เผด็จการศึกษา: อ่านเผด็จการผ่านเศรษฐกิจ

artboard-1

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

ในทางเศรษฐศาสตร์ ‘แนวคิดรัฐพัฒนาการแบบอำนาจนิยม’ เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก ในความหมายกว้างๆ คือ รัฐจงใจเปลี่ยนโครงสร้างตนเองเพื่อเร่งรัดพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ แนวคิดรัฐพัฒนาการแบบอำนาจนิยม แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ (1) รัฐแทรกแซงตลาดเพื่อให้ตลาดทำงาน กับ (2) รัฐเข้าคุมบังเหียนการพัฒนา ซึ่งปรากฏในยุคแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์

กล่าวอย่างให้เข้าใจง่าย ก่อนที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะเติบโตทางเศรษฐกิจจนกลายเป็น ‘เสือเศรษฐกิจของเอเชีย’ ประเทศเหล่านี้ล้วนมีรูปแบบอำนาจนิยม และใช้กลไกทางเศรษฐกิจทุนนิยมในการ ‘กลาย’ รูปแบบการปกครองจากอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตย

แต่ไม่ได้หมายความว่า เผด็จการเบ็ดเสร็จเท่านั้นที่จะสร้างเศรษฐกิจและกระจายความเท่าเทียมแก่สังคม

ตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป เพราะโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก หรือที่เรียกว่า ‘รัฐพัฒนาการ’ (Development State) เกิดขึ้นในบริบทหลังสงครามโลกและพัฒนารูปแบบในยุคสงครามเย็น ซึ่งไม่ใช่บริบทของปัจจุบัน

‘เผด็จการศึกษา’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ที่ WAY พยายามทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบ/บริบทแวดล้อม/ลักษณะของอำนาจเผด็จการในมิติต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลักษณะอำนาจและหาโมเดลที่เป็นทางออก

‘เผด็จการศึกษา’ ในคลาสนี้ WAY ชวน นพนันท์ วรรณเทพสกุล สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเผด็จการในเอเชียผ่านรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ

 


ในเวลาเดียวกันนั้น บทบาทของสหรัฐอเมริกากับสังคมไทยก็เป็นในทำนองเดียวกัน ก็มีการส่งเสริมให้ทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นระบบแบบรัฐวิสาหกิจ ระบบแบบที่อยู่ภายใต้ของคณะราษฎรนั้นถูกเปลี่ยนใหม่ให้ส่งเสริมระบบทุนนิยม ให้เปิดบทบาทให้กับภาคเอกชน แล้วก็มีการวางแผนจากส่วนกลางเหมือนกัน มีการก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีสำนักงบประมาณ มีหน่วยงานของราชการคอยทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง แล้วก็สนับสนุนให้ภาคเอกชนเติบโต คือไม่แคร์เรื่องของเผด็จการทหาร แต่ขอให้เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม


img_9153

เราสนใจโมเดลการเติบโตของรัฐในเอเชียตะวันออกที่มีลักษณะอำนาจนิยมแต่มีอัตราเร่งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐในลักษณะนี้มีรูปแบบและพัฒนาการอย่างไร

เราคงต้องเริ่มที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นใช้นโยบายเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม พยายามที่จะไปดูแบบมาจากเยอรมนีในช่วงสงครามโลก

ช่วงหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นเห็นต้นแบบมาจากประเทศมหาอำนาจในตะวันตก แล้วพยายามจะสร้างตัวให้เป็นมหาอำนาจในเอเชียกับเขาด้วยอีกขั้วหนึ่ง ฉะนั้นวิธีที่จะทำให้มีอำนาจทางการเมืองในระดับโลกก็คือต้องสร้างสะสมพลังทางเศรษฐกิจ แล้วก็ต้องพยายามไล่กวดความเจริญทางเศรษฐกิจ ต้องก้าวให้ทัน

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ สามารถที่จะผลิตสินค้าทางอุตสาหกรรมหนัก แล้วสะสมความมั่งคั่งขึ้นมา ช่วงระหว่างสงครามโลกและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บางประเทศในเอเชียอยู่ในภาวะแข่งขันกันทางด้านการเมือง พยายามที่จะสร้างชาติ ประเทศเหล่านี้เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน คือจับคู่กันเลย ระหว่างไต้หวันกับจีน และเกาหลีใต้ซึ่งถูกขนาบด้วยจีนกับญี่ปุ่น ฉะนั้นวิถีของการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก โดยที่ระบอบการเมืองยังเป็นระบอบเผด็จการอยู่

พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเหล่านี้ก็เหมือนกับถูกปลดแอกออกมาจากฐานอำนาจตะวันตก ฉะนั้นผู้นำชาติจะต้องมีความเข้มแข็ง มีภาวะผู้นำสูง แล้วก็สามารถที่จะพาชาติให้อยู่รอด วิธีที่จะพาชาติให้อยู่รอดก็คือ ต้องผลักดันความเจริญทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นโมเดลของประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน หรือประเทศอื่นๆ ก็ตาม ก็ดูตัวแบบของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นทำได้ เกาหลีใต้ก็ต้องทำได้

คือจะทำแบบเดียวกับญี่ปุ่นเลย กำหนดให้รัฐรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ใช้กลไกของระบบราชการ เพื่อที่จะวางแผนทำงานร่วมกับภาคเอกชน กำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแผนห้าปี ลักษณะอย่างนี้ที่บอกว่าญี่ปุ่นก็ไปดูมาจากเยอรมนี ดูจากรัสเซีย ก็เป็นระบบที่ถ่ายทอดกันมา

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเป็นภาวะที่เราต้องเข้าใจว่าระบบการเมืองมันแยกไม่ออกจากระบบเศรษฐกิจ ความที่ไม่ได้อยู่ใต้ระบบอาณานิคมแล้ว แต่ว่ายังมีมหาอำนาจที่ชนะสงครามโลก ก็ยังมีอิทธิพลเหนือประเทศเหล่านี้ ญี่ปุ่นมีอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ เกาหลีใต้ด้วย เมื่อแบ่งโซนแยกเหนือใต้ก็ยังถูกควบคุมโดยอเมริกาอยู่ดี ฟิลิปปินส์ก็ใช่ ไต้หวันก็ใช่ อย่างที่เราเห็นว่ามีการตั้งฐานทัพ

เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของการพัฒนาเศษฐกิจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ตัวแบบที่ทุกวันนี้รู้จักกันดีว่าเป็นวิถีเอเชียตะวันออก ถ้าพูดให้ชาวบ้านเข้าใจมันก็คือ มหัศจรรย์ของเอเชีย (Asian Miracle) หรือ เสือเศรษฐกิจของเอเชีย

 

ขยายความคำว่า ‘เสือเศรษฐกิจของเอเชีย’ ได้ไหม

เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียก็คือ เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ใช้เวลาไม่นาน สามารถที่จะก้าวหน้าไปให้ทันประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง ในโลกตะวันตก แล้วเขาก็ยกตัวอย่างว่า เห็นไหมญี่ปุ่นทำได้ เกาหลีใต้ทำได้ ไต้หวันทำได้ ใช้เวลาประมาณ 20 ปีเท่านั้นเอง เติบโตก้าวกระโดดทางจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แล้วก็ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนขึ้นมาจนกระทั่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นี่ก็ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อยากจะทำตาม โดยเฉพาะในแถบเอเชีย

