เมื่อประชาธิปไตยกินความหมายมากกว่าแค่การเลือกตั้ง หลากทัศนะคนรุ่นใหม่จากค่าย Singhadang Policy Maker Camp

ช่วงใกล้เลือกตั้ง เราจะเห็นบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ระดมหาเสียงด้วยนโยบายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม 

การหาเสียงด้วยการชี้แจงนโยบายอย่างละเอียดเป็นเรื่องดี เพราะไม่เพียงจะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจ ชั่ง ตวง วัด และเลือกสรรผู้แทนและพรรคที่ตอบโจทย์ชีวิตของตน แต่ยังช่วยเป็นหลักฐานชั้นดีในอนาคตว่า เมื่อได้รับเลือกเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว จะทำได้จริงเช่นที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่

“นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงถือเป็นสัตยาบันที่ต้องรับผิดชอบ และทุกข้อจะต้องสามารถทำได้จริง หากทำไม่ได้ก็จะต้องอภิปรายชี้แจงต่อประชาชนอย่างละเอียดว่า เหตุผลที่ทำไม่ได้คืออะไร

“อยากให้เกิดสัตยาบันเหมือนอย่างการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่เป็นการสาบานต่อประชาชนมากกว่ากษัตริย์”

ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทัศนะของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และว่าที่รัฐบาลในอนาคตอันใกล้ พวกเขาไม่เพียงคาดหวังว่าการเมืองที่ดีจะต้องเล่นกันตามกติกาของประชาธิปไตยเท่านั้น แต่การเมืองที่ดีจะต้องใส่ใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ความหลากหลายทางเพศ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการสร้างรัฐสวัสดิการ

WAY ชวนสำรวจทัศนะของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยในปัจจุบัน และการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง ผ่านผู้เข้าร่วมค่าย Singhadang Policy Maker Camp ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 23-26 มีนาคม 2566 ซึ่งจัดโดยกลุ่มอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิฮันส์ ไซเดล และภาคีเครือข่ายนโยบายสาธารณะระดับประเทศ

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่เพียงพอต่อการเป็นประชาธิปไตย

“เฟรนด์คิดว่า การได้รัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม และยังไม่สามารถให้คำตอบกับทุกอย่างได้”

เฟรน-ธันชนก สุวรรณจินดา ตอบเมื่อถูกถามว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยลดความขัดแย้งของสังคมลงได้หรือไม่

“อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทำให้ประชาชนได้เลือก และพรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอนโยบายของตนหากได้เป็นรัฐบาล แล้วยังทำให้เราได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในครั้งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป” 

เฟรนด์ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ควรมาจากการรัฐประหารไม่ว่าจะในกรณีใดทั้งสิ้น หากต้องการเปลี่ยนรัฐบาล เราควรจะต้องมีการยุบสภา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ไม่เพียงแต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องได้รับการแก้ไขผ่านวิถีทางแบบประชาธิปไตยเท่านั้น เมฆ-คณาธิป สินธุเศรษฐ ยังเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดไม่ต่างจากน้ำลดตอผุด พร้อมๆ กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

“มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ ภาครัฐจะต้องทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินและกฎหมายภาษีมรดก เนื่องจากกฎระเบียบของกฎหมายดังกล่าวยังมีช่องโหว่ ซึ่งอาจเป็นการผลักและเพิ่มภาระให้แก่ชนชั้นกลางที่มีที่ดิน แต่ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ ในทางกลับกัน นายทุนและ landlord ที่มีที่ดินจำนวนมากกลับได้รับผลประโยชน์ อาทิ อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลบหลีกการจ่ายภาษี หรือเลือกลดหย่อนภาษี”

ปรับนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยแห่งการดิสรัปชัน

ชานนท์-รัฐชานนท์ สุขเกษม เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คอย disrupt ธุรกิจหลายภาคส่วนเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา จนบางขณะก็ขาดแคลนผู้เรียนและต้องปิดตัวลง เพราะหลักสูตรไม่ตอบโจทย์งานประเภทใหม่ๆ ที่ตลาดแรงงานต้องการ มิหนำซ้ำ คนรุ่นใหม่ยังสามารถแสวงหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยตนเองมากกว่าเข้าสู่กระบวนการศึกษา 

