กุณฑิกา นุตจรัส: ทนายความผู้ยืนหยัดและต่อสู้เคียงข้าง ‘ทานตะวัน’

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้ต้องขังหรือจำเลยเลือกที่จะอดอาหารเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระวัย 20 ปี เป็นอีกคนที่ใช้วิธีการอดอาหารเพื่อสะท้อนให้เห็นโลกเห็นว่า เธอไม่ได้อดอาหารเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการประกันตัว แต่กำลังต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม และยอมทรมานตัวเองเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง

WAY มีโอกาสได้พูดคุยกับ ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส ทนายความจากสำนักงานกฎหมายบัญชีกฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้ซึ่งทำงานเคียงคู่กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมีบทบาทในฐานะทนายคดีไต่สวนทานตะวันเรื่องฝากขังที่เป็นเหตุให้มีเด็กและเยาวชนต้องติดคุก 

กุณฑิกา ได้ประกอบอาชีพในฐานะทนายความเต็มตัวมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่เธอจะไปเรียนต่อและมีประสบการณ์ทำงานที่เยอรมันเป็นเวลาประมาณ 3 ปี  เธอคือหนึ่งในทนายความที่ร่วมต่อสู้กับศาลในเรื่องข้อกฎหมายและความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการประกันตัวในหลายๆ คดี อีกทั้งได้ผลักดันเรื่อง Freedom of Speech ที่ควรจะเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงมี

ถัดจากนี้ จะเป็นการพูดคุยถึงเรื่องราวประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีของการฝากขังทานตะวัน กระบวนการที่เกิดขึ้น ไปจนถึงทรรศนะส่วนตัวของกุณฑิกาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมและโครงสร้างตุลาการของประเทศไทย
(*หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ก่อนที่ศาลอาญารัชดาจะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม อนุญาตให้ประกันตัว ตะวัน-ทานตะวัน ตุลานนท์ โดยกำหนดระยะเวลาการปล่อยตัวชั่วคราว 1 เดือน)

‘ทานตะวัน’ ที่ทนายรู้จัก เป็นคนอย่างไร

เขาไม่ใช่คนหัวรุนแรง เป็นเด็กธรรมดาที่พูดจารู้เรื่อง เป็นคนนิ่งๆ และมีสติชัดเจน ตอนที่เราไต่สวนเขาล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เขาน้ำหนักลดไปแล้ว 4 กิโลกรัม ก่อนที่จะมีอาการเขียนไม่ได้ เดินไม่ได้ ต้องมีคนพยุง ตอนนั้นเขาพูดจาแจ่มใส ไม่สูญเสียความหวัง เขารู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร เพราะในวันที่เขาโดนจับ ผู้พิพากษาศาลอาญาคนหนึ่งถอนประกัน เช้าวันนั้นทนายได้ถามเขา เขาบอกว่าเตรียมใจมาแล้ว ความหมายคือ เขารู้ตั้งแต่แรกว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร รู้ว่าอำนาจรัฐมันโหดร้ายในหลายๆ หนทาง

ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจจะบอกว่า เขาทำอะไรที่กล้าหาญแบบนี้ไม่ได้เพราะเขามีลูกมีเมียต้องเลี้ยง ก็เลยอาจยอมสังเวยลูกหลานคนอื่น แต่ถ้าเรามองข้ามเรื่องแบบนี้ไป เราไม่ได้ตัวสั่น หรือรับไม่ได้ขนาดนั้น เราก็อาจจะอยู่กับอำนาจเหล่านี้ได้ ทานตะวันเข้าใจดีว่าระบบมันเป็นอย่างไร เพราะหลายครั้งเวลาคุยกับเขา อย่างล่าสุดวันที่ศาลสั่งไต่สวนทานตะวันกับเก็ท (โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง) คู่กัน คำถามหนึ่งที่ทานตะวันถามเราคือ “เก็ทเป็นยังไงบ้าง ใบปอเป็นอย่างไรบ้าง” แต่เด็กพวกนี้เขาเหมือนกัน เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดไว พูดตรง เก็ทก็พูดในแบบเดียวกันว่า “ตะวันเป็นอย่างไรบ้าง” พวกเขาคิดเลยไปกว่าการมานั่งคิดว่าจะได้ประกันหรือไม่ได้ประกันแล้ว

กระบวนการยุติธรรมที่ตะวันและเพื่อนๆ ต้องเจอ มีลักษณะอย่างไร

จากที่เราตั้งข้อสังเกต หลายครั้งศาลแต่ละท่านมักจะบอกว่า ให้ฝากขังเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ไม่ให้อีกแล้ว หรือกำชับให้ตำรวจทำให้เสร็จโดยไว มันฟังดูดีนะ ดูปลอบประโลมใจเรา แต่สุดท้ายครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เขาก็ยังคงรับฝากขังอยู่ ส่วนตัวเราคิดว่าคงมีเหตุผลทางกฎหมายอื่น ซึ่งเหตุผลทางกฎหมายอื่นมันก็มาโผล่ในการไต่สวนครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ศาลพูดว่า กรณีแบบนี้ในการฝากขังนั้น ไม่ต้องดูความจำเป็นตามมาตราหนึ่ง แต่ไปดูอีกมาตราหนึ่งว่า โทษมันสูง ศาลมีอำนาจฝากขัง ลองไปเปิดอ่านได้ มาตรา 87 มาตรา 71 และมาตรา 66 ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที เมื่ออ่านแล้วทุกคนจะเข้าใจ (*อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ)

อย่างมาตรา 71 เขียนชัดเลยว่า ให้ใช้มาตรา 66 ด้วยโดยอนุโลม ในความเห็นทางกฎหมายของเรา มันก็ต้องใช้ร่วมกัน ต้องใช้ทั้งในแง่ความจำเป็นและเเง่ของโทษอยู่ดี เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น หากเอากระบวนการอย่างเดียว ไม่เอานิติศาสตร์ ไม่เอาตัวบทเลย เราเห็นว่าศาลพยายามพูดว่า “กำชับให้พนักงานสอบสวนทำงานให้ไว” แต่ก็ให้ฝากขังเด็กอยู่เสมอ นี่คือความคิดเห็นส่วนตัว แต่หากเป็นในฐานะทนาย เราได้ทำคำแถลงและทำคำร้องคัดค้านในทางนิติศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

อีกเรื่องหนึ่ง ศาลไม่เคยเบิกตัวเด็กเหล่านี้มาเลย โดยเราทำคำร้องคัดค้านทุกครั้งว่าให้เอาตัวเด็กมาด้วย เพราะหนึ่ง เขาอยากปรึกษากับทนายและอยากเห็นเอกสารว่าคนที่มาฟ้องร้องเขา มากล่าวหาเขาจนต้องเข้าคุก สูญเสียเสรีภาพทางร่างกาย มีข้ออ้างว่าอะไร การที่เขาต้องอยู่ในเรือนจำทำให้เขาไม่ได้เห็นสำนวน ไม่ได้ปรึกษากับทนาย เมื่อศาลไม่ได้เบิกตัวเด็กมา เพราะอ้างโควิด หลายๆ ครั้งเราก็คิดว่าเหตุผลที่ทำคำร้องคัดค้านไปนั้นไม่แย่นะ เช่น ลูกความของเราอยากมาซักค้านเอง ซึ่งเขาพูดจริง ทานตะวันอยากมาด้วยตัวเอง เพราะระบบจอภาพและกล้องของศาลมันไม่เสถียรและไม่ดี

เช่น กรณีเก็ท มีวันหนึ่งเขารอเราที่ราชทัณฑ์ ศาลก็ไม่เบิกตัวมา แล้วเราก็ทำคำร้องคัดค้านเหมือนเดิม ปรากฏว่าวันนั้นอินเทอร์เน็ตของศาลอาญาล่ม เก็ทไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า 3 ชั่วโมงในศาลวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรื่องนี้มันขัดกับหลักกฎหมายอาญา ที่ให้สิทธิ์จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธาน หมายความว่า มันคือหน้าที่ของคนที่กล่าวหาเขา ต้องสืบให้ชัดเจนว่าเขากระทำความผิดหรือไม่อย่างไร และจำเลยจะต้องมีสิทธิ์ได้เห็นกระบวนการ ด้วยเหตุนี้ กฎหมายอาญาจึงเขียนว่า การสืบพยานต้องทำต่อหน้าจำเลย

นี่คือสิ่งที่เราขัดแย้งกับศาลอยู่ตลอดเวลา แต่มาจนถึงทุกวันนี้ ศาลก็ใช้คำว่า ใช้ดุลยพินิจในการที่จะไม่เบิกตัว ลูกความเราจนถึงทุกวันนี้ไม่เคยถูกเบิกตัวมาศาลเลย ถ้าวันไหนโชคดี ศาลอาญามีอินเทอร์เน็ต เขาก็อาจจะได้เห็นบ้าง อย่างครั้งล่าสุดวันที่ 20 พฤษภาคม เขาได้เห็นหน้าผู้พิพากษา เพราะในห้องนั้นมีกล้องเดียว ลองนึกสภาพว่าถ้าเราเป็นเพียงผู้ต้องหา ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าเราผิด การได้เห็นผ่านกล้อง มันจำกัดการมองเห็นของเรานะ สิ่งนี้เราสะเทือนใจมากในความรู้สึก ซึ่งในฐานะทนายเรารู้สึกว่า มันมีช่องมากมายที่ทำให้จำเลยลำบาก ทั้งที่จริงๆ แล้วศาลอาญาต้องให้สิทธิ์จำเลยเป็นที่หนึ่ง

คดีของ ‘ทานตะวัน’ มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

เราต่อสู้มาตลอดในขั้นตอนฝากขัง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจริงๆ แล้วพนักงานสอบสวนที่เป็นตำรวจไม่มีอำนาจที่จะขังใคร ต้องไปขออำนาจศาลในการจะขังคน โดยโทษของทานตะวันขังได้มากที่สุดแค่ 84 วัน แต่ต้องมาขอเป็นผลัดๆ ไม่เกิน 12 วัน

ในส่วนของทานตะวัน การฝากขังผู้ต้องขังทั้งๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลย แต่ตามมาตรา 87 บรรทัดแรกเขียนไว้เลยว่า ‘ห้ามขังคนเกินความจำเป็น’ แล้วความจำเป็นมีอะไรบ้าง เช่น พฤติกรรมหลบหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน นี่เป็นตัวอย่างที่อยู่ในกฎหมาย ซึ่งเราต่อสู้มาตลอดว่าเขาโดนขังเกินความจำเป็น เพราะการสอบสวนก็เสร็จแล้ว และเขาก็รับด้วยว่าเด็กจะไม่ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน 

ครั้งหนึ่งเคยมีคนรับด้วยว่า ขังหรือไม่ขังก็ไม่มีผลอะไร แต่ศาลท่านก็ยังใช้ดุลยพินิจให้ฝากขังตลอด อย่างครั้งล่าสุด ศาลเห็นว่ายังต้องส่งให้นายตำรวจรอเซ็น อัยการยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น เลยต้องฝากขัง

อีกความคืบหน้าคือกรณีคุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ที่พยายามมาประกันตัวให้อีกรอบหนึ่ง ระหว่างที่เขาอยู่ข้างล่าง เขาอยู่คนเดียว นับถือนะ เพราะถึงอยู่คนเดียว เขาก็พยายามทำเรื่องขอประกันตัวของเขาไป เราไต่สวนการฝากขังเด็กอยู่ข้างบน ซึ่งในการไต่สวน เราคัดค้านการมาขอฝากขัง ศาลก็พูดอยู่ตลอดเวลาว่า ‘คุณไปขอประกันตัวได้’ ทานตะวันก็พูดกับศาลว่า เขาเข้าใจดี การฝากขังกับการประกันตัวเป็นคนละเรื่องกัน เพราะถ้าศาลไม่รับฝากขังก็ไม่ต้องประกันตัว