แต่ความสำเร็จของเกาหลีใต้ ของญี่ปุ่น ไต้หวันนั้นจริงๆ แล้วมันไม่ได้มาเปล่าๆ ความพยายามที่จะแข่งขันของค่ายทุนนิยมกับค่ายสังคมนิยมในช่วงสงครามเย็นนั้น สหรัฐอเมริกาก็อยากจะให้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานของทุนนิยมเพื่อต่อสู้กับค่ายคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นเขาจะเปิดตลาดสินค้าภายในประเทศตัวเองให้ ตลาดอเมริกา ตลาดยุโรป เปิดเต็มที่เลยให้สินค้าจากญี่ปุ่น จากเกาหลีใต้ไปขาย คนพวกนี้ก็ผลิตได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือง่ายมากในการวางแผนเศรษฐกิจ แล้วก็ทำการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อป้อนตลาดที่มีความมั่งคั่งมหาศาล ตลาดใหญ่ มีความมั่งคั่งและร่ำรวยแล้ว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภายหลังลอกเลียนแบบไม่ได้

สามประเทศที่พูดถึงนี้ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เขาบอกว่าเป็นรัฐพัฒนาการรุ่นที่หนึ่ง แล้วในระยะหลังๆ ตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1980 เรื่อยมา ก็เกิดความพยายามที่จะมีรุ่นที่สอง สมัยนั้นถ้าเทียบไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยากจะเป็น ‘ประเทศนิคส์’ ย่อมาจากประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หลังจากไต้หวันก็มีฮ่องกง สิงคโปร์ แล้วก็เรา-ประเทศไทย ซึ่งอยากจะเป็นเสือตัวที่หก เสือห้าตัวแรกคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ แล้วตัวที่หกคือไทย แล้วจะมีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียตามมา แต่ปรากฏว่าทำไม่ได้ เรามาสะดุดตอนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540

 

ทำไมประเทศไทยหรือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจึงไม่สามารถทำตามโมเดลนี้ต่อไปได้

เพราะเงื่อนไขต่างกัน ตอนช่วงทศวรรษที่ 1980 อเมริกาเริ่มประสบวิกฤติปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง ก็ไปเรียกร้องให้ญี่ปุ่นต้องเปิดตลาดสินค้าตอบแทน คือพยายามกีดกันไม่ให้สินค้าญี่ปุ่นเข้าไปขายเหมือนเดิม แล้วก็บังคับให้ญี่ปุ่นขึ้นค่าเงินเยน ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศญี่ปุ่นไปสู่ประเทศในอาเซียน ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

อันนี้ก็ถือว่าเป็นอานิสงส์ที่ดีให้ประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซียที่ได้รับเงินลงทุนมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตามมาหลังจากสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามเวียดนาม เมื่อสหรัฐอเมริกาแพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐก็จะถอนฐานทัพที่อยู่ในประเทศแถบนี้ ถอนทหารกลับ ก็มีทุนญี่ปุ่นไหลเข้ามาแทน ก็ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยให้โตขึ้นด้วย หลังๆ ก็มีเรื่องของการค้าระหว่างภูมิภาคที่มีประเทศญี่ปุ่นเป็นพี่เลี้ยงทดแทนสหรัฐอเมริกา

 

ขอถามย้อนไปในเคสของประเทศญี่ปุ่น การเมืองภายในประเทศญี่ปุ่นมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตมีรูปแบบเป็นอย่างไร ต้องไปรวมศูนย์กำหนดนโยบายแบบเดียวกันทั้งหมดทั้งประเทศหรือไม่

ญี่ปุ่นจะแปลกไปจากประเทศอื่นเพราะเมื่อแพ้สงครามโลก สหรัฐอเมริกากับประเทศตะวันตกไม่อนุญาตให้ญี่ปุ่นมีอำนาจทางการเมืองสูงขั้วเดียว ฉะนั้นการที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจสูงนั้นมันมาจากทุนภายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสนับสนุนทางด้านการผลิตสินค้าอาวุธ ค่ายตระกูลดังๆ ที่เรียกว่าเป็นระบบ ไซบัตสึ (Zaibatsu) เหมือนกับตระกูลขุนนางใหญ่ๆ มีธุรกิจสำคัญๆ แล้วตระกูลเหล่านี้ก็มาเป็นนักการเมือง

ในที่สุดก็มาถูกทำลายฐานพวกนี้ทิ้ง เพราะฉะนั้นถามว่าอำนาจทางการเมืองที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจนั้นมันไม่ชัดเจน แต่มันจะเป็นระบบแบบซ่อนเร้น แล้วก็ดำเนินในลักษณะแบบที่ปิดลับ คือเป็นเครือข่าย เมื่อปรากฏชัดแจ้งไม่ได้ก็ทำงานในลักษณะปิดลับ

ไซบัตสึถูกแยกสลายแล้วก็เปลี่ยนเป็นระบบเครือขายการผลิตแบบ ไคเรตสึ (Keiretsu) แทน มันเป็นคำเรียกอีกแบบหนึ่ง ระบบแบบที่แปรรูปแปรร่างใหม่ให้มันเป็นการผลิตแบบที่จับมือกัน ไม่ได้เป็นเจ้าของเดียวกันแต่สามารถทำงานร่วมกันได้ เอกชนสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลก็ได้ แต่คือเขามีสำนึกร่วมกันในเรื่องของชาตินิยม

แต่ที่เกาหลีใต้ไม่ใช่ เนื่องจากว่าสหรัฐอุดหนุนให้ขึ้นมา แล้วก็ส่งเสริมให้มีทุนขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ซึ่งมันตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น เขาก็มีกลุ่มแชโบล กลุ่มที่เรียกว่าตระกูลผลิตสินค้าดังๆ ซัมซุง แอลจี ค่ายพวกนี้ ทำธุรกิจสารพัดเลย แต่การที่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นมาได้นั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นทันที คือมันเกิดขึ้นภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่รัฐบาลเข้าไปช่วยดูแล แล้วมันเป็นความยินยอมของโลกตะวันตกที่ให้ทำแบบนี้

 

ช่วงที่ประเทศในเอเชียเป็นรัฐพัฒนาการรุ่นหนึ่ง รัฐไทยเป็นอย่างไร

จริงๆ ของเราในทางการเมืองนั้นเริ่มต้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเกาหลีใต้เลย ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ในยุคเดียวกับ ปักจุงฮี ปักจุงฮีขึ้นมามีอำนาจก็อยู่ในอำนาจยาว เป็นระบบเผด็จการ สหรัฐอเมริกาก็ไม่กังวลว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จากนั้นทุนนิยมของเกาหลีใต้ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

ในเวลาเดียวกันนั้น บทบาทของสหรัฐอเมริกากับสังคมไทยก็เป็นในทำนองเดียวกัน ก็มีการส่งเสริมให้ทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นระบบแบบรัฐวิสาหกิจ ระบบแบบที่อยู่ภายใต้ของคณะราษฎรนั้นถูกเปลี่ยนใหม่ให้ส่งเสริมระบบทุนนิยม ให้เปิดบทบาทให้กับภาคเอกชน แล้วก็มีการวางแผนจากส่วนกลางเหมือนกัน มีการก่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีสำนักงบประมาณ มีหน่วยงานของราชการคอยทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง แล้วก็สนับสนุนให้ภาคเอกชนเติบโต คือไม่แคร์เรื่องของเผด็จการทหาร แต่ขอให้เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

 

รัฐไทยในช่วงนั้นรับแต่ทุนใหญ่ หรือทุนข้ามชาติ?

ก็เปิดโอกาสให้ทุนข้ามชาติเข้ามา แต่มันก็เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผิดกันกับของเกาหลีใต้หรือไต้หวัน ซึ่งเน้นเรื่องของอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องของเหล็กกล้า การต่อเรือ การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง แต่ของไทยกับภูมิภาคอาเซียนนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจอิงอยู่กับฐานการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะฉะนั้นบทบาทของภาครัฐมันไม่เต็มที่เหมือนกับประเทศต้นแบบ รัฐพัฒนาการต้นแบบในรุ่นที่หนึ่ง แล้วจริงๆ แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจังมากเท่าไหร่กับการทุ่มอุดหนุนให้กับการพัฒนาตัวของทุนนิยมรุ่นใหม่ๆ

คืออำนาจนิยมมีเหมือนกัน แต่ความก้าวหน้าความรุดหน้าทางอุตสาหกรรมมันผิดกัน

 

เราสามารถพูดได้ไหมว่ายุคนั้นทุกชาติพยายามจะทำให้ประเทศตัวเองก้าวหน้าโดยที่ไม่ค่อยแคร์ว่าระบอบการปกครองของตัวเองเป็นแบบไหน

ใช่ๆ ในช่วงภาวะของสงครามเย็น แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้แคร์เรื่องของความเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

 

เขาไม่ได้มองว่าอย่างไหนมันจะขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ?

การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นสามารถพัฒนาด้วยระบบแบบสังคมนิยมก็ได้ ระบบแบบคอมมิวนิสต์ก็ได้ โมเดลของรัสเซียก็คือประเทศสังคมนิยม แต่ว่าเขาก็มีทุนนิยมในแบบของตัวเอง ในยุโรป ระบบแบบเยอรมนีก็ไม่ใช่ทุนนิยมแบบอเมริกาเหนือ จีนก็ใช่…

ทีนี้โมเดลเรื่องของรัฐพัฒนาการนั้น ไม่ใช่เรื่องของทุนนิยมหรือสังคมนิยม เป็นเรื่องที่ผสมได้ ผสมระหว่างแนวคิดทางการเมืองกับแนวคิดทางเศรษฐกิจ

ต่อมาประเทศที่เป็นรัฐพัฒนาการรุ่นที่หนึ่ง ถึงเวลาเขาก็ออกจากวงจรของการเป็นการเมืองเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น ที่จริงๆ แล้วก็ออกมาตั้งแต่แรก ถูกบีบให้ต้องเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

เขามีจุดเปลี่ยนอย่างไรถึงออกมาได้

ในโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจนั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะเชิดชูธุรกิจของภาคเอกชนอยู่ตลอดเวลา เขาจะช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข เขาจะกำหนดเป้าหมายว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจด้านไหน อะไร กำหนดเป้าหมายข้างหน้าเป็นระยะ แล้วเมื่อทุนเอกชนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รัฐจะช่วยคุ้มครองในระยะเริ่มต้น สุดท้ายอาจจะหนุนด้านนโยบายเศรษฐกิจให้

ช่วงแรกๆ ก็จะปกป้องไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาแข่ง รอจนพร้อมที่จะแข่งขันได้ก็จะยกระดับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ผลิตเพื่อทดแทนของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และเมื่อพร้อมแล้วก็ส่งเสริมให้แข่งนอกประเทศด้วยการส่งออก หรือโยกย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่น

และอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลของชาติเหล่านั้นก็จะเลิกการสนับสนุน ในระหว่างที่สนับสนุนในช่วงการส่งเสริมอุตสาหกรรม เขาก็ยังกำหนดว่าถ้าใครไม่สามารถที่จะทำได้ตามแผน ก็คงจะต้องยกเลิกสิทธิประโยชน์พิเศษ หรือไม่ก็ถอนการช่วยเหลือการอุดหนุนเหล่านั้นเสีย

เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้แล้วให้เลย ให้แล้วสามารถยกเลิกได้ ถอนได้


นี่คือลักษณะที่ค่อยๆ เคลื่อนประเทศ เคลื่อนสังคมออกมาจากสังคมแบบเผด็จการมาเป็นสังคมแบบประชาธิปไตย และการที่เปิดรับให้กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มแรงงาน กลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ มันก็เข้ามาสู่ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองแบบที่มีหลายๆ ขั้ว เสรีนิยมบ้าง แรงงานบ้าง สนับสนุนทุนบ้าง กระจายกันไป นี่คือเส้นทางที่มันเปลี่ยนผ่านมา แล้วก็เป็นแบบเดียวกัน เกาหลีใต้ ไต้หวันก็เป็นแบบนี้


img_8890

เมื่อเกิดการส่งสินค้าออกไปข้างนอก รัฐเลิกให้การช่วยเหลืออย่างนี้ เขาก็เริ่มเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น?

กระบวนการเปลี่ยนในโมเดลการพัฒนาแบบนี้เขามีเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ รัฐจะเลือกพันธมิตร พันธมิตรที่สำคัญก็คือธุรกิจที่รัฐจะส่งเสริมกลุ่มยุทธศาสตร์ ทุนยุทธศาสตร์ที่รัฐจะส่งเสริม เหล่านี้จะเป็นพันธมิตรในช่วงเริ่มต้น รัฐกับทุนจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจรุดหน้า แล้วก็หวังว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้จะทำให้สามารถที่จะให้ย้อนกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แก้ปัญหาความยากจนในประเทศของตัวเอง

แต่พอใช้โมเดลแบบนี้ปั๊บมันจะมีปัญหาอยู่ว่า การพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วนั้นมันส่งผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องของการทอดทิ้งคนจำนวนหนึ่งในสังคม ให้เป็นคนที่ตกขบวนการพัฒนา รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลตรงนี้เพิ่มเติมเป็นมาตรการเสริม

มาตรการหลักก็คือเอาทรัพยากรของชาติไปสนับสนุนให้กับกลุ่มทุนยุทธศาสตร์ แต่มาตรการเสริมก็คือ คอยรองรับเยียวยาผู้ที่ตกหล่น ฉะนั้นก็จะมีกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์จากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม บุคคลเหล่านี้เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งจะเกิดสภาพที่เรียกว่าเป็นชนชั้นใหม่ การปรับเปลี่ยนแบบแผนของสังคมเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น สังคมเกษตรกรรมน้อยลง มีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น

ชนชั้นใหม่ก็จะมีกลุ่มที่ไม่ใช่พวกทุน ไม่ว่าจะเป็นพวกแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม พวกสังคมที่มีผู้บริโภค เรื่องของประชาชนที่เป็นกลุ่มคนชายขอบ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประชาสังคมต่างๆ นี้รวมกันแล้วก็แสดงพลังที่จะต่อรองกับอำนาจรัฐ

เราจะเห็นว่าช่วงรัฐบาลเผด็จการของไต้หวัน ในยุคเจียงไคเช็กและลูกของเขานั้น มีการเดินขบวนประท้วงในเมืองเยอะมาก บางปีเรียกว่าเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบจะทุกวัน เพราะฉะนั้นมาถึงจุดหนึ่งเมื่อทุนเติบโตเพียงพอแล้ว รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการที่จะอุดหนุนช่วยเหลือพันธมิตรหลัก แล้วก็เปิดรับพันธมิตรอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาชาติ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของแรงงานมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นี่คือลักษณะที่ค่อยๆ เคลื่อนประเทศ เคลื่อนสังคมออกมาจากสังคมแบบเผด็จการมาเป็นสังคมแบบประชาธิปไตย และการที่เปิดรับให้กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มแรงงาน กลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ มันก็เข้ามาสู่ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองแบบที่มีหลายๆ ขั้ว เสรีนิยมบ้าง แรงงานบ้าง สนับสนุนทุนบ้าง กระจายกันไป นี่คือเส้นทางที่มันเปลี่ยนผ่านมา แล้วก็เป็นแบบเดียวกัน เกาหลีใต้ ไต้หวันก็เป็นแบบนี้

