อาร์ม ตั้งนิรันดร: ขงจื้อในตลาดจีน

เจ้าของเสียงในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มใหม่หมาดปกสีแดงชื่อ China 5.0 มีคำโปรยว่า ‘สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI’ ที่ไม่เพียงอธิบายคอนเซ็ปต์คร่าวๆ ด้านในเล่ม แต่น่าจะบอกนัยสำคัญอันสื่อว่าหนังสือเล่มนี้ คือแผนที่ชิ้นล่าสุด สำหรับนักเดินทางบนหน้ากระดาษ ผู้ไม่นิยมทิ้งขว้างความรู้ใหม่

คล้ายๆ คำกล่าวที่ว่า หากปรารถนาเข้าใจโลกปัจจุบัน เราไม่อาจให้อภัยตนเองสำหรับการละเลยจีนศึกษา โลกที่จีนกลายเป็นวิชาบังคับ ไม่ใช่วิชาเลือก

เขา-เราหมายถึงผู้เขียน เปรยอย่างติดตลกหลังการพูดคุยในบ่ายแก่หนึ่ง

“มีคนกระซิบมาว่า เป็นหนังสือที่ทางการจีนอาจไม่ค่อยชอบใจเท่าใดนัก (หัวเราะ)”

แต่ความรู้ก็คือความรู้ และ อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรากำลังกล่าวถึง ก็เป็นคนหนุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องจีนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้

ปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปริญญาโทจาก Harvard Law School และ Stanford Law School สนใจด้านกฎหมายจีน กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ทั้งยังเป็นเจ้าของทัศนะในบทความเกี่ยวกับจีนมากมายที่เขียนได้รื่นรมย์ยิ่ง ยกตัวอย่างชื่อบทในเล่มที่เราอ้างอิงถึงไปตอนต้น อาทิ ‘ทำไมสีจิ้นผิงต้องรวบอำนาจ?’ หรือ ‘เคล็ดวิชารักษาอำนาจด้วยกองทัพนักโพสต์’ กระทั่ง ‘เมื่อจีนเป็นเจ้าของนิวยอร์ก’

น่าสนใจเสียแล้วสิ ทว่าแผ่นดินจีนกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 เราเริ่มต้นปักหมุดเล็กๆ ไปที่ภาพจำแรกเมื่อคนไทยพูดถึงเมืองจีน นั่นก็คือ ‘สินค้าปลอม’ ก่อนขยายไปสู่อาณาเขตของความรู้อันแสนสนุกและหลากหลาย

แล้ว ‘ขงจื้อ’ กับ ‘ตลาด’ ล่ะ เกี่ยวอะไรในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

Part 1:

จากเก๊เซินเจิ้นสู่มังกรนวัตกรรม

ชื่อเมืองที่คนไทยนิยมหยิบยกไปห้อยท้ายนาม เพื่อขยายถึงความไม่แท้ ไม่จริง กระทั่งดูยังไงก็ไม่เหมือน-อย่าพยายามเลย อดีตหมู่บ้านชาวประมงสภาพความเป็นอยู่ยากจนอย่าง เซินเจิ้น’ ได้ถูกนับใหม่บนกระดานเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันว่าคือ Silicon Valley of Asia เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในด้านต่างๆ สู่เมืองที่มีความโดดเด่นทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของจีน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ให้ข้อมูลเพิ่มอีกนิด โทรศัพท์ HUAWEI ก็มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นี่ รวมถึง DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของโลก

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนรายงานว่า จีนอยู่ในช่วงการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะห้าปี ฉบับที่ 13 มีจุดมุ่งหมายในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงินของโลก ภายใต้แผนดังกล่าว นโยบาย Made in China 2025 ก็คือการกระตุ้นขีดความสามารถด้าน ‘นวัตกรรมและเทคโนโลยี’

นิตยสารชั้นนำเกี่ยวกับนวัตกรรมและธุรกิจยุคใหม่ Fast Company เคยจัดอันดับ 10 สุดยอดบริษัทนวัตกรรมจีน หนึ่งในนั้นมี search engine ชื่อคุ้นหูคือ BAIDU (ปักกิ่ง) เป็น 1 ใน 50 บริษัทผู้ผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีอิทธิพลของโลก จากอันดับของ MIT Technology Review

มูลค่าบริษัท FinTech ยูนิคอร์น (กิจการ Financial และ Technology ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์) ของจีน ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 964,000 ล้านดอลลาร์ มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นข้อมูลที่เว็บไซต์ brandbuffet ระบุไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2017

บทสัมภาษณ์ส่วนแรกนี้ พาคุณไปทำความเข้าใจเส้นทางและวิวัฒนาการอันน่าทึ่งดังกล่าว ผ่านสินค้าปลอมจากประเทศจีน

นอกจาก แจ็ค หม่า แห่ง Alibaba และอำนาจอันมหาศาลของ สี จิ้นผิง เมื่อเอ่ยถึงประเทศจีน ภาพลักษณ์ที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้น ‘เมกะแห่งสินค้าปลอม’ สาเหตุหลักๆ ที่การรับรู้เรื่องนี้ของคนไทยแข็งแรงมาจากอะไร

ตรงนี้น่าสนใจ คนไทยติดภาพบางอย่างเกี่ยวกับประเทศจีน อาทิ ห้องน้ำสกปรก คนเยอะเสียงดัง และใช่ครับ สินค้าปลอม ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ สมัยก่อนสินค้าปลอมหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากจริงๆ ถ้าถามว่าผลิตจากที่ไหน ส่วนใหญ่ก็จากจีน เวลาไปเที่ยวเมืองจีน สถานที่ซึ่งไกด์ทัวร์มักนิยมพาไป คือตลาดขายของปลอม ไปต่อราคากัน ต้องยอมรับว่ามันติดในความรู้สึกคนไทยมานานแล้ว

ทว่าความจริงอีกด้านที่ไม่อาจละเลย คือจีนเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เข้าสู่ยุคที่ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อจีนซับซ้อนขึ้น ขณะที่ภาพจำหนึ่งเป็นดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังกล่าวถึงจีนว่าเป็นอาณาจักรของความก้าวหน้า มีเทคโนโลยีชั้นสูง มีรถไฟความเร็วสูง ตึกใหญ่โตมโหฬารผุดขึ้นเต็มไปหมด จีนไม่ได้มีแค่มิติสินค้าปลอมอีกแล้ว ยังมีเรื่องของนวัตกรรมมากมาย

ด้วยความที่จีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่มาก ดังนั้น ลักษณะความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างความล้าหลังกับความทันสมัยจึงเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่น่าคิดกว่าสำหรับผมก็คือ เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในไทยกับจีน ไทยเราเปลี่ยนช้า หากมองย้อนกลับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจรู้สึกว่าไม่พบความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ตรงกันข้าม ถ้าใครเคยไปจีนเมื่อ 10  ปีก่อน และไม่ได้กลับไปอีกเลย จะพบความแตกต่างอย่างคาดไม่ถึง

ระหว่าง สินค้าปลอม สินค้าเลียนแบบ และสินค้าด้อยคุณภาพ ในเชิงกฎหมายของประเทศจีนมีความแตกต่างกันอย่างไร

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น คล้ายคลึงกันทุกประเทศ ก็จะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า