กระบวนการวันนั้นคือหลังจากไต่สวนคัดค้านการฝากขังเสร็จแล้ว ศาลมีดุลยพินิจเห็นว่า เราไม่ต้องพิจารณาความจำเป็นหรือหลักเกณฑ์เหล่านี้ เราต้องพิจารณาแค่ว่าเป็นโทษหนัก เมื่อเป็นโทษหนักก็จะเกิน 3 ปี ตามมาตรา 66 ซึ่งพอเกิน 3 ปี เขาก็บอกว่ามีอำนาจฝากขัง แต่ให้อ่านคู่กับมาตรา 87 เพราะมาตรา 66 จะไม่ถูกใช้เลยหากไม่ใช้มาตรา 87 เนื่องจากจะอนุญาตให้ใช้มาตรา 66 โดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 87 เขียนตั้งแต่บรรทัดแรกเลยว่า ‘อย่าขังคนโดยไม่จำเป็น’

ศาลก็ตัดสินไปและบอกว่าจะรับขังทานตะวันตามที่อัยการขอ เพราะยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น อีก 7 วัน จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็จะครบ 84 วันพอดีตามที่กฎหมายอนุญาตให้ขัง หลังจากนี้ก็จะไม่เหตุที่จะมาขังเขาได้แล้ว ยกเว้นสั่งฟ้อง พอฟ้องก็จะเข้าอีกกระบวนการหนึ่ง เขาก็จะเป็นจำเลยเหมือนคุณสมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin) ที่ติดคุก 10 ปีก็ว่ากันไป

แต่จริงๆ เราก็ต่อสู้มาโดยตลอดนะว่า ในช่วงที่เขายังเป็นผู้ต้องหาก็ไม่ควรจะขังเขาไว้เกินจำเป็น ตามที่มาตรา 87 บอก เพราะคนเป็นผู้ต้องหา อัยการยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องเขาเลย ถ้าคิดว่ามันไม่ได้เป็นคดี 112 หรือคดีการเมือง เขาเสียหายมากเลยนะ 

สำหรับคดีของทานตะวัน ศาลรับฝากขังและก็พูดว่า “ไม่ตัดสิทธิประกันตัวนะ ให้ไปประกันตัวได้” สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราไปประกัน เราได้เห็นคำสั่งประกันที่ออกมาก็ว้าวเลย มันช่างเป็นคำสั่งประกันที่ยาวเหลือเกิน เขาบอกว่าให้นัดผู้ร้องคือคุณทิมมาไต่สวนในวันที่ 26 พฤษภาคม ในตอนเช้า เพื่อมาไต่สวนว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะเป็นผู้ดูแล ถ้าเด็กผิดเงื่อนไขอีกจะรับผิดชอบอย่างไร 

อย่างตอนสมัยแม่เพนกวินหรืออาจารย์ประจัก์นี้แหละ (ก้องกีรติ) เป็นผู้ดูแลเพนกวิน เขาก็ดูแลไป แต่ไม่ต้องมารับผิดทางอาญา เช่น ฉันเป็นอาจารย์ที่เด็กเรียนอยู่ ฉันจะดูแลเท่าที่ทำได้

คิดว่าประเด็นนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ เราเคยอ่านสัญญาประกันตัวที่คุณทิมจะทำ เขาไม่ได้เสนอว่าจะเป็นผู้ดูแลด้วยนะ เขาไปโดยใช้ตำแหน่งเพื่อขอประกัน แต่ศาลก็ออกคำสั่งมาแบบนี้ ไม่เคยเห็นเหมือนกันในประวัติศาสตร์การทำงาน ถามรุ่นพี่คนอื่นอายุประมาณ 60 ปี เขาก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้

ในฐานะที่ทานตะวันกำลังจะเรียนนิติศาสตร์ เคยคุยกับเขาไหมว่า รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเผชิญ

เราไม่มีโอกาสได้คุยกับเขานอกงานเลย อย่างวันศุกร์ (20 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา เราแจ้งศาลว่าขอเวลาคุยกับน้อง ท่านก็ไม่ให้นะ บอกว่า “ถ้าจะคุยกันก็ได้นิดนึง แต่ต้องคุยตอนที่ผมนั่งอยู่ ถ้าผมลุกไปแล้วก็ต้องปิดสัญญาณจากกรมราชทัณฑ์” 

แล้วเวลาเราไปเยี่ยมเขา เราก็มักจะคุยกันในเรื่องว่า อาการคุณเป็นยังไง อยากได้นู่นได้นี่ไหม เลยยังไม่มีโอกาสได้คุยเรื่องอื่นๆ แล้วเราก็ยอมรับว่า กับลูกความเหล่านี้เราไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัว มันเป็นอะไรที่เราได้เข้ามาทำ เราเลยได้รู้จักเขา อย่างเพนกวิน เบญจา รุ้ง ก็เหมือนกัน

แต่ถ้าเป็นคนที่พอได้คุยบ้าง อย่างรุ้ง เขาก็เคยตั้งคำถามอย่างกล้าหาญกับผู้พิพากษาที่เป็นถึงรองอธิบดี คุณลูกเกด ชลธิชา ก็เช่นกัน เขาก็ตั้งคำถามกับศาล เช่นว่า “คุณมาตั้งเงื่อนไขแบบนี้ได้อย่างไร มันผิดกฎหมายไหม” ในทางนิติศาสตร์นั้น มีน้องๆ ตั้งคำถามกับศาลหลายคน เราคิดว่าในอนาคต หากทานตะวันไม่ได้เป็นอะไรมาก และออกมาคุยกับเราได้ เราคงได้คุยกันเรื่องนี้

ได้เรียนรู้อะไรจากกรณีของทานตะวันบ้าง

ทานตะวันกล้าหาญมาก และเราในฐานะทนาย เราจะพยายามยืนต่อหน้าศาลแล้วบอกว่ามันไม่ถูกต้องอย่างไร นี่คือความกล้าหาญที่เราพูดแทนเขาได้ แล้วก็ได้เห็นว่า จริงๆ เด็กอาจจะไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นว่าจะต้องโด่งดัง เป็นฮีโร่ 

