เสียงคน เสียงช้างป่า

คดีฆ่า ‘เสือดำ’ ที่มีเจ้าสัวแห่งวงการรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ตกเป็นผู้ต้องหา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ท่ามกลางพยานหลักฐานแวดล้อมมากมาย ทั้งภาพถ่าย อาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุน และซากสัตว์อีกจำนวนหนึ่ง ผู้ต้องสงสัยยังคงให้การปฏิเสธ ขณะที่คดีอยู่ในชั้นศาล

ใครๆ ต่างก็หวังว่า “เสือดำจะต้องไม่ตายฟรี!”

ถัดมาอีกเพียง 8 เดือน เกิดคดีล่า ‘หมีขอ’ บริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค กาญจนบุรี พบผู้ต้องสงสัยเป็นปลัดอำเภอพร้อมพวกรวม 11 คน

ใครต่อใครต่างก็หวังอีกเช่นกันว่า “หมีขอจะต้องไม่ตายฟรี!!”

โดยข้อเท็จจริงทั้งสองคดีไม่ใช่เหตุการณ์แรก และอาจไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย

ความตายของสัตว์ป่าจากทั้งสองคดี อาจเป็นเพียงเกมกีฬาในสายตาของผู้ล่า และอาจถูกตีค่าเป็นเพียงของสะสมประดับบารมี หรือเป็นยาอายุวัฒนะเสริมกำลังวังชา

ความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า-คนกับสัตว์ ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมา ไม่เฉพาะบุคคลในแวดวงสังคมชั้นสูง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อาศัยอำนาจบาตรใหญ่บุกรุกคุกคามชีวิตสัตว์ป่า แม้แต่ในหมู่ชาวบ้านและชุมชนระดับรากหญ้าเอง ความขัดแย้งที่ว่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ

เมื่อชุมชนขยายตัว เรือกสวนไร่นาแผ่ขยาย พื้นที่ป่าหดแคบลง เกิดเป็นพรมแดนทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของมนุษย์ กับแหล่งหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า

อย่างกรณี ‘ช้างป่า’ บุกทำลายผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชสวนและพืชไร่ จนชาวบ้านต้องหาวิธีการสารพัดเพื่อจะขับไล่โขลงช้าง บ้างตีฆ้องร้องป่าว ขึงลวด ช็อตไฟฟ้า ไปจนถึงใช้อาวุธปืน ผลสุดท้ายคือความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย

หากเรายังเชื่อมั่นว่า คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ แล้วจะมีวิธีการใดบ้างที่คนกับสัตว์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เบียดเบียนกันและกัน

หนังสือ เสียงคน เสียงช้างป่า เป็นผลผลิตที่เกิดจากการทำงานเชิงวิจัย เพื่อหาคำตอบว่าชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณขอบป่า มีแนวโน้มที่จะตอบสนองเช่นไรต่อการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วิธีการเริ่มต้นคือ ตั้งวงพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่า 5 พื้นที่ ได้แก่ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 2. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน 3. กลุ่มป่าตะวันออก 4. อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ 5. อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น กลุ่มป่าเขาหลวง-เขาบรรทัด โดยเสียงของชุมชนจำนวนหนึ่งมีทัศนคติในเชิงลบต่อช้างป่า และข้อมูลจากเวทีชุมชนยังพบว่า มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจากการถูกช้างป่าเข้าชาร์จเป็นหลัก ขณะที่ช้างป่าตายส่วนใหญ่เพราะการขึงรั้วไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวบ้านนิยมใช้กันมากที่สุด

ในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หรือประมาณปี 2555-2561 เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างคนกับช้างในระดับรุนแรงรวมทั้งสิ้น 107 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 30 คน เสียชีวิต 45 คน ส่วนช้างป่าบาดเจ็บ 7 ตัว ตาย 25 ตัว ความขัดแย้งนี้ยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อชาวบ้านเริ่มเรียนรู้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ระยะหลังจึงเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยพยายามทำความเข้าใจและศึกษาพฤติกรรมช้างป่าให้มากขึ้น แม้กระทั่งการเปลี่ยนวิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ลดสารเคมี และปลูกพืชที่หลากหลาย เพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า

หนังสือเล่มนี้พยายามแสดงให้เห็นว่า การทำความเข้าใจปัญหาบนฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และการมีส่วนร่วม จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่าในแนวทางที่สันติ

 

สียงคน เสียงช้างป่า
คณะผู้เขียน: พิเชฐ นุ่นโต / ชุติอร ชาวีนี / มัทนา ศรีกระจ่าง / ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า