ช่วงปีที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงกลุ่มคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการก่อตั้งองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติของกลุ่ม ‘ทุนจีนสีเทา’ ของ ตู้ห่าว ที่ขยายอาณาจักรธุรกิจท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ยาเสพติด บ่อนพนัน ธุรกิจสถานบันเทิง การแอบอ้างสร้างอิทธิพล ทัวร์ศูนย์เหรียญ และอาจรวมไปถึงเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ ของคนจีนที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ ที่มีศูนย์กลางการหลอกลวงทางออนไลน์จากประเทศเพื่อนบ้าน
กรณีของตู้ห่าวเป็นเพียงหนึ่งในภาพสะท้อนการอพยพโยกย้ายของคนจีน ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทั้งถูกและผิดกฎหมาย เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ทางเศรษฐกิจ สร้างฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การอพยพของคนจีนมายังประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราในห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายครั้ง คนไทยส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับผู้อพยพชาวจีนรุ่นก่อน ภายใต้เรื่องเล่า ‘สื่อผืนหมอนใบ’ หรือ ‘หนีร้อนมาพึ่งเย็น’ ซึ่งเป็นคำนิยามของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อหนีภัยความแร้นแค้นอดอยาก จากสงครามโลกคร้ังที่ 2 และสงครามกลางเมืองของจีน ที่จบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตุง ที่ดูเหมือนจะเป็นแรงผลักให้ชาวจีนอพยพออกจากแผ่นดินใหญ่ในระลอกสุดท้าย ก่อนปิดประตูตายโดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม
คนไทยเรียกผู้อพยพกลุ่มนี้ว่า ‘หัวเฉียว’ (華僑) หรือ ‘ชาวจีนโพ้นทะเล’ (แม้จะมีการอพยพโยกย้ายไปทั่วโลกตั้งแต่สมัยก่อนหน้าแล้วก็ตาม) ในทางตรงกันข้าม เราไม่คุ้นเคยกับคำอีกคำหนึ่งที่อธิบายชาวอพยพด้วยเช่นกัน นั่นคือ ‘ซินอี้หมิน’ (新移民) หรือ ‘ชาวจีนอพยพใหม่’ ซึ่งเป็นพลวัตในการอพยพโยกย้ายของชาวจีนในยุคสมัยปัจจุบัน
‘ซินอี้หมิน’ คือใคร?
ซินอี้หมิน หมายถึง ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพโยกย้ายไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลกภายหลังการเปิดประเทศในปี 1978 ลงหลักปักฐานในประเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้งการถือสัญชาติเดิมหรือได้สัญชาติใหม่ โดยมีเป้าหมายในการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการลงทุน ค้าขาย นำเข้า ส่งออก สอนภาษาจีน ติดตามบุตรหลานที่เดินทางมาศึกษา รวมไปถึงเกิดอาชีพใหม่ๆ เช่น การค้าขายออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม
จากการศึกษาของ รองศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ระบุว่า ซินอี้หมินประกอบไปด้วยคน 3 รุ่นด้วยกัน คือ
- กลุ่มแรก อพยพหลังจากจีนเปิดประเทศและตลอดทศวรรษ 1980 โดยกลุ่มนี้มีฐานะยากจน ทำงานเป็นแรงงานเฉกเช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นก่อน
- กลุ่มสอง อพยพในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นกลุ่มที่มีฐานะดีและไม่ดีปะปนกันไป อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดในทศวรรษก่อนหน้า เป็นทั้งแรงงานเฉกเช่นกับกลุ่มแรกและแรงงานทักษะ
- กลุ่มสาม อพยพในช่วงทศวรรษ 2000 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้มีฐานะดี การศึกษาดี เป็นแรงงานทักษะสูง สามารถลงทุนในต่างประเทศ เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก หรือครูสอนภาษา
หากมองให้เห็นภาพการอพยพโยกย้ายของซินอี้หมินที่ชัดเจน ภาพยนตร์ในปี 1996 เรื่อง ‘Comrades: Almost a Love Story’ หรือ ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ ของ ปีเตอร์ ชาน (Peter Chan; 陳可辛) ผู้กำกับชาวฮ่องกง นำแสดงโดยดาราดังอย่าง หลี่หมิง (黎明; กวางตุ้ง: ไหล่เหม็ง) กับ จางม่านอวี้ (張曼玉; กวางตุ้ง: เจิงมั่นยุค) ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพซินอี้หมินรุ่นแรกที่อพยพออกมาจากแผ่นดินใหญ่ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เพื่อมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จากการเริ่มต้นเป็นแรงงานชั้นล่างในฮ่องกง ก่อนสร้างเนื้อสร้างตัวได้และไปใช้ชีวิตในอเมริกา อันมีเพลงของ เติ้งลี่จวิน (鄧麗君) ราชินีเพลงจีนสากลสมัยใหม่เป็นพื้นหลัง ตามวลีที่ว่า “ที่ใดมีคนจีน ที่นั่นจะมีเสียงเพลงของเติ้งลี่จวิน” (Wherever there are Chinese people, there is the music of Teresa Teng)
