ทรัพยากร มดลูก ชาติ: ในประเทศที่ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย

ในวาระครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้ง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดวงเสวนาหัวข้อ ‘No Man’s Land: ธรรม-ชาติ’ ประกอบด้วย 3 หัวข้อย่อย

No Man’s Land ในที่นี้ หมายถึงพื้นที่สามพื้นที่ พื้นที่หนึ่งคือชนบท พื้นที่หนึ่งคือชาติ และอีกพื้นที่หนึ่งคือมดลูก

ทั้งสามพื้นที่ดูเหมือนจะมีเจ้าของอย่างไร้ข้อกังขา ชนบทเป็นของชาวบ้าน มดลูกเป็นของเพศหญิง ชาติเป็นของประชาชน แต่บริบทในสังคมไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น วงเสวนานี้จึงไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้คำตอบ แต่พยายามทิ้งคำถามมากมายไว้ให้ตระหนักว่า ในสังคมไทยยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องการการพูดถึงและท้าทายอย่างจริงจัง

(จากซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร​.อนุสรณ์ อุณโณ รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ

ยศ สันตสมบัติ: กระบวนการสร้างความยากจนให้ชนบทอย่างเป็นระบบ

ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกริ่นนำถึงหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’ ว่า เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์จะมีคำอธิบายแบบหนึ่ง โธมัส พิเคตตี (Thomas Piketty) ผู้เขียนหนังสือ ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 มองความเหลื่อมล้ำในแบบเศรษฐศาสตร์ว่า เมื่อใดที่ผลตอบแทนจากทุนมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ ก็จะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง เกิดปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา

แต่คำอธิบายความเหลื่อมล้ำในทางมานุษยวิทยาเป็นอีกแบบ

“เวลาที่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ภาษามานุษยวิทยาจะบอกว่า ความเหลื่อมล้ำคือการถูกกีดกันสิทธิ์ เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นภาษาที่เศรษฐศาสตร์ไม่พูดถึง รัฐศาสตร์ก็แทบไม่พูดถึง หรืออาจจะพูดถึงในเรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น แต่การกีดกันสิทธิ์ได้เข้าไปสู่ทุกองคาพยพของสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งวัฒนธรรม”

ศาสตราจารย์ ดร.ยศ พาย้อนกลับไปดูแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าคือจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่โลกของความทันสมัยแบบตะวันตก และเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำ “เมื่อเริ่มมีแผนพัฒนาฯ เราถูกกำหนดโดยฝรั่ง โดยธนาคารโลก แล้วสฤษดิ์ก็เชื่อ ว่าเราต้องเปลี่ยนจากเกษตรเป็นอุตสาหกรรมให้ได้ เพราะฉะนั้นก็นำไปสู่การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม”

“ก็เกิดการปิดล้อมชนบท โดยพลังทั้ง 3 ตัว ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมชายขอบ เสรีนิยมใหม่ในรูปของกลไกตลาด แล้วตัวที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐ (state) ที่กระทำอยู่สามอย่าง คือทำเรื่องการพัฒนา การสร้างอัตลักษณ์ของชาติ ทั้งความเป็นปึกแผ่นของความเป็นชาติพันธุ์ ความเป็นไทย เปลี่ยนจากสยามมาเป็นไทย อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นตัวที่รัฐกระทำ”

“แต่แทนที่ตลาดจะเสรีมากขึ้น อัตราการผูกขาดกลับมากขึ้น เช่นเวลาที่เขาจะสร้างรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบิน เขาประมูลไหม หรือว่าโยนให้ใครเจาะจงไปเลย หรือว่าฮั้วกันเพื่อให้มันได้ อันนี้คือ market economy แบบที่รัฐพยายามกระทำ”

เหล่านี้คือสิ่งที่เข้ามาครอบชนบท ด้วยเหตุที่ว่าชนบทเป็นพื้นที่ของทรัพยากร จึงมีความพยายามพรากทรัพยากรจากชนบทมาหล่อเลี้ยงเมือง ศาสตราจารย์ ดร.ยศ เล่าถึงสิ่งที่พบเจอขณะทำวิจัยที่ชุมชนคลองเตยว่า แม้แต่สลัมในเมืองก็ถูกสร้างมาจากการยึดครองชนบท เช่น การสร้างเขื่อนโดยไม่ได้เงินทดแทน “เพราะฉะนั้นสลัมรุ่นแรกๆ ก็คือ ชาวชนบทที่ถูกถีบออกมา เพราะว่าเขาจะพัฒนาชาติให้เจริญ กระบวนการคิดแบบนี้ดำเนินมาหลายสิบปี และไม่เคยเปลี่ยน”

