สีหนุวิลล์:​ สวรรค์ของคนจีน นรกของคนกัมพูชา

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์: เรื่องและภาพ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกินของคนกัมพูชา ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นในเมืองพระสีหนุ เมืองที่รัฐบาลไล่รื้อบ้าน ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านไปสัมปทานให้นายทุนจีนหวังสรรค์สร้างเมืองชายทะเลเงียบสงบให้กลายเป็นเมืองแห่งสีสันและคับคั่งด้วยธุรกิจการพนัน แต่คำสัญญาที่รัฐบาลบอกว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จคนกัมพูชาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้น – ไม่เป็นจริง เพราะคนจีนที่รัฐบาลเปิดรับเข้ามาในเมืองมีอภิสิทธิ์เหนือคนพื้นเมืองและแย่งงานคนท้องถิ่น

ร่มเงาของต้นไม้ในเขตร้อนชื้นเขียวชอุ่ม และทะเลอันเงียบสงบ ในเมืองพระสีหนุ ซึ่งรู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า ‘สีหนุวิลล์’ ประเทศกัมพูชา กลายเป็นเพียงภาพความทรงจำของ โสพล (นามสมมุติ) ชายผู้ย้ายมาอยู่ในเมืองนี้นานกว่า 24 ปี

“เมื่อราวปี 2539 ผมอายุ 12 ปี บ้านเรือนตอนนั้นสร้างด้วยไม้เกือบทั้งหมด ถนนในเมืองเป็นดินแดง มีต้นไม้ริมทางจำนวนมาก เมืองนี้จึงร่มเย็น เงียบสงบ” โสพลเล่าให้เราฟังในร้านอาหารริมชายหาดแห่งหนึ่ง

แม้พื้นเพครอบครัวของโสพลไม่ได้เป็นคนเมืองพระสีหนุโดยกำเนิด เพราะพวกเขาโยกย้ายมาจากจังหวัดกันดาร จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศใกล้กับกรุงพนมเปญ เพื่อหางานทำและปักหลักอยู่ที่นี่ แต่ความทรงจำในวัยเด็กของเขาก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เมืองแห่งนี้เคยสวยงามและเงียบสงบสมกับคำร่ำลือของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

“สภาพเมืองตอนนั้นแตกต่างจากตอนนี้ที่ต้นไม้ถูกตัดเพื่อก่อสร้างตึก อากาศมีแต่มีฝุ่นจากการก่อสร้าง ขยะในเมืองเพิ่มขึ้น ภาพความสงบ ความร่มเย็นคงไม่มีวันได้เห็นอีกแล้ว เพราะที่นี่กลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุนจีนไปเสียแล้ว” โสพลกล่าว

‘เมืองสวรรค์’ สำหรับนักลงทุนและคนจีน

ปี 2551 รัฐบาลกัมพูชาประกาศให้พื้นที่ 3,300 ไร่ในเมืองพระสีหนุ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับรัฐบาลจีนในนามว่า ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจร่วมของรัฐบาล 2 ประเทศ’ (Bilateral Government Agreement) ภายใต้แผนการพัฒนา ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road – OBOR)’ ของทางการจีน

หลังจากนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงเริ่มให้สัมปทานที่ดินแก่บริษัทเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ซึ่งมีอิสระในการก่อสร้างตึกอาคาร อีกทั้งยังสามารถนำเข้าแรงงานจีนเข้ามาในพระสีหนุ ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าและส่งออกแก่นักธุรกิจจีนอีกด้วย

ตามแผนเดิม รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้เน้นด้านอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ แต่นักลงทุนจีนกลับเห็นช่องทางทำกำไรจากธุรกิจคาสิโน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้ธุรกิจคาสิโนสามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย

ปัจจุบัน คาดว่ามีคาสิโนมากถึง 62 แห่ง ร้อยละ 77 มีคนจีนเป็นเจ้าของกิจการ

ขณะที่มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์รวม 156 แห่ง คาราโอเกะ 41 แห่ง อาบอบนวด 46 แห่ง ร้านอาหาร 436 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นของนักธุรกิจชาวจีน จนทำให้เมืองพระสีหนุได้รับขนานนามว่า ‘มาเก๊าแห่งอาเซียน’

แม้จะผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ เมืองพระสีหนุเปิดรับนักลงทุนชาวจีน แต่การพัฒนาเมืองยังคงไม่จบสิ้น

รถบรรทุก รถไถ รถบด เครื่องจักรกลก่อสร้าง ยังคงส่งเสียงแผดร้องจากทุกซอกมุมของเมือง การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า และประปา ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดพัก

ชายที่อดีตเคยทำอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ในเมือง ปัจจุบันกลายเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คาสิโนของคนจีนแห่งหนึ่งในเมืองพระสีหนุคนเดิม อธิบายความเปลี่ยนแปลงของเมืองพระสีหนุ ว่าคือการเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

ยึดที่ดินชุมชน ยกให้นายทุนจีน

ผลกระทบที่ตามมาภายหลังเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น จนคนท้องถิ่นมิอาจเอื้อมถึง

โสพลเล่าว่า ก่อนประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ราคาที่ดินในเมืองพระสีหนุอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,000-6,000 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า

นอกจากปัญหาราคาที่ดินสูงขึ้น เขาบอกอีกว่า ยังมีปัญหารัฐแย่งยึดที่ดินชาวเมืองไปปล่อยให้นักลงทุนจีนเช่าและซื้อ เพราะในเมืองนี้ที่ดินเป็นของรัฐบาล โดยมีผู้ดูแลคือผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้านอย่างเขามีสิทธิแค่อยู่อาศัย ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว

“ผู้ว่าราชการจังหวัด (พระสีหนุ) คนก่อนขอเวนคืนที่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ดินที่ชาวเมืองอาศัยอยู่นานหลายสิบปีไปขายให้บริษัทจีนทำกิจการ ทำให้คนกัมพูชาหลายร้อยคนไม่มีที่อยู่อาศัย” โสพลกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังยึดที่ดินของคนในพื้นที่ แล้วปล่อยขายหรือให้นักลงทุนจีนเช่า โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ดิน ซึ่งให้สิทธิรัฐในการครอบครองและจัดการที่ดิน ทำให้คนที่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้มีสถานะเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย

ครอบครัวโสพลเป็น 1 ใน 300 ครัวเรือนในเมืองนี้ที่ถูกรัฐไล่ออกจากที่ดินและรื้อบ้าน เมื่อกลางปี 2562

“ที่ดินที่ครอบครัวผมซื้อแบบเปลี่ยนเจ้าของไม่ใช่ซื้อเป็นโฉนดเมื่อปี 2555 (2012) ความกว้าง 20 x 30 ตารางเมตร ในราคา 800 ดอลลาร์ (26,000 บาท) ถูกผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเป็นที่ดินใกล้แหล่งน้ำสะอาดห้ามอยู่อาศัย”

แต่ในความรู้สึกของเขา “มันเป็นแค่ข้ออ้างของรัฐที่จะรื้อบ้านผม เพราะบ้านข้างๆ ที่เป็นบ้านของข้าราชการก็ไม่ถูกทำลาย”

ในความเห็นของโสพล เรื่องนี้มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะบ้านหลังไหนในเขตเมืองนี้ที่ครอบครัวสนับสนุนพรรคฝ่ายรัฐบาลจะไม่ถูกรื้อทำลาย และที่สำคัญเขาบอกว่าในประเทศนี้ที่ดินทั้งหมดจะเป็นของรัฐตามกฎหมาย รัฐบาลมีสิทธิที่จะทวงคืนไปใช้ทำอะไรก็ได้หากต้องการ

สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินของกัมพูชาที่รวบรวมและวิเคราะห์ (2561) โดย ภูริณัฐร์ โชติวรรณ นักวิชาการสิทธิที่ดินทำกินขององค์กรจับตาปัญหาที่ดินในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (Land Watch THAI) พบว่า ที่ดินที่นี่เคยตกเป็นของรัฐทั้งหมดตั้งแต่ประเทศกัมพูชาปกครองด้วยกษัตริย์ กษัตริย์จะมอบที่ดินให้ประชาชนเพื่อทำกินเท่านั้น ไม่ให้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของ เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาบริหารกัมพูชาช่วงทศวรรษ 2490 ที่ดินถูกแบ่งประเภทเป็นของกษัตริย์ตามจารีต และของเอกชน โดยเอกชนมีสิทธิที่จะประกอบกิจการหรือขายโฉนดได้

พอถึงยุคกัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง ช่วงปี 2518-2522 ที่ดินของกษัตริย์และเอกชนถูกเขมรแดงยึดมาเป็นของส่วนรวม เอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชนและกษัตริย์ถูกทำลายทิ้ง

หลังจากยุคเขมรแดงจบลง กัมพูชากลายเป็นประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ที่ดินในประเทศทั้งหมดตกเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิและอำนาจในการจัดสรรที่ดินเพื่ออะไรก็ได้

ปัจจุบันกฎหมายที่ดิน ฉบับแก้ไขปี พ.ศ. 2544 โดยเฉพาะที่ดินประเภทที่ 3 คือ ที่ดินเอกชนของรัฐ (State Private Property) เป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐนำที่ดินในประเทศไปขายและเปิดให้เอกชนเช่าทำธุรกิจได้