มันพิเศษตรงที่ว่า ประเทศที่ดูว่าจะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนก็คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่ฮ่องกงนั้นเนื่องจากว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน มันจะวิจารณ์แยกออกจากจีนไม่ได้ ด้วยบริบทของประวัติศาสตร์ที่อังกฤษเช่าเพื่อให้เป็นเขตพิเศษที่แยกออกจากจีน แต่เมื่อกลับคืนสู่จีน ก็ต้องเป็นของจีน แต่เขาใช้ระบบ หนึ่งประเทศแต่มีสองระบบเศรษฐกิจ แล้วตอนหลังก็ใช้โมเดลคล้ายๆ ฮ่องกงเอามาพัฒนาตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลของตัวเอง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใช้ระบบทุนนิยมในเขตเศรษฐกิจตอนนี้ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ยังเป็นระบบแบบเดิมอยู่ เมื่อพร้อมก็ค่อยๆ ขยายการขยายตัวของทุนนิยมเข้าไปมากขึ้น แต่อำนาจในการสั่งการวางแผนยังอยู่ที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ สภาประชาชนที่คัดเลือกตัวแทนเข้ามาอย่างพิถีพิถัน เป็นทำนองว่าการวางแผนที่ปลอดอิทธิพลของทุนต่างชาติ ไม่ให้ทุนเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐ ทุกๆ ชาติเหมือนกันหมด ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์

การที่อำนาจเผด็จการบวกกับระบบทุนนิยมนั้น เรียกว่ารัฐที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จะต้องเป็นรัฐที่ผู้นำทางการเมืองมีอำนาจสูง ใช้กลไกของระบบราชการในการวางแผนสั่งการระบบเศรษฐกิจ แต่เปิดให้มีการทำงานของกลไกระบบตลาด มันเหมือนกับใช้การเมืองแบบเผด็จการ หรืออำนาจนิยม แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

คือสำคัญอยู่ตรงนี้ แต่ของฮ่องกงนั้นไม่เหมือนกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน ของสิงคโปร์ก็ไม่เหมือน เพราะสิงคโปร์จำกัดด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะที่มีขนาดเล็ก ประชากรก็น้อย แล้วเขาสามารถที่จะลงทุน การลงทุนทางสังคมทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ดูแลเรื่องสวัสดิการประชาชน

สิงคโปร์กลัวแต่การจะไม่มีนักลงทุนเข้ามา เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มีมาตรการควบคุมเศรษฐกิจแบบเข้มงวด คล้ายๆ กับของเกาหลีใต้ หรือของที่อื่น เพียงแต่ว่าเขาเปิดสิทธิพิเศษให้ ใครจะเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ก็คือยกเว้นภาษีต่างๆ เพื่อจะดึงดูดเม็ดเงินเข้าไป ด้วยความที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนทางด้านการค้าทางเศรษฐกิจอยู่แล้วในภูมิภาค ดึงดูดทุนจากชาติอื่นๆ เข้าไป แล้วสิงคโปร์จะตั้งรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของตัวเองขึ้นมา รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด เอาทุนที่ได้ตรงนี้ออกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในภูมิภาค

อันนี้คือจุดขายที่แตกต่างกัน เป็นรัฐพัฒนาการที่ไม่เหมือนกันกับประเทศต้นแบบที่ญี่ปุ่นหรือที่เกาหลีใต้ แล้วก็ยากที่จะมีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไปลอกแบบสิงคโปร์ด้วย เพราะเขาไม่แคร์กับการผลิตเพื่อขายให้คนในประเทศตัวเอง

การผลิตของเขาคือการผลิตเพื่อส่งออกไปขายที่อื่น แต่ประเทศอื่นๆ ไม่เหมือน อย่างประเทศเกาหลีใต้ก็ไม่เหมือน เขาต้องผลิตเพื่อให้สร้างชาติตัวเองขึ้นมาให้ได้เสียก่อน ให้มีสินค้าผลิตแทนที่จะนำเข้าจากต่างประเทศให้ได้ก่อน เมื่อผลิตได้แล้วค่อยส่งออกไปขายกับประเทศตะวันตก ยี่ห้อรถยนต์นี่เป็นตัวอย่าง ยี่ห้อของสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็น่าจะเป็นโมเดลอย่างนี้

จีนก็ใช่ เพราะว่าจีนก็พยายามพัฒนาเพื่อใช้ทรัพยากรแรงงานที่มีอยู่มหาศาลให้ได้อย่างเต็มที่ แล้วก็ดึงดูดเอาฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น และผลิตเพื่อส่งออก เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนก็ผลิตเพื่อส่งไปขายข้างนอกทั้งนั้น แล้วก็ดึงดูดให้เม็ดเงินเข้าประเทศ ทำให้สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว ความยากจนก็ลดลง สามารถจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ประชาชนสามารถมีรายได้ที่จะไปจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าบริโภคที่ประเทศตะวันตกมีได้ ประชาชนจีนก็มีได้

img_9107

ดูจากโมเดลของรัฐพัฒนาการที่เกิดขึ้นในยุคแรก ที่ดูเหมือนจะมีการใช้อำนาจนิยมเป็นอุปกรณ์หลัก คือยุคนั้นมันจะต้องเกิดวิกฤติภายในประเทศหรือเกิดการแพ้สงครามอะไรสักอย่างก่อนเขาถึงจะใช้ทุนนี้?

เงื่อนไขในกลุ่มประเทศรัฐพัฒนาการรุ่นแรกจะเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ประเทศรัฐพัฒนาการรุ่นที่สอง ที่มี มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นี้ไม่เหมือนกัน เพราะพัฒนาอุตสาหกรรมช้ากว่า แล้วก็เข้ามาสู่ในยุคของการแข่งขันกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีสูงขึ้น

ไม่ใช่เฉพาะในเอเชีย มีประเทศในลาตินอเมริกาด้วย เช่น บราซิล เม็กซิโก แล้วก็มีประเทศในแถบแอฟริกาเริ่มทยอยเกิดขึ้นมา ยิ่งมาเจอรัสเซีย เวียดนาม และจีนที่ออกมาจากค่ายโลกคอมมิวนิสต์ แล้วเข้ามาแข่งกันในระบบทุนนิยมของโลกด้วยกันในทศวรรษ 1990 นี้ก็ยิ่งยากมากเลย คือทุกประเทศมีเป้าหมายตรงกันหมดก็คือ สร้างการผลิตของตัวเองขึ้นมาเพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศ แล้วของที่ส่งออกก็เป็นของเดียวกัน ที่ทดแทนกันได้ ฉะนั้นโอกาสที่จะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ในช่วง 1960-1970 นั้นไม่มีอีกแล้ว

ความสำเร็จของเกาหลีใต้ ไต้หวันนั้น ถูกธนาคารโลกเอาไปเผยแพร่ให้กับประเทศกำลังพัฒนารุ่นหลังๆ แล้วเขาก็เอาไปทดลองใช้ในประเทศแถบลาตินอเมริกา แถบแอฟริกา แล้วปรากฏว่าไม่ค่อยได้ผล เจอปัญหา แต่เขาก็ไม่ได้กังวลเท่าไหร่ที่ประเทศเหล่านั้นจะต้องเดินเข้าสู่ประชาธิปไตยทันที เพียงแต่ว่าขอให้พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไป แล้วเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในยุค 1980-1990 นั้น มันคือลัทธิเสรีนิยมใหม่ หมายความว่าจะให้รัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจ ใช้อำนาจในการควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างสูงๆ นี้ ไม่ควรจะทำแล้ว แต่กลายเป็นเปิดโอกาสให้ทุนเอกชนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุนเอกชนทำการแข่งขันกันไปในบรรยากาศแบบที่การเมืองเป็นเผด็จการ มันจะเป็นโฉมหน้าอีกแบบหนึ่ง

แล้วนี่คือลักษณะที่มันร่วมสมัยกับหลายประเทศในอาเซียน พม่าก็ดี ไทยก็ดี จะออกมาในอีหรอบนี้ คือถ้ารัฐบาลมีความชื่นชอบในระบอบที่เรียกว่ารักษาอำนาจทางการเมืองเผด็จการเอาไว้ แต่พยายามที่จะประสบความสำเร็จในลักษณะเดียวกับประเทศอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวันนั้น เขาก็จะพยายามดำเนินนโยบายแบบดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อที่จะผลิตเพื่อส่งออก

