นักวิจัยชาวบ้าน: ‘กริชรามันห์’ ศาสตราภรณ์แห่งวัฒนธรรมมลายู

ในอดีต สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คืออาณาจักรปาตานีที่สืบทอดมาจากอาณาจักรลังกาสุกะ ประชากรส่วนใหญ่มีอัตลักษณ์และดำเนินชีวิตด้วยวัฒนธรรมมลายู นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ จึงมีขนบธรรมเนียมแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ทั้งภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชื่อความศรัทธา

‘กริช’ คือหนึ่งในความเชื่อ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมุสลิมมลายู ในอดีตเคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ไม่เพียงเฉพาะชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม แต่ยังเลื่องลือไปถึงอีกหลายประเทศทางตอนใต้ เรื่องราวความเป็นมาของกริชรามันห์แม้จะยังไม่มีหลักฐานจารึกที่แน่ชัด แต่มีปรากฏทั้งในตำนาน เรื่องเล่า ศิลปะการต่อสู้และการแสดง บนความเชื่อทางศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่น กริชเป็นทั้งอาวุธประจำตัว อาภรณ์ประดับกาย วัตถุมงคล ไปจนถึงเครื่องรางของขลัง ทั้งเจ้าเมือง ขุนนาง ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถมีกริชไว้ในครอบครองได้ไม่ต่ำกว่า 1 เล่ม หรือบางครอบครัวอาจมีกริชประจำตระกูลที่สืบทอดส่งต่อกันมา

ปี 2482 หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดตั้งสภาวัฒนธรรม ออกนโยบายรัฐ 12 ประการ สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับชนชาวไทย เช่น ให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย กำหนดวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู และข้อห้ามอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นช่างทำกริชหรือบรรดาผู้ที่มีกริชไว้ในครอบครองต่างหวาดกลัวว่าจะถูกทางการไทยเพ่งเล็งด้วยข้อหาครอบครองอาวุธร้ายแรง ความนิยมการใช้กริชในฐานะอาวุธประจำกาย เครื่องประดับ และใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมตามวิถีมุสลิมจึงค่อยๆ หายไป ชาวบ้านเริ่มเก็บกริชประจำตระกูลไว้ในที่ลับ บ้างลืมเลือนกันไป บ้างขายต่อให้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่า ช่างทำกริชจำนวนไม่น้อยต้องจำใจล้มเลิกอาชีพที่ตนรัก หรือหากยังฝืนทำต่อก็ต้องทำอย่างหลบซ่อน และนำออกมาใช้ต่อเมื่อมีงานบุญใหญ่

ตีพะลี อะตะบู

ในช่วงปี 2532 ตีพะลี อะตะบู ครูภูมิปัญญา ยอดฝีมือช่างทำกริช และหัวหน้าคณะวิจัยชุด ‘การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา’ ขณะนั้นเป็นครูสอนศาสนา ครูสอนวิชาชีพที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และทำงานรับจ้างทั่วไปโดยเฉพาะงานช่าง สมัยนั้นมีพ่อค้าชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกริชจากคนในพื้นที่จำนวนมาก นานวันเข้ากริชโบราณที่มีมาแต่เดิมก็ยิ่งหายากและร่อยหรอไป เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ วันหนึ่งกริชรามันห์อาจหลงเหลือเพียงแค่ตำนาน ครูตีพะลีจึงคิดทดลองทำกริชขึ้นใหม่ โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและลวดลายโบราณของชาวมลายูมุสลิม

“เมื่อก่อนมีพ่อค้าชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามาติดต่อขอซื้อกริชในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านก็ขายต่อให้ในราคาถูกๆ แทบไม่ค่อยมีใครเก็บไว้ เราก็เลยเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า ถ้าเราทำกริชใหม่ทดแทนของเก่าที่สูญหายไปก็น่าช่วยอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ เลยลงมือทดลองทำ ลองผิดลองถูก พอเริ่มมีช่องทางขายได้ เราก็เปิดเป็นกลุ่มสหกรณ์ให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาช่วยกันทำ จากนั้นจึงเกิดเป็นโครงการพัฒนากลุ่มอาชีพขึ้น”

ครูตีพะลีเล่า

ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายชั้นต้นจากตีพะลี ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยชาวบ้านที่ปลุกปั้นกริชรามันห์ให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่เกือบทำให้กริชรามันห์สูญหายไปจากวัฒนธรรมมลายู กระทั่งมีการฟื้นฟูจนผู้คนมองเห็นคุณค่า และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ในฐานะจิตวิญญาณ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และอาชีพ ผลลัพธ์ที่ได้คือ กระบวนการวิจัยที่เกิดขึ้นจากการร่วมคิดร่วมทำของชาวบ้านในช่วงปี 2543-2545 และสามารถผลิตเป็นผลงานเชิงวิชาการในปี 2546 โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน ทว่าสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าความสำเร็จของการทำวิจัยครั้งนี้คือ การพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรมกริชรามันห์และอาชีพช่างทำกริชที่เกือบสูญสลายไปกับกาลเวลา ให้กลับมารุ่งโรจน์และเป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถสืบทอดมรดกภูมิปัญญาไว้ได้ถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์กริชรามันห์กริชมีหลายสกุล เช่น กริชกลุ่มบาหลี มดุรา กริชแบบชวา กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ กริชแบบบูกิส กริชแบบสุมาตรา กริชแบบซุนดรา (ซุนดัง) และกริชแบบสกุลช่างสงขลากริชที่เมืองรามันห์ คือกริชสกุลช่างปัตตานี หรือคนในพื้นที่เรียกว่า ‘กริชตะยง’ เป็นกริชสกุลที่นิยมใช้ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส บางส่วนของสงขลาและสตูล มักทำเป็นหัวนกพังกะหรือนกกระเต็น มากกว่าหัวกริชสกุลอื่น นกพังกะคือนกที่มีตัวสีเขียว ปากยาวสีแดงอมเหลือง คอมีสีขาวบ้าง สีแดงบ้าง นอกจากนี้ยังทำเป็นรูปไก่ หัวงูจงอาง และรูปคน ส่วนใหญ่สลักด้วยไม้หรือกระดูกปลา(ที่มา: งานวิจัยเรื่อง ‘การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา’ ปี 2546)