ในเรื่องนี้ สมพร (นามสมมุติ) นักพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องสิทธิที่ดินทำกินในประเทศกัมพูชาเห็นสอดคล้องกัน

หากชาวบ้านคนไหนสนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชาแล้ว เมื่อถูกเวนคืนที่ดิน ก็จะได้รับค่าชดเชย และได้รับการดูแลหลังออกจากที่ดิน ต่างกับชาวบ้านที่ไม่สนับสนุนพรรครัฐบาล พวกเขาถูกรัฐไล่รื้อบ้านและไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ

คนขับรถสามล้อรับจ้างชาวกัมพูชา กำลังรอผู้โดยสารคนจีนที่กำลังซื้อของอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่คนจีนเป็นเจ้าของ
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

เมื่อโดนรัฐบาลไล่รื้อและยึดที่ดิน โสพลและเพื่อนบ้านกว่า 10 คน จึงรวมตัวกันเดินประท้วงเรียกร้องขอค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดิน พวกเขาเรียกค่าชดเชยประมาณ 15,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 480,000 บาท) เพื่อจะเอาไปหาซื้อที่อยู่ใหม่

การประท้วงครั้งนั้น จบลงที่เพื่อนบ้านของเขา 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม และจำคุก 1 ปี 6 เดือน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

กลิ่นน้ำเสียล่องลอยคลุ้งไปทั่วบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองพระสีหนุ
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

อพยพออกนอกเมือง วิถีชีวิตเปลี่ยน

เมื่อถูกรัฐไล่รื้อบ้านและยึดที่ดิน หลายครอบครัว รวมถึงครอบครัวของโสพล กลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องอพยพย้ายออกไปอาศัยอยู่ในแถบชานเมือง

“ผม พ่อแม่ ภรรยา และลูกอีก 2 คน ต้องไปขออาศัยที่บ้านของแม่ภรรยาในอีกตำบลหนึ่งของจังหวัดพระสีหนุ ส่วนเพื่อนบ้านคนอื่นที่ถูกไล่รื้อ ต้องอพยพข้ามจังหวัด บางคนกลับไปอยู่กับญาติพี่น้องที่ภูมิภาคอื่น บางครอบครัวตัดสินใจอยู่เมืองแห่งนี้ต่อ โดยอาศัยเช่าห้องพักราคาถูก” โสพลกล่าว

“ชาวเมืองดั้งเดิมเปลี่ยนอาชีพจากหาปลาหรือค้าขาย มาเป็นคนงานก่อสร้างตึกให้คนจีน บางคนไปทำงานบริการในโรงแรมและคาสิโนของคนจีน” โสพลกล่าว

เขาเองก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด นั่นคือ การละทิ้งอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะไม่มีเด็กๆ ให้สอน จนไม่มีรายได้ จึงหันไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คาสิโนของชาวจีน ที่มีเงินเดือนแน่นอนและมั่นคง

เด็กหนุ่ม เด็กสาวกัมพูชา วัย 15-16 ปี หลายคนไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เพราะครอบครัวยากจน และพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน ต้องเข้าไปทำงานบริการให้โรงแรมและแจกไพ่ในคาสิโนของคนจีน
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

การถูกไล่รื้อออกจากบ้านเรือนของชาวกัมพูชายังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงลูกหลานของพวกเขาด้วย

“เมื่อไม่มีที่ดินทำกินและบ้าน ครอบครัวเหล่านั้นต้องทำงานหนัก เพื่อหาเงินไว้เช่าบ้านและซื้ออาหาร บางครอบครัวต้องให้ลูกหลานออกจากโรงเรียน มาช่วยทำงานหาเงิน โดยให้เข้าไปทำงานในคาสิโนอย่างผิดกฎหมาย เด็กผู้ชายทำความสะอาด หรือเป็นพนักงานต้อนรับ เด็กผู้หญิงจะทำหน้าที่แจกไพ่ ทำความสะอาด หรือเสิร์ฟกาแฟ” โสพลกล่าว

เขาบอกอีกว่า ตามกฎหมายของกัมพูชา นายจ้างห้ามจ้างงานเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ผู้ปกครองจะกรอกชื่อใบสมัครงานให้กับลูกหลานของตน โดยปลอมชื่อ และสวมใบแจ้งเกิดของผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี เพื่อให้ได้งานที่โรงแรมหรือคาสิโน

บรรยากาศยามกลางคืนหน้าห้างสรรพสินค้าของคนจีนแห่งหนึ่งในสีหนุวิลล์
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

คนจีนมีอภิสิทธิ์เหนือคนกัมพูชา

“ถ้าปล่อยให้คนจีนมีจำนวนมากแบบนี้ คนเขมรลำบากแน่ คนจีนเข้ามาค้าขาย อันนั้นก็จีนขาย อันนี้ก็จีนขาย คนจีนขายของให้คนจีนกันเองในเมืองนี้” โสพลกล่าว

