สุรชาติ เทียนทอง: เป้าหมายการเมืองไม่ใช่การล้มล้าง แต่คือการสร้างสังคมที่สมดุล

17 ปี น่าจะเป็นระยะเวลาที่มากพอให้คนคนหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เปลี่ยนหน้าที่การงาน เปลี่ยนความฝัน เปลี่ยนบทบาทและสถานะทางสังคม 

17 ปี คือระยะเวลาที่ สุรชาติ เทียนทอง โลดแล่นอยู่บนงานการเมือง เขาเริ่มต้นลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกในปี 2550 สังกัดพรรคประชาราช พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดย เสนาะ เทียนทอง พ่อของเขา ผลการลงสนามแข่งขันครั้งนี้คือ เขาไม่ได้รับเลือก

แต่ความฝันของเขาไม่เปลี่ยนและยังเดินหน้าทำงานต่อไป

ต่อมาสุรชาติย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และพิสูจน์ตัวเองจนได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรจากประชาชนกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่และดอนเมือง ในปี 2554 นับเป็นการเติมเต็มความฝันที่อยากเป็น ส.ส. ได้สำเร็จ แต่เคราะห์ร้าย การดำรงตำแหน่ง ส.ส. สมัยแรกของเขากลับถูกการรัฐประหารเข้าแทรก ทำให้เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 

แต่เขาก็ยังประกาศที่จะทำงานต่อไป

พอถึงการเลือกตั้ง ปี 2562 ผลการนับคะแนนสร้างความแปลกใจและข้อกังขาให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก เมื่อสุรชาติซึ่งลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนมาตลอดหลังรัฐประหาร กลับพ่ายแพ้ให้กับ สิระ เจนจาคะ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ 

เราไม่เห็นเขางอแงตีโพยตีพาย ตรงกันข้าม เขายังคงเดินเข้าหาประชาชนอยู่

กระทั่งปี 2564 เมื่อสมาชิกภาพในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิระต้องสิ้นสุดลง จากคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลว่า เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 

เมื่อเป็นดังนั้น จึงต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 9 จตุจักร-หลักสี่

สุรชาติกลับมาลงสนามแข่งขันอีกครั้งในนามของพรรคเพื่อไทย และไม่ผิดคาด เขาชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย 29,416 คะแนน ทิ้งห่างจากอันดับ 2 เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล และอันดับ 3 อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า เกือบหมื่นคะแนน ส่วน สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคแชมป์เก่าก็ได้คะแนนห่างจากสุรชาติอยู่หลายเท่าตัว

WAY คุยกับสุรชาติเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตการเมือง 17 ปี ที่อธิบายได้ด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ แต่ทำยาก คือ การใช้ชีวิตกินอยู่กับประชาชน และทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยหยุดพยายาม 

ในฐานะที่จะได้กลับเข้าไปในสภา ด้วยตำแหน่ง ส.ส. เป็นครั้งที่ 2 อยากรู้ว่าคุณสุรชาติจะแนะนำตัวเองว่าอย่างไร

ผมคือผม ผมชื่อสุรชาติ เป็นคนของประชาชน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ ผมก็ยังเป็นคนของประชาชน เรื่องของตำแหน่ง ผมพูดเสมอว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับผมมันไม่ใช่แค่การใส่สูทเข้าสภา ความฝันแรกและความฝันเดียวในชีวิตของผม คือการเป็น ส.ส. ผมเคยได้รับตรงนั้นแล้ว แล้วเส้นทางชีวิตที่ขรุขระ ยากลำบาก ได้สอนให้ผมรู้ว่า ตำแหน่งอยู่กับเราไม่นาน เช่น เกิดรัฐประหาร ตำแหน่งก็หลุดจากเราไป 

ฉะนั้น รสชาติของฝันที่เป็นจริงในการเป็น ส.ส. เราเคยผ่านมาแล้ว แต่ช่วง 7-8 ปีที่เราไม่มีตำแหน่ง สอนให้เรารู้คุณค่าของคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ผมถึงบอกเสมอว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่ว่าใส่สูท กลับเข้าไปสภา เป็นสมาชิกสภา แต่มันคือคุณค่าของการเป็นผู้แทนราษฎร

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ อะไรคือเหุตผลที่คนในเขตหลักสี่กับจตุจักรให้คะแนนคุณถล่มทลายมาก

สองส่วนนะครับ ส่วนแรกแน่นอนว่าเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย พรรคเราเป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เราทำงานอยู่กับพี่น้องประชาชน หลายครั้งที่เราได้โอกาสบริหารบ้านเมือง เราก็แสดงผลงานว่าเราสามารถทำนโยบายหลายๆ นโยบายให้เป็นรูปธรรมได้ อย่างเรื่องสาธารณสุขก็ชัดเจนและเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้รับการยอมรับมาตลอด ไม่ว่าจากคนที่ชอบหรือไม่ชอบพรรคเพื่อไทย เรายังได้รับการยอมรับเรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบราชการ และเรื่องของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ 

ช่วงหลายปีหลังเกิดรัฐประหาร เศรษฐกิจดำดิ่งลง ประกอบกับการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผ่านมาของรัฐบาล ภาพผลคะแนนการเลือกตั้งก็สะท้อนออกมาแล้วว่า สัดส่วนของฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งก็คือพรรคฝ่ายค้าน มันโตขึ้น ทั้งพรรคเรา ทั้งพรรคก้าวไกล อันนี้ส่วนที่หนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องการทำงานและความทุ่มเท คำว่าการลงพื้นที่ของผม คนจะถามเยอะมากว่า ลงพื้นที่แล้วไปทำอะไร แค่ไปเดินไหว้คนเหรอ สิบกว่าปีที่ผ่านมามันมากกว่านั้น การดูแลประชาชนสำหรับผมไม่ใช่แค่การไปเดินยกมือไหว้ หรือไปสร้างระบบอุปถัมภ์ การดูแลประชาชนต้องใส่ใจรายละเอียด ต้องทำด้วยหัวใจ แล้วผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในเขตหลักสี่ สัมผัสได้ถึงความตั้งใจ สัมผัสได้ถึงหัวใจของผมกับทีมงาน เพราะเราใส่ใจทุกรายละเอียดจริงๆ แล้วมันมากกว่าความพยายาม คือถ้าบอกว่าการเงินคือการลงทุน พวกผมลงทุนด้วยชีวิต ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว พี่น้อง ทีมงานของผม ต่างคนต่างไม่มีตำแหน่งอะไรมานานมากแล้ว แต่เราทุ่มเทด้วยหัวใจจริงๆ ทุ่มเทด้วยชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนก็สัมผัสได้ ถึงให้โอกาสเรา นี่คือส่วนที่สองครับ 

คำว่า ‘การเมืองสร้างสรรค์’ สำหรับคุณหมายความว่าอะไร

ง่ายมากเลย ความหมายคำว่าการเมืองของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันนะ แต่ definition (นิยาม) คำว่า

การเมืองสำหรับผม คือการสร้างสังคมที่สมดุล ไม่ใช่การที่เราเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเราจะไปล้มล้างหรือไม่ยอมรับการมีตัวตนของอีกฝั่ง สำหรับผม มันไม่ใช่ ในหลักความเป็นจริงของมนุษย์โลก ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด การเมืองจึงต้องสร้างความสมดุล

ต้องยึดอย่างนี้ก่อน เราเองก็พยายามที่จะสร้างความสมดุลทางการเมืองตรงนั้น เพราะฉะนั้นตามหลักคิดนี้ การเมืองจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งด่าใคร 

การเมืองประเทศไทยเราตกหล่มอยู่กับความขัดแย้งมาร่วมสิบกว่าปี การเมืองของผมมันง่ายและสั้นมาก ทำให้ประชาชนเห็นว่าเราตั้งใจ เรามีผลงานกับประชาชน แล้วให้ประชาชนเขาเลือกเราจากผลงาน ถ้าทุกคนแข่งกันทำงาน มองการเลือกตั้งคือการแข่งขันทำประโยชน์ให้ประชาชน แล้วถึงเวลาให้ประชาชนเลือกว่าใครดีกว่าใคร ใครทำงานมากกว่าใคร ใครมีนโยบายที่ดีกว่า แล้วทำได้จริงกว่า 

จริงๆ ถ้าเราไม่ได้มองการเมืองเป็นภาพที่ซับซ้อน มันก็ง่ายมาก ถ้าเราทุกคนทำงาน ทุกคนแข่งขันกันทำเพื่อประชาชน ถึงเวลาเลือกตั้ง แล้วให้ประชาชนตัดสิน ไม่ต้องมานั่งด่ากัน หรือทำให้ประชาชนเลือกตั้งโดยใช้อารมณ์ ผมคิดว่าแบบนี้ไม่ยุติธรรมกับประชาชน

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า การเมืองเป็นเรื่องของหลักการ เหตุผล และความเชื่อ อยากจะให้ช่วยขยายความตรงนี้อีกครั้ง