“ป่าเคยเป็นระบบนิเวศ แต่เมื่อรัฐเข้ามา รัฐไม่เคยมองป่าเป็นระบบนิเวศ แต่มองว่าป่าคือที่ดินที่ยังไม่ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ ฉิบหายเลย พอเจอคำนี้ ป่าทั้งหมดเป็นของรัฐทันทีเลย เพราะว่าชาวบ้านเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ นี่คือกระบวนการที่เข้ามาปิดล้อมเพื่อยึดครอง ภาษาที่เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) เรียกว่า ‘dispossession’ การปล้นทรัพย์ ยึดทรัพย์ มันเกิดขึ้นจากตรงนี้”

ผลกระทบอย่างแรกของการปิดล้อมชนบท ก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเกษตร

อาจารย์ยศอธิบายนิยามคำว่า ‘จน’ ของชนบทคือ ไม่มีข้าว ไม่ใช่เงิน เนื่องจากในสมัยนั้นข้าวสำคัญมากกว่าเงิน แต่พอเกิด ‘Agrarian Transformation’ หรือ ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเกษตร’ ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงระบบผลิตเพื่อเลี้ยงชีพเป็นผลิตเพื่อขาย สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้และการสูญเสียที่ดิน

“เพราะฉะนั้น Agrarian Transformation เป็นสิ่งที่มุ่งจะสร้างความยากจนในชนบท นักเศรษฐศาสตร์มักจะบอกว่านี่คือผลข้างเคียงของการพัฒนา…ไม่ใช่ มันคือเป้าหมายเลย ต้องการสร้างความยากจนให้กับชนบท เพราะว่าต้องการเอาที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้ได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของกรมป่าไม้คืออะไร ไม่ใช่ดูแลป่า หน้าที่ของกรมป่าไม้คือ maximize จำนวนไม้ที่จะขายให้ได้ ถ้าคุณไปเรียนป่าไม้ คุณก็จะได้เรียนการตีตราไม้ การนับลูกบาศก์ไม้ แต่ไม่เคยพูดเรื่องระบบนิเวศ การปลูกทดแทน พวกนี้เป็นแค่วิชาเลือก…ไม่สำคัญ วิชาบังคับคือ ทำอย่างไรจะตีตราไม้ให้เหมาะสม ทำอย่างไรจะตัดไม้ให้ได้ไม้มากที่สุด”

ผลกระทบอีกอย่างของการปิดล้อมชนบทก็คือการรวมศูนย์อำนาจ “ไม่ต้องพูดถึงว่าจะกระจายอำนาจไปหาชนบท อีกร้อยปีก็ไม่มีวัน ถ้าทหารยังอยู่ ระบบราชการยังอยู่ แล้วตอนนี้ระบบราชการแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม ระบบรวมศูนย์ที่กำลังพูดถึงครอบคลุมไปทั้งหมด ทั้งระบบงบประมาณ การจัดการทรัพยากร สิ่งที่เคยเป็นของชาวบ้าน สิ่งที่เขาดูแลมาก่อน รัฐบาลบอกว่าไม่ใช่ ป่าไม่ใช่ของคุณ แต่ตรรกะของชาวบ้านก็คือ คุณจะเป็นเจ้าข้าวเจ้าของป่าได้ คุณจะมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่าได้ คุณจะต้องเป็นสมาชิกของชุมชน ก็คือคุณต้องดูแลป่ามาก่อน”

“หากใช้ตรรกะแบบชาวบ้านไปถามกรมป่าไม้ว่า โคตรพ่อโคตรแม่คุณเคยดูแลป่ามาก่อนรึเปล่า คำตอบคืออะไร นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านโกรธมาก แม่งไม่เคยไปดูแลเลย ชาวบ้านเนี่ยกี่ชั่วโคตรแล้วที่มาดูแลป่าตรงนี้ พอป่าสมบูรณ์ มันกลับเอาไป แฟร์รึเปล่า ป่าตรงไหนดี ป่าตรงไหนสวย กวาดเรียบ”

กระบวนการสร้างความยากจนในชนบทผ่านรูปแบบต่างๆ ทำให้ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ภูมิทัศน์ระบบนิเวศในพื้นที่ชนบทเปลี่ยน เมื่อภูมิทัศน์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป ผลสองอย่างที่ตามมาก็คือ หนึ่ง-การอพยพหรือย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง เพราะการหากินกับที่ดินหรือ land base economy ไม่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนให้ใช้ชีวิตได้ สอง-เมื่อป่าหรือที่ดินถูกเปลี่ยนมือ ความหลากหลายและความมั่นคงของอาหารก็หายไป

“ผมอยากจะบอกว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นกระบวนการที่ทำอย่างมีขั้นตอน อย่างมีแผนการชัดเจน ไม่ใช่เป็นผลข้างเคียงของการพัฒนาเหมือนอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของชนบท มันคือการเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพ มันคือการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิด วิธีทำมาหากิน โลกทัศน์ รวมไปถึงโครงสร้างของชนชั้น”

