คุยกับ สุริชัย หวันแก้ว: อารมณ์ในความเหลื่อมล้ำกับเหตุผลสำคัญของความฝันร่วม

ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสถิติตัวเลขหรือสภาพไร้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ พลังของอารมณ์ และความตระหนักรู้

ข้อสังเกตของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่สะท้อนผ่านบทความ ‘ภาพรวมความเหลื่อมล้ำกับความขัดแย้ง’ สอดคล้องกับบทสรุปจากการประชุม  World Social Science Report 2016 ที่ขยายความหมายของความเหลื่อมล้ำให้กว้างไกลไปกว่ามิติทางเศรษฐกิจตามความเข้าใจเดิม

แต่หากพิจารณาให้รอบด้าน ประเด็นความเหลื่อมล้ำครอบคลุมปริมณฑลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตผู้คนถึง 7 มิติ

1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

2. ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3. ความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม

4. ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง

5. ความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม

6. ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

และ 7. ความเหลื่อมล้ำทางความรู้

ทุกมิติของความเหลื่อมล้ำล้วนโยงใยซึ่งกันและกัน หากใช้ภาษาของ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเหมือนตาข่ายของปัญหาที่โยงใยกันในระดับโลก เมื่อประเทศไทยไม่ได้ดำรงอยู่อย่างลำพังบนโลก สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การใช้อำนาจใดๆ ย่อมมีผลกระทบทั้งในระดับชีวิตและนโยบาย

ในฐานะหัวหน้าโครงการ ‘ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม’ ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) WAY พูดคุยกับ ศ.สุริชัย เพื่อทำความเข้าใจ ‘ตาข่ายปัญหาของความเหลื่อมล้ำ’ เพื่อสร้างพื้นที่ของความรู้ความเข้าใจ ‘อารมณ์ในความเหลื่อมล้ำ’ ที่ดูเหมือนจะเด่นชัดจับต้องได้ภายใต้สถานการณ์ ‘ไม่ปกติ’ ของประเทศ

กระบวนการพัฒนาประเทศไม่สามารถดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วย ‘อำนาจพิเศษ’ ที่แผ่คลุมสังคมไทยอยู่ในตอนนี้

เพราะความกลัวไปด้วยกันไม่ได้กับความฝัน โดยเฉพาะความฝันร่วมของสังคมที่มีต่ออนาคต

โลกเข้าใจประเด็นความเหลื่อมล้ำอย่างไร แล้วสังคมไทยมีองค์ความรู้หรือความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างไร สอดคล้องกับความเข้าใจของโลกหรือไม่

ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในพื้นที่การศึกษาค้นคว้าในพื้นฐานเดิม รวมๆ ก็เรียกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โลกคาดหวังว่าการติดต่อเชื่อมโยงกันหรือที่เรียกว่า connectivity ที่เรียกว่า logistic เป็นโลกที่เชื่อมถึงกันหมด โลกที่มีการเชื่อมต่อแบบนี้ทำให้มีความหวังว่าน่าจะช่วยให้โลกมีความเสมอกันมากขึ้น โลกเคยมีความหวังแบบนี้

แต่ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา มีข้อสรุปจากองค์การการเงินระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ธนาคารโลก ว่าความเข้าใจนี้ผิด เขามองว่าโลกาภิวัตน์ทางการค้าโลกาภิวัตน์ทางด้านเทคโนโลยีสามารถช่วยให้โลกคึกคักได้ก็จริง แต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในตัวมันเอง

มิหนำซ้ำประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำที่มาจากลัทธิล่าอาณานิคมข้ามทวีปสมัย 400-500 ปีก่อน ก็ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือของประเทศที่แข็งแรงกว่า ประเทศที่แข็งแรงกว่าสร้างระบบ กติกา และควบคุมโลก เช่น ระบบจดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

เป็นที่เข้าใจกันมากขึ้นว่าในโลกนี้มีระบบทรัพย์สินทางปัญญา ระบบเทคโนโลยี ระบบการกำกับควบคุมเงินตราของโลก กติกาเหล่านี้ก็อยู่ในมือของประเทศที่เจริญกว่า เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำในโลกมันจึงซ้อนกันหลายชั้น

