พลาดหัวข่าว: โรงละครในข่าวรายวัน กับผลกระทบที่ไม่จบแค่หน้าจอ

โจ๋ใจทราม ฆาตกรโหด หื่น ไอ้… ฉุดฆ่าข่มขืน – ตัวอย่างพาดหัว
เหลือขอ ขยะสังคม สังคมเสื่อมทราม อยากให้ลูกมันถูกลากไปข่มขืนบ้าง – ตัวอย่างคอมเมนท์

เวลาอ่านข่าวว่ามีคนฆ่ากัน ผ่านสีสันปลายปากกานักข่าว ผ่านความเห็นของผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ผ่านการรุมประณามของคนในสังคมที่ห่างไกลเพียงปลายนิ้วไถบนหน้าจอสมาร์ทโฟน…

เราจะมีคำถามถึงใครและอะไรได้บ้าง?  

มีความจำเป็นแค่ไหนที่ตำรวจต้องนำตัวผู้ต้องหามาตั้งโต๊ะแถลงข่าว พร้อมให้กองทัพนักข่าวรุมสัมภาษณ์ราวกับสอบปากคำ ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นคำถามที่ขอให้ผู้กระทำเล่าเหตุในวันนั้นซ้ำอีกครั้ง

ในระหว่างโดนกระหน่ำด้วยพายุคำถามและความเครียด เป็นไปได้ไหมว่าผู้กระทำก็ยังสับสนจากสิ่งที่ตัวเองทำไปหมาดๆ เป็นไปได้ไหมว่าคำตอบที่ได้จากสภาวะสับสนและตึงเครียดเช่นนั้นจะยังไม่ได้ผ่านการเรียบเรียง และทุกถ้อยคำที่พูดออกไปอาจรัดรึงขึงพืดตัวเอง ถูกแปะประจาน ดึงไปโควทเพื่อถามความเห็นจากสังคม และจะถูกบันทึกไว้ในโลกโซเชียลตลอดกาลตราบเท่าที่ใครก็ตามจะเสิร์ชดูอีกครั้ง

ครอบครัวของเหยื่อจะเป็นเช่นไร เมื่อต้องฟัง อ่าน เรื่องราวที่เขียนขึ้นอย่างเห็นภาพของนักข่าวและคอมเมนท์ ราวกับทุกคนนั่งอยู่ในเหตุการณ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความจริงในเนื้อข่าวมีมากน้อยเพียงใด แล้วชีวิตของทั้งผู้กระทำและเหยื่อ จะเป็นอย่างไรหลังจากนั้น

นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนคิดเอาเอง หากเป็นคำถามตั้งต้นของ ‘โครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเยาวชนที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งกับการเสพติด สู่แนวทางป้องกันแก้ไข กรณีศึกษากลุ่มเยาวชนที่ตกเป็นข่าวในเขตกรุงเทพมหานคร’ โดยซูเปอร์โพล (Super Poll) ร่วมกับ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมุ่งหาคำตอบกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

ดังที่ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในฐานะนักวิจัยโครงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเยาวชนที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งฯ อธิบายประเด็นสำคัญ หลังต้องอยู่กับข้อมูลเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์เชิงลึกของเด็กในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จำนวน 4 ครอบครัว และติดตามการทำงาน (site visit) ของบ้านกาญจนาภิเษก กับครอบครัวของเยาวชน (empower) อีก 20 ครอบครัว เพื่อการทำวิจัยครั้งนี้ 

“ถ้าข่าวนั้นไม่จริง หรือการกระทำความผิดของเด็กคนนี้ ไม่ได้หนักเท่าที่ข่าวบอก เด็กคนนี้เสียอนาคตทันที

“เวลาที่เด็กกระทำความผิดเบื้องต้น เขายังอยู่ในช่วงสับสนชุลมุนว่าอะไรคือสาเหตุที่เขากระทำ แต่ตำรวจก็สัมภาษณ์เขา ณ เวลานั้น ประเด็นคือสาเหตุที่เด็กบอก ณ ตอนนั้น มันถูกตีเป็นข่าว หมายความว่าความน่าเชื่อถือของความจริงมันไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเด็กไม่อยู่ในสภาวะที่เขาจะสื่อสารได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขากระทำความผิด มันยังอยู่ในช่วงชุลมุน แต่ข่าวสามารถตีตราเขาได้เลย”

