นักวิจัยชาวบ้าน: ‘บ้านสามขา’ ชุมชนต้นแบบปลดแอกหนี้

ราว 20 ปีที่แล้ว ชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านชายขอบที่ดูเหมือนจะมีวิถีชีวิตเรียบง่ายสมถะ ห่างไกลความเจริญและความฟุ้งเฟ้อ แต่ทั้งหมู่บ้านที่มีอยู่เพียง 154 ครัวเรือน กลับมีหนี้เสียรวมกันกว่า 18 ล้านบาท

ผลพวงจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่นำมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายความผาสุกทุกมิติของบ้านสามขา ทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนแตกร้าว บางครอบครัวแทบล้มละลาย บางคนเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และบางรายเลือกที่จะหนีจากโลกนี้ไป

“เราจะลดหนี้สินกันอย่างไร?”

คือโจทย์ใหญ่ของคนบ้านสามขาที่พยายามค้นหาสาเหตุว่า เพราะอะไรหมู่บ้านที่ใช้ชีวิตผูกติดกับป่า ชาวบ้านร้อยละ 90 มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรมและหาของป่า ถึงมีหนี้เสียมหาศาล

ปี พ.ศ. 2545-2547 โครงการศึกษาวิจัย ‘รูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้ลุกขึ้นมาค้นหาคำตอบนั้นด้วยตนเอง

หลังจากลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อหารูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา กระทั่งพบแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่สามารถเปลี่ยนมโนทัศน์และพฤติกรรมของชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้อย่าง 360 องศา และแตกหน่อออกผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านอีกหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

น่าสนใจกว่านั้น ทีมวิจัยชาวบ้านยังพบว่าหลายคนสามารถลดหนี้ตัวเองได้จริง แม้บางรายจะยังคงมีหนี้สิน แต่ก็สามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ทว่าประเด็นท้าทายที่ตามมาของนักวิจัยชาวบ้านชุมชนบ้านสามขาคือ ทำอย่างไรจึงจะจัดการปัญหาหนี้สินให้ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่หวนกลับไปสู่สภาพเดิมอีกต่อไป

ผลจากโครงการระยะแรกนำมาสู่การต่อยอดงานวิจัยระยะที่ 2 โครงการวิจัย ‘รูปแบบการจัดการหนี้สินเชิงบูรณาการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง’ เมื่อปี พ.ศ. 2550-2552 ภายใต้โจทย์ใหม่คือ การศึกษาสถานภาพและสภาวะหนี้สิน เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดและเพิ่มพูนหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา พร้อมทั้งหารูปแบบหรือวิธีการในการจัดการและปรับโครงสร้างหนี้สินของชุมชนบ้านสามขาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“เพราะไม่มีใครหน้าไหนที่จะทำให้สังคมปลอดหนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อไม่สามารถหลุดพ้นจากหนี้ได้ก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกับมันให้ได้ ฉะนั้น การจัดการกับหนี้สินให้ได้ต่างหากคือสิ่งสำคัญ” ชาญ อุทธิยะ หนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้านยุคบุกเบิกให้แง่คิด

1. เรื่องเล่าชุมชนบ้านสามขา

กระแสโลกาภิวัตน์: คลื่นวิกฤติลูกแรก

ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2508 ชุมชนบ้านสามขาเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง มีภูเขาและป่าไม้ล้อมรอบ ไฟฟ้า ประปา ยังเข้าไม่ถึง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งทำนา ทำไร่ เลี้ยงปศุสัตว์ หาของป่า แกะสลักไม้ หรือรับจ้างทั่วไป หลายครอบครัวแทบไม่เคยเดินทางออกนอกหมู่บ้าน ไม่ต้องพูดถึงว่าการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกจะเป็นเรื่องยากขนาดไหน

ชาญ อุทธิยะ หรือ ‘หนานชาญ’ ในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน เล่าว่า ห้วงเวลานั้นชุมชนบ้านสามขามีชีวิตที่ค่อนข้างเรียบง่าย สงบ สมถะ และกินอยู่กันอย่างพอเพียง

10 ปีถัดจากนั้น ในช่วงที่ประเทศไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปทั่วทุกภูมิภาค ชุมชนบ้านสามขาที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นชุมชนชายขอบ ห่างไกลจากความศิวิไลซ์ สุดท้ายก็ไม่อาจหลีกหนีกระแสโลกาภิวัตน์และบริโภคนิยมได้ ผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้ดุลยภาพ ส่งผลให้ชุมชนบ้านสามขาต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ รายได้ไม่พอรายจ่าย จากการที่ประชากรมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง เมื่อพ้นฤดูกาลเพาะปลูก ชาวบ้านซึ่งไม่มีรายได้เสริมจากแหล่งอื่น จึงประสบกับปัญหาหนี้สินอย่างรุนแรงและพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหมือนบ่วงร้อยรัดไม่ให้ชุมชนขยับเขยื้อนตัวได้

ผลกระทบจากภายนอก: คลื่นวิกฤติลูกที่สอง

‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ คือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่แพร่กระจายราวกับโรคระบาดไปทั่วทั้งเอเชีย แน่นอนว่าชุมชนบ้านสามขาก็ได้รับผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ แม้จะเป็นสังคมชนบทก็ไม่อาจรอดพ้นภาวะหนี้เสียไปได้ บุญเรือน เฒ่าคำ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านสามขา เล่าว่า “เมื่อประเทศไทยเกิดภาวะฟองสบู่แตก ชุมชนบ้านสามขาก็แตกเช่นกัน”

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือปัญหาทางสังคม ความแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้ง หลายครอบครัวในบ้านสามขาเกือบล่มสลาย เพราะพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากการมีหนี้สินมากมาย ปัญหาการขาดสภาพคล่องและขาดการรวมกลุ่มทางสังคมที่จะช่วยเหลือพึ่งพากัน เมื่อไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ชาวบ้านจึงต้องเดินเข้าหาแหล่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงลิบ

“วิกฤติเศรษฐกิจระดับประเทศไม่ต่างอะไรกับวิกฤติของชุมชนบ้านสามขา เพราะปัญหาของคนที่นี่ก็คือการเป็นหนี้เสีย” เขาว่า ประกอบกับเวลานั้นชุมชนบ้านสามขาไม่เพียงเผชิญแค่ปัญหาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญวิบากกรรมจากภัยธรรมชาติอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำ

“ไม่ใช่แค่ปัญหาหนี้สิน แต่เรายังต้องเจอกับภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำจะกินจะใช้ไม่มี โดยเฉพาะช่วงมีนาคมถึงเมษายน บางปีทำนาปลูกข้าวแล้วไม่มีข้าวให้เกี่ยว ทำให้เราเจอวิกฤติซ้ำซ้อน เราเลยมองว่าต่อไปวันข้างหน้าถ้าไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง บ้านสามขาจะอยู่ยาก” ผู้ใหญ่บุญเรือนอธิบาย

เมื่อวิกฤติทั้งสองต่างเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ปัญหาที่ตามมาคือความเข้มแข็งในชุมชนลดลง ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ศรีนวล วงศ์ตระกูล หนึ่งในทีมวิจัยและครูเกษียณ เล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้นให้ฟังว่า

“ถ้าปัญหายาเสพติดมีผลกระทบรุนแรง กระทบต่อครอบครัว กระจายไปทั้งหมู่บ้าน แต่เราก็ยังพอป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาหนี้สิน คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างคนที่ไม่ได้มีหนี้สิน แต่มีเงินอยู่ในกลุ่มนั้น แล้วถูกนำไปกู้ยืมก็มีการแช่งชักหักกระดูกกัน” ครูศรีนวลบอก

ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ที่แตกร้าว แต่ปัญหาหนี้สินยังนำมาซึ่งความป่วยไข้ของคนในชุมชน และกลายเป็นที่มาในการเข้ามามีส่วนร่วมทำวิจัยของ มานี จันทร์จอม รองปลัดตำบลหัวเสือ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยบ้านสามขา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หมอมานี’ เธอเล่าว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับอาการป่วยไข้ของชาวบ้านอย่างมาก สะท้อนออกมาให้เห็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความป่วยไข้ทางจิต โรคเครียด และโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น

“ความเครียดจากหนี้สินคือสิ่งที่เราพบค่อนข้างมากในบ้านสามขา บางทีความป่วยไข้ทางจิตกินยาอย่างเดียวก็ไม่หาย เราเลยต้องเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุว่าทำไม เพราะอะไร หมอจะทำแต่งานสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่เห็นองค์รวม หมอต้องลงไปดูสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ถ้าสิ่งเหล่านั้นดี สุขภาพดีก็จะตามมา”

ก้าวต่อไปนับจากนี้เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินผ่านกระบวนการงานวิจัยท้องถิ่น เพื่อทบทวนและแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชนด้วยตัวของชุมชนเอง นำไปสู่แนวทางการหารูปแบบการจัดการหนี้สินเชิงบูรณาการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

หมอมานี – มานี จันทร์หอม

2. สู่กระบวนการแก้ปัญหาหนี้สิน

ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด

ก่อนหน้านี้คนในหมู่บ้านมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มกองทุนต่างๆ เพื่อให้กู้ยืมแก่สมาชิกยามจำเป็น ต่อมาจึงเกิดกลุ่มกองทุนกู้ยืมผุดขึ้นมาในหมู่บ้านมากถึง 39 กลุ่ม ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขที่คล้ายกันคือ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นสมาชิกชุมชนบ้านสามขา และคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5

แต่ใช่ว่าการตั้งกลุ่มกองทุนดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สิน ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นการหมุนหนี้ระหว่างสมาชิกกองทุนแต่ละกลุ่ม หนานชาญเล่าว่า “แม้จุดประสงค์ในเบื้องต้นจะตั้งไว้เช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงก็คือชาวบ้านมีการเล่นแร่แปรธาตุ ไม่ได้เอาเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ แต่เอาเงินจากกองทุนหนึ่งไปใช้หนี้กับอีกกลุ่มหนึ่ง หรือไม่ก็สร้างหนี้เพิ่ม”

เมื่อเกิดภาวะงูกินหาง คนกู้ไม่สามารถส่งค่างวดคืนได้ทั้งต้นและดอก ทางทีมวิจัยจึงคิดหาวิธีที่จะปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับทำการสำรวจว่าหนี้เสียหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ของกองทุนทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชนบ้านสามขากว่า 39 กลุ่ม มีจำนวนเท่าไร

หลังจากนั้น ทีมวิจัยตัดสินใจประกาศโครงการลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย โดยเปิดรับสมัครเพียงครั้งเดียวและผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่สามารถยืมเงินจากกลุ่มต่างๆ ได้จนกว่าจะชำระเงินต้นให้หมดก่อน นอกจากนั้นยังมีข้อตกลงด้วยว่า หากสมาชิกรายใดไม่รักษาวินัยในการชำระเงิน ชุมชนจะใช้มาตรการกดดันทางสังคมและตัดความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ตัดน้ำประปา ตัดกองทุนฌาปนกิจศพประจำหมู่บ้าน

แม้บ้านสามขาจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชน แต่การดำเนินการทั้งหมดก็ยังไม่อาจคลี่คลายปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ สืบเนื่องจากปัญหาของกลุ่มกองทุนต่างๆ ก่อนหน้านี้เป็นเหมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน ทำให้หลายคนถูกหนี้สินรุมเร้าจนแทบไม่เหลือเงินออม ทีมวิจัยจึงพยายามค้นหาต้นสายปลายเหตุของการเป็นหนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน

154 ครัวเรือน กับหนี้ 18 ล้าน

ท่ามกลางกระแสวิกฤติการเป็นหนี้ของชุมชนบ้านสามขาที่มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 154 ครัวเรือน ทีมวิจัยและกรรมการหมู่บ้านได้ตกลงร่วมกันหากระบวนการรูปแบบใหม่ในการลดหนี้และหาสาเหตุหนี้ผ่านการทำวิจัย โดยรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิชุมชนบ้านสามขาทั้งหมด 14 คน เป็นแกนนำหลักในการทำวิจัย แต่ก่อนจะเริ่มดำเนินงานวิจัย หนานชาญเท้าความว่ากระบวนการก่อนที่จะได้ข้อมูลข้างต้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย

“งานวิจัยชาวบ้านจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะแนวคิดสำคัญในการทำวิจัยคือ การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางสังคมโดยใช้ทรัพยากรของชุมชนนั้นๆ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ หมายความว่า การเป็นหุ้นส่วนในการศึกษาวิจัยจะต้องเป็นประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมและต้องเป็นไปอย่างเสรี ชาวบ้านได้ร่วมกันคิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติ ทดลองด้วยตนเอง เพื่อปรับปรุงความสามารถและศักยภาพของชาวบ้าน เป็นการส่งเสริม ยกระดับ และพัฒนาชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน”

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทีมวิจัยต้องการคือ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน การวิจัยจึงจะสามารถหยั่งรากลึกลงไปถึงประสบการณ์ร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมได้ โดยมุ่งหมายที่จะเอาชนะปัญหาด้วยวิธีการวิจัย เพื่อชี้ให้ชาวบ้านมองเห็นว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นหรือความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา

ทีมวิจัยและคณะกรรมการหมู่บ้านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและศรัทธาแก่สมาชิกชุมชนบ้านสามขาให้กลับมาอีกครั้ง ก่อนไปสู่กระบวนการขั้นต้นของการทำวิจัยคือ การสำรวจหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ใครสักคนยอมเปิดเผยตัวเลขหนี้สินของตัวเองให้คนทั่วไปได้รับรู้ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการมีหน้ามีตาในสังคม ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงถือเป็นความลับและมักปกปิดไม่ให้เพื่อนบ้านรู้ และถึงแม้บางรายจะยอมเปิดเผย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นตัวเลขหนี้ที่แท้จริง เมื่อพบอุปสรรคข้อนี้แล้ว ทีมวิจัยจึงคิดหาวิธีแก้โดยตัดสินใจเปิดเผยหนี้สินของตัวเองก่อน และประกาศเสียงตามสายให้ทุกคนในหมู่บ้านรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อแสดงความจริงใจและทลายกำแพงแห่งความลับนี้

“สิ่งแรกที่เราหนักใจคือ เรื่องการเปิดเผยหนี้สินของคนในชุมชน เพราะทุกคนก็มีความละอายเหมือนกัน รักษาหน้าตากัน จะมีใครกล้าเปิดเผยตัวเลขหนี้สินจริงๆ ให้เราไหม ทีมวิจัยทั้ง 14 คน เลยตั้งโจทย์กันขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเปิดเผยหนี้สิน เพราะถ้าเราไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง โอกาสที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่เป้าหมายคงเป็นไปได้ยาก กระทั่งมีคนเสนอขึ้นมาว่า เอาอย่างนี้ ก่อนสำรวจหนี้สินของชาวบ้านก็ให้นักวิจัยและคณะกรรมการทั้ง 14 คน สำรวจหนี้สินของตัวเองก่อน” หนานชาญอธิบาย

หากถามว่าเหตุใดการเปิดเผยตัวเลขหนี้ของทีมวิจัยถึงสำคัญ หนานชาญตอบว่า เพื่อจะให้คนในชุมชนได้ตระหนักว่าปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย สอดคล้องกับคำอธิบายของหมอมานีที่ว่า “เพราะทีมวิจัยและแกนนำต้องเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านก่อน หากแกนนำไม่ลงมือทำให้เห็น ก็ยากที่จะขอความร่วมมือได้”

ในที่สุดหลังจากได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านแล้ว ทีมวิจัยจึงทำการสำรวจสถานภาพหนี้สินของสมาชิกชุมชนบ้านสามขาทั้งหมด 682 คน 154 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนมกราคม พ.ศ. 2547) ทว่า ข้อมูลที่สำรวจพบถึงกับทำให้นักวิจัยแทบไม่เชื่อสายตา

“พอรวบรวมตัวเลขได้แล้ว นักวิจัยก็ตกตะลึงกันว่าหนี้สินบ้านเราไม่ใช่แค่ 5 ล้าน 7 ล้าน อย่างที่เคยคาดไว้ แต่เป็นหนี้สินรวมกันทั้งหมดสูงถึง 18 ล้าน ตั้งแต่เกิดมาเราแทบไม่เคยเห็นเงินล้าน แต่อยู่ๆ บ้านเรากลับมีหนี้ 18 ล้าน นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้ว” หนานชาญว่า

จากข้อมูลหนี้ก้อนมหาศาล ทำให้สมาชิกชุมชนบ้านสามขาเกิดความตื่นตัวและหันมาร่วมมือกับทีมนักวิจัย มีการพบปะแลกเปลี่ยน จัดเวทีพูดคุยเพื่อค้นหาที่มาที่ไปของหนี้สิน ซึ่งเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า เหตุใดหนี้สินของชาวบ้านแต่ละคนที่กู้มาครั้งแรกแม้จะไม่ได้มากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนี้เหล่านั้นกลับทวีคูณเพิ่มขึ้นมหาศาล

