เพศทางเลือกในสถานศึกษา: เรายอมรับจริงหรือเปล่า?

เรื่อง/ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: antizeptic

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากพ่อแม่แล้ว ครูและโรงเรียน เป็นปัจจัยการหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ที่อาจทั้งดีหรือไม่ดีในสายตาของสังคมที่ผ่านการกำหนดและค่านิยม เรื่องเพศก็เช่นกัน ที่ถูกนำมาตีกรอบแนวคิดหลายๆ ประการ โดยเฉพาะแนวคิดกระแสหลักที่มองว่า เพศที่ถูกต้องคือ ‘หญิง’ และ ‘ชาย’ ทำให้ผู้ที่ไม่ถูกจัดอยู่ในสองกรอบนี้ หรือ ‘เพศทางเลือก’ ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งเยาะเย้ย ขบขัน มากไปกว่านั้นอาจถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ – นี่คือเหตุการณ์ในสังคมที่ยังเป็นข้อถกเถียงและเรียกร้องจนถึงทุกวันนี้

และหากเด็กเป็นเพศทางเลือก สังคมขนาดเล็กอย่างห้องเรียนและห้องเรียนซึ่งเป็นเสมือนเบ้าหล่อหลอมก่อนออกไปสู่โลกของผู้ใหญ่ ในบทบาทของครู ควรปฏิบัติกับเขาอย่างไร

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘เพศทางเลือกในสถานศึกษา ปัญหา บทบาท และแนวทางปฏิบัติในงานแนะแนว’ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเพศทางเลือกในสถานศึกษา บทบาทครูที่มีต่อเพศทางเลือก แนวทางปฏิบัติในการแนะแนวต่อการแก้ไขปัญหาของเพศทางเลือก ตลอดจนสนับสนุนการรองรับในสิทธิมนุษยชน โดยมีวิทยากรสามท่านมาร่วมถกสนทนา ติโหมะ โอะหยะเน็น ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (FOR-SOGI) รับขวัญ ภูษาแก้ว ครูแนะแนวโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ อำพล ขวัญพัก ครูโรงเรียนเอกชนและวิทยากรโครงการแบรนด์ซัมเมอร์แคมป์

จริงๆ แล้วโลกของการศึกษาโดยรวมมันมีลักษณะปัญหาที่คล้ายกันก็คือ มีความเชื่อว่าเพศที่ถูกต้องคือหญิงและชายเท่านั้น มีความเชื่อที่ว่า ถ้าเกิดมาเป็นเพศหญิงก็ต้องแสดงออกในลักษณะที่ว่า เป็นเพศชายก็ต้องแสดงออกในแบบผู้ชาย แล้วก็มีความเชื่อที่ว่าถ้ามีความรัก ผู้ชายต้องรักกับเพศหญิง ผู้หญิงก็ต้องรักกับเพศชาย แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากความเชื่อทั้งหมดนี้

ติโหมะ โอะหยะเน็น

ติโหมะ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ บอกเล่าโดยเปรียบเทียบปัญหาของเพศทางเลือกที่พบทั้งในสังคมและสถาบันการศึกษาว่า ไม่แตกต่างกัน มีทั้งการถูกเยาะเย้ย ถูกล้อเลียน ถูกกลั่นแกล้ง เพียงแต่ในระดับสังคมนั้น เพศทางเลือกในวัยผู้ใหญ่สามารถที่จะพาตัวเองออกไปจากจุดที่ถูกกระทำได้ง่ายกว่าเด็กในวัยเรียนที่จำต้องอยู่กับสภาวะจำนนจากการเหยียดหยามอย่างไม่สามารถหลีกหนี

นอกจากความเชื่อในสถาบันการศึกษาที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ในแบบเรียนแล้ว ติโหมะยังกล่าวถึงระบบกฎหมายในประเทศไทยที่วางกำหนดกฎเกณฑ์อยู่บนฐานของความเชื่อไม่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการปิดกั้นโอกาส เช่น ห้ามเพศเดียวกันแต่งงาน

ในส่วนของรับขวัญกล่าวว่า ปัญหาของเพศทางเลือกในสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นจากปัญหาของตัวผู้ใหญ่เองมากกว่า เป็นความไม่เข้าใจของพ่อแม่ เป็นความไม่เข้าใจของครูผู้สอน ซึ่งส่งผลมายังตัวเด็ก