“โครงสร้างชนชั้น คือโครงสร้างแบบ top-down ชนบทจะพยายามขยับขึ้นมาก็ถูกถีบออกไป เพราะโครงสร้างมันไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง”

วัฒนธรรมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกความเหลื่อมล้ำกัดกินเข้ามา ศาสตราจารย์ ดร.ยศ มองว่า ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมถูกทำความเข้าใจน้อยมาก ทั้งๆ ที่ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคม

“เรามักจะมองว่าวัฒนธรรมคือสิ่งดีงาม ต้องรักษาเอาไว้ แต่วัฒนธรรมเลวร้ายเราไม่เคยพูดถึง ตั้งแต่ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมเผด็จการ มันสอนเด็กให้เชื่อง เมื่อคุณออกจากมหาวิทยาลัย เมื่อคุณถูกเอาปืนจ่อหัว คุณห้ามวิจารณ์นะ มันก็เชื่อง อันนี้คือตัวอย่างของวัฒนธรรมดีงามของบ้านเรา”

“ผมมีความรู้สึกว่าคนไทยรังเกียจชนชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตอนที่มีความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อต่างๆ มันเอาความเป็นชนชั้นกลับมา มันเอาเพศกลับมา ทั้งๆ ที่สมัยก่อนไม่ค่อยมีการเหยียดเพศในชนบท ภาคเหนือภาคอีสานผู้ชายยังต้องแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิงแบบหัวเดียวกระเทียมลีบเลย วัฒนธรรมเดิมปกป้องผู้หญิงอยู่ แต่เมื่อวัฒนธรรมราชการเข้าไป จะประชุมอะไรก็เอาผู้ชายเข้าไปประชุม ผู้หญิงอยู่บ้าน ถูกลิดรอนบทบาทเยอะแยะไปหมด หลังๆ ผู้หญิงก็มาเข้าผีทรงเจ้า เพราะบทบาททางเศรษฐกิจมันหายไป เขาก็ต้องไปหาบทบาทด้านอำนาจในความเชื่อตามประเพณีแทน”

แม้แต่การดูถูกดูแคลนผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าก็ดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว คำว่า ‘ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง’ จึงมักถูกยกขึ้นมาเป็นคำด่าที่เราได้ยินบ่อยๆ ทั้งในละครและในชีวิตจริงจนเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ค่อยมีใครไปท้าทายหรือตั้งคำถาม มันจึงลอยนวลอยู่เช่นนั้น เป็นตัวสะท้อนการมองคนไม่เท่ากันและอธิบายความไม่เท่าเทียมทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม

เมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำกัดกินสังคมไทยไปทั่ว ทางออกคืออะไร?

“ไม่มีหรอกครับ” นั่นคือคำตอบของอาจารย์ยศที่เรียกเสียงหัวเราะจากทั้งห้องประชุม ก่อนอาจารย์จะเสริมต่อว่า “จริงๆ ผมนึกได้อยู่สามทาง”

คำตอบข้อแรกที่ใครๆ พอจะเดาได้ก็คือ ‘Decentralization’ หรือ ‘การกระจายอำนาจ’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการทำให้สถาบันสังคมของท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นผ่านกระบวนการทางวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น การทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระจายอำนาจ สร้างให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

อย่างที่สองคือการ ‘Deconstruct’ วัฒนธรรมไทย หรือการ Deconstruct อำนาจครอบงำทางสังคม ที่อาจารย์ยศยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ถูกทำน้อยเกินไป แต่ควรทำอย่างยิ่ง

สุดท้ายก็คือการ ‘Re-designing’ ระบบราชการ ทหาร ตำรวจ และระบบการศึกษา ซึ่งอาจารย์ปัดตกไปด้วยประโยคเศร้าๆ ติดตลกว่า “ไม่พูดประเด็นนี้ดีกว่า พูดถึงระบบการศึกษาแล้วมันอยากจะร้องไห้”

เอาเป็นว่า ละไว้ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกัน

 

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: ประวัติศาสตร์มดลูกไทยภายใต้การแทรกแซงของรัฐ

รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้หญิงหนึ่งเดียวบนเวทีสนทนาซึ่งจะมาบรรยายหัวข้อ ‘ครรภ์ของชาติ: ร่างกาย เพศวิถี กับการเมือง ว่าด้วยการผลิตซ้ำในสังคมไทย’ โดยอาจารย์บอกว่าเป็นหัวข้อที่มักจะถูกนำเสนอในกรอบคิดที่ว่าด้วย man’s land มากกว่าในแบบของ no man’s land สิ่งที่รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว จะพูดถึงในวันนี้คือ การย้ายตำแหน่งจากการอธิบายเรื่องครรภ์ในประเด็นประชากร สู่พื้นที่ที่เป็น no man’s land จริงๆ คือเรื่องของ ‘มดลูก’

ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับผู้หญิงในสังคมไทย ครรภ์และมดลูกของผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจของชาติ การส่งเสริมการตั้งครรภ์และการควบคุมไม่ให้ตั้งครรภ์นั้นได้ผลัดกันเป็นตัวละครที่ตัดสินความเจริญของชาติ ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ ผู้หญิงถูกนิยามให้เป็น ‘แม่พันธุ์ของชาติ’ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงงาน แต่ในบางช่วงครรภ์ของผู้หญิงก็ถูกผลักให้เป็นต้นเหตุของความด้อยพัฒนาภายใต้วาทกรรม ‘ลูกมากยากจน’

ในขณะเดียวกัน ครรภ์ของผู้หญิงก็ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของอุดมการณ์ศีลธรรมทางเพศและศีลธรรมทางครอบครัว ซึ่งถูกใช้ในการตัดสินว่าการผลิตซ้ำชนิดใดถูกต้องตามครรลอง การผลิตซ้ำชนิดใดละเมิดศีลธรรมของสังคม ดังจะเห็นได้จากการทำแท้งและการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ)

เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว แยกประเภทของครรภ์ออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ‘ครรภ์จักรกล’ คือการใช้ครรภ์เพื่อสร้างหรือจำกัดประชากรของรัฐ และประเภทที่สองคือ ‘ครรภ์ศีลธรรม’ ครรภ์ที่ใช้ในการปกปักรักษาวัฒนธรรมทางเพศของชาติ

ครรภ์จักรกล ในประวัติศาสตร์ถูกจำแนกเป็น 3 ชนิด หรือ 3 ยุคสมัยด้วยกัน “ชนิดแรก ขอเรียกว่าครรภ์อารยะ โดยก่อนการเข้ามาของสูติกรรมสมัยใหม่ ครรภ์ของผู้หญิงในสยามยังอยู่ภายใต้การดูแลของผู้หญิง จนกระทั่งพวกมิชชันนารีตะวันตกนำการแพทย์สมัยใหม่เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอบรัดเลย์ การจัดการมดลูกจึงเป็นพื้นที่แห่งการขับเคี่ยวที่สำคัญ”

คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ของหมอบรัดเลย์ที่ตีพิมพ์ในปี 2385 กล่าวว่า การคลอดบุตรของชาวสยามยุคนั้นมักใช้วิธีวิปลาส ทำให้คนตายเป็นประจำ การใช้ความรู้จากโลกตะวันตกจึงเป็นความรู้ที่วิเศษและควรเชื่อฟัง “ศาสตร์แห่งการบำรุงครรภ์จากตะวันตกถือเป็นศาสตร์สำคัญที่เป็นไฟส่องนำทางให้ชาติมีอารยะ เป็นรากฐานสำคัญของการแพทย์สมัยใหม่ในสยาม แม้จะถูกต่อต้านจากสตรีราชสำนักในยุคแรก แต่ต่อมาชนชั้นนำก็ได้มองเห็นว่า การหันเข้าหาการบำรุงครรภ์แบบตะวันตกจะทำให้สยามสามารถพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับโลกตะวันตกได้”

“ครรภ์ประเภทที่สอง ขอเรียกว่า ครรภ์ผลิตภาพ มีเป้าหมายสำคัญในการเร่งรัดการเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อเพิ่มการผลิตให้ประเทศ และนำพาประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ยุคสมัยของครรภ์ผลิตภาพ เริ่มในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปริมณฑลส่วนตัวของปัจเจกกลับกลายเป็นปริมณฑลที่รัฐเข้ามาแทรกแซงและครอบงำมากที่สุด ในยุคสมัยนั้นมีนโยบายต่างๆ มากมายเกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและเรียกร้องให้ผู้หญิงสืบพันธุ์เพื่อชาติ เช่น การสมรสหมู่ การประกวดแม่ลูกดก ฯลฯ

“บอกได้ว่ามันเป็นยุคที่มดลูกของผู้หญิงต้องทำงานอย่างหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของมดลูกไทย”

แต่ปรากฏว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในภาวะสงครามที่ข้าวยากหมากแพง ชาติเป็นอุดมการณ์ที่ฟุ่มเฟือย กินไม่ได้สำหรับประชาชน ครรภ์ผลิตภาพจึงยุติบทบาทลง นำไปสู่ครรภ์ประเภทที่สาม

“ครรภ์พัฒนา เป็นครรภ์ในยุคที่จำนวนบุตรที่คลอดโดยมดลูกของผู้หญิงกลายเป็นตัวชี้วัดภาวะด้อยพัฒนาของประเทศต่างๆ เป็นสัญญาณของความยากจน เป็นตัวสะท้อนภาวะโลกที่สามที่จำเป็นต้องถูกจัดการ นอกจากนั้น มดลูกกับภัยคอมมิวนิสต์ยังถูกนำมาโยงกันเป็นคู่สัมพันธ์ที่แปลกประหลาด การมีลูกมากเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ หวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ จึงมีบทบาทสำคัญในการยุติบทบาทของมดลูกผู้หญิงในไทยและผู้หญิงในโลกที่สาม ผ่านวาทกรรมสวยหรูที่เรียกว่าการวางแผนครอบครัว”

