เด็กหญิงจำนวนมากถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์

 

การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ไม่เฉพาะการถูกลวนลามทาง ‘กาย’ แต่หมายถึงการละเมิดด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น การพูดจาแทะโลม การเหยียดเพศ และไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดกันซึ่งหน้า หลายๆ ครั้งมาในรูปแบบข้อความ ที่อาจมาจากทุกแอพพลิเคชั่นที่เราใช้ด้วย

อาจเพราะระยะทางห่างในโลกเสมือน (เพราะมาในนามตัวอักษร ไม่เห็นหน้า) จะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าถูก ‘คุกคาม’ หากไม่สนใจ แต่ไปๆ มาๆ อาจทำให้เราเกิดความเคยชิน และยอมรับพฤติกรรมซึ่งถือเป็นความรุนแรงแบบนั้นไปเลยก็ได้

ความเข้าใจว่า การถูกคุกคามทางเพศมักเกิดกับหญิงสาววัยรุ่น อาจเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะข้อเท็จจริงจากงานวิจัยและรายงานข่าวจำนวนหนึ่งระบุว่า ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ จะเป็นหญิง ชาย หรือเพศใดก็ได้ และมักจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ

งานวิจัยหนึ่งจากประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 11-18 ปี ราว 500 คน จาก 1,000 คน เคยถูกคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่อีกหนึ่งราย เด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ถูกคุกคามทางเพศจากผู้ที่อ้างว่า ตัวเองอายุ 9 ขวบ ในชุมชนแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการร้องเพลง

กรณีตัวอย่าง: ครอบครัวซัมเมอร์ต้องรับมือกับการถูกคุกคามทางเพศของลูกสาววัย 7 ขวบ

20 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวอังกฤษรายงานกรณีเด็กผู้หญิงอายุ 7 ขวบ ถูกคุกคามทางเพศผ่านแอพพลิเคชั่น จากยูสเซอร์เนมที่อ้างว่าอายุ 9 ขวบ

แบรด ซัมเมอร์ (Brad Summer) พ่อของเด็กหญิงคนนั้น ตั้งสเตตัสเฟซบุ๊คอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้ผู้ปกครองท่านอื่นฟัง รายละเอียดว่า

ลูกสาวของเขาใช้แอพพลิเคชั่นที่ชื่อ musical.ly ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ผู้ใช้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 15 วินาที ทั้งหมดจะเป็นคลิปเกี่ยวกับการร้องเพลง เต้น ลิปซิงค์ โดยเจ้าของคลิปและผู้ติดตามจะพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้

จนวันหนึ่ง ลูกสาวของแบรดได้รับข้อความขอให้เธอถ่ายรูปโดยไม่ใส่เสื้อ เด็กสาวไม่ทำตาม และเล่าให้พ่อฟังเพื่อขอความเห็นว่าเธอต้องทำอย่างไรดี

แบรด ซัมเมอร์ เขียนตอบกลับไปว่า “นี่คือพ่อของเด็กหญิงซัมเมอร์ และผมเป็นตำรวจ ขณะนี้ผมได้บันทึกหมายเลข IP ของคุณแล้ว ผมแนะนำว่าให้คุณเลิกทำแบบนี้กับทุกๆ คน”

ในสเตตัสของเขาระบุว่า เขาทราบดีว่าเมื่อเขาโพสต์สิ่งที่เกิดขึ้นออกไป เขาจะได้รับคำติเตียนจากผู้ปกครองท่านอื่นๆ ว่าเขาเองเป็นผู้ผิด ที่ปล่อยให้ลูกๆ เล่นโทรศัพท์ในวัยเด็กขนาดนี้ ซึ่งต้องอธิบายว่า เขาเห็นว่าแอพพลิเคชั่นนี้ไม่น่าเป็นอันตราย เพราะเป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับกิจกรรมบันเทิงของเด็กๆ แต่นั่นอาจเป็นมุมมองที่แคบเกินไป

“ผมไม่เคยคาดคิดว่าจะมีผู้ที่อ้างว่าตัวเองอายุ 9 ขวบ เพื่อตักตวงผลประโยชน์เอาจากเด็กตัวเล็กๆ เช่นนี้ ผมได้รับบทเรียนอันใหญ่หลวง ผมอาจจะขอร้องให้พวกคุณอย่าตัดสินผม ได้โปรดให้บทเรียนได้สอนพวกเราเถิด ผมคิดว่าเราจะได้รับบทเรียนทุกๆ วันในการเป็นพ่อแม่”

เด็กจำนวนมากเคยถูกคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย

Plan International UK องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนประเทศอังกฤษ ทำการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 11-18 ปี จำนวน 1,000 คน พบว่า เด็กผู้หญิง 47 เปอร์เซ็นต์เคยถูกคุกคามทางเพศและการคุกคามในด้านอื่นๆ อย่างการถูกล้อเลียนกลั่นแกล้ง (bully) เช่น ได้รับข้อความข่มขู่ หรือการนำรูปไปแชร์ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต

ซึ่ง 3 ใน 4 ของเด็กผู้หญิงที่ระบุว่าเคยถูกคุกคามผ่านโซเชียล (cyberbullying) หรือคิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับการคุกคามนี้ เช่น บล็อก ถอยห่าง ไม่ถกเถียงหรือส่งข้อความตอบกลับบุคคลนั้นๆ ขณะที่กว่า 13 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเธอจะเลิกเล่นแอพพลิเคชั่นนั้นไปเลย

ในตัวเลขของฝั่งผู้ชายบ้าง พบว่า กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กผู้ชายบอกว่าเคยถูกคุกคามในโลกออนไลน์ 59 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มนี้บอกว่าเขาจะต้องลุกขึ้นมาต่อกรกับผู้คุกคามเหล่านี้

“เด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งบอกกับฉันว่า พวกเขาเคยถูกคุกคามในโรงเรียน และนั่นทำให้พวกเธอหวาดกลัวทุกครั้งที่เดินอยู่บนถนน ผลสำรวจนี้ยิ่งทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเขาและเธอในโลกจริงๆ มันเข้ามามีชีวิตและอิทธิพลในโลกออนไลน์แล้ว และนั่นไม่ใช่เรื่องที่เรายอมรับได้” ทันยา บาร์รอน (Tanya Barron) ผู้อำนวยการ Plan International UK กล่าว และว่า ผลสำรวจชี้ว่า เด็กๆ หลายคนเลือกหาทางออกด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเอง เลิกใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุด

เพื่อจุดประเด็น และแสดงการไม่ยอมรับพฤติกรรมและการคุกคามดังกล่าว Plan International UK จัดโครงการที่ชื่อ #girlsbelonghere เพื่อให้เรื่องความสัมพันธ์ และเพศ เป็นสิ่งที่ต้องถูกพูดคุยและทำความเข้าใจในห้องเรียน

โครงการนี้ดังไปถึงหูรัฐบาล เมื่อโฆษกกระทรวงศึกษาธิการออกมาขานรับและให้สัมภาษณ์ว่า “เพื่อสนับสนุนเรื่องการคุกคามของเด็กๆ ในทุกช่องทาง รัฐบาลจัดงบประมาณจำนวน 4 ล้านปอนด์ สำหรับการต่อต้านการคุกคามและล้อเลียนในโลกไซเบอร์ เพื่อจัดทำข้อมูลและให้คำแนะนำแก่โรงเรียนต่างๆ ในการป้องกันและดูแลประเด็นการคุกคามในชีวิตจริงและโลกไซเบอร์ และรวมถึงการออกแบบหลักสูตรเรื่องเพศและความสัมพันธ์ในห้องเรียนด้วย”


อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า