“มีเยอะมาก ที่ตัวเด็กมองว่าเขาไม่ได้เป็นปัญหา แต่พ่อแม่มองว่าเขาเป็นปัญหา ก็พยายามแก้ แต่ยิ่งแก้มันก็ยิ่งเกิดเป็นปัญหาบานปลาย”

สอดคล้องกับความเห็นของติโหมะ รับขวัญมองว่า ปัญหาหนึ่งที่เป็นเบ้าหลอมให้กับความกังวลของพ่อแม่คือ แบบเรียนต่างๆ ที่มองว่า เพศทางเลือกเป็นสภาวะผิดปกติ จำต้องได้รับการแก้ไข และด้วยเหตุนี้ ทำให้เด็กนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือกหลายต่อหลายคนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เลือกที่จะเข้าหาครูที่พวกเขาไว้ใจโดยไม่จำเป็นต้องเป็นครูด้านเพศศึกษาที่สอนตามแบบเรียนที่พวกเขามองว่าเป็นแบบเรียนที่มีปัญหามากกว่าตัวพวกเขาเองนั่นเองมากกว่า

ในฐานะของครูและผู้เป็นเพศทางเลือก อำพลมองว่า ปัญหาด้านมุมมองของสังคมและความเข้าใจทั่วไป แม้แต่หัวข้อการจัดเสวนา คือ การมองว่าเพศทางเลือกเป็น ‘ปัญหา’ ซึ่งอำพลได้โยนคำถามกลับมาว่า การเป็นเพศทางเลือกของตนจัดว่าเป็นปัญหาหรือเปล่า การกระทำที่ถูกให้นิยามว่าเป็น ‘ความดี’ และ ‘ความเลว’ ต้องถูกจำกัดไว้แค่สองเพศ หญิง-ชาย เท่านั้นหรือเปล่า เพศทางเลือกแย่งคนรักของเพื่อนได้ไหม ทำเรื่องเลวร้ายได้ไหม

อำพล ขวัญพัก

ใครเป็นคนกำหนดว่า ปากกาต้องมีแค่สีแดง-สีน้ำเงิน?

ในมุมมองของอำพล เพศทางเลือกต่างๆ ทั้งกะเทย เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ LGBT ต่างๆ ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สังคมต่างหากที่ไปตัดสิน ทั้งที่พวกเขาเองก็ไม่ต่างจากมนุษย์ปกติทั่วไป ตราบใดที่เพศตามปกติทำสิ่งไม่ดีหรือดีได้ เพศทางเลือกก็ไม่ได้แตกต่าง

“เราบอกว่าเราเข้าใจ เรายอมรับ แต่ที่จริงไม่ใช่ เราห้ามโลกสวย ข้ามทุ่งลาเวนเดอร์ 8 เอเคอร์ ไม่เอา เรายังไม่ได้ยอมรับเพศทางเลือกจริงๆ”

ปัญหาเพศทางเลือกในสถานศึกษา

ปัญหาที่พบได้ทั่วไปในสถานศึกษา จากประสบการณ์พูดคุยกับเพศทางเลือกต่างๆ ติโหมะบอกว่า ส่วนใหญ่แทบทุกคนต่างเผชิญการถูกล้อเลียน ถูกเยาะเย้ยมาตั้งแต่ในวัยเด็กแทบทั้งสิ้น นอกจากเรื่องทัศนคติในเชิงลบต่อ LGBT แล้ว เครื่องแบบนักเรียนก็นับว่าเป็นปัญหาต่อเพศทางเลือกต่างๆ เนื่องจากพวกเขาถูกบังคับให้ต้องสวมใส่เครื่องแบบตรงกับเพศสภาพที่ถือกำเนิด ไม่หญิงก็ชาย

ปัญหาอีกข้อต่อมาคือเรื่องห้องน้ำ ติโหมะยกตัวอย่าง เด็กชายในชั้นเรียนมัธยมต้นปีคนหนึ่งที่จิตใจเป็นหญิง และรู้สึกอึดอัดในทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำชาย เพราะนอกจากรู้สึกว่าไม่ใช่สถานที่ของตนแล้ว บ่อยครั้งยังถูกกลั่นแกล้ง ถูกล้อเลียน ครั้นจะไปเข้าห้องน้ำหญิงก็ทำไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในสถานศึกษา วัยผู้ใหญ่ก็ยังเผชิญสถานการณ์คล้ายๆ กัน สุดท้ายจึงมีเพียงแต่ที่บ้านเท่านั้น ที่พวกเขาสามารถเข้าห้องน้ำได้อย่างสะดวกใจ

