พลาดหัวข่าว: เด็กดีที่ลั่นไกปืน

นี่คือหนึ่งในซีรี่ส์ ‘พลาดหัวข่าว’ ตั้งต้นงานวิจัยประเด็น ‘ผลกระทบของเด็กที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง’ บทความชิ้นแรกพูดถึงผลกระทบในเชิงวิชาการ และหลักการในการทำข่าวของสื่อมวลชน หากเรายังต้องการสะท้อนเสียงของผู้ที่ตกเป็นข่าว ทั้งผลกระทบในการใช้ชีวิตและเรื่องเล่าอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะมิติความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

บทสนทนาเหล่านี้เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า เด็กที่กระทำความผิด เป็นปีศาจ เป็นคนเลวโดยสันดาน หรือเป็นผลพวงจากการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพของกระบวนการยุติธรรม การทำงานของสื่อมวลชนที่ร่วมกันประกอบสร้างความเป็นปีศาจให้ประทับร่างลงในตัวตนของเด็กที่ก้าวพลาด

บทสนทนาถัดจากนี้ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเรื่อง ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก ในวันที่พวกเขาพร้อมจะพูดคุยผ่านพื้นที่สู่สาธารณะ และพร้อมจะบอกกล่าวกับทุกคนในสังคมนี้ว่า ปีศาจตนนั้นได้ดับสูญไปจากจิตวิญญาณของเขาแล้ว

ขีดเส้นใต้ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งว่า เจตจำนงของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มิได้ต้องการจะสนับสนุนว่า คดีความที่พวกเขาได้ก่อขึ้นนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง และปฏิเสธไม่ได้ว่าความสูญเสียที่เกิดกับเหยื่อและครอบครัวผู้เกี่ยวข้องมีอยู่จริง ไม่อาจมีสิ่งใดมาลดทอนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

หากเพียงอีกด้านหนึ่งในความรู้สึกส่วนลึกของผู้กระทำผิด พวกเขาเองก็ได้รับบาดแผลในใจเฉกเช่นกัน แม้ไม่อาจเทียบได้กับสิ่งที่พวกเขาทำ แต่อย่างน้อยบาดแผลนั้นก็บ่งบอกให้รู้ได้ว่า พวกเขายังคงมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวในตน และรอคอยการ ‘ให้อภัย’ จากสังคม


ฟลุ๊ก, 19 ปี

ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร

คืนนั้นผมไปวันเกิดเพื่อน ดื่มกันนิดหน่อย ไม่ได้มาก กำลังจะกลับบ้านตอนประมาณตี 2 เพื่อนผมเป็นคนขี่ ผมนั่งซ้อนท้าย และไม่รู้ว่าเพื่อนพกปืนมาด้วย ระหว่างทางกลับบ้าน เจอวัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาล้อมรถผม มากันสิบกว่าคันได้

ผมไม่เคยมีเรื่องทะเลาะกับพวกเขา แต่พวกเขามีเรื่องกับเพื่อนผม พอเขาขี่รถมาล้อม เขาก็เอาปืนมาจ่อผมก่อน พอเขาทำท่าจะยิง เพื่อนผมเลยส่งปืนมาให้ ผมเลยยิงใส่เขา ตามสัญชาติญาณคนจะโดนยิง พอได้ปืนมา ผมเลยยิงใส่ไปเลย ยิงแบบหลับหูหลับตา แบบไม่ได้ตั้งใจ พอหันกลับไปดูอีกที รถเขาล้มลงไปแล้ว

ทำไมรูปคดีนี้จึงไม่เข้าข่ายป้องกันตัว

ไม่ได้ ถ้ายิงป้องกันตัวต้องไม่เกิน 2 นัด อีกอย่างเขายังไม่ทันได้ยิง แต่ผมยิงเขาก่อน หมดโม่เลย 5 นัด

เหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ?