อย่างสินค้าเลียนแบบ เลียนชื่อ อย่างไนกี้ แต่เขียนเป็นไนก้า ตกอยู่ในหมวดเครื่องหมายทางการค้า ที่เป็นข่าวจับกุมกันเยอะ

เรื่องเทคโนโลยีจะเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิบัตร เช่น คดีสิทธิบัตรระหว่างแอปเปิลกับซัมซุง ส่วนความลับทางการค้า เกี่ยวเนื่องกับบางอย่างที่เป็นสูตรเฉพาะ เช่น สูตรผสมของน้ำอัดลมต่างๆ

ด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ก็พวกเพลง หนัง ของก็อปปี้ต่างๆ ความผิดตกในหมวดหมู่นี้ โดยสรุปแล้ว ภาพกว้างในทางกฎหมายผมคิดว่าประเทศจีนก็มีระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต่างกับที่อื่น

อาจมีบางประเด็นพิเศษอยู่เหมือนกันที่หลายคนจะเตือนให้ระวัง เช่น จีนถือว่าใครจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าคนแรก ก็มีสิทธิในเครื่องหมายทางการค้านั้น ตรงนี้เราจึงมักได้ยินกรณีคนจีนจดสิทธิบัตรบางอย่างตัดหน้าบริษัทต่างชาติ ตามมาด้วยการเจรจา กระทั่งถึงขนาดต้องซื้อสิทธินั้นจากคนจีน

ส่วนเรื่องสินค้าคุณภาพต่ำ เกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เรื่องผลกระทบด้านความปลอดภัยในการใช้สอย ช่วงไม่นานมานี้ มีการพูดกันมากเรื่องวัคซีนปลอม สมัยก่อนก็มียาปลอม ดูภายนอกเหมือนยาแบรนด์ดังทุกประการ แต่กินแล้วไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาหรืออาจเสียสุขภาพด้วย

‘เซินเจิ้น’ อยู่ตรงไหนในแผนผังการรับรู้เรื่องสินค้าปลอมจากจีน เกี่ยวกับที่เมืองในมณฑลกวางตุ้งแห่งนี้ ถูกวางให้เป็น ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน’ ตั้งแต่ปี 1980 อย่างไร

เซินเจิ้นเป็นเมืองฐานการผลิต หากผู้ประกอบการต้องการสั่งผลิตสินค้าใด ที่เซินเจิ้นสามารถทำเสร็จได้เร็วกว่าทุกประเทศ ยกตัวอย่างของประเภทเดียวกันหากในอเมริกาใช้เวลาผลิตหนึ่งเดือน แต่ที่เซินเจิ้นอาจใช้ไม่ถึงอาทิตย์ เพราะห่วงโซ่ในการผลิตนั้นพร้อมกว่ามาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่สินค้าปลอมอาจถูกสั่งผลิตในเซินเจิ้น

ตอนที่จีนเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นครั้งแรก นำโดยชาวจีนโพ้นทะเลจากฮ่องกง ไต้หวัน และไทยอย่างเครือซีพี เข้าไปสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้า ซึ่งจุดแรกที่เปิดคือเซินเจิ้นที่มีทำเลตั้งอยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกง ส่วนใหญ่ช่วงแรกเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น หมายถึงอุตสาหกรรมค่าแรงราคาถูก ใช้แรงงานเยอะ นักธุรกิจจีนเองยุคแรกๆ ก็เหมือนกัน มักลงทุนในการสร้างโรงงาน และใช้ประโยชน์จากค่าแรงราคาถูกในจีน

จีนเมื่อ 40 ปีที่แล้วเป็นประเทศยากจน ขาดแคลนของใช้ แทบไม่มีกำลังการผลิต เป้าหมายแรกที่เติ้ง เสี่ยวผิงตั้งไว้คือ ต้องปลดปล่อยพลังการผลิต ทำอย่างไรให้มีโรงงานผลิตสิ่งของเพื่อตอบสนองผู้บริโภคในประเทศที่มีจำนวนมหาศาล ด้วยต้นทุนที่ต่ำมากๆ เซินเจิ้นเป็นตัวอย่างแรกๆ ของโมเดลนี้ โดยรับจ้างเป็นโรงงานโลกมาตลอด ส่งผลให้เซินเจิ้นมีระบบห่วงโซ่การผลิตที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ

เดิมคนไทยที่ไปเที่ยวเซินเจิ้นเพราะต้องการช็อปสินค้าปลอม ตอนนี้สายตาในการมองคงต้องต่างออกไป เมืองแห่งนี้เริ่มได้ชื่อว่ามีนวัตกรรมที่สูงมาก กลายเป็นเขตที่ไฮเทคมากของเมืองจีน เป็นเมืองเทคโนโลยีและการผลิต เป็นเมืองที่ผลิตโดรนได้มากและเร็วที่สุดในโลก ใครทำสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการผลิต มีไอเดีย อยากได้เปรียบต้องมุ่งมาที่เซินเจิ้น

ถ้าในสมัยที่จีนเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ เราสามารถใช้คำว่า จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าปลอมของโลกได้ไหม

ใช้ได้ครับ แต่สมัยก่อนพูดว่าจีนเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าปลอม แล้วก็จบ แต่ตอนนี้มันซับซ้อนกว่านั้น ปัจจุบันจีนเป็นทั้งศูนย์กลางของสินค้าปลอมและสินค้าไฮเทค มีทั้งส่วนที่จีนคิดเองหรือต่อยอด เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองด้วย

อีกประเด็นคือ ขนาดของประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นโรงงานโลกที่มีกำลังการผลิตสูง ดังนั้นปริมาณการเกิดสินค้าปลอมย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ในประเทศกำลังพัฒนา อาจมีปัจจัยหลากหลายที่ทำให้มีการผลิตสินค้าปลอมกันทั้งนั้น แต่ขนาดพื้นที่และกำลังการผลิตของจีนใหญ่และสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก

30 ปีก่อนที่บอกว่าจีนขาดแคลนข้าวของ เป็นสินค้าประเภทไหน

สมัยนั้นจีนใช้คำว่า ‘เศรษฐกิจขาดแคลน’ คือขาดแคลนทุกอย่าง ทุนก็ไม่มี กำลังการผลิตก็น้อย สาเหตุทั้งหมดต้องทำความเข้าใจธรรมชาติเดิมของประเทศคอมมิวนิสต์ สมัยก่อนในจีนยุค เหมา เจ๋อตง ทุกอย่างเป็นของรัฐ ทุกคนใส่เสื้อสีเดียวกัน เศรษฐกิจเป็นระบบวางแผน หมายความว่า ‘ไม่มีตลาด’ ทุกอย่างผลิตอยู่ในคอมมูน แตกต่างจากเศรษฐกิจในระบบตลาด ที่อุปสงค์และอุปทานเป็นตัวกำหนดว่า แต่ละโรงงานจะผลิตกันแค่ไหน กำหนดราคาอย่างไร ในจีนสมัยก่อนปฏิรูป รัฐเป็นคนกำหนดปริมาณการผลิตของทั้งหมดและเอามาแจกจ่ายกันในคอมมูน