สหศึกษาหรือหญิงล้วน-ชายล้วน

ข้อเท็จจริงที่พบได้จากประสบการณ์ของทั้งติโหมะและอำพลในฐานะของครูและที่ปรึกษา คือ ในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่มักคิดว่า หากลูกหลานออกอาการผิดลักษณะทางเพศหญิงหรือชาย ทางแก้คือส่งไปโรงเรียนหญิงล้วนหรือชายล้วน โดยหวังให้สภาพสังคมของโรงเรียนช่วยแก้ หรือ ‘ซ่อม’ ให้ลูกหลานของตนกลับมาเป็นปกติได้

ทว่าในความเป็นจริง ทั้งโรงเรียนหญิงล้วนและชายล้วน เกินกว่าครึ่งเต็มไปด้วยเพศทางเลือก เพราะเด็กๆ เหล่านี้ถูกผลักมาจากครอบครัวที่คิดเหมือนกันบนพื้นฐานว่า สภาพที่พวกเขาเป็นนั้นคือสิ่งที่ต้องถูกแก้ไข ต้องถูกหล่อหลอมจากสังคมรอบข้าง ให้กลับมามีเพศสภาพตรงตามกำเนิดได้

เช่นเดียวกับโรงเรียนสหศึกษา รับขวัญเล่าว่า ในโรงเรียนสหศึกษา เด็กๆ ที่เป็นเพศทางเลือกกลับไม่ค่อยแสดงออกจนเห็นได้ชัด โดยเพื่อนสนิทของนักเรียนเหล่านั้นจะรู้ดีว่า เพื่อนของเขาเลือกที่จะไม่แสดงออก รวมถึงครูที่สนิทกับนักเรียน ในขณะที่โรงเรียนชายล้วน พวกเขาจะแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น สวมกางเกงสั้นกว่าปกติ ผิวขาวกว่าเด็กนักเรียนชายคนอื่นๆ

บทบาทของครูต่อนักเรียนเพศทางเลือก

ก่อนให้ความเห็น อำพลโยนคำถามจากที่ทิ้งค้างไว้ในประเด็นเรื่องการยอมรับเพศทางเลือกในวงเสวนา ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้ร่วมเสวนาที่ลุกขึ้นแล้วบอกว่า ตัวเองเป็นเกย์ แต่บางครั้งก็นึกอยากแต่งหญิง ขณะที่อีกหลายคนในวงเสวนาต่างยกมือแสดงตนว่าเป็นเพศทางเลือกที่ชอบเพศเดียวกัน จากนั้นจึงให้ผู้ร่วมเสวนาช่วยกันชี้ว่า บนประวัติคร่าวๆ ของเขาที่ปรากฏบนหน้าจองานเสวนามีสิ่งใด ‘ผิดปกติ’ ก่อนอำพลจะเฉลยว่า สิ่งนั้นคือประโยคแรกเพียงประโยคเดียว ที่ระบุว่า ‘ครูโรงเรียนเอกชน’

ทำไมระบุชื่อโรงเรียนไปเลยไม่ได้ อำพลตั้งคำถาม ก่อนบอกกล่าวว่าตนมาจากโรงเรียนใด และทำไมชื่อโรงเรียนนั้นต้องถูกสงวนไว้จากวงเสวนา นั่นเพราะว่า เอาเข้าจริงแล้ว แม้สังคมไทยจะบอกว่า เรายอมรับในความหลากหลายทางเพศได้แล้ว แต่แค่พูดคุยในเรื่องนี้ในโรงเรียนก็ยังทำไม่ได้

ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบได้แล้ว ว่าสถานศึกษายอมรับจริงๆ หรือเปล่า เข้าใจน่ะเข้าใจ แต่เป็นการยอมรับแค่ประมาณหนึ่ง เพราะถ้าคุณไม่ยอมรับ คุณก็จะโดนสังคมแอนตี้ว่า อ๋อ…โรงเรียนแห่งนี้ไม่ยอมรับครูเกย์ ตุ๊ด กะเทย ทอม ดี้ ก็เลยต้องยอมรับ อือออกันไป