1. ก่อนสูญสิ้นศิลปะคนรามันห์

ตั้งต้นจากปัญหา ค้นหาจุดอ่อน

งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นโครงการราวปี 2543 แต่กระบวนการก่อตั้งกลุ่มทำกริชรามันห์ โดยเฉพาะกริชแบบปัตตานี (ตะยง หรือจอเต็ง) ผ่านการบ่มเพาะ ฝึกฝน ฟื้นฟู หาความรู้ มาตั้งแต่ปี 2541-2542 ขณะนั้นมีผู้เข้าร่วมกลุ่มจำนวน 20 คน และมีสมาชิกที่มีฝีมือประกอบอาชีพได้ 12 คน

ปัญหาที่พบขณะนั้นตามคำบอกเล่าของตีพะลีคือ ยังเป็นการทำกริชอย่างสะเปะสะปะ ทำแล้วขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ราคาถูก ส่วนใหญ่เน้นการทำกริชตามรูปแบบที่ผู้ว่าจ้างจากมาเลเซียและอินโดนีเซียนำตัวอย่างมาให้ ซึ่งกริชที่ทำขึ้นใหม่ยังไม่มีคุณภาพ ทั้งยังขาดแคลนเครื่องมือ และการบริหารจัดการด้านการตลาดยังไม่เป็นระบบชัดเจนนัก การทำงานของกลุ่มในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นการทำกริชเพื่อตอบสนองตลาดภายนอกเป็นหลักและยังอยู่ในช่วงพัฒนาทักษะฝีมือ

“กลุ่มเรามาจากกลุ่มพัฒนาอาชีพ กศน. เริ่มจากความสนใจแล้วพัฒนาเป็นกลุ่มอาชีพ แต่พอทำไปขายก็ไม่ได้ราคา สินค้าไม่ตรงสเป็ก ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน ลูกค้ามีไม่มาก ไม่เป็นที่รู้จักในตลาด สิ่งเหล่านี้คือปัญหา เป็นปัญหาที่ไม่มีใครจะช่วยได้ รัฐเองก็คงไม่เอาสินค้าเราไปขายโดยที่สินค้าเราไม่ได้สเป็ก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ด้วยตัวเอง” ตีพะลีกล่าว

ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับที่มีทีมนักวิจัยชุดแรกจาก สกว. หรือ Node (ผู้ประสานงานวิจัย) กำลังค้นหากลุ่มอาชีพเพื่อจะให้การสนับสนุนด้านวิชาการและกระบวนการวิจัย

แม้ว่า Node หรือผู้ประสานงานวิจัยจะเข้าให้ข้อมูลกับกลุ่มอาชีพแล้ว แต่คำถามตั้งต้นของชาวบ้านอันเปรียบเสมือนกำแพงบางอย่างมีอยู่ว่า ‘วิจัยคืออะไร?’

“เดิมเรามักเข้าใจว่า งานวิจัยเป็นของนักศึกษาปริญญาตรีหรือโทเขาทำกัน แต่หลังจากเราได้เรียนรู้และลงมือทำ ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าการวิจัยไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ชาวบ้านเองก็สามารถทำงานวิจัยได้ เราจึงเอาวิธีการนี้มาใช้กับกริชรามันห์ เพื่อจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเราให้สืบทอดต่อไป และพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของคนในวงกว้าง”

ความหมายของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ Community Based Research ผู้วิจัยก็คือเจ้าของเรื่อง เจ้าของปัญหา ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เมื่อกลุ่มอาชีพกริชรามันห์เข้าใจตรงกันแล้ว จึงเห็นพ้องที่จะเดินหน้าเข้าสู่โลกของการวิจัยตั้งแต่ปี 2543 โดยมีนักวิจัยรุ่นบุกเบิก 17 คน