อันนี้ก็เป็นที่มาของนโยบายการสร้างสิทธิประโยชน์พิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษก็เกิดขึ้น การลดหย่อนภาษีให้กับการลงทุนของต่างชาติ การยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในเขตการลงทุนพิเศษนี้ ซึ่งมันเคยทำได้ในอดีต แต่ในปัจจุบันไม่แน่ว่ามันจะประสบความสำเร็จ

อย่าลืมว่าระบบเศรษฐกิจแบบที่สำเร็จได้ภายใต้รัฐพัฒนาการนั้น มันคือการที่รัฐมีอำนาจสูงในการวางแผนเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้ทุนมาครอบงำอำนาจ แล้วภายใต้ความร่วมมือของประเทศที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ เป็นประเทศเล็กๆ ในอาเซียนทั้งหมด ความพยายามที่จะมาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาค ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ASEAN+ AEC APEC อะไรเหล่านี้…

หมายความว่าลดอำนาจรัฐของตัวเองที่มีอยู่ภายใน แต่หวังว่าจะไปเพิ่มอำนาจรวมกันเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเดียวกัน แล้วจะใช้อำนาจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเดียวกันนี้ ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกร่วมกันทั้งหมด แต่โมเดลนี้เวลาเอาไปใช้งานจริงในภาคปฏิบัติ เราจะเห็นว่ามันอันตราย เพราะภายใต้พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่มีอำนาจสูงในประเทศต่างๆ ซึ่งมันมีจำนวนจำกัดไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

เมื่ออำนาจรัฐลดลง แต่อำนาจทุนสามารถมีอิทธิพลเหนือ…ไม่ใช่เฉพาะรัฐเดียวนะ แต่เป็นรัฐรวม หรือเขตเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น ภาษาวิชาการใช้คำว่า รัฐตกเป็นเชลยของทุน ซึ่งการที่อำนาจรัฐจะมาควบคุมทิศทางเศรษฐกิจเพื่อหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนขึ้นมามันถูกตัดตอน กลายเป็นว่ายกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นมาเพื่อเป็นผลประโยชน์ของทุน แต่จากทุนจะโยงเข้ามาสู่การกระจายผลประโยชน์กลับคืนให้กับประชาชนที่เหลือนั้น จะทำยังไง ไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้

 

อย่างนี้ก็เท่ากับว่ายิ่งดึงดูดทุนต่างชาติเข้ามา หรือว่าเปิดช่องให้เขาเข้ามา ก็เท่ากับว่าเราสร้างกับดักให้ตัวเราเอง?

เพราะวิธีคิดของโมเดลรัฐพัฒนาการนั้นมันไม่ได้เต็มวงจร อย่าลืมว่าวงจรเก่าของรัฐพัฒนาการรุ่นแรก คือเมื่อพัฒนาเศรษฐกิจมาแล้ว มาถึงจังหวะหนึ่งรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนา ลดการปกป้องคุ้มครอง ลดการแทรกแซงลงมา แล้วก็กระจายผลประโยชน์ ประนีประนอมกับกลุ่มภาคสังคมอื่นๆ มากขึ้น แล้วก็เคลื่อนออกจากระบอบเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตย

แต่วิธีคิดแบบเขตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีวงจรช่วงนี้ มีแค่วงจรช่วงแรกที่จะทำอย่างไรให้ทุนเติบโต แต่ว่าขาดการคิดใคร่ครวญถึงปัญหาที่จะต้องตามมา และจะแก้ยังไง

 

อย่างเคสที่รัฐไทยกำลังทำอยู่ตอนนี้จะเรียกว่าสายตาสั้นได้หรือไม่

เขาก็มีความมุ่งหวังว่ามันจะทำให้สักวันหนึ่งเราจะสามารถหลุดจากวงจรความยากจน วงจรที่เรียกว่ากับดักของประเทศรายได้ปานกลาง มันก็ติดอยู่ใน trap อย่างนี้เรื่อยๆ คือเมื่อติดอยู่ใน trap มันก็จะหลุดออกจากวงจรไม่ได้ เมื่อใช้นโยบายเศรษฐกิจเร่งโต เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมันก็ไปกดดันให้เกิดกลุ่มที่เสียประโยชน์ เกิดผลกระทบปัญหาทางสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีการลุกฮือขึ้นมาเพื่อคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล รัฐบาลอำนาจนิยมก็พยายามที่จะไปสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ก็ไปควบคุมไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหว แล้วก็หย่อนสิทธิประโยชน์ หย่อนความคุ้มครองปกป้องให้กับทุนขนาดใหญ่ต่อไป มันก็เติมเป็นวงจร

ยิ่งเร่งโต ความยุ่งยากก็เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูง ประชาชนไม่พอใจ ออกมาคัดค้าน รัฐบาลก็ปราบปราม แล้วก็ใช้โมเดลแบบนี้วนอยู่ไปเรื่อยๆ มันก็หลุดไม่ได้ไง หลุดไม่ได้เพราะว่าวิธีคิดของการพัฒนามันปิดแคบ หยุดที่แค่พันธมิตรซึ่งมีอำนาจรัฐสูงอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เคียงข้าง

นี่ก็คือ ทำไมประเทศด้อยพัฒนาหลายๆ ประเทศไม่สามารถที่จะออกจากระบบการเมืองแบบเผด็จการได้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจมันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

เช่นประเทศใดบ้างที่ยังด้อยพัฒนาแล้วติดอยู่กับการวนอยู่อย่างนี้

ถ้าไม่นับประเทศที่เรียกว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่รุ่นที่หนึ่ง ประเทศอื่นๆ ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งนั้น ยกเว้นประเทศที่เป็นกรณีพิเศษ คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน

จีนยกเว้นเพราะเขาเป็นมหาอำนาจโดยตัวของตัวเอง ไม่ต้องอาศัยอิทธิพลมหาอำนาจมาหนุนหลังเพราะตัวเขาเองเป็นมหาอำนาจอยู่แล้ว มีฐานเศรษฐกิจที่ขนาดใหญ่มาก มีกำลังแรงงานจำนวนมหาศาล ประชากรมากที่สุดของโลก ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็ใช้นโยบายแบบการเมืองเผด็จการ เศรษฐกิจแบบกึ่งเผด็จการกึ่งทุนนิยม

 

แล้วอย่างพม่า มีความแตกต่างหรือว่าเหมือนกับของไทยอย่างไรบ้าง คือเขาก็เร่งโตเหมือนกัน?

ผมคิดว่าในทิศทางหลัก วิธีคิดไม่ต่างกัน คือลักษณะของการสร้างพันธมิตรเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาคในแนวนอน ก็คือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นระนาบนอน จะเชื่อมโยงกัน แล้วก็จะใช้กลไกเครื่องมือทางเศรษฐกิจเหมือนกัน ส่งเสริมการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่เหมือนกัน มันจะเป็นผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่ที่จะข้ามชาติภายในภูมิภาค ไปลงทุนไทย ลงทุนเวียดนาม ลงทุนพม่า ลงทุนเขมร แล้วหวังว่าจะเป็นแบบ ทุนเวียดนามหรือแรงงานจากเวียดนาม จากพม่า จากเขมร จะมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้ การแลกเปลี่ยนทำให้เกิดการฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมา แล้วการขยายตัวของทุนก็จะเดินหน้าต่อไป

ผลประโยชน์ลักษณะอย่างนี้ ทุนขนาดใหญ่พอใจ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของเขาอย่างเต็มที่ ขณะที่ตลาดภายในมันตันแล้ว เมื่อตลาดภายในตันยังมีโอกาสไปขุดทองที่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมจะไม่ทำ แล้วก็สนับสนุนให้รัฐดำเนินนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากรัฐปราศจากสำนึกในแบบที่ต้องมีเป้าหมายที่จะต้องพัฒนาชาติ สังคมตัวเองอย่างแน่วแน่นั้น ก็จะคล้อยตามความต้องการของทุน