อุตสาหกรรมการผลิตในสมัยนั้นไม่ได้มีเยอะ เนื่องจากจีนเป็นประเทศเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชนบท ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานเท่าไหร่ ปลูกอะไรเสร็จก็เป็นสินทรัพย์ร่วมของคอมมูน สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัย เหมา เจ๋อตง คือคนกินไม่อิ่ม ยากจนหมด เพราะประชากรขาดแรงจูงใจในการทำงาน มีคนเสียชีวิตเพราะความอดอยากหลายสิบล้านคน โดยทางการจีนรายงานว่าเกิดจากภัยธรรมชาติ

เหมา เจ๋อตง มีความคิดแยกเป็นสองส่วน เน้นความเท่าเทียม กับต้องการให้ประเทศจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วทัดเทียมอเมริกา เหมา เจ๋อตง ดูว่าอเมริกามีอุตสาหกรรมอะไรบ้าง พบว่ามีแต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงๆ อาทิ การต่อเรือ นิวเคลียร์ ถลุงเหล็ก จีนตอนนั้นเลยเป็นภาพที่ค่อนข้างประหลาด ด้านหนึ่งเป็นชนบทยากจน อีกด้าน เหมา เจ๋อตง สั่งให้เริ่มสร้างทุกอย่างที่ว่ามา ซึ่งอุตสาหกรรมของ เหมา เจ๋อตง ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมทุนเข้มข้น จนเป็นสาเหตุของการแบกหนี้สิน แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานมหาศาลอยู่ดี ในขณะที่ภาคเกษตรก็ผลิตผลน้อย เศรษฐกิจทั้งระบบจึงแย่มาก

เติ้ง เสี่ยวผิงเปลี่ยนแปลงประเทศโดยทำให้มี ‘ตลาด’ ขึ้นมา เริ่มปฏิรูปจากบางพื้นที่ก่อน เมื่อเป็นไปตามกลไกตลาด นักธุรกิจก็จะเล็งเห็นว่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตนั้นสร้างกำไรแน่ๆ เพราะค่าแรงจีนถูก จีนเลยกลายเป็นโรงงานผลิตสิ่งของให้แก่โลก ยุค เติ้ง เสี่ยวผิง นั้นถ้าไปค้นดู จีนมองปัญหาหลักของประเทศที่ต้องแก้ไข คือความขัดแย้งระหว่างความต้องการของประชาชน กับการขาดแคลนสิ่งของ ตอนนี้ สี จิ้นผิง เปลี่ยนความคิดนี้ไปแล้ว โดยบอกว่า ตอนนี้เราไม่ขาดแคลนข้าวของแล้ว เราผลิตเยอะเกินด้วยซ้ำ ปัญหาคือของเรายังไม่มีคุณภาพมากพอ

เลยเข้าสู่ข้อหาใหม่ที่ว่า จีนเปลี่ยนจากโรงงานโลกซึ่งผลิตสินค้าปลอมเป็นชิ้นๆ สู่การลอกเลียนนวัตกรรม?

คนจีนเวลาคิดเรื่องเศรษฐกิจอาจแตกต่างจากฝรั่งหรือคนไทย ฝรั่งเวลาถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจคิดอยู่บนพื้นฐานของ ‘กลไกตลาด’ ที่มีประสิทธิภาพ ปรัชญาระบบเศรษฐกิจเสรีคือทำอย่างไรไม่ให้รัฐแทรกแซง ทำอย่างไรเอกชนจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฝรั่งเชื่อว่าถ้ารัฐไม่เข้าไปยุ่งและกลไกตลาดทำงาน ธุรกิจย่อมได้ผลกำไร ทว่าของเมืองจีนเวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจ ผมว่าพวกเขามอง ‘การยกระดับเทคโนโลยี’ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เมื่อพูดถึงการยกระดับเทคโนโลยี เขาจึงมองพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจเป็นขั้นเป็นตอน เช่น จากสังคมเกษตรกรรมแรกเริ่ม พัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรม จากนั้นก้าวต่อไปสู่ภาคบริการและอุตสาหกรรมชั้นสูง จุดชี้วัดของพวกเขาคือการยกระดับเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ อันดับแรกคือการเริ่มผลิตของเยอะๆ อย่างที่กล่าวมา ด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีและทุนจากต่างชาติ ถ้าพูดตามตำราของจีนก็ว่า เป็นการซื้อหรือดึงดูดเทคโนโลยีเข้ามา แต่แน่นอนว่า ความจริงมีทั้งส่วนที่ซื้อ ลอก และก็อปปี้ หรืออย่างใช้กลวิธีร่วมทุนและกดดันจนนักลงทุนต่างชาติ สุดท้ายต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ฝ่ายจีน

ในสมัยเริ่มแรกที่ปฏิรูปเศรษฐกิจ ด้วยช่องว่างของเทคโนโลยีที่กว้างมากระหว่างจีนกับตะวันตก พวกเขาจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ R&D (การวิจัยและพัฒนา) เอง ลำพังแค่ไปเรียนรู้ว่าฝรั่งทำอย่างไรไว้บ้าง ก็นำกลับมาลอกเลียนพัฒนาได้แล้ว เดิมไม่มีเครื่องจักร ก็ไปเอาเครื่องจักรฝรั่งมาผลิต ได้ข้าวของมากกว่าเดิม 30-40 เท่า จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาจนทำได้เอง

เช่น มีหลายภาคอุตสาหกรรมที่ทางการจีนกำหนดว่าต้องเป็นกิจการร่วมทุน ทำไปสักพักพอจีนเรียนรู้แล้ว ฝ่ายจีนก็แตกออกมาทำแข่งเอง ฝรั่งก็อาจเจ๊งกลับไป จีนให้ความสำคัญมากเรื่องถ่ายทอดและยกระดับเทคโนโลยี พอจุดหนึ่งที่ผลิตได้ของคุณภาพเท่าฝรั่ง จึงค่อยเริ่มลงทุน R&D เองต่อ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Haier เป็นตัวอย่างที่ดี

ส่วนไหนของโมเดลนี้ที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับบ้านเรา

เรื่องการยกระดับเทคโนโลยี ก็เป็นแนวคิดยอดนิยมในประเทศไทยในช่วงนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติติดขัดที่กระบวนการไหน เป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้ ไม่อย่างนั้นสุดท้ายเราจะกลายเป็นเพียงผู้บริโภคหรือผู้ซื้ออยู่ตลอด ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้ว่าเรามีการยกระดับเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด อย่างเราทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการลงทุนจากต่างชาติมากๆ แต่เกิดเสียงวิพากษ์ว่าไม่มีการถ่ายโอนหรือพัฒนาเทคโนโลยีเกิดขึ้นเลย ซึ่งก็คงไม่จริง เราเริ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้ แต่เราอาจจะยังผลิตรถยนต์เองไม่ได้

ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เคยมีปัญหาเดียวกันหมด เรื่องขโมยเทคโนโลยีชาวบ้าน แต่จีนโด่งดังที่สุดด้วยขนาดที่ใหญ่ แต่ก็ด้วยขนาดของตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่นี่แหละ ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากที่สุดเวลาต่างชาติจะเข้ามาลงทุน เขาสามารถประกาศได้ว่า ยูเลือกเอาแล้วกัน ว่าจะร่วมทุนกับคนจีนหรือยูจะไม่เข้า ฝรั่งเองก็กดดันมาก ถ้าฉันไม่เข้า คู่แข่งฉันเข้าแน่