ผลที่ตามมาจากการตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง

ผลการสำรวจในปี 2559 จำนวน 28 ข่าวใหญ่ที่เป็นที่พูดถึงประจำปี แบ่งเป็นข่าวเด็กกระทำความผิด 21 ข่าว และเด็กกระทำความดีอีก 7 ข่าว โดย Super Poll จัดทำสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 851 ตัวอย่าง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงระยะเวลาตั้งแต่กรกฎาคม-พฤศจิกายน 2559 เพื่อสำรวจความเห็นว่า หลังพวกเขาอ่านข่าวหน้าหนึ่งแล้ว พวกเขาเชื่อตามข่าวมากน้อยเพียงใด ขณะที่อีกส่วนคือการสัมภาษณ์เชิงลึกกับครอบครัวของผู้กระทำความผิดและเป็นข่าวหน้าหนึ่ง โดยนักวิจัยได้เข้าร่วมกิจกรรม empower ครอบครัว และสัมภาษณ์หลักการทำงานของคณะทำงานในบ้านกาญจนาฯ

“มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อ่านข่าวจะเชื่อทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจพอสมควรกับการสำรวจครั้งนี้ และในจำนวนนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มองว่าเป็นความผิดพลาดทั้งหมด ทั้งเด็ก ครอบครัว ชุมชน

“หมายความว่าสิ่งที่ปรากฏตรงนี้ เขาเชื่อตามนั้นทั้งหมด แล้วเมื่อเด็กคนนี้กลับออกไป หรือขณะที่เขาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ครอบครัวเขาก็จะถูกตีตรา อาจจะอยู่ในชุมชนนั้นไม่ได้อีกเลย ซึ่งมีกรณีแบบนี้เยอะมากในกลุ่มของเด็กที่เข้ามาสู่กระบวนการของสถานพินิจฯ ทำให้ตัวครอบครัวเองรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง” อรุณฉัตรกล่าวและว่า ที่น่าตกใจเพราะเขาเชื่อว่า เฉพาะตัวของผู้กระทำย่อมมีมิติอื่นที่ไม่ได้ถูกรายงานในฐานะมนุษย์ และเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมและรายงานข่าวของสื่อมวลชนเองก็มีความผิดพลาดตั้งแต่ต้นเช่นกัน

“ข่าวส่วนใหญ่จะนำเสนอว่ามี ‘ปีศาจ’ อยู่ในตัวเด็กคนนั้น และต้องกำจัดปีศาจตนนี้ออกไปจากสังคมไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม คือผลักดันออกไปจากสังคมให้ได้ ซึ่งมีชุดความคิดแบบนี้อยู่ในสื่อมวลชนบางกลุ่ม ว่ามีคนทำความผิดนะ เราต้องไปไล่ล่าความจริงมา และต้องกำจัดคนเหล่านี้ออกไป

“ยกตัวอย่างกรณี ‘หมูหยอง’* เราจะเห็นว่ามีความกระหายในข่าวของนักข่าวสูงมาก เป็นความกระหายในคำพูดบางอย่างที่จะเอาไปตีข่าว ไม่ได้เป็นความกระหายในแง่อยากจะปกป้องเด็กคนหนึ่ง หรืออยากจะทำให้สังคมมันดีขึ้นจากการเสนอข่าวนี้ได้อย่างไร” อรุณฉัตรอธิบาย  

ไม่เฉพาะการได้ปีศาจตนใหม่ขึ้นในสังคม แต่ได้สร้างกรงขังปีศาจตนนั้นไม่ให้ไปไหนได้อีกด้วย

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

‘ปีศาจ’ ที่ถูกขังด้วยลูกกรงกระดาษหนังสือพิมพ์

เด็กหลายคนเมื่อขึ้นหน้าหนึ่งแล้ว เขากลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าของแก๊งอาชญากรรม เป็นวุฒิบัตร ถ้าเขาออกไปเมื่อไหร่ก็จะเป็นที่หมายปองของกลุ่มมือปืนรับจ้าง ผู้ค้าอาวุธสงคราม พวกทำบ่อน ซ่อง เพราะการขึ้นหน้าหนึ่งมันการันตีคุณภาพระดับหนึ่ง

