สงครามการค้าจีน-สหรัฐ บนหัวใจเสรีนิยมใหม่

สหรัฐเคยเป็นประเทศที่ยึดกุมหัวใจสำคัญของหลักเสรีนิยม รวมถึงการเปิดการค้าเสรีมาตลอด สถานการณ์การปะทะกันล่าสุด ทันทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 25 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ส่งผลให้จีนโต้ตอบด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 15-25 เปอร์เซ็นต์ กว่า 128 รายการ รวมมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งท่อเหล็ก เศษอะลูมิเนียม ผลไม้ เนื้อหมู ไวน์ ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นพิเศษภาคการเกษตรในสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มลงคะแนนให้ทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2559* เกิดเป็นการโต้ตอบทางมาตรการขึ้นภาษีไปมาระหว่างกันจนมาถึงต้นเดือนเมษายน

คำถามคือ จากประเทศที่ยึดหัวใจการค้าเสรีทำไมจึงเปลี่ยนนโยบายมาตั้งกำแพงทางภาษีเพื่อกีดกันการค้าเสรีโดยตัวมันเอง

เพื่อตอบคำถามถึงสถานการณ์การตอบโต้ทางภาษีที่อาจนำไปสู่สงครามการค้า รวมไปถึงการมองแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไป ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดงานอภิปรายวิชาการในประเด็น ‘จีน VS สหรัฐ 2018’ โดยได้เชิญ รองศาสตราจารย์สมภพ มานะรังสรรค์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา และ ศาสตราจารย์กิตติคุณไชยวัฒน์ ค้ำชู มาร่วมสะสางที่มาที่ไปผ่านประวัติศาสตร์การก่อตัวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกของสหรัฐและจีนกำลังดำเนินรอยตาม จนถึงจุดที่จีนก้าวกระโดดอย่างยิ่งใหญ่ กลายเป็นความคาดหวังของทั้งโลกในฐานะผู้รับไม้ต่อผู้เชิดชูแนวทางการค้าเสรีอย่างชนิดกลับตาลปัตรจากเมื่อแรกที่ทั้งสองประเทศก่อตั้ง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจานย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาคนปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ

รองศาสตราจารย์สมภพ มานะรังสรรค์

7 ปัจจัยสู่มหาอำนาจโลก

อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาเริ่มต้นด้วยการเท้าความกลับไปยังยุคสมัยของการสร้างชาติสหรัฐอเมริกา หลัง อับราฮัม ลินคอล์น รวมประเทศเป็นหนึ่งระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้สำเร็จ ปัจจัยที่นำพาชาติสหรัฐอเมริกาจากยุคนั้นมาจนถึงยุคที่กลายเป็นมหาอำนาจของโลกทุกๆ ด้านอย่างในปัจจุบันนั้น มีเจ็ดปัจจัยที่นำไปสู่ผลสำเร็จและจีนได้ดำเดินรอยตามดังนี้

“สหรัฐพัฒนาอย่างมากสมัยที่สงครามกลางเมืองผ่านพ้นไป ประมาณปี 1865-1866 เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว เขาระดมสร้างทางรถไฟทั่วทั้งประเทศ อเมริกาเคยมีทางรถทั่วทั้งประเทศ 300,000 กว่ากิโลเมตร แต่จีนที่พัฒนาขึ้นมาได้ 10 กว่าปีมีทางรถไฟทั่วประเทศตอนนี้แค่ 100,000 กว่ากิโลเมตร แต่ประชากรจีนเขามีมากกว่าอเมริกาห้าเท่า เพราะฉะนั้นเขาถึงยังสร้างทางรถไฟอยู่จนถึงทุกวันนี้ไงครับ”

1. การพัฒนาระบบขนส่ง (Transportation Development)
2. การพัฒนาระบบการสื่อสาร (Communication Development)
3. ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับตลาด (Market Friendly Economy)
4. การพัฒนาการคลัง (Financial Development)
5. การพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ (Technological Development, Mechanical Technology, Biotechnology, Information Technology, Nanotechnology)
6. ความมั่นคงทางการเมือง (Political Stability)
7. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)

“เพราะฉะนั้น Transportation Development จึงเป็นปัจจัยในการสร้างชาติ เพราะอะไรครับ เพราะเมื่อสร้างทางรถไฟไปที่ไหน มันก็เกิดเมือง เกิดคำว่า urbanization”

สมภพอธิบายต่อว่า เมื่อเกิดเมือง ผู้คนในสหรัฐก็เริ่มเติบโตในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นจำนวนสัดส่วนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 1900 ขณะที่จีนเริ่มปรากฏคนเมืองเพิ่งขึ้นมากกว่าในชนบทในปี 2000 ซึ่งห่างกันราว 100 ปี ตัวเลขประชากรในเมืองปัจจุบันของจีนอยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์