เด็กหรือเยาวชนที่ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าเป็นผ้าขาว เด็กเขาคิดจริงๆ ว่าสิ่งที่ทำมันไม่ผิดนะ การทำโพลหรือการไปเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งยังไม่ได้เฝ้าด้วย แต่โดนเขาไล่ออกมาเสียก่อน พอเขาคิดจริงๆ ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ผิด เขาเลยมีแรงที่จะสู้มาขนาดนี้ เพราะเด็กและเยาวชนคือคนไม่มีบ่วง ถ้าตะวันเป็นแม่ค้าอายุ 50 ปี และมีลูก เขาอาจจะต้องคิดอะไรมากกว่านี้ ดังนั้น การที่เขาคิดซื่อๆ ก็ไม่ผิด แล้วทำไมถึงยังไม่ให้เขาออกไป

หลายๆ ครั้งที่ศาลพูดว่า “คุณอย่าไปทำผิดเพิ่ม” เด็กพวกนี้อาจจะไม่เข้าใจหรอก เพราะเขาคิดว่ามันไม่ผิด พอเราเข้าใจอย่างนี้ก็สรุปได้ว่า โลกเป็นของเยาวชน อย่างรุ่นของเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ตายก่อนแน่นอน เราอาจไม่เข้าใจ แต่เชื่อมั่น และได้เรียนรู้จากทานตะวันเหมือนกัน เป็นความเข้มแข็งที่เราสนับสนุนมากนะ แต่ก็เป็นห่วง อย่างวันนี้อัยการสูงสุดก็ขอร้องให้เขากินข้าว แต่หากอัยการสูงสุดเข้าใจเหมือนเรา ก็จะรู้ว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะมาพูดอย่างนี้กับเด็ก 

เราต้องเข้มงวดกวดขันกับตนเองมากกว่าคนอื่น ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ มีอำนาจในการตัดสิน ลงดาบชีวิตคน ต้องเข้มงวดกวดขันกับตนเองมากกว่าที่จะมาเอาเป็นเอาตายกับคนอื่น

การอดอาหารประท้วงในทรรศนะของคุณคิดอย่างไร

กรณีทานตะวัน เขาเลือกที่จะอดอาหารเองนะ ไม่ได้ปรึกษาเรา มันคือการต่อสู้ในส่วนของเขาที่นอกเหนือจากกระบวนการศาลไปแล้ว เรารู้สึกว่า ถ้าในหลายๆ ศาล ทั้งในและต่างประเทศ การที่ใครก็ตามเลือกที่จะอดอาหารเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมใดๆ นั่นเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมมันใช้ไม่ได้ หากเรานึกถึงสภาพของมนุษย์ที่รักชีวิต มันคงเป็นทางเลือกของคนที่หมดหนทาง เขาจึงต้องทำ 

เราไม่รู้นะว่ามันมีเคสที่ประสบความสำเร็จจากการเรียกร้องลักษณะนี้หรือเปล่า หรืออาจจะมีคนตายคาศาลหรือเปล่า อย่างเราไปดูหลายๆ เคส เคยมีพระเผาตัวเองตายเพื่อต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการมาแล้ว กรณีที่มนุษย์เลือกทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะอดอาหารก็ดี หรือเผาตัวเองก็ดี มันคือสิ่งที่สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังมีปัญหาและคนไม่มีที่พึ่ง

นอกจากการอดอาหาร ยังมีวิธีการต่อสู้รูปแบบอื่นอีกไหม

ถ้าคิดเร็วๆ นะ คิดว่าไม่มี เพราะรัฐไม่ให้โอกาสเขาในการแสดงออก อย่าลืมว่าทานตะวันเข้าคุกเพราะตำรวจกล่าวหาว่าเขาไปไลฟ์สดบริเวณใกล้กับขบวนที่กำลังจะเสด็จ หมายความว่ายังไม่ได้เสด็จนะ พอเขาโดนกล่าวหาเช่นนี้ ยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีด้วยนะ ตำรวจก็ไปฝากขังเขาเลย แล้วเราก็ประกันเขาออกมา จากนั้นเขาถูกผู้พิพากษาศาลอาญาถอนฟ้องเพราะเขาไปกินแมคโดนัล ซึ่งขณะนั้นเขาไลฟ์สดอยู่ด้วย ข้อเท็จจริงมันก็ปรากฏอยู่แล้วว่าทานตะวันกำลังจะไปเรียนพิเศษบริเวณนั้น แต่สุดท้าย ศาลก็ตัดสินผ่านดุลยพินิจและฝากขังเขา เราคิดว่าในกรณีแบบนี้ รวมถึงของคนอื่นๆ ที่ไปทำโพลสอบถามความเห็นของผู้คนสามารถทำได้ เพราะไม่ใช่การเอามีดไปจี้ให้คนมาตอบตามใจฉัน

อย่างตอนที่เราไปอยู่เยอรมนี คนตุรกีที่อยู่ที่นั่น หรือคนที่เป็นกลุ่มนาซีใหม่ (neo-Nazi) เวลาเขาไปประชุมหรือประท้วงทางการเมือง ตำรวจก็จะมาดูแลความสงบเรียบร้อย หากมีกลุ่มที่เห็นต่างมาก่อกวนหรือใช้ความรุนแรง ตำรวจก็จะจับกุมคนเหล่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐไทยไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้นเขาจึงต้องอดอาหาร หรือถึงขั้นวันหนึ่งอาจจะต้องเผาตัวเอง 

ถ้าจะไม่ใช่การอดอาหาร ก็อาจเป็นวิธีการในรูปแบบเดียวกับการอดอาหาร เพราะมันทำอย่างอื่นไม่ได้ อย่างเมื่อ 4-5 ปีก่อน แค่ยืนอ่านหนังสือเงียบๆ ที่ BTS ยังโดนจับเลย ทำอะไรไม่ได้เลย

เวลาพูดถึงดุลยพินิจของศาล ต้องยึดโยงกับอะไรบ้าง

ประเทศไทยตลกอย่างหนึ่ง หากเราบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนร่าง แล้วเราก็โดนรัฐประหาร จากนั้นใครก็ไม่รู้มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มันก็จะมีการใส่คำแปลกๆ ที่ตีความไม่เหมือนสากล แต่เป็นคำที่ลอกมาจากเมืองนอก เช่น คำว่า ‘นิติธรรมและจริยธรรม’ ดังนั้น เวลาใช้คำสองคำนี้ เราไม่ค่อยสบายอกสบายใจ เพราะมันอาจไม่ใช่นิติธรรมแบบที่เราเรียนมาหรือแบบที่โลกเข้าใจ