“นี่เป็นด้านกลับที่สื่อเองไม่เคยรู้ แต่ตัวเด็กซึ่งเขาอยู่ในเส้นทางสายนี้ เขารู้ ดังนั้นเวลาเขาขึ้นหน้าหนึ่งแล้ว การจะออกจากตรงนั้นมันยากมาก ลำพังตัวเขาไม่สามารถเอาตัวเองออกมาได้”

ในฐานะผู้ที่ต้องทำงานคลุกคลีกับเด็กหลังก่ออาชญกรรมและหลายๆ เคสที่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ทิชาอธิบายภาคต่อของผลกระทบที่ไม่ถูกตีพิมพ์ เธอย้ำว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เธอค้นเจอด้วยตัวเอง แต่เป็นเสียงของเด็กในบ้านกาญจนาฯ และในห้องสัมมนาของนักข่าวสายอาชญากรรมซึ่งจัดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ติดต่อกันหลายปี

“สงสัยอาจจะต้องให้ บก. มาอบรม เพราะคนที่เขียนพาดหัวเป็น บก.” เธอตอบทีเล่นทีจริงแต่เด็ดขาด และไม่ทันได้ถามถึงผลกระทบข้อถัดไป ทิชาเสนออีกหนึ่งผลกระทบที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนต่างดำเนินชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ว่า

“เราพบว่าในเด็กที่ขึ้นหน้าหนึ่ง หลายครั้งที่เขาลองพิมพ์ชื่อตัวเองในเว็บไซต์ ข่าวมันก็จะขึ้นมาอีก แม้จะผ่านมาแล้วหลายปี ยิ่งพอเขารู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้นผ่านกระบวนการฟื้นฟูแล้ว ข่าวเหล่านั้นก็ยิ่งรบกวนจิตใจ ไม่ใช่ว่าข่าวนั้นจะคุกคามให้เขาติดคุกเพิ่ม แต่คุกคามจิตวิญญาณ คุกคามความรู้สึกใฝ่ดีของเขาเยอะมาก

“เมื่อเด็กคนหนึ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่ได้ มันก็บั่นทอน บั่นทอนกระบวนการเยียวยาที่เกิดขึ้นระหว่างที่เขาอยู่กับเรา ซึ่งเหมือนจะสัมฤทธิ์ผล มีแนวโน้มว่าเขาจะค้นพบคนใหม่ในตัวเอง ให้เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่”

คำสารภาพของเด็กหน้าหนึ่ง

“ช่วงแรกๆ ผมนอนฝันถึงพวกเขา (ผู้ตาย) บ่อยมาก แต่พอระยะเวลาผ่านไป ก็ฝันถึงน้อยลง นานๆ ทีจะฝัน เหมือนมันเป็นตราบาปในใจของผมไปแล้ว ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์” บอล, 19 ปี ต้องโทษคดีฆ่า เป็นการฆ่าที่ตั้งใจ แต่ผิดตัว

“วันแรกที่รู้ว่ามีคนตาย ผมรู้สึกแย่ และยิ่งมารู้ทีหลังว่าคนตายเป็นผู้หญิง ผมจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลย ใจสั่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรเหมือนกัน” ตาล, 19 ปี ต้องโทษคดีฆ่า เป็นการฆ่าที่ไม่ได้ตั้งใจ และผิดตัว

“ผมไม่เคยมีเรื่องกับพวกเขา แต่พวกเขามีเรื่องกับเพื่อนผม เขาขี่รถมาล้อม เอาปืนมาจ่อผม พอเขาทำท่าจะยิง เพื่อนผมเลยส่งปืนมาให้ ตามสัญชาติญาณคนจะโดนยิง พอได้ปืนมา ผมเลยยิงใส่ไปเลย ยิงแบบหลับหูหลับตา แบบไม่ได้ตั้งใจ พอหันกลับไปดูอีกที รถเขาล้มลงไปแล้ว” ฟลุ๊ก, 19 ปี ต้องโทษคดีฆ่า ไม่ได้ตั้งใจ ไม่เจตนา และไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุวิวาทในครั้งก่อน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องเล่าของเยาวชนที่เคยตกเป็นข่าว พวกเขาพร้อมที่จะเปิดเผยตัวตนและอยากแบ่งปันเรื่องราวความผิดพลาดในอดีต และอาจเพราะเสื้อผ้า ทรงผม และบรรยากาศรอบๆ ที่ไม่ใกล้เคียงกับสถานคุมประพฤติ จึงทำให้การเล่าเรื่องต่อคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรก เป็นไปอย่างเบาสบายและดูจะเปิดเผยในระดับหนึ่ง