อำพลบอกเล่าประสบการณ์ในวัยเรียนที่ถูกมองจากครูว่า เพศทางเลือกของตนนั้นเป็นการเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นสิ่งน่าอับอาย การถูก treat ว่าถึงอย่างไรเพศชายแท้หรือหญิงแท้ก็ดีกว่า ทำให้อำพลขวนขวายในเรื่องการเรียนเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่า ‘เท่ากัน’ กับเพศปกติทั่วไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การเป็นเพศทางเลือกไม่ได้หมายความว่าคุณอยู่ต่ำกว่าเส้นมาตรฐานของสังคมเมื่อเทียบกับเพศปกติทั่วไป คุณไม่จำเป็นต้องแสดงตัวให้ดีกว่าหรือเหนือกว่า เพื่อให้ได้รับการยอมรับ

ดังนั้น ในมุมมองของอำพล ครูจึงเป็นปัจจัยที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในการหล่อหลอมทัศนคติการมองโลกและสังคมที่มีต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นเพศทางเลือก เพราะที่สุดแล้ว การสอนของครูจะเป็นกระจกสะท้อนกลับมายังตัวครูเอง ว่ามีมุมมองเช่นไรต่อคำถามสำคัญกว่า นั่นคือ ‘ความเป็นมนุษย์’

รับขวัญ ภูษาแก้ว

รับขวัญเสริมว่า เด็กนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือกนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกชีวิตในแบบเดียวกับอำพล เด็กบางคนเลือกพาตัวเองไปสู่ทางที่เลวร้ายกว่า ไปในทางที่ทำร้ายตัวเขาเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อคิดในมุมที่ว่า พวกเขาจะกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากคำพูดที่ไม่คิด ‘อะไร’ ของครู มองประเด็นเพศทางเลือกของเด็กไม่ใช่สิ่งสำคัญ รวมถึงการล้อเลียนของเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน

แม่พิมพ์ที่กลายเป็นเบ้าหลอมของเพศทางเลือก

ในฐานะครู อำพลเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองหรือถูกตัดสินจากความเป็นเพศทางเลือกของตน ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกหลานของผู้ปกครองกลายสภาพเป็นเพศทางเลือกแบบเดียวกันตน ซึ่งในเรื่องนี้ อำพลได้ให้ทัศนะไว้สั้นๆ ว่า

“เรื่องแบบนี้คุณเป็นบัณฑิต เป็นมหาบัณฑิตแล้ว คุณย่อมรู้ว่าแบบไหนจึงจะเหมาะสม แม้ว่าบ่อยครั้งคุณอาจจะหลุด อาจเพราะด้วยความเป็นตัวคุณ หรือเพราะคุณต้องการให้การเรียนการสอนสนุก แต่ที่สุดแล้ว คนเป็นครูจะรู้ดีว่า แบบไหนเหมาะไม่เหมาะอย่างไร”

คำตอบที่อำพลอาจไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนก็คือ เด็กนักเรียนคิดเองได้ และคิดเองเป็นว่า จะเลือกรับเรื่องแบบไหนมาเป็นแบบอย่าง ครูนั้นมีส่วนแน่ๆ แต่ที่สุดแล้วเช่นกัน ล้วนอยู่ที่ตัวเด็กที่เขาได้เลือกแล้ว ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นแบบนั้นมากกว่า

ขณะที่รับขวัญมองว่า เด็กนักเรียนมีภูมิความรู้น้อยกว่า มีประสบการณ์น้อยกว่า บางครั้งการแสดงออกตามครูอาจทำให้พวกเขาได้รับเสียงชื่นชม การหัวเราะในเชิงสนุกสนานทำให้พวกเขากลายเป็นจุดเด่น เป็นที่น่าสนใจ โดยหลายครั้งพวกเขาไม่ได้รู้ความหมายของสิ่งที่พูดออกมาจริงๆ

“ถึงแม้โลกเราทุกวันนี้จะมีโซเชียล มีอะไรที่ไปเร็วมาก แต่ตัวแบบที่เกิดจากคนมันสำคัญกว่า แค่การเลียนแบบจากสิ่งที่เห็นฉาบฉวย ดังนั้น ถามว่าทำไมเด็กถึงเลียนแบบได้ เป็นเพราะเขากำลังมองเราอยู่ ซึ่งบางครั้งเราก็เป็นเพศทางเลือกของเราได้ แต่การแสดงออกของเราก็สามารถเลือกแสดงออกได้เช่นกันตามระเบียบปฏิบัติขององค์กรที่มี ไม่ว่าเป็นเพศไหนก็ต้องเป็นเช่นนั้น มันไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจริงผู้หญิงจริงแหกกฎได้ แต่เกย์ กะเทย ตุ๊ด แหกกฎไม่ได้ มันไม่ใช่”

แม่แบบของเพศทางเลือก

ต่อความกังวลของผู้ปกครองในเรื่องของครูที่ว่า อาจสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นเพศทางเลือกให้ลูกหลานของตน แม้อำพลจะมองว่าครูแต่ละคนมีสิทธิ์ในการแสดงออกตามแต่ลักษณะของตน กระนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ครูยังคงเป็นบุคลากรที่สังคมฝากความหวังให้เป็นเบ้าหลอมที่ถูกต้องสำหรับลูกหลาน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า เบ้าหลอมที่ว่านั้นกำหนดอยู่ในกรอบแคบๆ เพียงแค่เพศชายแท้-หญิงแท้เท่านั้น ดังนั้น ครูซึ่งเป็นเพศทางเลือกจึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในเรื่องการแสดงออกในโรงเรียนให้มาก

ขณะที่ติโหมะตั้งคำถามในเรื่องแม่แบบความสุภาพตามกรอบของสังคมนั้น มักจำกัดแค่ตามลักษณะของเพศชายจริงหญิงแท้ โดยไม่มีการกำหนดกรอบคร่าวๆ ไว้ด้วยซ้ำ ว่าความสุภาพของเกย์ กะเทย ตุ๊ด เป็นอย่างไร กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ ความสุภาพที่ไม่ได้ถูกกำหนดตามกรอบของสังคมที่ให้ค่าความเป็นหญิงแท้ชายแท้นั้นไม่เคยมีในสังคมไทย

“ทำยังไงเราก็ไม่เคยสุภาพในสายตาของสังคม เพราะว่ามันไม่มีแม่แบบที่สุภาพมาตามเพศของเรา ก็เลยอยากจะตั้งคำถาม”

รับขวัญกลับเห็นต่างออกไป โดยมองว่าที่จริงแล้ว ตามสายตาของเด็กนักเรียน พวกเขาจะมีโมเดลของเกย์ กะเทย ตุ๊ด ไว้ในใจแล้ว ดังนั้น ความสุภาพในแบบเพศทางเลือกจึงไม่จำเป็น

“โดยส่วนตัวมองว่า ความสุภาพชนของคน คือของมนุษย์ เท่านั้นเลย ไม่ต้องมีต้นแบบกะเทย ไม่ต้องมีต้นแบบของทอม อะไรอย่างนี้เลย หมายความว่าถ้าจะพูดว่าทำยังไงถึงจะดูสุภาพ อาจารย์จะมองว่ารู้กาลเทศะบุคคลเท่านั้นเอง คือ กาละ เทศ บุคคล คือถ้าเราอยู่กับเพื่อน เราก็สุดๆ ของเราเลย แต่ถ้าเราอยู่กับนักเรียน เราก็ต้องเป็นครูของนักเรียน”

หนทางของครูแนะแนว

โดยศาสตร์และด้วยความเป็นครู รับขวัญมองว่า ครูแนะแนวเองนั้น แม้ไม่อาจให้คำแนะแนวต่อเด็กที่เป็นเพศทางเลือกได้อย่างเต็มที่ จะด้วยเพราะตัวครูเองไม่ได้เป็นเพศทางเลือก หรือจะด้วยเด็กนักเรียนไม่เปิดใจ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการแสดงโดยไม่มีการจำกัดในโรงเรียน นั่นเพราะด้วยกรอบของสังคมยังไม่ได้ยอมรับเพศทางเลือกในสถานศึกษาอย่างแท้จริง

