ถามเด็กๆ สักนิด โอเคไหมถ้าจะโพสต์รูปพวกเขาลงโซเชียล

ถ้าให้จัดอันดับบุคคลที่คุณเห็นหน้าบ่อยที่สุดบนหน้าฝีดเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม สามอันดับแรกของคุณจะเป็นใคร?

ให้เวลา 5 วินาที แล้วเก็บคำตอบนั้นไว้ในใจก่อน… แต่ใช่หรือไม่ว่าในลิสต์ของคุณอาจเป็นเด็ก แมว หรือไม่ก็ดาราสักคนอยู่ในลิสต์นั้น?

แต่ถึงจะไม่มีชื่อเด็กน้อยอยู่ในลิสต์ เป็นไปได้ไหมว่าคุณก็คุ้นชื่อหรือหน้าของดาราเด็กเน็ตไอดอลบางคน โดยที่คุณอาจไม่ได้เป็นเฟรนด์หรือฟอลโลว์อินสตาแกรมแม่ของน้องเขาเลย

ไม่ต้องพูดไพล่ถึงดาราเด็กเน็ตไอดอลก็ได้ เฉพาะรูปลูกของเพื่อน หรือลูกคุณเอง เป็นเรื่องปกติใช่ไหมที่คุณจะเห็นการอัพเดทพัฒนาการและความน่ารักของพวกเขารายวันผ่านโซเชียลมีเดีย

และยังมีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า การโพสต์รูปเด็กเล็กหรือลูกน้อย รูปถ่ายอัลตราซาวด์น้องในท้อง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ญาติพี่น้องที่ห่างหาย เพื่อนสนิทในกรุ๊ปแชท ได้รับรู้ข่าวสาร และเหมือนยังส่งใจให้ใกล้กัน ทั้งยังเป็นชุมชนให้แชร์เรื่องเล่า วิธีเลี้ยงลูกและประสบการณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อกันได้

เก็บประเด็นสิทธิมนุษยชนเอาไว้ก่อน…

หากประเด็นหนึ่งที่นักกฎหมาย กุมารแพทย์ และนักการศึกษาเห็นตรงกัน คือ ความปลอดภัย ข้อมูลและรูปของน้องที่อาจฝังอยู่ในโซเชียลเป็นเวลายาวนาน เพราะเป็นธรรมชาติของสื่อใหม่ และอิทธิพลซับซ้อนในโซเชียลที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ปกครอง ทั้งเรื่องวิธีเลี้ยงดู และการสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กในอนาคต

การโพสต์ข้อมูลเด็ก โดยเฉพาะข้อมูลแรกเกิด อาจเป็นเหตุให้เด็กถูกลักพาตัว หรือไม่ก็ขโมยข้อมูลได้

สเตซีย์ สไตน์เบิร์ก (Stacey Steinberg) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ Levin College มหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) และเจ้าของงานวิจัยและข้อเสนอเรื่องSharenting: Children’s Privacy in the Age of Social Media (การแชร์ข้อมูลของลูก: ความเป็นส่วนตัวของเด็กในยุคโซเชียลมีเดีย)

เธออธิบายกรณีศึกษาให้เห็นภาพว่า คุณแม่คนหนึ่งโพสต์รูปลูกๆ ขณะเรียนปั้นหม้อ จากนั้นเธอถึงค่อยรับรู้ว่ามีคนแปลกหน้านำรูปนั้นไปดัดแปลง แล้วโพสต์ต่อไปยังเว็บไซต์อื่นๆ

สไตน์เบิร์กย้ำถึงความอันตรายพื้นฐานของการแชร์ข้อมูลเด็ก ทั้งตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตอนพวกเขาเกิด ไปจนถึงการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของตัวเด็ก ทั้งชื่อ สถานที่เกิด และวันเกิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้เด็กถูกลักพาตัว หรือไม่ก็ขโมยข้อมูลเด็กไปใช้ในทางมิชอบได้

เธอตั้งคำถามอย่างขีดเส้นใต้หนาหนักไว้ว่า เด็กทารก คือ วัยที่ต้องการการประคบประหงมดูแล และเป็นวัยที่เปล่งคำว่า ‘ไม่’ ออกจากปากไม่ได้

ใช่หรือไม่ว่า หน้าที่ของพ่อแม่ คือนายประตูคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยของลูกน้อย (gatekeeper) ซึ่งข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาถูกนับอยู่ในนั้น

แล้วในกรณีที่ส่งรูปในกรุ๊ปแชทล่ะ ถือว่าปลอดภัยไหม จะไม่ให้ส่งรูปน่ารักๆ ต่อกันเลยหรือ?