เส้นเรื่องหลักที่ทั้งสามคนเล่าตรงกัน คือช่วงหลบหนีการจับกุม พวกเขาอยู่กับความกลัว ทั้งกลัวและสับสนจากภาพหลอนเพราะฆ่าคนตาย การทำให้คนที่บ้านเดือดร้อน และการได้เห็นข่าวตัวเองผ่านหนังสือพิมพ์และคอมเมนท์จากโลกออนไลน์ ทั้งสามเล่าตรงกันว่า พวกเขาปิดเฟซบุ๊ค ไม่ขอรับรู้ทุกความเห็น (และคำด่าทอ) ก่อนจะตัดสินใจกลับมารับสารภาพและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ถามพวกเขาว่า โกรธมั้ยที่ถูกสังคมรุมประณามซ้ำเติม และหากญาติของผู้เสียหายไม่สามารถให้อภัยได้ พวกเขาจะรู้สึกเช่นไร?

“ถ้าผมมีลูกแล้วมีคนมาฆ่าลูกผม มันก็ยากที่จะให้อภัย เราเข้าใจ ชีวิตคนมันหาอะไรมาทดแทนไม่ได้ ประเมินค่าไม่ได้ ผมคิดเอาไว้ว่า ถ้าเผื่อเรามีชีวิตใหม่ มีการมีงานดีๆ ทำ ก็อยากที่จะช่วยครอบครัวเขา มันอาจจะลบล้างสิ่งที่เราทำไม่ได้ก็จริง แต่ก็เหมือนเป็นการช่วยเยียวยาเขา สักนิดหนึ่งก็ยังดี” บอลตอบแบบนั้น แต่ติดน้ำเสียงวัยรุ่นเจนเนอเรชัน Z

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เรากำลังพูดถึงผลกระทบต่อจิตใจของฝ่ายที่กระทำความผิด ยังไม่นับรวมประเด็นความยุติธรรมของเหยื่อหรือผู้ที่ถูกกระทำ และแน่นอนว่าในการพูดคุยในช่วงเวลาอันสั้นไม่อาจบอกได้ว่า ความรู้สึกผิดของพวกเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเพียงพอต่อความคาดหวังที่สังคมอยากให้สำนึกหรือไม่ แต่หากฟังพวกเขาด้วยใจ ด้วยน้ำเสียงการตอบคำถาม และอาการที่ฉายออกมา อาจพอจะบอกได้ว่า พวกเขาห่างไกลจากความเป็นปีศาจที่เราอ่านพบในหนังสือพิมพ์

ที่บ้านกาญจนาฯ ไม่มีเครื่องแบบ ไม่บังคับให้ตัดผม ไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกาย เพราะถือเป็นสิทธิของตัวที่ใครก็มาบังคับไม่ได้

อะไรคือความยุติธรรมต่อเหยื่อ

ใช่หรือไม่ว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่อาจมองว่า การรายงานข่าวเช่นนี้มีความจำเป็นในกรณีแจ้งข่าวสาร (to inform) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่ให้เกิดซ้ำอีก – เราถามอรุณฉัตร ในฐานะผู้ทำงานวิจัยชุดนี้

ถามว่านักข่าวที่มาสัมภาษณ์ คุณมีความถนัดแค่ไหนที่จะสัมภาษณ์ actor เหล่านี้ สัมภาษณ์เหยื่อเหล่านี้ คำตอบคือไม่เลย นั่นแปลว่าคนที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ professional

