ทฤษฎีสมคบคิด กรณีการหายตัวปริศนาของ ฉิน กัง รมว.ต่างประเทศจีน

หากคุ้นเคยกับรูปแบบและสภาพการเมืองของจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ทุกอย่างบริหารจัดการโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเบ็ดเสร็จ พรรคสามารถเรียกใครก็ได้ไปพบ ลงโทษ หรือแม้กระทั่งบังคับให้บุคคลสำคัญในแวดวงธุรกิจระดับโลกอย่าง แจ็ก หม่า (Jack Ma) แห่ง Alibaba งดปรากฏตัวต่อหน้าสื่อและกิจกรรมทางสังคมไปเป็นระยะเวลานานแรมปีได้นั้น การที่บุคคลเพียงระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฉิน กัง (Qin Gang) ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลต่อทิศทางการเมืองและการต่างประเทศของจีนมากนัก (ในการเมืองจีน ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ) จะหายหน้าออกไปจากพื้นที่สื่อและสารบบรายชื่อของคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องที่ถึงกับจะเกิดขึ้นไม่ได้ 

ประเด็นที่น่าสนใจกว่าไม่ใช่เรื่องว่า ฉิน กัง หายตัวไปอย่างไร หากแต่หายตัวไปเพราะเหตุปัจจัยข้อใดมากกว่า

ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ คงต้องเท้าความถึงปูมหลังเกี่ยวกับ ฉิน กัง ให้เห็นภาพเสียก่อน กล่าวคือ หลังจบการศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศจาก University of International Relations (UIR) แล้ว ฉิน กัง ได้เริ่มรับราชการที่ Diplomatic Service Bureau (DSB) จากนั้นได้ออกไปประจำการในต่างประเทศที่สถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงลอนดอน ถึง 3 ครั้ง คือระหว่างปี 1995-1999, 2002-2005 และ 2010-2011 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมพิธีการทูตในปี 2014 คอยดูแลประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และครอบครัวเมื่อครั้งที่มีภารกิจเดินทางไปเยือนต่างประเทศ 

ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ภรรยาของ ฉิน กัง มีโอกาสได้ติดต่อกับภรรยาของ สี จิ้นผิง จนเกิดความคุ้นเคยกัน และเป็นข้อสมมุติฐานสำคัญที่นำไปสู่การที่ สี จิ้นผิง แต่งตั้ง ฉิน กัง เป็นเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงวอชิงตันดีซี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในที่สุด ด้วยวัยเพียง 57 ปี จน ฉิน กัง ได้รับขนานนามว่า ‘เด็กนายใหญ่’ (Xi’s protégé)

แน่นอนว่าความเป็น ‘เด็กนาย’ ในวัฒนธรรมการเมืองจีนนั้นเป็นเรื่องปกติ การที่นักการเมืองคนใดจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นก็ล้วนต้องผ่านการมีผู้ใหญ่ในพรรคคอยผลักดันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ สี จิ้นผิง และ หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดเองก็ตาม 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เด็กนาย หรือคนที่เป็นลูกหลานอดีตผู้มีอิทธิพลภายในพรรค (princelings) ต้องแลกมาหลังจากได้เข้าสู่ตำแหน่งระดับประเทศก็คือ การถูกจับจ้องจากคู่แข่งและขั้วอำนาจอื่นๆ ที่อาจจะเคยถูกคนกลุ่มดังกล่าวเลื่อนระดับขั้นข้ามหัวไป ซึ่งประเด็นนี้เป็นแรงจูงใจประการสำคัญข้อหนึ่งที่ผลักดันให้ สี จิ้นผิง ต้องนำแผนการปราบทุจริตมาใช้กำจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนเอง และสลายขั้วอำนาจอื่นๆ เช่น ขั้ว Tuanpai ของ หู จิ่นเทา (Hu Jintao) และ Shanghai Clique ของ เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ที่เคยมีอิทธิพลในพรรคลงให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนกลุ่มใดหรือขั้วอำนาจใดก่อตัวขึ้นมาบ่อนทำลายฐานอำนาจของ สี จิ้นผิง ลงได้

ในกรณีของ ฉิน กัง ก็ดูจะคล้ายๆ กัน ต่างกันแค่ ฉิน กัง ไม่ได้มีอำนาจมากเพียงพอที่จะลุกขึ้นมากำจัดกับคู่แข่งทางการเมืองด้วยตนเองเท่านั้น โดยเรื่องชู้สาวที่ถูกนำมาสร้างเป็นกระแสช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ขบวนการเลื่อยขาเก้าอี้ในการเมืองจีนนำมาใช้ เนื่องจากการมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีบทบาททางการเมืองและสังคมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และอาจถูกลากไปถึงความผิดที่นำไปสู่โทษจำคุก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนกังวลเรื่องการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางเพศและเงินตราที่บุคคลภายนอกนำมาล่อลวงเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัด เหตุนี้จึงจะเห็นได้ในหลายๆ โอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน เช่น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (MPS) โจว ยงคัง (Zhou Yongkang) ถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริต และถูกพ่วงมาด้วยข้อหาการมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวนอกสมรส (extra-marital affairs)