สืบทายาทช่างกริช“ผมเป็นทายาทสืบทอดการทำกริชจากบรรพบุรุษ ซึ่งอาจารย์ตีพะลีก็เป็นทายาทสืบทอดกริชเหมือนกัน บรรพบุรุษเราทำกริชอยู่แล้ว แต่ช่วงนั้น (การจัดตั้งสภาวัฒนธรรม สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เขาถือว่ากริชเป็นอาวุธร้ายแรง ไม่มีใครกล้าเก็บไว้ที่บ้าน ไม่ได้ถูกจัดโชว์เหมือนตอนนี้ ช่างตีกริชต้องตีแบบหลบๆ ซ่อนๆ กริชถูกมองว่าเป็นเหมือนอาวุธมีด จึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป“ตอนเด็กๆ ที่ยังไม่รู้กฎหมาย ผมมองว่ากริชเป็นของสูง ต่างกับมีดทั่วไป เวลาแขวนที่ผนังดูแล้วน่าเกรงขาม ประกอบกับผู้เฒ่าผู้แก่มักจะพูดเสมอว่ากริชเป็นของสูง จะไปหยิบเล่นไม่ได้ ทำให้เราระลึกอยู่ในใจว่า กริชไม่ใช่ของธรรมดา“อาจารย์ตีพะลีเป็นคนที่พยายามจะอนุรักษ์กริชไว้ พวกเราก็เข้าร่วมกลุ่มกับอาจารย์ ช่วยกันอนุรักษ์ และคิดว่าถ้าจะให้กริชอยู่ตลอดไป เราก็ต้องผลิตขึ้นใหม่ด้วย เพราะถ้ารอแต่จะเก็บของโบราณไว้ก็คงจะไม่ทันการณ์ เราก็คิดกันว่าจะสืบทอดความรู้ และให้มีการผลิตกริชใหม่ๆ ในรูปแบบโบราณเพื่อสืบทอดต่อไป”อีกหนึ่งคำบอกเล่าถึงที่มาและภูมิหลังการทำวิจัยเรื่องกริชรามันห์ของ มาหามะเย็งอาบีดิง พุดารอ หนึ่งในนักวิจัยรุ่นบุกเบิก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำใบกริชและปลอกสวมกั่นปัจจุบันมาหามะเย็งอาบีดิง มีอาชีพกรีดยาง ทำสวน พร้อมๆ กับทำกริชเป็นอาชีพเสริม แต่สร้างรายได้มั่นคง ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อสั่งจองอย่างต่อเนื่องทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ“กริชคือทุกอย่างสำหรับผม ตั้งแต่เริ่มรักกริชและรักอาชีพทำกริชแล้ว ถึงแม้บางครั้งเราต้องไปทำงานอย่างอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำกริช มันเป็นความรักที่ฝังอยู่ในใจไปเสียแล้ว” มาหามะเย็งอาบีดิง กล่าว

1 ปี กับการสกัดโจทย์วิจัย

เส้นทางการทำกริชไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ครูตีพะลีเล่าว่า เพียงช่วงเวลาในการคิดและสกัดโจทย์วิจัยต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ช่วงเวลานี้ตีพะลีในฐานะประธานกลุ่มเริ่มเชิญชวนสมาชิกในกลุ่มอาชีพและเยาวชนที่สนใจมาเข้าร่วมทำวิจัย นอกจากนี้ยังประสานกับโต๊ะครู ครูสอนศาสนา (อุสตาส) โรงเรียนมะหัดดะวะห์อิสลามิยะห์ เข้าร่วมคิดโจทย์วิจัยร่วมกับทีมวิจัยจาก สกว. จำนวนสมาชิก ณ เวลานั้นนับได้ราว 80 คน

เป็นหมายที่วาดหวังไว้ในการตั้งคณะวิจัยชาวบ้าน ประการที่หนึ่ง เพื่อจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มที่สนใจทำกริช (สมาชิกใหม่) และยกระดับฝีมือสมาชิกกลุ่มทำกริช (กลุ่มเก่า) ประการที่สอง ถอดบทเรียนประสบการณ์เพื่อจัดทำคู่มือการทำกริชรามันห์ของกลุ่มทำกริชบ้านบาลูกาลูวะ ตำบลตะโละหะลอ และประการสุดท้าย เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปะการทำกริชรามันห์ และพัฒนาเป็นอาชีพเสริมของกลุ่มต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระบวนการเริ่มต้นเพื่อค้นหาโจทย์วิจัยนี้ มีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่เลิกล้มกลางทาง ทำให้เหลือนักวิจัยหลักอยู่ 17 คน ในจำนวนนี้แบ่งตามประเภทความชำนาญ คือ ช่างทำหัวกริช ช่างทำใบกริช ช่างทำฝักกริช ช่างทำปลอกสวมกั่น และช่างประดับกริช

“เป็นธรรมดาที่พวกเราไม่เคยจัดกิจกรรมอะไรมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาเรียนรู้พอสมควร พยายามตอบโจทย์ให้ได้ว่าเราจะทำวิจัยทำไม เพื่ออะไร มีจุดประสงค์อย่างไร สุดท้ายก็ทำให้รู้ซึ้งว่า งานวิจัยคืออย่างนี้ มีประโยชน์อย่างนี้ ทำให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความคิดกว้างไกล งานจะยั่งยืน มีการคิดค้น สรุปข้อมูลอย่างชัดเจน” ตีพะลีกล่าว

หลักจรรยาบรรณช่างกริชรามันห์ในกระบวนการต้นน้ำของการทำวิจัยอย่างหนึ่งคือ ขั้นตอนการคัดเลือกนักวิจัย ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีความสนใจใฝ่หาความรู้เท่านั้น แต่ต้องมีความอดทนและอุตสาหะ เช่นเดียวกับการคัดเลือกช่างทำกริช ได้มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัวในการเป็นช่างทำกริชรามันห์ และต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของช่างทำกริช 25 ข้อ อย่างเคร่งครัดสำหรับตีพะลี และคณะวิจัย จรรยาบรรณช่างกริชมิได้เป็นเพียงแค่หลักในการปฏิบัติตนเท่านั้น หากยังหมายถึงหลักปรัชญาที่แฝงไว้เป็นเสมือน ‘หางเสือ’ ที่จะคอยกำหนดทิศทางการดำรงชีวิตของช่างทำกริช อันเป็นกฎที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยปัจจุบันได้ย่นย่อเหลือ 25 ข้อ ดังนี้