หลังจากพูดคุยร่วมกัน ทีมวิจัยชาวบ้านตกผลึกเป็นข้อสรุปได้ว่า เพราะหนึ่ง-ขาดจิตสำนึกในการบริหารจัดการ สอง-ไม่มีบทเรียนเรื่องการเป็นหนี้มาก่อน และสาม-ขาดการวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่าเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้หนี้สินพอกพูน เกิดจากความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมอาชีพเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่ไม่สามารถทำให้ชุมชนสะสมทุนของตนเองได้ การกู้เงินมาใช้ผิดวัตถุประสงค์และขาดภูมิคุ้มกัน รวมถึงการดำเนินชีวิตตามกระแสทุนนิยม

หนี้ 18 ล้าน กับประชากรเพียง 682 คน 154 ครัวเรือน จึงเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้ทุกฝ่ายในชุมชนบ้านสามขาเกิดความตื่นตัว จนหันมาจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน หลังลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง ชุมชนบ้านสามขาจึงได้รูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สิน 2 ระดับ คือ

  1. การแก้ปัญหาหนี้สินระดับครัวเรือน คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อรู้จักตนเองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทัน
  2. การแก้ปัญหาหนี้สินระดับชุมชน คือ การหาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยการไถ่ถอนหนี้สิน

‘บัญชีครัวเรือน’ กระบวนการสำรวจตัวเอง

หลังจากทีมวิจัยและสมาชิกชุมชนบ้านสามขาได้เก็บรวบรวมข้อมูลและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา จากนั้นจึงมีการจัดทำแบบสำรวจบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อทบทวนตัวเอง โดยคาดหวังว่าข้อมูลจากการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยชี้เบาะแสได้ว่า มูลเหตุของหนี้แต่ละครัวเรือนเกิดจากอะไร

ทว่าอุปสรรคในช่วงแรกของทีมวิจัยคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าบัญชีรายรับ-รายจ่ายคืออะไร บ้างก็สับสนว่าต้องจดบันทึกอย่างไร ยิ่งกว่านั้นบางบ้านยังเขียนหนังสือไม่เป็น ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยทั้ง 14 คน จึงต้องแบ่งหน้าที่กันดูแล โดยให้นักวิจัย 1 คน ต่อ 10 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 10 กลุ่ม จากนั้นทุกสิ้นเดือนจะมาทำการสรุปข้อมูล

ผลสรุปบัญชีรายรับ-รายจ่ายระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม ปี 2544 พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายสูงสุด 4 อันดับแรก เรียงตามลำดับได้แก่ ค่าชำระหนี้ ค่าการศึกษา ค่าอุปโภคบริโภค และการลงทุน หนานชาญเล่าว่า ค่าใช้จ่ายทั้ง 4 หมวดข้างต้นเป็นรายจ่ายที่จำเป็น โดยเฉพาะหมวดชำระหนี้ซึ่งเป็นภาระที่ผูกพันกับชีวิตชาวบ้านมาหลายปี

ผลลัพธ์จากบัญชีครัวเรือนกลางปี 2545 ทีมวิจัยชาวบ้านได้ทบทวนกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหมดที่ผ่านมา และประเมินผลจากข้อมูลบัญชีรายรับ-รายจ่าย พบว่ากลุ่มที่บันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายสม่ำเสมอ และยังคงจดบันทึกอยู่แม้งานวิจัยจะจบแล้ว ทั้งยังนำข้อมูลดังกล่าวไปช่วยวางแผนการใช้จ่ายของครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีจำนวนทั้งหมด 58 ครัวเรือน (ร้อยละ 38.15)กลุ่มที่บันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่าย แต่หลังจากรู้ข้อมูลตัวเองแล้ว และเห็นว่างานวิจัยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อีกจึงเลิกจดไป มีจำนวนทั้งหมด 43 ครัวเรือน (ร้อยละ 28.28)กลุ่มที่บันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายแค่ 2-3 เดือนแรก หลังจากนั้นไม่บันทึกอีกเลย มีทั้งหมด 14 ครัวเรือน (ร้อยละ 9.21)กล่าวได้ว่าบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยรู้จักสำรวจตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เข้าใจตัวเอง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกอบายมุข ขยัน อดออมที่มา: โครงการวิจัยเรื่อง ‘รูปแบบการจัดการหนี้สินเชิงบูรณาการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ระยะที่ 1’ (2549)

“บัญชีครัวเรือนคล้ายกับเป็นการฉายภาพให้เห็นพฤติกรรมการเงินของคนในชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านได้สำรวจตัวเอง รู้ว่ารายจ่ายตรงไหนควรลด มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น รู้จักวางแผนการใช้เงิน แม้ว่าจะมีหนี้อยู่ก็ตาม” หนานชาญให้ข้อสรุป

น่าสนใจกว่านั้น การจดบัญชีครัวเรือนยังทำให้บางรายเลิกอบายมุขที่ฟุ่มเฟือยได้อย่างถาวร บางรายถึงขั้นเลิกหวังรวยทางลัดจากการซื้อหวยโดยสิ้นเชิง จุดนี้ ผู้ใหญ่บุญเรือนกล่าวเสริมถึงบทบาทของบัญชีครัวเรือนที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านชุมชนบ้านสามขาว่า

“หนึ่ง-เปลี่ยนพฤติกรรม สอง-เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนครอบครัว จากที่เคยใช้ชีวิตสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย เราก็รู้ว่าสิ่งไหนไม่จำเป็น ไม่ควรซื้อ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งถ้ามีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบทะลุปรุโปร่ง เราจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง”

ผลลัพธ์อีกประการที่ซ้อนอยู่หลังการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย นอกจากจะช่วยค้นหาต้นตอที่แท้จริงของการเป็นหนี้แล้ว ยังช่วยให้บางครัวเรือนสามารถบริหารจัดการการเงินและวางแผนชีวิตเป็น