ถามว่าการคบชู้ หรือมีความสัมพันธ์นอกการสมรสในกลุ่มชนชั้นนำจีนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงขนาดนั้นหรือไม่ ในทางปฏิบัติแล้วก็อาจจะไม่ แค่มันถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองได้ง่ายเท่านั้น เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ฉิน กัง เป็นบุคคลที่เติบโตในหน้าที่การงานค่อนข้างเร็ว ได้รับความไว้วางใจให้เป็นบุคคลใกล้ตัวของ สี จิ้นผิง ตั้งแต่อายุยังไม่มาก และในขณะเดียวกันยังเป็นบุคคลที่ถูกสังคมมองว่าจะเข้ามามีบทบาทนำในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา-จีนอีก จึงไม่แปลกหากจะมีคนในพรรครู้สึกไม่พึงพอใจ ฉิน กัง 

ยิ่งกระแสชาตินิยมจีนอยู่ในสภาวะคุกรุ่น การที่ ฉิน กัง พยายามจะปรับภาพลักษณ์ของตนเองให้ดูเป็นมิตรกับกลุ่มประเทศในฝั่งอเมริกาและยุโรปมากขึ้น ด้วยการลดแนวทางการทูตแบบปากหมา (wolf-warrior diplomacy) ลง อีกทั้งยังไปสั่งย้ายอดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เจา หลี่เจียน (Zhao Lijian) ซึ่งเป็นหัวหอกคนหนึ่งของวงการที่ชื่นชอบการมีวิวาทะกับสื่อมวลชนต่างประเทศออกจากตำแหน่ง ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่ในพรรคบางส่วนอาจเริ่มกังวลเรื่อง ฉิน กัง จะมีใจเอนเอียงไปทางอเมริกา (ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำจีนหวาดระแวงมากที่สุดในขณะนี้) โดยสิ่งที่ช่วยไปตอกย้ำความเชื่อดังกล่าวในกลุ่มชนชั้นนำจีน คือ ประเด็นที่ ฉิน กัง มีความสนิทสนมกับนักธุรกิจระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในระดับที่ได้รับคำเชิญชวนไปขับรถเล่นด้วยกัน แล้วยังมีการนัดพบกันอยู่เป็นนิตย์ทั้งในอเมริกาและในจีน 

จริงอยู่ที่ อีลอน มัสก์ เป็นนักธุรกิจที่มีจุดยืนเอนเอียงไปทางรัฐบาลจีน และมีความคิดเห็นทางการเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลจีน จนน่าสงสัยว่าเป็นคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลจีนอย่างลับๆ (agent of influence) แต่ต้องไม่ละเลยประเด็นที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นไม่เคยไว้วางใจบุคคลที่เป็นนักธุรกิจรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวจีนเองหรือจะเป็นนักธุรกิจจากต่างประเทศ เพราะความกังวลที่ว่าคนจากแวดวงธุรกิจนั้นจะเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากเครือข่ายทางอำนาจของชนชั้นนำภายในพรรค หากนับช่วงการออกไปประจำการในต่างประเทศของ ฉิน กัง ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมๆ แล้วเป็นระยะเวลานานร่วม 10 ปี นานพอที่จะมีคนสร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาสมอ้างว่า ฉิน กัง อาจเป็นคนที่แปรพักตร์ไปทำงานให้แก่รัฐบาลอเมริกาหรือรัฐบาลอังกฤษอย่างลับๆ อยู่ก็เป็นได้ 

ในทางปฏิบัตินั้น การที่ทฤษฎีสมคบคิดจะพัฒนากลายมาเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากขึ้นได้ก็ต้องมี ‘มูล’ โดยเรื่องที่ค่อนข้างบังเอิญอย่างหนึ่งในประเด็นของ ฉิน กัง นี้คือ บุคคลดังกล่าวจบการศึกษาจาก University of International Relations (UIR) และได้เข้าทำงานเป็นเสมียนทางการทูตครั้งแรกที่สำนักงาน DSB ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (Ministry of State Security หรือ MSS) ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนมหาวิทยาลัย UIR เองก็เป็นสถาบันศึกษาสำหรับใช้ผลิตบุคลากรที่รัฐบาลจีนต้องการจะปั้นนักศึกษาให้เป็นสายลับออกไปทำงานในต่างประเทศ จึงเป็นที่กล่าวขานในแวดวงการทูตอเมริกันถึงความเป็นไปได้ที่ ฉิน กัง อาจเป็นสายลับที่แฝงตัวเป็นนักการทูตเพื่อออกไปจารกรรมข้อมูลของรัฐบาลอังกฤษ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่า ฉิน กัง จะเป็นผู้แปรพักตร์ไปทำงานให้รัฐบาลอเมริกาหรืออังกฤษจริงหรือไม่ แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาที่บทบาทและตัวตนของ ฉิน กัง ที่อาจเป็นสายลับของ MSS โทษของการไปใกล้ชิด หรือมีส่วนพัวพันกับรัฐบาลต่างประเทศ ย่อมร้ายแรงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพลเรือนทั่วไป เพราะสายลับก็เหมือนทหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนจากองค์กรที่กุมความลับของประเทศเอาไว้ 

การที่ทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวนี้กระจายอยู่ในสังคมของชนชั้นนำจีนในขณะนี้นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ สี จิ้นผิง จะปล่อยผ่านไปได้โดยไม่ดำเนินการใดๆ ยิ่ง ฉิน กัง ถูกมองว่าเป็น ‘เด็กนาย’ ของตนเองมาหลายปี ในทางกลับกัน หาก สี จิ้นผิง ปล่อยเรื่องดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นต่อไป สุดท้ายผลเสียและความเสียหายทั้งหมดก็จะมาสั่นคลอนฐานอำนาจและความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของตนเอง และ สี จิ้นผิง คงไม่คิดสังเวยอำนาจในมือของตนเองให้ ‘เด็กนาย’ แค่คนเดียวเป็นแน่

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า