หรือหากจะฉายภาพซินอี้หมินกลุ่มสามซึ่งเป็นเศรษฐีจีนผู้มั่งคั่ง อาจมองผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘Crazy Rich Asians’ หรือ ‘เหลี่ยมโบตั๋น’ ในปี 2018 ของ โจนาธาน เมอร์เรย์ ชู (Jonathan Murray Chu) อันมีบรรยากาศเบื้องหลังของชาวจีนอพยพในกลุ่มสาม โดยทั้งหมดทั้งมวลแตกต่างไปจากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Joy Luck Club’ ของ เวย์น หวัง (Wayne Wang; 王穎) ที่นำเสนอภาพชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มหัวเฉียว ผู้หนีภัยสงครามและความยากแค้นลำบากในชีวิตไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพในอีกซีกโลกหนึ่ง
ความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่าง ‘หัวเฉียว’ กับ ‘ซินอี้หมิน’
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของชาวจีนโพ้นทะเลตั้งแต่อดีต เนื่องจากเศรษฐกิจเฟื่องฟูที่ขับเคลื่อนโดยเจ้าอาณานิคม (ยกเว้นสยาม) มีเส้นทางการเดินเรือและการค้า โดยเฉพาะสยามที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาประมาณ 9 ล้านคน (รวมบรรพบุรุษ) อีกทั้งสังคมไทยยังเป็นสังคมที่พวกเขาสามารถปรับตัวและผสมกลมกลืนได้อย่างง่ายดา มากกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่ปัญหาเชื้อชาตินำไปสู่ความขัดแย้งหลายครั้งหลายหน
ชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน โดยสามารถแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้ คือ ‘แต้จิ๋ว’ (潮州人) โดยเฉพาะ ‘แต้จิ๋วนั้ง’ ถือเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง เดินทางอพยพมาเมืองไทยตั้งแต่อดีตสมัยอยุธยา ชาวจีน ‘ฮกเกี้ยน’ (福建人) ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของไทย ชาวจีน ‘ไหหลำ’ (海南人) ‘กวางตุ้ง’ (廣府人) และชาวจีน ‘ฮากกา’ (客家人) โดยในแต่ละกลุ่มใช้ภาษาในการสื่อสารที่แตกต่างกัน เพราะมีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง มีเพียงตัวอักษรตัวเต็มเท่านั้นที่เหมือนกัน ขณะที่ในแต่ละกลุ่มมีการประกอบอาชีพ วัฒนธรรม อาหารการกินที่แตกต่างกันด้วย
ส่วนซินอี้หมินนั้น แม้จะเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่พวกเขาใช้ ‘ภาษาจีนกลาง’ และตัวอักษรย่อ (รัฐบาลจีนประกาศให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการและมีการย่ออักษรในเวลาต่อมา) ในการสื่อสารเป็นหลัก และแทบหาไม่พบการสื่อสารด้วยภาษาถิ่นเหมือนกับพวกหัวเฉียว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหัวเฉียวและซินอี้หมินต่างก็ยังคงยึดถือความขยันขันแข็ง สร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และสืบสานความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างที่เคยเป็นมา แม้หลักคิดทางพุทธศาสนาและความเชื่อแบบขงจื้อจะถูกสลายไปในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมแล้วก็ตาม แต่ด้วยความผสมปนเปและการปรับตัวในสังคมใหม่ ก็อาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมเฉพาะที่ อาจารย์วรศักดิ์นิยามสิ่งนี้ว่า ‘วัฒนธรรมพันทาง’ ที่ไม่ใช่ทั้งวัฒนธรรมสากลและไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิม
ไทย จุดหมายปลายทางยอดนิยมของซินอี้หมิน
ประเทศไทยยุคใหม่นั้น ด้วยความเป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และค่าครองชีพที่ตํ่า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ซินอี้หมินเลือกลงหลักปักฐาน นอกจากนี้ ช่องว่างทางกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชันยังเปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากจุดนี้ได้ ตัวอย่างจากตู้ห่าวที่มีการขอสัญชาติไทย เป็นต้น
ซินอี้หมินในไทยถือเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการลงทุน การส่งออกต่างๆ ทว่า การดำเนินธุรกิจของซินอี้หมินนั้นมักนำมาสู่คำถามว่า ‘ใครได้ประโยชน์’ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักมีความเกี่ยวข้องกับคนจีนแบบรวมหมู่ในไทยด้วยกันเอง เช่น ร้านชำจีน ร้านอาหารจีนสำหรับคนจีน การท่องเที่ยวแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือแม้แต่ธุรกิจสีเทา อย่างบ่อนพนันและผับจินหลิน การอุ้มบุญ การกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร เป็นต้น
การเคลื่อนย้ายเข้ามาของชาวจีนอพยพใหม่ ถือเป็นความท้าทายต่อไทยเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบสำคัญต่อสังคมไทยทั้งด้านบวกและลบไปพร้อมกัน ดังเห็นได้จากหลายกรณีในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่รัฐจำเป็นต้องเข้ามาอุดช่องโหว่ กวดขันการบังคับใช้กฎหมาย และแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อให้ทันต่อปรากฏการณ์ที่กำลังอุบัติใหม่นี้
อ้างอิง:
- Chinese Diaspora Across the World: A General Overview
- ชาวจีนอพยพใหม่ เหมือน-แตกต่าง จากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างไร?
- “ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย