ตัวละคร LGBTQ ที่หายไปจากซีรีส์ดัง

นี่คือสองข่าวต่างกรรมต่างวาระ แต่พออ่านประกบคู่กันแล้ว ช่างเห็นความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์และวงการบันเทิง ต่อการ ‘มีตัวตน’ ของความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจนเห็นภาพ

ข่าวแรก: ในวาระครบรอบ 10 ปี ซีรีส์วัยรุ่นสุดป๊อปและพูดเรื่องเพศของคนชั้นสูงโฉ่งฉ่างที่สุดในช่วงเวลานั้นอย่าง The Gossip Girl เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา Vulture เว็บไซต์ข่าวบันเทิงสัญชาติอเมริกัน สัมภาษณ์สองผู้กำกับ จอช ชวาร์ตซ  (Josh Schwartz) และ สเตฟานี ซาเวจ (Stephanie Savage) ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ว่าเขาคิดกับมันอย่างไร

The Gossip Girl

ในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ พวกเธอ ‘สารภาพ’ ว่า แม้จะเป็นซีรีส์ที่พูดเรื่องเพศอย่างถึงพริกถึงขิง แต่กลับแตะประเด็น LGBTQ อย่างผิวเผินมากเหลือเกิน

“เมื่อมองย้อนกลับไป เรื่องเดียวที่ฉันรู้สึกพลาดและเสียใจจนถึงตอนนี้ คือเราไม่ได้ฉายภาพความหลากหลายของคน โดยเฉพาะคนผิวสี แล้วก็ชาวเกย์ ฉันควรจะทำการบ้านกับมันให้หนักกว่านี้ ลึกซึ้งกว่านี้”

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะความไม่หลากหลายของตัวละคร เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มของวัยรุ่นชั้นสูง ก็เป็นคำวิจารณ์ที่พบเห็นได้บ่อยในกระทู้ออนไลน์ ตั้งแต่ซีรีส์วัยรุ่นเรื่องนี้เริ่มฉายใหม่ๆ แล้ว

แต่คำวิจารณ์ โดยเฉพาะคำวิจารณ์ในเวลาปัจจุบันที่เริ่มมีหนัง ละครโทรทัศน์ ซีรีส์เผยแพร่ทางสตรีมมิ่งมากขึ้น หมายความว่าสีสัน เส้นเรื่อง และความหลากหลาย ความก้าวหน้าทางประเด็นควรจะต้องมากขึ้นตามนั้น แต่ที่สุดแล้วเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงไหนและไม่มีความหลากหลายมากเท่าที่ควร ซึ่งนั่นนำไปสู่ข่าวที่สอง คือ…

ข่าวที่สอง: ผลสำรวจของ The GLAAD เรื่อง คุณภาพและปริมาณของภาพยนตร์ที่พูดถึง LGBTQ ในช่วงปี 2016 พบว่า ตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์ กลับมีคาแรคเตอร์ของคนกลุ่มนี้น้อยลง สวนทางกับประเด็นหนังในซีรีส์ที่เผยแพร่ทางสตรีมมิ่ง ที่มีสีสันหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชีวิตของคนกลุ่มนี้ถูกทำราวกับไม่มีอยู่จริง ไม่ก็เพื่อเป็นมุกตลกล้อเลียน (punchlines)

ล่าสุดกับเวที Emmy Awards รางวัลทางโทรทัศน์ซึ่งเทียบได้กับราลวัลออสการ์ฝั่งภาพยนตร์ ที่ เลนา เวธ (Lena Waithe) เลสเบี้ยนผู้เขียนบทซีรีส์เรื่อง The Master of None ทาง Netfilx ได้รับรางวัลบทซีรีส์คอเมดี้ยอดเยี่ยม (Outstanding Writing – Comedy Series) ร่วมกับ อาซิส อันซารี (Aziz Ansari) จากตอน ‘Thanksgiving’ นั่นทำให้ชื่อของเวธถูกบันทึกในฐานะเลสเบี้ยนคนแรกที่ได้รางวัลนี้

รวมทั้งเรื่อง Black Mirror ซีรีส์จาก Netflix เช่นเดียวกันที่เล่าความรักของคู่รักเลสเบี้ยน กวาดกวาดรางวัลจาก Emmy Awards จากตอน ‘San Junipero’ ด้วย

อาซิส อันซารี (Aziz Ansari) และ เลนา เวธ (Lena Waithe) บนเวที Emmy Awards

ขยายความว่าทำไมบทของ The Master of None จึงได้รางวัลนี้ แม้ประเด็นหลักของเรื่องจะเล่าถึงผู้ที่คลั่งไคล้ในอาหาร ความรัก ชีวิตที่พังจากความรัก เชื้อชาติ การเสียดสี และอารมณ์ขันของคน แต่ตัวละครหลักอย่าง เดนนีส (Denise) ผู้ค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์ และออกมายอมรับ หรือ come out ต่อครอบครัว ก็คือชีวิตของเวธและเพื่อนของเขา อาซิส อันซารี ผู้เขียนบทร่วมโดยตรง

“สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง คือความทรงพลังที่มีในตัวเรา คือการที่เราต้องเดินออกจากบ้านทุกวันอย่างบอกกับตัวเองว่า วันนี้ฉันจะชนะ เพราะโลกไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิด และสำหรับทุกผู้คนที่ปฏิบัติกับเราด้วยความรัก ขอขอบคุณอย่างสุดใจกับการโอบกอดอาหารอินเดียจากเซาธ์แคโรไลนา ที่มาจากมือของเควียร์สาวจากทางตอนใต้ของชิคาโก” สปีชจากเวธ บนเวที Emmy Awards

ย้อนกลับไปยังผลสำรวจของ The GLAAD ในปี 2016 ระบุว่าจากภาพยนตร์ที่บันทึกทั้งหมด 125 เรื่อง มีเพียง 23 เรื่องเท่านั้นที่มีตัวละครเป็น LGBTQ

ตัวละครที่เป็นเลสเบี้ยนเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์จากปี 2015 เป็น 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 ซึ่งในภาพยนตร์ประเภทนี้ พบว่ามีตัวละครเกี่ยวกับไบเซ็กชวลราว 13 เปอร์เซ็นต์ และตัวละครที่เป็นทรานส์เจนเดอร์น้อยลงไปอีก

“เมื่อ LGBTQ ไม่มีบทบาทหรือถูกลบออกจากภาพยนตร์ มันสื่อสารว่าพวกเขาไม่สำคัญและไม่มีตัวตนจริงๆ ในโลกใบนี้ ซึ่งมันโหดร้ายมากสำหรับวัยรุ่น LGBTQ ที่ไม่เห็นชีวิตของพวกเขาปรากฏหรือมีตัวตนเลย ” เมแกน ทาวน์เซนด์ (Megan Townsend) ผู้อำนวยการและนักวิจัยแห่ง The GLAAD ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC News

ทาวน์เซนด์กล่าวต่อว่า การทำภาพยนตร์ที่มีเรื่อง มีชีวิตของคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ภาพยนตร์ได้รางวัลออสการ์ แต่มันคือการสื่อสารเพื่อให้สังคมทำความเข้าใจ เปิดใจ ต่อความหลากหลายของผู้คน


ที่มา:
pinknews.co.uk
http://jezebel.com

 

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า