สมภพอธิบายต่อในปัจจัยข้อที่สองเรื่องการสื่อสาร ซึ่งสมภพมองว่าจะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐนับจากนี้เป็นต้นไป

“เพราะรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ตอนนี้สั่งให้บริษัทที่ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่เก่งๆ ทั้งหลายขายชิปดีๆ ให้แก่จีน เช่น Huawei โดยมองว่าจีนมีพัฒนาการของพวกอินเทอร์เน็ตรวดเร็วเหลือเกิน พวก AI ย้อนกลับไปดูที่อเมริกา ขณะที่เขาสร้างสายโทรเลขเคียงคู่ทางสร้างทางรถไฟ เกิดเป็นการขนส่งที่ทำให้ฝ่ายเหนือได้เปรียบในสงครามกลางเมือง คุณจึงส่งข้อมูลข่าวสารทางการบัญชาการรบได้รวดเร็วไปพร้อมๆ กัน”

ปัจจัยข้อที่สามที่ทำให้อเมริกาเป็นหัวหอกในเรื่องการค้าเสรีคือ เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อตลาด ซึ่งเมื่อเทียบกลับไปยังยุคคอมมิวนิสต์ของ เหมาเจ๋อตง แล้ว เศรษฐกิจในปัจจุบันของจีนเป็นการตลาดเสรีที่สวนทางกับแนวทางของอดีตของพรรค และเมื่อทำตลาดแล้ว ปัจจัยต่อไปของการพัฒนาจีน หรือ China’s Development คือเรื่องของการเงิน ก่อนจะมาสู่ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐครั่นคร้ามจีนในปัจจุบันมากที่สุด คือเรื่องการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้วยเลข 2.1 ของ GDP ซึ่งจีนมีมากกว่าล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่ประเทศไทยมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ ซึ่งขนาดเทียบกันไม่ได้เลย

ปัจจัยข้อต่อมา Political Stability ตัวนี้สำคัญมากเพราะอะไรครับ เพราะเมื่อจีนแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้นำสามารถดำรงตำแหน่งโดยไม่มีวาระ มันจะเป็นยังไง อันนี้ผมตั้งคำถามไว้นะครับ และตัวสุดท้าย ตัวนี้สำคัญมาก และอาจจะสำคัญมากที่สุดด้วย คือคุณภาพของคน คนคือ key factor ที่นำไปสู่การไขประตูในทุกเรื่อง ฉะนั้นจีนจึงปฏิรูปการศึกษาอย่างหนัก ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งคนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ

ปัจจัยของการสงบศึก

ก่อนจะไปสู่คำถามเรื่องการขึ้นภาษีระหว่างสองประเทศที่จะนำไปสู่สงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่นั้น สมภพกลับไปทบทวนการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำคณะทำงานไปประชุมกับตัวแทนการค้าที่ประเทศจีน โดยมีวาระสำคัญๆ คือภายในปี 2020 จีนต้องลดการได้เปรียบดุลการค้าลงไปที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ล้านดอลลาร์ แต่จีนบอกว่าตัวเลขที่แท้จริงคือ 280,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความแตกต่างทางด้านมุมมอง แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธแน่นอนคือ จีนในปัจจุบันเกินดุลการค้าสหรัฐ จนนำมาสู่มาตรการโต้ตอบด้วยการขึ้นภาษีสินค้าของตัวสหรัฐเอง

“คำถามคือทำไมต้องปี 2020 ปีนั้นเป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่หรือเปล่าครับ ผมไม่พูดต่อนะครับ แล้วขณะเดียวกันภายในกลางปี 2019 นี้ คือในเดือนมิถุนายนต้องลดลงมาให้ได้ 130,000 ล้านดอลลาร์

“เรื่องที่สอง คือสหรัฐให้ทางการจีนไปกำหนดสินค้าออกมาว่าสินค้าตัวไหนที่ต้องการปกป้องเพื่อจะเปิดการค้าเสรีกับจีนภายในเดือนกรกฎาคมนี้เอง เพื่อสหรัฐจะได้รู้ว่าสินค้าตัวไหนที่สหรัฐจะสามารถส่งมาขายได้”

ข้อกำหนดที่สองนี้ สมภพวิเคราะห์ผ่านกรอบการพิจารณาของคณะกรรมการการค้าของสหรัฐที่จะใช้เวลาในการพิจารณารายชื่อที่ทางการจีนส่งมาเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งคือราวเดือนตุลาคม ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวไว้ว่าจีนจะต้องเลิกใช้คำว่า made in china ภายในปี 2025