1) ก่อนลงมือทำกริชแต่ละครั้ง ทั้งผู้ทำและผู้สั่งทำจะต้องทำใจให้บริสุทธิ์เสมอภูมิปัญญาข้อนี้บ่งบอกถึงความจำเป็นในการมีจิตสำนึกที่ดีในการทำกิจกรรมร่วม การมีความนึกคิดที่จะทำกริชให้ได้ดังหวัง ถ้าเป็นมุสลิมสมัยโบราณทั้งผู้ทำกริชและผู้สั่งทำกริชจะนัดหมายกันช่วงถือศีลอด (ปอซอ) สักวันสองวัน สุดแล้วแต่กำหนด แล้วจึงจะลงมือทำกริช
2) จะไม่ทำกริชขึ้นมาหากไม่มีคนสั่งทำช่างทำกริชห้ามทำกริชขึ้นมาตามใจชอบโดยไม่มีคนสั่ง เพราะช่างทำกริชเป็นเพียงผู้รับใช้ในงานบริการ ในสมัยโบราณการบริหารจัดการเรื่องกริชเป็นอำนาจของเจ้าเมือง
3) จะไม่ทำอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่าหากไม่มีคนสั่งทำในสมัยโบราณนั้นสัตว์ป่าเป็นสัตว์คุ้มครองอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าเมือง ฉะนั้น การทำเครื่องมือการล่าสัตว์ป่า อย่างเช่น สา ตะขอ กอซอ สำหรับใช้กับช้าง หากไม่มีคำสั่งจากเจ้าเมืองก็จะทำขึ้นมาเองไม่ได้
4) ห้ามช่างทำกริชมอบกริชให้กับผู้ที่ไม่ได้สั่งทำในสมัยโบราณจะไม่สามารถทำกริชขึ้นมาได้โดยพลการ และการทำให้กับผู้ใดผู้หนึ่งโดยไม่มีผู้สั่งนั้น ก็ถือว่าช่างทำกริชมีจิตใจไม่บริสุทธิ์ ประจบสอพลอ ยกเว้นการทำให้กับเจ้าเมือง เพราะถือว่าทำด้วยความจงรักภักดี
5) ห้ามช่างทำกริชโอ้อวดผลงานโดยไม่มีคนสั่งหรือขอดูกริชที่ทำเสร็จแล้วช่างทำกริชจะไม่ให้คนอื่นดู และสงวนสิทธิ์ไว้ให้ผู้สั่งทำเท่านั้น เว้นแต่จะได้รับคำยินยอมจากเจ้าของกริช
6) ห้ามช่างทำกริชรับเงินค่าจ้างมัดจำล่วงหน้าการทำกริชเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อทำกริชเสร็จแล้ว รับเงินค่าจ้างแล้ว ก็ถือว่าจบเรื่องทันที ไม่มีภาระผูกพันที่จะนำไปสู่ความทุกข์ใจต่อไปได้
7) หากมีเด็กและผู้ใหญ่มาสั่งทำกริชพร้อมๆ กัน จะต้องรับทำของเด็กก่อนเสมอการทำกริชเป็นการบริการที่สนองความต้องการของผู้น้อย หากเปรียบเทียบสมัยนี้ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาสั่งทำกริชพร้อมๆ กับนายอำเภอ ช่างทำกริชจะต้องเลือกทำให้ผู้ที่อ่อยด้อยกว่าก่อนเสมอ
8) ห้ามช่างทำกริชติดสิ่งเสพติดหรือของมึนเมาทุกชนิดในสมัยโบราณนั้นมีฝิ่นเป็นสิ่งเสพติด ทำให้เสียคน เสียงาน เสียเมือง ภูมิปัญญาถือว่าบุคคลที่ติดสิ่งเสพติดเป็นบุคคลที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ระงับอารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น จึงห้ามช่างทำกริชติดสิ่งเสพติด ปัจจุบันบุหรี่ก็ถือเป็นสิ่งเสพติดที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้อื่นได้
9) ห้ามสอนวิชาการทำกริชให้แก่คนที่ไม่ปกติ คนที่มีประวัติที่ไม่ดี หรือคนที่อยู่ระหว่างลงทัณฑ์การสืบทอดการทำกริชนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องคัดเลือกบุคคลที่จะสืบสานความรู้นี้ต่อไป ฉะนั้น จึงไม่ควรให้วิชาการทำกริชตกไปอยู่กับบุคคลที่ไม่ปกติ หรือคนร้าย หรือบุคคลที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว
10) ห้ามสอนวิชาการทำกริชให้แก่มุสลิมที่ไม่ละหมาดหรืออ่านอัลกรุอานไม่เป็นในสมัยโบราณถือว่า มุสลิมที่ไม่ละหมาดและอ่านอัลกรุอานไม่เป็นนั้นเป็นคนดิบ หรือถ้าเปรียบเทียบกับชาวพุทธก็คือเป็นคนที่ไม่เคยบวชเรียนมาก่อน
11) ห้ามทำกริชที่ลงอักขระหรืออายัตอัลกรุอาน ให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมเป็นการกำหนดให้มีการปกป้องรักษาศิลปะการทำกริชว่าอย่าให้มีคำครหา หรือเกิดความเข้าใจผิด หรือมีการใช้กริชผิดวัตถุประสงค์
12) ห้ามทำกริชให้แก่ผู้มาสั่งที่ประสงค์จะไปฆ่าคนหรือนำไปใช้ผิดหลักศาสนาการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยไม่มีเหตุอันควร หรือทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ
13) ห้ามช่างทำกริชเก็บธาตุเหล็กหรือของมีค่าทุกชนิด ซึ่งเป็นของผู้สั่งทำกริชไว้ที่บ้านตนเองช่างทำกริชจะรับของมีค่าหรือใบกริชของผู้สั่งทำกริชไม่ได้ ถ้าหากลูกค้านำใบกริชมาสั่งทำฝัก ช่างทำกริชจะต้องเอาใบกริชมาวัดขนาดบนกระดาษหรือทาบบนกาบหมาก แล้วขีดหรือตัดเป็นใบกริชตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นให้คืนใบกริชดังกล่าวแก่เจ้าของ
