ตรวจสภาพเครื่องยนต์ภาคส่งออก ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ไกลแค่ไหนหลังโควิด-19

หากเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยประกอบด้วย การท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน ทันทีที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เครื่องยนต์กำลังหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างเฉียบพลันคือการท่องเที่ยว โดมิโนตัวถัดมาที่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งคือการส่งออก

การสัมมนาวิชาการ EconTU Symposium ประจำปี 2564 หัวข้อหลัก ‘ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยยั่งยืน’ จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้น้ำหนักความสำคัญกับประเด็นการส่งออก โดยยกให้เป็นหนึ่งในหัวข้อสัมมนา ‘ความอยู่รอดของการส่งออกของไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด’ พร้อมนำเสนอผลศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (The International Competitiveness Research Cluster: ICRC) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี วิมล ปั้นคง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development: ITD) เป็นผู้ร่วมสนทนา

องค์ประกอบของความอยู่รอด

ผศ.ดร.อลงกรณ์ ศึกษาถึงความอยู่รอดของการส่งออกของไทยหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยมองว่าภาคการส่งออกจะสามารถพยุงหรือชดเชยกำลังซื้อที่ถดถอยในประเทศได้ 

วิธีการศึกษาได้ใช้วิธีของ Kaplan-Meier Estimator (K-M) เพื่อวัดอัตราความอยู่รอดของภาคการส่งออกโดยรวม ซึ่งวิธีดังกล่าวมีพื้นฐานการวัดข้อมูลแบบต่อเนื่อง โดยที่ระยะเวลาความอยู่รอดของการส่งออก คือช่วงระยะเวลาที่เริ่มส่งออกจนถึงหยุดส่งออกสินค้าแต่ละรายการ 

กล่าวคือเป็นการวัดว่าสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไป ณ ปีที่ 0 มีโอกาสอยู่รอด ณ ปีต่างๆ เท่าใด โดยวัดสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่เหลือรอด ณ ปีปัจจุบัน เทียบกับจำนวนรายการสินค้าที่ส่งออกในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวมีค่าสูง แสดงว่าอัตราการอยู่รอดของภาคการส่งออกอยู่ระดับสูง

เพื่อตอบคำถามที่ว่า ปัจจุบันไทยมีความอยู่รอดของการส่งออกมากน้อยเพียงใด การศึกษาจึงมุ่งเน้นตอบโจทย์ 2 ประการคือ ระดับการกระจายการส่งออกสินค้า และระดับความอยู่รอดของการส่งออก โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

สำหรับการกระจายส่งออกสินค้า ศึกษาโดยใช้จำนวนสินค้าการส่งออกแต่ละปีเป็นตัววัดการกระจายการส่งออก

จากกราฟจะเห็นว่า จีนมีการกระจายการส่งออกมากที่สุด (เส้นสีน้ำเงิน) ขณะที่ไทยกระจายการส่งออกค่อนข้างสูง อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงสิงคโปร์และมาเลเซีย 

แม้จะดูเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทว่า ผศ.ดร.อลงกรณ์ แสดงความกังวลว่า การกระจายการส่งออกให้เพิ่มสูงขึ้น หรือเพิ่มรายการส่งออกสินค้ารายการใหม่ๆ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีสินค้าส่งออก 2,719 รายการ คิดเป็นร้อยละ 87 ของรายการส่งออกสินค้าทั้งหมด 3,100 รายการ ซึ่งในปี 2008 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้รายการส่งออกสินค้าลดลง โดยการลดลงนี้สะท้อนว่าโอกาสของการกระจายสินค้าใหม่ๆ ในกลุ่มอาเซียนและจีนเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก

สำหรับความอยู่รอดของการส่งออก หากแยกตามระยะเวลาในการส่งออก และมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกรายการสินค้าต่างๆ จะสะท้อนพัฒนาการความสามารถในการอยู่รอดของการส่งออกได้

การศึกษาแยกตามระยะเวลาในการอยู่รอด (กราฟด้านซ้าย) และแยกตามมูลค่าส่งออกเฉลี่ยของรายการสินค้าต่างๆ (กราฟด้านขวา) ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยพื้นที่สีเขียวคือสินค้าที่ส่งออกตลอด ณ ช่วงเวลาที่วิเคราะห์ และสีน้ำเงินคือมูลค่าเฉลี่ยการส่งออก ดังนั้นหากประเทศใดอยู่ในโซนของกราฟสีเขียวและสีน้ำเงินสูง แสดงว่ามีความสามารถในการส่งออก (export performance) สูง