จริงๆ อเมริกาในยุคแรกก็เคยถูกอังกฤษชี้หน้าว่าขโมยเทคโนโลยีนะครับ ในยุคแรกๆ มีบันทึกเยอะมากว่าอเมริกาไม่สนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเลย ถ้าย้อนไปสมัยอังกฤษก็มีคนกล่าวหาเหมือนกันว่าขโมยเทคโนโลยีจากเยอรมนีอีกทอด

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า การยกระดับเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถึงขนาดกล่าวกันว่า ประเทศในยุคแรกๆ ล้วนเติบโตด้วยการขโมยไอเดียชาวบ้าน แต่พอถึงจุดหนึ่ง ทุกประเทศก็จะค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครมีแรงจูงใจจะพัฒนาเทคโนโลยีและสินค้าใหม่ๆ ตอนนี้จีนเองก็เดินทางมาถึงจุดที่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เพราะเล็งเห็นประโยชน์ต่อธุรกิจของจีนที่เริ่มทำ R&D เอง

ตอนนี้จีนเริ่มเข้าสู่ห้วงสมัยแห่งการส่งเสริมด้านนวัตกรรม ถ้าไปดูในจีนช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราจะเจอเคสการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก่อนครับ

จากที่เคยมีข่าวว่าคนจีนยังไม่นิยมใช้สินค้าจีน เนื่องด้วยปัญหาด้านคุณภาพ จากนี้แนวโน้มคงดีขึ้นเรื่อยๆ

ใช่ครับ ในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง คนอยากบริโภค แต่ซื้อของแพงไม่ได้ เพราะรายได้ทุกคนต่ำหมด เคยมีการสำรวจพบคนจีนกลุ่มหนึ่งชอบใช้ของต่างชาติด้วยเหตุผลด้านคุณภาพ แต่คนที่บริโภคของพวกนี้ได้นั้น เดิมกลุ่มเล็กนิดเดียว เป็นพวกที่รวยขึ้นมาก่อนในจีน พูดง่ายๆ ว่าสมัยก่อนคนมีเงินในจีนน้อยมาก ได้แก่คนที่มีการศึกษา เรียนเมืองนอก หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดรัฐบาล ได้ที่ดิน ได้ทุนมาทำโรงงาน

แต่ในปัจจุบัน คนจีนโดยทั่วไปรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก สามารถบริโภคของราคาแพงขึ้นได้ ส่วนสินค้าก็มีปริมาณล้นตลาด จึงเริ่มเกิดแรงกดดันให้นักธุรกิจในจีนยกระดับสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง และตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นของผู้บริโภค

คนจีนเดี๋ยวนี้รวยนะครับ เวลามาเมืองไทยจะรู้สึกว่าราคาสินค้าในบ้านเราถูกมาก คนจีนรุ่นใหม่บริโภคตามเทรนด์ ตามแบรนด์ ไม่กี่ปีก่อน GDP ต่อหัวของไทยยังสูงกว่าจีน ตอนนี้เขาแซงหน้าเราไปแล้ว คนทั่วไปรายได้สูงกว่าแต่ก่อนไม่รู้กี่เท่า จีนกว้างใหญ่และหลากหลาย ตลาดของปลอมก็ยังมีครับ พื้นที่ส่วนติดทะเลที่ค่าแรงเคยถูก ตอนนี้ผลิตของไม่ได้แล้ว เพราะค่าแรงแพงขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันภาคตะวันตกก็ยังยากจนมาก และค่าแรงถูกอยู่ จีนก็เริ่มย้ายโรงงานการผลิตจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก

เพลงปลุกใจอย่าง ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ ของเรา ก็ซาบซึ้งสู้เขาไม่ได้เสียแล้ว?

เราจะเทียบกันอย่างไรดีล่ะ คนจีนเลือกซื้อสินค้าจีนอย่างรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์ เพราะพวกเขามีสินค้าเหล่านั้นอยู่ในตัวเลือก เวลาคนจีนเห็นคนญี่ปุ่นมาผลิตรถยนต์ในจีน เขาจะถามว่าทำไมเราไม่คิดผลิตเอง ทำไมต้องพึ่งคนญี่ปุ่น การดูว่าใครทำสิ่งไหนดี แล้วลองคิดหาวิธีทำเลียนแบบบ้าง อยู่ในวิธีคิดดั้งเดิมของจีนเลย

นักวิชาการเคยศึกษาเเละกล่าวถึงการลอกเลียนเเบบว่า ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมขงจื้อ สมัยก่อนคนจีนเก่งที่สุดเรื่องการท่อง อย่างสอบจอหงวนในยุคโบราณ ก็คือการท่องตำราโบราณของขงจื้อ นั่นเป็นการท่องจำล้วนๆ เป็นการเรียนรู้โดยเลียนเเบบ คือธรรมชาติของคนจีนมาแต่ไหนแต่ไร

 

Part 2:

เศรษฐศาสตร์ขงจื้อในสินค้าปลอมจีน

อาจฟังดูเชย แต่ไม่พูดคงไม่ได้ เมื่อ McKinsey Global Institute หน่วยงานรับผิดชอบงานด้านการวิจัยทั้งเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์การเมือง ระบุว่า อังกฤษใช้เวลาราว 150 ปี กว่าที่ GDP ต่อหัวจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 1,300 ดอลลาร์ เป็น 2,600 ดอลลาร์ ส่วนจีนใช้เวลาเพียง 12 ปี

ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 7 ต่อปีของจีน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2018 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ครึ่งปีแรกนั้น GDP ของประเทศเท่ากับ 41.9 ล้านล้านหยวน (ราว 6.28 ล้านล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สามารถรักษาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.7-6.9 ติดกันเป็นไตรมาสที่ 12

ครึ่งปีแรก 2018 ชาวจีนมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว 9,609 หยวน (ราว 1,439 ดอลลาร์) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2017 ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ (per-capita disposable income) ของชาวจีนอยู่ที่ 14,063 หยวน (ราว 2,107 ดอลลาร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ต้นปี 2018 ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสถิติของประเทศจีนเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกีฬาของจีน ในปี 2016 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 295,000 ล้านดอลลาร์) สูงขึ้นจากปี 2015 ถึงร้อยละ 11.1 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านตำแหน่ง กีฬากลายเป็นภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นมากที่สุดของจีน

พูดง่ายๆ ว่าเติบโตสูงกว่า GDP ของจีนที่มีการเติบโตอยู่ราวร้อยละ 6.5 มาพักใหญ่

จีนในรอบ 30 ปืที่ผ่านมา จึงกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าใคร่ครวญ

มีการรวบรวมสัดส่วนของสินค้าปลอมในระบบเศรษฐกิจจีนไว้บ้างหรือไม่

คิดว่าไม่มีใครรู้สถิติจริงๆ ยิ่งในปัจจุบัน ยิ่งเป็นระบบใต้ดินมากขึ้น หมายถึงถ้าคุณต้องการซื้อสินค้าพวกนี้ ต้องไปแหล่งเฉพาะของมัน สมมุติอยากได้ของเลียนแบบกระเป๋ายี่ห้อดังบางยี่ห้อ คุณไป ตลาดรัสเซีย อาจไม่ได้เห็นสินค้ามาวางโชว์หราหน้าร้านแล้ว เพราะจะถูกตำรวจจับ คุณต้องเดินไปถาม และคนขายอาจเอาแคตาล็อกออกมาให้ดู