การวางแผนครอบครัวให้กับประเทศโลกที่สาม สหรัฐฯ พยายามทำให้มีกลไกทั้งหมด 3 รูปแบบ หนึ่ง-กำหนดแนวทางและเทคโนโลยีที่ใช้ สอง-การนำเทคโนโลยีราคาถูก ล้าสมัย และไม่ใช้แล้วในโลกที่หนึ่งมาใช้ในโลกที่สาม ซึ่งสร้างผลกระทบต่อร่างกายผู้หญิง

สาม-กลไกสุดท้าย คือสิ่งที่เรียกว่าการทำยอด เช่น เร่งการทำหมันเพื่อลดจำนวนการเกิดแบบก้าวกระโดด บางหมู่บ้านจะจัดเป็นเทศกาลใหญ่โต แจกของเพื่อให้ผู้หญิงมาขึ้นเตียงและถูกทำหมันในเวลาหนึ่งวัน ยอดที่ทำนี้ก็จะช่วยทำให้ได้งบประมาณ ในยุคนั้นไทยจึงเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการคุมกำเนิดของโลก คือลดอัตราการเกิดจาก 2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.1 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียง 1 ทศวรรษ

“นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเจอกับปัญหาในปัจจุบัน คืออัตราการทดแทนประชากรต่ำกว่าอัตราการกำเนิด ผลักให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย” อาจารย์ปิ่นแก้วกล่าว

นอกจากครรภ์จะทำหน้าที่ในการผลิตหรือไม่ผลิตเพื่อชาติแล้ว ครรภ์ยังต้องทำหน้าที่ในเชิงศีลธรรมด้วย ครรภ์อีกประเภทที่รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว นำมาเป็นตัวแทนของการถกเถียงเรื่องศีลธรรมของครรภ์จึงเป็น ‘ครรภ์ศีลธรรม’

“ในหลายทศวรรษแห่งการต่อสู้ของขบวนการผู้หญิงในไทยเพื่อเรียกร้องสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ เราจะพบว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ขณะที่การถกเถียงเรื่องการทำแท้งในต่างประเทศ ประเด็นจะอยู่ที่ว่าในขณะนั้นเด็กมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกแทนเด็กหรือไม่ ส่วนของไทย ประเด็นจะไม่ใช่เรื่องศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าชีวิตอย่างเดียว แต่ผนวกเอาศีลธรรมทางเพศไปด้วย พูดง่ายๆ ผู้ที่ตั้งครรภ์และอยากเอาลูกออก จะถูกประณามว่าสำส่อนทางเพศ เป็นพวกที่ตั้งครรภ์นอกสมรส”

หากถามว่าทำไมขบวนการสตรีนิยมในไทยจึงไม่สามารถที่จะต่อสู้กับตรรกะทางด้านศีลธรรมได้ รองศาสตราจารย์ ดร​.ปิ่นแก้ว อธิบายว่า เพราะตรรกะเป็นตัวสร้างวัฒนธรรมทางเพศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง การทำแท้งจึงทั้งละเมิดจารีตทางเพศ ละเมิดอุดมการณ์ครอบครัว และไม่ใช่แค่ขัดต่อพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังขัดต่อความเป็นไทย ขัดต่อความเป็นชาติอีกด้วย เมื่อเจอกำแพงแบบนี้ อำนาจการต่อรองของฝั่งสตรีนิยมจึงค่อนข้างต่ำ

ครรภ์ศีลธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือครรภ์เพื่อการพาณิชย์ หรือการตั้งครรภ์แทน เรียกได้ว่าเป็นครรภ์ที่ท้าทายอุดมการณ์ใหญ่ของรัฐ และเป็นครรภ์ที่สร้างข้อถกเถียงทางศีลธรรมไม่น้อยไปกว่าการยุติการตั้งครรภ์ทั้งในไทยและระดับสากล ว่าเราจะมองการตั้งครรภ์เพื่อพาณิชย์อย่างไร คล้ายๆ กับดีเบตเรื่องการค้าประเวณี ว่าตกลงมันเป็นงานหรือการขูดรีด การที่ผู้หญิงนั้นยอมถูกขูดรีดร่างกายตัวเองเพื่อผลิตลูกให้คนอื่น เป็นรูปแบบของแรงงานประเภทหนึ่งในระดับที่ลึกมากกว่าแรงงานทั่วไป หรือจริงๆ แล้วมันเป็นทางเลือกของผู้หญิงในการสร้างพื้นที่ในการอยู่รอดของตัวเอง

