‘ประเทศกูมี’: ศิลปะแห่งการต่อต้าน อำนาจของประชาชน

คงไม่ต้องพูดอะไรเยอะเกี่ยวกับเนื้อหาและเพลงแร็พ ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP หลังจากปรากฏการณ์ยอดเข้าชม 900,000 แต่เมื่อเริ่มมีกระแสจากฝ่ายรัฐว่าห้ามดู ห้ามแชร์ ยอดกลับสวนทาง ขยับพุ่งไปถึง 9 ล้านวิว ภายใน 24 ชั่วโมง ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นโดยไม่หวั่นกับคำสั่งแบบสายฟ้าแลบเช่นนี้กำลังบอกว่าเราทุกคนกำลังตื่นตัว และเริ่มมองซ้ายมองขวา ให้ความสำคัญกับประเทศของตัวเองมากขึ้นหรือไม่?

วันนี้จึงจะพาไปไขรหัส ผ่านงานเสวนาเรื่อง ‘ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน’ จัดโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมแค่จังหวะไรม์ที่ลื่นไหล บวกกับเสียงบีทหนักหน่วง ถึงมีกำลังและกล้าหาญ จนพวกเขาใช้ดนตรีเป็นอาวุธ และกล้าออกมาพูดว่า “ประเทศกูมีอะไร” แบบโฟลว์ๆ

 

รหัสที่ 1: ประเทศกูมี เพลงจากประชาชนที่เบื่อรัฐ

ประเทศกูมี

สุชาติ แสงทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงการเมือง (political music) บอกว่า เพลงที่แสดงออกถึงนัยยะทางการเมืองมีมานาน และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพลงเหล่านี้เกิดจากแรงบันดาลใจ รากฐานความคิดของผู้สร้าง เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองสังคมในแต่ละยุคสมัย

“ความเป็นดนตรีผนวกกับภาคประชาชน เกิดเป็นการต่อสู้โดยใช้ศิลปะ ประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เป็นการต่อสู้ที่งดงามอย่างหนึ่ง”

ดนตรีการเมือง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของภาครัฐเพียงอย่างเดียว ฝ่ายประชาชนก็สามารถใช้ศิลปะเป็นตัวถ่ายทอดความรู้สึกได้ ดังนั้นเพลงการเมืองในแต่ละยุคสมัยจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องพยายามนึกถึงวิธีการสื่อสารเพื่อกะเทาะความรู้สึกของประชาชนให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันจึงใช้ความร่วมสมัยมาผสมผสาน เกิดสำนึกรวมหมู่บางอย่าง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้รับดนตรีอาจไม่รู้เลยว่า เรารับอะไรเข้ามา ทั้งที่เพลงนั้นใช้เพื่อเป้าหมายการเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นำเพลง ‘God Save the Queen’ ทำเป็นเพลง ‘จอมราชจงเจริญ’ เพื่อสถาปนาอำนาจของสถาบัน หรือเพลง ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ที่ถูกแต่งขึ้นในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนทำตามนโยบายของรัฐ

จนมาถึงเพลง ‘ประเทศกูมี’ ก็อาจจะนิยามได้ว่า เป็นบทเพลงปลุกใจลักษณะหนึ่งที่ไม่ได้เกิดมาจากรัฐบาลเอง แต่มาจากเสียงประชาชนที่เบื่อและรู้สึกทนไม่ได้กับฝ่ายรัฐ

รหัสที่ 2: ประเทศกูมี เพลงที่สนุกสนานบนความเจ็บปวด

นอกจากเนื้อหาเพลงที่จัดจ้าน และจังหวะดนตรีที่เชิญให้โยกหัวตาม มิวสิควิดีโอที่ใช้ประกอบเพลง ‘ประเทศกูมี’ ก็น่าสนใจเช่นกัน

การเลือกใช้ภาพเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ศพถูกแขวนคอและตีด้วยเก้าอี้ รายล้อมไปด้วยกลุ่มคนที่ยืนมองด้วยความสะใจ ภาพนี้กำลังบอกอะไรบางอย่างกับสังคม?

ประเทศกูมี

ในสายตา ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นว่า การที่คนยืนล้อมวง มองเห็นความรุนแรงอยู่ตรงหน้าแล้วรู้สึกสนุกสนาน ก็ไม่ต่างอะไรจากเวลานี้ ที่ประชาชนทุกคนกำลังถูกกระทำความรุนแรง ถูกปิดกั้นอะไรหลายๆ อย่างจากภาครัฐ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่รื่นรมย์และยินดีกับกระทำความรุนแรงนั้นด้วย

รหัสที่ 3: ประเทศกูมี เพลงขบถของคนเมือง

ดนตรีและเสียงเพลง ถูกเอามาใช้ทางการเมืองตั้งแต่อดีต ในช่วง 1930-1945 ฮิตเลอร์ มุสโสลินี ที่ใช้ไมโครโฟนพูดปลุกใจพร้อมเพลงมาร์ชให้เดินเข้าสนามรบ