เช่นเดียวกับทิชา เธอกล่าวไว้ว่า “เข้าใจว่าเราหลายคนก็น่าจะเคยเหมือนกัน เวลาที่เราพลาดอะไรสักอย่าง แทนที่จะเรียงลำดับความคิดของเราให้ถูกต้อง เราก็เรียงผิด พอผิดแล้วก็ไปยาวเลย เพียงแต่ว่าหลายคนโชคดีไม่ต้องขึ้นหน้าหนึ่ง แต่หลายคนโชคร้ายตกเป็นของเล่นของสื่อ ภายใต้สถานการณ์แบบนั้น คำถามบางคำถาม อาจจะทำให้เด็กสับสนด้วย เด็กที่ผ่านเหตุการณ์แบบนี้ เขาเองก็ทั้งหวาดกลัว ทั้งไม่รู้ว่ามันคืออะไร คือไม่ว่ามันจะใช่หรือไม่ ก็ไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าไปถามเพื่อให้เด็กพูดในสิ่งที่… อาจจะเรียกว่าผูกมัดตัวเขาเอง หรืออาจจะทำให้เขามีอัตลักษณ์ที่เป็นเช่นนั้นเลยตลอดกาล”

ต่อประเด็นนี้ทิชาตอบชัดเจนว่า เธอไม่ได้ปกป้องการก่ออาชญากรรม และแน่นอนว่าการจับกุมคนร้ายได้เป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่ครอบครัวของเหยื่อควรต้องได้รับ แต่นั่นชัดเจนว่าเป็นคนละเรื่องกับการเอาผู้กระทำผิดมาประจานขึ้นหน้าหนึ่ง เพราะกระบวนการทำงานไม่ได้จบลงตรงนั้น แต่ต้องมีการเยียวยาผู้สูญเสีย และยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานบำบัดฟื้นฟูเยาวชนผู้กระทำผิดต่อไป

เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อคือคนที่สูญเสีย นั่นคือการทำงานอีกหน้าหนึ่ง ซึ่งการแถลงข่าวก็ไม่ได้ช่วยให้เหยื่อรู้สึกดีขึ้น แต่คือการจับคนร้ายได้ เพื่อให้เหยื่อได้รับความยุติธรรม และถัดจากนั้นเป็นหน้าที่ที่เราควรจะต้องเอามารในใจของผู้ที่ทำผิดออกไป เพื่อไม่ให้เขาไปทำร้ายคนอื่นอีก ไม่ใช่แค่การตีข่าวของเด็กคนหนึ่งแล้วบอกว่า อันนี้คือวัคซีน สังคมห้ามทำแบบนี้นะ

ด้านอรุณฉัตรยืนยันเช่นเดียวกับทิชา ว่า “เราควรจะพูดแค่ว่า ทำผิด ถูกจับนะ ซึ่งตอนนี้เด็กได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการที่ต้องได้รับการลงโทษบางอย่าง เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัว ส่วนการลงโทษก็เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งเด็กที่นี่ไม่ได้รับข้อยกเว้น ยังคงเป็นอย่างนั้น และเป็นอย่างนั้นด้วยความเข้าใจของเด็กด้วย” 

ห้องเรียนวิเคราะห์ข่าว ที่นักเรียนบ้านกาญจนาฯ ต้องเข้าเรียนวิชานี้ทุกๆ เย็น
กองบรรณาธิการขอเข้าไปเยี่ยมชมห้องพักโดยที่เจ้าของห้องยังรู้สึกเคอะเขิน ด้วยผ้าปูเตียงและของใช้ส่วนตัวของนักเรียนชายส่วนใหญ่เป็นลายการ์ตูน

เมื่อข่าวดราม่ายังขายได้เสมอ

9 มิถุนายน 2560 ทีมวิจัยจัดแถลงข่าวโดยเชิญสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อถามถึงกระแสตอบรับของสื่อมวลชนหลังฟังผลวิจัยในวันนั้นว่าเป็นอย่างไร อรุณฉัตรตอบว่า

“ยังไม่เห็นคำมั่นใดๆ ในแง่ว่าเขาจะกำหนดมาตรการอะไรที่ชัดเจน” และเสริมว่า โดยเฉพาะสื่อใหม่ที่มีนโยบายและวิธีการทำงานเป็นอิสระเป็นของตัวเอง

