บ้านดอกทานตะวัน: มอบการศึกษา คุ้มครองจากความเศร้า

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

 

หากใครยังจำกันได้ ประเทศไทยติดอันดับในเทียร์ 2 (Tier 2) จากทั้งหมดสามกลุ่มสองปีซ้อน จากการสำรวจสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาฉบับล่าสุด ปี 2017 (TIP Report 2017)

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการค้ามนุษย์ การค้าประเวณีและการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบ

ตั้งแต่ประเทศไทยยังรู้จักแค่คำว่า ‘ตกเขียว’ และ ‘ล่องใต้’

กลายเป็นความตั้งใจหลักของศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของ ที่มีกำลังสำคัญคือ ตู่-พวงทอง ทะกัน และมือขวาของเธอ มาลี-มาลี คำมงคล อดีตเด็กคนแรกที่ศูนย์ฯ ให้การช่วยเหลือ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่โครงการและเจ้าหน้าที่พัฒนาเด็ก

โดยมีคอนเซ็ปต์เปิดบ้านพักพิงเพื่อให้พวกเขามีที่อยู่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้หญิง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดและอ่อนแอที่สุด บ้างก็…

  • ยากจน
  • เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์
  • ไม่มีสถานะ ไร้สัญชาติ
  • ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต่างๆ
  • ติดเชื้อ HIV/AIDS
  • ครอบครัวติดยาเสพติด
  • ผู้ปกครองที่มีอายุมาก สุขภาพไม่ดี
  • ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ปัจจุบัน ศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของ (บ้านดอกทานตะวัน) หรือที่คนละแวกนั้นรู้จักในชื่อ ‘บ้านลูกหญิง’ ดูแลและให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กหญิงที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากสภาพครอบครัวข้างต้น จำนวนกว่า 14 คน แน่นอนว่าในหนึ่งคนสามารถมีได้หลายมิติปัญหา แม้ต่างคนจะมีปมปัญหาในใจต่างกัน มีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แต่ต้องมาอาศัยอยู่ด้วยกันด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ต้องการผลักตัวเองไปให้ถึงฝัน โดยใช้การศึกษาเป็นบันได ซึ่งศูนย์ฯ ยินดีให้การสนับสนุนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย หากเด็กมีความฝันและทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้

พร้อมกับความหวังว่า การศึกษาจะช่วยสร้าง ส่งเสริม และปรับเปลี่ยนมุมมองให้มีทัศนคติที่ดี ถ่ายทอดสู่ชุมชนของพวกเขาได้เอง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาการค้ามนุษย์และรูปแบบชีวิตที่วนลูปไม่รู้สิ้นในพื้นที่แห่งนี้

พวงทอง ทะกัน: เมื่อการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ

รูปแบบชีวิตที่วนลูปก็คือ ชีวิตพวกเธออยู่ชายขอบ เป็นคนชาติพันธุ์ ครอบครัวยากจน ความเชื่อและความคิดของชุมชนที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา พูดง่ายๆ ว่าเด็กผู้ชายติดยา เด็กผู้หญิงเข้ามาทำงานในเมือง เชียร์เบียร์บ้าง ขายบริการทางเพศบ้าง ไม่ผิด – ชีวิตนั้นเลือกเส้นทางแบบนี้ แต่หากพวกเขามีโอกาส การตัดสินใจเลือกทางชีวิตอาจแตกต่าง และมันก็เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้

เด็กสาวชาติพันธุ์ลาหู่หลายคนได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก ตู่-พวงทอง ทะกัน ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของ และเธออยากเรียนให้สูง เพื่อกลับมาเปลี่ยนแปลงความคิดของคนรุ่นก่อนในชุมชนของเธอ

“เราเชื่อว่าเด็กที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ การศึกษาจะช่วยได้ เวลาไปเรียนหนังสือจะเกิดสังคมที่ส่งผลต่อทักษะชีวิตบางอย่าง ให้เด็กได้มีโอกาสลดความเสี่ยงตรงนี้ โดยที่เราต้องเสริมความรู้ตรงนี้เข้าไปด้วย”

ไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่เธอมาพร้อมกับองค์ความรู้ที่รับมาสมัยทำงานเป็นอาสาสมัครใน ‘โครงการศูนย์ลูกหญิงแม่สาย’ มีเป้าหมายและเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะช่วยป้องกันปัญหาเด็กเสี่ยงต่อการค้าประเวณี มุ่งเน้นมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในแม่สาย

พวงทองเล่าว่า ตั้งแต่สมัยเรียนจบราชภัฏเชียงรายเมื่อปี 2536 ก็ทำงานที่นี่มาตลอด มีโอกาสได้สัมผัสกับโปรเจ็คต์เด็กสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี จนปี 2549 เธอจึงนำความรู้ทั้งหมดมาพัฒนาที่เชียงของบ้านเกิด

ถามต่อว่าบริบทที่เชียงของเป็นอย่างไร เธอจึงต้องการกลับมาพัฒนาและช่วยเหลือ พวงทองอธิบายโดยเล่าย้อนถึงสมัยที่สังคมไทยยังไม่รู้จักคำว่า ‘ค้ามนุษย์’ หรือ ‘ค้าประเวณี’ คำที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ‘ล่องใต้’ และ ‘ตกเขียว’

“ในอดีต เด็กผู้หญิงเมื่อเรียนจบ ป.6 มักมีค่านิยมลงใต้ไปทำงาน กรุงเทพฯ บ้าง ภูเก็ตบ้าง งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ขายบริการทางเพศ เราโตที่นี่ก็จะพอเห็นบ้าง ‘อ้อ ลูกสาวบ้านนี้ไปล่องใต้’ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าล่องใต้หมายความว่าอะไร คิดว่าย้ายไปอยู่ภาคใต้ ตอนนี้คนที่เคยไปล่องใต้สมัยเรายังเด็ก ก็เริ่มกลับมาถิ่นฐานบ้านเกิด บางคนก็มาเสียชีวิตหรือมารักษาตัวอยู่ที่นี่ด้วยสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ”

จากล่องใต้สู่การค้าประเวณี เธอยอมรับว่าบริบทในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

สมัยก่อนคนที่ตัดสินใจไปล่องใต้ส่วนใหญ่เพราะหนีความทุกข์ยาก หนีความจน ไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้มองได้หลายมิติ คือสถานการณ์ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าจะแตกต่างก็ตรงที่เหตุผลของการไปมากกว่า ทุกวันนี้บางคนอยากไปกันเองก็มี วัตถุนิยมกันมากขึ้น

เช่น หมู่บ้านสองพี่น้อง หมู่บ้านชาวลาหู่ในอำเภอเชียงของที่พวงทองเล่าว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านเกิดของเด็กที่อาศัยอยู่ในศูนย์ของเธอหลายคน ด้วยสาเหตุว่าสภาพแวดล้อมและบริบทของหมู่บ้านดังกล่าวนิยมกดทับเด็กผู้หญิง

“ที่นี่เด็กจบ ป.6 แล้วไม่ค่อยเรียนต่อ ส่วนใหญ่มักจบลงที่เป็นแรงงานรับจ้าง เก็บส้มบ้าง รับจ้างเก็บผักบ้าง เพราะผู้ใหญ่บางคนยังมองว่าการเรียนไม่สำคัญเท่ากับการทำมาหากิน”

กลายเป็นจุดจบของชีวิตทางการศึกษา แต่สำหรับเด็กผู้หญิงนั้นเลวร้ายกว่า เพราะที่แห่งนี้ถูกหล่อหลอมด้วยทัศนคติแบบผิดๆ ว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีหรืองานกลางคืน เป็นงานหาเงินง่าย ได้เงินดี จนกลายเป็นการส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ

“เด็กผู้หญิงบางคนเรียนจบแล้วแต่งงานเลยก็มี บางคนก็ไปสายงานกลางคืน เช่น เด็กนั่งดริงค์ เด็กคาราโอเกะ อายุไม่ถึง 15 ก็เคยเห็น แล้วยังไม่มีทัศนคติว่าอาชีพเหล่านั้นไม่ดี กลายเป็นกลุ่มอาชีพยอดนิยมของหมู่บ้าน เป็นตัวอย่างที่ถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นถัดไป”