จากกราฟเดียวกัน จะเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีความอยู่รอดในการส่งออก และมีมูลค่าการส่งออกสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ไทยมีความอยู่รอดในการส่งออกที่สูงรองลงมา ใกล้เคียงกับมาเลเซีย และหากดูมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย พบว่า มูลค่าส่งออกของไทยค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไทยมีความสามารถในการส่งออกสูงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

หากวัดอัตราการอยู่รอดและส่งออกด้วยวิธี Kaplan-Meier Estimates พบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดสูงสุด (เส้นสีแดงบนสุด) ซึ่งแปลผลได้ว่า จีนมีสินค้าเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีความสามารถอยู่รอดได้เกิน 5 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีความสามารถในการอยู่รอดต่ำกว่า 5 ปี 

เมื่อพิจารณาตัวเลขประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ไทยมีอัตราความอยู่รอดเป็นอันดับ 2 เวียดนามเป็นอันดับ 3 ในกรณีนี้เส้น Kaplan-Meier ของไทยค่อนข้างห่างกับเวียดนาม ในขณะที่เวียดนามค่อนข้างใกล้ประเทศอื่นๆ มากกว่า นัยสำคัญของตัวเลขนี้คือ จีนและไทยมีอัตราความอยู่รอดในการส่งออกสูงกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยและจีนสามารถเข้าร่วมเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศได้ในระดับสูง 

หากพิจารณาอัตราความอยู่รอดในการส่งออก โดยแยกสินค้าอุตสาหกรรมเป็น สินค้าในเครือข่ายระหว่างประเทศ (GPNs) และสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายระหว่างประเทศ (Non-GPNs) พบลักษณะสำคัญคือ สินค้าในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ หรือ GPNs มีความสามารถในการอยู่รอดสูงกว่าสินค้านอกเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ หรือ Non-GPNs และไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงกลุ่มสินค้าอย่างไร จีนและไทยก็ยังเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

ดังนั้น คำถามสำคัญที่ว่าโควิดกระทบต่อความอยู่รอดของการส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด ผศ.ดร.อลงกรณ์ อธิบายว่า จากการศึกษาได้ใช้ cox proportional hazard model ในการวัดความเสี่ยงความล้มเหลวการส่งออก หากค่าสัมประสิทธิ์ต่ำกว่า 1 หมายความว่าโอกาสความอยู่รอดการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่หากค่าสัมประสิทธิ์มากกว่า 1 โอกาสความอยู่รอดจะลดลงตามตัวแปรดังกล่าว 

ในประเด็นนี้ ปัจจัยและองค์ประกอบแวดล้อม อาทิ ประสบการณ์การส่งออก ขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า มูลค่าส่งออกเฉลี่ย สินค้าที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ GPN ข้อตกลง FTA (Free Trade Area) และความง่ายในการประกอบธุรกิจ เป็นตัวแปรที่ส่งผลให้โอกาสความอยู่รอดของการส่งออกเพิ่มขึ้น

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ จากผลการศึกษาพบว่าความง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ส่งผลให้โอกาสความอยู่รอดของการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ 

“ความอยู่รอดในการส่งออกของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค และช่วงโควิด-19 เราไม่พบว่าไทยเผชิญปัญหาความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของการส่งออกอย่างชัดเจน หมายความว่ายังเป็นสัญญาณที่ดีอยู่ แต่ก็ใช่ว่าสัญญาณนี้จะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน” ผศ.ดร.อลงกรณ์สรุป

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์จะยังบ่งชี้สัญญาณที่ดี แต่ผู้ร่วมสนทนาอย่าง วิมล ปั้นคง ตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาข้างต้นยังไม่ได้สะท้อนบริบทภาพรวมว่าประเทศไทยส่งออกไปที่ไหน แนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า โควิดไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย

รัฐต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีให้ผู้ประกอบการ

แม้ว่าผลการศึกษาจะยังสะท้อนถึงสถานการณ์เชิงบวก แต่สภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ย่อมต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ประเด็นนี้ทั้งผู้ศึกษาอย่าง ผศ.ดร.อลงกรณ์ และผู้ร่วมสนทนาอย่างวิมล มีข้อเสนอในทิศทางเดียวกัน โดยเห็นว่าไทยควรมีนโยบายเร่งปรับปรุงและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดอุปสรรค และต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่อาจรุนแรงในอนาคต

