“สวัสดี ฉันคือหลานสาวของคุณ”
Women with a Time Machine: A new Musical
ผู้หญิงคนหนึ่งได้กลายเป็นผู้ใช้ไทม์แมชชีน เดินทางข้ามเวลาไปเป็นผู้หญิงอีกคนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมภารกิจเฟมินิสต์แบบตัวแม่ คือการสร้างสมดุลของมิติเวลาที่การันตีอนาคตอันเท่าเทียม
ละครเวทีตั้งชื่อล้อกับมีมดัง เปรียบเทียบความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายหากใช้ไทม์แมชชีน ภาพผู้ชายอยากย้อนเวลาทำเรื่องยิ่งใหญ่ปรากฏเด่นชัด ในขณะที่ผู้หญิงย้อนเวลากลับไปเพื่อพูดเพียงว่า “ฉันคือหลานของคุณ”
ผู้กำกับเลือกที่จะหยิบยกจุดนี้มาสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดเรื่องราวของประสบการณ์ร่วม ผสมผสานกับการตีความประเด็นเชิงสังคม เล่าผ่านการท่องเวลาด้วยไทม์แมชชีนของ ‘ผู้มีสำนึกความเป็นหญิง’ รองรับด้วยทฤษฎี ‘Granddaughter Paradox’
ผู้ใช้ไทม์แมชชีนจะเชื่อมโยงประสบการณ์และความรู้สึกกับผู้ใช้คนก่อนหน้า ก่อนหน้า และก่อนหน้า ไปเรื่อยๆ โดยที่เครื่องมือพาข้ามเวลานี้จะเลือกโฮสต์จากความเป็นหญิง
แล้วความเป็นหญิงวัดจากอะไร?
สีสันฉูดฉาดจากเสื้อผ้านักแสดง จากกลุ่มไฟหลากสีที่สาดส่องเข้ามายังฉากที่เซ็ตติงเอาไว้ ไปกันได้ดีกับวิธีการเล่าเรื่องแบบ trippy
ราวกับว่าละครขึงภาพจากการตีความคำถามที่ว่า ‘สภาวะของการมองว่าตัวเองเป็นเพศอะไร มันเกิดขึ้นจากอะไร’ คำถามดูซับซ้อนเพราะเรื่องเพศซับซ้อน ละเอียดอ่อน และคำตอบไม่ตายตัว ไม่แน่ว่าคือสิ่งที่มันติดตัวมากับร่างกายที่มีเลือดเนื้อตั้งแต่เกิด หรือคือคุณค่าบางอย่างที่เราได้รับมาภายหลัง
ตัวละครผู้ใช้ไทม์แมชชีนกล่าวแต่ต้นว่า ความเป็นหญิงที่ว่าไม่ใช่การเป็นคนที่มีจิ๋ม แต่คือผู้มีจิตวิญญานความเป็นหญิง มีสำนึกความเป็นหญิง ผู้กำกับเลือกที่จะพาคนดูไปสำรวจนิยามความเป็นหญิงอย่างกำกวม ฟุ้งๆ เบลอๆ ฉายภาพความลื่นไหลของการนิยามที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ เห็นประสบการณ์การถูกกดทับของผู้ตกอยู่ใต้ระบอบที่เรียกกันจนแสลงหูอย่างปิตาธิปไตย และไม่มีอะไรเป็นคำตอบสุดท้าย
เรื่องราวถูกเล่าเหมือนซิตคอมจบในตอน ผู้หญิง 1 ใช้ไทม์แมชชีนข้ามเวลาไปอยู่ในร่างของผู้หญิง 2 ทำภารกิจบางอย่างเพื่อสร้างความเท่าเทียม ผู้หญิง 2 ข้ามเวลาไปเป็นผู้หญิง 3 และ 4 และ 5 ทำอย่างนี้ซ้ำๆ ‘จนลืมว่าเป็นการแสดง’
“เครื่องมือของเธอเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาโครงสร้าง แต่กลับถูกส่งให้ไปเป็นคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดเนี่ยนะ”
เจน
“แม่ก็คือ แม่ก็คือ แม่ก็คือ แม่ก็คือแม่ แม่คือตัวเรา และเราคือตัวแม่” เสียงเพลงดังประกอบช่วงที่ละครพาเราท่องเวลาไปสำรวจสภาวะความเป็นหญิง บ่งบอกว่าสถานะแม่คือหนึ่งในความเป็นหญิงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด
แม่ผู้ให้กำเนิด แม่น้ำ แม่ค้า แม่ครัว แม่บ้าน แม่นั่น แม่นี่ แม่ก็คือแม่ และความเป็นแม่คือสถานะเดียวของความเป็นหญิงที่พอจะมีอำนาจต่อรองอะไรๆ ให้ตัวเองได้บ้าง แต่บทบาทความเป็นแม่ก็ยังนำมาซึ่งภาระที่สังคมบอกว่าเป็นหน้าที่