“อยากนำเสนอการกระจายอำนาจในเชิงงบประมาณให้แก่สถานศึกษา (decentralized budgeting) อาทิ การโยกย้ายสถานศึกษาที่เป็นของรัฐให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหาร เป็นผู้กำหนดนโยบายการศึกษาในแต่ละพื้นที่ และจัดการงบประมาณได้อย่างเพียงพอ” 

ชานนท์ยังเห็นว่า การดึงอำนาจในการออกนโยบายการศึกษาจากมือรัฐ แล้วกระจายให้ส่วนท้องถิ่นดูแล จะสามารถตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน และสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่มากกว่า 

“การศึกษาไทยจะต้องใช้วิธีการกระจายอำนาจ เนื่องจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความยึดโยงกับประชาชน และมีความใกล้ชิดกับพื้นที่นั้นๆ จึงสามารถออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนได้อย่างแท้จริง”

ยิ่งไปกว่านั้น การกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นดูแลด้านการศึกษา ยังช่วยป้องกันปัญหา ‘สมองไหล’ ที่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโยกย้ายไปหางานทำในเมืองใหญ่ การศึกษาจะต้องถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในท้องถิ่น พร้อมๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการตามไปด้วย เพื่อให้มีแหล่งงานในท้องถิ่นคอยรองรับเด็กๆ ที่จบการศึกษาออกมาอย่างเพียงพอ 

มากไปกว่านั้น รัฐบาลควรจะมีการเพิ่มนวัตกรรมทางการศึกษา (innovative learning) หรือการเรียนรู้เชิงนวัตกรรม และจะต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (personalized learning) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะต้องมีการบูรณาการเทคโนโลยีในการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เนื่องจากทรัพยากรเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น 

ข้อเสนอสุดท้ายชานนท์คือ การเพิ่มบทบาทให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาด้วยสัญญาแบบ PPP (Public-Private Partnership) เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเด็กเรียนจบไปพวกเขาจะต้องกลายเป็นทรัพยากรในฐานะแรงงานให้แก่ภาคเอกชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรมีส่วนร่วมพัฒนากระบวนการศึกษา เพื่อทำให้ทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ตรงจุด

ความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง 2566 

“อยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ และตระหนักว่าตนมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้”

ตั๊บ-คณวัฒน์ กลิ่นสุคนธ์ กล่าวถึงความคาดหวังต่อภาคประชาชน ที่ไม่เพียงจะต้องออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ยังจะต้องตัดสินใจด้วยความตระหนักรู้ ความเท่าทัน และความรอบคอบต่อนโยบายของพรรคการเมือง คณวัฒน์ยังเห็นว่า ประชาชนควรพิจารณาจากนโยบายมากกว่าตัวผู้สมัคร ชื่อเสียง หรือภาพลักษณ์ที่พรรคนั้นๆ เคยสั่งสมมา

“อยากให้ลองเปิดใจ รับฟังทุกเสียง ตัดสินที่นโยบายของพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเพื่อพวกเราทุกคน”

คณวัฒน์ยังคาดหวังว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะมองไปข้างหน้า เพื่อทำให้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้เกิดขึ้นได้จริงท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง อุดมการณ์ที่หลากหลายในรัฐสภา 

“อยากเห็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันทำงานร่วมกันได้ เพื่อทำให้นโยบายเกิดขึ้นได้จริง” 

เมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคที่ได้เสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว คณวัฒน์คาดหวังว่า ผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งจะได้ทำงานเพื่อประชาชนจนครบวาระ โดยไม่เกิดการรัฐประหารหรือเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมาฉุดรั้งความเป็นประชาธิปไตยเหมือนที่ผ่านมา และผู้นำก็จะต้องเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างแท้จริง ไม่อวดอ้างถึงคุณธรรมความดีที่กลวงเปล่า เพราะประชาชนแต่ละคนนิยามสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกันได้