เล่าให้ฟังเมื่อครั้งผมยังเรียนที่จีนเมื่อ 10 ปีก่อน ตามถนนมีรถเข็นขายหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือปลอม ทุกประเภทเลยนะ ทั้งงานเขียนของฝรั่งหรือของจีนเองก็ยังมี เป็นการปลอมโดยวิธีถ่ายเอกสาร ทำสีและเข้ารูปเล่ม หนังสือยังมีปลอม

การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในบางพื้นที่ของจีนไม่มีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าปลอมเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้มหาศาลในท้องถิ่น เกิดรัฐบาลท้องถิ่นปราบปรามสินค้าปลอมอย่างจริงจัง เศรษฐกิจในพื้นที่ย่อมพังไปด้วย แถมคนที่ถูกปลอมก็มักเป็นแบรนด์ต่างชาติ

แต่ตอนนี้บางพื้นที่ที่เริ่มเจริญขึ้น เราจะเห็นว่าเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดขึ้น เพราะกลายเป็นธุรกิจจีนเองที่เริ่มพัฒนาขึ้นมา แล้วเริ่มถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเองด้วย

ถึงขนาดผลิตหนังสือปลอมออกมาได้ แสดงว่าคนจีนรักการอ่าน?

โอ้! คนจีนชอบอ่านหนังสือครับ ร้านหนังสือนี่เป็นตึกเลย คนจีนชอบเรียน ชอบอ่าน สมัยนั้นพวกนักเรียนต้องการหนังสือราคาถูก หรือหนังสือฝรั่งที่กำลังเป็นที่นิยม ของแท้มันแพง สินค้าแบบนี้จึงมีตลาด

อุตสาหกรรมของปลอมอื่นๆ ที่ใหญ่กว่ามากๆ เราต้องดูว่าความต้องการมาจากไหน หนึ่ง-นักท่องเที่ยว หรือสอง-ส่งออกไปประเทศอื่นด้วย ยกตัวอย่างไทย และในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีตลาดรองรับสินค้าปลอมราคาถูกอยู่

สินค้าปลอมเกี่ยวข้องกับการเติบโตของ GDP ในประเทศจีนมากน้อยแค่ไหน

จีนเติบโตด้วย GDP ซึ่งหมายถึงผลผลิตมวลรวมของประเทศ กำลังการผลิตที่สูงขึ้น ย่อมทำให้ GDP สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ยุคหนึ่งเป้าหมายของทุกมณฑลคือทำอย่างไรให้ตัวเลขการผลิตสูงที่สุด วิธีอย่างง่ายคือการลงทุน สร้างสะพาน สร้างรถไฟ สร้างตึก รวมถึงโรงงานทั้งหมดที่ผมกล่าว และคิดว่าพวกเขาไม่แคร์ด้วยว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าประเภทไหน

พูดอ้อมๆ ได้ว่า การผลิตของปลอมเป็นฐานหนึ่งของการพัฒนาประเทศ อยู่ในเป้าหมายใหญ่ของจีนในการทำให้ตนเป็นประเทศอุตสาหกรรมและปลดปล่อยพลังการผลิต แต่เมื่อไรก็ตามที่ของปลอมหรือของด้อยคุณภาพราคาถูกกลายเป็นข่าวฉาว ทางการจีนจึงค่อยออกมาจัดการ เช่น ช่วงหนึ่งมีข่าวคนให้ลูกกินนมปลอมหรือนมคุณภาพต่ำแล้วเสียชีวิต ส่วนถ้าเป็นประเด็นก็อปปี้เทคโนโลยีมันมีหลายระดับมาก ต้องดูกันเป็นกรณีๆ ไป

เกี่ยวเนื่องไปสู่การจ้างงาน?

แน่นอนครับ ที่ผมพูดถึงว่าสมัยก่อนแต่ละพื้นที่ไม่มีแรงจูงใจในการปราบปรามสินค้าปลอมนั้น เพราะกระทบการจ้างงานด้วย โรงงานที่ใช้แรงงานราคาถูก เป็นที่ดูดซับแรงงานจำนวนมากที่สุด ระบบศาลหรือการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ต้องการให้เข้าเนื้อตัวเอง มีแต่ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ใดก็ตามที่เริ่มยกระดับธุรกิจตนเอง แล้วคนจีนลอกเลียนกันเองเริ่มส่งผลเสียให้เห็น เมื่อนั้นแรงจูงใจในการบังคับใช้กฎหมายถึงเกิดขึ้น

อาจารย์เคยเขียนระบุว่า สินค้าด้อยคุณภาพของจีนจับเฉพาะตลาดล่าง รบกวนขยายความคำว่า ตลาดล่าง

สมัยก่อน ตลาดล่างในจีนมีขนาดใหญ่มาก สินค้าราคาถูกในยุคหนึ่งผลิตขึ้นเพื่อป้อนตลาดชาวจีนที่ยังยากจน ซึ่งในตอนนั้นมีจำนวนมหาศาล แต่ในปัจจุบัน คนจีนมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นมาก มีกำลังซื้อ มีแนวโน้มว่าคนจีนเองที่ขยับขึ้นเป็นชนชั้นกลางก็ต้องการใช้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ตอนนี้จีนกลายเป็นชาติที่บริโภคสินค้าแบรนด์เนมมากที่สุด คนที่เข้าแถวต่อคิวตามร้านแบรนด์เนมในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็คือคนจีน

รัฐบาลจีนประกาศสงครามกับความยากจนมาโดยตลอด ในอนาคตทุกอย่างในจีนจะมีราคาแพงขึ้นหมด เพราะคนมีกำลังซื้อมากขึ้น ตัวเลขรายได้ของคนชนบทก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก คำว่าต้องไม่มีคนจนของทางการจีน หมายถึงคนที่จนมากๆ โดยมีมาตรฐานรายได้อยู่

รายงานต่างๆ ของทางการถามว่าจริง 100 เปอร์เซ็นต์ไหม ตรงนี้ตอบยาก แต่คนทั่วไปในชนบทรู้สึกได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าคุณภาพต่ำหรือสินค้าเลียนแบบ ใช่คนรุ่นยุค 50-60 ที่เคยอยู่อย่างยากลำบากและขาดแคลนมาก่อนหรือเปล่า

ควรพูดว่าเป็นคนที่ยังยากจนอยู่ เป็นคนในชนบท ตอนนี้ของด้อยคุณภาพปรากฏอยู่ตามพื้นที่เหล่านั้น คนเมืองมักบริโภคตามเทรนด์ของการใช้ชีวิตในเมือง ขึ้นอยู่กับรายได้ เพียงแต่คนยุค 50-60 ที่สมัยเด็กๆ มีรายได้ไม่มาก เป็นคนที่เคยบริโภคของถูกมาก่อน อาจยังชอบของถูกอยู่

สินค้าในตลาดล่างมีส่วนในการสร้างชาติจีนมาจนทุกวันนี้ถูกไหมครับ

ถามว่าสินค้าปลอมหรือสินค้าด้อยคุณภาพ มีส่วนในการสร้างชาติจีนมาจนทุกวันนี้หรือไม่ ผมคิดว่าพูดอย่างนั้นก็มีส่วนถูก เพราะสินค้าเหล่านั้นได้เคยตอบสนองเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจของจีนสมัยก่อนในหลายๆ ด้าน

นี่ไม่ใช่เรื่องทุนนิยมแบบจีน แต่เป็นเรื่องระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะค่อยๆ ยกระดับสินค้าของตน