ความเชื่อของผมมันง่ายๆ สั้นๆ แต่ใช้เวลาพิสูจน์นานนะ วิธีการแบบผมเป็นวิธีการที่ hard way (ยากเข็ญ) มันยากในการพิสูจน์ความเป็นตัวตน คือผมเชื่อว่า ถ้าเราอยู่กับประชาชน ไม่ทิ้งประชาชน ประชาชนจะไม่ทิ้งเรา นั่นคือความเชื่อของผม มันง่าย มันสั้น แค่นั้นเอง ผมก็พยายามพิสูจน์ตัวเองในแบบนั้น แล้วการพิสูจน์ของผมไม่ได้พิสูจน์ด้วยคำพูด แต่พิสูจน์ด้วยการกระทำ ผมเชื่อว่าการกระทำจะพิสูจน์ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผมก็เชื่อและทำมาแบบนั้น จนผ่านมา 17 ปี ผมก็ยังทำอยู่ แล้วผมก็จะทำต่อไป ไม่ใช่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถพิสูจน์ตัวตนผมได้แล้ว ผมจะติดลมบน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมจะต้องพิสูจน์ นั่นคือความเชื่อ

ส่วนหลักการก็ขึ้นอยู่กับการนิยามของแต่ละคนว่า การเมืองคืออะไร หลักการของผมคือ การเป็น ส.ส. ซึ่งก็คือผู้แทนของราษฎร ที่จริงแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใครก็เป็นได้ ถ้าอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกพรรค ถูกกระแส ถูกขั้วอำนาจ แล้วถ้าคิดว่าเราจะชนะเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภานะ พูดตรงๆ มันก็ทำได้โดยไม่ต้องเลือกวิธีการ ทำยังไงก็ได้ให้ชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณอยากเป็นผู้แทนราษฎร มันมีวิธีเดียวคือต้องเอาชนะใจประชาชนให้ได้ ส่วนตัวผมมี passion มากๆ กับคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ 

ฉะนั้น ผมไม่ใช่คนที่จะเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ ผมจะต้องชนะในวิธีการของผม ในอุดมการณ์ ในหลักความเชื่อของผม ไม่อย่างนั้นแล้วชัยชนะของผมก็ไม่มีคุณค่า ซึ่งผมอยู่โดยไม่มีคุณค่าไม่ได้ แล้วคุณค่าในชีวิตผมคือการยอมรับของประชาชน ผมเป็นคนง่ายๆ ตรงๆ แค่นั้นเอง 

ในอนาคตมองว่ายังมีความท้าทายหรือมีอะไรที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองอีกไหม

ความฝันส่วนตัวของผม ผมอยากเป็น ส.ส. ผมก็ได้เป็นแล้ว การกลับมาครั้งนี้ ผมอยากจะกลับมาในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งผมก็ประกาศได้ว่าประชาชนให้โอกาสผมอีกครั้งหนึ่งในการพิสูจน์ว่า สิ่งที่ผมพูดในความเป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงของคนทุกคน ผมจะทำได้ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นบทพิสูจน์ใหม่สำหรับผม

วันนี้ผมมีฝันที่มากกว่านั้น ที่ผมบอกว่า พอเราลงพื้นที่เราก็อยู่กับประชาชน หมายความว่า ผมเอาชีวิตไปใช้ไปอยู่กับประชาชนจริงๆ แล้วชีวิตประชาชนก็คือชีวิตผม ผมอยู่แบบนั้นทุกวัน สิบกว่าปี เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เห็นความต้องการ สิ่งที่เราช่วยเขาในแต่ละวันเป็นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องน้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ถนนพัง ผู้ป่วยติดเตียง ทุกสิ่งทุกอย่างเรารวบรวมเอามา พอมองไปข้างหน้า ในฐานะที่วันนี้อายุเราก็เยอะขึ้นระดับหนึ่ง ผ่านประสบการณ์มาระดับหนึ่ง ถ้าเราอยากจะอยู่บนเส้นทางนี้ เราไม่ได้อยากจะเป็นคนที่ไปทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนอย่างเดียว แต่เรามองว่า อย่างน้อยที่สุดอยากจะเข้าไปทำสิ่งที่เรามองเห็น คือเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน 

ผมมีความคิดว่าทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศคือมนุษย์ ฉะนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีได้ สำนึกร่วมของประชาชนกับภาคสังคมจะไม่เกิด ความเป็นมนุษย์คือการเอาตัวรอด ปัจจัยสี่ต้องครบ วันนี้ ประเทศนี้ รัฐบาลนี้ ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตได้ หรือไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ถ้ายังทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะไปเรียกร้องหาสำนึกจากประชาชน

พอเรามีความฝันที่อยากจะทำ เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงต่อ ซึ่งก็มีหลายส่วน เท่าที่ผมสัมผัสมามีเรื่องเล็กเรื่องน้อยของประชาชน พอเอามารวมกันก็ทำให้เรามองเห็นภาพใหญ่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นคนที่ไปงานศพเยอะมากนะ เยอะมากๆ ไม่ถึงหมื่นก็เกือบ เยอะจริงๆ แล้วผมไปเก็บรายละเอียดมาอย่างน้อยก็ 10 ปี ว่าคนเสียชีวิตจาก 2 โรคหลัก คือสโตรค (Stroke) กับมะเร็ง คนเสียชีวิตก็ส่วนหนึ่ง แล้วยังมีผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ตามบ้านอีกเยอะมาก ในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยติดเตียงเยอะกว่าคนที่อยู่ตามต่างจังหวัดนะ การไปงานศพทำให้เราได้ข้อมูลว่า คนตายเพราะ 2 โรคนี้เป็นหลัก ถามว่าคนเป็นสโตรคเพราะอะไร เพราะคนไทยไม่ค่อยเดิน คนกรุงเทพฯ แทบไม่ได้เดินในชีวิตประจำวันเลย เพราะอะไร เพราะอากาศมันไม่ดี ฟุตบาธก็ไม่ดี ทางเดินก็ไม่ดี พอไม่เดินก็เป็นโรคอ้วน อ้วนปุ๊บ ไขมันอุดตัน มันลามไปหมด เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า ถ้าเราจะพัฒนาคุณภาพชีวิต เราจะมีนโยบายแบบไหน อันนี้คือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ที่บอกว่าคุณภาพชีวิตที่ดีหมายความว่าอย่างไร

หนึ่ง-ที่อยู่อาศัย มันต้องเหมาะสม เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องความหนาแน่นของประชากร แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่หนาแน่นมาก คำว่าประชาชนคนหลักสี่-จตุจักร ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น สำหรับผม คือคนทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ และผมบอกได้เลยว่า การเป็นผู้แทนฯ ในกรุงเทพฯ 1 คน ไม่ใช่ดูแลแต่คนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เช่น ในเขตเลือกตั้งหลักสี่-จตุจักร มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านสัก 200,000 คน แต่ประชากรแฝงอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ ประชากรแฝงหมายถึงว่าพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัด แรงงานข้ามชาติด้วย เพราะฉะนั้นความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพฯ จึงมีสูงอยู่แล้ว นำมาซึ่งปัญหาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในชุมชน ตรงนั้นแหละ 

สอง-เรื่องการเดินทาง อย่างที่บอก กรุงเทพฯ ไม่ได้มีที่ให้เดินเยอะ ตื่นเช้ามา กว่าจะไปถึงระบบขนส่งมวลชนหลักก็ต้องมีขนส่งมวลชนที่เป็นใยแมงมุม ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน ต่อด้วยรถสองแถว แล้วมันเป็นเรื่องน่าเศร้า ระหว่างคนจนเมืองกับคนจนต่างจังหวัด ผมบอกได้เลยว่าคนจนเมืองน่าเห็นใจกว่าเยอะ เพราะว่าที่อยู่อาศัยก็หนาแน่น ไม่ได้เป็นสัดเป็นส่วน การเดินทางก็ลำบาก เพราะขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ต้องยอมเลย พอนั่งมอเตอร์ไซค์แล้ว ต้องนั่งสองแถวออกมาต่อรถเมล์ คุณก็จะเจอสภาพรถเมล์ที่เห็นกันมาตั้งแต่พวกเราเกิด หรือก่อนหลายคนเกิดด้วยซ้ำ มันก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น รถไฟฟ้ามีก็จริง ทุกวันนี้รถไฟฟ้าโครงข่ายเต็มไปหมด แต่มีไม่กี่คนที่มีปัญญาขึ้น เพราะมันแพง เรื่องเศรษฐกิจ ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ อย่าลืมว่าเราอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกคนมีต้นทุนชีวิตแพงมาก คนหาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะช่วงโควิด ยังไงก็ต้องออกจากบ้านไปทำมาหากิน ถ้าไม่ออกจากบ้านคือคุณไม่มีกินแน่นอน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะหาเงินได้หรือเปล่า แล้วมันน่าเศร้าขนาดไหนที่แค่ต้นทุนค่าเดินทางอย่างเดียวก็ตีไป 50-60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคนกรุงเทพฯ แล้ว แล้วคุณภาพของขนส่งมวลชนต่างๆ มันก็ไม่ได้ดีนะ ต้นทุนชีวิตแพงแล้ว คุณภาพยังไม่ดีอีก อันตรายอีก ออกไปเสี่ยงมลพิษอีก 

แม้แต่เรื่องทางเท้า ผมพูดจริงๆ นะ ผมยังจินตนาการไม่ออกว่า แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แต่ละคนจะมีนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงทางเท้าอย่างไร จะบริหารจัดการทางเท้าอย่างไรให้กลับมาเป็นทางที่คนเดินจริงๆ ทุกวันนี้เดินก็เดินไม่ได้ ขึ้นรถรถก็ไม่ดี สุดท้ายมันเกิดอะไรขึ้น ทุกคนสังเกตไหม คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ลงทุนกับรถมากกว่าลงทุนกับบ้าน บ้านทาวน์เฮาส์หลังหนึ่ง ราคา 1-2 ล้านบาท แต่มีรถเบนซ์คันละ 5 ล้าน เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต 

ผมอยู่เมืองนอกมาตั้งแต่เด็ก ฝรั่งให้ความสำคัญกับเรื่องบ้านมาก เรื่องรถเป็นเรื่องรอง ถ้าอยู่ในเมืองที่มีระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพ คนส่วนใหญ่เขาไม่ใช้รถกันหรอก ต้องมีบ้านก่อน ฝรั่งถูกสอนให้มีบ้านก่อน แต่คนไทย บ้านยังไม่ต้องมีก็ได้ ต้องมีรถก่อน ถ้าไม่มีรถ เท่ากับคุณขาดแขนขา ขาดชีวิตไปครึ่งหนึ่งเลย ค่าทางด่วนก็แพง ค่าโทลเวย์ก็แพง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ คือคุณภาพชีวิต 

อันนี้คือเหตุผลที่คุณเสนอนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย?

