Sapiens: ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารอันประกอบด้วยโชคครึ่งหนึ่งและความสามารถอีกเสี้ยวหนึ่ง

1

การอยู่ลำดับบนสุดในห่วงโซ่อาหารไม่ได้น่าภาคภูมิใจขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เราได้มาไม่ได้ด้วยความสามารถล้วนๆ หรอก ยังไม่ต้องเอ่ยถึงระดับทางศีลธรรม ที่เราชอบกล่าวอ้างว่ามีเหนือสปีชีส์อื่นๆ จนกระทั่งมี ‘มนุษยธรรม’ ที่สงวนไว้ให้ความเป็นมนุษย์เท่านั้น — ก็แหงสิ 

แล้วมนุษย์คืออะไรกันแน่ หนังสือหนากว่าหกร้อยหน้าเล่มนี้ไล่เรียงให้เห็น จากเครือญาติเผ่าพันธุ์ใกล้เคียง เหล่าลิงไม่มีหาง (ในบทที่ชื่อว่า ‘สัตว์ที่ไม่สลักสำคัญ’ เราน่าจะพอเห็นเค้าลางความคิดของผู้เขียนได้) การปะทะสังสรรค์จนสาปสูญของมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่โฮโมเซเปียนส์ ทั้งนีแอนเดอร์ธัลส์ที่ตัวใหญ่กว่า ทนหนาวกว่า การอยู่รอดยาวนานของสายพันธุ์โฮโมอีเร็คตัส ที่อยู่อย่าง ‘เดิมๆ’ มาได้เกือบสองล้านปี โฮโมโซโลเอนซิสที่อาศัยอยู่บนเกาะแถบเส้นศูนย์สูตร รูปร่างเล็ก พูดตรงๆ ก็คือพวกเขาวิวัฒน์มาเป็นคนแคระเนื่องด้วยทรัพยากรบนเกาะอันจำกัด ฯลฯ

แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ยังเป็นเพียงทฤษฎี สุดท้ายเราเหลือรอดเพียงหนึ่งเดียว คือโฮโมเซเปียนส์ 

แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เรา, เซเปียนส์ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

นี่คือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของเราเอง มีแง่มุมมากมายที่อาจโดนใจบางเรา ถัดจากนี้คือมุมหน้ากระดาษที่ถูกพับไว้ ต่างเรื่อง ต่างราว นัยว่ามันกระทบใจ 

 

2

บางคราวที่เราฝันถึงวิถีชีวิตแบบนักหาของป่าล่าสัตว์ที่แสนโรแมนติก — หน้า 90

 

ชาวอาเช่ (Aché) เป็นนักล่าหาของป่าล่าสัตว์ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในป่าของปารากวัยจนกระทั่งศตวรรษที่ 1960 เมื่อสมาชิกที่มีเกียรติของกลุ่มเสียชีวิตลง ประเพณีของชาวอาเช่คือต้องฆ่าเด็กผู้หญิงอีกสักคนเพื่อฝังไว้รวมกัน

นักมานุษยวิทยาได้บันทึกเหตุการณ์หนึ่งที่ทางกลุ่มได้ละทิ้งชายวัยกลางคนที่ป่วยจนไม่สามารถเดินทางตามคนอื่นๆ ได้ เขาถูกทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ มีนกแร้งเกาะอยู่บนต้นไม้เหนือหัวกำลังรอคอยอาหารอันโอชะ แต่ชายผู้นั้นกลับฟื้นดีขึ้นและเดินอย่างปราดเปรียวจนตามทันกลุ่มได้อีกครั้ง ร่างกายของเขาเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้นก จึงได้รับชื่อเล่นว่า ‘มูลแร้ง’

เมื่อหญิงชราชาวอาเช่กลายเป็นภาระสำหรับคนที่เหลือในกลุ่ม หนึ่งในชายหนุ่มจะย่องตามหลังเธอไปและใช้ขวานจามศีรษะ 

ทารกที่เกิดมาโดยปราศจากเส้นผม ถือว่ามีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ จะถูกฆ่าทิ้งทันที