14) ช่างทำกริชจะต้องมีการจดจำเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการทำบัญชีรับจ่ายการทำกริชให้แก่ผู้สั่งทำช่างทำกริชจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการจดบันทึก ต้องมีบัญชีรับจ่ายที่ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดปัญหาในภายหลังกับผู้สั่งทำ และช่างทำกริชเองก็สามารถประเมินและจัดลำดับในการทำกริชได้อย่างไม่สับสน
15) ช่างทำกริชห้ามพูดว่า “ไม่ทัน” “ไม่ได้” แต่จะต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำกริชเสมอช่างทำกริชต้องอธิบายว่า การทำกริชเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน เริ่มตั้งแต่ตีใบมีด ทำหัวกริช ทำฝักกริช และประดับตกแต่ง รวมเวลาในการทำแต่ละเล่มใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย และจำเป็นต้องใช้ความประณีตอย่างที่สุด
16) การนัดหมายกับลูกค้าอย่าให้มีปัญหาการทำกริชจะต้องมีการผสมผสานทักษะจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าด้วยกัน เช่น ช่างตีเหล็ก ช่างแกะสลักไม้ ช่างทอง โหราศาสตร์ ฉะนั้น การนัดหมายจึงเป็นแค่การประมาณการเท่านั้น ต่างจากการนัดหมายในงานอาชีพอื่น
17) อนุญาตให้ทำการซ่อมใบมีดกริชส่วนที่เป็นกั่น โกร่ง งวงช้าง ฟัน และปลายกริชการซ่อมกริชในส่วนต่างๆ ดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนที่จะไม่กระทบต่อลวดลายและรูปทรงของใบกริชอันเป็นข้อห้ามในการดัดแปลงแก้ไข
18) ห้ามซ่อมใบมีดกริชหรือดัดแปลงส่วนที่คดให้เป็นตรง และส่วนที่ตรงให้เป็นคดช่างกริชจะต้องไม่ทำลายศิลปะการทำกริช จึงไม่ให้ซ่อมใบมีดกริชหรือดัดแปลงส่วนคดให้ตรง และดัดส่วนที่ตรงให้คด แต่จะต้องคงรูปร่างของกริชนั้นๆ ไว้
19) ห้ามเจียระไนหรือลับใบมีดให้คมเด็ดขาดใบกริชแต่ละเล่มจะมีความคมภายในตัวอยู่แล้ว และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงไม่จำเป็นต้องลับให้คม หรือตกแต่งส่วนที่ร้าวหรือแหว่งแต่อย่างใด ประกอบกับใบกริชบางเล่มมีพิษร้ายแรง เนื่องจากส่วนผสมของเนื้อเหล็กมีสารพิษที่ทำปฏิกิริยาทางเคมี เมื่อถูกความร้อนจะเกิดควัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับช่างกริชได้ระหว่างเจียระไนกริช
20) ห้ามแบกหรือหาบถ่านไม้เข้าไปในโรงตีกริช แต่ให้ลากเข้าไปถือเป็นมารยาทที่คนสมัยโบราณยึดถือ เป็นการให้เกียรติกับสถานที่ทำกริช ซึ่งเชื่อว่าเป็นของสูง
21) ห้ามแสดงอาการหรือออกเสียงเจ็บปวดเมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำกริชช่างทำกริชต้องใช้สมาธิ ใช้ความอดทน และเสี่ยงต่ออันตรายตลอดเวลา จึงต้องอดทน ระงับอารมณ์ไว้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับตนเอง
22) ห้ามช่างทำกริชกู้ยืมทรัพย์สินหรือเงินทองโดยมีดอกเบี้ยช่างทำกริชเป็นสาขาอาชีพที่ต้องการความเป็นอิสระในการทำงาน เป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา และกำหนดการเสร็จสิ้นของงานแต่ละชิ้นไม่แน่นอน ฉะนั้น เพื่ออนุรักษ์ศิลปะเหล่านี้ให้คงอยู่ จึงห้ามไม่ให้ช่างทำกริชสร้างหนี้สิน อันจะนำไปสู่ความไม่มีสมาธิในการทำงาน
23) ห้ามตีลูกเมียโดยไม่มีเหตุผล ให้ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาครอบครัวช่างทำกริชจะตีลูกเมียและสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ ต้องใจเย็น ไม่วู่วาม มีเหตุผล และต้องสร้างมาตรฐานครอบครัวให้มีความสุข
24) ห้ามบ่นหรือด่าลูกค้าเด็ดขาดช่างทำกริชจำเป็นต้องสัมพันธ์กับผู้คนมากมายทุกระดับชั้น จึงต้องแยกแยะสภาพปัญหาของลูกค้า ระงับอารมณ์จากการถูกต่อว่า รับฟังคำกล่าวหาของลูกค้า พยายามหาคำตอบและถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชาญฉลาด
25) ห้ามกินหรือดื่มในขณะที่ตีใบกริชโดยเด็ดขาดขณะทำใบกริช ช่างกริชจะต้องควบคุมสมาธิ ควบคุมอารมณ์ รวมทั้งควบคุมลมหายใจไม่ให้แปรปรวน ในสมัยโบราณหากช่างกริชเป็นมุสลิม จะปฏิบัติตัวในขณะที่ตีใบกริชเสมือนอยู่ในช่วงถือศีลอด กระทั่งเสร็จสิ้นการตีใบกริช