“ขณะที่ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ทางการจีนก็ตั้งเป้าให้ตัวเองในปี 2025 ด้วยเหมือนกัน คือการผลิตอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้พวก AI เข้ามา ตัวที่สองคือพวกโรบอต ตัวที่สามคือ semiconductor (สารกึ่งตัวนำ) เพราะในตอนนี้จีนนำเข้า semiconductor เฉพาะปีที่แล้ว 260,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของ semiconductor ทั่วโลก แต่จีนประเทศเดียวนำเข้า ฉะนั้นจีนจึงเร่งพัฒนาตรงนี้ เพราะรู้ว่าต่อไปพวกเทคโนโลยีพวกนี้ หัวใจหลักสำคัญ หรือมันสมองสำคัญ ทั้งหมดอยู่ที่ชิปคอมพิวเตอร์”

ข้อต่อมาเป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายของจีนในปี 2025 คือการพัฒนาในเรื่อง AI ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้า จีนจะนำหน้าสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด โดยมีปัจจัยจากการตื่นตัวของประชากรจีนในเรื่องไอที

นอกจากนี้ สมภพยังอธิบายไว้ตั้งแต่การตั้งเป้าหมายไปที่การมีรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ เรื่อง bit coin การสำรวจทางทะเล การสำรวจอวกาศ และการสำรวจทะเลลึก โดยทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของจีนที่จะบรรลุให้ได้ในปี 2025

ศาสตราจารย์กิตติคุณไชยวัฒน์ ค้ำชู

ทั้งหมดนี้ส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน

ที่ปรึกษาใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนไม่ได้อยู่ที่เรื่องการค้าและเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังสอดแทรกประเด็นในเรื่องการทหารเอาไว้ด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดสภาวะตึงเครียดทางการทหารระหว่างกัน

ประเด็นต่อมาที่สหรัฐยื่นข้อเสนอไปยังจีน คือเรื่องข้อกำหนดที่บริษัทของสหรัฐซึ่งเข้าไปเปิดการค้าในจีนจะต้องเปิดเผยเทคโนโลยีของตนให้แก่จีนด้วย โดยในมุมสมภพวิเคราะห์จีนต่อท่าทีสหรัฐว่าจะให้จีนไปเป็นจับกังทางเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองขึ้นมา

คำถามต่อไปของสมภพคือ ก่อนเดือนกรกฎาคมที่จะถึง สหรัฐที่เคยประกาศว่าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุลกับจีนนั้น จะมีการเก็บจริงหรือเปล่า

สมภพวิเคราะห์โดยอิงจากสองปัจจัยภายในของจีนเอง คือ หนึ่ง-การแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในวาระได้อย่างไม่มีกำหนด

“ลองนึกภาพดูสิครับ เมื่อมีอำนาจมากขนาดนี้แล้ว ถ้าประธานาธิบดีจีนถอย คนจีนจะรู้สึกยังไง”

ข้อที่สอง จากการวิเคราะห์ของสมภพ คือโลกคาดหวังให้จีนเป็นผู้ปกป้องการค้าเสรีผ่านภาคีทางการค้าในระดับสากล หากจีนยอมหรืออ่อนข้อให้กับสหรัฐ ‘สายตา’ จากนานาชาติที่มองมายังจีนจะเป็นอย่างไร

สองปัจจัยนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามต่อการเจรจาก้าวต่อไปของสงครามการค้าสหรัฐและจีน

ทว่าทั้งสองปัจจัยนี้เป็นปัจจัยในเชิงสถานภาพความเป็นผู้นำของทั้งตัว สีจิ้นผิง ในฐานะประธานาธิบดีของจีนเอง และจีนในประเทศที่กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยอีกสามข้อต่อมาเป็นปัจจัยในเชิงได้เปรียบทางการค้าที่สมภพวิเคราะห์ไว้

ปัจจัยแรก คือการนำเข้าถั่วเหลืองของจีนจากสหรัฐปีละ 30 กว่าล้านตัน จากทั้งหมด 10 รัฐ โดยแปดรัฐเป็นฐานเสียงของทรัมป์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และกลายเป็นคะแนนเสียงสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

ปัจจัยข้อต่อมาคือเรื่องหุ้น ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในสหรัฐเอง (และรวมถึงไปถึงในทางการเมืองด้วย) มากกว่าจีน ขณะที่ปัจจัยต่อที่สามคือตลาดพันธบัตรของสหรัฐ ที่มีอัตราการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

“3 เปอร์เซ็นต์ถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก เพราะอะไรครับ เพราะว่าดอกเบี้ยระยะสั้นมันอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ามันขึ้นมาเกือบเท่าตัวหนึ่ง เมื่อมันเกิดสภาพแบบนี้แล้ว อเมริกาจะปล่อยไว้ไม่ได้ เพรามันจะเกิดการเก็งกำไรจากการกู้เงินระยะสั้นไปเก็งกำไรระยะยาว ฉะนั้นอเมริกาก็ต้องพยายามหาทางปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นไป