ปัจจุบันเด็กที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของให้ความช่วยเหลือมีทั้งหมด 11 รุ่นแล้ว ทั้งหมดมีจำนวนมากถึง 77 คน ส่วนเด็กรุ่นปัจจุบันมีทั้งหมด 14 คน อายุมากสุดคือ 18 ปีและน้อยสุดคือ 12 ปี หลากหลายสัญชาติและชาติพันธุ์

“เด็กในบ้านเรามีทั้งในอำเภอเชียงของและอำเภอต่างๆ เด็กบางคนไม่ได้มีมิติปัญหาเดียวที่เราจำเป็นต้องช่วยเหลือ มันเป็นหลายมิติที่ผูกโยง มีความซับซ้อนสูง ในเด็กตัวคนเดียวมีได้ตั้งแต่ปัญหาความยากจน กำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่กับพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย หรือไม่มีบัตรประชาชนก็มี”

ส่งผลให้เกณฑ์ในการรับเด็กเข้าบ้านจึงต้องสกรีนผ่านแทบทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ตั้งแต่โรงเรียน ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิของหมู่บ้าน โดยกระบวนการคัดเลือกเด็กเข้าบ้านมักเป็นในลักษณะครูในโรงเรียน เสนอชื่อเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ จากนั้นจึงมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ทุกฝ่าย พร้อมลงไปติดตามในครอบครัวของเด็กเพิ่ม สุดท้ายคือยึดที่ผลประโยชน์สูงสุดเพื่อเด็กเป็นหลัก

“ต้องพิจารณาจริงๆ ว่าไม่มีคนดูแลเลย เด็กบางคนอยู่กับพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ไม่รู้จักพ่อแม่จริงๆ เราก็เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน เด็กอยู่กับพี่อย่างน้อยสามปี อย่างมากก็หกปี”

น่าสนใจกว่านั้น เด็กบางคนเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือกับเธอโดยตรง อย่างเช่น การเขียนเรียงความบอกเล่าถึงความปรารถนาแรงกล้าที่จะเรียนหนังสือเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนและสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่

นอกเหนือจากเกณฑ์ข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด สิ่งสำคัญที่เด็กเข้ามาอาศัยอยู่ในที่แห่งนี้ต้องมีคือ ความฝันทางการศึกษา

“เด็กที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง เรียนจบ ม.6 แล้วอยากไปไหน เรามีทางช่วยอยู่แล้ว ขอให้มีความฝันร่วมกันเรื่องการศึกษา” พวงทองยิ้มบางๆ

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ฯ ให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กในบ้านด้วยการมอบทุนการศึกษาแค่ถึง ม.3 และปี 2017 นี้จะเป็นปีแรกที่ได้ปรับถึง ม.6 ซึ่งเด็กที่เรียนอยู่ในชั้น ม.5 ขณะนี้ ต่างก็กำลังมุ่งมั่นอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว

แม้เธอจะทำงานร่วมกับเด็กมาอย่างยาวนาน แต่สภาวะการเป็นทั้งแม่และพ่อในคนเดียวกันก็ยังยาก เพราะสิ่งที่เธอต้องดูแลมีตั้งแต่เรื่องกิ๊บติดผมไปจนถึงจิตใจ

“เราใช้ประสบการณ์ความเป็นแม่จากตัวเอง ลูกใครใครก็รัก ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากทิ้งลูก อย่าเอาจุดนั้นมาเป็นปมชีวิตตัวเอง จะบอกเขาเสมอว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องเก็บเกี่ยวให้เต็มที่

“บทบาทของการเป็นพ่อที่ดีสำหรับเราคือ การแบ่งหน้าที่ชัดเจน ดูแลครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขา เด็กบางคนไม่เคยสัมผัสกับบทบาทของพ่อมาก่อน เราก็จะเน้นสอนตรงนี้เรื่อง gender เพราะมันจะส่งผลกระทบไปถึงการเลือกคู่ครองด้วย”