“ข้อเสนอตรงนี้มาจากคะแนนรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ในปี 2020 ของไทย ซึ่งแม้ว่าคะแนนโดยรวมค่อนข้างดี โดยอยู่อันดับที่ 21 แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในแต่ละด้านจะพบว่า การค้าระหว่างประเทศ (Trading Across Border) ของเราอยู่ค่อนข้างต่ำ คืออยู่ในอันดับที่ 62 ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซียและจีน” ผศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.อลงกรณ์ มองว่า รัฐควรรีบใช้โอกาสจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น โดยการอำนวยความสะดวกในการยื่นและอนุมัติเอกสารการส่งออกและนำเข้าให้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อวิเคราะห์คะแนนย่อยของ Ease Doing Business แล้ว คะแนนทางด้านการจัดการเอกสารสำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยถือว่าอยู่ระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 

ในขณะที่วิมล กล่าวว่า ITD ได้ศึกษาเรื่อง one stop service พบว่าปัญหาการส่งออกของไทย คือหน่วยงานทุกหน่วยงานล้วนมีกฎหมายของตัวเองทั้งสิ้น เช่น การขออนุญาต เรื่องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี และอื่นๆ ซึ่งมีขั้นตอนรายละเอียดมาก เพราะฉะนั้นกระบวนการส่งออกสินค้าที่มีหลายขั้นตอนเช่นนี้ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

วิมลเสนอว่า รัฐต้องทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้ ลดระยะเวลา เอกสาร ต้นทุน ให้กับผู้ส่งออก เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกมีความสะดวกมากขึ้น 

“ผมคิดว่าปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการส่งออก บางทีอาจไม่ใช่เรื่องของ พ.ร.บ. แต่เป็นปัญหาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนและขาดการเชื่อมโยงกัน เราอยากเห็น one stop service ที่มุ่งเน้นการลดขั้นตอนให้แก่ผู้ส่งออก อย่างเวียดนามไม่ได้แก้กฎหมาย แต่เอาหน่วยงานใกล้เคียงมาอยู่ในตึกเดียวกัน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ เราต้องสร้างระบบที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกมากกว่าแก้กฎหมาย เพราะใช้เวลานาน”

ผศ.ดร.อลงกรณ์ เสนอเพิ่มว่า โดยทั่วไปกรมศุลกากรของไทยใช้เวลาในการดำเนินเอกสารการส่งออกประมาณ 11 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยมีวันหยุดมาก อาทิ วันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออกสินค้า เช่น ผัก ผลไม้ ที่ต้องรีบส่งออก ดังนั้นจึงน่าจะออกแบบช่องทางพิเศษ (fast track) ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก

วิมลร่วมแลกเปลี่ยนโดยชี้ให้เห็นความไม่สะดวกในทางรูปธรรม โดยยกตัวอย่างกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนในช่วงการระบาดระลอกแรก ซึ่งการจะนำสินค้าเข้ามาได้นั้นต้องมีใบอนุญาต และหากหน่วยงานต้นสังกัดไม่ยกเว้น ก็ไม่สามารถปล่อยให้เข้ามาได้ กรณีเดียวกันนี้ ประเทศเกาหลีใต้ได้ออกแบบให้กระบวนการทุกอย่างจบในระบบเดียว ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกใบอนุญาตเองได้ ทั้งยังรับประกันได้อีกว่าสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้ภายในระยะเวลากี่ชั่วโมง แต่กรมศุลกากรบอกได้เพียงว่า เมื่อเอกสารครบจะสามารถปล่อยสินค้าได้กี่ชั่วโมง แต่ไม่มีหลักประกันชัดเจนว่ากระบวนการทางเอกสารทั้งหมดจะสิ้นสุดในกรอบเวลาใด เพราะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละที่จะอนุมัติใบอนุญาต

“ไทยมีมาตรการการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูงมาก เราได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าบางตัวจากเพื่อนบ้านเพื่อมาแปรรูปในบ้านเรา แล้วส่งออกต่างประเทศ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ญี่ปุ่นทำ แล้วเขาย้ายฐานการผลิต เพราะค่าเงินเยนที่แข็งค่า ดังนั้นเราควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมองเพื่อนบ้านเป็นตลาดแห่งโอกาสที่จะสามารถแบ่งขั้นตอนการผลิต โดยใช้อาเซียนเป็นองค์กรในการขับเคลื่อน เพราะหากพูดถึงการส่งออก ต้องมองไปถึงการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับการลงทุน และต้องลงลึกในเรื่องระเบียบกฎหมาย เพื่อหาคำตอบเชิงนโยบายให้มากขึ้น” วิมลเสนอ

