แขกระดับ VIP ณ ห้องรับรองกระบวนการยุติธรรมไทย

เหตุการณ์สมมุติ หากคุณโดนพี่ตำรวจโบกมือเรียกหลังเหยียบคันเร่งฝ่าไฟแดง ณ สี่แยกแห่งหนึ่ง เอาล่ะ พี่ตำรวจเดินเข้ามาใกล้แล้ว สิ่งที่คุณจะทำคือกดปุ่มเลื่อนกระจกลง แล้ว…

ก. “รู้ไหมกูลูกใคร”

ข. “ผมรู้จักกับท่าน xxx”

ค. “เท่าไหร่ครับ”

ง. “ยืมรถเพื่อนมา ใบขับขี่หายไปแล้ว”

จ. หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา “พี่ xxx ผมโดนจ่า yyy เรียก พ่อพี่เป็นตำรวจ ช่วยคุยให้หน่อย”

ชีวิตคนธรรมดาก็แบบนี้ เวลาทำอะไรผิดกฎหมายสักนิดสักหน่อยก็ต้องหาทางซิกแซกดั้นด้นเอาตัวรอดให้ได้ นี่แค่ทางเลือกสนุกๆ ในชีวิตประจำวันของระบบกฎหมายที่บางครั้งมันก็ขำขื่นแบบนี้ – ก็เรามันคนธรรมดาๆ ยังไงก็ผิด ไม่เหมือนมนุษย์ VIP ทั้งหลาย จนมีประโยคค่อนแคะตามมาว่า “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย”

มาถึงเรื่อง ‘ดราม่า ป่าทุ่งใหญ่ เสี่ยเปรมชัย และเสือดำ’ ที่สร้างกระแสทวงคืนความเป็นธรรมให้เสือดำ และให้กระบวนการยุติธรรมจัดการลงโทษ นายเปรมชัย กรรณสูต ให้สมกับความผิดที่ได้ทำไว้

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารเกิดขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์หัวสีลงข่าวนายเปรมชัย “รอด ผมว่ารอด” “แต่เขาก็ไม่ผิดกฎหมาย zzz นะ” “หนีออกไปตามช่องทางธรรมชาติแล้วมั้ง” “คุกมีไว้ขังคนจน”

และ “รวยแบบ VIP ระดับนี้ ถึงผิดจริง ยังไงก็รอด” จริงเสมอไป…ใช่เหรอ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่อยครั้งที่กระบวนการยุติธรรมเป็นอัมพาตเมื่อต้องดำเนินคดีกับคนใหญ่คนโต โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งผลออกมาหลายแบบ หนึ่ง-ไม่ผิด (เพราะเป็นฝีมือไอ้ปื๊ด) สอง-ผิด แต่ตัดสินแล้วรอด พยานหลักฐานอ่อน ชนิดค้านสายตาคนดู

แต่เพราะโชคแท้ๆ สวรรค์ยังตาดี บุคคล VIP ระดับคหบดีจำนวนหนึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกฎหมายด้วยพยานหลักฐานมัดตัวจนดิ้นไม่หลุด ถึงขั้นมีผลการตัดสินในชั้นศาลออกมาท้ายที่สุดว่า ‘ผิด’ และต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะติดคุก อุทธรณ์ตามขั้นตอน หรือหนี อันนี้แล้วแต่ใครจะเลือกเอา

WAY ย้อนเวลากลับไปคุ้ยแคะเรื่องราวของบุคคล VIP จำนวนหนึ่ง ว่าเมื่อต้องเข้าห้องรับรองกระบวนการยุติธรรมจริงๆ ที่นั่งของพวกเขาอยู่ตรงไหน

“คุณว่าเปรมชัยจะโดนข้อหาอะไรหรือเปล่า” – นั่นสิ


จับ ‘เปรมชัย’ ล่าเสือดำทุ่งใหญ่ฯ

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

พาดหัวข่าว:

จับ ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ซีอีโอ อิตาเลียนไทยกลางป่าทุ่งใหญ่ พร้อมไรเฟิลล่าสัตว์

– มติชน 6 กุมภาพันธ์ 2561

ผมไม่ได้ฆ่าเสือดำ! ‘เปรมชัย’ ปฏิเสธทุกข้อหา

– Workpoint News 14 มีนาคม 2561

เหตุ: เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เฟซบุ๊คเพจ ‘คนอนุรักษ์’ เปิดประเด็นบิ๊กอิตาเลียนไทยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ โดยรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวมสี่คน พร้อมซากสัตว์ป่าคุ้มครองถูกชำแหละและถลกหนัง ได้แก่ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง เสือดำ อีกทั้งตรวจพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมาก

คดี: คดีฆ่าเสือดำสั่นสะเทือนความรู้สึกของสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นนักธุรกิจบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ทำให้สังคมจับตามองว่า ผู้กระทำความผิดอาจรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และท้ายที่สุดอาจเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่

พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ยืนยันว่าตำรวจไม่มีความกังวล โดยจะบังคับใช้กฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นนักธุรกิจดัง มีชื่อเสียง มีตำแหน่งทางสังคม ก็ไม่เกี่ยวกัน กฎหมายไม่มีใครใหญ่ ใครไม่ใหญ่ ใครเกี่ยวข้องก็จับให้หมด

เช่นเดียวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เล่าถึงวินาทีที่ตัดสินใจเข้าจับกุมว่า “ไม่ได้วิตกหรือเกรงกลัว และเชื่อว่าคณะเจ้าหน้าที่และทีมงานทุกคนก็ต้องการที่จะเห็นภาพนี้ อย่างน้อยเจ้าหน้าที่ของเราไม่ได้มีการจับกุมเฉพาะชาวบ้านที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น โดยคนที่มีฐานะทางด้านการเงินที่ดีเมื่อกระทำผิด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม การปฏิบัติก็ต้องเท่าเทียมกันกับชาวบ้านหรือประชาชนทุกคน”

หลังการจับกุม ตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ ได้แจ้งข้อกล่าวหาเก้ากระทง ได้แก่

  1. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  2. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  3. ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  4. ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  5. ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย
  6. ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
  7. ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
  8. ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2538
  9. มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหายื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาเพิ่ม ฐานร่วมกันติดสินบนเจ้าพนักงาน โดยพลตำรวจเอกศรีวราห์ระบุถึงความคืบหน้าของคดีว่า ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดสรุปสำนวนส่งอัยการ ส่วนพยานหลักฐานที่มีจะเอาผิดนายเปรมชัยได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจของอัยการได้

“ในกฎหมายไม่มีรวยหรือจน มีแต่ผู้ที่กระทำผิดหรือไม่กระทำผิด ตราบใดที่ผมยังอยู่ตรงนี้ ก็จะทำงานตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ คนไทยมี 60 กว่าล้านคน โลกโซเชียลมีไม่ถึงล้านคน มีเพียงไม่ถึงล้านหรือสองล้านคนที่คิดแบบนั้น” พลตำรวจเอกศรีวราห์ กล่าวย้ำอีกครั้งภายหลังสอบปากคำนายเปรมชัยเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนสำนวนคดีของ สภ.ทองผาภูมิ จำนวนเก้าข้อหา พลตำรวจเอกศรีวราห์กล่าวว่า ขณะนี้ผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังขาดอยู่บางส่วน โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อนำส่งอัยการต่อไป สำหรับคดีครอบครองอาวุธปืน หากเข้าข่ายวัตถุโบราณก็จะมีการดำเนินคดีเพิ่มอีกหนึ่งข้อหา

นอกจากนี้ ความผิดในคดีครอบครองงาช้างแอฟริกาสองคู่ของ นางคณิตา กรรณสูต ภรรยาของนายเปรมชัย และ นางสาววันดี สมภูมิ คนสนิท อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกรมศุลกากรว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าหรือไม่ ล่าสุดศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว ด้วยเงินประกันตัวคนละ 300,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่มีผู้แจ้งความเอาผิดนายเปรมชัยในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งแม้จะไม่เข้าเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 แต่กลับส่งผลให้ ร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความดำเนินคดี ถูกภาคทัณฑ์ฐานบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้สังคมส่วนหนึ่งเกิดความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

เขาอยู่ไหน: ตลอดระยะเวลาของการดำเนินคดี นายเปรมชัยไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศตามที่หลายคนคาดการณ์ กลับกันยังคงเข้ามอบตัวและให้ปากคำตรงตามวันเวลาเกือบทุกนัด ด้วยสีหน้าเรียบเฉยอย่างยิ่งและไม่มีทีท่าวิตกกังวลแต่อย่างใด

ระยะเวลา: 4 กุมภาพันธ์ 2561 – ปัจจุบัน

ไฮโซหมูแฮม พุ่งเบนซ์ชนกระเป๋ารถเมล์ดับ

นายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ ‘หมูแฮม’ บุตรชาย นายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับ นางสาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทยปี 2527 นายกัณฑ์เอนก ผู้เป็นพ่อ เคยเป็นจำเลยในความผิดฐานมียาไอซ์ ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเพื่อเสพโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน สั่งจำคุก 2 ปี 9 เดือน ปรับ 200,000 บาท ไม่รอลงอาญา แต่ได้ขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีชั้นฎีกาจำนวน 450,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาล (มีนาคม 2561)

พาดหัวข่าว:

จำคุก ‘หมูแฮม’ 2 ปี 1 เดือน ศาลฎีกาแก้ไม่รอลงอาญา

– เดลินิวส์ 18 กันยายน 2558

ฎีกาจำคุก 2 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ไฮโซ ‘หมูแฮม’ ซิ่งเบนซ์ชนพนักงาน ขสมก. ดับ

– ผู้จัดการ online 18 กันยายน 2558

คำค้นยอดฮิตใน Google ในคดีนี้คือ “ลูกนางงามขับรถชน”

เหตุ:  เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 เวลา 21.40 น. พันตำรวจโทญาณวุฒิ เลี่ยมแก้ว พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.ทองหล่อ ได้รับแจ้งเหตุรถชนคนบนฟุตบาธ โดยนายกัณฑ์พิทักษ์ใช้ก้อนหินทุบใบหน้า นายสถาพร อรุณศิริ พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 513 ทะเบียน 12-0939 กรุงเทพมหานคร และขับรถเบนซ์ ทะเบียน ศศ 6699 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนผู้โดยสารที่ยืนบนทางเท้า และ นางสายชล หลวงแสง พนักงานเก็บเงิน ขสมก. เสียชีวิต หลังเกิดเหตุรถเมล์ขับปาดหน้ารถของนายกัณฑ์พิทักษ์ให้หยุดบริเวณหน้าป้อมตำรวจจราจรที่ปากซอยสุขุมวิท 26 แยกอารีย์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