ส่วนความเข้าใจประเด็นความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เราสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ก็จะพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ การกระจายรายได้ซึ่งก็พูดกันมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3-4 ความหวังของการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เพื่อจะดึงให้ท้องถิ่นมีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น โครงการชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็หวังจะให้ศูนย์กลางความเจริญซึ่งเดิมจำกัดอยู่แค่กรุงเทพฯกระจายไปที่อื่นบ้าง

ความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำของเราจึงวนอยู่กับเรื่องรายได้ การกระจายความเจริญ แต่ความเหลื่อมล้ำนอกพื้นที่งานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็คือความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมและทางวัฒนธรรม เช่น ความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การได้เปรียบเสียเปรียบทางสังคม การที่คนบางกลุ่มถูกเลือกปฏิบัติ จะเป็นด้วยปัจจัยด้านชาติพันธุ์หรืออะไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและวัฒนธรรมก็จะไม่ค่อยชัดเจนในสำนึกความเข้าใจของสังคมไทย แต่ข้อขัดแย้งในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนก็มองเป็นเรื่องศาสนา แต่จริงๆ แล้วมันมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงด้านความรู้สึกของการเลือกปฏิบัติ ใครคิดแตกต่างก็อาจจะถูกจับจ้อง ถูกมองว่าเป็นฝ่ายก่อการร้าย เป็นต้น

สิ่งนี้เป็นฐานเดิมของความไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมและทางวัฒนธรรม อันที่จริงถ้าย้อนไปในปี 2523 ที่มีคำสั่ง 66/2523 ก็ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าเราต้องปรองดอง เราต้องต้อนรับคนซึ่งถูกบีบคั้นให้หนีเข้าป่ากลับบ้านเมืองโดยไม่ต้องไปลงโทษเขา อันนี้เป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของสังคมไทยเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าเราก็ลืมๆ ไปแล้ว เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ความทรงจำเราต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ก็คล้ายๆ กับลืมๆ ไป กระแสโลกาภิวัตน์ก็เป็นกระแสที่แรงกว่า เราหวังว่าการค้าการขายการติดต่อ รวมไปถึงการคมนาคมที่มีการเชื่อมต่อกัน จะช่วยให้เราลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็ทำได้บางส่วนบางด้าน แต่ไม่ได้แปลว่าทำให้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมดีขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งอันนี้คือปัญหาเรื่องไม่เป็นธรรม ทำไมคนบางส่วนจึงเป็นฝ่ายได้อยู่เรื่อยๆ ทำไมคนบางส่วนถึงลำบากอยู่เรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏเข้าไปในความรู้สึกจึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา

หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด อาจารย์มองเห็นความเข้าใจของสังคมต่อความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ความเข้าใจของสังคมไทยเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นคำถามที่น่าพิจารณาร่วมกัน พูดก็พูดเถอะ ผมคิดว่าเราสนใจเรื่องความแตกต่างด้านรายได้เป็นที่ตั้ง ตอนนี้พอมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ การที่คนถูกเลือกปฏิบัติ เราไม่ค่อยนำมาโยงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นความเข้าใจแบบองค์รวมของเราต่อความสัมพันธ์ในสังคม ก็ไม่ค่อยทำให้เกิดเป็นความเข้าใจที่แข็งแรงหนักแน่นเท่าไหร่

คำถามก็คือ เรามองเรื่องความรู้สึกด้านสังคม วัฒนธรรม กับเศรษฐกิจ ว่ามันเกี่ยวโยงกันหรือไม่

สิ่งที่กระตุ้นเรารุนแรงที่สุดก็คือความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นระลอกใหม่ของการตื่นตัวต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำที่อาจจะกลายไปเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เพราะฉะนั้นความสนใจต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำในระดับนโยบายหลังจากที่มีการรัฐประหารก็ดูจะชัดเจนมากขึ้น ก็สอดคล้องกับความรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำในระดับโลกที่เขาว่ากันมา เพียงแต่ความเข้าใจเชิงลึกต่อเรื่องนี้ก็แล้วแต่ว่าจะถกกันอย่างไร