อย่างคำว่า ‘สิทธิ์’ ในประเทศไทย อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) ก็เคยพูดนะ ว่าคำว่า ‘Right’ ในทางนิติศาสตร์ มันคือ Power แต่คนไทยแปลคำว่า Right ว่า ‘สิทธิ์’ ซึ่งในทางบาลีสันสกฤตมันเหมือนการมีบุญแล้วเกิดมา วรรณะหนึ่งมีสิทธิ์มากกว่าวรรณะหนึ่ง อะไรประมาณนี้ 

เวลาเราใช้คำว่า ‘นิติธรรมและจริยธรรม’ แบบไทยๆ เราก็ไม่ค่อยสบายใจ แต่สิ่งที่เราพูดได้ในทางนิติศาสตร์คือเราสอนกันมาว่า ประเทศไทยคือประเทศ ‘Code of Law’ (กฎหมายซึ่งรวมบทกฎหมายต่างๆ ในเรื่องเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน และได้จัดให้มีการบัญญัติอย่างเป็นระบบ มีการจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย และมีข้อความเท้าถึงซึ่งกันและกัน) แล้วกฎหมายก็เขียนไว้ โดยผู้พิพากษานั้นเป็นผู้ตีความตัวบทกฎหมายและเอาไปใช้ ซึ่งแตกต่างจากระบบอย่างอเมริกาที่มีลูกขุน หรือพวกระบบอย่างที่เรียกว่า ‘The Common Law System’ (ระบบกฎหมายจารีตประเพณี) 

เราเชื่อว่า ทุกคนต่างคาดหวังว่าเราจะได้ผู้พิพากษาที่มีดุลยพินิจที่มีมาตรฐาน คำว่า ‘มีมาตรฐาน’ เช่น การที่จะไปตัดสินคน มันต้องมีหลัก มีความพอดีไหม มีความจำเป็นไหม มีความเหมาะสมไหม ถ้าคุณไปดูคำพิพากษาของศาลสูงในยุโรป เขาทำแบบนี้กันทั้งนั้น เวลาที่คุณจะฆ่าใคร จะถอดเครื่องช่วยหายใจใคร คุณเขียนอะไรมากมายเยอะแยะ แต่ตัวบทต้องยึดเป็นหลัก แต่ในส่วนที่กฎหมายให้คุณใช้ดุลยพินิจนั้น คุณต้องใช้อย่างมีมาตรฐาน เราไม่ได้พูดถึงความเป็นธรรมนะ เราพูดถึงมาตรฐาน คำนี้เราต้องการจะสื่อว่า ขอให้ศาลทำงานได้อย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่เกิดเรื่องที่พูดมาทั้งหมดนี้เลย เพราะอย่างน้อยหากสู้กันแบบแฟร์ๆ แล้วเราแพ้ เรายังรับได้นะ เพราะเหตุผลมันดี 

คุณลองไปดูเหตุการณ์ในยุโรปที่ตอนนี้เป็นเรื่องของ Privacy เขาสู้กันเรื่องว่าคำตอบในข้อสอบเป็นของอาจารย์ หรือเป็นของเด็ก แล้วศาลตัดสินว่า เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในส่วนที่เป็นข้อสอบ แต่ส่วนของการประเมินคะแนนเป็นของอาจารย์ ลองไปอ่านดูนะ มันมีเหตุผลที่ดีและมีมาตรฐาน คนก็เชื่อมั่น มันจึงไม่มีเหตุการณ์ที่คนต้องเข้าคุกแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลย

ดุลยพินิจแบบนี้แหละที่เราอยากได้ เราไม่รู้หรอกว่าเป็นนิติธรรมหรือจริยธรรมหรือเปล่า แต่รู้ว่ามันต้องมีมาตรฐาน

วินาทีที่คนคนหนึ่งต้องติดคุก โดยเฉพาะด้วยคดีทางการเมืองในลักษณะนี้ และยังไม่ได้รับการพิสูจน์ นอกจากเข้าไปในคุกแล้ว ต้องสูญเสียอะไรอีกบ้าง

หลายคนบ้านแตกสาแหรกขาดนะ ถ้าเป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ อย่างหนี้บัตรเครดิต มันทบมา ไม่มีใครไปจ่ายให้ จินตนาการว่าไม่มีคนที่ช่วยเราได้ ต้องเอาลูกไปฝากให้คนอื่นเลี้ยง แยกกันอยู่กับสามีภรรยา แล้วบ้านถูกยึดไป

ยกตัวอย่างบางคนเขาเช่าบ้านอยู่ พอออกจากคุกมาแล้วไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะมันนานมากจนเจ้าของบ้านต้องเอาทุกอย่างออกไป หรืออย่างเด็กบางคนไม่ได้ไปสอบ ใบปอ (ณัฐนิช นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) อาจจะถูกรีไทร์ตอนนี้ เราก็เขียนคำร้องไปบอกศาลแล้วก็ยังไม่ได้ประกัน อย่างทานตะวันก็เป็นนักเรียนจากสิงคโปร์ที่กำลังจะสมัครเรียนนิติศาสตร์ เขาก็จะไม่ได้เรียนปีนี้ หรืออย่างคุณรังสิมันต์ โรม ครั้งหนึ่งตอนปี 2558 เขาไม่ได้ไปสอบตั๋วทนายและก็ไม่มีตั๋วทนายมาจนถึงปัจจุบัน พลาดไปเลย

ในทางปรัชญา เวลาก็เหมือนสายน้ำ และจะไม่ไหลกลับมาแล้ว มันเป็นเรื่องจริง คุณมาทำแบบนี้กับเขา นอกจากบ้านแตกสาแหรกขาด เสียโอกาสทางการศึกษา ชีวิตอาจจะล้มไปเลย บ้านหายหมด มันจะเหลืออะไรอีก เขาสูญเสียทุกอย่าง เพราะเมื่อคนเราสูญเสียความสามารถที่จะมีเจตจำนงเสรีที่จะไปทำอะไรแล้ว เราจะสูญเสียทุกอย่าง