2. กลับคืนสู่จิตวิญญาณกริชรามันห์

วิธีวิจัยฉบับชาวบ้าน

วิธีวิจัยหรือกระบวนการวิจัยของกลุ่มกริชรามันห์ แบ่งเป็นการวิจัยหรือหาข้อมูล 3 วิธีใหญ่ๆ คือ 1) การจัดฝึกวิชาชีพ 2) การหาข้อมูลทางภูมิปัญญา และ 3) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ และจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่

1. การฝึกวิชาชีพ

ขั้นตอนการฝึกทำกริชหรือจัดฝึกวิชาชีพนั้น ครูตีพะลีได้จัดสถานที่ให้กับกลุ่มที่เคยทำกริชอยู่ก่อนแล้วและกลุ่มใหม่ที่สนใจการทำกริชที่บ้านกำปงบารู หมู่ 2 ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มทำหัวกริช กลุ่มทำฝักกริช กลุ่มทำใบกริช และกลุ่มทำปลอกสวมกั่น โดยให้แต่ละคนเลือกเข้ากลุ่มตามความสนใจและความถนัด

มาหามะเย็งอาบีดิง พุดารอ หนึ่งในนักวิจัยรุ่นบุกเบิก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำใบกริชและปลอกสวมกั่น อธิบายว่า นอกจากการจัดให้มีสถานที่ฝึกอบรมการทำกริชแล้ว กระบวนการวิจัยเรื่องวัตถุดิบก็มีความสำคัญ เช่น การคัดเลือกไม้ ซึ่งไม้แต่ละชนิดมีลวดลายและสีสันที่แตกต่างกันไป การศึกษาคุณสมบัติของเนื้อเหล็ก การคิดสูตรส่วนผสมของใบมีด เพื่อให้มีรูปร่างลักษณะเทียบเคียงกับใบมีดโบราณที่สุด นอกจากการวิจัยเรื่องวัตถุดิบแล้ว สิ่งที่นักวิจัยต้องหาข้อมูลที่ลึกลงไปคือ การศึกษาเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ และลักษณะสังคมในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของนักวิจัยและชุมชน

“ตัวผมเองเริ่มทำวิจัยเรื่องเหล็กก่อน ต้องศึกษาว่าโลหะมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และต้องใช้ส่วนผสมอะไรเพื่อให้ผลงานที่ออกมาดูเหมือนของโบราณมากที่สุด ส่วนไม้ที่ใช้ทำหัวกริช เราต้องคัดเฉพาะไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้ต้องไม่ยุ่ย จึงจะสามารถนำมาแกะสลัก วัตถุดิบทุกอย่างนี้เราต้องวิจัยใหม่ทั้งหมด” มาหามะเย็งอาบีดิงเล่า

มาหามะเย็งอาบีดิง พุดารอ

ในสายตาของช่างทำกริช ไม้ที่นิยมนำมาใช้จะต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง อย่างไม้เสาดำ ไม้แก่นมะม่วงป่า แต่เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยน กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้นมาก ครูตีพะลีเล่าเสริมว่า ในระหว่างการวิจัยจึงได้จัดหลักสูตรให้นักวิจัยเข้ารับการฝึกอบรมที่กรมป่าไม้ จังหวัดยะลา เพื่อทำความเข้าใจว่า ไม้ชนิดใดบ้างที่เป็นไม้สงวน ไม้หวงห้าม เพื่อจะได้นำมาใช้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยคือเรื่องใกล้ตัวกูมะ ดาตู คือ 1 ใน 17 นักวิจัยรุ่นบุกเบิกของกลุ่มทำกริชรามันห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำด้าม ฝัก และใบกริช เวลานั้นอาชีพของเขาคือชาวสวนยาง ทำกริชบ้างเป็นงานอดิเรก ต่อเมื่อครูตีพะลีมาชักชวนให้เข้าร่วมฝึกอาชีพทำกริชในช่วงปี 2541 เขาได้เข้าร่วมเรียนอยู่อย่างจริงจัง ใช้เวลาร่วมปีจึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองและนำออกจำหน่ายได้ แต่เมื่อวันหนึ่งได้รับคำชวนให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัย เขาส่ายหน้า และคิดว่า “ไม่เอา ชาวบ้านไม่ได้เรียนสูงเหมือนดอกเตอร์ ไม่อยากประชุม อยากจะทำงานอย่างเดียว”จนเมื่อได้ทำความเข้าใจกับความหมายของการทำวิจัยอย่างถ่องแท้ เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าร่วมวงนักวิจัยชาวบ้าน กระทั่งร่วมกันทำวิจัยจนสำเร็จ และสามารถยึดการทำกริชเป็นอาชีพมาจนทุกวันนี้กูมะเล่าให้ฟังว่า เมื่อครูตีพะลีจัดสถานที่ฝึกการทำกริชให้กับช่างทั้งกลุ่มเก่าและใหม่ เขาเห็นว่าการทำกริชพร้อมกันเป็นกลุ่มและใช้อุปกรณ์ร่วมกัน อาจทำให้การทำงานล่าช้า เพราะงานแต่ละประเภทจำเป็นต้องอาศัยสมาธิ เมื่อกูมะเริ่มชำนาญแล้วจึงจัดหาอุปกรณ์ทำกริชเองที่บ้านวิธีวิจัยของกูมะเป็นไปอย่างง่ายและค่อยๆ เรียนรู้ถูกผิด ต้องศึกษาทั้งงานช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่วงแรกเขาเริ่มเรียนรู้การทำด้ามกริชก่อน จากนั้นจึงค่อยเรียนรู้กระบวนการอื่นๆ ทั้งหมด จนสามารถผลิตกริชทั้งเล่มได้ด้วยตัวเองผลงานสร้างชื่อของนักวิจัยคนนี้คือ ‘ใบกริช’ เป็นผลงานที่กูมะเคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดทำใบมีดกริชที่จังหวัดยะลา ซึ่งต้องอาศัยทั้งความแม่นยำในการตีเหล็กและความประณีตในการขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ นับเป็นความสนใจสูงสุดของนักวิจัยคนนี้