ถูก สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด หนึ่ง-เป็นเรื่องของนโยบายด้านคมนาคม สอง-มันลามไปถึงนโยบายด้านโครงสร้างที่ผมอยากจะแตะ สาม-คือเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เราทำสักทีเถอะครับ เราต้องกล้าทำ ถ้าย้อนกลับไปตอบคำถามก็คือว่า การเมืองสร้างสรรค์กับการเปลี่ยนแปลง มันไปด้วยกันได้ สำหรับผม ผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลง แล้วผมคิดว่าบ้านเมืองนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในบ้านในเมือง โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างหลัก โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างราชการ 

การเมืองสร้างสรรค์ในความหมายของผม ไม่ใช่ว่าผมต้องไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่มีอุดมการณ์ แล้วก็ไหลตามน้ำไปวันๆ ไม่ใช่ แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมาจากทัศนคติที่ดี เราต้องเข้าใจโครงสร้างของความคิด โครงสร้างของประชากร และที่สำคัญที่สุด เราต้องยอมรับการมีอยู่ของคนที่คิดต่างจากเราให้ได้ 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราดูสังคมไทยวันนี้ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาวและเด็ก แล้วเราก็ต้องยอมรับว่ามี generation gap อยู่จริงๆ คนที่เป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา คนที่อายุ 60 ขึ้นไป เขาก็คิดไม่เหมือนเรา เขาก็คิดอย่างหนึ่ง อย่างผมอายุ 40 กว่าๆ ก็เป็นคนอยู่กึ่งกลาง พวกเด็กๆ น้องๆ เขาก็คิดอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเราเสนอการเปลี่ยนแปลงที่สุดขั้ว ถ้าเราเร่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป มันง่ายมากเลย แต่สิ่งที่เราจะเผชิญคือ social crackdown (การแตกสลายทางสังคม) ด้วยจำนวนประชากรสองฝั่ง มันแตกสลายแน่นอน และมันไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ แต่สังคมแตกแน่นอน 

เรื่องการเปลี่ยนแปลง สมมุติว่าในฝั่งผู้ใหญ่ ในบางเรื่องเขาอาจจะเคย dominate (ครอบงำ) อยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้น้องๆ หรือรุ่นพวกเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงๆ ภายใน 5 ปีแรก จาก 100 เราขอสัก 30:70 ได้ไหม อย่างน้อยที่สุดขอให้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าวันหน้าที่ประชากรในฝั่งก้าวหน้า หรือฝั่งคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น มันก็จะเพิ่มการเปลี่ยนแปลงจาก 30 เป็น 40-50 จนวันหนึ่งหลักความคิดของน้องๆ ในวันนี้ อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่มันต้องใช้เวลา ใช้วิธีการที่ถูกต้อง และต้องใช้ทัศนคติที่ดี แต่ถ้าเราบอกว่า วันนี้เราทนไม่ไหวแล้ว เรื่องนี้ยังไงเราต้องเปลี่ยนแปลงวันนี้ เดี๋ยวนี้ สังคมมันจะแตกสลาย

เพราะฉะนั้นผมขอชัดเจนแบบนี้ว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าผมยังมีโอกาสอยู่ตรงนี้ ผมจะเป็นคนคนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แต่ผมก็มีทัศนคติส่วนตัวของผมด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน SML อยากให้ช่วยเล่าว่าจะสานต่อเรื่องนี้อย่างไร

หลักคิดง่ายมาก เป็นนโยบายที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสตัดสินใจใช้งบประมาณของเขาโดยตรงผ่านหลักประชาธิปไตย ถึงจะเป็นประชาธิปไตยเล็กๆ ภายในชุมชน ภายในหมู่บ้านเขา ตรงนี้แหละเป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี

หลักคิดของ SML ง่ายมาก คือปกติแล้วการใช้งบประมาณของภาครัฐส่วนใหญ่ต้องผ่านหน่วยงานราชการ แต่ด้วยความที่เรามีระบบราชการเป็นนายคน ทำให้ไม่รู้รายละเอียดความต้องการของประชาชน เพราะส่วนใหญ่แล้วระบบราชการจะไม่ลงไปหาประชาชน ประชาชนต่างหากที่ต้องวิ่งเข้าหาระบบราชการ เพราะฉะนั้นระบบราชการจึงมีความเข้าใจในความต้องการของประชาชนน้อยมาก สุดท้ายทำให้เกิดคำถามว่า รัฐเอางบประมาณมาทำเรื่องนี้ทำไม ประชาชนไม่ได้ต้องการ ตัวอย่างเช่น การที่เราอยู่ในหมู่บ้าน pain point (ปัญหาที่พบ และต้องการให้แก้ไข) คือเรื่องไฟส่องสว่าง แต่พอหน่วยงานราชการจะเอางบประมาณลงมาให้ กลับเอาโต๊ะ เต็นท์ เก้าอี้ ถังขยะมาให้ ประชาชนถูกยัดเยียดในสิ่งที่ไม่ต้องการมาตลอด แล้วหน่วยราชการกลับบอกว่า เนี่ย ก็ทำให้ประชาชนแล้วนะ

SML คือการเอาเงินภาษีของประชาชน คืนกลับไปให้ประชาชนใช้โดยตรง ไม่ต้องผ่านมือราชการ ไม่ผ่านมือนักการเมือง SML ก็คือเล็กกลางใหญ่ (small medium large) ถ้าหมู่บ้านขนาดเล็กได้งบประมาณ 300,000 ขนาดกลางได้ 400,000 ขนาดใหญ่ได้ 500,000 ซึ่งเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในทางหนึ่ง เพราะต้องจัดทำประชาคม โดยคนในหมู่บ้านและตัวแทนของบ้านต้องออกมาทำประชาคมเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เลือกกรรมการดูแลงบประมาณกันเอง ทำประชามติ ทำโครงการกันเอง บริหารจัดการกันเอง แล้วก็มี สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินด้วย นี่คือนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด และให้เกียรติประชาชน 

เป็นไปได้ยากไหม เพราะกองทุนนี้ต้องรวบรวมคนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้าน และอาจยังมีคนที่เห็นต่างด้วย

ยากมากครับ ผมถึงบอกว่า มันต้องอาศัยความเป็นผู้แทนฯ เราเป็นนักการเมือง ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนจะชอบเรา ไม่ใช่ทุกคนชอบในโลโก้พรรคเรา เรื่องการเมืองก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องเวลา อย่าลืมว่าสังคมเมืองเป็นสังคมปัจเจก ทุกคนตื่นเช้าขึ้นมาต้องออกไปดิ้นรนเอาตัวรอด ต้องออกไปทำมาหากิน อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องพี่น้องในหมู่บ้าน เพราะบางครั้งพี่ป้าน้าอาในหมู่บ้านที่มีฐานะดี เขาอาจรู้สึกว่าจะเอาเขาไปนั่งรวมกัน 40-50 คน ทำไมฉันต้องไป เรื่องพวกนี้เราต้องเดินขอกัน ผมยกมือไหว้ตั้งแต่ประธานชุมชนที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนเรา ผมก็ต้องไปขอร้องว่า “พี่ อา ขอร้องนะ เรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย แล้วก็ไม่ใช่เงินของรัฐบาลด้วย มันคือภาษีของพี่ป้าน้าอาทุกคนนั่นแหละ วันนี้ส่งภาษีคืนกลับมาให้พี่ป้าน้าอาได้บริหาร ได้จัดการ ผมขอเถอะ เราออกมาช่วยกัน เพื่อพัฒนาส่วนรวมในหมู่บ้านของเรา” มันเลยใช้เวลานานมาก ต้องใช้ความพยายามสูงมาก ต้องเดินเคาะเดินขอกันตามบ้าน สุดท้ายพอทำได้เราก็ดีใจ เพราะอย่างที่ผมบอก แม้เราเป็น ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ถ้าเราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นผู้แทนราษฎร เราต้องเป็นผู้แทนราษฎรของคนทุกคน ถ้าเรามีความตั้งใจจริง เราต้องแสดง ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ไม่ว่าเขาจะเลือกเราหรือไม่ เราก็พร้อมจะทำงานรับใช้เขา 