ตลาดที่หลากหลาย ช่วยขยายโอกาสการส่งออก

ประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ดร.อลงกรณ์ และวิมล เห็นตรงกันคือ ไทยควรกระจายการส่งออกให้มีลักษณะที่หลากหลาย (market diversification) เนื่องจากการส่งออกของสินค้ารายการใหม่ไทยทำได้ยาก เพราะข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ แต่การขยายและสร้างตลาดที่หลากหลายจะช่วยได้ ทั้งนี้ต้องมีกลยุทธ์หลังโควิด เพราะทุกประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าจะกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ ไทยต้องเลือกตลาดที่มีศักยภาพ และมีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ 

วิมลชี้ว่า คำถามสำคัญของการส่งออกคือ ตลาดของเราอยู่ที่ไหน ซึ่งในความเป็นจริงตลาดการส่งออกโลกสลับอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ EU อเมริกา จีน และอาเซียน ซึ่งเขาเห็นว่าไทยควรสนใจอาเซียนเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อตกลงที่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุด และอาเซียนมุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคที่มีฐานการผลิต และเป็นตลาดเดียวกัน

ทั้งนี้ วิมลเสนอว่าควรมีการขยายตลาด กล่าวคือตลาดส่งออกของไทยเป็นตลาดที่ไทยทำการค้าเสรี FTA (Free Trade Area) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยได้เปรียบ หมายความว่า สินค้าที่ไทยส่งออกได้การลดภาษี อย่างอาเซียนกับจีน อาเซียนกับเกาหลีใต้ ไทยกับญี่ปุ่น หรือไทยกับออสเตรเลีย แต่ไทยยังไม่มีคู่ค้า FTA อย่าง EU และอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ จึงอาจเป็นความเสี่ยงที่หากในอนาคตประเทศคู่แข่งของไทยลงนามในความตกลงเหล่านี้ได้ แต่เมื่อไทยไม่ได้อยู่ในเวทีการค้านี้ก็จะกระทบต่อความสามารถในการส่งออกได้เช่นกัน 

ดังนั้นการที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ วิมลมองว่าต้องเน้นทั้งการนำเข้าและการส่งออก เพราะการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย 

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญของการค้าระหว่างประเทศที่ยั่งยืน คือการลดมาตรการกีดกันทางการค้า เน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้การซื้อขายง่ายขึ้น และต้นทุนต่ำลง 

วิมลตั้งข้อสังเกตจากงานศึกษาของ ผศ.ดร.อลงกรณ์ ว่า เวียดนาม จีน และไทย มีการกระจายการส่งออกที่ดี โดยพบว่าจีนมีอัตราการอยู่รอดที่โดดเด่นมาก ส่วนไทยกับมาเลเซียใกล้เคียงกัน เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชาใกล้เคียงกัน จึงแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ซึ่งหมายถึงการอยู่รอดของเพื่อนบ้านในอาเซียนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ 

“การที่มาเลเซียมีโอกาสเติบโตในห่วงโซ่การผลิตโลก เราก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะเราส่งออกน้ำยางข้นไปที่มาเลเซีย จากนั้นมาเลเซียเอาน้ำยางข้นไปผลิตเป็นถุงมือยาง เพราะฉะนั้นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ถ้าเวียดนามโต มาเลเซียโต เราก็ได้ประโยชน์จากการเติบโตนั้นด้วย เพราะเวียดนามโตเรื่องสิ่งทอ เรามีนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามและนำเข้าผ้าผืนจากบ้านเรา เพื่อไปทำบางขั้นตอนการผลิตในเวียดนาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นมากในปัจจุบัน”

ดังนั้นวิมลจึงเสนอว่า ไทยควรกระจายตลาดให้กว้างขึ้น และรัฐมีหน้าที่ให้เอกชนใช้ FTA เป็นตัวนำ

 “การกระจายการส่งออกมีความจำเป็นอยู่ แต่ควรเน้นกระจายตลาด เช่น เวียดนาม เหตุผลที่ทำให้สินค้าเวียดนามอยู่รอดได้ เพราะมีตลาดที่หลากหลาย มี FTA มากกว่าเราหลายประเทศ เขาทำ FTA กับ EU และอเมริกา เพราะฉะนั้นตลาดจึงกว้างและขายได้มากกว่าเรา” 

