เราจ่าย ใครได้ คำถามปลายทางภาษี

คำถามสามัญในเรื่องภาษีที่ประชาชนทุกคนล้วนอยากรู้คือปลายทางของภาษีที่รัฐจัดเก็บนั้นไปอยู่ที่ไหน ไม่ต้องแซะ ไม่ต้องกางตำราเศรษฐศาสตร์ เพื่อจะหาคำตอบที่พูดก็พูดเถอะ ช่างไม่ต่างจากการหาทางออกจากวงกตของเดดาลัส (Daedalus) และ อิคารัส (Icarus) ที่สร้างไว้กักขังมินอธอร์ตามเทพปกรณัมกรีก

อาจเพราะเหตุนั้น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดเสวนาภายใต้หัวข้อที่ชวนกระตุกเท้าให้เดินเข้าไปฟังว่า ‘ภาษี ใครได้ ใครเสีย’ เพื่ออย่างน้อยๆ เราน่าจะหาทางออกจากวงกตได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเจ้าปีศาจวัวขวิดตาย

ดร.ธร ปีติดล

สามคำถามสำคัญระบบภาษีไทย

เริ่มจาก ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นในเรื่องภาษีที่ประชาชนคนไทยจ่ายให้รัฐนั้นมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก โดยธรกล่าวถึงในส่วนของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนว่า ของประเทศไทยนั้นจัดว่าอยู่ในระดับกลางไม่สูงหรือต่ำตามข้อมูลจากธนาคารโลก หากแต่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำเป็นต้องพิจารณาขั้นรายได้ที่เราจะต้องจ่ายภาษีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย ในขณะที่รายได้สูงสุดที่จะต้องจ่ายภาษีก็สูงสุดเช่นกันเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย

สภาพประกอบภาษีเงินได้ตัวนี้ หมายความว่าจริงๆ แล้วคนที่จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ในประเทศไทยมีน้อยมาก เมื่อรายได้ขั้นแรกที่จะต้องเสียภาษีมันสูงกว่ารายได้เฉลี่ย หมายความว่าทำให้คนที่จะต้องจ่ายๆ จริงๆ นั้นมีน้อย ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มคนที่จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ของประเทศไทยจริงๆ มีแค่ 45 ล้านคนเท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด นี่ถือว่าน้อยมาก ทำให้ภาษีเงินได้ของประเทศไทยไม่ใช่ภาษีที่มีความสำคัญของภาษีทั้งหมด

ส่วนต่อมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ธรกล่าวว่ารายได้ที่จัดเก็บจากภาษีนิติบุคคลนั้นอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการลดเพดานลงมาให้เท่ากับประเทศอื่นๆ ในประเทศอาเซียน ไม่นับการให้สิทธิทางภาษี และรวมถึงสิทธิการลดหย่อนเพื่อกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงการ BOI ทั้งหลาย ทำให้การจัดเก็บภาษีผ่านนิติบุคคลไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียทีเดียว

ในขณะที่ภาษีตัวสุดท้าย ซึ่งเป็นภาษีตัวที่ทำรายได้ให้กับรัฐมากที่สุด คือภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการเก็บ VAT 7 เปอร์เซ็นต์ ที่หลายคนคงคุ้นกันดี โดยธรมองว่าการเก็บ VAT ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกแล้วถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป

ประเด็นนี้ธรชี้ให้เห็นสองข้อด้วยกัน คือแนวโน้มในการขึ้น VAT ในอนาคตของรัฐไทย กับการเก็บภาษี VAT ไม่ได้เก็บชนิดที่เรียกว่าจัดเต็มมากนัก โดยอ้างอิงงานวิจัยของธนาคารโลกที่วิเคราะห์ว่าเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว การจัดเก็บภาษีของรัฐไม่ได้เต็มศักยภาพที่ภาษีนั้นจะนำไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

“จริงๆ แล้วระบบภาษีไทยมีช่องทางที่จะปรับปรุงได้หลายเรื่อง แต่ทีนี้ก็นำมาสู่คำถามที่สอง ทุกวันนี้จริงๆ แล้วภาษีเราตอบโจทย์อะไร”

สัดส่วนภาษีแต่ละประเภท

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาษีไม่ใช่แค่เครื่องมือในการหารายได้เข้ารัฐอย่างเดียว นักเศรษฐศาสตร์เองมองกันว่าจริงๆ แล้วภาษีสามารถที่จะตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย ภาษีสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมบางประเภท กระตุ้นให้เกิดการลงทุน กระตุ้นให้เกิดการบริโภค ภาษีสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อมีภาษี ย่อมมีคนได้และเสียจากภาษีไม่เท่ากัน นี่คือเรื่องพื้นฐาน”