เช่นกันกับอำพลที่มองว่า บทบาทของความเป็นครูที่แท้จริงต่อเด็กนักเรียน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานะของครูแนะแนว เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือเด็กนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือกมักเข้าหาครูที่พวกตนสนิทใจมากกว่าจะเป็นครูแนะแนวโดยตรง นอกจากนี้อำพลยังเสริมว่า แม้แต่เด็กนักเรียนที่ไม่ได้เป็นเพศทางเลือกก็เข้าหาครูที่เป็นเพศทางเลือกมากกว่า เพราะครูที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นเกย์ ตุ๊ด กะเทย ฟังพวกเขามากกว่าครูที่เป็นชายจริงหญิงแท้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ทั้งครูที่เป็นเพศทางเลือกและครูที่ไม่ได้เป็น และทั้งที่เป็นครูแนะแนวหรือครูในวิชาอื่นๆ ควรมีการพูดคุยเพื่อวางกรอบเบื้องต้น เป็นตัวต่อระหว่างครูแนะแนวและเด็กนักเรียนเพศทางเลือก ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็นหัวใจที่แท้จริงของคุรุ หัวใจของความเป็น ‘ครู’

คือ การรับฟัง – เพียงเท่านี้ก็อาจเป็นคำตอบได้แล้ว


ตัวอย่างแบบเรียน:
หนังสือรายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษาและพลศึกษา ม.1 (พว.)
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพัฒนาการทางเพศ, หน้า 27-28 การขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้วิจัย
อ้างจากหนังสือ ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย: บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดย วิจิตร ว่องวารีทิพย์
การเบี่ยงเบนทางเพศ (Sexual Deviation)
การเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นความผิดปกติที่เกิดในคนที่มีความรู้สึกสองเพศ เจตคติ ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออก แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของสังคมที่พึงปฏิบัติ
สาเหตุที่เกิดความเบี่ยงเบนทางเพศจากสมมุติฐาน มีดังนี้
1. สภาพจิตใจที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองในการแสดงพฤติกรรมตามเพศของตนได้
2. เกิดจากยีนหรือโครโมโซมที่ผิดปกติในตอนปฏิสนธิ
3. การอบรมเลี้ยงดู
4. การเลียนแบบคนดัง เพื่อน หรือสื่อต่างๆ
5. สาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏชัดเจน
ลักษณะของการเบี่ยงเบนทางเพศที่พบบ่อยในสังคม ได้แก่
1. ลักเพศ (Transvestism) มีความพึงพอใจในเพศและอารมณ์เพศจากการแต่งตัวหรือแสดงท่าทางที่ตรงข้ามกับเพศของตนเอง เช่น ชายแต่งตัวเป็นหญิง (กะเทย) หญิงแต่งตัวเป็นชาย (ทอม)
2. ปฏิสนธิเพศ (Transsexualism) เป็นภาวะของคนที่ไม่ยอมรับเพศที่แท้จริงโดยกำเนิดของตน มีความปรารถนาแรงกล้าในการผ่าตัดเปลี่ยนเพศของตนเอง
3. พวกชอบอวดอวัยวะเพศ (Exhibitionism) เป็นบุคคลที่ชอบอวดอวัยวะเพศของตนเองในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย มีลักษณะเฉพาะคือ ชอบอวดอวัยวะเพศของตนเองกับเด็กหญิงหรือสาวตามโรงเรียน หรือหอพัก และสวนสาธารณะ ถ้าบุคคลที่พบเห็นตื่นตกใจ จะทำให้คนพวกนี้มีความสุขเต็มที่
4. พวกถ้ำมอง (Voyeurism) เป็นพวกที่มีความพอใจทางเพศกับการที่ได้แอบดูร่างเปลือย หรือการร่วมเพศของคนอื่น พบได้ทั้งหญิงและชาย ซึ่งหลังจากได้ดูแล้ว ก็มีกจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
5. รักร่วมเพศ (Homosexual) ความรู้สึกทางเพศที่เกิดขึ้นกับเพศเดียวกัน คือ ชายกับชาย เรียกว่าเกย์หรือตุ๊ด หรือหญิงกับหญิง เรียกว่า เลสเบี้ยน หรือทอมกับดี้ มักมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงเมื่อผิดหวังเรื่องเพศ
6. เบียดเสียดถูไถ (Frotteurism) คนที่ได้รับความรู้สึกทางเพศโดยการเบียดเสียดถูไถกับผู้อื่น มักพบในชายมากกว่าหญิง พวกนี้จะถือโอกาสเบียดเสียดถูไถร่างกายของผู้หญิงที่อยู่ข้างหน้า จนเกิดความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรงถึงขั้นสำเร็จความใคร่

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า