ทำไมอาจารย์จึงเสนอว่า หลังรัฐประหารคนรู้สึกตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ภายหลังรัฐประหาร ผมคิดว่ามันมีความสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้นนะ อันนี้น่าสนใจ น่าวิเคราะห์เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร

ผู้คนสนใจกันว่าความเหลื่อมล้ำอาจจะเป็นที่มาของการอ้างเรื่องความอึดอัดไม่พอใจต่อระบบการเมือง อึดอัดไม่พอใจต่อระบบยุติธรรม เช่น ทำไมจึงมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’ ทำไมผู้กระทำความผิดบางกลุ่มบางพวกจึงได้รับผลลัพธ์อย่างหนึ่ง ทำไมคนที่อยู่อีกสังกัดหนึ่งของสังคมจึงได้ผลลัพธ์อีกแบบหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นที่มาของความรู้สึกเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในเรื่องของความยุติธรรม

กรณีของสามจังหวัดภาคใต้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ยุคหลังถึงได้มีความพยายามปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ มีคนรวบรวมสถิติไว้เยอะพอสมควร ที่พบว่าการจองจำผู้ต้องสงสัยในหลายลักษณะ มีปัญหาหลายเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

กระบวนการยุติธรรมเองก็มีการทบทวนตนเองหลายอย่าง เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการสร้างความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นเชื้อไฟของความคับข้องใจ มันกลายเป็นเชื้อของการสร้างการเมืองแบบแยกขั้ว ซึ่งฝ่ายที่เข้ามายึดอำนาจรัฐประหารก็ดูเหมือนจะเข้าใจเรื่องนี้อยู่ ประกอบกับการที่ประเทศไทยไปประชุมระดับโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน พลเอกประยุทธ์ก็เคยไปประชุมเมื่อปี 2558 ไปประชุมในการกำหนดวาระของโลก ที่ประชุมก็ยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำในโลกมันเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของโลกในการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

ประเทศไทยลงนามข้อตกลงร่วมกับเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งเห็นตรงกันว่าต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ ประสบการณ์ในประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันถึงการมีอยู่ของความเหลื่อมล้ำ ในระดับโลกก็ทำข้อตกลงและกำหนดเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งก็ย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามาอีก แต่การจะทำให้เกิดเป็นความเข้าใจอย่างเป็นระบบ เป็นความเข้าใจที่แข็งแรง ต้องอาศัยการสร้างกระบวนการวิจัยและกระบวนการทำนโยบายที่มีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ประสบการณ์ของประเทศและเป้าหมายระดับโลก เป็นโจทย์ของโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ให้รัฐบาลแก้แต่ฝ่ายเดียว แน่ล่ะว่ารัฐบาลควรจะแก้ แต่ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้แก้ได้แต่ผู้เดียวหรอก รัฐบาลเป็นผู้แก้ในความหมายนโยบาย ถ้ารัฐบาลเป็นฝ่ายคอยแก้ปัญหาแต่ผู้เดียว บางทีรัฐบาลอาจจะเคยชินกับการสั่งการมากไป ก็กลายเป็นว่าไปสร้างความเหลื่อมล้ำซ้ำเข้าไปอีก โลกของความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันเป็นอย่างนั้น แค่ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจด้วยว่าความเหลื่อมล้ำโยงใยกับบทบาทของทุกฝ่าย

นอกจากความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ มีความเหลื่อมล้ำด้านไหนที่เราควรศึกษาและทำความเข้าใจ

ด้านแรกที่คนคุ้นเคยมากคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ซึ่งเราไม่ค่อยดึงเข้ามาเชื่อมโยง ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำด้านที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับสิทธิ ทางด้านชาติพันธุ์ ภาษา เช่น ทำไมภาษาบางภาษาถึงไม่ได้รับการยอมรับ พูดในห้องเรียนก็ไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ก็โยงไปเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม

มันมีความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่งที่เข้าใจกันมากขึ้นในระยะหลังก็คือ ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง ที่โยงกับเรื่องโอกาสทางการเมือง เรียกว่าความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ก็โยงเรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส โอกาสจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้

ความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อม ทำไมคนบางกลุ่มบางฝ่ายถึงมีโอกาสใช้ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน เช่น ทรัพยากรทางด้านชายทะเล ชาวเลอยู่กับทะเลแต่ไม่มีโฉนด ครั้นตอนยุคหลังมีการออกโฉนด คนที่เป็นชาวเลซึ่งเคยอยู่ที่นั่น มีหลุมฝังศพของญาติตนเอง ปู่ย่าตายายตนเอง แต่กลับเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ เพราะว่าโฉนดตรงชายหาดกลายเป็นไปออกให้กับบริษัทเอกชน อย่างเช่นกรณีที่ภูเก็ต

มิติความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ เช่น พื้นที่บางพื้นที่หาหมอยากมาก บางพื้นที่มีหมอ 1 คนต่อประชากรแค่ 1,000-2,000 คน มันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งมาจากภาษีของบ้านเมือง ทำไมการจัดสรรบริการสาธารณะให้กับประชาชนจึงไม่เป็นธรรม ก็ทำให้ต้องคิดกันมากเหมือนกันว่าโรงพยาบาลก็ดี ระบบสุขภาพก็ดี เราจะลดความเหลื่อมล้ำในแง่พื้นที่ได้อย่างไร

ช่วงหลังมานี้ มิติความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้รับความสนใจกันมากขึ้น เพราะเราไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีลักษณะหลายประเทศซ้อนอยู่ในประเทศเดียว ผู้คนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะกลายเป็นเหมือนกับพลเมืองชั้นสอง

ความเหลื่อมล้ำอีกด้านที่น่าสนใจก็คือ ความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูลข่าวสาร และความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ เราสนใจมาก โลกยุคปัจจุบันก็สนใจเรื่องนี้กันมาก การแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำทางวัตถุบางทีมันใช้เวลานาน แล้วก็เป็นเรื่องทางโครงสร้าง ครั้นจะเอาของไปแจกกันอย่างเดียว รัฐบาลบางรัฐบาลก็อาจจะใจดี เอาของไปแจก แต่ว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้แก้ความเหลื่อมล้ำอะไรหรอกครับ อาจจะสร้างปัญหาหลายอย่างเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำต่างๆ อาจจะแก้ได้ถ้าหากเข้าใจความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ มันจะเป็นมิติที่ทำให้คนเข้าใจกันและกันมากขึ้น ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ที่ผมพูดก็คือ คนที่ใช้น้ำโดยไม่รู้ว่าน้ำมาจากไหน หรือคนที่ใช้ไฟฟ้าแต่ไม่รู้ว่าไฟฟ้าที่ตัวเองใช้มันได้มาจากการสร้างเขื่อนที่บ้านของใคร เรากำลังใช้ประโยชน์จากการแบกภาระของใคร ถ้าหากเราทำให้เกิดความเข้าใจความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ มันจะเป็นหนทางทำความเข้าใจว่าตัวเองกำลังได้เปรียบอยู่นะ เพราะฉะนั้นคุณอาจจะมีหน้าที่บางอย่างเพื่อลดความรู้สึกของผู้อื่นที่แบกภาระอยู่ แล้วบางทีอาจจะยอมเสียภาษีเพิ่มขึ้นใช่มั้ยครับ อย่างนี้เป็นต้น

ความเหลื่อมล้ำด้านวัตถุรวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ที่พูดกันไปตอนแรก ก็เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญ แต่ลึกๆ ลงไปเราสนใจสังคมที่อยากจะใช้ความรู้และข้อมูลไปแก้ไขปัญหา อาจจะต้องสนใจความเหลื่อมล้ำด้านความรู้เป็นสำคัญ และมันจะทำให้ลดความรู้สึกที่ว่าก็ฉันเกิดมาวาสนาดี ฉันก็เลยได้เปรียบ อันนี้มันไม่ใช่ แต่การที่เราได้เปรียบคนอื่นเป็นเพราะเราอยู่บนการเสียสละของส่วนอื่นในสังคม

ผมคิดว่าความไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็เป็นการทับถมปัญหาต่อคนที่ด้อยโอกาสในสังคม

