ภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย: การดำรงอยู่ขององค์ความรู้ไม่อาจหลุดลอยจากสังคม

“ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อย 10 ปีที่ผ่านมา 10 ปีที่แล้ว กับ 10 ปีนี้ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าพูดแบบนี้หมายความว่า ในแง่ของโครงสร้าง สถาบัน อุดมการณ์ มันได้เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงภูมิทัศน์ ผมจะใช้ในความหมายโดยรวมๆ แบบนี้เวลามาใช้กับนิติศาสตร์”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบริบทการใช้คำว่า ‘ภูมิทัศน์’ ของ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งนำมาสู่ความพยายามชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในสังคมไทยที่กระทบต่อความรู้ทางด้านกฎหมายหรือภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย ผ่านงานเสวนา ‘สังคมไทย: สังคมใหม่เป็นไปได้?’ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563

หากพิจารณาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรืออย่างน้อยตั้งแต่ปี 2490 จะพบว่า สถาบันตุลาการไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงขนาดนี้มาก่อน เดิมการวิพากษ์วิจารณ์ศาล คนวิพากษ์วิจารณ์ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยมักขึ้นต้นว่า “ด้วยความเคารพในคำพิพากษาของศาลเป็นอย่างยิ่ง” ซึ่งความกังวลแบบนี้ในปัจจุบันลดลง ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลหรือการทำงานขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมกว้างขวางมากขึ้น สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

“นี่เป็นช่วงเวลาที่ระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง”

ประกอบกับปัจจุบันที่สังคมไทยไม่ได้มีเพียงความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นความผันผวน กล่าวคือ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่อาจบอกได้ว่ามันจะไปแบบไหน มันจะจบลงยังไง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาหลังเลือกตั้งเสร็จ ประธานาธิบดีที่แพ้การเลือกตั้งยืนยันว่าไม่ออก แต่สุดท้ายตัวระบบจะบีบให้ตัวบุคคลต้องออกไป แล้วเดือนมกราคมประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งจะเข้ามา นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่คาดหมายได้และคนในสังคมมองเห็นร่วมกันถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นไปแบบนั้น

ขณะที่สังคมไทยไม่ต้องถึง 3 เดือนข้างหน้า เพียงแค่การชุมนุมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น หลังจากการชุมนุมแล้วจะเป็นอย่างไร คนไปร่วมชุมนุมจะโดนจับไหม ถ้าโดนจับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิดอะไรตามมามากน้อยแค่ไหน นี่เป็นทั้งความเปราะบางและความอันตราย เพราะไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด

ความเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษ สิ่งที่ดำรงอยู่ไม่หยุดนิ่งหรือตายตัว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงประเด็นใหญ่ที่กระทบต่อภูมิทัศน์โดยรวมและความรู้นิติศาสตร์ ดังนี้

หนึ่ง ระบบการเมือง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในแนวโน้มที่จะไปสู่ระบอบปกครองที่ความเป็นประชาธิปไตยลดลง ความเป็นอำนาจนิยมเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับสถาบันการเมืองที่ไม่สัมพันธ์กันประชาชนขยายอำนาจเพิ่มขึ้น ทว่าสถาบันที่สัมพันธ์กับประชาชนมีแนวโน้มที่จะถูกกำกับ ถูกตรวจสอบ และอำนาจหดแคบลง

สิ่งที่เห็นได้อย่างประจักษ์ คือ ระบบรัฐสภา จะพบว่า คนจำนวนมากที่เป็นตัวแทนของเสียงข้างน้อย แต่เมื่อไปอยู่ในรัฐสภากลับทำให้ดูราวกับเป็นเสียงข้างมาก อย่าง สว. 250 คน เป็นตัวแทนของใครไม่รู้ แต่ได้นั่งในสภาและพูดได้เสียงดัง

“นี่เป็นพวกเสียงข้างมากจำแลง คือไม่ได้เป็นเสียงข้างมากจริงๆ แต่เสียงข้างมากจำแลง ถูกปลุก ถูกเสก และอยู่ในสภา พวกนี้กลายเป็นเสียงข้างมาก ทำให้ดูราวกับว่าคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของคนจำนวนมาก”

สอง เทคโนโลยีดิจิทัล คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีผลกระทบต่อสังคมมาก โดยเฉพาะสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของเขื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำงานเพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

อย่างการจ้างงาน ในอดีตเมื่อพูดถึงลูกจ้าง ก็จะนึกภาพว่าลูกจ้างต้องอยู่ในโรงงาน แต่ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากทำงานโดยมีแพลตฟอร์มเป็นนายจ้าง เช่น ผู้ขับขี่รับส่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแกร็บ แพนด้า หรือไลน์แมน โรงงานของพวกเขาอยู่บนท้องถนน โดยเผลอๆ พวกเราก็เป็นนายจ้างด้วย