“ถ้าเราไม่คิดวางแผนชีวิตให้เป็น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทำงานไม่ได้สัก 3 วัน ก็กระทบกับรายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังเรื่องการกิน การใช้ แล้วต้องคิดว่ากินอย่างไรถึงจะมีคุณภาพ มีคุณค่า ทุกอย่างต้องมีการวางแผน ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้จักวางแผนให้ได้ จัดการให้เป็น” ผู้ใหญ่บุญเรือนอธิบาย

จากเป้าหมายที่จะปลดพันธนาการหนี้สินให้กับคนบ้านสามขา ทีมวิจัยพบว่ารายได้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้หนี้สินลดลงได้ แต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนยังจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นทุนต่อยอดลมหายใจ ไม่มีใครสามารถสลัดตัวเองจากวงจรหนี้ได้อย่างถาวร พวกเขายังจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการเป็นหนี้ต่อไป หากแต่อยู่อย่างไรจึงจะสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างสมดุลกับชีวิต โดยไม่ต้องทุกข์ทนกับการแบกภาระหนี้ที่มากจนเกินไป

พ่อหนานชาญให้ข้อสรุปที่ทีมวิจัยค้นพบจากการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน คือ การวางแผน การปรับตัว ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และรู้จักประมาณตนเอง

“ไม่มีใครหน้าไหนที่จะทำให้สังคมปลอดหนี้ได้ บางครอบครัวที่กำลังก่อร่างสร้างตัวก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินกันอยู่ หนี้คือการลงทุน คนที่ไม่มีทุนหรือไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด ถ้าจะคิดลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัวก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ฉะนั้น คนเราสามารถที่จะก่อหนี้ได้ แต่ต้องมีระเบียบวินัยในการชำระหนี้” หนานชาญบอก

หลายครอบครัวใช้บัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นเข็มทิศนำทางชีวิต จนซึมลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีปฏิบัติ กล่าวได้ว่าการวิเคราะห์ตัวเองผ่านบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งผลที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับบุคคลและครัวเรือน ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งยังนำประสบการณ์มาบอกเล่าแลกเปลี่ยนให้กับคนพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้

ไถ่หนี้อย่างยั่งยืนผ่านกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

ทีมนักวิจัยบ้านสามขาพบว่า การยกระดับความรู้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านโดยใช้บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ทั้งหมด เนื่องจากในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้นชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาการจัดการหนี้สินที่มีอยู่เดิม อีกทั้งบางครัวเรือนยังมีหนี้สินก้อนใหม่ที่เกิดจากภาระค่าใช้จ่ายตามปกติ เช่น ค่าการศึกษาบุตร ค่าทำบุญ ค่ากิจกรรมชุมชนต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น กรณีเกิดการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครัวเรือน

ทีมนักวิจัยบ้านสามขาเห็นพ้องกันว่า ควรจะมีการยกระดับองค์ความรู้เรื่องหนี้สิน โดยค้นหาวิธีการจัดการและปรับโครงสร้างหนี้สินที่เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของชุมชน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป นั่นก็คือ การใช้แนวทางการออมเงินเพื่อไปสู่การไถ่ถอนหนี้

พ่อหนานชาญเล่าว่า ชุมชนบ้านสามขาเดิมเคยมีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้วคือ ‘กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ติ๊บปาละสามขา’ โดยใช้รูปแบบจากกลุ่มออมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต จังหวัดตราด และแนวคิดจากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของครูซบ ยอดแก้ว จังหวัดสงขลา มีกระบวนการทำงานลักษณะเดียวกับระบบสวัสดิการ เพื่อให้ชาวบ้านมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทางทีมวิจัยจึงพยายามผลักดันให้กลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวขยับตัวอีกครั้ง ทั้งยังมีการปรับแก้ระเบียบการใหม่ จนสามารถช่วยไถ่ถอนหนี้ให้กับสมาชิกบางส่วนที่เป็นลูกหนี้ของแหล่งทุนภายนอกได้

“ก่อนหน้านี้เราลองตั้งคำถามกับชาวบ้านดูว่า ‘วิกฤติปี 2540 รัฐบาลเจ๊งเพราะอะไร?’ ชาวบ้านหลายคนได้ดูทีวีก็บอกว่า รัฐบาลเจ๊งเพราะไม่มีเงินสำรอง ไม่มีเงินหน้าตัก เราก็ถามชาวบ้านกลับไปว่า ‘บ้านเราล่ะ มีเงินออมไหม?’ ทุกคนก็บอกว่าจะมีได้ยังไง แต่ละคนก็แทบไม่มีเงินออมกันเลย ซึ่งที่จริงบ้านสามขาของเราจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ กันตั้งแต่ปี 2541 ทำไมเราไม่ช่วยกันออมกันอีก” หนานชาญเล่าถึงสถานการณ์ในวงประชุมร่วมกับชาวบ้าน

หมอมานี อดีตหัวหน้าสถานีอนามัยบ้านสามขา กล่าวเสริมขึ้นว่า การจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ เป็นทางออกหนึ่งของชุมชนที่พยายามจะลดภาระหนี้สิน ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ติ๊บปาละสามขา ถือเป็นมิติใหม่ของกลุ่มการเงินที่ชุมชนเคยจัดตั้งขึ้น

“เพราะเราเน้นการช่วยเหลือสมาชิกเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มุ่งแต่ผลประโยชน์ การดำเนินงานของกลุ่มจึงเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การลดภาระหนี้สินของคนในชุมชนในอนาคตได้” หมอมานีกล่าว