เพราะไทยเป็นประเทศแบบนี้ ไม่เหมือนกับเยอรมนีหรือสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าคุณโดนจับ มันยังมีขั้นตอนหลังจากนั้นที่จะมาดูแล เรื่องบ้านจะมีคนไปติดต่อ มีหนังสือราชการ มันไม่ได้หายไปเลยแบบนั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่เรากำลังแก้ไขกันอยู่ ความขัดแย้งทางการเมืองทุกวันนี้ก็เกิดจากการที่มีคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่ามันต้องดีกว่านี้

ณ ตอนนี้ที่ไทยมีมาตรา 112 ต่างประเทศเขามองอย่างไร

เขามองเราค่อนข้างแย่นะ แย่มานานแล้ว UN ก็รู้ องค์กรต่างประเทศที่เป็นพวกทนายก็รู้หมด รู้และติดตาม เพราะมันผิดอยู่แล้วสำหรับสังคมสมัยใหม่อย่างยุคนี้ หากเราบอกว่ามันมีประเทศที่เลิกเป็นไดโนเสาร์ไปแล้ว 20 ประเทศ แล้วหนึ่งในนั้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกที่พูดอะไรแล้วโลกพูดตาม เขาไม่มีแบบนี้แล้ว มันล้าสมัย

ท้ายที่สุดแล้ว หากผู้ต้องขังไม่ผิด ศาลจะต้องชดใช้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคดีทางการเมือง

ยังไม่เคยเห็นในไทยนะ หลายครั้งเราถามศาลว่าแล้วใครจะรับผิดชอบเขา ก็ไม่มีใครตอบได้ อย่าลืมว่าเวลาทำงาน ถ้าคุณบอกว่ากฎหมายเขียนอย่างนี้ก็เลยต้องทำอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นดิฉันจ้างคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้พิพากษาก็ได้ เพราะเราก็เขียนโปรแกรมบอกโทษเท่านี้ ก็ขังสิ 

แต่เชื่อว่าในอนาคตมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง อย่างปีที่แล้ว กระบวนการ 6 ตุลาฯ มีการประกาศว่าจะเอาคนที่เคยฆ่าพ่อแม่เพื่อนพี่น้องเขาไปขึ้นศาลโลก มันก็อาจจะมีหนทางก็ได้ อย่างฟิลิปปินส์เขาก็พยายามจะเอายอดเผด็จการมาลงทัณฑ์ อย่างสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มแล้ว เขากำลังเริ่มมีชุดกฎหมายบอยคอต (Boycott) บุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็จะนำมาใช้กับผู้พิพากษาได้ด้วย

เราควรคาดหวังอะไรกับกระบวนการยุติธรรมในห้วงเวลานี้

เชื่อว่า มนุษย์เราคงไม่มีใครที่อยากทำร้ายคนอื่นด้วยการที่ต้องมาตัดสินอะไรแบบนี้หรอก คนมันลำบากใจทั้งนั้นแหละ แล้วก็เชื่อว่าผู้พิพากษาหลายคนลำบากใจมาก ซึ่งเราเองก็อยากได้ผู้พิพากษาที่ทำตามมาตรฐาน 

อย่างที่เคยไปว่าความในคดีคนเสื้อเหลือง ก็จะมีคนที่พูดประมาณว่า “ไม่เป็นไร ศาลรู้ว่าเรารักชาติ รักสถาบัน เราดูแลทุกคน” มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ เราไม่ได้อยากให้ศาลเข้าข้างเรานะ แต่เราอยากให้ศาลแฟร์  

ต้องเข้าใจก่อนว่าจริงๆ ตุลาการเป็นข้าราชการ เป็นข้าประชาชน ซึ่งเขาอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เมื่อเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นและปกครองกันเองโดยที่เราก็อาจจะตรวจสอบไม่ได้ มันก็เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ว่า ถึงคุณดี คุณฉลาด คุณเข้าไป คุณก็อาจจะเป็นแค่ปลาน้อยในกระแสสังคมใหญ่ก็ได้ มันต้องใช้ความกล้าหาญมากมายและอาจจะต้องเสียทั้งชีวิตไปด้วย ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดกรณีผู้พิพากษาฆ่าตัวตายในบัลลังก์และไม่สำเร็จ เขาก็เลยไปฆ่าตัวตายอีกทีที่บ้านที่เชียงใหม่ เพราะเขารู้สึกหมดอนาคตในการเป็นผู้พิพากษาแล้ว 

ดังนั้น หนึ่งในสิ่งที่ทำได้จริงๆ คือต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตุลาการไทย เพราะหลายครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยถูกนัก ในคดีการเมืองหลายครั้งที่ผู้พิพากษาจะตัดสินใจอะไรก็ตาม เขาจะพูดว่า ขอขึ้นไปปรึกษาผู้บริหารก่อน มีคดีหนึ่งหนักใหญ่หลวงเลย เขาเขียนในบันทึกกระบวนการพิจารณาว่าต้องปรึกษาผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหาร ทางเราก็สงสัย เพราะหลายครั้งมันเป็นปัญหามากนะ เช่น คดีที่มาฟ้องว่าเราหมิ่นพระมหากษัตริย์เพราะพูดความเท็จ เราก็ขอหมายเรียกเอกสารเพื่อจะพิสูจน์ว่าเราพูดความจริง อย่างเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ศาลก็ไม่ยอมออกหมายเรียกให้ แล้วศาลก็บอกว่า “เรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์ความจริง” 