แล้วทำไมถึงช่วยเหลือแต่เด็กผู้หญิง ฉันสงสัย

“ผู้หญิงมีสถิติความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย แม้สังคมจะเปลี่ยนไปแต่เด็กผู้หญิงยังมีหนทางน้อยในการเลือกเส้นทางจะเดินต่อ อันนี้ก็ไม่ได้ ทำอันนั้นก็ไม่ได้ ผู้หญิงยังเป็นเพศอ่อนแอ มีมิติที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แล้วยังถูกนำมาใช้ในธุรกิจบางธุรกิจอยู่”

อธิบายให้ชัดเจนคือ ศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของไม่ได้เกี่ยงช่วยแค่เพศเดียว เพียงแต่ว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านของเธอเป็นเด็กผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งเธอแบ่งกลุ่มนี้เป็น ‘เด็กในโครงการ’ และยังอีกมีส่วนที่เรียกว่า ‘เด็กนอกโครงการ’ มีทั้งหมด 16 คน คละทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องด้วยเด็กหนึ่งมีมิติปัญหาที่หลากหลาย

“จริงๆ เด็กบางคนก็อยากนำออกจากชุมชน…” พวงทองนิ่งไปสักพัก ก่อนอธิบายต่อว่า

เพราะเด็กบางคนบอบบางและเปราะบางเกินกว่าที่ศูนย์จะช่วยเหลือได้ มีบ้างที่ผู้ปกครองไม่ยินยอมให้ย้ายออก การช่วยเหลือตรงนี้แบ่งออกได้หลายรูปแบบ ศูนย์ของเธอจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางคอยประสานงานให้กับหน่วยอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอ็นจีโอ เช่น มอบทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน หรือทุนค่าเดินทางแทนโดยจะมีการติดตามเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่เด็กบางคนหลุดลอดสายตาเธอไปเพราะข้อจำกัดต่างๆ

พวงทองย้ำชัดว่าการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะลดความเสี่ยงเรื่องการค้าประเวณีได้ เพราะการศึกษาเป็นเพียงทางเลือก ที่จะทำให้พวกเขาเห็นเส้นทางในอนาคตเพื่อก้าวเดินต่อไป

เราไม่ได้ลดปัจจัยความเสี่ยงแต่เราลดวิธีคิดของเขา เปลี่ยนวิธีคิดที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ถ้าสอนให้เห็นว่าอาชีพเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสังคม ถ้าความคิดของเขาเปลี่ยน ปัจจัยต่างๆ มันก็จะลดลง

พวงทองทิ้งทาย

มาลี คำมงคล: จากอดีตเด็กในศูนย์ สู่เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือ

มาลี คำมงคล คือพี่สาวคนโตของเด็กทั้ง 14 คน ให้คำปรึกษาและดูแลพวกเขาแทบจะ 24 ชั่วโมง แต่ก่อนที่เธอจะเป็นเจ้าหน้าที่โครงการของศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของอย่างทุกวันนี้ มาลีพาเราย้อนอดีตไปสมัยที่เธอยังเป็นเด็ก ป.6 สมัยที่ยังเป็นเด็กคนแรกที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์แห่งนี้

“ตอนนี้ถือบัตรศูนย์ฯ ค่ะ เป็นคนลาว กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาพัฒนาชุมชน ตอนย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่ไทยเพราะพี่ทำงานและมีลูกที่นี่ด้วย เลยชวนเรามาอยู่ด้วยเพื่อจะมาช่วยดูแลลูก ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจอยู่นานขนาดนี้” มาลียิ้ม

เธอเล่าว่า ในอดีตระเบียบการเข้าประเทศไม่เข้มงวดเท่าปัจจุบัน สามารถเดินทางไปมาระหว่างชายแดนได้ตลอดเวลา จนเธอจับพลัดจับผลูได้เข้าเรียนต่อที่ไทยซ้ำชั้น ป.5 อีกครั้ง เพราะ ป.6 ของประเทศลาวเท่ากับชั้น ป.5 ในไทย แต่จุดที่ทำให้มาลีกลายเป็นเด็กคนแรกที่ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จากสามีของพี่สาวเธอเอง

