‘พลังประชารัฐ’ ไม่ใช่สถานที่ แต่คือกลุ่มก๊ก

เพียง 3 ปี หลังการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรค ก็เต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลงภายในพรรค 

กรณีสดๆ ร้อนๆ เกิดขึ้นกับเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน คือ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อเขาได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่ามีความขัดแย้งกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 

ก่อนที่ต่อมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาให้ข่าวว่า กรณีเช่นนี้มิใช่การลาออก หากเป็นการพ้นจากตำแหน่งด้วยการ ‘ปลดออก’ ตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 171 โดยมี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานหลุดตำแหน่งไปด้วยอีกคน[1]

น่าสนใจว่า ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ซึ่งใฝ่ฝันจะสร้างพรรคพลังประชารัฐให้เป็นสถาบันการเมืองที่ปักหลักในการเมืองไทย คำประกาศนี้ถูกกล่าวเมื่อเขาขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อจาก อนุชา นาคาศัย เส้นทางจากนี้ของนักการเมืองผู้มุ่งมั่นจะเดินต่อไปอย่างไร 

กล่าวเฉพาะปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพรรคเรื่อยมา อาทิ เปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก อุตตม สาวนายน มาสู่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกจากนั้นภายในเวลาเพียง 3 ปี มีการเปลี่ยนเลขาธิการพรรคถึง 3 คน จาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มาสู่ อนุชา นาคาศัย และล่าสุดคือ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และแทบจะทุกครั้งก็มีความปั่นป่วนเมื่อมีการเปลี่ยนขุมกำลัง อาทิ การลาออกของนายอุตตม พร้อมๆ กับทีมรัฐมนตรีในชุดนั้นที่ลาออกตามไปถึง 4 คน รวมไปถึงการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีจากสายขบวนการ กปปส. เดิม ซึ่งถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากความผิดเมื่อครั้งชุมนุมปี 2556-2557 

ในแง่นี้พรรคพลังประชารัฐ จึงมีสภาพไม่ต่างจากเรือในวรรณกรรมเรื่อง Many Lives ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ไม่ปาน เพียงแต่ว่าเรือและผู้คุมหางเสือตัวจริงยังคงอยู่ 

เราอาจจะลองพิจารณาพรรคพลังประชารัฐจากอีกแนวทางหนึ่ง คือการเมืองแบบกลุ่มก๊ก (faction politics) เพื่อช่วยทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน อันแยกไม่ออกจากโครงสร้างระเบียบการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร 2557 โดยไม่มากก็น้อยผู้มีอำนาจวาดหวังให้มันเป็นกติกาใหม่ภายใต้รัชสมัยปัจจุบัน 

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายนปีนั้น รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีส่วนสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองในฐานะสถาบันอ่อนแอลง และส่งผลให้การเมืองกลุ่มก๊ก กลายเป็นลักษณะเด่นของการเมืองไทยนับจากวันนั้น อาทิ ระบบการเลือกตั้งใหม่ (ระบบจัดสรรปันส่วนผสม) ทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีเสียงชนะเด็ดขาดได้ยาก 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงใช้ยุทธศาสตร์ในการแตกพรรค เพื่อสู้ในสนามการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ในเกมจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดี แม้จะกวาดที่นั่งผู้แทนมาเป็นอันดับ 1 ก็ตาม 

ในบทความเรื่อง Faction Politics in an Interrupted Democracy: the Case of Thailand (2020) เขียนโดย พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ ตีพิมพ์ใน Journal of Current Southeast Asian Affairs เสนอว่า การเมืองกลุ่มก๊กในสมัยปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่นๆ เช่น มาตรา 14 (4) ที่เปิดให้ ส.ส. เป็นอิสระจากพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมติพรรค ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 เราจึงได้ยินคำว่า ‘งูเห่า’ แทบจะทุกครั้งที่มีการลงมติในเรื่องสำคัญๆ 

กรณีนี้เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่สัมพันธ์ไปกับเป้าหมายของคณะรัฐประหาร พอล แชมเบอร์ส และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ เสนอว่า ภายใต้ยุค คสช. ระหว่างปี 2557-2562 ได้ปูทางมาสู่การเมืองแบบกลุ่มก๊ก จากปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ 

ประการแรก ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารกว่า 5 ปี ไม่มีระบบการเมืองที่เอื้อให้พรรคการเมืองเติบโตได้ 

ประการที่สอง การไม่มีระบบพรรคการเมือง ทำให้กลุ่มก๊กต่างๆ มีเวลามากพอในการเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อรอการเลือกตั้งในปี 2562 

ประการที่สาม ภายใต้การปกครองของกองทัพที่ผลักดันให้รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านนั้น มีส่วนสำคัญในการสร้างให้การเมืองกลุ่มก๊กแฝงฝังอยู่ในการเมืองแบบรัฐสภาได้ และ