“ฝ่ายรัฐที่ออกกฎหมายมาควบคุมก็จะบอกว่านี่เป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของชาติ ครรภ์ไม่ควรเป็นสิ่งที่เอาไปขาย ผู้หญิงก็จะแย้งว่าเป็นการทำบุญประเภทหนึ่ง เขาช่วยให้คนอื่นมีลูกได้ เราจึงพบว่านี่คือการเผชิญหน้ากันระหว่างศีลธรรมสองประเภท คือศีลธรรมของรัฐ หรือศีลธรรมของการพยายามบำรุงรักษาวัฒนธรรมทางเพศของชาติ กับศีลธรรมของผู้หญิงสามัญชน ซึ่งมองว่าการพยายามค้นหาแนวทางเล็กๆ เพื่อสร้างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเป็นการทำบุญชนิดหนึ่งเท่านั้น”

 

อนุสรณ์ อุณโณ: ทำไมชาติจึงไม่เป็นที่รัก?

รองศาสตราจารย์ ดร​.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ปิดวงเสวนาด้วยหัวข้อ ‘จะทำเพื่อชาติอย่างไร ในเมื่อชาติไม่เป็นธรรม’ ที่มีคำถามตั้งต้นมาจากคำว่า ‘ชังชาติ’ ที่หลายคนได้ยินและเห็นผ่านตาอยู่บ่อยๆ ในสมรภูมิทางการเมือง

ตรงกันข้ามกับชังชาติ ก็คงเป็นวลีจำพวก ‘ยอมตายถวายชาติ’ หรือ ‘พลีชีพเพื่อชาติ’ อาจารย์อนุสรณ์กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้วนเวียนอยู่ทั่วสังคมไทย ตั้งแต่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจนถึงประชาชนธรรมดาที่ใช้ชีวิตปกติทั่วไป

“หลังรัฐประหารในปี 2557 ชาติถูกตั้งคำถามมากขึ้น มีการแสดงออกซึ่งอาจจะถูกเรียกว่าไม่รักชาติมากขึ้น คำว่า ‘ชังชาติ’ จึงถูกพูดขึ้นมา เป็นคำที่คิดขึ้นโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นอกจากจะประกาศตัวว่าเป็นพรรคต่อต้านลัทธิชังชาติแล้ว ยังมีการนิยามถึงส่วนประกอบของลัทธิชังชาติด้วย ซึ่งก็ได้แก่การดูถูกสถาบัน ไม่ส่งเสริมศาสนา ดูถูกวัฒนธรรมประเทศตัวเอง ประจานประเทศตัวเอง”

คำถามที่น่าสนใจจึงเกิดขึ้นว่า อะไรที่ทำให้ประชาชนพวกหนึ่งพร้อมพลีชีพเพื่อชาติ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกพวกหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ชาติอย่างหนักจนถูกตีตราว่าเป็นพวกชังชาติ

“ผมเข้าใจว่าความรู้สึกที่จะรักหรือผูกพันกับชาติมันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เลยพยายามทำความเข้าใจและอธิบายมัน ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุที่ทำให้ชาติไม่เป็นที่รักนั้นมีอยู่สองส่วน จริงๆ อาจจะมีมากกว่านี้ แต่อยากทดลองอธิบายด้วยสองส่วนนี้ก่อน”

หนึ่ง-เพราะมันเป็นชาติที่มีแต่คนไทย สอง-เพราะมันเป็นชาติที่ไม่มีประชาชน

“หนึ่ง-เพราะมันเป็นชาติที่มีแต่คนไทย ถ้าไปดูกระบวนการสร้างชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการขยายลัทธิอาณานิคมของฝรั่งเศสเข้ามาในฝั่งอินโดจีน และพยายามเข้ามาในไทย โดยใช้ข้ออ้างว่าประเทศไทยมีคนลาวและคนเขมร ดังนั้นเพื่อเผชิญหน้ากับตรรกะในการใช้เชื้อชาติเป็นข้ออ้างในการเข้ามาขยายอาณานิคมในเขตไทย ชนชั้นนำสยามในรัชกาลที่ 5 จึงนำเสนอแนวคิดขึ้นมาใหม่ว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าคุณจะพูดภาษาถิ่นแบบไหน วัฒนธรรมท้องถิ่นคุณเป็นอย่างไร แต่ถ้าอยู่ในเขตสยาม ทุกคนสังกัดอยู่ในชาติไทยทั้งหมด ตราบเท่าที่คุณมีคุณสมบัติสองอย่าง หนึ่ง-สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ สอง-มีความจงรักภักดีต่อสถาบันมหากษัตริย์”

ทว่าการสร้างชาติในลักษณะผนวกรวมเช่นนี้กลับอยู่ได้เพียงรัชสมัยเดียว เพราะในรัชกาลที่ 6 วิธีการสร้างชาติก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นการผนวกรวมโดยไม่สนใจภาษาหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง ก็กลายเป็นการสร้างชาติในลักษณะกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเพียงชาติเดียว มีการดำเนินนโยบายที่เป็นชาตินิยมแบบทางการ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภาคบังคับ การโฆษณาชวนเชื่อ การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่