ประเด็นต่อมา ธรวิเคราะห์ต่อจากงานวิจัยของธนาคารโลกว่าในเมื่อการจัดเก็บภาษีของรัฐไทยไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว สัดส่วนของความแตกต่างนี้อยู่ที่ประเภทใดบ้าง

ธรมองว่ารายได้หลักของภาษีในประเทศไทยยังมาจากฐานของการบริโภค หรือ VAT 7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาษีจากฐานทรัพย์สินแทบไม่มีบทบาทใดๆ กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ รัฐแทบไม่เก็บภาษีจากการถือครองที่ดินแต่อย่างใด

ทีนี้เมื่อโครงสร้างทางภาษีเป็นเช่นนี้ เราจะพบว่าข้อจำกัดที่มาจากโครงสร้างทางภาษีไทยเช่นนี้มาจากข้อจำกัดในเรื่องการกระจายผลประโยชน์ นั่นก็คือเรื่องการกระจายรายได้นั่นเองนะครับ

โดยธรอธิบายว่าภาษีที่มีศักยภาพในการกระจายรายได้ หรือภาษีเงินได้ มีบทบาทค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ภาษีจากฐานทรัพย์สิน รัฐจัดเก็บเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างภาษีในภาพรวม โดยธรยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทั้งภาษีเงินได้และภาษีฐานทรัพย์สินในทุกวันนี้สามารถตอบโจทย์ในเรื่องเศรษฐกิจได้จริงๆ ไหม หรือตอบโจทย์ในเรื่องกระจายรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ธรกล่าวว่า เมื่อมองลงไปในตัวภาษีเงินได้เราจะพบว่ามีการลดหย่อนทางภาษี ซึ่งทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บได้เต็มประสิทธิภาพของภาษีนั้น ยิ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่มีรายได้สูงสุดแล้วนำมาลดหย่อนภาษีด้วยแล้วจะยิ่งพบศักยภาพในการกระจายรายได้ของประเทศน้อยตามไป

“เมื่อมองว่ารัฐจัดเก็บภาษีเพื่อไปตอบโจทย์อะไรอยู่ เราจะพบว่าที่ผ่านมาแนวโน้มการเสียภาษีเป็นไปเพื่อการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในปี 2016 ปีที่แล้ว เราเสียรายได้ให้กับ BOI ไปประมาณ 148,000 ล้านบาท คือเทรนด์ของการให้สิทธิประโยชน์ของภาษีไทย เพราะเรากลัวว่าต่างชาติจะหันเหไปลงทุนที่อื่น แต่การให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้คุ้มค่าเพียงไร เราก็ยังเห็นการศึกษาที่ชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าขนาดไหน”

ภาษีไทยควรจะไปทางไหน

คำถามสุดท้าย ธรมองว่ามันจะมีโจทย์อะไรที่จะเป็นโจทย์สำคัญต่อระบบภาษีไทยเกิดขึ้นบ้าง

กับคำถามนี้ ธรกล่าวถึงสภาวการณ์ทางการจัดเก็บภาษีของรัฐไทยในปัจจุบันที่ยังน้อยกว่ารายจ่ายของภาครัฐ โดยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์มองว่า หนี้สาธารณะจากการใช้จ่ายของภาครัฐในวันนี้ คือภาษีในอนาคตกาลข้างหน้า หมายความว่าเราไม่สามารถหนีจากสภาวะในการร่วมจ่ายภาษีที่เกิดจากหนี้สาธารณะขึ้นมาได้

“ถ้านับดูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จริงๆ แล้วเราขาดดุลทุกปี และเราก็ยังไม่มีคำตอบว่าเราจะตอบโจทย์นี้ยังไง มากไปกว่านั้นประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงสองประการสร้างความสำคัญให้กับเรามากขึ้นในการหารายได้ให้ภาษี หนึ่งคือการขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง และสองการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย”

ประการแรก ธรกล่าวถึงการขาดดุลทางการคลังที่เป็นมาตลอดช่วงสิบปีเอาไว้ว่า เราจะพบการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ผ่านมาเรากลับเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติทั้งหลายเหล่านี้ได้ค่อนข้างน้อย โดยธรยกตัวอย่าง facebook ที่ทุกๆ รายได้จากการจ่ายค่าโฆษณาจะส่งตรงกลับไปยังบริษัทแม่ ไปเสียภาษีที่ต้นทางเป็นหลักทันที

ประการที่สอง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หมายความว่ารัฐจะต้องนำรายได้มาเป็นรายจ่ายให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้มีศักยภาพ-หรือคนในวัยทำงาน-ที่จะจ่ายภาษีลดลงตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้เป้าหมายที่เราต้องการจะไปให้ถึงคือภาษีที่ตอบโจทย์และสร้างการเติบโตไปด้วยพร้อมๆ กับการกระจายรายได้ไปด้วย แม้ว่าความเป็นจริงของประเทศทุกวันนี้ ทิศทางการเติบโตของประเทศโดยเฉลี่ยก็ลดลง ความเหลื่อมล้ำก็ยังเป็นปัญหาค้างคาไม่จบสิ้น

อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร

หัวใจสำคัญของระบบสูบฉีดระบบภาษีไปยังปลายทาง ธรฉายภาพกว้างๆ ให้พอมองเห็นแล้ว โจทย์ต่อมาคือทุกการจัดเก็บภาษีของภาครัฐเป็นไปเพื่อช่วยใครกันแน่ ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาช่วยตอบคำถามสำคัญนี้

ผศ.ดวงมณีกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมฐานภาษีทั้งหมด ควรขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น

ประเด็นต่อมา เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท ควรนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่มีความเป็นธรรมกับเงินได้ทุกประเภท โดย ผศ.ดวงมณีกล่าวว่า ทั้งนี้ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ควรมีอัตราการหักภาษีที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละประเภท เพื่อมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ในด้านการลดหย่อนภาษี รัฐสามารถยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เนื่องจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มที่มีรายได้สูง ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ประกอบกับตลาดทุนในปัจจุบันมีวิวัฒนาการและพัฒนาการไปมากแล้ว

ประเด็นนี้ ผศ.ดวงมณีมองว่าตลาดทุนนั้นสามารถดำรงอยู่ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยการลดหย่อนค่าซื้อ LTF เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนต่อมาในเรื่องการลดหย่อนภาษีการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ผศ.ดวงมณีมองในแง่บวก ว่าแม้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเหมือนกับ LTF แต่ในกลุ่มมีรายได้น้อยยังนับว่าเป็นการออมในระยะยาวได้ เพื่อสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต

นอกจากนี้ ผศ.ดวงมณียังกล่าวถึงแนวโน้มการจัดเก็บภาษีอีกประเภท ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า 2562 คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีบนมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง โดยประเด็นที่พึงพิจารณาสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดวงมณีมีดังนี้

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามหลักผู้รับประโยชน์หลักความสามารถในการจ่าย ดังนั้นจึงไม่ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนจำนวนมาก เพราะจะเกิดช่องโหว่ของกฎหมายขึ้น แต่ควรเก็บภาษีในอัตราต่ำสำหรับฐานภาษีที่มีมูลค่าน้อย เพื่อไม่ให้เกิดภาระภาษีที่มากเกินไป

“หากจะยกเว้นให้กับบ้านหลังหลักสำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายภาษีได้น้อย ก็ควรอยู่ที่ไม่เกินห้าหลัง เพราะเป็นมูลค่าที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเจ้าของ และไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง แต่ต้องเสียภาษีสำหรับบ้านหลังถัดไป”

การยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินในการทำเกษตรก็ควรเป็นการดูแลของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีกำลังในการจ่ายภาษีต่ำ การเว้นไม่เก็บภาษีที่ดินเกษตร หรือยกเว้นมูลค่าที่สูงเกินไป ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่รกร้างว่างเปล่าหลีกเลี่ยงภาษีมาสู่ช่องทางนี้

โดยสรุปแล้ว ผศ.ดวงมณีกล่าวว่าการยกเว้นภาษีในมูลค่าสูงไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจน โดยการกำหนดอัตราต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถตอบวัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้ เช่น อัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ปล่อยไว้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ หากเป็นอัตราที่ต่ำจนเกินไปก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ เพราะราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ส่งผลให้ยังคงมีการสะสมที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไรต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นรายได้ระดับไหนก็ตาม ถ้าสมมุติว่าคุณเป็นเจ้าของที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หรือถือครองทรัพย์สินนั้น ประโยชน์คุณก็ได้รับโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือบริการสาธารณะต่างๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาลงไปสู่ท้องถิ่นนั้นๆ เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ก็ควรเป็นกลุ่มที่แบกรับภาระรายจ่ายของการบำรุงท้องถิ่นของรัฐตรงนี้ด้วย

ภาษีช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

จากประเด็นที่ ผศ.ดวงมณีกล่าวไว้ในเรื่องการเก็บภาษีบนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งสัมพันธ์ไปยังประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อให้ สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าถ้าเราจะลดความเหลื่อมล้ำ เราก็ต้องเอาเงินจากกระเป๋าคนรวยมาจ่ายคนจน แต่คำถามคือระบบภาษีของเราทำแบบนั้นหรือไม่ เอาเงินจากกระเป๋าคนรวยมาจ่ายคนจน

ผมอยากจะเสริมว่าจริงๆ แล้วคนรวยที่จริงๆ มีรายได้สูงมาก แต่กลับเสียภาษีไม่ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากมันมีการอนุญาตให้มีแยกคำนวณได้ อย่างเช่น มีรายได้จากการปันผล มีรายได้จากดอกเบี้ย พอแยกคำนวณแล้วมันต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์เยอะ คำถามคือพอต่ำแล้วมันก็ไม่ต้องเสีย แต่ที่ผมอยากจะถามต่อไปคือคิดว่าประเทศไทยมีคนที่มีรายได้จากเงินปันผลเยอะไหมครับ

เมื่อสักเดือนสองเดือนที่ผ่านมามันมีประเด็นหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาทางโซเชียล มีลำดับของคนที่ได้รายได้จากเงินปันผลในประเทศไทย เฉพาะเงินปันผลในปีนั้น รู้ไหมครับเขาได้เท่าไหร่ พันกว่าล้านบาทจากเงินปันผลอย่างเดียว ถ้าถามว่าคนไทยที่รวยๆ มาจากเงินเดือนหรือไม่ อย่างพวกซีอีโอรับจ้างที่มีรายได้เดือนจะเป็นล้านบาท ผมว่าไม่ใช่ คนที่รวยจริงๆ ระดับหมื่นล้านแสนล้าน รายได้หลักๆ ของเขามาจากเงินปันผลทั้งสิ้น

ประเด็นสำคัญต่อมาคือในเรื่องของ VAT 7 เปอร์เซ็นต์ ที่สมชัยมองว่าที่ผ่านมามีคนเห็นใจคนยากคนจน ไม่อยากให้มีการขึ้นภาษีตรงนี้ เพราะจะกระทบกับคนจน เพราะตรงนี้สำหรับคนจนมันเป็นภาษีที่หนีไม่ได้ ซื้อของเมื่อไหร่ก็เจอแล้ว

แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง ภาษีรัฐ สมมุติว่า 100,000 ล้านบาท รัฐจัดเก็บจากคนรวยหรือออกจากกระเป๋าคนรวยมากแค่ไหน สมชัยมองว่า VAT ที่ออกจากกระเป๋าคนรวยนั้นมีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ออกจากกระเป๋าคนจนนั้นมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นในมุมของสมชัยจึงมองว่าการไม่ขึ้นอัตราภาษี VAT ให้มากกว่าที่เป็น คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนรวยที่เสียภาษีจาก VAT ที่ 80 เปอร์เซ็นต์มากกว่าคนจนด้วยขนาดความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน

เพราะฉะนั้นในเรื่อง VAT การที่เราไปประวิงมันไว้ ไม่ยอมให้ขึ้นอัตราขึ้นมา คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนรวย แทนที่จะเสียไป 10 เปอร์เซ็นต์จากรายได้รวมก็เสียแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 3 เปอร์เซ็นต์ก็เท่ากับ 800,000 ล้านบาท 80 เปอร์เซ็นต์ก็เกือบๆ 200,000 ล้าน คือจู่ๆ คนรวยประหยัดภาษีไปแล้วปีละ 200,000 ล้านบาท เพียงเพราะว่าเราไม่อยากให้คนจนต้องเสีย 20 เปอร์เซ็นต์

ข้อเสนอตรงนี้ของผมง่ายมากเลยก็ทำเป็นแพ็คเกจสิครับ คือเสนอขึ้น VAT จาก 7 เป็น 10 แต่ต้องบอกว่า เงินประมาณ 240,000 ยกตัวอย่างสักครึ่งหนึ่ง 120,000 นะครับ เป็นเงินที่ต้องเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนจนเท่านั้น ก็คือว่าเขาควักกระเป๋ามา 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาได้คืนไป 50 เปอร์เซ็นต์ พยายามเสนอแพ็คเกจแบบนี้ได้ไหม เพื่อไม่ให้การขึ้นภาษีกลายเป็นภาระของคนจนกลายเป็นการขัดขวางการขึ้น VAT เพราะมันขัดขวางมาตลอดเวลา แต่คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือคนรวยที่ประหยัดไปแล้ว 200,000 ล้านบาท

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า