สาม สังคมผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ต้องตระหนักถึง ด้านหนึ่งสังคมไทยไม่ใช่เพียงสังคมที่แก่ก่อนจน แต่เป็นสังคมที่แก่และจน ประกอบกับการคาดการณ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือมากกว่า 13 ล้านคน สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญอย่างแน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการหรือระบบบำนาญอย่างไรให้คนในสังคมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

“เราจะเปลี่ยนระบบสวัสดิการหรือระบบบำนาญให้กับคนในสังคมอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกศาสตร์ทุกสาขาควรคิดถึง เพราะถ้าไม่ถูกคิดถึง เราจะอยู่ในสังคมที่เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าต้องทำงานหาเลี้ยงคนแก่ มันจะเป็นภาระมาก ซึ่งเราไม่ควรโยนภาระนี้ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง เราควรสร้างระบบที่เรียกว่าระบบสวัสดิการของรัฐโดยรวมให้เกิดขึ้น”

ในอีกด้านหนึ่งเรายังมีคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนอายุราวๆ 20 ปี ที่เกิดในยุคสมัยแบบหนึ่ง มีประสบการณ์ในโลกความจริงอีกแบบ รวมถึงมีสัมพันธ์กับสถาบันทางสังคมต่างๆ อาทิ สถาบันการเมือง สถาบันทางศีลธรรม อีกแบบหนึ่ง และที่สำคัญ คือ เขามีความกล้า ซึ่งนี่จะเป็นคนที่อยู่ในสังคมต่อไป

“เวลาเขามีประสบการณ์ มีความรู้ มีทัศนะ อย่าไปคิดเลยว่ามันเกิดขึ้นโดยการล้างสมองหรือการครอบงำของใคร เขามากับกระแสความรู้ กระแสความรู้สึก กระแสความเข้าใจอีกชุดหนึ่ง ซึ่งหยุดไม่ได้ ห้ามไม่ได้ สำคัญคือเราจะทำให้เขาไปกับสังคมไทยนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่ เรามักจะคิดถึงสังคมผู้สูงอายุ แต่ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนที่ต้องถูกตระหนักถึงและคิดถึง”

สี่ อัตลักษณ์ที่แตกต่าง ปัจจุบันในสังคมไทยการแสดงอัตลักษณ์ที่แตกต่างเริ่มพยายามเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทางการเพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มมุสลิม เป็นต้น ซึ่งการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ควบคู่กับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมปรากฏให้เห็น นี่คือความเปลี่ยนแปลงหรือการแสดงอัตลักษณ์ที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อเรียนรู้กันและกัน

ห้า ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง เป็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นปัญหาใหญ่ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ คนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 ของประชาชนคนไทยทั้งหมด ถือครองความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินราวร้อยละ 66.9 ในปี 2561 ซึ่งขยับจากร้อยละ 58 ในปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่า คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น ซึ่งการมีฐานะจะทำให้เขาเข้าถึงสิทธิและโอกาสต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างความแตกต่างทางรายได้มีผลอย่างสำคัญต่อการศึกษา หรือแม้แต่การเกณฑ์ทหาร

คนจนส่วนใหญ่เรียนได้จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และหลุดไปจากระบบการศึกษาในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการศึกษาค่อนข้างสูงและครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการเรียน รด. ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้คนที่ไปเกณฑ์ทหารและเป็นทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่จึงเป็นลูกหลานคนจน

“เขาต้องเสียโอกาสในชีวิต 2 ปี เสียโอกาส เสียเวลา แทนที่จะใช้ชีวิตสะสมความรู้ สะสมทุน ความเหลื่อมล้ำมันส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นจริง”

ขณะที่อย่างน้อยที่สุด ชนชั้นกลางสามารถเรียนจบและทำงานต่อได้ โดยไม่ต้องเป็นทหาร เพราะผ่านการเรียน รด. มาแล้ว ชนชั้นกลางจึงไม่รู้สึกว่าการเกณฑ์ทหารเป็นภาระ เนื่องจากเขาสามารถหลบเลี่ยงภาระเช่นนี้ได้

และความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการ คือ สิ่งแวดล้อมเปราะบาง เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ทั้งระดับโลกและระดับสังคมไทย ทว่าสังคมไทยเผชิญปัญหาเรื่องอื่นอีกจำนวนมากที่เป็นโจทย์ใหญ่ ส่งผลให้ไม่อาจตระหนักหรือต้องข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมไปจัดการปัญหาเรื่องอื่นที่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไขก่อน อย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ

จากความเปลี่ยนแปลงในสังคม สู่ผลสะเทือนต่อภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย

เมื่อความรู้ทางด้านกฎหมายไม่ต่างจากความรู้ศาสตร์อื่นที่ดำรงอยู่โดยสัมพันธ์หรือไม่ได้หลุดลอยจากบริบททางสังคม ความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นจึงย่อมกระทบต่อภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทยเช่นกัน