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ติ๊บปาละสามขา จัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 มีสมาชิก 553 คน ระดมเงินออมเดือนแรกจากสมาชิกได้ 15,650 บาท สำรวจอีกครั้งปี พ.ศ. 2552 มีสมาชิก 924 คน สามารถระดมเงินออมแต่ละเดือนได้ 81,510 บาท มีเงินสะสมทั้งสิ้น 840,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552) และสามารถไถ่ถอนหนี้ให้กับสมาชิกที่เป็นหนี้นอกระบบ โดยโอนหนี้มาไว้กับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.5 บาทต่อเดือน

ณ พ.ศ. 2560 เงินออมของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ มีมากถึงเดือนละกว่า 100,000 บาท มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มเกือบ 3 ล้านบาท และมีสมาชิกมากกว่า 900 คน

“ช่วงแรกที่ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ มีคนเยาะเย้ย มีคนที่ไม่เชื่อ แต่เดี๋ยวนี้คนขอเข้าเป็นสมาชิกเต็มไปหมด จากไม่มีเงินสักบาท เดี๋ยวนี้มีเงินเกือบ 3 ล้าน สามารถจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกได้หมด ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย นอกจากนี้เรายังมองไปถึงการช่วยเหลือเด็ก การให้ทุนการศึกษา การสร้างสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน ฉะนั้น จุดสำคัญคือการเรียนรู้ เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาจึงจะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้” ผู้ใหญ่บุญเรือนกล่าวเสริม

หากถามถึงระดับปัจเจก สมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ผู้ใหญ่บุญเรือนอธิบายว่า หลายคนจากเดิมไม่เคยมีเงินออม ปัจจุบันมีเงินออมมากขึ้น แม้จะยังคงเป็นหนี้อยู่บ้างก็ตาม

“คนเรามันหนีหนี้ไม่พ้น ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นหนี้ แต่ถ้าเป็นหนี้ก็ต้องจัดการมันให้ได้ เป็นหนี้อย่างมีความสุข และสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมันได้ บริหารให้ได้ กิจกรรมของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ ทำให้งานวิจัยที่เราทำมาไม่สูญเปล่า หลายๆ คนสามารถวางแผนอนาคตของครอบครัวเขาได้ สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ท่ามกลางกระแสวิกฤติฟองสบู่แตกหรือในกระแสวัตถุนิยมของสังคมเราทุกวันนี้”

สอดคล้องกับพ่อหนานชาญที่เล่าว่า จำนวนเงินออมที่สูงขึ้นและสมาชิกในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ ที่เพิ่มขึ้น คือบทพิสูจน์ชัดเจนว่า การบริหารจัดการที่ดีสามารถช่วยให้สมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีเงินเหลือพอสำหรับการออมได้

“ถามว่าถ้ารายได้ไม่เพิ่ม แล้วเงินออมจะมาจากไหน สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่ารายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้นก็คือ หลังจากที่เขาจดบัญชีครัวเรือนแล้วประหยัดอดออม ลดสิ่งฟุ่มเฟือย ทำให้เขามีเงินเหลือเก็บ และเป็นตัวบ่งชี้ว่ารายได้ของคนในชุมชนยังเพิ่มขึ้นด้วย”

หนานชาญย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า “ในเมื่อเราไม่สามารถทำให้หนี้หมดไปจากหมู่บ้านได้ แต่เราสามารถเอากระบวนการและชุดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยนี้ไปใช้ในการจัดการกองทุนได้ แม้หนี้สินจะไม่หมดไปจากบ้านสามขาเสียทีเดียว แต่กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นก่อให้เกิดการติดอาวุธทางปัญญาให้กับคณะทำงานของคนบ้านสามขา ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการกลุ่มต่างๆ ภายในหมู่บ้านและชุมชนได้”

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ติ๊บปาละสามขาวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกมีเงินออมและบริหารจัดการในรูปแบบธนาคารหมู่บ้านนำผลกำไรมาแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปสวัสดิการสังคมเพื่อจัดระบบการบริหารการเงินโดยชุมชนกิจกรรมกิจกรรมการออมทรัพย์ จะต้องมีการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน เริ่มต้นโดยในปีแรกให้สมาชิกถือหุ้นได้ตั้งแต่ 1-10 หุ้น หุ้นละ 10 บาท ในปีที่สองสมาชิกวัยแรงงานต้องถือหุ้นตั้งแต่ 2 หุ้นขึ้นไป กำหนดการส่งเงินสัจจะเป็นประจำทุกวันที่ 5 ของเดือน มีการแบ่งกำไรของกลุ่ม ดังนี้ หักเข้ากองทุนกลุ่มออมทรัพย์จำนวนร้อยละ 3 เป็นเงินค้ำประกันความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ เงินกำไรที่เหลือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยครึ่งหนึ่งของรายได้ แบ่งปันผลคืนให้แก่สมาชิกตามหุ้น ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง นำมาจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกที่เจ็บป่วย เสียชีวิต ประสบภัยพิบัติ หรือสาธารณกุศลต่างๆกิจกรรมร้านค้าชุมชน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ ได้กู้เงินธนาคารออมสินเพื่อใช้ในการลงทุนในกิจการร้านค้าชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และเมื่อถึงสิ้นปีสมาชิกจะได้รับผลกำไรเฉลี่ยคืน และปันผลกำไรให้แก่กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ นำไปบริหารจัดการต่อไปกิจกรรมการช่วยเหลือด้านการจัดสวัสดิการสังคม กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่สมาชิกกรณีเจ็บป่วย และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามระยะเวลาการเข้าเป็นสมาชิก ได้แก่ สมาชิกรุ่นที่ 1 จ่ายคืนละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อปี กรณีเสียชีวิต ครอบครัวของสมาชิกจะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 4,000 บาทผลการจัดสวัสดิการที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือสมาชิกกรณีเจ็บป่วยไปแล้ว 93 ราย ช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิตไปแล้ว 11 ราย รวมเป็นเงิน 30,700 บาท ยกเว้นสำหรับสมาชิกที่เข้าใหม่ไม่ถึง 1 ปี จะไม่ได้รับสิทธิ์นี้ (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2552)ที่มา: โครงการวิจัยเรื่อง ‘รูปแบบการจัดการหนี้สินเชิงบูรณาการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ระยะที่ 2’ (2552)