ฉะนั้นผู้นำอำนาจการเมืองยืนอยู่ที่ไหน เราก็จะเห็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ยืนอยู่ข้างหลัง มันก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้

 

แล้วอย่างเคสสิงคโปร์ ที่คนไทยหลายคนมักจะมองและยึดเป็นโมเดลว่าไทยน่าจะพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบนี้ เพราะถึงเขาจะไม่ได้ปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เขาก็ยังก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ ความคิดแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ของสิงคโปร์ ไม่มีประเทศไหนเลียนแบบสิงคโปร์ได้ สิงคโปร์นั้นอาศัยยุทธศาสตร์สองอย่าง อันแรกก็คือ เปิดให้มีเงินลงทุนข้ามชาติเข้ามาที่สิงคโปร์ด้วยชุดนโยบายที่จะให้ประโยชน์ในเรื่องของภาษี ลดภาษี ยกเว้นภาษี เอามาตั้งเป็นฐานสำนักงานใหญ่ เป็นเฮดออฟฟิศ เพื่อที่จะไปลงทุนที่อื่น กับอีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อมีเงินเข้ามาหมุนเวียน เขาก็จะสามารถที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจแห่งชาตินั้นออกไปลงทุนนอกประเทศ สิงคโปร์เดินหน้าไปก่อนใครในภูมิภาคอาเซียน ไปลงทุนที่พม่า ไปลงทุนที่ลาว ไปลงทุนที่เวียดนาม ที่จีน ตั้งแต่สมัยที่จีนเริ่มเปิดประเทศเข้าสู่ทุนนิยมใหม่ๆ

อย่าลืมว่า จุดมุ่งหมายของรัฐพัฒนาการก็คือ เอาเศรษฐกิจมาพัฒนาสังคมและพัฒนาชีวิตประชาชน แต่ของสิงคโปร์เขาสามารถพัฒนาชีวิตของประชาชนได้ก่อน ก่อนที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป ไม่ยากนี่ เพราะเขามีประชากรจำนวนน้อย ก็ให้การศึกษา พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทำไม่นานก็สำเร็จ เขาไม่ต้องแคร์ว่าทุนที่หอบหิ้วเงินเข้ามาลงทุนที่ประเทศสิงคโปร์แล้วจะต้องมาถ่ายโอนเทคโนโลยี จะต้องมาช่วยบ่มเพาะพัฒนากำลังทรัพยากรบุคคลของสิงคโปร์ ไม่จำเป็น สิงคโปร์สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยของเขาก็สามารถสร้างคนที่มีการศึกษาสูงๆ  เขาสามารถจะเพิ่มเติมคุณภาพทักษะของแรงงานคนของตัวเองได้แล้ว เขาเพียงแต่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาเพื่อจะทำให้ขนาดของการสะสมทุนมันขยายตัวเท่านั้นเอง ซึ่งประเทศอื่นจำเป็นต้องทำอีกเยอะ ในเรื่องของการเอาเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประชาชน

สิงคโปร์ไม่ต้องมากังวลเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ไม่ต้องกังวลเรื่องของ property แต่ของประเทศอื่นๆ ทั้งหมดนั้นใช่ ที่พม่า ที่อินโดนีเซีย ที่มาเลเซีย ที่ไทยยังต้องคุยกันเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (property tax) เรื่องของการลดความยากจน ทำยังไงถึงจะส่งเสริมเรื่องของรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการสุขภาพ เรายังต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจเราจะทำพวกนั้นได้หรือเปล่า ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องคิดเรื่องพวกนี้ทั้งหมด ยกเว้นประเทศพิเศษอย่างที่ยกตัวอย่างไป

img_9158-s

แล้วประชาธิปไตยมีส่วนมากน้อยแค่ไหน ในการที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

ผมคิดว่ามีส่วนที่สำคัญ มีส่วนแน่ๆ เพราะถ้าหากว่าภายใต้เงื่อนไขที่เราไม่แน่ใจว่าผู้นำที่มีอำนาจสูงนั้นจะมีวิสัยทัศน์ที่ดี ผู้นำที่มีอำนาจสูง ระบบราชการที่เข้มแข็ง ถูกสร้างขึ้นมาแล้วด้วยกลไลของรัฐที่รวมศูนย์ เช่น รัฐวิสาหกิจในลักษณะแบบซูเปอร์รัฐวิสาหกิจ แต่ใช้ระบบบริหารจัดการแบบที่ตกเป็นเชลยของทุนขนาดใหญ่ อำนาจถ่วงดุลตรวจสอบอยู่ตรงไหน

เพราะฉะนั้นเมื่อไม่สามารถจะมั่นใจในเรื่องของจุดเริ่มต้นที่เป็นวงจรของการพัฒนารัฐพัฒนาการได้ มันจำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มเสียประโยชน์ที่ถูกเบียดขับออกไปจากการพัฒนาแบบเร่งเติบโตนี้ ต้องมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น มาคอยทัดทานว่าเส้นทางที่คุณกำลังจะเดินไปนี้ มันไม่ใช่เดินขึ้นภูเขานะ มันกำลังจะตกเหว แล้วความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคซึ่งเป็นจุดขายของประเทศอาเซียนนั้น ถ้าหากว่าทำการพัฒนาไม่เต็มวงจรนั้น ก็จะนำไปสู่ความย่อยยับในอนาคต

 

ขอให้อาจารย์ช่วยย้ำคำว่า ‘ไม่เต็มวงจร’ อีกครั้ง

เต็มวงจรก็คือ เมื่ออำนาจรัฐผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว อำนาจรัฐจะทำให้เกิดการพัฒนาสังคมตามมา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนที่เหลือได้ด้วย

เพราะนโยบายแบบเร่งเติบโตนี้ คุ้มครองปกป้องทุนขนาดใหญ่ให้สามารถลงทุนได้ง่ายๆ และรวดเร็ว ฉะนั้นก็ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน เขาสามารถที่จะเติบโตโดยการสร้างการผลักภาระไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม

ถ้าเรามองว่าโมเดลแบบรัฐพัฒนาการเมือง 40 ปีที่แล้วเป็นสิ่งที่ดีที่จะเอามาใช้ได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน แต่โมเดลแบบนี้มันมีข้อสำคัญที่ผู้นำหลายๆ ประเทศในปัจจุบันพยายามที่จะไม่พูดถึง มีอำนาจสูงแบบเผด็จการ แต่ผู้นำเขามีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นพัฒนาชาติของตัวเอง

ในที่สุดแล้ว การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถึงเวลาหนึ่งก็ต้องถอยให้กับการพัฒนาทางสังคม พัฒนาเพื่อชีวิตของประชาชนมากขึ้น เรื่องของการเติมเต็มสวัสดิการให้ประชาชนมากขึ้น

 

แนวทางที่รัฐไทยพัฒนาอยู่ก็มองไม่เห็นใช่ไหมว่าจะสำเร็จ?