เรื่องแบบนี้เราสงสัยว่าทำไมศาลต้องปรึกษาผู้บริหาร มีอยู่วันหนึ่งเราก็ทำเอกสารเป็นหนังสือเพื่อขอเข้าไปพบผู้บริหารเลย เราอยากรู้ว่าผู้บริหารหน้าตาเป็นอย่างไรและเป็นใคร เราไปกับทนายประมาณ 10 คน เข้าไปในห้องจำเลย ผู้บริหารก็มา เขาพูดก็เข้าใจนะ เรายังฝากไปบอกอย่างดี เราบอกว่า “ฝากท่านไปอธิบายผู้พิพากษาในการบริหารของท่านด้วย” เขาบอกว่าไม่นะ เขาไม่เคยสั่ง ไม่ว่าจะเป็นดุลยพินิจ ประกันหรือไม่ประกัน เงื่อนไขในการไม่ออกหมายเรียกเอกสารให้เรา เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนทั้งนั้น เขาไม่เคยสั่งและสั่งไม่ได้ เวลาขึ้นมาปรึกษาจะปรึกษาเพียงว่า คดีจะล่าช้าไหม

เราก็เข้าใจเขา แสดงว่าเป็นดุลยพินิจจริงๆ เลยพยายามอธิบายกับผู้พิพากษาว่า ผู้บริหารของคุณพูดแบบนี้มา ทุกท่านก็เข้าใจ แต่มีท่านหนึ่งเขายกสำนวนให้ดูเลย ซึ่งเขียนว่า ‘ปรึกษา’ แต่เขาคงไปปรึกษาแค่เรื่องวัน-เวลาจริงๆ เราก็เชื่อแบบนั้น เพราะเชื่อเป็นอย่างอื่นไม่ได้ในประเทศนี้

ถ้าโครงสร้างตุลาการและกระบวนการยุติธรรมยังเป็นเช่นนี้อยู่ จะกระทบต่อประชาชนทุกคนอย่างไรบ้าง

ความขาวสะอาดและความน่าเชื่อของกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน เพราะเมื่อไม่ได้มาตรฐานแล้ว ถึงจุดหนึ่งใจคนมันจะชินชา วันหนึ่งมันจะไม่ได้มาตรฐานกับคนอื่นด้วย ดังนั้น มันจะมาถึงตัวคุณแน่ ฉะนั้นเวลาเราต่อสู้เรื่องนี้เพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลง เราต้องต่อสู้เพื่อผู้พิพากษาที่ยังลำบากใจอยู่ทุกวันนี้ด้วยนะ เพราะถ้าองค์กรนี้หรือกระบวนการยุติธรรมมันเปลี่ยน เขาอาจจะทำงานได้เต็มที่และได้มาตรฐานมากขึ้น ไม่ใช่แค่มาตรฐานในคดีการเมือง แต่หมายถึงมาตรฐานในทุกคดี รวมถึงจะเป็นการปกป้องพวกเราเองด้วย  

แต่อย่างทุกวันนี้ หากมีคนดีคนหนึ่งซึ่งมือเปื้อนเลือด เหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวูด พอทำไปแล้ว 1 ครั้ง มันก็อาจจะทำอีกและไม่ใช่เพียงคดีการเมืองก็ได้ ถ้าเราไม่สนับสนุนระบบที่ขาวสะอาด เราก็จะกลายเป็นผู้ที่สนับสนุนสิ่งนี้ตลอดไป แล้วมันก็จะเกิดขึ้นอีก เมื่อมันเกิดขึ้นได้ 1 ก็จะเกิดขึ้นได้ 2 ดังนั้น มันเกี่ยวข้องกับเราแน่

วันหนึ่งคุณอาจเป็นตกเป็นจำเลยก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นคดีการเมือง แล้วเราจะมานั่งคิดว่ามันยุติธรรมหรือเปล่า ตำรวจทำถูกหรือเปล่า เราไม่แน่ใจ แต่มันเป็นคดีจับเช็คอะไรอย่างนี้ เป็นไปได้นะ และมันเกิดขึ้นแล้วในวงการตำรวจ บางทีคดีจับเช็ค รับของโจร ไม่ใช่คดีการเมืองทั้งนั้นเลย 

อีกเรื่องหนึ่งที่ขอพูด แม้จะไม่มีใครถาม แต่เราว่าสำคัญมาก เพราะเพิ่งประชุมกับเพื่อนที่ทำงานอยู่เมืองนอก คดี 112 ไม่ควรจะมีโทษจำคุก เวลาที่ต้องจัดการกับกรณีบุคคลสาธารณะระดับประเทศ ไม่ว่าใครก็ตาม เราควรจะจัดการด้วยกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุคสมัยใหม่ เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร จะให้คนที่มีโซเชียลมีเดียห้ามโพสต์ ก็คงไม่ได้หรอก

เนื่องจากมันเป็นแบบนี้ ก็ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายต้องเปลี่ยน เพราะความผิดในคดี 112 ไม่ได้เป็นอาชญากรรม หากว่าเป็นอาชญากรรมก็ไม่ควรจะมีโทษทางอาญาถึงขั้นติดคุก เพราะเขาไม่ได้มีลักษณะวางเพลิง เผาทรัพย์ ไล่แทงคน อย่างแจ็กเดอะริปเปอร์ อย่างนี้ควรเอาเข้าคุก แต่ความผิดทางความคิดไม่ควรจะเป็นไปในลักษณะที่ว่ายิ่งทำซ้ำยิ่งต้องติด คุณทำเหมือนเขาเป็นฆาตรกรต่อเนื่อง มันไม่ควร

ตอนเป็นนักศึกษานิติศาสตร์​ เคยจินตนาการถึงภาพทุกวันนี้ไหม ในวันที่หลายคนสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรม

เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ เพราะในช่วงที่คุณประเวศ ประภานุกูล (ทนายความ) ทำคดี 112 กรณีดา ตอปิโด เราได้มีโอกาสไปช่วยเขาพิมพ์สำนวน แล้วเราก็ได้เรียนกับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งสนใจคดีของดา ตอปิโด แล้วเราก็ได้เห็นคดีอากง ส่วนเพื่อนในรุ่นของเรา ก็มีคุณพ่อที่ต้องติดคุก ซึ่งก็คือคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข 

เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ แต่… ตอนนั้นเรายังเด็ก เราไม่คิดว่ามันจะเลวร้ายชั่วช้าขนาดนี้ ทีนี้พอเรามาเห็นเอง หลายครั้งเราก็ยังถอยอยู่ มันก็มีวันที่เราตัองสะเทือนใจ เราอยากจะบอกเด็กสมัยนี้ที่สิ้นหวังอยู่ว่า… พูดแบบนี้ก็แล้วกัน ตัวเราเองก็อยู่ในสภาวะที่สิ้นหวัง แต่เราก็อยากสู้ เพราะเราไม่อยากเป็นคนที่ต้องบอกเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานที่เขาเป็นเจ้าของประเทศ ว่าเราไม่ได้ทำให้เขาเต็มที่ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในรุ่นของเรา เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คิดไม่ฝัน อย่างการยืนในโรงหนัง ปรากฏการณ์ที่มีคนมาทำโพล

อย่างกรณีศาลชั้นต้นในต่างจังหวัด เขามีความคิดที่เรียกว่าทันต่อโลก ทันสมัย และต่อต้านเผด็จการ เราเห็นจากการทำคดีในกรุงเทพฯ แล้ว เราต้องอ้างอิงคำพิพากษาของศาลต่างจังหวัด ผู้พิพากษาบางคนยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลที่ดีมาก แล้วมีเกิน 10 คดี ซึ่งเป็นผู้พิพากษารุ่นใหม่ทั้งนั้น เราได้แต่หวังว่าคนเหล่านี้ในอนาคต วันหนึ่งจะไม่กลายมาเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้ แล้วมาพูดว่า ฉันมีลูกมีเมียไง ฉันเลยต้องทำแบบนี้ มันอาจมีคนคิดแบบนั้น เราถึงได้มีกระบวนการยุติธรรมและดุลยพินิจแบบนี้ 

หากให้พูดกับเด็กนิติศาสตร์ที่ในอนาคตต้องไปเป็นทนาย อัยการ หรือผู้พิพากษา ที่อาจต้องมาเจอเรื่องนี้ เราจะบอกว่า คนข้างนอกเขาไม่ตัดสินคุณหรอกถ้าคุณทำเต็มหน้าที่ ไม่ว่าเราจะเหลืองหรือแดง เราคงไม่มาด่าคนที่เราไม่ถูกใจ แต่เราคงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะต้องไปทำหน้าที่ไหนก็ตาม หรือมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหนก็ตาม คุณต้องมีการทำงานที่มีมาตรฐานและมีเหตุผล ถ้าคุณทำแบบนั้น คุณจะอธิบายสังคมได้ว่าทำไมจุดยืนของฉันถึงเป็นแบบนี้ 

ในอนาคต สายงานนิติศาสตร์ของประเทศไทยจะหนักมาก

ในฐานะที่ทำคดีมาตลอดหลายปี ได้เห็นปรากฏการณ์หรือแง่คิดอะไรจากเส้นทางการทำงานนี้บ้าง

เราได้เรียนรู้เยอะมากจากเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะคนในรุ่นเราไม่มีใครกล้าทำเรื่องแบบนี้ ไม่มีจริงๆ นะ ดังนั้น เราได้เรียนรู้เยอะมากว่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร และการที่รู้จักกับคนรุ่นใหม่ทำให้เรามีความหวังกับสังคมไทยมากๆ เพราะเรารู้สึกว่าคุณภาพของคนรุ่นนี้สูงกว่าคนรุ่นก่อน แล้วก็ได้เห็นปัญหามากมายในกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งมีตั้งแต่ก่อนจะไปถึงศาล บนถนน ตั้งแต่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไปจนถึงจ่าศาล หรือแม้กระทั่งการเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ที่เล่ามาคือต้องต่อสู้ทุกชั้น บางทีจะให้แม่เขามานั่งฟังกับจำเลย เรายังต้องขอ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ควรหรอก เพราะเรารู้สิทธิ์ของตัวเองดี 

เราเห็นว่าปัญหาของประเทศมันอาจจะไม่ได้มีอยู่แค่กระบวนการยุติธรรมก็ได้ นอกจากต้องแก้กระบวนการยุติธรรมแล้ว อาจจะต้องแก้ความเข้าใจของคนไทย เรื่องสิทธิและเสรีภาพด้วย เพราะคนไทยหลายๆ คน ดูจะเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพก็ต่อเมื่อมันมีผลประโยชน์ต่อตัวเอง แต่ดูจะไม่เข้าใจสิทธิและเสรีภาพในเชิงที่ว่าทุกคนมีสิทธิเท่ากัน หลายคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจตรงนี้ดีนัก 

ปัญหาใหญ่คือศาลหรือตำรวจ องค์กรเขาถูกครอบงำจากบางอย่าง ทำให้เขาไม่มีอิสระอย่างแท้จริง อย่างพนักงานสอบสวน เขาไม่มีอิสระอย่างแน่นอน ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ว่าต้องมี 

แต่ทั้งหมดที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของเราคือ ‘ลูกความ’ เพราะเขาเอาอะไรใหม่ๆ มาเสนอ แบ่งปัน และเปิดโลกให้เราเห็นว่า สภาพสังคมที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

หมวด 2 หมายอาญา ส่วนที่ 2 หมายจับ มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควร หรือจำเลยเป็นผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง (2) เมื่อความผิดที่ผู้ต้องหาถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควรหรือที่จำเลยถูกฟ้องนั้น มีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป (3) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมหรือขังอยู่ ไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรก็ดี ได้หนีไปก็ดี มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี (4) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งถูกปล่อยชั่วคราว มิสามารถทำสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงกว่าเดิมหรือหาหลักประกันมาเพิ่มหรือให้ดีกว่าเดิมตามมาตรา 115

หมวด 2 ส่วนที่ 4 หมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย มาตรา 71 เมื่อจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้มาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้ ในระหว่างสอบสวนพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังตามความในมาตรา 87 ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาศาลจะออกหมายขังโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องก็ได้ หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอน โดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน

ลักษณะ 5 จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว หมวด 1 จับ ขัง จำคุก มาตรา 87 ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ในกรณีซึ่งเป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าที่จะถามคำให้การและที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของ เขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น

ที่มา: ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า