อย่างไรก็ตาม เราควรจะระมัดระวังและอย่าด่วนตัดสินชาวอาเช่จนเกินไปนัก นักมานุษยวิทยาที่ใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขานานหลายปีรายงานว่าความรุนแรงระหว่างผู้ใหญ่เกิดขึ้นน้อยมาก ทั้งชายและหญิงมีอิสระที่จะเปลี่ยนคู่ครองตามใจชอบ พวกเขายิ้มและหัวเราะอยู่เสมอ ไม่มีผู้นำตามลำดับชั้น และมักหลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือคนอื่น พวกเขาใจกว้างมากในเรื่องข้าวของที่มีเพียงไม่กี่ชิ้น และไม่ถูกครอบงำด้วยความสำเร็จหรือความร่ำรวย สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่ามากที่สุดในชีวิตคือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีและมิตรภาพ อย่าลืมว่าชาวอาเช่ถูกล่าและถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมโดยชาวนาปารากวัย การจะอยู่รอดได้อาจนำมาซึ่งทัศนคติที่โหดร้ายเป็นพิเศษเมื่อใช้กับใครก็ตามที่อาจเป็นจุดอ่อนของกลุ่ม

ความจริงก็คือ สังคมของชาวอาเช่ก็คล้ายกับสังคมมนุษย์ทุกสังคม คือซับซ้อนมาก เราควรระวังการตัดสินสังคมเช่นนี้ว่าชั่วร้ายเลวทรามหรือดีเลิศ โดยใช้พื้นฐานความคุ้นเคยแบบผิวเผิน ชาวอาเช่ไม่ใช่เทวดาหรือปีศาจ พวกเขาเป็นเพียงมนุษย์ แถมยังเป็นเพียงนักหาของป่าล่าสัตว์เท่านั้นเอง

 

3

เก็บความฝันแบบนักหาของป่าล่าสัตว์ที่แสนโรแมนติกเข้าลิ้นชัก หลายคราวที่เรายึดมั่นสัจธรรมบางอย่างไว้มั่น เช่นคุณค่าของความเสมอภาคและประชาธิปไตย ในแง่คำตอบเบ็ดเสร็จของชีวิต  — หน้า 162

 

เราส่วนมากยึดมั่นในหลักการทางสิทธิมนุษยชน การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และคุ้นเคยกับประโยคจากคำประกาศอิสรภาพ ที่ว่า 

“เรายึดถือสัจธรรมอันเห็นประจักษ์ชัดในตนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน โดยพระผู้สร้างได้มอบสิทธิที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อันได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข”

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ใช่สัจธรรมจริงๆ หรอก เพราะหากใช้แง่มุมทางชีววิทยาไปจับ คำประกาศอิสรภาพจะต้องเขียนดังนี้ 

“เรายึดถือสัจธรรมอันเห็นประจักษ์ชัดในตนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนถูกวิวัฒน์มาอย่างแตกต่างกัน พวกเราเกิดมาพร้อมลักษณะต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และในบรรดาลักษณะต่างๆ เหล่านี้ได้แก่ ชีวิต และการเสาะแสวงหาความพึงพอใจ”

ข้อความข้างต้นย่อมทำให้เราขุ่นเคืองใจบ้าง ก็ไหนล่ะ หลักประกันที่ว่าเราล้วนเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ชีววิทยายืนกรานหนักแน่น ว่าเราไม่เท่ากัน พวกเขาอาจมีปฏิกิริยาตอบกลับทำนอง “เรารู้อยู่แล้วว่าในทางชีววิทยาคนไม่เท่ากัน! แต่หากเราเชื่อว่าทุกคนต่างมีเนื้อแท้ที่เท่าเทียมกัน ก็จะช่วยสร้างสังคมที่มั่งคั่งยั่งยืนได้”

และผู้เขียนก็เรียกข้อตกลงร่วมอันมิใช่ข้อเท็จจริงทำนองนี้ว่า ‘ระเบียบแบบแผนตามจินตนาการ’

และเจ้าระเบียบแบบแผนตามจินตนาการ ที่เป็นคล้ายๆ เรื่องโกหกขนาดมโหฬารนี่แหละ ที่ทำให้เรา, เซเปียนส์ สร้างพีระมิดได้