ประการแรก ความเข้าใจต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม จะพบว่า สถาบันทางกฎหมายที่เคยดำรงอยู่อย่างเป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่เอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บัดนี้ องค์กรเหล่านี้ได้แสดงบทบาทและหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาอำนาจดั้งเดิม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นหรือความเข้าใจที่มีต่อสถาบันกฎหมายแบบเดิมสั่นคลอนไป ไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่แล้วผู้คนรู้สึกว่าเป็นกลางได้

อย่างกรณี เยล-สุริยา แสงแก้วฝั้น ขึ้นพูดปราศรัย 15 นาที ในการชุมนุมที่ท่าแพ เชียงใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และโดนออกหมายจับข้อหา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ซึ่งหมายถึงขั้นที่มีการล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลัง ประกอบกับการจะออกหมายจับ ตำรวจต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตจากศาล

“คำถามแรก ออกหมายจับมาได้ยังไง คือตอนที่ตำรวจเห็นบอก ‘อ้าว คือคนนี้เหรอ สุริยา แสงแก้วฝั้น’ ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ก็คนหนึ่ง ถอดเทปมาส่งให้ตำรวจอีกคน ตำรวจอีกคนก็พิมพ์แล้วส่งขอออกหมายจับไปให้ศาล ศาลดูแล้วก็ออกหมาย ทำงานกันเป็นเครื่องยนต์กลไก โครงสร้างหรือกระบวนการกลไกยุติธรรมมีปัญหาแน่ๆ”

ประการต่อมา ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมาย เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทยและเป็นเรื่องใหญ่ในทางวิชาการ โดยเฉพาะในแวดวงความรู้ด้านกฎหมาย จากประวัติศาสตร์กฎหมายแบบกษัตริย์นิยม สู่การเริ่มถกเถียงและตั้งคำถามต่อความเข้าใจชุดความรู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายและการปฏิรูปกฎหมาย

จากข้างต้นยังเกิดผลกระทบต่อภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทยในประการที่สาม สถาบันกษัตริย์ เดิมเคยถูกพิจารณาว่า มีระยะห่างจากการเมือง กล่าวคือ สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ลงมาขัดแย้งกับการเมือง ทว่าอย่างน้อยในช่วง 4-5 ปีหลัง ผู้คนเริ่มพิจารณาว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งห่างไกลจากการเมือง และมีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างใกล้ชิด ชัดเจน นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอันจะนำไปสู่การเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรืออื่นๆ ตามมา

ประการสุดท้าย ภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทยที่เปลี่ยน คือ ระบบการเมือง โดยเฉพาะในปัจจุบันระบอบอำนาจนิยมทางการเมือง ชุดความรู้ ชุดความเข้าใจที่อธิบายว่า กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ ซึ่งครอบงำภูมิทัศน์ความรู้กฎหมายในไทย เป็นสิ่งที่ถูกท้าทายอย่างกว้างขวาง เมื่ออะไรที่เป็นกฎหมายของรัฐไม่ได้มีความชอบธรรมเพียงเพราะเป็นกฎหมายของรัฐ แต่ถูกตั้งคำถาม ถูกถามถึงเหตุผล และถูกถามถึงความชอบธรรม ไม่ใช่เพียงการท้าทายหรือการตั้งคำถามต่อการรัฐประหาร ทว่าแพร่ขยายไปสู่หลากหลายเรื่อง

ความท้าทายอย่างมากในช่วงเวลานี้เป็นการที่กลุ่มนักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน นี่คือการท้าทายต่อความเข้าใจว่ากฎหมายเป็นเรื่องของคำสั่ง เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ตอนนี้พวกเขาเริ่มท้าทายว่าการแต่งกายสัมพันธ์กับการเรียนด้วยเหรอ และนี่คือปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

“บัดนี้มีคนท้าทายกฎหมาย กฎเกณฑ์ มาตรฐานต่างๆ ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามันเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามันเป็นกฎหมายของรัฐ แต่มันถูกตั้งคำถามว่ามีเหตุผลอะไร และการเผชิญกับเรื่องนี้ได้ต้องใช้เหตุใช้ผลในการตอบโต้กัน”

จากข้างต้น เป็นความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทยในทัศนะของ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแง่มุมในการทำความเข้าใจกฎหมายมิติใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และเขายังให้ความเห็นทิ้งท้ายต่อช่วงจังหวะความเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า

“ในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน มันจะเป็นแบบไหนในอนาคตเราก็ไม่รู้ ก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยว่าเราจะได้ทันอยู่หรือได้ทันเห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนี้รึเปล่า พอประมาณกลางปีที่ผ่านจนถึงบัดนี้ผมมั่นใจ อย่างน้อยผมไม่รู้หรอกว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นยังไง แต่ทุกคนอยู่ทันแน่ และเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ไม่ว่าเราจะคาดหวังว่ามันจะดีหรือไม่ดี”

 

จาก เวทีเสวนาทางวิชาการ ‘สังคมไทย: สังคมใหม่เป็นไปได้?’ วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00-15.00 น. ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า