เขาเชื่อว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้จะเป็นของคนจีน เพราะปัจจุบันธุรกิจบริการต่างๆ ภายในเมืองอย่างรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊ก ก็เป็นของคนจีน มิหน้ำซ้ำบริษัทยังรับสมัครคนขับรถที่เป็นคนจีนอีกด้วย

ถนนกลางเมืองยังเป็นดินแดง
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

คนเขมรทุกวันนี้หากินไม่ได้ ธุรกิจจีนมันครบวงจร รัฐบาลเราก็ไม่ได้สนใจพี่น้องเขมรกันเอง ตอนนี้ชาวบ้านแทบไม่มีสิทธิ ไม่มีปากมีเสียงเรียกร้องอะไรในเมืองนี้เลย ถึงเราจะเรียกร้องอะไรจนแทบตาย รัฐบาลก็ไม่สนใจเรา

ในอีกด้านหนึ่ง มงคล (นามสมมุติ) ช่างเหล็กทำงานก่อสร้างตึกให้กับบริษัทจีนเล่าว่า คนเขมรแม้จะเป็นช่างฝีมือมีความสามารถและมีประสบการณ์ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นหัวหน้างาน เพราะหัวหน้าคุมงานคือคนจีนเป็นหลัก

คนเขมรอย่างพวกเราเป็นได้แค่แรงงานระดับล่าง อย่างกรรมกร แต่พวกวิศวกร นักเขียนแบบจะเป็นคนจีน

“อย่างบริษัทผม เขาขนคนจีน และเครื่องจักรก่อสร้างจากจีนเข้ามา ทำให้คนเขมรอย่างเราไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไร”

สัญลักษณ์ของเมืองนี้คือ ‘สิงโตคู่สีทอง’ ที่ตั้งอยู่กลางเมืองพระสีหนุ
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

นอกจากการเป็นช่างเหล็กในระหว่างการทำงาน แต่ละวันเจ้านายจีนจะใช้ทำอะไรก็ได้ เขาต้องทำตาม

“บางวันกำลังทำงานอยู่ นายคนจีนสั่งยกเหล็ก เก็บขยะ ยกของ ผมก็ต้องทำ ต้องทำตามคำสั่งเขา” มงคลกล่าว

นอกจากนี้ เมืองพระสีหนุยังมีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยระยะหลัง เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มมาเฟียชาวจีนประจำ มีข่าวคนจีนฆาตกรรมกันเอง ทั้งยังมีข่าวการจี้ปล้นโดยคนจีน

ขวดพลาสติก กล่องอาหารโฟม ถุงพลาสติก และน้ำเสียสีดำมีให้เห็นจนชินตาภายในเมืองพระสีหนุ
ภาพ: ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

สำหรับโสพล กรณีที่รัฐบาลเปิดประเทศให้นักลงทุนจีนเข้ามาเพื่อให้ประเทศมีรายได้นั้น “เป็นสิ่งที่ดี” แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดอาชีพหรืองานที่คนจีนสามารถทำได้ ไม่ควรจะให้สิทธิคนจีนทำงานอะไรก็ได้ในเมืองนี้

“ผมอยากให้อาชีพขับแท็กซี่หรือว่าค้าขายขนาดเล็ก เป็นอาชีพของคนพื้นเมือง เพื่อให้คนในเมืองนี้มีงานทำ มีรายได้ สอง อยากให้รัฐบาลจัดหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยให้กับคนกัมพูชาที่ถูกไล่รื้อที่ดิน”

“โครงการพัฒนาที่ผ่านมา เหมือนจะให้ประโยชน์กับกลุ่มนักลงทุนจีน คนรวย และกลุ่มคนมีอำนาจในกัมพูชา มากกว่าคนกัมพูชาที่มีฐานะยากจน”

โสพลและครอบครัวมีแผนจะย้ายไปอยู่ที่เกาะรง เขาเพิ่งซื้อที่ดินที่นั่น อีก 5 ปีข้างหน้า เขาอาจจะสร้างบ้าน พาครอบครัวหนีความยากลำบากจากพระสีหนุ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในที่ที่เขาอาจจะมีโอกาสมากกว่าที่เป็นอยู่


หมายเหตุ: ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Author

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ สนใจประเด็นสิทธิมนุยชน และชอบฝังตัวเพื่อฟังเสียงชาวบ้านโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากทำมาหากินผ่านการเขียนข่าวและบทความแล้ว ยังเป็นจิตอาสาคอยลีดกีตาร์เพลงร็อคขับกล่อมผู้คนบนโลกออนไลน์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า