“ถามว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดถูกกันออกไปมากที่สุด ก็จะพบว่าเป็นกลุ่มชาวจีน ในสมัยที่เข้ามาแรกๆ ในรัตนโกสินทร์ก็ดูประหนึ่งว่าจะมีเสรีภาพ สามารถขยับฐานะทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากแรงงานเป็นพ่อค้า เป็นแนวหน้า เป็นเจ้าเมือง” แต่ต่อมาเส้นทางของคนจีนในไทยไม่ราบรื่นนัก มีการกีดกันคนจีนผ่านการประท้วงจนเกิดการก่อจลาจล ด้วยเหตุผลที่ว่าคนจีนพยายามครอบงำเศรษฐกิจในไทย แล้วยังยึดโยงตัวเองเข้ากับแผ่นดินแม่ สำคัญตัวเองสูงกว่า รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนสยาม คนสยามในพื้นที่จึงพยายามที่จะผลักคนจีนออกไป

กระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นโยบายสร้างชาติในยุคสมัยนี้เข้มข้นมาก ตั้งแต่การประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ “ฉบับที่น่าสนใจและนำมาสู่แรงกระเพื่อมคือฉบับที่ 3 ที่ฟังเหมือนดูดี เพราะมันบอกว่าทุกคนจะเป็นคนไทยเหมือนกันหมด มีการยกเลิกการเรียกคนไทยที่ผูกกับความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไทยใต้ ไทยเหนือ ไทยอิสลาม เหลือเพียงคนไทยอย่างเดียว แต่อีกแง่หนึ่งคือการลบความแตกต่างออกไป ส่วนฉบับที่ 10 ที่ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายตามสมัยนิยมแบบตะวันตก ก็มีประกาศของเทศบาลเมืองสงขลา ปี 2485 เกี่ยวกับว่าวัฒนธรรมไทยเป็นยังไง ห้ามทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปลงกับกลุ่มคนที่เป็นมลายู ทั้งถูกห้ามใส่หมวก ห้ามโกนหัว คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการต้อนรับ นี่จึงเป็นการสร้างชาติแบบพยายามที่จะเปลี่ยนกลุ่มคนต่างๆ ให้เป็นอันเดียวกันโดยที่อาจจะมีตะวันตกเป็นตัวตั้ง หรือเอาชาติไทยเป็นตัวตั้ง แล้วกลืนคนอื่นเข้าไป”

ความพยายามในการกลืนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในเขตแดนของไทยให้กลายเป็นไทยเหมือนๆ กัน ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยมา และกรณีที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นกรณีของชาวมลายูนั่นเอง อย่างเช่นเรื่องของหะหยีสุหลง นักสิทธิมนุษยชนชาวมลายูในไทยที่ถูกจับด้วยข้อหา ‘คิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง’ ก่อนจะหายสาบสูญหรือถูกบังคับให้หายสาบสูญ หรือกรณีตัวอย่างที่เป็นเพื่อนของผู้บรรยาย ที่มีความประสงค์จะกรอกเอกสารในช่องเชื้อชาติว่าเป็น ‘มลายู’ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ จึงต้องจำยอมกรอกว่าเชื้อชาติไทยแทน

“กระบวนการสร้างชาติที่ผ่านมามักวางอยู่บนคำว่า ชาตินี้มีแต่คนไทย มันได้สร้างบาดแผล หรือไปกดทับคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวเขา คนจีน แม้แต่คนมลายูก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นมลายูได้ คุณจำเป็นที่จะต้องเป็นคนไทยในประเทศนี้ นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมชาติจึงไม่เป็นที่รักของคนจำนวนหนึ่ง”

สาเหตุอย่างที่สอง เพราะว่าชาตินี้เป็นชาติที่ไม่มีประชาชน

“มันเป็นชาติที่เน้นความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ประชาชน ความมั่นคงของรัฐต้องแลกกับความผาสุกและความปลอดภัยของประชาชนเสมอ ไปดูในรัฐธรรมนูญก็ได้ ประชาชนถูกแยกออกไปจากรัฐ ถ้าไปดูหมวดสิทธิและเสรีภาพ มันมีแต่คำว่า ตราบเท่าที่ไม่เป็นภัยกับความมั่นคงของรัฐ คุณจัดประชาชนไว้ตรงข้ามกับรัฐได้ยังไง ในเมื่อมันควรจะเป็นรัฐประชาชาติ รัฐประเทศนี้ไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยประชาชน รัฐจึงถีบประชาชนออกไป และสามารถสังเวยทุกอย่างได้เพื่อความมั่นคงของรัฐ”