 

4

เรื่องโกหกขนาดมโหฬารเช่นศาสนา ความเชื่อ แนวคิดทางการปกครอง ล้วนนำมาซึ่งการกดขี่และมีผู้ร้ายใจยักษ์ใจมารทำให้ชีวิตของเราไม่ราบรื่น บางทีเมื่ออ่านตำราประวัติศาสตร์ เราอาจรู้สึกรังเกียจจักรวรรดิอันเกรียงไกร ในแง่ที่ชอบทำตัวเป็นดั่งผู้รุกราน — หน้า 284

 

ถือเป็นเรื่องเย้ายวนมากที่จะแบ่งบุคคลในประวัติศาสตร์ออกเป็นพระเอกและผู้ร้าย และจัดให้จักวรรดิทุกแบบเป็นตัวร้าย เหตุเพราะจักรวรรดิแทบทั้งหมดมีรากฐานจากเลือด

แต่ขอให้ลองพิจารณาความสัมพันธ์ของอินเดียและอังกฤษ

การเข้ายึดครองอินเดียโดยอังกฤษทำให้คนอินเดียนับล้านๆ เสียชีวิต เกิดการเหยียดหยามและกดขี่ชาวอินเดียนับร้อยล้านคน แต่นอกจากการสังหาร ทำร้าย ข่มเหง คนอังกฤษก็ช่วยรวมอาณาจักรและชนเผ่าต่างๆ จนกลายเป็นหนึ่งเดียวได้ วางรากฐานระบบตุลาการ ทำให้เกิดโครงสร้างการปกครอง สร้างเครือข่ายรถไฟ ส่งต่อแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยให้ ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางของอนุทวีป ทำให้คนพื้นเมืองที่ใช้ภาษาฮินดี ทมิฬ และมาลายัน ใช้เป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารกัน ส่งต่อวัฒนธรรมจนคนอินเดียหลงใหลคริกเก็ตและการดื่มไจ (ชาใส่เครื่องเทศ)

ปัจจุบัน จะมีคนอินเดียสักกี่คนที่ต้องการลงคะแนนเพื่อปลดเปลื้องตัวเองจากประชาธิปไตย ภาษาอังกฤษ เครือข่ายรถไฟ ระบบกฎหมาย คริกเก็ต และชา ด้วยเหตุผลที่ว่า เหล่านี้คือมรดกที่ตกทอดมาจากจักรวรรดิ และหากว่าพวกเขาต้องการทำเช่นนั้นจริง ‘การลงคะแนนเสียง’ นี่เองก็ยังเป็นกระบวนการที่เป็นมรดกจากอดีตเจ้านายเหนือหัวของพวกเขา

แม้เราปฏิเสธมรดกจากจักรวรรดิอันโหดร้ายด้วยความตั้งใจจะปกป้องวัฒนธรรม ‘อันแท้จริง’ ที่มีอยู่ก่อนหน้า ก็มีโอกาสมากเหลือเกินที่มันจะเป็นการปกป้องมรดกจากอีกจักรวรรดิหนึ่งที่เก่าแก่กว่าแต่ไม่ได้โหดร้ายน้อยกว่ากันเลย ถ้าไม่ใช่จักรวรรดิอังกฤษก็อาจเป็นจักรวรรดิโมกุลและสุลต่าน หรือจะเป็นจักรวรรดิแบบฮินดูเช่นคุปตะ กุษาณะ หรือเมารยะ หากเป็นเช่นนั้น คนฮินดูชาตินิยมก็อาจจะต้องการทำลายสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือจากผู้พิชิตชาวอังกฤษ เช่น สถานีรถไฟหลักในมุมไบ และทุบทัชมาฮาลให้เหลือแค่กองอิฐ เพราะมันเป็นรอยมลทินผู้พิชิตชาวมุสลิม

ไม่มีใครรู้วิธีแก้ปัญหาทิ่มแทงใจเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม ก้าวแรกที่จะทำเช่นนี้คือต้องเข้าใจความซับซ้อนของทางเลือกที่ขัดแย้งกันเอง และยอมรับซะ ว่าการแบ่งอดีตออกเป็นพระเอกและผู้ร้ายไม่ได้นำไปสู่สิ่งใด แต่อันที่จริง เรื่องที่เลี่ยงไม่ค่อยได้ก็คือ เราต้องยอมรับความจริง ว่าพวกเรามักจะเดินตามเส้นทางที่นำโดยผู้ร้าย