“ตอนนั้นครอบครัวพี่สาวมีปัญหา สามีชอบใช้ความรุนแรง กินเหล้า เมาแล้วก็ชอบทะเลาะ ทุบตีตลอด วันนั้นพี่สาวไม่อยู่บ้าน ระหว่างที่ดูแลหลานอยู่ พี่เขยกินเหล้าเหมือนทุกวัน แต่เขาเข้ามาเหมือนจะล่วงละเมิดทางเพศเรา เราก็วิ่งไปขอความช่วยเหลือกับเพื่อนบ้าน โดยที่ไม่ได้บอกว่าโดนอะไรมา บอกแค่ว่าอยากมานอนกับเพื่อนเฉยๆ พ่อแม่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร

“หลังเหตุการณ์นั้นเราทำตัวแปลกไป ไม่พูดกับเขาเลย ระหว่างที่กินข้าวกันพร้อมหน้า พี่สาวและพี่เขยกินเหล้าเมาเหมือนเคย เขาพูดขึ้นมาว่า ‘พี่ขอโทษนะ พี่ไม่ได้ตั้งใจ’ พี่สาวเลยถามว่าขอโทษอะไรกัน เราก็ลุกหนีไปร้องไห้”

แม้จะเป็นเด็ก แต่เธอเล่าว่าเธอเริ่มคิดมาก ร้องไห้บ่อยครั้งและมีความคิดอยากกลับลาว เธอเริ่มไม่เข้าเรียน หนักเข้าเมื่อไม่รู้จะหันหน้าเข้าหาใคร เธอเข้าไปคุยกับครูใหญ่ที่โรงเรียน เป็นจังหวะเดียวกับที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิเด็กเชียงของเพิ่งเปิดตัว ครูใหญ่จึงได้ส่งเรื่องของมาลีต่อให้ศูนย์แห่งนี้ จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บข้อมูลครอบครัวของเธอเพิ่ม

ในที่สุด เธอได้เข้ามาอยู่ในบ้านร่วมกับเด็กที่มีปัญหาเปราะบางเหมือนกัน แต่เพราะตอนนั้นศูนย์ให้การสนับสนุนทางการศึกษาจนถึงจบชั้นมัธยมต้นหรือ ม.3 หมายความว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็คือจบโครงการ ต้องย้ายออก แต่ด้วยบริบทครอบครัวของเธอซึ่งไม่มีที่พักอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง เธอจึงได้รับโอกาสให้ทำงานที่นี่แลกกับการอยู่อาศัยต่อ

“พี่ตู่เสนอว่าทำงานกับพี่ไหม ฝึกงานก่อนแล้วค่อยพัฒนาเป็นเจ้าหน้าที่ พี่ตู่เลยส่งเราไปฝึกการเป็นผู้นำที่ศูนย์ในแม่สาย เมื่อก่อนยังทำงานด้วยกันเป็นเวลาหนึ่งปีสองเดือน ชื่อว่า ‘Borden Youth Leadership Training Program’ เป็นการฝึกเด็กกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสามประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เมียนมาร์ ตอนนั้นมีเด็กเข้าร่วมทั้งหมด 24 คน พอฝึกจบก็เข้ามาช่วยงานที่นี่เต็มตัว”

ทุกวันนี้งานหลักๆ ของเธอคือดูแลเด็กและงานเอกสารต่างๆ เช่น รายงานพฤติกรรมเด็ก เธอยิ้มอย่างเขินๆ ว่าปีที่แล้วเพิ่งได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาเด็ก เน้นจัดกิจกรรมให้เด็กเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาทั้งความคิดและความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะศูนย์แห่งนี้เหมือนเป็นสถานที่เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

“พื้นฐานครอบครัวของเด็กๆ ที่นี่ไม่ได้ถูกปลูกฝังความสำคัญของการศึกษา พอจบ ป.6 ก็อยากให้ช่วยพ่อแม่หาเงิน ไม่ได้สนับสนุนให้พาเด็กไปถึงฝั่งฝัน เราต้องเริ่มต้นให้เด็กทบทวนตัวเองว่าต้องการอะไร อยากไปถึงตรงไหน เส้นทางใดที่เด็กจะก้าวไปได้ในอนาคต”