การที่เราสร้างโรงไฟฟ้าโดยที่ไม่สนใจว่าโรงไฟฟ้าสร้างผลกระทบต่อใครบ้าง เราสนใจแต่ว่าสร้างโรงไฟฟ้าแล้วได้ไฟฟ้ามาใช้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ความเข้าใจเหมือนกัน ถ้าสังคมไม่เข้าใจว่าความสะดวกทั้งหลายมันมีการเสียสละ มันมีการแบกรับภาระ สังคมแบบนี้ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูลข่าวสารเป็นตัวซ้ำเติมความไม่เป็นธรรมทางด้านภาระต่อสิ่งแวดล้อม และความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งความน้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งความรู้สึกไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม และสังคมก็จะไม่ค่อยร่มเย็นเท่าไหร่หรอก

ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าประเทศร่ำรวย ประเทศยากจน ก็ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันหมด สภาพการณ์ที่บางท้องที่กลายเป็นที่แบกภาระความเสี่ยงอันตราย บางท้องที่สัมผัสแต่ความสะดวกสบาย แต่ต่างคนต่างไม่รู้ที่ไปที่มาของความสะดวกสบายเหล่านั้น สิ่งนี้เป็นโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำระดับโลก และเป็นโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งก็เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันแบบนี้

พูดได้ไหมว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่อาจารย์ฉายภาพให้เห็น แก้ไขไม่ได้ด้วยการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลทหาร

ที่ผมพูดไป มันเหมือนกับตาข่ายของปัญหาความเหลื่อมล้ำในโลกที่โยงใยกัน คำถามของคุณก็คือต้องแก้ที่การเมืองใช่หรือไม่ บางคนก็คิดว่าแก้ที่การเมือง ปัญหาคือเราให้ความหมายการเมืองว่าอะไร บางคนบอกว่าอยู่ที่อำนาจ แก้ที่อำนาจสิ ก็ยึดอำนาจกันใช่มั้ยครับ มีอำนาจแล้วแก้ได้มั้ย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่อีก

ผมคิดว่าลึกๆ ลงไปแล้วเราอยู่ในระบบที่เชื่อมโยงกันหมด แล้วเราไปจับอันใดอันหนึ่งโดยที่ไม่ยอมเข้าใจว่าเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ไม่ได้นะ บางคนคิดว่ายึดอำนาจ มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ใช่มั้ยครับ ก็นึกว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์

ยกตัวอย่าง กรณีความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในเรื่องของชาวบ้านรอบเหมืองทองที่จังหวัดเลย รัฐบาลที่มีอำนาจก็อยากจะแก้ปัญหานี้ ช่วงหนึ่งเขาก็คิดว่าต้องฟังบริษัทเหมืองเยอะหน่อย แต่พอตอนหลังก็ใช้อำนาจไปปิดเหมือง ซึ่งก็เหมือนจะดี เพราะชาวเหมืองหรือคนรอบเหมืองได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครยอมรับว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบ หรือผลกระทบสุขภาพมันโยงกับการมีอยู่ของเหมืองขนาดไหนและอย่างไร ไม่มีใครช่วยรับผิดชอบดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรื่องราวยืดเยื้อเป็นสิบปี พอมีการจัดการปัญหาด้วยคำสั่งของคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารด้วยการปิดเหมือง ก็พบปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก เพราะมีกติกาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่บริษัทเหมืองอ้างว่ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามการตกลงเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ โดยไปปิดเหมืองเขาโดยไม่มีเหตุผลชอบธรรม เรื่องนี้ก็กำลังเป็นเรื่องเรียกร้องอุทธรณ์หาความยุติธรรมระดับโลก ซึ่งดีไม่ดีรัฐบาลก็อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเสียค่าปรับอะไรต่อมิอะไร

กลับกลายเป็นว่า อำนาจเด็ดขาดสั่งได้ทุกอย่างด้วยมาตรา 44 แต่อย่าลืมว่าเราต้องอยู่ในโลกกว้างที่มีกติกา กติกาที่ว่านี่เป็นกติกาในโลกทุนนิยม เพราะฉะนั้นจะอาศัยอำนาจรัฐล้วนๆ แบบเดิมก็ดูจะไม่ได้แล้ว