สมัยหนึ่งเราก็เคยรู้สึกกันว่า สินค้าญี่ปุ่นเป็นของด้อยคุณภาพ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกของคนยุโรปที่เคยมีต่อสินค้าเยอรมันว่าเป็นของด้อยคุณภาพในสมัยหนึ่ง

สมมุติประเทศอื่นใช้เวลาพัฒนาอุตสาหกรรม 50 ปี ในจีนอาจใช้เพียง 10 ปี เป็นกระบวนการที่เข้มข้นมากๆ เหนืออื่นใด เส้นทางเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ สินค้าจีนส่งออกไปทั่วโลก ของปลอมที่ทะลักเข้ามาในไทยจึงเป็นภาพจำหนึ่ง แต่ตอนนี้สินค้าจีนกำลังเป็นเหมือนสินค้าญี่ปุ่น สินค้าเกาหลี คนเริ่มใช้โทรศัพท์ HUAWEI ทัศนคติเก่ากำลังเลือนหายไปจากหัวคนรุ่นใหม่ หรือมองเห็นภาพที่ซับซ้อนของจีนยุคใหม่ได้มากขึ้น

ปัจจัยใดที่ส่งผลให้ภาคตะวันตกของจีนคือแหล่งผลิตสินค้าปลอม

เวลาพูดถึงภาคตะวันตก มันมีนัยถึงแถบยากจนของจีน เป็นพื้นที่ตอนในที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ถูกล็อค คนยากจนกว่า ส่วนด้านตะวันออกที่ติดทะเล เป็นพื้นที่แรกเริ่มของการพัฒนาเศรษฐกิจ เซินเจิ้นอยู่ด้านนี้แหละ อย่างที่บอกไปว่าใกล้ฮ่องกง ส่งออกง่าย ใกล้ท่าเรือ ตอนนี้ภาคตะวันออกเป็นภาคที่กำลังถูกยกระดับให้เป็นดินแดนเทคโนโลยีชั้นสูง ส่วนอุตสาหกรรมค่าแรงถูกทยอยย้ายไปภาคตะวันตก

เคยมีการพูดกันว่า เมื่อภาคตะวันตกเจริญขึ้น อุตสากรรมที่ต้องการใช้ค่าแรงราคาถูกอาจย้ายไป เวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา เหมือนกับสมัยที่ค่าแรงในอเมริกาแพงแล้วย้ายฐานมาจีน แต่ขณะนี้หลายคนเริ่มไม่แน่ใจแล้ว กลายเป็นว่าจีนพยายามคงอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้อยู่ภายในประเทศต่อไป โดยใช้รูปแบบโรงงานหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคน เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นพื้นที่ไป อนาคตผมว่าจีนจะหลากหลายมาก

ส่วนพื้นที่ขายหรือผลิตสินค้าปลอม คงเล็กลงเรื่อยๆ หรืออยู่ตามจุดไว้รองรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว เวลาไปเซินเจิ้นหรือปักกิ่ง ก็มีแหล่งที่รู้กันว่าควรไปซื้อสินค้าปลอมที่ไหน เมืองที่เป็นตลาดของปลอมกลายเป็นเมืองเล็กๆ ไปหมด หรือไม่ก็ที่เมืองชื่อ อี้อู ไปเลย

ฝรั่งเองก็ไปช็อปสินค้าปลอมนะ ไม่ใช่แค่คนไทย บางคนงงว่า แปลกดี ทำไมคนรวยที่มีกำลังพอซื้อของจริงได้ ยังชอบใช้ของปลอม ผมเคยเห็นงานวิจัยด้านพฤติกรรม พบว่ามีบางคนคิดว่า ทำไมต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อของจริง ที่บวกส่วนต่างจากการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือค่าเช่าสูงๆ ในห้างสรรพสินค้า เป็นสินค้าของนายทุนที่มีกำไรมหาศาล

ในจีนเองสินค้าปลอมก็มีหลายเกรด เราสามารถเลือกได้ บางคนบอกเกรดดีๆ อาจมาจากโรงงานเดียวกันก็ได้ หรือผลิตโดยใช้วัสดุที่ใกล้เคียง บางคนที่ชอบซื้อของถูก ก็อาจเป็นความสนุกที่ได้เดินหาของปลอมที่มีคุณภาพ ก็อปเกรด A ผมเห็นคนไทยเวลาไปเที่ยว ก็ชอบแข่งกันต่อราคา ใครได้ของเกรดดีสุด ในราคาต่ำสุด

Part 3:

ความเกี่ยวข้องที่ดูเหมือนไกล

สุพจน์ เลาหพัฒนวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอกดำรงค์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่งและร้านจำหน่ายสินค้า 20 บาททั้งร้านยี่ห้อ ‘เอ-โกะ’ เคยให้สัมภาษณ์กับ โพสต์ทูเดย์ ว่า พฤติกรรมของลูกค้าที่เข้าร้านประเภท 20 บาทนั้น ส่วนใหญ่กำลังซื้อน้อย เป็นสาวโรงงาน

ขณะธุรกิจร้านขายสินค้าราคาเดียวทั้งร้าน หรือร้านวันไพรซ์ ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ต่างตบเท้าเข้ามาเปิดตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ในปี 2016 สถิติจำนวนสินค้าของร้าน เอ-โกะ มีประมาณ 3,000 รายการ จาก 60 โรงงาน แบ่งเป็น จีน 60 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 20 เปอร์เซ็นต์ และเกาหลีอีก 20 เปอร์เซ็นต์ หมวดสินค้าได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องเขียน ของเล่น เครื่องมือช่าง อุปกรณ์เสริมความงาม ของกระจุกกระจิก

การเกิดขึ้นของร้านขายสินค้าราคาถูกจำนวนมาก เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งใด ในมุมมองของนักวิเคราะห์เรื่องจีนอย่าง อาร์ม ตั้งนิรันดร

อยากชวนคุยถึงความคล้ายคลึงระหว่างการผุดขึ้นของตลาดสินค้าราคาถูกในบ้านเรา กับสินค้าด้อยคุณภาพของจีนในสมัยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ

สินค้าปลอมหรือสินค้าด้อยคุณภาพจากจีน เป้าหมายต่อไปของมันอาจเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังยากจน อย่างประเทศในอาเซียน ลาว หรือกัมพูชา เป็นแหล่งส่งออกสินค้าราคาถูกของจีน ลักษณะเดียวกันที่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าใน Walmart ที่สหรัฐนั้นเป็นสินค้าราคาถูกมาจากจีน เป็นโครงสร้างที่พยุงความเป็นอยู่ของคนรายได้ต่ำในสหรัฐอเมริกา

ถ้าพูดถึงสินค้าราคาถูกที่ไม่ใช่ของปลอม สินค้าพวกนี้มีหน้าที่ในการช่วยผู้มีรายได้ไม่มาก เป้าหมายของจีนก็คือการส่งออกไปยังประเทศที่ยากจนอยู่ แอฟริกาด้วย เอเชียด้วย และยุโรป ไปเข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่เชื่อมจีนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ และแน่นอน สินค้าราคาถูกก็ยังตอบโจทย์พื้นที่ยากจนในจีนเองด้วย