คดี: วันที่ 28 พฤศจิกายน 2550  ตำรวจได้นำสำนวนการสืบสวนส่งอัยการ เพื่อสั่งฟ้อง นายกัณฑ์พิทักษ์สามข้อหาคือ

  1. ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
  2. พยายามฆ่าผู้อื่น
  3. ทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้รับบาดเจ็บ

วันที่ 13 มีนาคม 2551 อัยการมีความเห็นว่าสมควรสั่งฟ้อง รวมสามข้อหาข้างต้น โดยจำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และปฏิเสธในข้อกล่าวหาที่เหลือ พร้อมบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ขอโทษ เพราะสิ่งที่ทำไปนั้นทำโดยไม่รู้ตัว”

วันที่ 30 มกราคม 2552 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 15 ปี ในคดีเจตนาฆ่าผู้อื่น และ 2 เดือน สำหรับฐานทำร้ายร่างกาย แต่จำเลยรับสารภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และได้เยียวยาผู้เสียหายเป็นจำนวนเงินพอสมควร จึงลดโทษฐานฆ่าผู้อื่นเหลือ 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเหลือ 1 เดือน

วันที่ 5 มีนาคม 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ศาลชั้นต้น โดยตัดสินว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นจริง แต่ทำในขณะที่บังคับตัวเองไม่ได้เพราะจิตบกพร่องผิดปกติ ลดเหลือให้จำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือจำคุก 2 ปี 1 เดือน เพราะเยียวยาผู้เสียหายจนพอใจไม่ติดความดำเนินคดีต่อ และโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงความเห็นว่าจำเลยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน ซึ่งมีผลอาจทำให้บังคับตัวเองไม่ได้ เพราะสติฟั่นเฟือน

วันที่ 18 กันยายน 2558  ผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินแก้ศาลอุทธรณ์ในประเด็นรอการลงโทษ โดยศาลฎีกาเชื่อว่าหมูแฮมป่วยทางจิตจริง ตามความเห็นทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แต่การที่พ่อของจำเลยยอมให้ลูกชายขับรถ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ไขว่า ไม่รอการลงโทษให้จำเลย จึงให้ยกเลิกการคุมประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คือ จำคุกทันทีเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ระยะเวลา: 4 กรกฎาคม 2550 – 18 กันยายน 2558 รวมเวลา 8 ปี 2 เดือน

อ้างอิงข้อมูลจาก: thairath.co.th
manager.co.th
dailynews.co.th
thairath.co.th

ทายาทกระทิงแดง ทับตำรวจดับ ใช้ชีวิตหรู ตปท. รอหมดอายุความ

นายวรยุทธ อยู่วิทยา บุตรของ นายเฉลิม อยู่วิทยา ลูกชายคนโตของ นายเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าสัวกระทิงแดงรุ่นแรก

พาดหัวข่าว:

วรยุทธ อยู่วิทยา เซอร์ไพรส์แรง!! วันเกิด 64 ปีคุณพ่อเฉลิม

– ผู้จัดการ online 3 กันยายน 2555

เฟอร์รารี่ลาก 200 ม. หนีเข้าบ้าน สวป. ทำงามหน้าหาแพะรับแทน บิ๊กแจ๊ดฉุนกดดัน-ยอมมอบตัว

– ไทยรัฐ 4 กันยายน 2555

พี่ชายเหยื่อ บอส อยู่วิทยา ‘ครอบครัวไม่หวังมีอภินิหารทางกฎหมาย’

– BBC ไทย 28 มีนาคม 2560

เหตุ:  เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ ‘บอส’ ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ขับรถเฟอร์รารี่ พินินฟาริน่า สีบรอนซ์เทา ทะเบียน ญญ 1111 ชน ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

คดี: ความผิดของนายวรยุทธคือ

  1. ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี หมดอายุความ 3 กันยายน 2570 โทษคือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  2. ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน มีอายุความห้าปี หมดอายุความ 3 กันยายน 2560
  3. ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีอายุความเพียงหนึ่งปี

ที่สุดแล้วอัยการสูงสุดตัดสินส่งฟ้องในสองคดีคือ คดีที่หนึ่งและสอง

วันที่ 25 เมษายน 2559 อัยการนัดนายวรยุทธครั้งแรก แต่นายวรยุทธมอบอำนาจทนายความขอเลื่อน โดยให้เหตุผลว่าอยู่ต่างประเทศ

วันที่ 25 พฤษภาคม อัยการนัดอีกครั้ง แต่นายวรยุทธยังไม่มา

วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 อัยการมีหนังสือไปถึงตำรวจ สน.ทองหล่อ ให้ติดตามตัวนายวรยุทธ แต่นายวรยุทธขอเลื่อนเนื่องจากร้องขอความเป็นธรรมพยานในประเด็นการขับรถเร็วไปที่คณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 24 มิถุนายน 2559 อัยการยืนยันให้เข้าพบเพื่อส่งฟ้อง แต่นายวรยุทธก็ขอเลื่อนอีก โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมคณะกรรมาธิการฯ อัยการจึงแจ้งตำรวจทองหล่อให้ติดตามมาให้ทันส่งฟ้องภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2559

วันที่ 28 ตุลาคม 2559 นายวรยุทธยังขอเลื่อนอีกด้วยเหตุผลเดียวกับครั้งก่อนหน้า อัยการจึงให้มาพบเพื่อส่งฟ้องอีกครั้งภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 นายวรยุทธก็ขอเลื่อนอีก อ้างติดภารกิจที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัยการจึงเลื่อนนัดเป็นวันที่ 28 ธันวาคม 2559

วันที่23 ธันวาคม 2559 คณะกรรมาธิการฯ ทำหนังสือถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ว่านายวรยุทธได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการฯ และหลังการสอบสวนได้นัดให้นายวรยุทธมาพบ 30 มีนาคม 2560 แต่นายวรยุทธก็ขอเลื่อนคดีอีกครั้งโดยอ้างว่าติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงให้เลื่อนเป็นวันที่ 27 เมษายน 2560 โดยทางอัยการระบุว่า หากแจ้งขอเลื่อนด้วยเหตุผลเดิมจะให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับทันที จนทุกวันนี้นายวรยุทธก็ยังไม่มาตามนัด มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘บอส’ ใช้ชีวิตอย่างหรูหราสุขสบายในหลายประเทศ

วันที่ 12 กันยายน 2560 ตำรวจสากล (Interpol) เผยแพร่หมายต้องการตัว (หมายจับแดง-Red Notice) นายวรยุทธ อยู่วิทยา หลังจากที่ทางการไทยเพิกถอนหนังสือเดินทาง

วันที่ 15 มีนาคม 2561 มีรายงานว่าหมายจับแดงของนายวรยุทธถูกถอดออกจากเว็บไซต์ของตำรวจสากล

วันที่ 16 มีนาคม 2561 พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าหมายจับนายวรยุทธยังอยู่ในระบบของตำรวจสากล แต่ไม่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์

วันที่ 19 มีนาคม 2561 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ารายชื่อของนายวรยุทธไม่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ตำรวจสากล และกระทรวงการต่างประเทศไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่แล้ว

เขาอยู่ที่ไหน: ใช้ชีวิตอย่างหรูหราในหลายประเทศ

ระยะเวลา: 3 กันยายน 2555 – ปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก: nationtv.tv
thairath.co.th
khaosod.co.th
komchadluek.net

เบนซ์หรูซิ่งชนฟอร์ดเพลิงท่วม สอง นศ. ป.โท ดับสยอง

นายเจนภพ วีรพร ทายาท เลนโซ่ กรุ๊ป

พาดหัวข่าว:

ชนย่าง 2 ศพ นิสิต ป.โท ดับ

– ไทยรัฐ 14 มีนาคม 2559

ทวงถาม! “คุก…ไม่ได้มีไว้ขังคนรวย?” แฉ! ทะเบียน ษง 3333 ชนยับมาเพียบ!

– ผู้จัดการ online 17 มีนาคม 2559

ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน เจนภพ วีรพร คดีเบนซ์ไม่รอลงอาญา! ‘เจนภพ’ เจอคุก 2 ปี 6 เดือน ขับรถชนตาย 2 ศพ

– กรุงเทพธุรกิจ 19 กรกฎาคม 2560

เหตุ: เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 นายเจนภพ วีรพร อายุ 37 ปี ขับรถเบนซ์สีดำ ทะเบียน ษง 3333 ด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์ฟอร์ดเฟียสตา จนเกิดไฟลุกไหม้ ทำให้ นายกฤษณะ ถาวร อายุ 32 ปี และ นางสาวธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย อายุ 34 ปี เสียชีวิตในกองเพลิง ทั้งคู่เป็นนิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 29 มีนาคม 2559 มีการเปิดเผยว่า วันเกิดเหตุนายเจนภพขับรถด้วยความเร็วประมาณ 215-257 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และข้อมูลชุดถัดมาระบุว่า รถเบนซ์สีดำขับพุ่งชนแผงกั้นทางด่วนพระราม 4 (บ่อนไก่) ด้วยความเร็วสูงและขับไปอย่างรวดเร็ว

วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 นายเจนภพบวชอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตทั้งสองเป็นเวลา 15 วัน

คดี: 9 พฤษภาคม 2560 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง นายเจนภพ วีรพร ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ็ดข้อหาคือ

  1. ขับรถโดยประมาทจนอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  2. ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
  3. ขับรถในขณะเมาสุราหรือเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  4. เป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  5. ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
  6. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
  7. เป็นผู้ขับฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนที่สั่งให้มีการทดสอบ และตรวจสอบผู้ขับรถตามกฎหมาย โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร

นายเจนภพรับสารภาพเพิ่มหนึ่งข้อหาคือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หลังก่อนหน้านี้ยอมรับแล้วหนึ่งข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ยังสามารถตกลงเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายกับญาติผู้เสียชีวิตได้

วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลมีคำตัดสินคดีเบนซ์ชนฟอร์ดให้ลดโทษจำคุก นายเจนภพ วีรพร เหลือ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาขับโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต กึ่งหนึ่งจาก 5 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ไม่รอลงอาญา แต่อนุญาตให้ประกันตัวไปสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ วงเงินประกันตัว 200,000 บาท

ระยะเวลา: 13 มีนาคม 2559 – 19 กรกฎาคม 2560

อ้างอิงข้อมูลจาก: khaosod.co.th
pptvhd36.com
thairath.co.th

มหากาพย์โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

วัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (15 พฤศจิกายน 2540 – 9 กุมภาพันธุ์ 2544)