3. เกิดดอกออกผล

หลังจากชุมชนบ้านสามขาได้ก้าวสู่กระบวนการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกในงานวิจัย ทำให้ชาวบ้านได้คิดเอง ทำเอง ได้รับผลเอง และได้แก้ปัญหาเอง องค์ความรู้เหล่านี้ได้ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึก หลายคนรู้จักใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งรายบุคคลและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คือ มีกระบวนการในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น และนำไปสู่การปรับใช้กับวิถีการดำรงชีวิตของแต่ละคน บางคนเกิดทักษะในการคิด วิเคราะห์และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจน นับเป็นก้าวแรกที่งดงามสำหรับการเรียนรู้ของชุมชนบ้านสามขากับการสัมผัสงานวิจัยครั้งแรก

การจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายในระดับครัวเรือน เป็นเสมือนฐานข้อมูลสำคัญในการบรรเทาสภาวะหนี้สินของคนในหมู่บ้าน ทั้งยังเป็นข้อมูลต่อยอดไปสู่การดำเนินการเพื่อจัดการกับประเด็นต่างๆ ได้อย่างดี กล่าวคือ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นข้อมูลองค์รวมของชุมชนบ้านสามขา ทำให้รู้ถึงต้นสายปลายเหตุของการเกิดหนี้สินอย่างละเอียดในทุกแง่มุม ทั้งการประกอบอาชีพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริหารจัดการหนี้

ด้วยวิธีคิดในการวิเคราะห์หาเหตุและผล จึงนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านสามขามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักการออมเงินและวางแผนในอนาคต นอกจากนี้ คนบ้านสามขายังสามารถนำทักษะและกระบวนการวิจัยไปประยุกต์ใช้กับการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ การสร้างฝาย และการป้องกันไฟป่า เพื่อการปกป้องอนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน

“งานทุกมิติที่เราทำสามารถเชื่อมโยงกันได้หมดบนพื้นฐานของข้อมูลที่เราเก็บรวบรวมมา และสามารถเอามาต่อจิ๊กซอว์กันได้ว่าแต่ละกิจกรรมร้อยรัดเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านสามขาเริ่มต้นมาจากปัญหาหนี้สิน การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการ ไปจนถึงการอนุรักษ์ป่าและการจัดการน้ำ ถ้าเราต้องมองให้ทะลุ ทุกอย่างเชื่อมถึงกันได้หมด” ผู้ใหญ่บุญเรือนกล่าว

หนี้สิน-ป่าไม้-ธรรมชาติ ล้วนเชื่อมโยงกัน

ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนบ้านสามขาที่ผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติมาแต่อดีต การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจึงกลายเป็นอีกโจทย์ที่ผุดขึ้นมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ชี้ว่า รายได้หลักของคนบ้านสามขามาจากการทำเกษตร รองลงมาคือหาของป่า

“บัญชีครัวเรือนเป็นเหมือนเข็มทิศ ทำให้เห็นทิศทาง รายจ่ายก็เห็น รายได้ก็เห็น พอเรามาวิเคราะห์บัญชีครัวเรือนดีๆ จะพบว่ารายได้หลักของคนบ้านสามขาคือเกษตรกรรม รับจ้าง และที่น่าสนใจคือรายได้จากการหาของป่า ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้จากการทำเกษตร เพราะแต่ละฤดูกาลเรามีทั้งผักหวาน ไข่มดแดง พอถึงหน้าฝนก็มีเห็ดต่างๆ บางครอบครัวมีรายได้จากการหาของป่าอยู่ที่ 20,000-30,000 บาทต่อปี บ้านไหนหาของป่าประจำก็อยู่ที่ 40,000-50,000 บาทต่อปี”

ผู้ใหญ่บุญเรือนบอกอีกว่า “พอเห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว เราจึงมีคำถามว่า เอ๊ะ…ป่าให้เรามากขนาดนี้ เราให้อะไรกับป่าบ้าง จากนั้นมากิจกรรมเรื่องการจัดการทรัพยากรจึงเริ่มขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาบ้านสามขาเองก็เผชิญวิกฤติขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด พอเรารู้จักกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เราจึงใช้กระบวนการนี้เข้าไปจัดการกับปัญหาอื่นๆ ด้วย”

การจัดทำบัญชีครัวเรือนสะท้อนให้เห็นข้อมูลรายได้จากป่า พร้อมกับการตระหนักถึงความสำคัญของป่า ทำให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จนในที่สุดได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องป่าชุมชนที่คนภายนอกและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ. 2548 สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ให้ทุนวิจัยแก่เครือข่ายลุ่มน้ำจาง อำเภอแม่ทะ ในโครงการวิจัย ‘การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำจาง จังหวัดลำปาง’ โดยมีสถาบันแสนผะหญา จังหวัดลำปาง คอยหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน

บนพื้นที่ดำเนินงาน 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน ในอำเภอแม่ทะ เครือข่ายลุ่มน้ำจางได้จัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกในเครือข่าย ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเชิงพัฒนา เช่น การจัดกองทุนผ้าป่า อนุรักษ์ทรัพยากร การสืบชะตาป่า การอบรมเรื่องการดับไฟป่า การทำแนวกันไฟ เป็นต้น