ในมุมมองของนักวิชาการ การเกิดขึ้นของร้านขายสินค้าราคาถูกจำนวนมาก เป็นดัชนีชี้วัดรายได้ของคนไทยที่น่าวิตกหรือเปล่า

ถ้าไม่มีร้านพวกนี้ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ เวลาจีนกับสหรัฐทะเลาะกันเรื่องสงครามการค้า นักวิชาการจะออกมาพูดเสมอว่า ถ้าคุณไม่มีสินค้าจีนคุณอยู่ไม่ได้นะ ไม่ใช่คนอเมริกันทุกคนจะสามารถซื้อของราคาแพงได้ การค้าโลกทำให้เกิดตลาดและปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้น ทว่ามันเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก

ผมคิดว่าประเด็นที่ต้องกังวลคือ หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้คนในประเทศตนเองรายได้สูงขึ้น สุดท้ายแล้วเราก็ต้องเป็นแค่ตลาดผู้บริโภคสินค้าราคาถูก

ดัชนีวัดว่าทำไมคนจีนรวยขึ้น ก็พวกเขาสามารถซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นได้ คนขายของก็ได้เงินมากขึ้น คล้ายกับเวลาเราพูดถึงสินค้าทางการเกษตรไทยที่เป็นงูกินหาง ถามว่าทำไมเกษตรกรเรายากจน ขายข้าวได้ราคาต่ำ วันก่อนผมได้ยินคนพูดถึงการช่วยเหลือเกษตรกรโดยส่งเสริมให้ทำข้าวเป็นเกรดพรีเมียม หีบห่อดี ขายในราคาแพงขึ้น คำถามคือ คนไทยมีกำลังซื้อในราคาระดับนั้นไหม

คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะยกระดับรายได้ของคนทั้งประเทศ ทั้งตัวเกษตรกรเองด้วย ให้เหมือนเกษตรกรในอเมริกาหรือญี่ปุ่น เกี่ยวกับการยกระดับเทคโนโลยีไหม ไทยจำเป็นต้องเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมหรือไม่ ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า การยกระดับเทคโนโลยีคือสิ่งที่จีนคิดมาตลอด เพื่อให้หนีห่างจากการเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าราคาถูก

นักเคลื่อนไหวทางสังคมรณรงค์เรื่องสินค้าที่กดค่าแรงมากๆ คือสินค้าบาป?

ตอนที่จีนเริ่มต้นพัฒนาประเทศนั้น มาจากจุดที่ต่ำมาก เลยไม่มีใครต่อต้านเรื่องพวกนี้เท่าใดนัก สำหรับคนจีนเองในสมัยนั้น การได้ทำงานในโรงงานย่อมดีกว่าไม่มีข้าวกิน ค่าแรงต่ำก็ยังนับว่ารายได้สูงกว่าสมัยก่อนหน้ามาก ทัศนคติของคนจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่แย่เท่าคนตะวันตก ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นไปตามกลไกตลาด แล้วสุดท้ายมันจะค่อยๆ ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมมองของชาวจีน นี่เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ เพราะค่าแรงมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จริง คนรวยขึ้นเรื่อยๆ จริง ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้แพงขึ้น มีการยกระดับรายได้คนทั้งประเทศ มันต้องมองในมุมของพัฒนาการ แต่ถ้าประเทศหนึ่ง จ้างค่าแรงราคาถูกวันนี้ แล้วอีก 40 ปีผ่านไปก็ยังเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกเหมือนเดิม ก็คงต้องทบทวน อีกทั้งยังต้องดูเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมและมาตรฐานความปลอดภัยด้วย

หากไม่มีโรงงานราคาถูกเหล่านี้ คนจนก็แย่ ต้องซื้อของในราคาแพง ตอนผมอยู่อเมริกา มีธุรกิจเยอะมากที่ประกาศว่ารับผิดชอบต่อสังคม ไม่มีการจ้างด้วยค่าแรงต่ำ โรงงานมีมาตรฐาน ไม่มีการส่งผลิตที่จีน ทำที่แคลิฟอร์เนียนี่แหละ แต่ผมก็ต้องซื้อเสื้อในราคา 100 ดอลลาร์นะ คนที่นั่นกลุ่มหนึ่งสามารถซื้อได้ และคิดว่าดีกับแรงงาน แต่คนที่รายได้ต่ำล่ะ

ช่วงหนึ่งรัฐบาลไทยเข้มงวดกับสินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพ สมดุลของมันควรอยู่ที่ตรงไหน

ผมว่าต้องแยกระหว่างสินค้าไม่ปลอดภัยกับสินค้าราคาถูก ถ้าไม่ดีต่อผู้บริโภคก็ต้องปราบปราม ดูเป็นกรณีไป บังคับใช้กฎหมายให้ถูกประเภท สินค้าราคาถูกแบบนี้ มันมีในทุกประเทศ

มองเทรนด์นวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้สโลแกน ‘Made in China’ ในบ้านเราอย่างไร

คงเหมือนกับที่เรานิยมเกาหลี กระแสต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ยิ่งตอนเป็นวัยรุ่นแล้วมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าจีน พอโตเป็นผู้ใหญ่ ก็มีแนวโน้มจะใช้สินค้าจีนมากยิ่งขึ้น เหมือนคนรุ่นผมที่มีทัศนคติที่ดีกับสินค้าเกาหลี ทั้งๆ ที่คนรุ่นพ่อแม่ผมมองว่าสินค้าเกาหลีเป็นของด้อยคุณภาพ สู้ญี่ปุ่นไม่ได้  ภาพจำของคนแต่ละรุ่นอาจต่างกันมาก ที่สำคัญคือ ตอนนี้จีนกำลังเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์ มองการส่งออกนวัตกรรมจีนใหม่ๆ ไปทั่วทั้งโลก น่ากังวลเหมือนกันนะครับเมื่อย้อนมองดูการย่ำอยู่กับที่ของสินค้าไทย

ธุรกิจ E-commerce ของสินค้าจีนมีข้อกังวลเกี่ยวกับที่ยืนของพ่อค้าแม่ค้าไทยไหม

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า นี่เป็นด้านดีแน่ๆ ต่อการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในจีน เนื่องจากทุกสิ่งเป็นระบบชัดเจน ไม่ใช่ของปลอมตามอัลบั้มรูปในตลาดต่างๆ อีกแล้ว ถ้ามีของปลอมอยู่ใน Alibaba ภาพของมันย่อมชัดเจนโจ่งแจ้ง พวกเขาถูกกดดันในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง กระทบราคาหุ้นของ Alibaba ที่อยู่ในตลาดหุ้นอเมริกาด้วย

Alibaba มีอยู่สองส่วน คือส่วนที่ใครก็สามารถนำของไปขายได้ เป็นตลาดที่อาจมีของปลอมเยอะ และอีกส่วนที่เป็นแบรนด์เนม ตรงนี้เข้มงวดมาก ต้องไม่ใช่แบรนด์ที่คุณไปลอกเลียนชาวบ้าน หรือก็อปปี้เทคโนโลยีที่ผิดกฎหมาย ตอนนี้บริษัทฝรั่งจึงแฮปปี้กับ Alibaba มาก เนื่องจากได้รับการตอบรับเรื่องการปราบปรามอย่างจริงจัง