เหตุ: โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษของจังหวัดสมุทรปราการ โดย ABD ว่าจ้างบริษัท มอนต์โกเมอรี วัตสัน เอเชีย จำกัด (Montgomery Watson Asia: MWH) และคณะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

เดือนเมษายน 2538 MWH และคณะ เสนอให้แบ่งโครงการบำบัดน้ำเสียเป็นสองระบบ คือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยฝั่งตะวันออกจะระบายน้ำเสียลงทะเล ส่วนฝั่งตะวันตกจะระบายน้ำเสียลงคลอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในระยะยาว รวมถึงมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงน้อยที่สุด

บริษัทจึงเสนอให้มีโรงบำบัดน้ำเสียสองแห่งในแต่ละฝั่งของจังหวัดสมุทรปราการ โดยฝั่งตะวันออกเสนอให้มีโรงบำบัดน้ำเสียที่ตำบลบางปูใหม่ ขนาดที่ดิน 1,550 ไร่ และฝั่งตะวันตกเสนอที่ตำบลคลองบางปลากด ขนาดที่ดิน 350 ไร่

มิถุนายน 2538 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการตามรูปแบบที่ MWH และคณะ ได้ทำการศึกษา ต่อมาในเดือนตุลาคม 2538 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการ และเดือนธันวาคม 2538 กรมควบคุมมลพิษจึงประกาศประกวดราคาโครงการ ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินโครงการ ‘แบบสองฝั่ง’

การดำเนินโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ มีจุดสังเกตที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องหลายประการ สรุปได้ดังนี้

  1. ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเข้าประกวดราคา ได้คัดเลือกให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ผ่านคุณสมบัติ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในเอกสารการประกวดราคา
  2. ประกาศให้พื้นที่ในตำบลคลองด่าน ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ และมีการเพิ่มพื้นที่ของโครงการฝั่งตะวันออก จาก 1,550 ไร่ เป็น 1,900 ไร่ ทำให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด มีคุณสมบัติเพียงรายเดียว (บริษัท คลองด่านมารีนฯ มีสำนักงานอยู่ที่เดียวกันกับบริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งน้องของ นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 22 อีกทั้ง ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัท คลองด่านมารีนฯ และบริษัท ปาล์ม บีชฯ เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน)
  3. นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น ร่วมกับข้าราชการระดับสูงในกรมควบคุมมลพิษสี่ราย เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นวาระ ‘เพื่อทราบ’ ให้เพิ่มงบประมาณจาก 12,800 ล้านบาท เป็น 22,900 ล้านบาท โดยไม่มีที่มาว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากการศึกษาของผู้ใด
  4. ขั้นตอนการเจรจาต่อรองไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา แต่ดำเนินการโดย นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น และพวก ซึ่งไม่มีหน้าที่ต่อรองราคา ทำให้ภาครัฐเสียเปรียบ และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กิจการร่วมค้า NVPSKG เช่น ต่อรองลดขอบเขตของโครงการ ต่อรองลดหลักประกันต่างๆ ต่อรองให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในเอกสารการประกวดราคา เป็นต้น
  5. ขั้นตอนการส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณ โดยนายปกิตส่งรายละเอียดการเปรียบเทียบราคาที่ได้รับอนุมัติครั้งแรกกับราคาที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่เคยส่งรายละเอียดของราคาให้สำนักงบประมาณพิจารณา อีกทั้งรายละเอียดของราคาที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ตรงกับที่ต่อรอง โดยระบุราคาของบางรายการสูงกว่าที่ต่อรอง หรือไม่แสดงราคาของบางรายการ
  6. นายปกิตไม่ได้เสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบ ‘รวมฝั่ง’ และการขอเพิ่มงบประมาณให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยเสนอเพียงเรื่องการขอขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากปีงบประมาณ 2540-2544 เป็น 2540-2545 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเรื่องการขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันเพียงเรื่องเดียว
  7. คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและคณะกรรมการตรวจการจ้างไม่เคยตรวจสอบที่ดินที่จัดซื้อ และไม่ได้นำราคาที่ดินและ/หรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียง และราคาประเมินจากธนาคารพาณิชย์มาเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ราคาที่ดินที่เหมาะสม แต่ซื้อที่ดินจากบริษัท คลองด่านมารีนฯ ในวงเงินสูงถึง 1,960 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินถึง 1,040 ล้านบาท รวมถึงยังมีการเปิดเผยในภายหลังอีกว่า ที่ดินดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคลองสาธารณประโยชน์ ทางสาธารณประโยชน์ และเป็นที่หวงห้ามของราชการ

ปี 2559 ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายมั่น พัธโนทัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ใกล้ชิด นายวัฒนา อัศวเหม ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ว่า นายวัฒนาพร้อมกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหากโอกาสเปิด เพราะเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ปราศจากอิทธิพลทางการเมืองเหมือนอดีต

“ตลอดระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมา ขณะที่นายวัฒนารับชะตากรรมอยู่ต่างแดน ก็ไม่เคยสร้างความยุ่งยากให้กับบ้านเมืองเลย ขณะเดียวกันก็มี ‘ข้อมูลใหม่’ ข้อเท็จจริงหลายอย่างที่สาธารณชนไม่เคยรับรู้ และเคยเปิดเผยมาก่อน หากข้อมูลหลักฐานเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมช่วงนั้น นายวัฒนาคงไม่ต้องเป็นเช่นทุกวันนี้ นายวัฒนาจึงขอโอกาสแผ่นดินไทย เพื่อนำข้อเท็จจริงพิสูจน์อีกครั้ง ผลเป็นอย่างไรก็ยอมรับ” นายมั่นกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ

คนใกล้ชิดนายวัฒนากล่าวอีกว่า คนยังเข้าใจว่านายวัฒนาเป็นตัวละครสำคัญเกี่ยวกับคดีคลองด่านทุกเรื่อง ถูกกล่าวหาแบบรวบยอดว่ากว้านซื้อที่ดินเตรียมขายให้กรมควบคุมมลพิษ และยังเข้าใจผิดว่าเป็นผู้รับเหมาอีกด้วย การสู้คดีภายใต้อิทธิพลการเมืองใหญ่ขณะนั้น ทำให้หลักฐานเอกสารเข้าไม่ถึงกระบวนการพิจารณาของศาล โดยเรื่องที่ดิน นายวัฒนาซื้อผืนแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 เนื้อที่ 16 ไร่เศษ และทยอยรับซื้อจนมีเนื้อที่ 309 ไร่กว่า ในนาม บริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด และการซื้อที่ดินตั้งแต่ปี 2531-2533 ก็มิใช่ซื้อเพื่อเตรียมขายกรมควบคุมมลพิษ ตามที่สื่อและสาธารณชนเข้าใจผิดมาตลอด

“เวลาที่ซื้อที่ดินจากชาวบ้านนั้น กรมควบคุมมลพิษยังไม่เกิดเลย จากซื้อที่ดินผืนแรกเมื่อปี 2531 อีกห้าปีต่อมา จึงมีการตั้งกรมควบคุมมลพิษในปี 2535 เมื่อบริษัทปาล์มบีช ขายที่ดินให้บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิซเชอรี่ นายวัฒนาก็สิ้นสุดการเข้าไปพัวพันเกี่ยวกับที่ดินคลองด่าน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องซื้อขายใดๆ ในภายหลังอีกเลย และไม่เกี่ยวข้องกับการรับเหมาก่อสร้างใดๆ และไม่มีส่วนได้เสียกับค่าโง่แต่อย่างไร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้” นายมั่นกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจในคดีระดับตำนานนี้ก็คือ ทำไมนายวัฒนาจึงเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

คดี: สถานะคดีของโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านมีตัวละครมากมายที่เข้ามาเกี่ยวพัน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก วัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 เนื่องจากใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอยซึ่งเป็นที่หวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาจำคุกวัฒนากับพวกรวม 10 คน คนละ 3 ปี ในคดีที่กรมควบคุมมลพิษยื่นฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อที่ดินจำนวน 1,900 ไร่ มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท

เขาอยู่ไหน: ต่างแดน และยังไม่กลับมา

ระยะเวลา: นับจากวันพิพากษา 18 สิงหาคม 2551 – ปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก: หนังสือ เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์ ปี 2557
prachachat.net

บุกทลายอ่าง พัวพันค้ามนุษย์ เสี่ยกำพลโดนข้อหาอ่วม

นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ และ นางนิภา ธีระตระกูลวัฒนา

พาดหัวข่าว:

รวบ 113 ชีวิต! ‘วิคตอเรียซีเครท’ อาบอบนวดค้าประเวณีกลางกรุง

– สปริงนิวส์ 16 มกราคม 2561

สั่งจับ ‘เสี่ยกำพล-เมีย’ คดีวิคตอเรีย! โดนหนัก 12 ข้อหา ปปท. พบ จนท.รัฐ ซื้อกาม!

– ข่าวสด 20 มกราคม 2561

ขีดเส้นฟ้องอ่างวิคตอเรีย ‘เสี่ยกำพล’ !!

– คมชัดลึก 14 มีนาคม 2561

เหตุ: ช่วงต้นปี 2561 คดีมหากาพย์ที่เชื่อมโยงและพัวพันไปแทบทุกวงการชนชั้นนำในสังคมไทย ไล่ตั้งแต่จากน้ำบาดาลในอ่างไปจนถึงเม็ดเงินจำนวนระดับหลายพันล้านในตลาดหุ้นของประเทศ จากคดีค้ามนุษย์-ค้าประเวณี อาจลุ้นไปสู่ภาคสองของคดีฟอกเงินระดับชาติ

จุดเริ่มต้นจากวันที่ 12 มกราคม 2561 เมื่อศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ DSI ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองและมูลนิธิเอนเวเดอร์ เข้าตรวจค้นสถานบริการอาบอบนวด ‘วิคตอเรียซีเครท’ ตามหมายจับคดีค้ามนุษย์ โดยมี นายบุญทรัพย์ อมรรัตนศิริ หรือ ‘ป๋ากบ’ อายุ 55 ปี พนักงานเชียร์แขกเป็นผู้ต้องหา

คดี:  ความน่าสนใจยังอยู่ที่ว่าคดีนี้ยังเชื่อมโยงกับสองคดีค้ามนุษย์ก่อนหน้า ได้แก่