“ถามว่าคุณแน่ใจแค่ไหนว่าการเอาเด็กขึ้นหน้าหนึ่งแล้วจะช่วยให้สังคมนี้ดีขึ้น เอาแค่ว่าให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารโดยบริสุทธิ์ใจ คุณแน่ใจแค่ไหน ถ้าถามป้า ป้าไม่แน่ใจ” คือคำตอบหนึ่งของทิชา ระหว่างบทสนทนาในเรื่องลักษณะการรายงานข่าวอาชญากรรมที่คล้าย ‘ละคร’ ของสื่อมวลชน ทิชาตอบกลับมาเช่นนี้และยกตัวอย่างข่าวที่เป็นกระแสร้อนแรงบนหน้าฝีดเฟซบุ๊คเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

“กรณีหมูหยองน่าจะเป็นกรณีของคนที่อายุต่ำกว่า 18 ไม่กี่คนในประเทศไทย ที่เมื่อตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้วไม่ถูกเกรงใจจากนักวิชาชีพสื่อมวลชนเลยแม้แต่น้อย ทุกสำนักล้วนเปิดเผยหน้าหมูหยองเต็มจอ

“ตอนแรกอาจจะมีบางฉบับคาดแถบสีดำ แต่พออีกฉบับไม่คาด ฉบับนี้ก็กลัวยอดขายตก เลยไม่คาดบ้าง จนดูเหมือนว่าความเป็นมืออาชีพของผู้สื่อข่าวในกรณีหมูหยองตายไปเลย พิการไปหมด ถ้าไปฟังคำอธิบายของคนส่วนใหญ่ก็จะบอกประมาณว่า ‘ก็มันเลวไง ต้องถูกแฉ จะปกป้องทำไม’ ”

เมื่อถามถึงความหวังต่อความเป็นมืออาชีพของผู้สื่อข่าว ทั้งอรุณฉัตรและทิชาอธิบายคล้ายกันว่า เพราะกฎหมายในการคุ้มครองเยาวชน** หลายๆ ชุดเขียนไว้ชัดเจนเรื่องการนำเสนอข่าว และการเผยแพร่ข้อมูลของเด็กและเยาวชน แต่ไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาบังคับใช้อย่างจริงจัง

“ดังนั้น มันแสดงให้เห็นว่าในเชิงเจตนารมณ์ ในเชิงหลักการ เราเข้าใจตรงกัน แต่ในเชิงปฏิบัติเรายังไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งคิดว่าไม่มีอะไรเท่ากับผลประโยชน์ทางธุรกิจ เมื่อเป็นข่าว หนังสือพิมพ์ก็ขายได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดคอมเมนท์ ถึงที่สุดมันคือผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าที่จะทำให้ปัญหาสังคมอันเกิดขึ้นจากการก่ออาชญากรรมมันคลี่คลายลง”

นั่นคือคำอธิบายของทิชา ผู้ที่ยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการฟื้นฟู และยังตั้งหน้าทำงานกับทั้งผู้กระทำและเหยื่อต่อไป แม้ว่าสีสัน ดราม่า และการเสียบประจานในหน้าหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดียจะผ่านไปในแต่ละวัน ก่อนที่จะปรากฏปีศาจตนใหม่บนหน้าฝีดข่าวในวันต่อไป

ติดตามซีรีส์ ‘พลาดหัวข่าว’ อื่นๆ ที่

 

* ‘หมูหยอง’ คือผู้ต้องหาคดีฆ่าและเผาอำพราง เหตุการณ์เกิดขึ้นราวเดือนเมษายน 2560 ซึ่งประเด็นที่สังคมวิพากษ์คือ ถ้อยแถลงของเขาในวันที่ถูกจับกุมตัว ซึ่งถูกมองว่าเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความไม่สำนึกผิด

** พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนหรือคุ้มครองมิให้เด็กถูกประจานต่อสาธารณะ ระบุว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ในประเด็นคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และตกเป็นจำเลยในชั้นการพิจารณาคดีของศาล โดยเฉพาะในมาตรา 76 ความว่า

“เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน”

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 ข้อ 15 ยังมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิเด็กตราไว้ว่า “ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็กในการเสนอข่าว ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง” 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า