2. การหาข้อมูลทางภูมิปัญญา

ในขั้นตอนของการหาข้อมูลด้านภูมิปัญญานั้น กลุ่มกริชรามันห์ใช้วิธีหาข้อมูลด้วยการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ อาทิ ปาเง๊าะเล๊าะ ซึ่งมีความรู้ในด้านการทำโครงร่างของกริช และต่วนบูกิต หลงสารี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับลวดลายกริช ใบกริช และข้อมูลในด้านศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มทำกริชบางส่วนยังได้ไปเรียนรู้และดูกรรมวิธีการผสมเนื้อเหล็กที่บ้านอาจารย์พิชัย แก้วขาว ที่บ้านปาหลาม อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ซำซูดิน หามะ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการประดับตกแต่งกริช และเป็นทายาทช่างทองหลวงแห่งนครเมกกะ ซำซูดินเล่าว่า เมื่อแรกที่ครูตีพะลีมาชักชวนให้เข้าร่วมทีมวิจัย ขณะนั้นเขามีอาชีพเป็นช่างทำทองและเงินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้เรื่องกริชมาก่อน ด้วยเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นตกต่ำ ตลาดทองในพื้นที่ไม่เติบโต จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาหันมาสนใจการทำกริช เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นนักวิจัยรุ่นบุกเบิก

ซำซูดินเล่าถึงประสบการณ์การทำกริชและการฝึกอาชีพว่า ส่วนตัวเขาเองไม่เคยเรียนด้านการทำเครื่องทองประดับกริชมาก่อน แต่อาศัยเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องการทำทองที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้กับการทำกริช ส่วนวิธีการหาข้อมูลทางภูมิปัญญานั้น เขาเริ่มจากไต่ถามข้อมูลเอาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ ศึกษารูปแบบและลวดลายจากกริชรามันห์โบราณ คัดลอกเส้นสายจากผลงานแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกภายในกลุ่ม จากนั้นจึงเริ่มทดลองทำและพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา

3. ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ และจัดทำสื่อเผยแพร่

นอกจากการหาข้อมูล กลุ่มกริชรามันห์ยังมีการจัดวงเสวนาย่อยร่วมกับ สกว. เพื่อทำความเข้าใจว่าการทำวิจัยท้องถิ่นคืออะไร ผู้เข้าร่วมเสวนามีทั้งกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนมะฮัดดะวะห์อิลามมียะฮ์ คณะครูในโรงเรียน และสมาชิกช่างทำกริช พร้อมกันนั้นยังได้จัดทำสื่อ หรือคู่มือการทำกริช เพื่อเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนให้กับกลุ่มต่างๆ สำหรับใช้ในการศึกษาเรียนรู้

ย้อนเวลาตามหาประวัติศาสตร์กริชครูตีพะลี อะตะบู เล่าว่า ความเป็นมาของกริชเป็นอย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กริชเคยเป็นทั้งอาวุธประจำตัว เครื่องประดับกายในวัฒนธรรมมลายูมุสลิม เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์และศาสตราภรณ์ของเจ้าเมืองมลายู ให้คุณค่าในทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งเป็นเครื่องมงคลที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆตามตำนานและความเชื่อทางศาสนากล่าวกันว่า กริชคืออาวุธที่นบีอีซา (พระเยซู) จะใช้ปราบมาร (ดัจยาล) ยามที่นบีอีซากลับมาบนโลกมนุษย์อีกครั้ง ขณะที่ฮินดู-พราหมณ์เชื่อว่า กริชคืออาวุธของพระศิวะ ชาวฮินดู-พราหมณ์ใช้กริชในฐานะวัตถุมงคลป้องกันภยันอันตราย และบ้างเชื่อว่าใช้ป้องกันมารร้ายไม่ให้ทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์สำหรับประวัติศาสตร์ของกริชในงานวิจัยฉบับนี้เริ่มต้นคล้ายกันว่า“…ความเป็นมาของกริชไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างว่ากริชปรากฏมีในประเทศอินโดนีเซีย หรือชวาสมัยอิเหนา หรือปันหยี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 แต่หลักฐานเก่าแก่ที่พบ ณ เทวสถานแห่งหนึ่ง มีอายุเก่าแก่ราว 600 ปีเท่านั้น“ในประวัติศาสตร์สยาม มีปรากฏในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ โดยชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ประมาณ พ.ศ. 2236 บันทึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานกริชให้ขุนนางเหน็บที่เอวด้านซ้าย“ส่วนประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานีเล่าว่า เมื่อประมาณ 200-300 ปีก่อน เจ้าเมืองรามันห์ หรืออำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในปัจจุบัน ประสงค์จะให้มีกริชเป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง และต้องการมีกริชประจำตัวด้วย จึงเชิญช่างผู้ชำนาญจากประเทศอินโดนีเซีย ชื่อว่า ‘บันไดซาระ’ มาทำกริชที่เมืองรามันห์ โดยเป็นกริชรูปแบบปัตตานีและรูปแบบรามันห์ ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะและถูกเรียกขานว่า นี่คือกริชรูปแบบบันไดซาระ ตามชื่อช่างทำกริชชาวชวาผู้นั้น“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการสืบทอดการทำกริชในเมืองรามันห์ โดยเฉพาะตำบลตะโละหะลอมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน”(ที่มา: งานวิจัยเรื่อง ‘การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา’ ปี 2546)
ทายาทรุ่นต่อไป อนาคตใหม่ของช่างกริชจากจุดก่อเกิดของการอนุรักษ์ศิลปะการทำกริชมาสู่ผลลัพธ์ที่งอกงาม จนสามารถรวบรวมสมาชิกและจัดตั้งกลุ่มผู้มีใจรักในอาชีพช่างกริชได้เป็นผลสำเร็จ แต่เป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตอาจต้องอาศัยพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อลมหายใจของกริชรามันห์ให้คงอยู่ต่อไปหนึ่งในนั้นคือ ซุลฟาการ์ อะตะบู บุตรชายของครูตีพะลี เขาคือทายาทช่างกริชรุ่นต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ จากการได้เห็น ได้สัมผัส และลงมือทำ รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการออกแสดงงานในโอกาสต่างๆ มาแล้วทั่วทุกภูมิภาค โดยหลังเรียนจบคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฟาตอนี เขาตัดสินใจกลับมาฝึกฝนวิชาช่างกริชรามันห์และรับช่วงต่อจากครูตีพะลีอย่างเต็มตัว“ตั้งแต่จำความได้ ประมาณ ป.4-5 พ่อก็ชวนให้ทำกริช ให้เรียนเกี่ยวกับศิลปะ อาจเป็นเพราะชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว ทำให้เราสนใจเรื่องนี้“ตอนเด็กๆ เขาชวนไปออกงาน ไปช่วยเฝ้าบูธกริชรามันห์ แล้วจะมีเด็กนักศึกษามาถามว่ามันคืออะไร เราก็ไม่รู้ ไม่มีข้อมูลที่จะให้ บอกได้แต่ว่านี่คือกริชอย่างเดียว ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องศึกษาให้จริงจัง“งานแรกที่เริ่มทำคือขัดกระดาษทราย ผมมีหน้าที่ขัดอย่างเดียว ขัดให้เรียบ ขัดให้สะอาด แม้ในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก แต่เมื่อลงมือทำบ่อยเข้าก็เกิดความชำนาญ เวลาผู้ใหญ่เขาทำอะไร เราก็เข้าไปดู ไปช่วยงานเขา เขาบอกให้ช่วยอะไรก็ช่วย เพราะทุกอย่างที่เราทำล้วนเป็นประสบการณ์” ซุลฟาการ์ กล่าวทิ้งท้าย