ผิดพลาด เพราะผมก็ไม่ได้รู้จักเขา ปกติผมแล้วผมเป็นคนใจเย็น นิ่งๆ ไม่ค่อยพูด ไม่ได้มีเรื่องอะไรพวกนี้ (นิ่งคิด) จริงๆ ถ้าผมเข้ามาติด (สถานคุมประพฤติ) ตั้งแต่แรก ผมควรจะถูกปล่อยตัวแล้ว แต่ผมอุทธรณ์ขอประกันตัวไปเรียนต่อ แต่พอไปเรียนแล้วมีปัญหาอีก กลุ่มเพื่อนผู้ตายจะมาเอาคืน เพราะผมไปฆ่าเพื่อนเขา ผมก็เลยเรียนต่อไม่ได้ ต้องออก เลยตัดสินใจรีบเข้ามาดีกว่า เพราะอายุเริ่มเยอะแล้ว ถ้าอายุ 24 ผมต้องไปคุกใหญ่ เลยตัดสินใจเข้ามาเพื่อชดใช้ให้มันจบๆ ไป

ก่อนจะเข้ามาบ้านกาญจนาฯ ได้ไปอยู่บ้านแรกรับที่ไหนมาก่อน

ไปอยู่ที่ราชบุรี จริงๆ ต้องอยู่ให้ครบ 3 เดือนก่อนถึงจะย้ายไปที่อื่นได้ แต่ผมอยู่ที่นั่นแค่ 2 เดือน แล้วจึงสมัครเข้ามาบ้านกาญจนาฯ ผมตั้งใจอยากจะย้ายมา เพราะเขาบอกว่าที่นี่ดีกว่า อาจเพราะผมช่วยเขาทำความสะอาดหอ เป็นยอดงาน ประพฤติตัวดี เขาเลยเซ็นอนุมัติ คนที่เซ็นจะมี 5 คน มีทั้งหมอ พ่อบ้าน นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา

ตอนที่ครอบครัวทราบข่าว เขาว่าอย่างไรบ้าง

ตกใจ เขาช็อกเลยวันนั้น เพราะเขาไม่คิดว่าผมจะทำ ผมก็อธิบายให้เขาฟัง ตอนนั้นเขายังโกรธผมอยู่ เขาบอกว่าถ้าผมไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้านก็คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนพ่อก็ถามว่าเรื่องมันเป็นมายังไง เพราะเขาเป็นตำรวจ เขาก็คิดว่าอย่างนี้ควรรับสารภาพเพื่อสู้คดีต่อ อาจเข้าข่ายว่าเป็นการยิงป้องกันตัวได้ เพราะคู่กรณีเขาชักปืนก่อน เพียงแต่เขาไม่ได้ยิงเราเท่านั้น

ตอนที่ตำรวจสอบปากคำ มีนักสังคมสงเคราะห์ นักสิทธิ หรือทนายนั่งอยู่กับเราด้วยไหม

ไม่มีครับ พอขึ้นศาลจึงจะมีทนายมา

ความรู้สึกตอนที่ต้องตอบคำถามตำรวจเป็นอย่างไร

ผมกลัวว่าเขาจะไม่เชื่อ เพราะว่าผมไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ผมเป็นคนทำ เขาก็อาจไม่เชื่อ ต้องคิดว่าทุกคำที่ผมพูด ผมโกหก หรือพูดเพื่อช่วยตัวเอง แต่ผมก็ตอบตามความเป็นจริงทุกเหตุการณ์ ก็ค่อนข้างกดดัน ตำรวจมากันเยอะ นั่งล้อม เขาก็ถาม คนนู้นก็ถาม คนนี้ก็ถาม ผมไม่รู้จะตอบใคร เลยขออนุญาตให้พ่อแม่เข้ามาด้วย จะได้ไม่เกร็งมาก

คำถามอะไรที่ไม่ชอบที่สุด

ทำทำไม ทำเพราะอะไร เหมือนเขาตอกย้ำเรา ปกติผมไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว เป็นคนนิ่งๆ พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้… (นิ่งเงียบ)

พอตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งรู้สึกอย่างไร

ตอนนั้นลงหน้าหนึ่งเดลินิวส์ และข่าวออนไลน์ด้วย แย่เลย คือแค่คนวงในเขาก็รู้มากพอแล้ว เดินไปไหน คนก็จะแบบ เห้ย…นี่เพิ่งฆ่าคนตายมาเหรอ เขามองผมเปลี่ยนไปเลย ปกติเขาจะมองผมเป็นเด็กดีประจำหมู่บ้าน แต่พอรู้ว่าผมยิงคนตาย เขาก็จะมองผมเป็นอีกแบบ คำพูดเขาเหมือนตอกย้ำอะไรแบบนี้ เช่น ไม่น่าทำเลย ลูกเขามีพ่อมีแม่ แล้วบางทีก็มีคนส่งข้อความมาต่อว่าทางเฟซบุ๊ค จนผมต้องปิดเฟซหนี เพราะผมทำใจไม่ได้ที่เขามาว่า ผมรู้ว่าผมผิด แต่ผมไม่ได้ตั้งใจ

