‘ความจน’ กับการทำงานของสมอง

ภาพประกอบ: Shhhh

เราอาจคุ้นหูกับคำขวัญ ‘จน-เครียด-กินเหล้า’ แต่อลิซาเบ็ธ แบบค็อค (Elisabeth Babcock) ประธานองค์กรศึกษาเรื่องชนชั้นทางสังคมชื่อ Economic Mobility Pathways หรือ EMPath ประเทศอังกฤษ อธิบายวงจรความจนให้เข้าใจถึงโครงสร้างว่า

‘ความเครียด’ เนื่องมาจากต้องทุรนทุรายเพราะความจน ส่งผลให้พวกเขารับมือสถานการณ์ตรงหน้าอย่างร้อนรนและตัดสินใจไม่ดีพอ นั่นทำให้ปัญหายิ่งหนักหนาทับซ้อนมากขึ้น และยังพัวพันกับปัญหาที่กองไว้อยู่ก่อน ส่งผลเร่งเร้าให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต และเมื่อปัญหาลูกใหม่เกิดขึ้น พวกเขาก็จะเครียดหนักอีกครั้ง และลูปความเครียด แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ปัญหาเกิดซ้ำ ก็วนพัวพันต่อไปไม่รู้จบ

ซึ่ง EMPath คิดจะตัดวงจร ‘เครียด-แก้ปัญหาไม่ถูกจุด-ซ้ำเติมความยากจน’ ด้วยการกลับไปทำความเข้าใจกลไกสมอง ที่อาจเกิดจากความยากจน

ใช้การทำงานของสมอง แก้ปัญหาความยากจน   

ในวิจัยเรื่อง Using Brain Science to Design New Pathways Out of Poverty หรือ ‘ใช้คำอธิบายเรื่องการทำงานของสมองแก้ปัญหาความยากจน’ โดย EMPath หยิบข้อมูลวิชาการพื้นฐานเรื่องการทำงานของสมองส่วนหน้า (pre-frontal cortex) มาอธิบายวิธีรับมือกับปัญหาของคนยากจน

ที่ว่าสมองส่วนหน้าทำหน้าที่เป็นห้องบัญชาการว่าเราจะรับมือกับปัญหาอย่างไร และกำหนดเป้าหมายในชีวิต สมองส่วนหน้ายังทำงานร่วมกับระบบลิมบิค (limbic system) เชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนที่ใช้เหตุผลเข้ากับสัญชาตญาณ และทำงานร่วมกับสมองส่วนที่ใช้เก็บความทรงจำระยะยาวและการเรียนรู้ (hippocampus)

โดยเฉพาะในเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากจน ต้องเผชิญกับความเครียดกดดัน ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็ก ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการช่วยเด็กๆ เสริมสร้างพัฒนาการส่วนนี้ ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นเพราะปัญหาซับซ้อนอันเกิดจากความยากจน อาจมีผลต่อการพัฒนาของสมองส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า Executive Function หรือ ‘EF’ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทักษะการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของพวกเขาในภายภาคหน้า

Executive Function แบ่งคร่าวๆ ได้ 9 ทักษะ ดังนี้
1. ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (working memory) คือ ทักษะความจำหรือการเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ
2. ทักษะการยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง (inhibitory control) คือ ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3. ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (shift cognitive flexibility) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
4. ทักษะการใส่ใจ จดจ่อ (focus) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง
5. ทักษะการควบคุมอารมณ์ (emotion control) คือ ความสามารถในการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นคนโกรธง่าย
6. ทักษะการประเมินตัวเอง (self-monitoring) คือ การสะท้อนการกระทำของตัวเอง หรือการรู้จักตัวเอง
7. ทักษะการริเริ่มและลงมือทำ (initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่ม และลงมือทำตามที่วางแผน รวมถึงการประเมินเพื่อหาข้อบกพร่อง
8. ทักษะการวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (planning and organizing) คือ ความสามารถในการทำงานทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น โดยการตั้งเป้าหมาย การวางแผน
9. ทักษะการมุ่งเป้าหมาย (goal-directed persistence) คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจแล้วจะต้องทำให้สำเร็จ

อัล เรซ (Al Race) รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเด็ก (Center on the Developing Child) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า เป็นเรื่องจริงที่ความยากจนมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะเด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ยิ่งจะได้รับผลกระทบเป็นสองเท่า

เป็นเรื่องจริงที่ใต้คำว่า ‘ความจน’ มันคือปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตรายวัน ความเครียด ความเศร้าลึก ความท้อแท้ และเมื่อรวมกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กีดกันโอกาสการเข้าถึงงาน สวัสดิการ รวมทั้งอคติที่มีต่อคนจนของสังคม ทำให้ทางเลือกที่มีไม่มาก กลับยิ่งถูกทำให้แย่ลง จากการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของสมองที่ไม่ได้ถูกจัดการและพัฒนาส่วนนี้

EMPath จึงบริการรอบด้านเพื่อเข้าแก้ปัญหาความจน เริ่มต้นที่การดูแลพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ทำงานกับศูนย์ดูแลเด็กเล็กในพื้นที่ เรื่อยไปถึงการทำงานกับผู้ปกครองในชุมชน

Intergenerational Mobility Project หรือ Intergen คือชื่อโปรเจ็คท์ของ EMPath ยึดหลักการทำงานสามอย่างคือ ทำงานกับผู้ใหญ่ ทำงานกับเด็ก และทำงานกับครอบครัว

สำหรับผู้ใหญ่และครอบครัว ให้คำปรึกษาเรื่องการบริหารจัดการการเงิน ให้ความรู้ทางอาชีพ และการจัดการด้านการทำงานอื่นๆ

สำหรับเด็ก คือการออกแบบ ส่งเสริมพัฒนาการกระบวนการทางความคิดในส่วนของสมองส่วนหน้า หรือ ‘EF’ นอกจากนี้ยังดูแลสุขภาพ การเป็นอยู่ ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดการอารมณ์ สอนให้เข้าใจการจัดการอารมณ์ โดยยึดวิธีการสร้างภาพให้เด็กๆ เตรียมพร้อมโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นตัวของตัวเอง และให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของการศึกษา

ผลลัพธ์จากการเข้าทำงานในพื้นที่ร่วมปี พบว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเด็ก และ 86 ของครอบครัว ผ่านการประเมินของ EMPath ในประเด็นเรื่องการจัดการกับ ‘ความวุ่นวาย’ ในครอบครัวได้ และมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะจัดระบบแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก: theatlantic.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า