อย่างน้อย E-commerce ของเจ้าใหญ่ส่งอิทธิพลให้ของปลอมมีแนวโน้มลดน้อยลง ส่วนประเด็นด้านการค้า มันมีทั้งคนเสียประโยชน์และได้ประโยชน์ ผมมองว่าเป็นประเด็นการค้าระหว่างประเทศทั่วไป ถึงแม้ไม่มีออนไลน์ แล้วเราเปิดให้สินค้าจีนเข้ามา ครองพื้นที่สินค้าส่วนใหญ่ในตลาด 20 บาททั้งร้านที่คุณพูดถึง พ่อค้าพลาสติกไทยก็สู้ไม่ได้อยู่ดี เสียประโยชน์แน่ๆ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภค คุณูปการหนึ่งของการค้าขายออนไลน์คือการสั่งสินค้าได้ในราคาถูกและสะดวก

ผู้ประกอบการไทยที่อนาคตมองเป้าหมายไว้ถึงการส่งสินค้าไปเมืองจีน อาจคิดว่าสามารถใช้แพลตฟอร์มใน Alibaba ส่งของไปที่นั่นได้อย่างรวดเร็ว แต่ภาพเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก ฟังดูคลุมเครือ ตอนนี้เราแค่รู้ว่าเขาจะมาลงทุนใน AEC มีศูนย์โลจิสติกส์ แต่เรายังไม่แน่ใจรายละเอียดความยากง่ายของการส่งสินค้าไทยไปขายที่จีน และหากบริษัทไทยเอาสินค้าไปลงในจีน แล้วถูกก็อปปี้จะทำอย่างไร

เหมือนที่ตอนนี้สินค้าไทยที่ชาวจีนนิยม เป็นคนจีนทำแทบทั้งนั้น เช่น หมอนยางพารา คนจีนจมูกไวมากเรื่องค้าขาย เห็นอะไรที่ดูแล้วทำกำไรได้ ทำไมฉันไม่ทำเอง ทำไมต้องปล่อยให้คนไทยทำ ในเมื่อทัวร์จีนมาไทย ฉันก็คุมทัวร์ ทำไมต้องซื้อหมอนยางพาราจากบริษัทไทย ก็ตั้งบริษัทนอมินีมันเองซะเลย เรื่องพวกนี้กฎหมายไทยมีห้ามอยู่แล้ว ปัญหาของเราจึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายด้วย   

สมัยก่อนมีพูดกันว่า เวลาผลิตมอเตอร์ไซค์แล้วเอาคนญี่ปุ่นมาร่วมทุน ผ่านไปห้าปี คนจีนสามารถผลิตเองได้แล้ว เป็นเช่นนี้เกือบทุกอย่าง คือค้าขายในจีนลำบาก หินมาก ส่วนจีนมาค้าขายในไทยง่ายมาก เวลาเราพูดว่าตลาดจีนใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ต้องได้ประโยชน์อยู่แล้วสิ ผมว่าภาครัฐต้องดูอย่างละเอียดเชิงนโยบาย จะมีกลไกอย่างไรในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ค้าขายกับจีนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะสินค้าไทยที่อาจถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย เพราะไม่ใช่สินค้าเชิงเทคโนโลยี

อาจต้องมีกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมธุรกิจ E-commerce ของจีนในไทย?

อันดับแรกผมไม่รู้ว่าเราเข้าใจโมเดลธุรกิจนี้ดีพอหรือยัง ตอนนี้มีหลายคนกังวลเรื่องของอำนาจการต่อรอง สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเราต้องใช้แพลตฟอร์มของเขาใช่ไหม แล้วมีปัญหาอะไรไหมที่เราใช้แพลตฟอร์มของเขา เขาจะมีอำนาจคุมตลาดไหม แล้วการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าของเรา ซึ่งมีอยู่แล้ว จะมีประสิทธิภาพหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ผมได้ยินบางคนเสนอว่า เราควรมีแพลตฟอร์มของเราเอง เช่น มี ThaiFruit.com สมมุตินะครับ ผลไม้ทุกเจ้าของไทยมาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ แล้ว Alibaba ถึงค่อยมาเจรจาซื้อกับแพลตฟอร์มนี้ ก็น่าจะทำให้เราสามารถควบคุมราคาและอำนาจต่อรองได้ในระดับหนึ่งหรือไม่ ผมยกตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นว่า เราต้องศึกษาเรื่องโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมและส่งเสริมผู้ประกอบการไทย

สิ่งที่ต้องระวังคือ เราต้องไม่พูดอะไรที่อาจดูดี โดยไม่ดูรายละเอียด เช่น ดูแต่ปริมาณการค้า ปริมาณการลงทุน มองแค่มิติตัวเลขการลงทุนสูงๆ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าผลประโยชน์จริงๆ ตกกับใคร สุดท้ายพื้นฐานเราจะไม่มีเทคโนโลยีและยกระดับเทคโนโลยีไม่ได้ จีนเขาคิดเรื่องพวกนี้ตลอด ดูอย่าง eBay ไปลงทุนในจีน สิ่งแรกที่นักธุรกิจจีนคิด คือทำไมต้องให้ eBay ทำ แล้วก็มีคนจีนลอกเลียนโมเดลธุรกิจจนต่อยอดและประสบความสำเร็จ

มองไปข้างหน้านับจากวันนี้ เมื่อพูดถึง ‘ทุนจากจีน’ เราไม่ควรตกหล่นเรื่องใด

ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เราพูดกันเยอะเรื่องยุทธศาสตร์ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ไทยเราต้องการคืออะไร เราต้องการตัวเลขการลงทุนเยอะๆ จากจีนอย่างนั้นหรือ แต่เราสนใจรายละเอียดแค่ไหน เรามีการส่งเสริมความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยหรือไม่ เราสนใจเรื่องการยกระดับและต่อยอดเทคโนโลยีหรือไม่

สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมด หัวใจหลักที่อยากย้ำเน้นให้เห็น คือจีนให้ความสนใจในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี นี่คือหัวใจของยุทธศาสตร์จีน ของปลอมเป็นเพียงปรากฏการณ์ช่วงหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ สุดท้ายภาพของจีนในปัจจุบันหลากหลายกว่าของปลอมมาก เทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้า ส่วนจะเป็นการร่วมทุนที่ถูกกฎหมายไหม หรือขโมยเทคโนโลยีเขามา คงต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

มีความในใจใดทำให้อาจารย์ชอบเขียนทิ้งท้ายบทความอยู่บ่อยๆ แสดงความห่วงใยยุทธศาสตร์ 20 ปี ของคุณประยุทธ์

ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องดีครับ แต่ที่ผมห่วงใยคือเรื่องรายละเอียด เราเป็นประเทศที่ชอบสโลแกน เช่น ไทยแลนด์ 4.0 แต่สโลแกนอย่างเดียวมันไม่พอ

  • กิจการ Financial และ Technology ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
  • ซิ่วสุ่ยเจีย หรือ ตลาดรัสเซีย คนไทยรู้จักกันว่าเป็นแหล่งของสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมต่างๆ ในกรุงปักกิ่ง ปัจจุบันทางการจีนพยายามปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายให้หมดไป และพยายามผลักดันของพื้นเมืองให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น
  • 16 กรกฎาคม 2018 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทอยู่ที่ 7,142 หยวน หรือ 1,070 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8
  • ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เป็นตลาดค้าส่งอันดับ 1 ของโลกในมณฑลเจ้อเจียง
  • เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 รวมสามทวีป

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า