“กฎหมายพิเศษจำนวนมาก ตั้งแต่กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในปี 2551 พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ในปี 2548 มันประกาศขึ้นมาได้เสมอ และประชาชนจำเป็นจะต้องยอมให้เขาลิดรอนสิทธิ์ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือสิทธิด้านการจัดการทรัพยากรที่เป็นของรัฐทั้งหมด อำนาจการจัดสรรที่ดินทรัพยากร สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ พอไปเจอกับกฎหมายลูกต่างๆ ของกรมป่าไม้ รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมายอะไรกับหน่วยงานรัฐเหล่านี้ เพราะเขาจะเป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมด”

นอกจากการจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณประจำปีก็ดูเหมือนจะไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้งด้วยเช่นกัน เมื่อปี 2561 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 3.4 แสนบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่รัฐบาลกลับเทงบประมาณไปให้กระทรวงกลาโหมถึง 2.3 แสนล้านบาท

“ในขณะที่เกษตรกรยากจน กระทรวงเกษตรฯ ได้งบแค่ 1 แสนล้าน กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลคนทั้งประเทศได้แค่ 1.4 แสนล้าน กระทรวงพาณิชย์ได้ 7.5 พันล้าน และกระทรวงแรงงาน ได้แค่ 6 หมื่นล้าน

“แม้แต่อำนาจอธิปไตย ประชาชนมีเพียงแค่คูหาเลือกตั้งสำหรับกาเพื่อบอกว่าอยากได้ใครมาดูแลประเทศ ระบบก็ถูกออกแบบมาให้ไม่เคารพประชาชนอีก อย่างระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นระบบพิสดารที่ประเทศอื่นเขาเคยใช้ในอดีตแล้วพบว่ามันไม่เวิร์กไปแล้ว แต่เราก็เอามาใช้ เท่านั้นไม่พอ เรายังมีระบบวุฒิสภาจากการแต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหล่านี้ทั้งหมดหมายความว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกควบคุมอยู่”

ส่วนความมั่งคั่งของชาติก็ไม่ได้เป็นของประชาชนอีกเช่นกัน แต่เป็นของกลุ่มชนชั้นนำ จากตัวเลขการกระจายรายได้ซึ่งอาจารย์บอกว่า “เป็นตัวเลขที่คลาสสิกมาก” ในปี 2561 คนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีส่วนแบ่งรายได้ถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนจนครึ่งหนึ่งของประเทศมีส่วนแบ่งเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ และชนชั้นกลาง 40 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่ง 34 เปอร์เซ็นต์

“นโยบายทวงคืนผืนป่าที่มาพร้อมกับการคืนความสุขในช่วงรัฐประหารใหม่ๆ แต่ปัจจุบันนโยบายนี้มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี 4 หมื่นกว่าคดี แต่มีคนที่มั่งคั่งเข้าไปใช้ประโยชน์จากผืนป่าถูกดำเนินคดีไหม ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมแน่นอน”

แล้วทางเลือกคืออะไร? อาจารย์อนุสรณ์เสนออยู่สามทาง “หนึ่ง-จำเป็นต้องสร้างชาติใหม่ ให้เปิดกว้างและยืดหยุ่นขึ้น ปัจจุบันเรามีชาติที่มีฐานที่แคบและแข็งตัวมาก แล้วก็มีแนวโน้มที่จะแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันจำกัดด้วยความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่รัฐอีก แต่คือกลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองส่วนหนึ่งที่ใช้รัฐรักษาอำนาจและประโยชน์ของตัว ไม่ใช่รัฐในความหมายจริงๆ ด้วยซ้ำ”

“สอง-จำเป็นต้องมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน อันนี้ต้องกลับไปดูที่รัฐธรรมนูญ เพราะเราจำเป็นจะต้องเขียนกติกากันใหม่ ซึ่งตอนนี้ผมก็ทำคล้ายๆ เป็นคณะรณรงค์เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาอยู่”

“และอันสุดท้ายก็คือ เราจะไปให้พ้นจากชาติและชาตินิยมได้ไหม ที่ผ่านมาเคยมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งบอกว่า ถ้าหากรูปแบบสถาบันการเมืองอย่างชาติ หรือจิตสำนึกจำพวกชาตินิยมมันล้าสมัยและไม่เป็นที่พึงประสงค์เพราะนำไปสู่การเกลียดชังแล้ว เราพอจะหาสถาบันทางการเมืองและรูปของสำนึกอื่นได้ไหม หนึ่งในแคนดิเดตนั้นคือ cosmopolitic หรือแนวคิดพลเมืองโลก แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทางออกเสียทีเดียว เพราะบางคนก็บอกว่ามันเป็นของอภิสิทธิ์ชน”

“ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบ แค่อยากจะบอกว่าเราเจอชาติแบบนี้ ชาติที่มีแต่คนไทย ชาติที่ไม่มีหรือไม่เห็นหัวประชาชน แล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร ถ้าไม่สร้างชาติใหม่ ก็ต้องจินตนาการให้พ้นไปจากชาติแบบเดิม”

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า