เนื้อหาพาร์ตนี้พาข้ามเวลาไปช่วงปี 1950 วิพากษ์ความเป็นแม่ที่ถูกกดทับโต้งๆ ความเป็นหญิงถูกเปลื้องออกจนเห็นเนื้อหนังของปัญหาการยึด gender role ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยที่แม่ถูกยกให้เป็นความยิ่งใหญ่ สวยงาม นั่นคือพื้นที่ของแม่ นอกเหนือจากนั้นไม่มีฟังก์ชันอะไรต่อสังคม เพราะในยุคนั้นถ้าเอาคำถามคุณแม่บียอนเซ่ไปถามว่า “Who run the world?” คงตอบว่า Girl!! ไม่ได้ เพราะผู้ชายคือเพศผู้เคลื่อนสังคม (ในวิธีคิดแบบ conservative) ซึ่งสมัยใหม่ก็หลุดพ้นบ้างแล้ว แต่ไม่ทั้งหมด โลกสองเพศยังคงสั่งการได้ว่า นี่คืองานของหญิง นั่นคืองานของชาย
แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นหญิง…
ละครได้นำเสนอทรานส์ผ่านตัวละคร ‘เจน’ ในคอมมูนิตีหนึ่ง คอมมูนิตีเฟมินิสต์ก้าวหน้าที่บ้างก็ยังยึดกับบทบาทว่าผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร การมีจุดยืนแต่ไม่มีที่ยืนของตัวละครเจนเติมเต็มสำนึกความเป็นเพศให้สมบูรณ์ขึ้น คนเป็นทรานส์ที่ยึดโยงตัวเองไว้กับความเป็นหญิง เคยถูกปฏิเสธมาก่อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งจากสังคม การเมือง หรือกระทั่งศาสนาที่ยึดถือ
แต่นี่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นหญิงเช่นกัน…
ช่วงท้ายของละครที่ควรเป็นฉากเฉลยปมหรือยื่นบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดให้กับผู้ชม ถูกเล่าผ่านอาณาจักรเห็ดราในโลกอนาคตที่ ‘ไม่มีเพศ’ พยายามจะทำให้เกิด ‘เห็ดผู้หญิง’ ตัวแรกของโลก และเห็ดผู้หญิงเกิดจากการยึดโยงประสบการณ์ของผู้มีสำนึกความเป็นหญิงที่ใช้ไทม์แมชชีนท่องเวลา
ท้ายที่สุดสำนึกความเป็นหญิงของเรื่อง คือความรู้สึกนึกคิด การสัมผัสได้ของจิตวิญญาณบางอย่าง รู้ตัวว่ามันอยู่ในร่างกาย ไม่ใช่เพียงแค่มีอวัยวะเพศเป็นหญิง นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการพยายามหานิยามของเพศ โดยอาศัยการตีความจากความเป็นหญิง ซึ่งละครเองก็ตั้งใจยื่นคำถามให้กับคนดูว่าแท้จริงแล้วเรานิยามเพศจากอะไร
เมสเสจหนึ่งที่ไม่ได้โจ่งแจ้ง แต่ยินดีให้ผู้ชมได้สัมผัส คือเรื่องที่สังคมเรารวมถึงสังคมโลกถูกครอบงำด้วยระบบคิดแบบสองเพศมาอย่างยาวนาน ทุกอย่างถูกนำมาตัดสินและวาง role ให้กับคนที่มีเพศกำเนิดหญิงและชาย ว่าจะต้องมีบทบาทอย่างไรในการใช้ชีวิต
ทั้งหมดคือการพูดเรื่อง gender identity ละครจงใจนำเสนอภายใต้คอนเซปต์และวิธีคิดแบบ non-binary เป็นการตีความว่าความเป็นหญิงถูกประกอบสร้างจากกลุ่มหมู่ที่เล็กจ้อยที่สุดอย่างครอบครัวไปจนถึงระดับสังคม ผ่านประสบการณ์ที่ทำซ้ำกันมาหลายร้อยปี ซึ่งเราอาจเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ แต่รู้สึกกับมันเพราะเราเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นหญิง สิ่งที่เรามองเป็นสรณะล้วนถูกประกอบสร้างขึ้นมา แต่มันเกิดขึ้นจริง รู้สึกจริง ถูกกดทับจริง ความเจ็บปวดที่เจอในฐานะที่เรานิยามตัวเองเป็นเพศนั้นๆ เป็นเรื่องจริง และความไม่เท่าเทียมภายใต้ฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นก็เป็นเรื่องจริงเช่นเดียวกัน
RCB Experimental Art Lab ร่วมกับกลุ่มละคร Anti-Thesis Theatre ภูมิใจนำเสนอ ‘Women With a Time Machine: A new Musical’ มิวสิคัลเรื่องใหม่ที่พร้อมเทคโอเวอร์สำนึกความเป็นหญิงในทุกไทม์ไลน์
จัดแสดงที่ RCB Forum 2nd Floor, River City Bangkok วันที่ 29-30 พฤศจิกายน 1, 6, 7, 8, 14 และ 15 ธันวาคม 2567 รอบการแสดง 19.00 น.บัตรราคา 800 บาท (นักเรียน/นักศึกษา ราคา 690 บาท) จองบัตรได้ที่ Facebook: Anto-Thesis