3. งอกงาม ณ ปลายทาง

จากจุดประสงค์ตั้งต้นที่ว่า กลุ่มทำกริชรามันห์จะต้องจัดการเรียนรู้การทำกริชให้กับสมาชิกทั้งรายใหม่และเก่า ถอดบทเรียนการฝึกอาชีพออกมาเป็นคู่มือการทำกริช และสุดท้ายเพื่ออนุรักษ์ศิลปะการทำกริชรามันห์และพัฒนาเป็นอาชีพให้ได้สืบไป

หลังสกัดโจทย์งานวิจัยมาสู่กระบวนการทำงานของคณะวิจัยชาวบ้าน สิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ สามารถกำหนดมาตรฐานด้านราคาของกริชรามันห์ มีหนังสือคู่มือการจัดทำกริช วิธีเขียนลายด้ามกริชออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรในปี 2545 เพื่อบรรลุเป้าหมายของงานวิจัย

ผลลัพธ์ที่ได้โดยสรุป ดังนี้

  1. จัดตั้งองค์กรทำกริชที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และสมาชิก
  2. ปัจจุบันกลุ่มกริชรามันห์บริหารจัดการภายใต้ กลุ่มสหกรณ์กริชรามันห์ จำกัด
  3. กำหนดวิธีการจัดสรรกองทุนหมุนเวียนองค์กร กำหนดว่าสมาชิกทุกคนที่จำหน่ายกริชได้จะต้องแบ่งรายได้เข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนกองกลาง โดยมีรายละเอียดการแบ่งเงินเข้ากองทุนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
  4. กำหนดมาตรฐานกริช และราคามาตรฐานกริช
  5. จัดทำคู่มือการทำกริช เพื่อประกอบการเรียนการสอน

ในแง่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาอาชีพช่างทำกริช ณ วันนี้กลุ่มสหกรณ์กริชรามันห์ได้พิสูจน์ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า คุณค่าของกริชรามันห์ที่ครั้งหนึ่งเกือบสูญสลายไปกับกาลเวลา ได้รับการสืบทอดฟื้นฟูจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถยืนหยัดมาได้กว่า 20 ปี นับแต่เริ่มมีการรื้อฟื้นศิลปะแขนงนี้ขึ้นที่ตำบลตะโละหะลอ

ทุกวันนี้นักวิจัยชาวบ้านรุ่นบุกเบิกหลายคนยังคงมุ่งมั่นทำกริชของพวกเขาต่อไป พร้อมกับพัฒนาทักษะฝีมือให้เทียบเคียงกับช่างกริชยุคเก่าแก่ เพื่อให้มรดกภูมิปัญญานี้ได้รับการกล่าวขานต่อไป ทั้งหมดนี้ไม่เพียงประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เท่านั้น หากยังเป็นการสืบสานเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชาวรามันห์ มิให้ถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ศาสตร์แห่งกริช คือการหลอมรวมของศิลปะวิทยาการหลากสาขา ช่างกริชจึงต้องเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง เป็นทั้งช่างฝีมือ ช่างแกะสลักไม้ ช่างตีเหล็ก ไม่เพียงเท่านั้นศาสตร์ของการทำกริชยังเป็นทั้งจิตวิญญาณ ภูมิปัญญา และเป็นวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตภายใต้หลักคำสอนทางศาสนา

ดังเช่นที่ครูตีพะลีได้กล่าวไว้ว่า “หลักจรรยาบรรณของช่างทำกริชไม่ได้เป็นแค่หลักของการปฏิบัติตน แต่ยังเป็นเหมือนหางเสือที่ช่วยประคับประคองชีวิตให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม”

ตำนานและเรื่องเล่าของกริชรามันห์จะยังคงถูกเล่าขานต่อไป ตราบเท่าที่ทายาทวัฒนธรรมมลายูยังมองเห็นคุณค่า และนั่นหมายความว่า อิฐก้อนแรกที่ครูตีพะลีได้วางรากฐานไว้ย่อมไม่สูญเปล่า

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า