กระจายรายได้และทำในสิ่งที่ชำนาญ คือความยั่งยืน

จากข้อคิดเห็นต่อเนื่องของวิมลที่มองว่าตลาดโลกกระจุกตัวอยู่ไม่กี่แห่ง สิ่งที่เขาเสนอคือ การขยายตลาดไปภูมิภาคอื่นๆ

หนึ่ง อาเซียน เพราะเป็นในภูมิภาคที่ใกล้ไทย

สอง ไทยมีคู่ค้า FTA น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นต้องเร่งร่วมมือกับประเทศใหม่ๆ เช่น ประเทศในเอเชียใต้ อย่างอินเดีย บังคลาเทศ แม้จะมีรายได้ไม่สูงนักต่อหัว แต่แน่นอนว่ามีผู้รับซื้อ ขณะเดียวกันวิมลเชื่อว่าการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมสามารถเป็นตัวช่วยในการขยายการส่งออกได้ เพราะความต้องการของผู้บริโภคกำหนดขึ้นจากรายได้และรสนิยม 

“ตลาดกระจุกตัวอยู่ใน EU อเมริกา จีน ดังนั้นถ้าเราให้ความสำคัญตลาดที่ใกล้ตัว จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และต้องเรียนรู้ผลกระทบจากโควิดที่ทำให้เกิดการ disrupt การขนส่งกระทบการส่งออกมาก เพราะฉะนั้นทุกประเทศต้องเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

ดังนั้นสำหรับเขาแล้วจึงอยากให้มุ่งเน้นการขยายตลาดก่อน โดยสินค้าที่ควรเน้น คือสินค้าที่ผลิตด้วยวัตถุดิบในประเทศที่จะนำไปสู่การจ้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอย่างอาหารและเกษตรแปรรูป

“การส่งออกของไทยหลักๆ คือยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ห่วงโซ่การผลิต อาจทำให้การส่งออกเติบโตได้ดี แต่ถามว่าผลตอบแทนตกอยู่ที่ใคร ในขณะที่คนไทยเก่งด้านเกษตรแปรรูป เรามีศักยภาพในการจัดการ และมีชายแดนติดกับหลายประเทศ มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม เราเข้าใจกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ประโยชน์จากการเติบโตของห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้ ผมไม่เชื่อว่าถ้าเราส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น จะช่วยให้คนไทยรวยขึ้น” วิมลกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย ITD ชี้ว่า การเติบโตของห่วงโซ่อุปทานอาเซียนในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้ประโยชน์มากที่สุด ในแง่ของความแตกต่างโดยรวมระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย (margin) และในแง่ของมูลค่าเพิ่ม เพราะญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เป็นเจ้าของแบรนด์ เพราะฉะนั้นสินค้าที่ไทยจะพัฒนาเพื่อสร้างห่วงโซ่ในภูมิภาคนี้ได้ ITD พบว่าสินค้าที่ไทยเก่ง คือสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพราะไทยมีจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีการแปรรูปที่ราคาไม่สูง และเหมาะสมในการปรับใช้กับภูมิภาคเพื่อนบ้าน 

ดังนั้นการสนับสนุนให้มีการส่งออกยานยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดการ disrupt ของเทคโนโลยีได้ อีกทั้งเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน ถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลให้ SME หลายรายต้องเลิกกิจการไป เพราะไม่ได้อยู่ใน supply chain ใหม่ 

“ผมอยากให้มองสิ่งที่เราได้ประโยชน์ จุดแข็งในการส่งออกของเราคือการเกษตร เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารมีความสำคัญมากในอนาคต อาหารที่ปลอดภัย อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของเราที่จะส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ 

“แม้ว่าการวัดมูลค่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ซึ่งมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูป หรืออาหารแต่ละชิ้นอาจไม่มากเหมือนยานยนต์ แต่ผมเชื่อว่าเรามีความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และมีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดขาย เพราะฉะนั้นผมอยากให้มีการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่การแปรรูปสินค้าเกษตร แล้วมุ่งเน้นการตอบโจทย์โลกใหม่ที่เน้นสุขภาพมากขึ้น แม้อาจไม่ได้เติบโตมาก แต่จะนำไปสู่การกระจายรายได้มากกว่า”

บันทึกงาน EconTU Symposium ครั้งที่ 43
สนับสนุนโดย

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า