที่ยง บทพูดคมคาย ตรงเถรเปล่งออกมา

จากตัวแสดงและฉากที่ขาดๆ เกินๆ ความไม่สมจริงเหล่านั้นขับให้คำคุยออกมาลักลั่นไม่น้อย เราจะได้เห็นตัวแสดงสวมหมวกผลัดเปลี่ยนกันออกมาเล่าและแสดง บ้างสนทนา บ้างเล่าถึงผู้อื่น บ้างเล่าถึงตัวเอง เป็นคนในฉากและเป็นบุคคลนอกฉากในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 

เรื่องราวดำเนินไปด้วยการคัดง้างกันระหว่างอุดมการณ์ที่ยอมหักไม่ยอมงอกับความรักที่ทั้งสั่นไหวและเปราะบาง เราจะเห็นรักของปัจเจกที่ถูกอุดมการณ์กลืนกิน และในขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นความสั่นไหวของอุดมการณ์จากเรี่ยวแรงที่ลดน้อยถอยลงของมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อที่เริ่มจากหน่วยไปเป็นกลุ่มหมู่  

เรื่องราวคนหนุ่มคนสาวในป่าเขาที่จำต้องหันหลังให้วิถีแบบคนเมือง หันหน้าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถูกเล่าด้วยน้ำเสียงที่ปราศจากความกราดเกรี้ยว ต่างจากที่เคยได้รับรู้มวลความอัดอั้นเมื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลานั้นผ่านตัวหนังสือ หรือฉากทัศน์ที่คนรุ่นหลังตีความ

ความเป็นสามัญท่ามกลางพลังงานของการตามล่าอุดมการณ์ ดำเนินด้วยเรื่องราวบางส่วนจากหนังสือสองเล่ม เล่มแรกคือ ‘น้ำป่า: บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด’ โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อีกเล่มคือ ‘จากดอยยาวถึงภูผาจิ’ โดย จันทนา ฟองทะเล เรื่องราวของคนรุ่นก่อนหน้า ปรุงเพิ่มด้วยอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นหลัง ใช้การเบ่งบานของความรักเป็นหนึ่งในพาหนะนำพาสาระสำคัญส่งต่อถึงผู้ชม

เหล่าสหายนักปฏิวัติมีความรักหลายรูปแบบ ละครเล่าย้อนไปเกือบ 50 ปี กลับไปสู่ยุคสมัยที่อะไรๆ ยังไม่เปิดกว้าง ยุคสมัยที่ชนชั้นนำบรรจุวาทกรรมต่างๆ นานาแทนกระสุนในกระบอกปืน ระดมยิงสาดซัดใส่ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง ท่วงทำนองของความหลากหลายจึงยากที่จะถูกได้ยิน แต่ละครเลือกที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ในพาร์ตแรก ความรักแบบชาย-ชาย หญิง-หญิง ก็เบ่งบานไม่ต่างจากความรักชาย-หญิงท่ามกลางสงครามพงไพร และทั้งหมดก็มีจุดจบแบบไม่ต่างกัน

ข้อเท็จจริงที่ใครต่างก็ว่า 6 ตุลา เป็นความพ่ายแพ้และสหายปราชัยอีกครั้งจากปรากฏการณ์ ‘ป่าแตก’ ซึ่งละครทยอยปล่อยสัญญะให้ปะติดปะต่อคาดเดาก้อนอารมณ์ความรู้สึกจากบทพูดที่ค่อนข้างจั๊กจี้ แต่ (อาจ) จงใจแฝงนัยยะการตั้งคำถามต่อศรัทธาในอุดมคติมาตั้งแต่ต้น

Chapter 2: ในพาร์ตที่สอง ผู้กำกับเลือกที่จะบดกลั่นห้วงอารมณ์มากกว่าจะเล่าส่วนสภาพการณ์ ถ่ายทอดออกมาเป็นซิมโบลิกผ่านเรื่องมโนสาเร่ที่เส้นเรื่องซ้อนไขว้กันอย่างไม่เป็นระบบระเบียบมากนัก แต่เราก็จะพอคลำหาทางไปจากการที่มันวางตัวเป็นเหตุการณ์คู่ขนานกับพาร์ตต้นนั้นแหละ แต่มันก็พยศมากพอที่จะล้างผลาญความขึงขังของพาร์ตต้นไปจนหมดสิ้น 