ประการที่สี่ ในการเตรียมความพร้อมเมื่อปี 2561 ผู้นำคณะรัฐประหารได้จัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาคือ พรรคพลังประชารัฐ และได้ชักจูงให้กลุ่มการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ตามมาด้วยการคลายล็อค เปิดให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ก่อนจะอนุญาตให้เริ่มหาเสียงก่อนที่การเลือกตั้งในปี 2562 จะมาถึง 

สิ่งที่พึงตระหนักให้มั่นในการเมืองไทย คือ การเมืองแบบกลุ่มก๊กไม่เคยห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างใด 

เราอาจจะคิดถึงการที่พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนเปลี้ยในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเพื่อสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นหลังคณะรัฐประหารของ คสช. ซึ่งได้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจมาสู่การเลือกตั้งที่เปรียบเสมือนพิธีกรรม หลังจากครองอำนาจมากกว่า 5 ปีแล้ว 

พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้ 

พอล แชมเบอร์ส และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ เสนอว่า พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีการดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่นๆ แต่พวกเขายังคงมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้ก่อตั้ง

นอกจากนี้ยังมี พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ ดอน ปรมัติวินัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นทีมที่สืบทอดมาจากรัฐบาลคณะรัฐประหาร

กลุ่มการเมืองกลุ่มใหญ่ถัดมาคือ กลุ่มสามมิตร อาทิ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่นำนักการเมืองเก่ากว่า 60 ชีวิต เข้ามาร่วมพรรคด้วย รวมถึงกลุ่มบ้านริมน้ำของ นายสุชาติ ตันเจริญ ที่มีนักการเมืองราวๆ 20 คน 

กลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์เก่า มี ส.ส. ประมาณ 11 คน กลุ่มตระกูลคุณปลื้ม มี ส.ส. 6 คน กลุ่มนครราชสีมา กลุ่มเพชรบูรณ์ และกลุ่ม ส.ส. ภาคใต้ มี ส.ส. 6 คน และ 13 คน ตามลำดับ 

กลุ่มตระกูลเทียนทองมี ส.ส. 3 คน กลุ่มกำแพงเพชรของ วราเทพ รัตนากร 4 คน กลุ่มสมุทรปราการ 6 คน และกลุ่มสุดท้ายที่สนิทกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ กลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า มี ส.ส. 10 คน จากพะเยา ตาก และแม่ฮ่องสอน 

ความสำเร็จดังกล่าวเห็นได้ชัดเมื่อรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ตำแหน่งรัฐมนตรีไปถึง 18 คน จาก 36 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มี คสช. 8 คน กลุ่มสามมิตร 6 คน กปปส. 2 คน นอกจากนั้นก็แบ่งเฉลี่ยกันไป 

การควบคุมกลุ่มการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาล เห็นได้จากที่นั่งที่สุ่มเสี่ยงมากในช่วงเริ่มต้นคือ 254 จาก 500 ที่นั่ง ของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล มีรายงานว่ามีการส่งน้ำเลี้ยงไปยังกลุ่มต่างๆ ของพรรค เช่น ภาคใต้ผ่าน พันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล ภาคเหนือผ่านธรรมนัส และผ่านนายทหารคนอื่นๆ โดยมีทั้งการเกลี้ยกล่อมและบังคับ เพื่อส่งเสริมวินัยของพรรค 

นอกจากนี้ยังมีการดึง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยกว่า 20 คน มาร่วมลงคะแนนสนับสนุนโดยไม่ต้องย้ายพรรค มากกว่านี้ยังมีการแย่งตำแหน่งภายในพรรคระหว่างกลุ่มสามมิตรกับกลุ่มภาคใต้ 

ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงเป็นสภาพปกติของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่คณะรัฐประหารเริ่มแปรสภาพมาสู่การอาศัยพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง มิใช่สภาพยกเว้น 

ฉะนั้นสิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือ ระเบียบทางการเมืองเช่นนี้จะดำรงไปได้นานเพียงใด พรรคพลังประชารัฐที่สามารถระดมนักการเมือง นักธุรกิจ และนายพล เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลได้ จะเดินไปได้นานแค่ไหน เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบ 

แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นในหมู่ผู้กุมหางเสือหลังการรัฐประหาร 2557 ว่ายังเข้มแข็งอยู่ นั่นคือ ผู้กุมอำนาจยังคงเป็นนายทหารกลุ่ม 3 ป. พวกเขาแน่นแฟ้นเหนียวแน่น ทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อย่าลืมว่าพวกเขาคือนายทหารที่เติบโตมาในหน่วยเดียวกันเนิ่นนาน ทั้งยังเติบโตในเส้นทางคุมกำลังเดียวกัน ปฏิบัติการในภารกิจที่สอดประสานกัน[2]

และสิ่งสำคัญมากกว่าสิ่งใดคือ พลเอกประยุทธ์ ยังคงกล่าวอ้างได้ว่า “ผมคนเดียวเท่านั้นที่ได้มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี”[3]

เชิงอรรถ

[1] https://www.thairath.co.th/news/politic/2189758

[2] https://waymagazine.org/prawit-wongsuwan-timeline/

[3] https://www.bbc.com/thai/thailand-58430563

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า