แม้ว่าเด็กหญิงบางคนจะบอกว่า โตขึ้นอยากทำงานเพื่อสังคมแบบพี่ตู่ หรือแบบพี่มาลี เพราะเด็กหญิงเห็นว่างานของพี่สาวทั้งสองช่วยเหลือและให้โอกาสเหมือนที่เด็กหญิงได้ แต่มาลีคิดว่าเด็กทุกคนต้องได้ดีกว่าเธอ คือความหวังสูงสุดของพี่สาวคนโตในบ้านหลังนี้

“เราเคยเป็นคนหนึ่งที่เจอปัญหาคล้ายกันกับเด็กกลุ่มนี้ แต่พวกเขาได้เรียนสูงกว่ามาลี น้องๆ ต้องได้ดีกว่าเรา ตอนนี้ที่ศูนย์ฯ ไม่ได้ส่งเด็กถึงแค่ ม.3 ส่งถึงมหาวิทยาลัย แต่เด็กต้องเลือกเอง ไขว่คว้าเองว่าอยากเข้าที่ไหน เรียนคณะอะไร”

แล้วไม่คิดถึงบ้านเกิดที่ลาวหรือ ฉันถาม

“ทั้งชีวิตมาลีเติบโตที่ประเทศไทย เรามีความเป็นไทยแล้ว ถ้าให้กลับไปก็ต้องให้โอเคมากกว่านี้” เธอยิ้ม

ชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กสาวทั้ง 14 คน

1. กิจวัตรประจำวันและกิจกรรมพิเศษตลอดปี

จันทร์-ศุกร์:

  • 8.00-16.00 น. เรียนหนังสือที่โรงเรียนตามปกติ
  • 16.00-18.00 น. เตรียมอาหารและรับประทานอาหารเย็น
  • 18.00-19.00 น. เรียนภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครต่างประเทศ เน้นทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน
  • 19.00-22.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

เสาร์หรืออาทิตย์:

วันละสามชั่วโมง เป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เน้นเสริมสร้างทักษะความรับผิดชอบ ความกล้าหาญ ความกล้าแสดงออก การมีส่วนร่วมกับชุมชน ส่งเสริมการสร้างอาชีพ

กิจกรรมพิเศษ: ทัศนศึกษาปีละสองครั้ง ค่ายธรรมชาติ สำรวจแม่น้ำโขง เข้าอบรมคอร์สต่างๆ เช่น สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต การสร้างเว็บออนไลน์ เป็นต้น

2. กฎระเบียบ

  1. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือวันจันทร์-ศุกร์ (ยืดหยุ่นได้หากวิชาไหนจำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น วิชาภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนเพื่อเปิดดิกชันนารีหาคำศัพท์)
  2. ญาติผู้ปกครองมารับต้องเซ็นใบอนุญาตก่อนเสมอ ถ้าไม่ใช่ไม่อนุญาตให้ไป
  3. ห้ามมีแฟน (ยืดหยุ่นได้ แต่ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงเกินสามครั้งจะเรียกผู้ปกครองมาพบ)

มาลีกล่าวว่า “ที่นี่ให้ความสำคัญกับการมีแฟน คือไม่ได้ห้ามมีแฟน แต่มีแล้วต้องทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร โดยที่จะไม่กระทบการเรียน ส่วนเรื่องโทรศัพท์คือก่อนหน้านี้ให้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเวลากันเอาเอง สุดท้ายแบ่งเวลากันไม่ได้ เลยต้องมีกฎนี้ขึ้นมา แรกๆ เด็กก็หน้าบึ้งใส่ พอไปนานๆ เด็กเขาก็เห็นว่าไม่ใช้แล้วแบ่งเวลาได้ยังไง”

พวงทองกล่าวว่า “กฎแต่ละข้อสามารถยืดหยุ่นได้เสมอ เช่น กรณีเด็กขโมยของกัน เราจะไม่ไล่เขาออกทันทีถ้าจับได้ โครงการของเราเป็นโครงการให้โอกาสเด็ก เราจะอบรมและเยียวยาพวกเขามากกว่า”


สนับสนุนโดย

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า