เราอยู่ในโลกที่ต้องตั้งคำถามว่า อำนาจจริงๆ คืออำนาจอะไร ผมถกเรื่องนี้ เพราะคิดว่าอำนาจที่สำคัญในการอยู่ในโลกที่มีสันติสุขร่วมกัน ต้องเป็นอำนาจความรู้ความเข้าใจที่มีร่วมกัน หรือพูดง่ายๆ คืออำนาจของความรู้

อำนาจของความรู้ในสังคมก็เช่น เราไปนึกว่าชาวบ้านเขาไม่สบาย เขาป่วย แล้วเราก็ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามเสียจนต้องใช้วิธีแก้ไขปัญหาอย่างที่เป็นอยู่โดยไปปิดเหมืองเฉยๆ โดยที่ไม่เตรียมการศึกษาด้านอื่นประกอบไปด้วย มันก็ไม่พอนะครับ ลำพังการตัดสินใจด้วยอำนาจอย่างเดียวมันไม่ได้ อำนาจสั่งปิดเหมือง หรืออำนาจที่ไม่ให้ชาวบ้านพูด ไม่ให้ชาวบ้านเรียกร้อง ก็ดูจะได้ผลแบบฉาบฉวย แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ผลอะไร คนที่ตกเป็นเหยื่อของสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาก็ต้องได้รับการดูแล เพราะเป็นหน้าที่ของราชการ หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลเรื่องนี้

ถ้าเราไม่ดูแลสภาพการณ์ทั้งหมดนี้อย่างเท่าทัน ก็ถือว่าความรู้เราไม่เท่าทันกับสถานการณ์โลกาภิวัตน์ รัฐจะต้องปรับบทบาทใหม่ รัฐไม่ได้มีหน้าที่ห้ามคนพูด หรือเป็นผู้แก้ปัญหาโดยใช้อำนาจของตนเอง แต่จริงๆ แล้วรัฐในยุคโลกาภิวัตน์ที่สังคมมีความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่ในโครงสร้าง จะต้องปรับบทบาทตนเองให้เป็นรัฐที่สร้างความแข็งแรงให้แก่สังคม รัฐจะต้องเอื้อให้เกิดการสร้างความรู้ร่วมกันในสังคม รัฐไม่ใช่ผู้ดลบันดาลหรือเป็นผู้สั่งการ รัฐแบบนั้นมันไปกับโลกทุนนิยมปัจจุบันไม่ได้แล้ว

การเมืองก็ต้องเปลี่ยนความหมาย ไม่ใช่การเมืองของการชนะแข่งขันอย่างเดียว แน่นอนมันต้องมีการเลือกตั้ง ไม่มีเลือกตั้งความชอบธรรมของอำนาจมาจากไหนล่ะ ก็ต้องให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องมีการตรวจสอบความชอบธรรมจากประชาชน ขณะเดียวกันอำนาจก็มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ต้องเป็นอำนาจของความรู้ความเข้าใจ อำนาจของการยอมรับนับถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนทุกคนควรจะมีโอกาสได้ดูแลชีวิตของตนเอง

โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมแบบที่อาจารย์ทำอยู่ จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างไร

โครงการวิจัยในชุดนี้ เป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายคนมีความตื่นตัว บางคนสนใจว่า เมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษมันสร้างความเหลื่อมล้ำหรือไม่ บางคนสนใจเรื่องคนจนในเมือง แล้วเมืองประเทศต่างๆ มีคนจนน้อยลงอย่างไร หรือบางคนก็สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคนสูงวัย แม้แต่ชุดโครงการเกี่ยวกับคนพิการก็สนใจการวิจัยเรื่องระบบการจัดศูนย์บริการให้คนพิการ จะเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมได้หรือไม่

แต่ละเรื่องไม่ใช่การวิจัยเพื่อจะเอาไปเสนอผลงานเพื่อจะตีพิมพ์อย่างเดียว แต่เป็นการวิจัยเพื่อจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลและความเข้าใจที่ลึกขึ้น ข้อมูลที่จะได้จากการวิจัยหลายส่วนก็หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาของทั้งฝ่ายเจ้าทุกข์ ฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายธุรกิจ ซึ่งต้องมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนเหล่านี้จะหาทางแก้ไขด้วยกัน

การวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายอย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ในสมัยหนึ่งเราเคยมีความเข้าใจว่าการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็เหมือนกับการวิจัยหลายๆ เรื่อง ที่ควรจะนำมาสู่ข้อสรุปว่าให้ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่อยู่ในรัฐสภานำไปแก้ไขตามที่เราวิจัยค้นคว้ามา ซึ่งอันนี้ก็หมายความว่าวิจัยไป 1-2 ปี เสร็จแล้วก็ทำเป็นเอกสารเสนอต่อฝ่ายที่จะแก้ปัญหา ความเข้าใจเรื่องการวิจัยเพื่อเสนอข้อปรับปรุงทางนโยบายก็จะเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ

แต่ในโครงการของเราก็พบว่าวิธีวิจัยแบบนั้น หรือแนวทางการเข้าใจเรื่องวิจัยเพื่อเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายแบบนั้นอย่างเดียวมันไม่ค่อยพอแล้วในยุคปัจจุบัน ถ้าจะให้แน่ใจได้มากกว่านั้นเราควรจะทำให้การวิจัยเป็นตัวสร้างกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในโจทย์ของปัญหานั้นๆ ด้วย แล้วก็ทำให้ปฏิสัมพันธ์ทุกฝ่าย บางคนเขาไม่อยากคุยกันเราก็ทำให้เขาคุยกันไม่ได้นะครับ แต่ถ้างานวิจัยได้ไปสะกิดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มองเห็นแง่มุมที่เขาเคยละเลยจนกลายเป็นสร้างปัญหา ถ้าเขามีความสนใจอยากปรับปรุงวิธีทำงานของเขา สามารถร่วมเวทีถกกันได้ ฟังผลงานวิจัยและฟังการวิจารณ์ผลงานตัวเอง แล้วก็อาจจะอยากปรับปรุงวิธีการทำงานของตัวเองได้

ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างฝ่ายเจ้าทุกข์กับฝ่ายซึ่งอยากจะแก้ปัญหา กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นักวิจัยเองก็ได้เป็นผู้อาศัยข้อมูลเป็นตัวเปิดเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ชาวมหาวิทยาลัยเองก็สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทุกข์กับผู้ที่เผชิญปัญหา ฝ่ายที่เป็นข้าราชการซึ่งบางทีก็โดนคำสั่งให้แก้ปัญหาบางอย่างให้เสร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งบางอย่างก็แก้ไม่ได้ เราเข้าใจได้เลยว่าข้าราชการก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นในเรื่องเวลาเหมือนกัน เข้าใจได้ด้วยว่าฝ่ายการเมืองบางทีก็ถูกคาดหวังสูงมาก ว่าจะต้องแก้ไขปัญหาบางอย่างที่ยากยิ่ง

กระบวนการพัฒนากับการลดความเหลื่อมล้ำมันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนการวิจัยน่าจะเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านความรู้ความเข้าใจโดยปริยาย แต่ต้องยอมรับก่อนว่า เราต้องมีพื้นที่ของการเคารพกัน พูดอีกอย่างก็คืออำนาจต้องไม่ได้ทำหน้าที่สั่งการให้คนอยู่ในความเกรงกลัว แล้วหวังจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ – ทำไม่ได้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันแก้ยากอยู่แล้ว ถ้าเราทำให้สังคมอยู่ในความเกรงกลัว ไม่มีเสรีภาพที่จะถกกันพูดกัน บรรยากาศร่วมทุกข์กันจริงๆ ก็เกิดยาก บรรยากาศของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันก็ไม่ง่าย อาจจะยากมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นกระบวนการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำนอกจากจะเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบายแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันด้วย เพื่อให้เราหลุดจากความคิดเรื่องอำนาจนิยม ให้เราหลุดจากสังคมซึ่งบอกว่าถ้ามีอำนาจจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งมันแก้ไม่ได้ โลกซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่ซับซ้อนแค่ภายในประเทศ หากเราไม่เปิดพื้นที่ให้คนกล้าคิดกล้าคุยถึงความหวังต่ออนาคตร่วมกัน ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งหมักหมมมากขึ้น แล้วก็จะเป็นที่มาของปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

 

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า