แม้งานวิจัยดังกล่าวจะสิ้นสุดลง แต่เครือข่ายลุ่มน้ำจางยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยมีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย พร้อมๆ กับการบ่มเพาะจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับสมาชิก หลายชุมชนสามารถดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องโดยคนในชุมชนเอง

พ่อหนานชาญเล่าว่า ประโยชน์จากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้นมากมายมหาศาล เพราะป่าคือหัวใจสำคัญของชุมชน ทุกวันนี้บ้านสามขาร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าในพื้นที่รับผิดชอบกว่า 16,000 ไร่ เป็นเวลากว่า 8 ปี ทั้งเรื่องการป้องกันและดับไฟป่า การสร้างฝายชะลอน้ำและดักตะกอนกว่า 4,000 ฝาย

“จากผืนป่าที่เคยแห้งแล้งเพราะปล่อยให้ไฟไหม้ป่าทุกปีๆ มาถึงวันนี้ดอยบ้านสามขากลายดอยที่มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมจนเขียวชอุ่ม มองไปทางไหนก็ดูเย็นหูเย็นตา จากลำห้วยที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และเต็มไปด้วยตะกอน แต่หลังจากชาวบ้านช่วยกันสร้างฝายขึ้นมาแล้ว ตะกอนเหล่านั้นได้ช่วยดูดซับน้ำลงสู่ผิวดินมากขึ้นจนทำให้ป่าฟื้นคืนมา น้ำในลำห้วยบ้านสามขากลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง” พ่อหนานชาญกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ศรีนวล วงศ์ตระกูล

หมู่บ้านพัฒนาผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง

นับตั้งแต่ชุมชนบ้านสามขาเริ่มทำงานวิจัยในปี 2544-2552 ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้มากมาย เริ่มจากการแก้วิกฤติหนี้สินและต่อยอดไปสู่อีกหลายเรื่องที่ผูกพันกับทุกมิติชีวิต กล่าวได้ว่างานวิจัยชาวบ้านเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ส่งผลให้ชุมชนสามารถจัดระบบความคิด วิเคราะห์ปัญหาตนเองได้มากขึ้น

ครูศรีนวลกล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า งานวิจัยช่วยให้ชุมชนกลับมาสามัคคีเข้มแข็งอีกครั้ง ผ่านกระบวนการทำวิจัยที่ทุกคนมีส่วนร่วม และเป็นเสมือนเวทีกลางให้ชาวบ้านได้เปิดใจพูดคุยกัน

“งานวิจัยทำให้คนมาสุมหัวกัน คนมาฮักกัน ก้าวเดินไปด้วยกันได้ เป็นการซ่อมความสัมพันธ์ในหมู่บ้าน ยิ่งกว่าตอบโจทย์อย่างอื่น อันนี้ครูคิดว่าน่าสนใจ ครูยังไม่เห็นกิจกรรมไหนที่จะทำให้ชาวบ้านจับมือไปด้วยกันได้ พอมีกิจกรรมนี้ก็ตามมาด้วยกิจกรรมอื่นๆ เกิดกระบวนการที่เรียกว่า Active Learning ครูอยากขอบคุณงานวิจัยชิ้นนี้ 3-4 ปีที่เราทำร่วมกันมา ทำให้ปัญหาในชุมชนลดลง ความใกล้ชิดของคนในชุมชนกลับมาดีขึ้น ปัญหาหลายอย่างถูกแก้ไขในวงประชุมวิจัย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นวิจัยเลย กลายเป็นคุณูปการที่สำคัญ”

หนานชาญกล่าวถึงข้อสรุปของการวิจัยชิ้นนี้ว่า แม้ท้ายที่สุดจะไม่สามารถปลดหนี้ชาวบ้านได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ระหว่างเส้นทางการทำวิจัยก็ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้กระบวนการแก้ไขปัญหา รวมถึงเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับหนี้สินอย่างมีสติ และหากมองผลลัพธ์ที่ได้มากกว่านั้นก็คือ การสร้างคน สร้างวิธีคิด ให้รู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง

“กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากอดีตจนถึงวันนี้ถือว่าต่อยอดไปไกลมาก จากการจุดประกายเรื่องหนี้สิน เราสามารถข้ามไปถึงเรื่องการจัดการทรัพยากร การทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาพันธุ์ข้าว และอื่นๆ ลองคิดดูว่าก่อนหน้านี้ทั้งหมู่บ้านเรามี 154 ครัวเรือน เป็นหนี้เสียรวมกันกว่า 18 ล้าน ทุนวิจัยที่ชุมชนบ้านสามขาได้รับมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน เริ่มต้นเพียงแค่ 3 แสนบาท แต่ผลพวงจากเงิน 3 แสนนั้น กลายเป็นชุดความรู้ที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้าตีออกมาเป็นเงินเป็นทองก็ถือว่าคุ้มค่าเกินงบประมาณที่ได้มา”

สอดคล้องกับผู้ใหญ่บุญเรือนที่กล่าวว่า วันนี้จากชุมชมเล็กๆ กับโจทย์วิจัยเรื่องหนี้สิน สามารถสานต่อไปสู่การดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย และตอบโจทย์วิถีชุมชนที่ยั่งยืน เป็นความพยายามที่จะปรับตัวท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ผ่านการประยุกต์ความรู้สมัยใหม่มาผสมผสานบนฐานทุนเดิม ทั้งทุนภูมิปัญญา ทุนทรัพยากร และทุนบุคคลที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา

“ในยุคโลกาภิวัตน์ เราต้องพัฒนาคนก่อน ไม่ใช่พัฒนาวัตถุก่อน ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนมีจิตสำนึก ทำให้คนเกิดความตระหนัก ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันในสิ่งที่เราจะต่อสู้ในวันข้างหน้าต่อไป” ผู้ใหญ่บุญเรือนให้ข้อสรุป

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า