เคยมีโอกาสได้อธิบายหรือพูดคุยกับครอบครัวของคู่กรณีบ้างไหม

ไม่มีครับ ตอนขึ้นศาล ผมขอโทษเขาทุกอย่าง และพร้อมจะเข้ามาอยู่ตรงนี้ ผมก็แคร์พ่อแม่เขา พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่อยากให้เขามองว่าผมตั้งใจยิงลูกเขา อยากให้เขารู้ว่าผมไม่ได้ตั้งใจนะ ผมไม่ได้เลว

ก่อนที่จะเข้ามาบ้านกาญจนาฯ เรียนอยู่ชั้นไหน

ตอนนั้นอยู่ ม.4 เรียนโรงเรียนสามัญ สายอังกฤษ-ญี่ปุ่น ที่ผมเคยคิดเอาไว้คือ อยากไปต่อที่ ม.บูรพา เพราะได้ยินมาว่าที่นั่นเขาเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ ผมชอบคอมพิวเตอร์ พอมาอยู่ในนี้ผมก็เรียน กศน. ถ้าออกไปก็จะจบ ม.6 พอดี จะลองใช้ความรู้ที่มีสอบเข้าดู

ถ้าให้นิยาม คิดว่าเรามาอยู่ที่นี่ในสถานะอะไร

ขอเป็นนักเรียน คล้ายๆ ว่ามาเก็บเกี่ยวความรู้ในบ้านหลังนี้ หาประสบการณ์ไปด้วย เพราะเวลาอยู่ที่นี่ก็มีโอกาสได้ไปออกงาน บ้านกาญจนาฯ จะมีช่วงที่ให้เด็กในบ้านได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เช่น งาน TedXBangkok หรือไปเล่าประสบการณ์ตามเวทีต่างๆ โชคดีที่เราไม่ต้องใส่ชุดศูนย์ฝึก ไม่อย่างนั้นคนอื่นก็จะมองเราว่าขี้คุก แต่ที่นี่เราสามารถแต่งตัวได้ตามปกติ เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป

ชีวิตความเป็นอยู่เทียบกับที่เก่าเป็นอย่างไร

เราก็เป็นเหมือนนักโทษ ไม่มีสิทธิ์ไปต่อรองอะไรกับเขา ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ตอนมาอยู่ที่นี่แรกๆ ผมยังตกใจ ผมมาจากราชบุรี (บ้านต้นทาง) ลงจากรถตู้เขาปล่อยให้เดินลงมาเลย ไม่มีกุญแจมือ แต่ถ้าเป็นบ้านเก่าต้องใส่กุญแจมือและมีผู้คุมเดินมาด้วย

การถูกใส่กุญแจมือมีผลต่อความรู้สึกแค่ไหน

แค่เห็นกุญแจมือ ก็คิดว่าอนาคตเราไปแล้ว เราเป็นคนแบบนี้เหรอ ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราต้องถูกใส่กุญแจมือ ผมไม่คิดด้วยซ้ำว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับผม ต้องใส่ต่อหน้าแม่ ตอนใส่ตอนแรกแม่ไม่อยู่ แต่พอรู้ว่าแม่จะมา ผมก็ขอให้คุณตำรวจช่วยถอดออกแป๊บนึงได้มั้ย ขอให้ผมขึ้นรถไปก่อนแล้วค่อยใส่ก็ได้ ผมไม่อยากให้แม่เห็นผมในสภาพนั้น

เขาอนุญาตไหม

ไม่ครับ เขาก็บอกว่าต้องใส่ แม่ผมก็ยืนร้องไห้ แล้วผมก็ถูกส่งตัวขึ้นรถไปอีกที่หนึ่ง

เมื่อไรจะได้ปล่อยตัว

อีก 2 ปี ตอนนี้นับวันรอ เหมือนรอวันครบรอบกับแฟนเลย

ติดตามซีรีส์ ‘พลาดหัวข่าว’ อื่นๆ ที่
พลาดหัวข่าว: โรงละครในข่าวรายวัน กับผลกระทบที่ไม่จบแค่หน้าจอ
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (1)
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (2)
พลาดหัวข่าว: คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง (3)

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า