โอกาสที่จะสำเร็จมีน้อยกว่า คือมันอาจจะมีโอกาสที่จะสำเร็จ หมายความว่า ถึงยุคหนึ่ง ความร่วมมือในลักษณะที่ว่านี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจรอบใหม่

แต่ผมไม่เชื่อว่ามันจะเกิดง่ายๆ เพราะไม่ใช่ว่ามีแค่ประเทศในอาเซียน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตสินค้าประเภทอย่างนี้ แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปอื่นๆ ก็มีการรวมกลุ่มเหมือนกัน แล้วเขาก็มีฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนข้ามชาติได้ไม่แพ้ในอาเซียน จุดขายของอาเซียนคืออะไร

โมเดลการพัฒนาแบบภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งกำลังคิดกันอยู่ก็คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงเรื่องของบรรยากาศ ความพร้อมที่จะรองรับเม็ดเงินลงทุนข้ามชาติ สร้างความเชื่อมโยงทางด้านพลังงาน เอาแหล่งพลังงานจากพม่า จากไทย จากมาเลเซีย อินโดนีเซียมาเชื่อมโยงผูกกัน แล้วก็ลงทุนทำถนน ลงทุนเรื่องของไฟฟ้า ลงทุนด้านเขื่อน เสร็จแล้วก็หวังว่าจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อตั้งขึ้นตามตะเข็บชายแดนของประเทศต่างๆ จะมีเงินลงทุนจากจีนมา จากญี่ปุ่นมา จากประเทศตะวันตกมา ยุโรปมา แล้วก็จะทำให้ประชาชนมีงานทำ สร้างรายได้ สร้างงาน

แต่ทั้งหมดนี้ มันไม่ใช่ก่อตัวขึ้นมาแล้วจะสำเร็จได้ทันที เมื่อมีเงินลงทุนแล้วเกิดอะไรขึ้นล่ะ ก็ต้องลงทุนเพื่อจะผลิตแข่งขันกันในประเทศต่างๆ ในโลกอีก แล้วก็ไม่แน่ว่าอนาคตจะเป็นยังไง

ผมคิดว่าที่แน่นอนคือ ทุนขนาดใหญ่จากประเทศมหาอำนาจจะได้ผลประโยชน์ไปแน่ๆ คือระหว่างที่รัฐบาลในประเทศสมาชิกช่วยเหลือทำให้เกิดความเติบโตอย่างรวดเร็ว มันก็สะสมทุนอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ซึ่งอาจจะไม่ใช่สัญชาติใดสัญชาติหนึ่งอีกต่อไปแล้วก็ได้ บางทีอาจเป็นทุนที่ร่วมทุนระหว่าง ทุนจีนร่วมทุนกับสิงคโปร์ ทุนไทยไปร่วมทุนกับจีน อะไรแบบนี้

พันธมิตรที่สำคัญของมหารัฐ คือกลุ่มที่จะตักชิ้นเนื้อที่สำคัญตรงนี้ออกไป

ช่วงประมาณ 2520-2530 คือปาฏิหาริย์ที่เกิดกับประเทศอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ เขาสามารถที่จะไปลงทุน คือผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วก็ขายต่างประเทศ จนกระทั่งขายได้ทั่วโลก ต่อจากนั้นเขาก็เอาไปลงทุน คือแทนที่จะส่งสินค้าในประเทศตัวเองไปขายที่อื่น คือไปผลิตที่อื่น ขายที่อื่น มาผลิตที่ไทย ขายในไทย ขายในประเทศเพื่อนบ้าน ไปผลิตในยุโรป ออสเตรเลีย แล้วก็ขายในประเทศเหล่านั้น

เมื่อไปดูการจัดอันดับของธุรกิจชั้นนำของโลก ในนิตยสาร Forbes Asiaweek Fortune ก็จะมีทุนขนาดใหญ่ของประเทศในเอเชีย ที่ยกตัวอย่างมาว่าเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นจนกระทั่งสามารถยกระดับเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้

ซึ่งต้องนับว่าเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ

ใช่ ยุคนั้นเงื่อนไขมันผิดจากยุคปัจจุบัน

 

เกิดยากกว่า?

เกิดไม่ได้…

การเมืองเผด็จการ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรี ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามันจะประสบความสำเร็จอีกแล้ว ในอดีตอาจจะเคยสำเร็จ แต่ว่าตอนนี้เงื่อนไขมันผิดกัน ในขณะนี้ต้องพูดถึงรัฐพัฒนาการอีกแบบหนึ่ง เป้าหมายเดิมก็คือจะพัฒนาชีวิตของประชาชนได้ยังไง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเร่งวงจรการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะสามารถมีทางอื่นอีกไหม นี่คือจุดสำคัญ

คือถ้าเรามาเดินวงจรเก่า มันไม่ได้ เศรษฐกิจโลกที่มันแกว่งไร้เสถียรภาพอยู่ทุกวันนี้ แล้วก็เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ดีด้วยในระดับโลก มันมีเรื่องของวินาศกรรมเรื่องของอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นเราควรต้องแสวงหาโมเดลใหม่ๆ ของการสร้างรัฐ สร้างชาติ ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ประชาชนจนเกินไป ในแบบของรัฐพัฒนาการที่เน้นแต่พัฒนาอุตสาหกรรมคงจะไม่ใช่ทางออก


ยิ่งเร่งโต ความยุ่งยากก็เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูง ประชาชนไม่พอใจ ออกมาคัดค้าน รัฐบาลก็ปราบปราม แล้วก็ใช้โมเดลแบบนี้วนอยู่ไปเรื่อยๆ มันก็หลุดไม่ได้ไง หลุดไม่ได้เพราะว่าวิธีคิดของการพัฒนามันปิดแคบ หยุดที่แค่พันธมิตรซึ่งมีอำนาจรัฐสูงอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เคียงข้าง

นี่ก็คือ ทำไมประเทศด้อยพัฒนาหลายๆ ประเทศไม่สามารถที่จะออกจากระบบการเมืองแบบเผด็จการได้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจมันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ


img_9177

 ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย การกระจายโอกาสให้คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น?

ผมไม่อยากจะแยกระบบการปกครองออกจากระบบเศรษฐกิจ คือไม่ว่าเดี๋ยวนี้หรือสมัยก่อนมันผสมกันอยู่ คือประชาธิปไตยแบบเดียวเราจะเอาประเทศไหนมาเป็นต้นแบบละ มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์พร้อม สหรัฐอเมริกาเองมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ว่ามีลักษณะของการเป็นอำนาจนิยมสูง แบบอังกฤษก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นแบบนอร์เวย์ สวีเดน อันนั้นเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็มีลักษณะพื้นที่ที่รองรับแรงกระแทกทางสังคมได้สูง เป็นข้อที่ควรยกย่องและควรนำมาพิจารณา

แต่ทุกสังคมก็มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะว่าวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปเมื่อประมาณ 2011-2012 มันก็หนักอยู่ พอหลังจากนั้นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียก็ปรับตัวมาสู่ระบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่เน้นเรื่องของการสร้างสวัสดิการแบบเต็มที่ แต่เน้นใช้ระบบการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญของมิติการแข่งขันสูงขึ้น บทบาทของรัฐยังมีอยู่แน่นอน บทบาทของรัฐบาลในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน สำคัญคือว่าจะใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อย่างไร

แต่ของประเทศในแถบบ้านเรา เรามองแค่เศรษฐกิจอย่างเดียวเลย แล้วก็ไปสมมุติ ไปทึกทักเอาว่าเศรษฐกิจดีแล้วประชาชนก็จะดีด้วยโดยอัตโนมัติ ก็ไม่แน่ ที่บอกว่าคำอธิบายทั้งหมดที่พูดมานั้น ถ้าเศรษฐกิจดีมันเป็นเศรษฐกิจของใครดี ของทุนขนาดใหญ่ดี หรือว่าของประชาชนดี ซึ่งอาจจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน

แต่หลายๆ อย่างมันก็ขนมผสมน้ำยา หรือไม่ก็จับแพะชนแกะ คือก็เอาเรื่องของเปิดเสรีมาอ้างว่าจะทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เปิดเสรีไม่แน่ว่าจะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ กับอีกอันหนึ่งคือ จับแพะชนแกะ ก็คือเอารัฐวิสาหกิจมาเป็นกลไกสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่าของต่างประเทศที่เป็นต้นแบบทั้งหมดนั้น รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะดูแลตัวอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ

แต่ของไทย รัฐวิสาหกิจนั้นแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งไปให้เอกชนเป็นเจ้าของ แล้วรัฐก็ถือหุ้นอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าเอารัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกลไกที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไปผสมกับผลประโยชน์มหาศาล กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม คนจำนวนหยิบมือเดียว แล้วก็อ้างกระแสทัดทานจากพลังภาคประชาสังคม เช่น เรื่องน้ำมัน เปิดสัมปทานปิโตรเลียม เหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติ อ้างเรื่องเดียวกันแบบนี้หมดเลย

 

ซึ่งทางแก้ควรจะแก้ตรงไหนก่อน อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหม

มันต้องเปิดกว้างทางการเมือง เพิ่มโอกาสที่จะให้กลุ่มที่ไม่เคยได้มีปากมีเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของชาติ ได้ส่งเสียงสะท้อนขึ้นมา แล้วสามารถที่จะทัดทานเสียงที่ดังอยู่เสมอก็คือพวกนายทุนได้

วิธีที่ดีที่สุดก็คือเปิดการเมืองแบบประชาธิปไตย แล้วก็คงไม่ใช่การเมืองระบบรัฐสภาเท่านั้น เป็นการเมืองแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ดูสิ่งที่ทำอยู่มันกลับทิศกลับทางใช่ไหม

ผมเสนอว่าต้องตัดวงจร คือทั้งหมดนี้มันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดึงดูดเงินลงทุนข้ามชาติ ความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาค มันรวมไปหมดเลยกับเรื่องของโครงการเมกะโปรเจ็คท์ของรัฐบาล มันต้องตัดวงจร

ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่า จุดอ่อนของวงจรการพัฒนาตรงนี้อยู่ตรงไหน ถ้าหากว่าเราจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าหลุดพ้นจากวงจรตรงนี้ได้ จะต้องตัดวงจรตรงนั้น ฉะนั้นจุดที่ตัดตอนได้ดีที่สุดเลยก็คือ ทุกวันนี้มันเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อพัฒนาชาติอย่างปิดแคบเกินไป มีเฉพาะกลุ่มภาครัฐเป็นศูนย์กลาง แล้วในนี้ก็มีระบบราชการ มีกองทัพ มีรัฐวิสาหกิจ แล้วทั้งหมดนี้ก็ถูกดูแลโดยผู้นำทางการเมือง แล้วมีทุนเอกชนที่เป็นทุนขนาดใหญ่ติดอยู่ข้างๆ ทีนี้เราจะแกะทุนใหญ่ห่างออกไปสักหน่อยได้ไหม เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระให้กับอำนาจของรัฐที่อยู่ตรงกลาง แล้วก็ดึงพันธมิตรอื่น เช่น กลุ่มแรงงาน ภาคเกษตรกร กลุ่มนักอนุรักษ์ นักพัฒนาสังคม เข้ามา ซึ่งมันก็จะเป็นโมเดลที่ไม่เหมือนสมัยก่อน

 

อาจารย์จะให้ตัดวงจรอะไรทิ้งบ้าง

ตัดวงจรทางการเมือง ก็คือการปิดกั้นพลังภาคประชาสังคมที่ถูกละเลย ตัดวงจรทางเศรษฐกิจ ก็คือการพัฒนาแบบเร่งเติบโต โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างไม่กังวลถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน มันไม่สามารถที่จะเพิ่มต่อยอดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ไม่สามารถก้าวกระโดดได้ เราเหมือนติดอยู่ในกับดัก พยายามที่จะทุ่มเททรัพยากร ซึ่งการพัฒนาที่ผ่านมาตลอดก็คือ เอาความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ในแผ่นดินมาขาย พลังงาน ดินในภาคเกษตร ความสมบูรณ์ของแรงงาน ซึ่งในอดีตเรียกว่าเยอะ แต่ปัจจุบันพอรู้สึกว่ามีข้อจำกัด ก็พยายามจะไปดึงแรงงานจากเพื่อนบ้าน เพราะค่าแรงถูกกว่า มันเป็นฐานคิดแบบเดิมทั้งนั้น แล้ววงจรทางเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งก็คือ การทุ่มเทสิทธิประโยชน์ให้กับการลงทุนบนฐานคิดนี้ ซึ่งมันไม่ได้เป็นทรัพยากรที่ไม่มีต้นทุน

ต้นทุนของการให้สิทธิประโยชน์อันนี้มันสร้างความเหลื่อมล้ำสองมาตรฐาน ทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ทุนขนาดกลางขนาดเล็กตาย แล้วก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

ทั้งหมดก็คือการพัฒนาที่ปิดแคบ ทั้งทางการเมือง การเศรษฐกิจก็ปิดแคบ

 

ฟังแล้วเหมือนจะไม่ค่อยมีความหวังสักเท่าไหร่

คือมันสิ้นหวังตรงที่ว่า มันไม่ใช่ประเทศยากจนในระดับเดียวกับเราทุกประเทศกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

ลองคิดดู อย่างเช่น มาเลเซีย ก็อยู่ในระดับที่พัฒนามาไม่ได้สูงหรือต่ำกว่าเท่าไหร่นัก หลายๆ ด้านบางอันเหนือกว่า บางอันก็ด้อยกว่า หรือไต้หวันที่เหมือนจะขยับตัวเองไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตกไปช่วงหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถที่จะทนทานต่อวิกฤติเศรษฐกิจ 1997 ได้ ตอนปี 2540 เกาหลีใต้ต้องกลับไปกู้เงินจาก IMF แบบเดียวกับไทยและอินโดนีเซีย แต่ไต้หวันไม่ต้องทำ

มันไม่ใช่ทุกประเทศที่เดินไปด้วยกันแล้วจะต้องตกหล่มไปพร้อมกันหมด สิงคโปร์ไม่ต้อง มาเลเซียไม่ต้อง ไต้หวันไม่ต้อง มาถึงรอบนี้ จังหวะนี้เราก็บอกว่าเราเชื่อมโยงกับอาเซียนบวกสาม ตอนนี้มีเวียดนาม ลาว เขมรมาเพิ่ม แล้วก็หวังว่าจะเดินไปด้วยกัน เติบโตทางเศรษฐกิจด้วยกัน

แต่ต่อไปนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่บอกว่าจะส่งเสริมการลงทุนให้กับการลงทุนข้ามชาติ แต่พยายามไปกดความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต่อต้านการลงทุน นี่ก็จะเกิดรอบของความขัดแย้งระลอกใหม่ มันไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการรวมกันของคนที่ถูกเบียดขับของแต่ละประเทศ แล้วอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าเกิดวิกฤติรอบใหม่ โอกาสที่ประเทศจะรอดตัวนั้นก็ยากขึ้น เพราะพลังความอุดมสมบูรณ์ของตัวเองลดลง พลังทรัพยากรที่สำคัญ แรงงานประชาชนในประเทศตัวเองก็เข้าสู่แบบแผนใหม่ ไม่มีเขตรองรับแรงกระแทกทางสังคม หมายความว่า ประเทศที่ยังไม่พัฒนาทางเศรษฐกิจมากนักสามารถที่จะมีฐาน อย่างเช่น น้ำ พื้นที่ป่า อาศัยอยู่ในภาคเกษตร แต่ถ้าเปลี่ยนสังคมออกไปแบบเดียวกับประเทศไทยให้หมด ความยุ่งยากจะตามมากว่านี้เยอะ

แล้วพอเผชิญวิกฤติรอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครถลำลึกมากกว่ากัน พวกที่ถลำลึกไปไกลก็เดือดร้อนหนัก ใครที่ถลำไปยังไม่มาก อย่างเช่นลาว หรือพม่าก็ยังอาจจะพอรอดตัวได้

แต่ความยุ่งยากจะต้องมีแน่นอน ไม่สามารถลอยตัวได้เหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

 

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า