ประเทศกูมี

‘ประเทศกูมี’ ในสายตา ถนอม ชาภักดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไม่ต่างจาก ‘เพลงขบถหมอลำ’ ที่พรรคคอมมิวนิสต์-รัฐ ใช้ตอบโต้กันในช่วงสงครามเย็น ในลักษณะกลอนต่อกลอน

เพราะรากฐานของแร็พและหมอลำคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีพื้นที่แสดงออก ไม่มีใครฟัง ฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปการใช้เสียงดนตรีแสดงออกทางการเมืองมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เพลงหมอลำไม่เคยถูกนับว่าเป็นเสียงของการขบถของคนในเมือง พูดให้ง่ายคือ ‘ประเทศกูมี’ เพิ่งมาสะกิดต่อมคนชั้นกลาง ทั้งที่เพลงหมอลำซึ่งเป็นเพลงในเชิงต่อต้านมีมานานแล้ว

การรำพึงรำพรรณความเป็นขบถ มีอยู่ในประชาชนทุกคน แต่ปัญหาคือระยะเวลาที่ผ่านมา โครงสร้างเผด็จการทหารมีความแยบยล สามารถกล่อมเกลาแทรกซึมให้ศิลปะตกเป็นของรัฐมากกว่าจะใช้เป็นเครื่องมือคานอำนาจ

‘ประเทศกูมี’ จึงเข้าไปจับใจประชาชน จนได้รับกระแสอย่างถล่มทลาย เพราะตอนนี้ทุกคนต่างกำลังกระหาย หิวโหย รอคนมาพูดแทนในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก เราอาจไม่สามารถฟังเพลงนี้ในขณะที่ประเทศมีเสรีภาพ

แก่นของศิลปะเป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทุกคนสัมผัสได้ และไม่ผิดถ้าเราจะใช้ศิลปะเป็นอาวุธในการแสดงออก-ต่อต้าน ศิลปะทุกรูปแบบสามารถหยิบยื่นความน่าละอายให้กับเผด็จการได้

รหัสที่ 4: ประเทศกูมี กางข้อกฎหมายแล้วไม่เป็นเท็จ

เคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมบรรดาผู้มีอำนาจถึงอยากจะกดปราบ ปิดกั้นศิลปะ โดยเฉพาะที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายอย่างเพลง ภาพยนตร์ ละคร หรือภาพวาด?

ประเทศกูมี

“ก็เพราะศิลปะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ก่อนหน้านี้คนอาจจะเล่าเรื่องการเมือง เพื่อนอาจจะไม่สนใจ แต่พอเป็นเพลง ‘ประเทศกูมี’ ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น ศิลปะมันจึงเป็นเรื่องที่คนมาเข้าถึงและเสพได้ง่ายกว่า เพลงแร็พประเทศกูมีก็มีฟังก์ชั่นไม่ต่างจากเพลงเพื่อชีวิตในอดีต” สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถอดรหัสต่อว่า ‘ประเทศกูมี’ ในเชิงกฎหมายมีความผิดจริงจนทำให้ประเทศสั่นคลอนจริงหรือไม่

จากความเคลื่อนไหวอย่างเกรี้ยวกราดในช่วงที่ผ่านมา บรรดาตำรวจออกมาลุกฮือกับกระแสที่ฉุดไม่อยู่ จนถึงขั้นเตรียมใช้อำนาจสั่งตรวจสอบ หาก ฟัง-แชร์-กดไลค์ เพลง ‘ประเทศกูมี’ จะถือว่าผิด เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่เพียงเวลาไม่นานก็ต้องยอมถอยออกไป และออกประกาศตามมาว่าสามารถ ฟัง-แชร์-กดไลค์ ได้ตามปกติ

สาวตรีบอกว่า นี่ไม่ใช่สัญญาณแห่งชัยชนะของประชาชน บรรดาตำรวจทั้งหลายไม่ได้รู้สึกสำนึกถึงการใช้อำนาจของตัวเองแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะปรากฏการณ์ยอดคนดูที่พุ่งสูง จนปัจจุบันอยู่ที่ 26 ล้าน เลยทำให้พวกเขาเพิ่งฉลาดและเริ่มคิดได้ว่า ‘ยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟัง’

รัฐบาลมักอ้างถึง ‘พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง’ มาเป็นอาวุธสำคัญในการเอาผิด

แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้คือ ‘ประเทศกูมี’ จะต้องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ (ไม่จริง โป้ปด หลอกลวง) หรือข้อเท็จจริงที่น่าจะเกิดความเสียหาย

“ท่อนในเพลงพูดว่า ‘อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟล’ เป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่เขาอาจจะลืมไปว่าการเปรียบเปรยเช่นนี้ มันคือความคิดเห็น ความคิดเห็นจึงไม่ผิดกฎหมาย”

“ข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนพูดความจริง ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่ดีก็ตาม ดังนั้นเมื่อเพลงนี้ไม่มีข้อใดเป็นความเท็จ จึงไม่เข้าข่ายมาตรานี้ กลับกันบทเพลงบางเพลงที่กล่าวถึงการ ‘คืนความสุข’ ต่างหาก ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า