เพราะต้องยอมรับว่า กลไกของการแชร์เรื่องราวมีข้อดีของมันอยู่ เช่น อัพเดทความเป็นไปของชีวิต และการปรึกษาขอความเห็นหรือความช่วยเหลือภายในกรุ๊ปแชท ซึ่งมีแต่เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่ขโมยข้อมูล-อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย

สไตน์เบิร์กย้ำว่า สิ่งที่ต้องย้ำเตือนคือ ผู้ปกครอง พี่เลี้ยง หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ไม่ว่าใครที่นำรูปเด็กเหล่านั้นไปแชร์ต้องมั่นใจว่า สมาชิกในกรุ๊ปนั้น ‘ต่างคนต่างมี’ กลไกป้องกันการเซฟรูป หรืออยู่ภายใต้ระบบที่ตั้งค่าเอาไว้สำหรับกรณีนี้อย่างเชื่อถือได้

ความซับซ้อนของจิตวิทยาเด็ก

“งานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า เด็กที่โตมาด้วยความเข้าใจเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและไม่ถูกพวกเขาควบคุมให้อึดอัด พวกเขาจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ เข้าใจความเป็นส่วนตัวของตัวเองและของผู้อื่น”

คือข้อความของสไตน์เบิร์กในงานวิจัย หากความซับซ้อนท้าทายที่สไตน์เบิร์กพาไปไกลกว่านั้น

ถ้าเด็กเป็นผ้าขาว เมื่อเติบโตยิ่งมีทริปผจญภัยเป็นของตัวเอง ผ้าขาวก็จะเริ่มเพิ่มเฉดสีตามประสบการณ์ชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองคือครูคนแรกที่แนะนำและวางรากฐานต่างๆ ให้กับเด็ก อาทิ แนะนำศาสนาให้พวกเขารู้จัก อธิบายว่าทำไมสิ่งนี้จึงดีหรือเลว หรือชี้แจงค่านิยมบางอย่างให้พวกเขายึดมั่นเอาไว้ก่อน

พอพวกเขาโตจนเริ่มมีคนมาเสนอตัวเลือกอื่นๆ จนถึงเวลานั้นเขาจึงจะมีโอกาสเลือกสิ่งที่อยากจะเชื่ออีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงวันนั้น พ่อแม่จะเป็นผู้กำหนดความเป็นตัวตนของเด็กคนนั้น

หากในยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อพ่อแม่โพสต์รูปเด็กๆ ลงเฟซบุ๊ค ความเห็นหลากหลายที่ส่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองหลายคนมั่นใจว่า พวกเขาสามารถรับความเห็นที่มีต่อลูกพวกเขาจากโลกสาธารณะได้ แต่กับตัวเด็กเอง มั่นใจได้อย่างไรว่าพวกเขาจะรับได้เช่นกัน

สไตน์เบิร์กจึงเสนอในข้อกฎหมาย คือการเสนอให้เด็กสามารถใช้กฎหมาย ‘สิทธิ์ที่จะถูกลืม’ (right to be forgotten) หมายถึง ไม่ให้ชื่อและข้อมูลของตัวเองถูกค้นเจอในโลกออนไลน์ และใช้สิทธิ์ ‘Veto’ ต่อข้อมูลทั้งหมดของพวกเขาในออนไลน์ รวมถึงเรียกร้องให้ระบบ Google alerts (ระบบที่ติดตามข้อมูลหนึ่งๆ ที่หากมีใครทำข้อมูลส่วนนี้เพิ่ม กูเกิลจะส่งข้อความเตือนให้เข้าไปอัพเดทข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติม) ขึ้นเตือนทุกครั้งที่มีการค้นชื่อพวกเขา และขอให้ทุกครั้ง/ทุกคน ที่จะโพสต์รูป ต้องอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวก่อนโพสต์ทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่า นี่ไม่ใช่การห้ามให้ผู้ปกครองโพสต์รูปลูกๆ ของพวกเขาเลย หากขอให้เข้าใจ และขอความเห็นจากลูกๆ ก่อน ที่สำคัญ อนุญาตให้พวกเขาพูดว่า ‘ไม่อนุญาตให้โพสต์รูปลูกนะ’ และชวนให้พวกเขาค่อยๆ เข้าใจหลักการเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ในโลกสมัยใหม่นี้ไปพร้อมๆ กัน


อ้างอิงข้อมูลจาก: theatlantic.com
bbc.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า