สังคมสูงวัยที่ (ไม่) แข็งแรง

ภาพประกอบ: Shhhh
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ

 

ลองจินตนาการตัวเองอยู่ในวัยเกษียณ รายรับของคุณจะมาจากทางไหน รายจ่ายจะมีอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าดูแลสุขภาพ ค่าเดินทางไปจ่ายตลาด ไปสวนสาธารณะ ไปทัวร์ธรรมะต่างจังหวัด ไปฮันนีมูนกับคู่รัก และอื่นๆ ที่จะทำให้คุณเป็นคนชราแบบที่อยากเป็นได้

คำนวณค่าใช้จ่ายด้วยการคูณจำนวนวันเข้าไป นับแต่วันเกษียณจนถึงวันที่คุณอยากจะตายจาก ทั้งหมดนี้ควรเป็นจำนวนเงินเท่าไร

ถ้ายังไม่อยากคิดไปถึงวันไกลๆ ลองกลับมามองสถานการณ์ใกล้ๆ

สมมุติว่าคุณเป็นคนที่ต้องดูแลพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายที่แก่ชรา หรือต้องเก็บเงินเพื่อดูแลพวกเขาในอีกหลายปีข้างหน้า รายรับในปัจจุบัน หักเงินออม ลบค่าใช้จ่าย โอนเงินส่งไปให้ที่บ้าน บวกลบคูณหารแล้ว เหลือเงินเพื่อเก็บออมเป็นเงินก้อนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุของชีวิต… ทั้งหมดนี้จะเหลือเงินออมในปริมาณเท่าใด?

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของเสวนาวิชาการชุด ‘การวิจัยเพื่อฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ: คนพิการและผู้สูงอายุ’ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เป็นวงคุยเพื่อเผยแพร่งานวิจัยจากชุมชนท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ประเด็นโครงสร้างสังคมกับการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ โดยบทความชิ้นนี้จะมุ่งเฉพาะประเด็นผู้สูงวัย

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.) ฉายสไลด์อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2557 เปิดวงคุยด้วยประเด็นที่ว่า

รายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากลูกหลานกว่าร้อยละ 35.7 ที่เหลือคือเงินจากการทำงาน เบี้ยยังชีพที่ราชการกำหนดให้ เงินจากคู่สมรส เงินบำเหน็จ/บำนาญ และเงินส่วนที่น้อยที่สุดคือ เงินออมทรัพย์ของตัวเอง

ซึ่งนั่นนำมาสู่คำถามที่ว่า โครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่สวัสดิการ การออมเงิน และผังเมืองต่างๆ ได้รองรับประเทศที่กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Complete Aged Society) ภายในปี 2564 ได้ดีพอหรือยัง

สวัสดิการของผู้สูงอายุ อยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ชาติ 4.0?

รองศาสตราจารย์วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย กลุ่มวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชนและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ อธิบายปัญหาร่วมของผู้สูงวัยในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ว่า

ผู้สูงวัยที่ศึกษาแบ่งได้คร่าวๆ คือ

  1. ‘ผู้สูงวัยติดสังคม’ อาศัยลำพังได้ มีสุขภาพดี และจัดการตัวเองให้ได้รับบริการสาธารณสุขได้ตามที่รัฐจัดให้

  2. ‘ผู้สูงวัยติดบ้าน’ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือดูแลในชีวิตประจำวัน

  3. ‘ผู้สูงวัยติดเตียง’ มีโรคประจำตัว ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ และสวัสดิการสังคม

ถ้ามองให้ดี จะพบว่ามีผู้สูงอายุด้อยโอกาส และความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ในนั้น

“คำว่า ‘ด้อยโอกาส’ ไม่ใช่แค่เข้าไม่ถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลหรือเป็นคนยากจนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการได้รับสวัสดิการที่ไม่ได้อยากได้ หรือไม่รู้ว่าตัวเองอยากได้” วนิดากล่าว

รองศาสตราจารย์วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย

วนิดาเสนอข้อค้นพบของงานวิจัยว่า สวัสดิการบางอย่างจากรัฐ เป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้สูงวัยต้องการ หากบางอย่างไม่ใช่ และพวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการ เช่น อุปกรณ์ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหว บ้านพักผู้สูงวัย หรือบริการผู้ช่วยดูแลคนสูงวัยที่มาจากรัฐ

