คาเฟ่สำหรับคุณแม่ให้นมลูก

เขาห้ามให้นมลูกกันด้วยเหรอ?

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การที่แม่จะหาที่นั่งนิ่งๆ ให้นมลูกเป็นเรื่องยากเย็น บางสังคมถือว่าน่าอาย ไม่เป็นกุลสตรี ประเจิดประเจ้อ ไม่มีมารยาท ผู้ชายบางคนใช้คำพูด “disgusting”

การเลือกปฏิบัติต่อแม่ที่ให้นมบุตรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ข้อมูลปี 2016 ประเทศอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่แม่ให้นมลูกๆ ด้วยตัวเองน้อยที่สุดในโลก อ้างอิงจากผลสำรวจ The Lancet เมื่อมกราคม 2016 พบว่า มีคุณแม่ชาวอังกฤษเพียง 1 ใน 200 คน หรือราว 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยังให้นมลูกๆ ด้วยตัวเอง หลังเด็กๆ อายุเกิน 1 ขวบ

ปลายปี 2016 สื่ออังกฤษตีข่าวของคุณแม่ คีลีย์ แมคมาน-เพอร์รี (Keely McMahon-Perry) เธออยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองคาร์ดิฟ เมื่อลูกน้อยร้องเพราะหิวนม เธอวางมือจากการกิน และกำลังให้นมลูกวัย 4 เดือน จู่ๆ ผู้ชายนายหนึ่งก็เดินเข้ามาบอกว่า “ผมกำลังพยายามกิน”

ด้วยความงุนงง เธอตอบว่า “คุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่า” คำพูดของฝ่ายชายคือ “ใช่ มันน่าขยะแขยงมาก” แน่นอน คีลีย์ไม่ทำตาม และยืนกรานให้นมลูกต่อ ก่อนที่นายคนนั้นจะถูกเชิญออกจากร้าน

คีลีย์ ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียบอกว่า “เขาทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันตัวเล็กมากจริงๆ ฉันเป็นคนออสเตรเลีย ที่ออสเตรเลียมีอัตราการให้นมแม่สูงมาก และที่นั่นก็ยอมรับเรื่องนี้ได้มากกว่าที่นี่

“ฉันประหลาดใจจริงๆ เหตุผลที่คนอังกฤษไม่ค่อยให้นมลูก เพราะพวกเขาต้องกังวลว่าจะถูกคุกคามแบบนี้แหละ”

คล้ายๆ กับกรณีที่เกิดขึ้นในฟลอริดาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เมื่อ อนาลา ลีชท์แมน (Anala Leichtman) กับครอบครัวและเพื่อนๆ ไปกินอาหารที่ร้าน Relish & More ลูกชายของเธอร้องหิวนม ซึ่งแน่นอน เธอทำหน้าที่ตามธรรมชาติของผู้เป็นแม่ อนาลากำลังจะใช้ผ้าคลุมปิดหน้าอกเพื่อให้นมลูกวัย 10 เดือน พนักงานในร้านคนหนึ่งสังเกตเห็น จึงเดินมาบอกว่า “ที่รัก เธอต้องปิดไว้เลยนะ เธอทำอย่างนี้ที่นี่ไม่ได้”

ด้วยความงงปนหงุดหงิดอีกเช่นกัน อนาลาลุกจากโต๊ะออกไปให้นมลูกในรถ เมื่อเธอกลับเข้ามาในร้าน พนักงานกล่าวขอโทษ แล้วบอกว่า ที่ทำไปเพราะลูกค้าโต๊ะอื่นๆ บ่นและขู่ว่าจะออกจากร้าน ทางร้านจึงชดเชยให้เธอด้วยบัตรของขวัญมูลค่า 25 ดอลลาร์…

การเอาคืนเริ่มต้นบนพื้นที่โซเชียล เควิน สามีของอนาลาเล่าเรื่องและโพสต์รูปลูกชายบนเฟซบุ๊คพร้อมแคปชั่นว่า “นี่มันขายหน้าชัดๆ เกือบปีนึงผ่านมาจนจุดนี้ ไม่มีใครพูดเรื่องให้นมเลย จนวันนี้แหละ”