“แล้วคุณคิดดูสิว่าตอนนี้ตลาดหุ้นมันก็เกิดผลกระทบอยู่แล้วจากมาตรการขึ้นภาษีที่อาจจะกลายเป็นสงครามการค้า แล้วพอเกิดการปั่นป่วนของตลาดพันธบัตรที่จีนถือพันธบัตรสหรัฐอยู่ที่ 1.2 ล้านดอลลาร์ ถ้าเกิดจีนปล่อยขายมาสักส่วนหนึ่ง หรือถ้าปล่อยข่าวว่าจะขายจะเกิดอะไรครับ ราคาพันธบัตรมันก็จะยิ่งร่วง ดอกเบี้ยก็อาจจะพุ่งขึ้นไปที่ 4 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสามเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้อาจจะทำให้การเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นไปได้ง่ายขึ้น”

ทฤษฎีกับดักของ Thucydides เพื่อจัดระเบียบโลก

“ลักษณะความสัมพันธ์ของโลกมันเป็นระบอบอนาธิปไตย”

ไชยวัฒน์ ค้ำชู มองต่อในประเด็นต่อไปของบทบาทของทั้งสหรัฐและจีน โดยอ้างอิงจาก Thucydides นักปรัชญาชาวกรีกผู้เขียนตำราความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล่มแรกของโลกเมื่อกว่า 2400 ปีก่อนคริสตกาล โดยหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การวิเคราะห์ว่าในยุคสมัยนั้น สปาตาร์เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่นครรัฐกรีกผงาดขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐของสปาตาร์ ซึ่งเปรียบไปแล้วก็เหมือนบทบาทของจีนกับสหรัฐในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์กิตติคุณไชยวัฒน์ ค้ำชู

“นครรัฐสปาตาร์จึงมีความกังวลว่านครรัฐเอเธนส์จะมาทำลายความเป็นผู้นำของตนเอง ความกลัวระแวงกันและกัน ในที่สุดก็ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กัน”
สิ่งที่ไชยวัฒน์มองโดยอิงจากงานของ Thucydides คือประเทศต่างๆ ที่พอมีอำนาจขึ้นมาก็จะเกิดการแข่งขันจนนำไปสู่ความหวาดระแวงว่าหากอีกฝ่ายจะเอาชนะตนเองได้เมื่อไหร่ สงครามจะเกิดขึ้นในที่สุด

“และสงครามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตของประเทศมหาอำนาจ คือการทำสงครามเพื่อจะจัดระเบียบโลกไปในแนวทางที่ตนเองได้ประโยชน์”

ประเด็นต่อมา ไชยวัฒน์อ้างอิงงานของ จอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) จากปกหลังของหนังสือที่ชื่อ The Tragedy of Great Power Politics ไว้ว่า

“…The international system is anarchic with no one in charge to enforce the rule…The aim of each great state is to maximize its share of world power especially powerful states usually pursue regional hegemony…China will pursue regional hegemony as the matter of course…”

จากทฤษฎีของนักปราชญ์กรีกคือการจัดระเบียบของโลก เมื่อเกิดมหาอำนาจขึ้นมามากกว่าหนึ่ง มีลักษณะเป็นอนาธิปไตยที่ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถควบคุมระเบียบโลกไปได้ตลอด จนมาถึงคำกล่าวในปกหลังของเมียร์ไชเมอร์ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อ สีจิ้นผิง ในคราวเยือนมลรัฐซีแอตเทิลสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อเดือนกันยายน 2015 และ สีจิ้นผิง ได้ตอบกลับโดยกล่าวว่า

ไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่า Thucydides trap ในโลกนี้ แต่ถ้าผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่ทำผิดแล้วผิดอีกในอดีตไปคำนวณความผิดพลาดทางด้านยุทธศาสตร์ พวกเขานั่นแหละจะสร้างกับดักให้กับตัวเอง

“คือง่ายๆ สีจิ้นผิง กำลังเตือนประเทศมหาอำนาจด้วยกัน ไปคิด ไประแวง แล้วนี่คือหายนะที่เกิดขึ้นในอดีตระหว่างประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจจะต้องมีความสัมพันธ์แบบใหม่ ไม่เหมือนยุคที่ผ่านมาในอดีต ต้องร่วมมือกัน ต้องเอื้ออาทร เข้าใจกัน พัฒนา ก้าวหน้า ไม่มีใครข่มใคร ไม่มีใครข่มเหงใคร แล้วก็ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เท่าเทียมกัน”

มหาสมุทรแปซิฟิคมันใหญ่พอสำหรับเราสองประเทศ

นั่นเป็นคำกล่าวที่ สีจิ้นผิง เอ่ยไว้กับ บารัค โอบามา ก่อนประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐจะอำลาจากตำแหน่ง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า