นโยบายเร่งด่วนสำหรับว่าที่รัฐบาล

เมื่อถูกถามว่า คาดหวังนโยบายแบบใดต่อรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้ คณวัฒน์ตอบว่า อยากให้รัฐบาลแก้ไขระบบสาธารณสุขในไทย โดยเฉพาะการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งกินเวลาอันเป็นทรัพยากรที่มีค่าของคนรากหญ้ามากเกินไป จึงอยากให้รัฐบาลกระจายทรัพยากรและบุคลากรไปยังศูนย์อนามัยชุมชนมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย

“อยากให้กระจายคุณภาพและบริการไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงมีการจัดสรรงบส่วนกลางให้ดีขึ้น” 

คณวัฒน์ยังเห็นว่า ควรมีนโยบายจัดการโครงสร้างระบบราชการใหม่ เพราะระบบราชการปัจจุบันมีความล่าช้า ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จึงควรมีการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจ จัดสรรงบประมาณ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ระบบราชการแบบใหม่จะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วด้วย

ส่วนนโยบายด้านการศึกษา คณวัฒน์เสนอว่า ระบบการศึกษาต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดโลก ลดภาระงานของครูในโรงเรียน และดึงเด็กที่หลุดจากระบบกลับคืนมาให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาควรเข้าถึงได้แม้ในพื้นที่ห่างไกล ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมือง

รัฐบาลยังต้องลดการผูกขาดธุรกิจผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพราะตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการผูกขาดในกิจการต่างๆ หลายภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจพลังงาน หรือธุรกิจค้าปลีกที่ไม่อยู่เพียงไม่กี่เจ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด

“รัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ได้มีความพยายามแม้แต่จะลงมือ จนทำให้ผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือพรรคการเมือง กฎหมายก็ไม่สามารถจัดการได้” 

ถัดมา รัฐบาลควรพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้กระจายตัวไปยังหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ลง แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องไปลืมคือ การพัฒนาจะต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม 

“อยากให้ภาครัฐเริ่มต้นจัดการขยะอย่างถูกวิธี สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน เช่น ให้ความสำคัญกับระบบรีไซเคิล เพราะสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากขยะได้อย่างมีคุณภาพต่อไป”

ภูมิทัศน์การเมืองไทยในปัจจุบัน ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน

แบงค์-กฤติน อัมลึก มีทัศนะต่อการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เขาคาดการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ส่วนพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะได้คะแนนเสียงรองลงมา หากผลเลือกตั้งเป็นไปตามนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมาก แต่ก็ยังไม่มากพอจะเอาชนะเสียงของ ส.ว. ได้ จึงอาจเกิดการจับมือกับพลังประชารัฐเป็นขั้วการเมืองใหม่ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลไม่น่าจะเอาด้วย เพราะถือว่าขัดกับอุดมการณ์ที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของทั้ง ‘3 ป.’ ดังนั้น ขั้วการเมืองฝ่ายค้านจึงน่าจะมีก้าวไกลต่อไปแน่ๆ 

“เกมการเมืองครั้งนี้มีความแปลกตั้งแต่ตอนที่ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์แตกกัน และ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจและบารมีมากกว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรก็น่าจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย”

ปิดสวิตช์ ส.ว. ยุติการสืบทอดอำนาจ 3 ป.

กฤตินอธิบายว่า ปัจจุบัน ส.ว. มีอำนาจเลือกโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจาก คสช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ดันมีวาระ 5 ปี จึงมีโอกาสได้เลือกนายกฯ ถึง 2 ครั้ง ส.ว. จึงเปรียบเสมือนกลไกในการคานอำนาจของขั้วการเมืองเก่า

“สมมุติว่าพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงมากที่สุดได้เข้าไปในสภา ก็อาจจะมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ ส.ว. ยังคงมีบทบาทในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ และ ส.ว. ไม่น่าจะแตกแถว เขาโหวตเห็นด้วยเหมือนกันทั้งหมด ส่วนตัวจึงอยากให้ยกเลิก ส.ว. เพราะมองว่า ส.ว. ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประชาชนแม้แต่น้อย ดังนั้นกระบวนการในรัฐสภาควรมีแค่ ส.ส. เพียงเท่านั้น เนื่องจาก ส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของประชาชนได้มากกว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง”