ลูกอมวิเศษ นภาผู้ตามหาเสียง การโผล่มาแล้วเเว่บหายไปของสองทวยเทพ กระทั่งการปรากฏขึ้นของสถานที่ ถนนหนทางริมฟุตบาท สิ่งส่วนเหล่านี้ไขว้กันด้วยท่าทีเล่นเรื่อยเปื่อยอย่างหัวทิ่มหัวตำ ภาพหลอน ความจริง ความฝัน ซ้อนเลเยอร์กันจนเกือบแนบสนิทเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน แต่บางเศษชิ้นส่วนทีเล่นทีจริงเหล่านั้นกลับสะท้อนกลับยุคสมัยที่เรายืนอยู่ร่วมกัน เช่นกัน ในขณะที่ตัวละครฝัน เขากินลูกอมวิเศษและฝันร่วมกัน คนดูเองก็เช่นกัน เราเห็นและรับรู้ภาพหลอนร่วมกันอยู่

เนื้อหนังเรื่องราวที่ปะทะเข้าอย่างจังคือมวลของความไม่เสถียร ความเฉื่อยชา สิ้นหวัง แน่นอนว่าเป็นความตั้งใจที่จะบันทึกและทาบทับความเหมือนกันของสองเหตุการณ์ทางการเมือง ไทม์ไลน์ของพาร์ตที่สองเกิดขึ้นในช่วงปี 2564-2567 หลังเกิดการชุมนุมใหญ่เมื่อปี 2563 ความเฉื่อยชาและสิ้นหวัง ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนที่สุดผ่านตัวละคร ‘วนา’ ที่พร่ำพูดเสมอว่าการไปอยู่ต่างประเทศคือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะแวดล้อมแบบนี้ช่างสวนทางกับความฝันนัก  

ลูกอมวิเศษพาเราไปสำรวจความฝันในภวังค์ของเหล่านักการละคร สลับไปมาจนได้ตั้งคำถามว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนภาพหลอน ภาพสองทวยเทพ สุริยัน จันทรา รบราฆ่าฟันกันด้วยคาถา “เช้าฟาดผัดฟัก เย็นฟาดฟักผัด” โดยมีกองเชียร์ยกมือไหว้ท่วมหัวบูชาเทพด้วยคาถาเดียวกัน ชวนให้คิดว่าใครกันจะมานั่งบูชาด้วยคาถาขำๆ ลักษณะที่ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง…แต่ก็คงมี

ละครเวทีเป็นห้องว่างเปล่าที่เป็นได้ทุกอย่างและไม่เป็นอะไรเลย ความฝันก็เช่นกัน 

มันเป็นได้ทุกอย่าง สังคมใหม่ อนาคตอันใหม่ และก็ไม่เป็นอะไรเลย

แม้สุดท้ายฉากของละครจะแลนดิ้งลงด้วยความสลดหดหู่ แต่เราก็ยังส่งต่ออุดมการณ์ เพื่อไปสู่ความสิ้นหวัง และยืนยันที่จะหวังใหม่ ส่งต่อใหม่ เพื่อสิ้นหวังใหม่ 

เพื่อเปลี่ยนคำว่า ขอโทษที่ทำเชี่ยไรไม่ได้เลย ไปเป็นห้องว่างเปล่าที่รอละครฉากใหม่เข้ามาจัดแสดงอีกครั้ง และเราได้ฝันร่วมกัน

รักดงดิบ WILDERNESS I&II  เดินทางมาถึง 3 รอบสุดท้ายแล้ว  
สำรองบัตรได้ที่ Splashing theatre company
Date : 18-20 ก.ย. 18.00 น. | 21-22 ก.ย. 14.00 น.
Location : ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ

Author

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า