และชี้ประเด็นต่อว่า สัดส่วนงบประมาณสวัสดิการผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักไปตกที่ผู้สูงวัยกลุ่มติดเตียง หรือลงไปที่สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพ หากในแง่ของสังคม สิ่งแวดล้อม ศูนย์อำนวยความสะดวกและความรู้ ยังขาดอยู่

นั่นเป็นที่มาของเครือข่ายพื้นที่ชุมชนหลายๆ ที่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช  สร้างสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงวัยด้วยกันเอง เช่น โรงเรียนผู้สูงวัย การรวมตัวจัดกิจกรรมทางศาสนา หรือกระทั่งตั้งชมรมผู้สูงวัยติดสังคม ไปเยี่ยมผู้สูงวัยติดบ้านและติดเตียง

รองศาสตราจารย์กฤษณา รุ่งโรจน์วณิชย์

ครอบครัวดูแลผู้สูงวัย

รองศาสตราจารย์กฤษณา รุ่งโรจน์วณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้วิจัยประเด็นครอบครัวที่ดูแลผู้สูงวัย พบว่า

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ผู้สูงวัยที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ซึ่งรายได้ของผู้สูงวัยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากลูกหลาน และรายได้จากอาชีพเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชน ปัญหาที่ซับซ้อนลงไปกว่านั้นคือ ธรรมชาติของผู้สูงวัยในชนบทจะเป็นผู้ที่ดูแลหลาน เพราะแรงงานหนุ่มสาวต้องเข้าไปทำงานในเมือง หมายความว่ารายได้ทั้งหมด จะตกเป็นค่าใช้จ่ายของลูกหลาน ส่วนที่เหลือจึงเป็นของผู้สูงวัย

ข้อเท็จจริงอีกประการคือ ผู้สูงวัยและผู้ดูแลส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ทำให้ไม่มีสวัสดิการที่ครอบคลุม เงินออมไม่พอเพียง ซึ่งเป็นปัญหาลูกโซ่ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคม ซ้ำสวัสดิการของผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีก็ไม่เอื้อกับครอบครัวเหล่านี้ด้วย

ก่อนจบเสวนาในส่วนนี้ กฤษณาเสนอประเด็นและข้อค้นพบอีกประการว่า นักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมีไม่เพียงพอ และการทำงานไม่ได้เข้ากับสภาพปัญหาของผู้สูงวัย ซึ่งมีความหลากหลายจำเพาะแต่ละพื้นที่ด้วย

ธนาชัย สุนทรอนันตชัย

แรงงานวัยรุ่นฟรีแลนซ์ในวันนี้ คือผู้สูงวัยนอกระบบในวันหน้า

ธนาชัย สุนทรอนันตชัย รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ในฐานะนักกฎหมายและผู้ที่ดูแลวิจัยประเด็นเศรษฐกิจ ชี้ถึงปัญหาของผู้สูงวัย ‘นอกระบบ’ หรือผู้สูงวัยที่เป็นแรงงานภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศว่า ปัญหาของกลุ่มเหล่านี้ คือยังไม่มีระบบสวัสดิการจากรัฐที่ชัดเจน ไม่เหมือนข้าราชการและแรงงานในระบบส่วนใหญ่

“ปัญหาของภาครัฐที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาข้อมูลสถิติ ไม่มีหน่วยงานตรงกลางหรือการแชร์ข้อมูลร่วมกัน ถ้าอยากได้ข้อมูลทั้งหมด ต้องไปถามจากโรงพยาบาล ก็จะได้ข้อมูลผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยเข้ารับการรักษา ข้อมูลของสรรพากรก็จะไม่แสดงรายการทั้งหมด เพราะมีผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องจ่ายภาษี

“นั่นหมายความว่าข้อมูลของผู้สูงวัยนอกระบบจะหายไป ไม่มีอยู่ และหาได้ยากมาก ซึ่งนำมาสู่การจัดบริการไม่ถูกจุดด้วย”

ธนาชัยเห็นว่า ระบบสวัสดิการและเงินออมเพื่อจ่ายคืนในช่วงสูงวัย สำหรับแรงงานนอกระบบยังไม่ได้ถูกทำให้แข็งแรง ซึ่งถ้าดูจากสถิติประชากรที่เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์นั้น หมายความว่า ความมั่นคงของตัวเราเองในอนาคต ก็ย่อมสั่นคลอนด้วยเช่นกัน


Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า