ฉะนั้นถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะคนที่เลือกเรามา ตอนนี้ลองไปดูสิ มีพรรคการเมืองไหนได้คะแนนเด็ดขาดเกินครึ่งหนึ่งบ้าง มันไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ ความคิด ความชอบ รสนิยมของประชาชนไม่ใช่แค่ 2 ขั้ว คือถ้าเรามองภาพใหญ่อาจเห็นแค่ 2 ขั้ว แต่ถ้าเราลงมาสัมผัสจริงๆ จะเห็นว่า segment (กลุ่มก้อน) ความคิดของประชาชน มันซอยยิบย่อยมาก ไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่จะสามารถชนะหัวใจคนได้เยอะขนาดนั้นหรอก ฉะนั้นถึงเขาไม่เลือกเรา เราก็ต้องทำตัวให้พร้อมเสมอ ให้เขารู้สึกว่า ถึงเขาไม่เลือกเรามา แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ ให้เขาเชื่อใจว่าเราทำเพื่อเขา ถึงเขาจะไม่เลือกเราก็ตาม

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะ ส.ส. ฝ่ายค้าน จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยไม่มีอคติและทัศนคติที่ดี อยากให้ช่วยขยายความสักหน่อย 

ผมเป็นนักการเมือง แต่ผมพยายามไม่ทิ้งความเป็นมนุษย์ และผมก็ไม่ได้มองทุกคนเป็นนักการเมืองหมด เพราะฉะนั้นผมพยายามยึดหลักความเป็นมนุษย์ไว้ ผมบอกอย่างนี้ว่า ถ้ามองในความเป็นมนุษย์ อย่างพลเอกประยุทธ์ ผมก็ไม่ได้มีอะไรกับแกนะ ผมมองว่าในความเป็นมนุษย์หนึ่งคน ทำไมเราต้องไปจงเกลียดจงชัง ไปสาปแช่งเขา มันไม่มีความจำเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในฐานะนักการเมือง ในฐานะผู้นำประเทศ ผมไม่เถียงนะที่พลเอกประยุทธ์พยายามขายตัวเองว่าเป็นคนดี พลเอกประยุทธ์อาจจะเป็นคนดีที่รักชาติ แต่ประเทศนี้อาจจะไม่ได้ต้องการคนดีมาปกครอง ความดีมันนามธรรมนะครับ 

อย่างที่ตัวผมทำมาทั้งหมด ผมไม่เคยขานตัวเองกับประชาชนว่า “เลือกผมเถอะ ผมเป็นคนดี” ผมไม่ได้ต้องการอย่างนั้น สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมด ผมต้องการพิสูจน์กับประชาชนว่า ผมเป็นคนที่เหมาะสม ประเทศนี้ต้องการคนที่เหมาะสม ไม่ใช่คนดี ความดีมันจับต้องไม่ได้ ถ้าเป็นคนดีที่ไม่มีประสิทธิภาพ มันก็ไม่มีประโยชน์ แล้วความดีของแต่ละคนมันก็พูดยากอีก

เพราะฉะนั้นถ้าสังคมเราบอกว่า เราต้องเฟ้นหาคนดี มันจับต้องไม่ได้ แต่ต้องเป็นระบบที่ดีต่างหาก ไม่ว่าคุณจะดีหรือไม่ดี แต่คุณจะไม่กล้าทำชั่ว วันนี้ประเทศต้องการคนที่เหมาะสมกับระบบที่ดี คุณนึกออกไหม คำว่าคนที่เหมาะสม ผมว่ามันตอบทุกอย่าง แล้วอีกอย่างหนึ่งที่ผมบอกว่า ถ้าผมเข้าไปในสภา แน่นอนผมต้องทำหน้าที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ใช่ว่าค้านอย่างเดียว แต่เพราะเราเห็นในความเป็นจริงว่า วันนี้การบริหารงานมันไม่มีประสิทธิภาพ มาด้วยวิธีที่ผิด ระบบที่ผิด และพอได้มาซึ่งอำนาจแล้วก็ยังบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าไปทำงานตรวจสอบ ชี้ให้ประชาชนเห็น ขณะเดียวกัน ผมไม่เห็นด้วยกับการเป็นฝ่ายค้านที่ต้องไปนั่งชี้หน้าด่าเขาอย่างเดียว ผมว่าอันนั้นมันไม่ยุติธรรมกับประชาชน 

ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เราด่าเขาอย่างเดียวว่า “เฮ้ย คุณเลว คุณชั่ว คุณห่วย” ในขณะที่เราย้อนกลับมาดูตัวเราเอง เราก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขา แล้วเราก็ไม่ได้เสนออะไรให้กับประชาชน ไม่ได้ทำตัวเองให้พร้อมที่จะเป็นความหวังของประชาชน ผมว่ามันน่าเศร้ามากนะครับ เราเป็นนักการเมือง เราอย่าบีบให้ประชาชนเลือกจากความเกลียดชังอย่างเดียว มันไม่ยุติธรรมกับประชาชน สิ่งที่เราต้องทำคือ ประชาชนต้องเลือกได้ว่า อะไรที่เหมาะสมกว่าสำหรับเขา 

ทำไมที่ผ่านมาประเทศไทยจึงไม่เกิดระบบที่ดี หรือมองไม่เห็นว่าใครเหมาะสม

มันไม่ใช่ว่าไม่มีคนที่เหมาะสม คนที่เหมาะสมมีเยอะมาก แต่เราไม่มีระบบที่ดี ระบบโครงสร้าง ไม่ว่าโครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างราชการ โครงสร้างอะไรต่างๆ อย่างที่บอก พอโครงสร้างมันไม่ดี ถึงคนที่เข้ามาจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ถูกระบบกลืนกินไปบ้าง ถูกระบบทำลายบ้าง ก็เลยเป็นปัญหาวนอยู่ในอ่าง 

ประเด็นคือ ที่ผ่านมาเราอาจจะมีคนที่เหมาะสมเข้าไปทำงาน แต่สุดท้ายก็ยังไม่เกิดระบบที่ดี แบบนี้ในอนาคตต่อให้เลือกคนที่เหมาะสมเข้าไปแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดระบบที่ดีได้

ผมถึงบอกว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง มันต้องเปลี่ยนครับ ต่อให้กี่เจเนอเรชั่นก็ตาม ถ้าเรายังมีระบบแบบนี้ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ว่าทุกอย่างต้องทำควบคู่กันไป คือประชาธิปไตยมันเริ่มที่ปากท้องนะครับ ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่ถูกทำให้อ่อนแอ แน่นอนเวลาคนถูกกดทับก็จะมีปฏิกิริยา 2 อย่าง หนึ่ง-เกิดกลุ่มคนที่รู้สึกว่าไม่ไหว ไม่ยอมให้ถูกกดทับแล้ว ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่างที่เราเห็นได้จากกลุ่มน้องๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ สอง-มันก็ยังมีคนที่ถูกกดทับ ถูกทำให้ต้องยอมจำนน อีกจำนวนมาก ผมอยู่กับประชาชนพี่ป้าน้าอาเยอะ ผมจึงเห็นทั้งคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และคนที่ยอมจำนน 

ผมถึงบอกว่า การเปลี่ยนแปลง เราต้องทำ 2 ส่วน ส่วนแรก-การเปลี่ยนแปลงระบบ พวก    เรานักการเมืองต้องเข้าไปทำ แล้วเราก็ต้องทำด้วยทัศนคติที่ดี ด้วยความเข้าใจ ส่วนที่สอง-เราในฐานะพรรคการเมือง/นักการเมือง ก็ต้องช่วยกันทำให้ประชาชนแข็งแรงขึ้นด้วย มันถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ 

อยากถามถึงการทำงาน คุณสุรชาติเคยพูดว่า ยินดีร่วมงานกับทุกฝ่าย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีทัศนคติทางการเมืองแบบไหน คำถามคือ ถ้าต้องทำงานกับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่ประชาชนมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น พรรคที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร จะสามารถทำงานร่วมด้วยได้ไหม

ผมมีเส้นอุดมการณ์ของผมชัดเจน เส้นอุดมการณ์ของผมคือประชาธิปไตย อะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย ผมไม่เอาด้วย ประเภทสมรู้ร่วมคิด ทำยังไงก็ได้ให้ได้มาซึ่งอำนาจ ผมไม่นิยม และผมไม่เอา แต่คำว่าการทำงานสำหรับผม เอาแค่การดูแลในพื้นที่ ผมไม่มีปัญหาในการที่จะพูดคุยกับนักการเมืองทุกพรรค ผมไม่ได้มีปัญหาเลย แล้วการที่เราทำแบบนั้น ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีอุดมการณ์ ผมอยากให้คนที่ไม่เคยลงพื้นที่ ช่วยมาลงพื้นที่ มาดูด้วยว่าความเป็นอยู่ของประชาชนเขาอยู่กันแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นนักการเมือง ถ้าเราไปร่วมกิจกรรมกับลูกบ้าน เช่น งานสงกรานต์ งานทำบุญชุมชน ที่ไม่รู้ว่ามีกี่พรรคไป ถ้าเราไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เลย ประชาชนก็อึดอัด นอกจากไม่ได้ไปช่วยแล้วยังไปเป็นภาระของประชาชนด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำบุญเสร็จ เขาจัดโต๊ะให้กินข้าว ถ้าเราบอกว่าพรรคนั้นพรรคนี้เราไม่เอาด้วยเลยนะ ผมถามหน่อยว่า ชาวบ้านเขาต้องจัดอาหารกี่ชุด พวกเราไปกัน 5 คน ชาวบ้านจัดให้ชุดหนึ่ง พรรคนี้ไป 3 คน ชาวบ้านก็ต้องจัดให้ชุดหนึ่ง นั่นคือภาระประชาชน 

วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่คือ สมมุติไปเจอกับนักการเมืองพรรคอื่นในพื้นที่ ผมบอกเลยว่า มาเลย มานั่งกินข้าวด้วยกัน ชาวบ้านเขาก็สบายใจ ไม่รู้สึกอึดอัด แต่ถ้าเราอยู่ในพื้นที่แล้วเราแตกแยกกันมากๆ ชาวบ้านเขาก็อึดอัด เขาถามว่า “เฮ้ย เดี๋ยวคุยกับคนนั้น พรรคนี้ก็โกรธ คุยกับคนนี้ พรรคน้ันก็โกรธ” ผมว่าเราต้องเห็นใจประชาชนนะครับ สุดท้ายคือ ประชาชนเขาก็มีอุดมการณ์ในใจของเขา แต่เขาก็ไม่รังเกียจคนที่ลงไปดูแลเขา ไม่ว่าใครหรือนักการเมืองพรรคไหนก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นเราเองก็อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชน ผมถึงบอกว่า สิ่งที่ผมทำทั้งหมด ผมพยายามไม่สร้างเงื่อนไขให้ประชาชน

คิดอย่างไรกับคำเปรียบเปรยที่ว่า การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’

ตัวผมนี่แหละเป็นสิ่งสะท้อนได้ดี การเมืองบ้านผมเป็นการเมืองแบบบ้านใหญ่ ผมไม่ได้มีปัญหานะ ผมคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรม ผมรู้สึกว่าการที่ตระกูลใดตระกูลหนึ่งทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ทำประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ แล้วเขาตอบแทนกลับด้วยการเลือกคนตระกูลนั้น ผมว่าเขาก็ไม่ผิด แต่ตัวผมเองก็พยายามพิสูจน์เหมือนกันว่า ผมไม่ใช่ตัวแทนของการเมืองบ้านใหญ่ ทั้งๆ ที่รากเหง้าผมมาจากบ้านใหญ่ 

ถ้าหากใครบอกว่า ไอ้คนอย่างพวกผม คนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองใหญ่ มีที่มาจากบ้านใหญ่ จะมีต้นทุนทางการเมืองมากกว่าคนอื่น แต่สำหรับผมกลับมองว่า มันทำให้ผมมีต้นทุนน้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ แล้วการที่ผมจะพิสูจน์ในความเป็นมนุษย์ที่ทำตามความเชื่อของตัวเอง ผมยิ่งต้องพิสูจน์มากกว่าคนอื่น 

แต่ผมก็ไม่ติดการเมืองแบบบ้านใหญ่นะ คือเรามีหลักคิดว่าต้องลงไปทำประโยชน์ให้ประชาชน แต่อย่าลืมว่าทำไมประชาชนยังต้องพึ่งพานักการเมือง ก็เพราะว่าปัญหาระบบราชการ ระบบที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ 3.3 ล้านล้านในทุกปี เป็นงบประจำของหน่วยงานราชการ ฉะนั้นหน่วยงาน/องค์กรที่ต้องดูแลชีวิตประชาชนจริงๆ คือหน่วยงานราชการ แต่ในเมื่อหน่วยงานราชการไม่สามารถดูแลชีวิตประชาชน ไม่สามารถเอาใจใส่ประชาชนได้ มันถึงต้องมีนักการเมืองอย่างพวกผม เพราะเราใส่ใจ เราดูแลมากกว่า 

การดูแลใส่ใจประชาชน ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ อย่างผม ผมดูแลใส่ใจประชาชนเกือบทุกมิติ แต่ผมก็มีหลักคิดของผมอย่างหนึ่ง คือผมไม่เคยไปสร้างระบบอุปถัมภ์ ผมยืนยันว่า ผมไปช่วยใครก็แล้วแต่ ผมไม่เคยพูดเลยว่า “อย่าลืมเลือกผม” แม้กระทั่งพี่ป้าน้าอาที่ผมไปช่วยเหลือเขา เขาเป็นคนพูดเองด้วยซ้ำว่า “ขอบคุณมากเลยนะครับ เดี๋ยวยังไงเลือกตั้งจะไม่ลืมเลย” เราต้องเป็นคนห้ามเขาด้วยซ้ำว่า เรื่องนี้ผมตั้งใจมาช่วย ผมตั้งใจมาช่วยจริงๆ ผมไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น เรื่องการเมืองเป็นส่วนของเรื่องการเมือง ผมคิดว่า มันอยู่ที่หลักคิด แต่เราก็หนีไม่ออก เพราะฉะนั้นการจะตัดวงจรระบบอุปถัมภ์ได้ ก็คือต้องสร้างระบบที่แข็งแรง การปฏิรูประบบราชการให้เป็นระบบที่รับใช้ประชาชนจริงๆ

ในทางกลับกัน ถ้าเปลี่ยนเป็นให้ข้าราชการลงไปไหว้ประชาชนแทนพวกผม เขาจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าพวกผมอีก เพราะเขามีอำนาจบริหาร มีงบประมาณ มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่งานของพวกเราคืองานอาสา เราไม่มีอำนาจ เราไม่มีอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราทำระบบราชการให้แข็งแรงแล้ว นักการเมืองอย่างพวกผมก็จะหมดหน้าที่ไปเรื่อยๆ แล้วการกระจายอำนาจก็ต้องกระจายจริงๆ อย่างที่ผมบอก ปัญหาของกรุงเทพฯ คือประชากรล้น แล้วเราจะทำยังไงให้เกิดการกระจายประชากรออกไป เราต้องส่งคนกลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครหรอกที่อยากจะทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเข้ามาแออัดในกรุงเทพฯ อยู่ตามซอกตามหลืบ นอนตามกองขยะ แต่เขาเข้ามาเพราะอะไร เพราะมันหมดทางเลือก ที่นี่มันอาจเป็นความหวังสุดท้าย เอาจริงๆ ยกตัวอย่าง วันนี้เรามีมหาวิทยาลัยตามหัวเมือง ทุกจังหวัดมีมหาวิทยาลัยหมด แล้วเราก็มีคนที่จบปริญญาตรีเยอะมาก แต่เราเคยลองถามไหมว่า ที่นั่นมีงานให้ทำไหม 

สมมุติยกตัวอย่างจังหวัดสระแก้ว บ้านเกิดพ่อแม่ผม มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแต่ละปีเยอะมาก แต่ถามว่าอัตรางานที่จะรองรับคนจบปริญญาตรีในจังหวัดสระแก้วมีกี่อัตรา คนที่เรียนจบแล้วเขาต้องไปไหน เขาก็ต้องไปหัวเมืองอื่น เขาต้องเข้ากรุงเทพฯ นี่เราพูดกันแค่คนระดับปริญญาตรีนะ แล้วกลุ่มแรงงานอีกล่ะ 

ลองดูสิว่า สาธารณูปโภคทุกสิ่งทุกอย่างของกรุงเทพฯ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ประชากรจริงๆ ประมาณ 6 ล้านคน แต่ผมกล้าพูดเลยว่า มีคนอยู่จริงไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน เพราะฉะนั้นคุณจะเจอความหนาแน่น แล้วอย่าลืมเรื่องปัญหาชานเมือง คนที่อยู่ปทุมธานี อยู่นนทบุรี เช้ามาเขาก็วิ่งเข้ากรุงเทพฯ กันหมด 

ผมเป็นผู้แทนฯ จากกรุงเทพฯ ก็จริง แต่ผมคิดว่าการแก้ปัญหาของคนรากหญ้าในกรุงเทพฯ หนีไม่พ้นเรื่องของการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ต้องกระจายอำนาจ กระจายเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับโครงสร้างให้ได้

ในแง่วิธีทำงานการเมือง คุณได้อิทธิพลมาจากคุณพ่อมากน้อยแค่ไหน

ได้แรงบันดาลใจ ผมอยากเป็น ส.ส. เพราะผมเห็นภาพท่าน ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจหรอก ผมไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับคุณพ่อนะ และผมก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับพ่อ เมื่อก่อนทีวีมีแค่ช่อง 3, 5, 7, 9 แล้วเนื้อหาหรือกิจกรรมรอบตัวเราก็ไม่ได้มีเยอะแยะอะไร ทำให้ทุกครั้งที่คิดถึงคุณพ่อ เราจะได้เจอจากทีวี เมื่อก่อนนี้ก็ไม่มีอะไรหรอก คุณพ่อเป็นรัฐมนตรีอะไรอย่างนี้ เวลาพ่อออกทีวี แม่ก็จะตะโกนเรียก ทำอะไรอยู่ก็แล้วแต่ต้องวิ่งมาดูพ่อ ภาพที่เราเห็นคือความเป็นผู้แทนฯ แล้วต้องบอกด้วยว่าผู้แทนฯ ยุคก่อนกับผู้แทนฯ ยุคนี้ก็ไม่เหมือนกัน สังคมตอนนั้นมันยังไม่เจริญมาก ผู้แทนฯ ยุคก่อนคือทุกสิ่งทุกอย่างให้ประชาชนจริงๆ เป็นความหวัง เป็นทุกอย่าง เวลามองไปที่ผู้แทนฯ คนหนึ่ง เราก็จะเห็นภาพของการได้รับความรักจากประชาชน ความรัก ความหวัง มันคือทุกอย่างจริงๆ 