5

อ่านไปสักครึ่งเล่ม เราอาจจะหลงคิดไปว่า เพราะเหตุฉะนี้ๆ ผลถึงเป็นฉะนั้นๆ และรู้สึกว่าเผ่าพันธุ์เรานี่แสนฉลาดเสียจริง จนคาดหวังว่าเราจะวาดภาพอนาคตได้ชัดเจนอย่างนักอนาคตศาสตร์ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังยึดตามบทแรกที่ทิ้งเชื้อไว้ ลองอ่านหน้า 333

ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เรียกว่า ระบบความยุ่งเหยิง ‘ระดับ 2’ 

ระบบความยุ่งเหยิงมี 2 ระดับ ความยุ่งเหยิงระดับ 1 เช่น สภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ ถ้าเรารวบรวมตัวแปรต่างๆ ได้ครบถ้วน เราสามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้ค่อนข้างแม่นยำ การทำนายไม่ได้ส่งผลอะไรต่อความยุ่งเหยิงนั้น

ความยุ่งเหยิงระดับ 2 นั้น การทำนายนั้นมีผลต่อปฏิกิริยาของมันเองด้วย เช่น ระบบตลาด สมมุติว่าเราพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำนายราคาน้ำมันได้แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลก็คือ ราคาน้ำมันจะทำปฏิกิริยากับคำทำนายทันที ส่งผลให้คำทำนายไม่เป็นจริง เช่น หากราคาน้ำมันวันนี้คือ 90 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ และซอฟต์แวร์ทำนายว่าพรุ่งนี้ราคาจะเป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ ผู้ค้าจะรีบซื้อน้ำมันเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง ส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นเป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์วันนี้เลยแทนที่จะเป็นพรุ่งนี้ แล้วพรุ่งนี้ราคาน้ำมันจะเป็นเท่าไร? ไม่มีใครบอกได้

การเมืองก็เป็นความยุ่งเหยิงระดับ 2 เช่นกัน นักวิชาการส่วนหนึ่งไม่ค่อยแฟร์นัก ที่บอกว่าทำไมเราถึงทำนายการปฏิวัติอาหรับสปริงไม่ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมเลยที่จะกล่าวโทษ เพราะโดยนิยามแล้ว การปฏิวัติย่อมไม่อาจทำนายได้ ถ้าเรารู้ก่อน การปฏิวัติย่อมไม่เกิด

แล้วเหตุใดเราถึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ล่ะ? ประวัติศาสตร์ต่างจากฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์ตรงที่ไม่มีวิธีทำนายที่เที่ยงตรง เราไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้รู้อนาคต แต่เพื่อขยายแนวคิด เพื่อทำให้เห็นว่า เรามีทางเลือกมากมายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และโลกของเราอาจจะแตกต่างจากที่เป็นอยู่นี้ได้อีกมาก

 

6

บทถัดๆ ไปคือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าย่อมมีหลายเหตุปัจจัยในนั้นที่ทำให้เราอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เราไม่รู้หรอกว่าจะได้อยู่สูงสุดไปนานแค่ไหน และเผ่าพันธุ์ของเราจะยืนยาวเพียงใด ประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเชิดชูสิทธิมนุษยชนเป็นแก่นแกนได้ไหม ประชาธิปไตยเต็มใบจะผลิเมื่อไร หรือกระทั่งว่าเราจะวิวัฒน์ให้สายตาทนแสงสีฟ้าจากหน้าจอหรือกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ป่ายปัดดิจิทัลดีไวซ์อย่างแคล่วคล่องจะวิวัฒน์ให้เราเป็นเช่นไร

เซเปียนส์คือสัตว์ที่ไม่เคยหยุดสงสัย

 

เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ
Yuval Noah Harari เขียน
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ แปล
สำนักพิมพ์ยิปซี

 

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า