หลายคนคงเห็นเคยเห็นอิทธิฤทธิ์ของโซเชียลเน็ตเวิร์คมาแล้วว่ามันทำอะไรได้บ้าง ร้าน Relish & More ถูกคอมเมนต์ถล่มเละเทะ เพจของร้านโดนบอมบ์ด้วยมีมแม่ให้นมลูก จนทางร้านต้องออกมาขอโทษหลังรับคำวิจารณ์นับร้อย พร้อมกับแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง – และพนักงานคนนั้นถูกไล่ออกไปเรียบร้อยแล้ว

ตามกฎหมายของฟลอริดา ผู้หญิงมีสิทธิ์จะให้นมลูกที่ไหนก็ได้ ทั้งที่ส่วนบุคคลและสาธารณะ ตามที่กฎหมายอนุญาต โดยไม่มีข้อแม้ว่าจะใช้ผ้าคลุมไว้หรือไม่ อนาลาบอกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ปกป้องสิทธิ์ แต่ไม่ได้คุ้มครองแม่จากความอับอาย ที่พวกเธอได้รับจากคนที่มองว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร

 

คุณแม่อังกฤษแฮปปี้ มีคาเฟ่ให้นมลูก

credit: themilklounge.co.uk

น็อตติงแฮม

The Milk Lounge เป็นคาเฟ่ให้นมลูกแห่งแรกในเมืองน็อตติงแฮม (Nottingham) เป็นคาเฟ่สำหรับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่โดยเฉพาะ

ชาร์ล็อต เพอร์ดี (Charlotte Purdie) เจ้าของร้านวัยเพียง 23 ปี เล่าถึงต้นตอของแนวคิดนี้มาจากที่เธอรู้สึกไม่สบายใจขณะที่ให้นมลูกตนเองในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง

คาเฟ่สำหรับคุณแม่ของเธอแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ระหว่างห้องให้นมลูกและร้านกาแฟ เพื่อให้คุณแม่รู้สึกสบายใจขณะทำหน้าที่ความเป็นแม่ และสำหรับคุณแม่คนไหนที่มือใหม่มากๆ ทางร้านยังมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแวะเวียนหมุนเปลี่ยนเป็นประจำเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการให้นมโดยตรง

ด้านเมนูของทางร้าน เน้นอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิก ใส่ใจทุกสิ่ง แม้แต่เด็กที่แพ้นมวัวหรือไม่สามารถกินนมวัวได้ ก็มีนมกลูเตน-ฟรี และนมทางเลือกอื่นๆ ให้ลิ้มรส

นอกจากนั้น The Milk Lounge ยังจัดกิจกรรมเพื่อเด็กๆ ทุกวันไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสอนนวดสำหรับเด็ก คอร์สเรียนบัตเลต์ และคอร์สเรียนพิลาทิสสำหรับเด็กอีกด้วย

credit: aboutmanchester.co.uk

แมนเชสเตอร์ซิตี้

วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาเมืองแมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City) ออกแคมเปญ รณรงค์ให้เมืองแมนเชสเตอร์ซิตี้ ‘Breastfeeding Friendly’ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่คุณแม่มือใหม่ เสริมความมั่นใจและไม่เก้อเขินที่จะให้นมลูกในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาร้านรวงส่วนใหญ่ที่มักไม่ต้อนรับ หรือบางครั้งถึงกับขับไล่คุณแม่ลูกอ่อนที่กำลังให้นมลูกในร้านของพวกเขา โดยการหันมาจับมือกับภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ กล่าวคือ ร้านใดสนใจเข้าร่วมแคมเปญ สามารถลงชื่อโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จากนั้นทางสภาจะลงมาตรวจสอบ หากผ่านการพิจารณา ร้านนั้นจะได้รับสติกเกอร์ว่า ‘Breastfeeding Friendly’ ติดที่หน้าร้าน

ปัจจุบันมีร้านอาหารและคาเฟ่ในเมืองแมนเชสเตอร์ซิตี้ที่เข้าร่วมแคมเปญดังกล่าว ดังต่อไปนี้


อ้างอิงข้อมูลจาก: rainycitykids.com
manchester.gov.uk
metro.co.uk
foxnews.com
mirror.co.uk

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า