เพราะฉะนั้น แรงบันดาลใจแรกที่ได้จากพ่อคือ เราอยากเป็น ส.ส. เราอยากเป็นที่รักของคน มันง่าย สั้น แค่นั้นชีวิตผม ทำไมเป็นผู้แทนฯ เป็น ส.ส. หนึ่งคน ทำไมไปที่ไหนคนก็กอด คนก็หอม คนก็รัก พ่อยังเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ของผม คนแรกที่ผมสู้ด้วยคือพ่อ เพราะว่าพ่อไม่เคยอยากให้ผมเป็นนักการเมืองเลย ด้วยความที่ผมเป็นลูกคนเล็กด้วยมั้ง เขาอาจเห็นว่าเราเป็นลูกแหง่ จะดูแลประชาชนได้เหรอ ดูแลตัวเองได้หรือยัง 

ตอนเรียนจบใหม่ๆ เราก็เข้าใจนะ มุมมองของพ่อในการมองลูกคนเล็ก มันก็เป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ พ่อผมเคยถามว่า แกจะไปเป็นผู้แทนฯ คน แกดูแลตัวเองได้แล้วเหรอ ผมใช้เวลานานมากนะ หลายปีมากในการต่อสู้ทางความคิดกับพ่อ คำว่าต่อสู้ทางความคิด ผมไม่ได้เป็นลูกไม่รักพ่อนะ แต่เป็นการต่อสู้ให้ได้การยอมรับในอุดมการณ์ของเรา ในความตั้งใจของเรา พ่อผมไม่เคยสอนผมเลยทางการเมือง

ชัยชนะของผมคือ ต้องพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่า ความฝันของผมมันยิ่งใหญ่สำหรับผม แล้วผมไม่ได้ฝันลมๆ แล้งๆ ไม่ใช่ความเพ้อฝัน ผมต้องการที่จะเอาชนะในแบบที่ได้รับการยอมรับจากพ่อ

แล้วทุกวันนี้ได้หรือยัง

(หัวเราะ) น่าจะได้ระดับหนึ่ง ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา พ่อผมไม่ได้เป็นคนมานั่งสอนผม เอางี้ เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พ่อผมไม่ได้ช่วยสักตอนเดียวนะ 17 ปี พ่อผมลงมาในพื้นที่ประมาณ 2-3 ครั้งเอง แล้วมันก็ดี ทำให้ผมรู้สึกว่า การต่อสู้แบบนี้แหละที่เป็นการพิสูจน์ตัวเอง 

ตลอด 17 ปี มีช่วงท้อบ้างไหม

มันเลยสิ่งพวกนั้นมาหมดแล้วครับ มันมีอยู่ทุกความรู้สึก ผมถึงบอกว่าชีวิตผม ถ้ามีไทม์แมชีนย้อนเวลากลับไปได้ ผมเชื่อว่าคนทั่วไปก็อยากจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขทุกสิ่งที่มันผิดพลาด ทำอะไรหลายอย่างให้มันดีขึ้น แต่ตลอดการทำงานที่ผ่านมา 17 ปี ถ้าผมมีไทม์แมชีน ผมจะไม่ขึ้นมันเด็ดขาด แล้วผมจะไม่ย้อนมันเด็ดขาด เพราะว่าถ้าผมย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่ผมเริ่มเดินมา ผมเชื่อเลยว่า ผมไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองผ่านมาได้เท่ากับที่ผมเคยทำมาแล้วแน่นอน 

สำหรับผม มันคือชีวิตผมจริงๆ คือผมทุ่มเททั้งชีวิตจริงๆ ผมไม่ได้อยากพูดให้มันดูสวยงาม เลิศหรู หรือเว่อร์วังอะไรนะ แต่มันคือความเป็นจริง ผมยอมแลกมาด้วยเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

แล้วถ้ามีไทม์แมชีนไปอนาคต คิดว่ายังต้องการจะทำอะไรแบบนี้อยู่หรือเปล่า

อยากทำครับ ที่แน่ๆ เลย หนึ่ง-เรื่องการลงพื้นที่ การอยู่กับพี่น้องประชาชน ผมอยากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะสำหรับผมมันไม่ใช่งานแล้ว มันคือชีวิต ผมเคยลองหยุดเหมือนกันนะ แล้วที่ถามว่าผมเคยท้อบ้างไหม ผมถามตัวเองมาตลอดล่ะครับ โดยเฉพาะในวันที่เราไม่มีตำแหน่ง อย่าลืมว่า 17 ปีของผม ผมเคยเป็น ส.ส. อยู่จริงๆ 2 ปีกว่าเอง ถ้าให้ตอบคำถามนี้ ตลอดเวลาที่เราเป็นและก่อนที่เราเป็น เราก็ถามตัวเองเสมอว่า เราต้องทำยังไงถึงจะได้เป็น แล้วสิ่งที่เราทำอยู่ มันจะทำให้เราได้เป็นจริงๆ เหรอ เอาการเมืองแบบบ้านนอกๆ ลงพื้นที่แบบคนเดินดิน อยู่กับประชาชน มันจะเกิดได้จริงเหรอ พอได้เป็นก็คิดอีกอย่างหนึ่ง 

ตอนช่วงรัฐประหารก็มีคำถามกับตัวเองเยอะมากเลย อีกกี่ปีจะเลือกตั้ง เลือกตั้งจะเป็นแบบไหน พรรคจะโดนยุบไหม ถ้าทุ่มเททำไปแล้วแพ้เลือกตั้งล่ะ จะทำยังไง แล้วมันก็แพ้จริงๆ อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมก็เคยถามตัวเองนะว่า เฮ้ย ผมอยากให้ลองคิดอย่างนี้นะครับ ตื่นเช้ามาทุกวัน ออกไปฉีดยุงฉีดหมา ออกไปเสี่ยงตายโควิด มันก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ออกไปทำไมวะ ส.ส. ก็ไม่ได้เป็น เชื่อไหมว่าผมไม่เคยให้คำตอบตัวเองได้เลย ผมเคยลองขี้เกียจดูนะ คือเห็นอยู่แล้วว่าตารางงานมีอะไรบ้าง ผมรู้สึกว่า “ไม่ไปอะ ขี้เกียจ อยากลองขี้เกียจดูบ้าง” เชื่อไหม ผ่านไปแค่ครึ่งวันผมอยู่ไม่ได้เลย แล้ววันนั้นผมรู้สึกแย่ไปเลย รู้สึกผิด คือพอเราทำจนมันเป็นชีวิตของเราแล้ว ถ้าเราไม่ออกไป เราจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามองไปในอนาคต สิ่งตรงนี้ผมอยากรักษาไว้ เพราะมันเป็นทั้งชีวิตผมและชีวิตประชาชน 

เรื่องที่สองที่อยากทำก็คือว่า เรามาถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว เราก็อยากจะทำในเรื่องที่มันมีประโยชน์กับประชาชนในภาพใหญ่มากขึ้น เราไม่ได้อยากที่จะเป็น care taker (คนเฝ้าดูแล) ที่อยู่ในพื้นที่อย่างเดียว อย่างที่บอก ผมอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง อยากเห็นคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มันอาจจะไม่ได้จบที่รุ่นเรา แต่อย่างน้อยรุ่นเราต้องเริ่มให้ได้ แล้วต้องเห็นความคืบหน้าในช่วงอายุเรา แล้วความคืบหน้าก็ต้องเป็นรูปธรรม ผมเชื่อว่าในยุคเรา เราทำได้ 

แล้วก็มีสิ่งที่อยากจะทำอีกหลายเรื่อง เรื่องนโยบายก็มีหลายเรื่องมากเลยที่ผมอยากทำ หรือถ้าพูดถึงเรื่องโครงสร้าง คำว่าโครงสร้างของผม มันไม่ใช่แค่โครงสร้างระบบราชการ หรือโครงสร้างระบบอำนาจอย่างเดียว มันต้องลงลึกไปถึงหลักคิดในระดับวัฒนธรรมในครอบครัวเลย ตัวอย่างเช่น ผมมีความรู้สึกว่าเราติดหล่มหลักคิดมานาน เรายังสั่งสอนลูกหลานอยู่ว่า “เรียนเก่งๆ นะลูก เรียนสูงๆ นะลูก โตขึ้นไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ผมว่าเรื่องเล็กๆ แค่นี้มันสะท้อนถึงหลักคิดได้ เรื่องของ mindset เราอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยเราไม่ได้เป็นสังคมที่ถูกสอนให้คิดแล้วโต้แย้ง เราถูกสอนให้เชื่อกับสิ่งที่ระบบสร้างขึ้นมา แล้วการที่เราจะเป็นนักการเมืองที่ดี ถึงแม้ว่าวันนี้เราเป็น ส.ส. เป็นนักการเมือง เราได้ฉันทานุมัติมาจากประชาชนแล้ว แต่การได้อำนาจจากประชาชนไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถไปตัดสินใจแทนประชาชนได้ทุกเรื่องนะครับ มันมีอีกหลายเรื่องที่ต้องให้ประชาชนคิด ถกเถียง และตกผลึกร่วมกัน จากนั้นเรามีหน้าที่แค่ทำตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ 