ยิ่งไปกว่านั้น กฤตินเสนอว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง

กกต. องค์กรอิสระที่ควรเป็นอิสระอย่างแท้จริง

โอ๊ต-สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา มีความคาดหวังว่า กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ควรมีความเป็นอิสระจริงๆ แต่ปัจจุบัน กกต. ได้รับอำนาจหน้าที่มาจากการแต่งตั้ง จึงอาจมีภาระผูกพันหรือถูกแทรกแซงได้ง่าย ทำให้คณะกรรมการที่ควรมีอำนาจตรวจสอบกลับไม่สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งได้จริง ประการแรกจึงจำเป็นจะต้องทำให้ กกต. ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดๆ มีงบประมาณแยกออกมา และบริหารงานอย่างเป็นอิสระอย่างแท้จริง

“เพราะถ้าหากเราพูดว่า อยากให้ กกต. โปร่งใส เราไม่สามารถทำให้ กกต. โปร่งใสได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากการทำให้โปร่งใสอาจต้องย้อนไปตั้งแต่ พ.ร.บ. เบื้องต้น ตลอดจนถึงการบังคับดูแล ครม. ทุกคณะ และจะต้องเป็น common ground ร่วมกันของทุกพรรคว่า กกต. จะต้องเป็นหน่วยงานอิสระ 

“แต่นั่นก็จะเปรียบเสมือนการทำให้ กกต. มีดาบที่พร้อมจะทิ่มแทงทุกคน แล้วค่อยผลักดันสู่ประเด็นต่อไป กล่าวคือความโปร่งใสหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน”

พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่หาเสียงเอาไว้

สิรภพเห็นว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงถือเป็นสัตยาบันที่ต้องรับผิดชอบ และทุกข้อจะต้องสามารถทำได้จริง หากทำไม่ได้ก็จะต้องอภิปรายชี้แจงต่อประชาชนอย่างละเอียดว่า เหตุผลที่ทำไม่ได้คืออะไร และประชาชนเป็นผู้มีสิทธิในการโหวตว่าจะไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลหรือเปล่า 

และเนื่องจากนโยบายบางอย่างอาจถูกคิดขึ้นในตอนที่เศรษฐกิจยังดี พอเกิดวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 พรรคการเมืองมีสิทธิที่จะบอกได้ว่า เหตุใดจึงทำตามนโยบายไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่อยากให้พึ่งพาคนดีหรือความดีของบางคน ที่บอกว่าจะทำตามที่ตนพูด อยากให้เกิดสัตยาบันเหมือนอย่างการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่เป็นการสาบานต่อประชาชนมากกว่ากษัตริย์

สิรภพยังกล่าวว่านโยบายที่อยากให้เร่งผลักดัน คือเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของ ส.ส. เพราะอยากให้การอภิปรายตามหน้าที่ในรัฐสภาของ ส.ส. ไม่ส่งผลกระทบทางกฎหมายต่อเขา ทั้งที่จริงๆ ก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว 

อีกนโยบายที่อยากให้ผลักดันคือ การปรับแก้ผลประโยชน์ตอบแทนของ ส.ส. อยากให้ไม่มีภาระผูกพันจนถึงหลังการสิ้นสุดสภาพการเป็น ส.ส. เนื่องจากในประเทศไทยมีกองทุนเพื่อผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมีผลผูกพัน เพราะ ส.ส. บางส่วนเข้ามาเพราะผลประโยชน์เหนี่ยวนำอยู่แล้ว และในขณะที่รับตำแหน่ง เขาก็มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย จึงอยากให้มีการลดงบประมาณในส่วนที่มากเกินไปของนักการเมือง เพราะหากผลประโยชน์น้อยลงเท่าใด ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งก็จะทำงานด้วยใจ และทุ่มเทเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า