ประเด็นต่างๆ ที่กำลังถกเถียงกัน มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรื่องบ่อน เรื่องกัญชา เรื่องการค้าประเวณี หรืออะไรก็แล้วแต่ รู้ไหมครับว่าผมมีโอกาสไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่จบ ม.3 ผมไปเรียน ม.ปลาย ที่อเมริกา เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมต้องเขียนดีเบต เขียนโต้วาที ตั้งแต่อยู่มัธยม แล้วเขียนเรื่องอะไรก็ได้ ซึ่ง ณ วันนั้น ในสังคมอเมริกันมันมี 3-4 เรื่องหลักที่คนอเมริกันถกเถียงกันเยอะมาก คือเรื่องกัญชาเสรี การครอบครองปืน เรื่องการทำแท้งเสรี เชื่อไหมครับ ผมถูกให้เขียนดีเบต แล้วมาถกเถียงกันในห้องเรียน ตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย เรื่องดีเบตพวกนี้ก็ยังอยู่ 

เรื่องบ่อนในไทย ถ้าจะมาบอกให้สภาผู้แทนราษฎรไปตั้งกรรมาธิการศึกษา แล้วฝ่ายที่มีอำนาจตรงนั้นตัดสินใจ จะเอาหรือไม่เอาก็ว่าตามนั้น ผมว่าประชาชนเสียโอกาส แล้วมันก็ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของสังคมจริงๆ แต่ถ้าเราส่งเสริมให้สังคมมีการถกเถียงกัน สมมุติเราบอกว่า อีก 5 ปี เราจะมาตัดสินกันว่า ประเทศไทยควรจะมีบ่อนคาสิโนหรือเปล่า หน้าที่ของพรรคการเมือง หน้าที่ของนักการเมือง ก็ไม่ใช่ไปศึกษาและตัดสินแทนเขา แต่เราต้องโยนกลับไปให้ประชาชนถกเถียงกัน ตั้งแต่ในสถานศึกษาหรือภาคสังคมต่างๆ แล้วใช้เวลา 3 ปี 5 ปี เพื่อให้เกิดการตกผลึกร่วมกัน แต่ประเทศไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้สังคมมีการถกเถียงกันแบบนั้น ประเทศไทยจะตัดสินใจผ่านคนที่มีอำนาจ ณ ขณะนั้น แล้วพอสังคมไม่เกิดการถกเถียง องค์ความรู้ก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า เราต้องให้สังคมได้มีการถกเถียงกัน แล้วเราต้องเปิดโอกาส ต้องส่งเสริมให้คนมีการถกเถียงกัน นั่นแหละจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย

ขอย้อนกลับไปถามเรื่องผู้แทนฯ คุณสุรชาติบอกว่า ผู้แทนฯ ยุคเก่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประชาชน แล้วผู้แทนฯ ยุคใหม่เป็นอย่างไร

ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงประชาชนก็ง่ายขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างตัวตนของนักการเมืองหรือของคนคนหนึ่งก็ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนทีวีมีแค่ช่อง 3, 5, 7, 9 โทรศัพท์มือถือไม่มี การจะเป็นที่รู้จักของประชาชนหรือให้ประชาชนสัมผัส ก็หนีไม่พ้นต้องใช้วิธีแบบผม คือเอาตัวเองลงไปคลุกคลี แต่วันนี้พรรคการเมืองมีหลายวิธีในการเข้าถึงประชาชน ซึ่งผมไม่เคยด้อยค่าวิธีการของใครนะ ผมไม่เคยบอกว่าวิธีของผมจะดีกว่าวิธีคนอื่น ผมคิดว่าการเมืองคือการเปิดกว้าง ทุกคนก็มีสิทธิในการใช้วิธีการของตัวเองสื่อสารและเข้าถึงประชาชน รวมถึงให้ประชาชนเข้าถึงได้ แล้วประชาชนก็จะเป็นคนตัดสินได้เองว่าวิธีไหนดีกว่า 

ในแง่ความใกล้ชิดของผู้แทนฯ กับประชาชน ผมคิดว่าเริ่มมีระยะห่างมากขึ้น ผมถือว่าผมเป็นตัวแทนของผู้แทนฯ เดินดินที่ยังได้สัมผัสกับประชาชน แต่ผมก็มีข้อด้อยเหมือนกัน ตรงนี้ก็ต้องไปปรับปรุง ต้องสร้างความสมดุล

ข้อด้อยที่ว่าคืออะไร

ผมสื่อสารทางโซเชียลไม่เก่ง คือน้อยคนจะรู้ว่าภูมิหลังของผมเป็นนักการตลาด นักโฆษณา แต่ด้วยความเป็นตัวตนของผมแบบนี้ ผมก็อยากพิสูจน์ตัวเองแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมไม่เคยเอาวิชาการตลาด วิชาโฆษณามาใช้กับตัวผมเลย ผมอยากจะเป็นดิบๆ ของผมอย่างนี้ เพราะผมมีความเชื่อว่า ผมไม่ใช่สินค้า ประชาชนก็ไม่ใช่ผู้บริโภค ผมคือผม ผมอยากเป็นผู้แทนราษฎร แล้วประชาชนคือประชาชน ผมอยากมีบทพิสูจน์ในตัวตนของผมกับประชาชน ผมเลยไม่เคยเอาวิชาพวกนั้นมาใช้ 

อันนี้เป็นเหตุผลที่คุณชอบทำงานการเมืองแบบที่เรียกว่า ‘บ้านนอกๆ’ หรือใช้วิธีการเดินในการเข้าถึงประชาชนหรือเปล่า 

ใช่ครับ แต่ต่อไปผมก็ต้องปรับสมดุลให้มากขึ้น เพราะผมไม่อยากจะเป็นคนที่ใช้แรงงาน เป็น care taker อย่างเดียว ผมพยายามสื่อสาร ผมถึงบอกว่าประเทศไทยเราอาจไม่ได้ขาดคนเก่ง แล้วภาพของตัวผมก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนเก่ง ผมไม่ได้เก่งกาจอะไร เพียงแต่สิ่งที่ผมอยากจะเป็นตัวแทนให้กับประชาชนมากที่สุดคือ ผมอยากจะเป็นคนที่คิดเป็น คือเราเป็นนักการเมือง เราไม่ใช่ใช้แรงงานอย่างเดียว เราต้องคิดเป็นด้วย เห็นแล้วเข้าใจ เราต้องเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับประชาชน ผมเลยต้องเอาความคิดทั้งหลายที่อยู่ในหัวผมสื่อสารผ่านไปถึงพี่น้องประชาชนให้ได้ แต่ว่า DNA แท้ๆ ของเรา เราก็ต้องไม่ทิ้งมัน

รัฐบาลชุดนี้เหลืออายุอีกประมาณปีกว่า แต่หลายคนคิดว่ามีโอกาสที่จะยุบสภาก่อนนครบวาระ หรืออย่างล่าสุดก็มีเรื่องสภาล่ม อยากรู้ว่าคุณประเมินอย่างไร 

ถึงเหรอ (หัวเราะ) ผมคิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง หนึ่ง-ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของอำนาจเขา พวกโครงสร้างทางความสัมพันธ์ของพรรคร่วมและพรรคของเขาเอง มันแทบจะไม่เกี่ยวอะไรกับฝ่ายค้านเลย แทบไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลย แล้วผมคิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ทั้งการเลือกตั้งภาคใต้และเขตหลักสี่-จตุจักรก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้รัฐบาลรู้ ผมคิดว่าตราบใดที่เขายังต้องการจะอยู่ แล้วเขาหาทางในการอยู่ร่วมกันได้ ผมเชื่อว่าเขาจะอยู่ แต่ถ้าเขาอยู่ได้ ก็ต้องถามกลับด้วยว่า ประชาชนจะอยู่ได้ไหม 

ภาพของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสะท้อนกลับไปที่รัฐบาลเลยว่า ถ้าเขาจะอยู่ได้ หรือถ้าเขายังอยากอยู่ต่อ เขาก็ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น อย่างเรื่องทัศนคติ เขาต้องไม่เห็นประชาชนเป็นศัตรู อย่างผมเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน ผมก็ไม่ได้มองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นศัตรู แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานให้กับประชาชน ผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องชี้ให้เห็นเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยากอยู่ต่อ แล้วเขาหาวิธีอยู่ร่วมกันได้ เขาก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าเขาอยู่ แล้วประชาชนไม่ไหวจริงๆ การเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะสั่งสอน

ถ้าให้คุณสุรชาติลองสวมแว่นเป็นประชาชนคนหนึ่ง แล้วมองไปยังภูมิทัศน์การเมืองตอนนี้ คิดว่าประชาชนรู้สึกหรือเห็นอะไรอยู่ ความเชื่อมั่นต่อการเมืองหรือต่อผู้แทนประชาชน เป็นไปในลักษณะใด

ผมว่าประชาชนว้าเหว่ ไม่มีหลักให้ยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะด้านไหนก็แล้วแต่ เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ผมว่าเรายังอยู่ในยุคที่ดำดิ่ง ประชาชนไม่มีหลักยึด และถ้าให้ผมมองในฐานะประชาชน ผมว่าประชาชนอ่อนแอนะครับ แล้วก็ไม่รู้จะทำยังไงให้มันดีขึ้น แถมยังไม่รู้เลยว่าใครเข้ามาแล้วจะทำให้มันดีขึ้น เพราะอย่างด้านการเมือง ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นเลย แม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งหน้า จะบัตรกี่ใบก็แล้วแต่ ถ้าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่ เขาก็ต้องคิดแล้ว ถ้า 250 ส.ว. ยังอยู่ ต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ เราก็จะไม่ได้นายกฯ ที่มาจากฝั่งประชาธิปไตยอยู่ดี เราอาจจะได้นายกฯ ฝั่งเดิมๆ 

ประชาชนไม่ได้รู้สึกเบื่อการเมืองนะ แต่เขาอาจมีความสิ้นหวังเล็กๆ ว่า ถึงเขาจะเลือกตั้ง และเสียงที่เขาเลือกเป็นเสียงข้างมากก็จริง แต่สุดท้ายการตั้งรัฐบาลกลับไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ มันตั้งมาจากกลไกอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนเอาไว้ แค่นี้ประชาชนก็สิ้นหวัง แม้กระทั่งถ้าฝั่งประชาธิปไตยตั้งรัฐบาลได้ ถามว่าจะอยู่ได้ไหม จะบริหารงานได้ไหม ก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง อีกความเชื่อมั่นหนึ่ง เพราะสิ่งต่างๆ ที่เขาเขียนล็อคเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อให้เป็นฝั่งประชาธิปไตยบริหารงานอยู่ ก็แทบจะทำงานไม่ได้เลยนะครับ นโยบายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แค่นี้ก็เป็นลมแล้วนะ ถ้าผมเป็นรัฐบาล แล้วให้ไปทำงานตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมไม่เป็นหรอก จะเป็นทำไม มันล้าหลังขนาดนั้น 

เศรษฐกิจเองก็ดำดิ่งมาตลอด 7-8 ปี แถมยังไม่รู้เลยว่าก้นเหวมันอยู่ตรงไหน เอาง่ายๆ หมูที่แพงขึ้นทุกวันนี้ เมื่อไหร่มันจะลง เราจะมีโอกาสได้กลับมากินหมูราคาเดิมอีกไหม ไหนจะเรื่องโควิดที่เปลี่ยนโลกนี้ไปเยอะมาก เปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนไปเยอะมาก เราลองคิดดูแค่ว่า วัฒนธรรมองค์กร การบริหารงานขององค์กรมันเปลี่ยนไป ทุกวันนี้หลายๆ บริษัทเริ่มพูดแล้วว่า การ work from home มีประสิทธิภาพมากกว่าการไปทำงานร่วมกันที่ออฟฟิศเสียอีก แล้วอีกอย่างคือมันลดต้นทุนเขาด้วย 

ถ้าสมมุติว่าหมดโควิดไปแล้ว หลายๆ องค์กรบอกว่า work from home เถอะ แค่นี้ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไปหมดแล้วนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะครับ ถ้ามนุษย์ไม่ออกจากบ้าน สังคมไม่เกิด การค้าก็ไม่เกิด นึกออกไหม เอาแค่ตลาดสด ลองไปดูเลยครับ ตลาดเช้า ตลาดเย็น ตลาดอะไรที่คนเคยเดินพลุกพล่าน เดี๋ยวนี้แทบไม่มีคนเลย ด้านสังคมก็ไม่รู้จะไปทางไหน วันนี้เด็กๆ น้องๆ ที่เขาโตขึ้นมา ผมถามว่าเขามีหลักอะไรยึด ไม่มีเลย แต่สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาอยากเห็น โลกที่เขาอยากเห็น สังคมในอุดมคติที่เขาอยากให้เป็น มันก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งไปตีตราว่า นั่นคือความไม่รักชาติ 

เรื่องความเป็นไทย ผมว่าเราต้องมาสกัดให้ดี หลายๆ อย่างเป็นเรื่องดีนะครับ ผมไม่ใช่คนที่สุดขั้ว ไม่ใช่ว่าไม่ยึดเหนี่ยวในอะไรเลย ผมก็มีความ conservative (อนุรักษนิยม) ในหลายๆ เรื่อง แต่ผมคิดว่านิยามความเป็นไทยของเรา หลายๆ อย่างเราควรเก็บเอาไว้ ตัวอย่างเช่น การให้เกียรติ การให้ความเคารพผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อต้องฟังอย่างเดียวนะ ถ้าใครเห็นภาพผม ผมจะเป็นคนที่เวลาเจอผู้หลักผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ ผมจะให้ความเคารพ แต่ถ้าเรายึดติดกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป หลายๆ อย่างก็เป็นตัวฉุดรั้งที่ไม่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้นในวันนี้นอกจากเราจะสอนลูกสอนหลานให้เป็นคนไทยแล้ว เรายังต้องสอนให้ทุกคนรู้จักว่าการเป็นประชากรโลกคืออะไร

วันนี้โลกเราแคบลงมาเหลือแค่หน้าจอแล้ว ถ้าเรายังไม่รู้จักคำว่าประชากรโลก ต่อไปคนไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับโลกนี้ได้เลย ผมถึงบอกว่าวันนี้คนไทยขาดจุดยึดเหนี่ยวจริงๆ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่ดี และด้วยทัศนคติที่ดี คำว่าเปลี่ยนแปลงมันต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทั้งเชิงโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างสังคม โครงสร้างวัฒนธรรม แต่เราก็ต้องเริ่มแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ต้องทำให้น้องๆ คนยุคใหม่ หรือคนที่เขากำลังจะเติบโตขึ้นมาให้เขารู้สึกว่าสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ สังคมจึงจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่เขาอยากเห็น สังคมที่เขาอยากให้เป็น

เรื่องเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยต้องเริ่มที่ปากท้องก่อน การเลือกตั้งครั้งหน้าผมก็อยากเห็นนะ พูดแบบนี้อาจจะไม่ค่อยถูกใจแฟนคลับพรรคผมเองนะ แต่ผมคิดว่าเราต้องไม่มาต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายกันแบบนั้น อย่าลืมนะครับในฝั่งประชาธิปไตยของเรา ในฝั่งก้าวหน้า เรามีจุดต่อสู้ยิ่งใหญ่ร่วมกัน และอย่างที่ผมบอก มันจะไม่มีพรรคไหนที่ได้เสียงข้างมากกินแดนครึ่งหนึ่งไปเป็นพรรคเดียวบริหาร แล้วเอาแนวคิดตัวเองมาใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่มีจริงหรอกครับ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยมันต้องกินได้ และการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมอยากเห็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคนะ คือพอเราเข้าสู่การเลือกตั้งทุกพรรคแล้ว ทุกพรรคคือคู่แข่งหมด เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา พวกเราแสดงให้เห็นแล้วว่าเราต้องไม่ซูเอี๋ยกัน เราต้องแข่งกันแล้วให้ประชาชนตัดสิน แข่งขันกันเสร็จแล้วก็จบ ต้องร่วมมือกันได้

มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายก้าวหน้าที่จะต้องร่วมกันตั้งรัฐบาล แล้วทำให้ดี พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าประชาธิปไตยอย่างพวกเราเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ และถ้าเราทำได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าประชาชนเขาสามารถลืมตาอ้าปากในทางเศรษฐกิจได้จากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ต่อไปประชาชนเขาจะหวงแหนคำว่าประชาธิปไตยเท่าชีวิตเขา

มีคำกล่าวว่า Iron Man ก็บินไม่ได้ภายใต้ระบบแบบนี้ เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน พอมาอยู่ใต้ระบบแบบนี้มันก็ยากมาก เผลอๆ บินไม่ขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนตัวของคุณสุรชาติรู้สึกกับมันเช่นไร

มันต้องพยายามครับ ผมเนี่ยไม่มีอะไรเลย ทั้งชีวิตผมมีหลักชัดเจน เรามีเส้นของเราชัดเจน มีอุดมการณ์ของเราชัดเจน เราต้องชัดเจนในตัวเองก่อนนะ เพราะถ้าเราไม่ชัดเจน เราจะเป็นคนที่เลื้อยไปเลื้อยมา แต่ถ้าเรามีหลักชัดเจนแล้ว หน้าที่ของเราคือพยายามเอาแนวคิดของเรานำเสนอกับสังคมทั้งฟากประชาชนและฟากการเมือง เราต้องพยายามกันต่อไป ชีวิตผมมีแต่ความพยายาม พยายาม แล้วก็พยายาม ผมพยายามยึดแนวคิดนี้แล้วก็เดินไป

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า