  1. คดีเมื่อปี 2557 เด็กสาวชาวเมียนมาร์อายุ 12 ปี ถูกนายหน้าล่อลวงมาเปิดบริสุทธิ์ที่ประเทศไทยในอพาร์ทเมนท์ย่านห้วยขวาง ก่อนจะนำตัวมาค้าประเวณีต่อที่วิคตอเรียซีเครท หลังจากนั้นสองปีเธอได้เข้าร้องเรียนผ่านมูลนิธิพิทักษ์สตรี จนอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ
  2. คดีค้ามนุษย์ปี 2560 ตำรวจนครบาลห้วยขวางเข้าจับกุมและให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงอายุระหว่าง 14-16 ปี จำนวนหกคน โดยให้การว่าถูกนำมาเปิดบริสุทธิ์ก่อนจะนำตัวไปขายบริการทางเพศต่อที่อาบอบนวดดังกล่าว จนนำมาสู่การบุกจับในวันที่ 12 มกราคม และสามารถรวบพนักงานหญิงบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าวและอาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ได้ทั้งหมด 113 คน

วันที่ 19 มกราคม 2561 ศาลอนุมัติหมายจับ นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ อายุ 61 ปี และ นางนิภา วิระเทพสุภรณ์ (ธีระตระกูลวัฒนา) อายุ 68 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท ทั้งหมด 12 ข้อหา คือ

  1. ร่วมกันค้ามนุษย์ โดยเป็นผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงาน หรือบริการอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ด้วยวิธีการฉ้อฉล หลอกหลวง หรือใช้อำนาจมิชอบ
  2. สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยได้ลงมือกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามที่ได้สมคบกัน และร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
  3. ร่วมเป็นผู้เป็นธุระจัดหา หรือชักพาไป ซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม
  4. ร่วมเป็นผู้เป็นธุระจัดหา หรือชักพาไปซึ่งเด็กที่มีอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม
  5. ร่วมเป็นผู้ดูแล หรือผู้จัดการการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณี ในสถานการค้าประเวณี อันเป็นสถานการค้าประเวณีที่มีบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่ถึง 18 ปี ทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย
  6. ร่วมเป็นผู้สนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระ จัดหา หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
  7. ร่วมเป็นผู้สนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหญิง และได้กระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
  8. ร่วมกันพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารแม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
  9. เป็นผู้รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม
  10. ร่วมเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานบริการ
  11. ร่วมเป็นผู้ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด และกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
  12. ร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี อยู่ร่วมกับผู้ซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับผู้ซึ่งค้าประเวณี รับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้ซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้

พร้อมกันพนักงานสอบสวนยังได้ประสานต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อสั่งการให้เฝ้าระวังติดตามบุคคลตามหมายจับ ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเพียงสิบกว่าวัน DSI ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ไม่มั่นใจว่าทั้งสองหนีออกช่องทางธรรมชาติแล้วหรือไม่ แต่ยังคงเร่งประสานและติดตามกันอยู่ พร้อมส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อตรวจสอบประเด็นความเชื่อมโยงของสถานบริการอาบอบนวดกับกลุ่มผู้ถือหุ้นและบริษัทที่เกี่ยวกับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการตรวจสอบ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าของประโยค “อาชีพตำรวจนี่ถือว่าเป็นไซด์ไลน์” ผู้มีส่วนพัวพันกับคดีดังกล่าว หลังจากถูกเปิดโปงว่ายืมเงิน นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ จำนวน 300 ล้านบาท เข้าพบ DSI ในฐานะพยานตามหมายเรียกเพื่อแจงปมธุรกรรมการเงินดังกล่าว โดยหลังจากให้ปากคำพนักงานสอบสวนแล้วได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานและองค์กรรัฐเรียบร้อยแล้ว ขอเรียนว่าตนยินดีและพร้อมให้ข้อมูลหน่วยงาน พูดได้แค่นี้”

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 DSI เตรียมสรุปสำนวนคดีค้ามนุษย์ ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้สองสำนวนคดี คือ

  1. นำเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มาค้าประเวณีและค้ามนุษย์ ตามหมายจับเดิมที่มี นายกำพล วิระเทพสุภรณ์  เจ้าของสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท นายบุญทรัพย์ อมรรัตนสิริ หัวหน้าเชียร์แขก กับพวกรวมเจ็ดราย เป็นผู้ต้องหา
  2. ความผิดที่ตรวจสอบพบขณะนำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนายกำพล และ นายศรัทธาธรรม แจ้งฉาย กับพวกรวมหกรายเป็นผู้ต้องหา และอาจเตรียมดำเนินคดีฟอกเงินต่อ ก่อนครบกำหนดฝากขัง 5 เมษายน 2561 อีกทั้ง พันตำรวจโทสุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ ผอ.กองคดีต่อต้านการค้ามนุษย์ ยังกล่าวอีกว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดีฟอกเงิน
อ้างอิงข้อมูลจาก: springradio
posttoday.com
thaipost.net
matichon.co.th
komchadluek.net
matichon.co.th

สินบน ‘บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล’ คุกผู้ว่าการ ททท.

จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

พาดหัวข่าว:

พบพิรุธ!! คดีฮั้วงาน “บางกอกฟิล์มเฟสติวัล” DSI ส่ง ป.ป.ช.เชือด”

– ผู้จัดการ online 17 มีนาคม 2551

ป.ป.ช. ขอหลักฐานเอฟบีไอมัดจุฑามาศรับสินบน

– ไทยรัฐ 12 กันยายน 2552

‘จุฑามาศ’ โดนจําคุก 66 ปี รับสินบนจัดเทศกาลหนัง

– ไทยรัฐ 30 มีนาคม 2560

เหตุ: คดีทุจริตอื้อฉาวระดับชาติ ในโครงการ ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ’ (บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล) เกิดขึ้นในยุคของ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการ ททท. ในขณะนั้น ซึ่งมีการคัดเลือก ‘ผู้จัดงาน’ โดยการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษแทนการประกวดราคา เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือผู้ว่าการ ททท. แสวงหาผลประโยชน์เรียกรับสินบนจากผู้จัดงาน

บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล เป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นทุกปี ภายใต้การบริหารของ ททท. โดยช่วงปี 2546-2549 นางจุฑามาศให้ เจอรัลด์ กรีน (Gerald Green) และ แพทริเซีย กรีน (Patricia Green) ผู้อำนวยการสร้างหนังจากฮอลลีวูด โอนเงินสินบนจำนวนทั้งสิ้น 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีของ นางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว เพื่อจะได้รับเลือกเป็นผู้จัดงานเทศกาลหนังโดยไม่ต้องผ่านการประกวดราคา ซึ่งทางบริษัทครอบครัวกรีนได้แบ่งเงินให้แก่นางจุฑามาศราวร้อยละ 10-20 ของมูลค่าสัญญา

คดี: วันที่ 29 มีนาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก นางจุฑามาศ ศิริวรรณ 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี แต่โทษสูงสุดตามกฎหมายให้จำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี ส่วน นางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ศาลสั่งจำคุก 44 ปี พร้อมยึดทรัพย์ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 62 ล้านบาท ขณะนี้จำเลยทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

สำหรับนายและนางกรีน ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 ให้จำคุก 6 เดือน และกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน รวมถึงให้จ่ายค่าปรับอีก 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท)

ระยะเวลา: เริ่มมีการทุจริตตั้งแต่ปี 2546-2549 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาต่อนางจุฑามาศจากการรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และส่งเรื่องต่อให้อัยการในปี 2554 ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดของจุฑามาศ ข้อหาร่ำรวยผิดปกติและประสานกับทางการสหรัฐเพื่ออายัดทรัพย์สิน กระทั่งวันที่ 29 มีนาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาจำคุก

อ่านเพิ่ม: waymagazine.org

จำคุก 3 ปี ลูกเทพเทือก คดีเขาแพง

นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชาย สุเทพ เทือกสุบรรณ

พาดหัวข่าว:

ปิดฉากที่ดิน ‘เขาแพง’ ยึดคืน-จำคุกลูกสุเทพและพวก

– เนชั่น

คดีบุกรุกยึดที่ดินเขาแพง จำคุก 3 ปี ‘แทน’ ลูกเทือก

– ข่าวสด

เหตุ: คดีบุกรุกที่ดินเขาแพง ถูกเปิดโปงออกมาเมื่อปี 2553 ระหว่างการอภิปรายของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้น สมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไม่ไว้วางใจและยื่นถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีครอบครองที่ดินบนเขาแพง หมู่ 6 ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อบุตรชาย ‘แทน เทือกสุบรรณ’ เป็นผู้ครอบครอง

โดยพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า ที่ดินดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพียงแต่ใช้ชื่อลูกชายบังหน้า อีกทั้งที่ดินทั้งหมดยังได้มาโดยมิชอบ หลังจากถูกตรวจสอบ อัยการจึงได้ยื่นฟ้องในวันที่ 23 กันยายน 2556 และคดีดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล

คดี: นายแทน เทือกสุบรรณ และพวก ใช้เวลาในการสู้คดีอย่างยาวนาน พร้อมทั้งให้ความร่วมมือแต่โดยดี แต่สุดท้ายศาลอาญาก็พิพากษาว่า ผิดจริง พร้อมสั่งลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ในคดีการบุกรุกที่ดินของรัฐ และป่าในพื้นที่เขาแพง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน สืบเนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่บนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้อง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดย นายแทน เทือกสุบรรณ และ นายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล ถูกพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี ขณะที่ นายพงษ์ชัย ฟ้าทวีพร และ นายสามารถ เรืองศรี ถูกพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อสู้คดี โดยศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์ แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ โดยตีราคาประกัน นายพงษ์ชัย และ นายสามารถ จำเลยที่ 1-2 คนละ 800,000 บาท นายแทน และ นายบรรเจิด จำเลยที่ 3-4 คนละ 500,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสี่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

อนึ่ง ก่อนหน้าที่จะเป็นคดีใหญ่โตนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนถึงการบุกรุกดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งสร้างบ้านพักและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งเมื่อเกิดการซักฟอกดังกล่าวหลายหน่วยงานจึงเริ่มเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจังและผลคดีออกมาเป็นเช่น ณ วันนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก: manager.co.th
bangkokbiznews.com
komchadluek.net
nationtv.tv

แฉแก๊ง ขรก. แม่ฮ่องสอน ซื้อบริการค้ากามเด็ก

พาดหัวข่าว:

แฉวงจรอุบาทว์! แก๊ง ขรก. ค้ากามแม่ฮ่องสอน ลุ้นหมายจับอีกนับ 10

– แนวหน้าออนไลน์ 23 เมษายน 2560

ฟัน ขรก.ขี้เหงากิน ด.ญ.! ผบช.ภ.5 ลุย 8 หมายจับวันนี้ มีทั้ง ตร.-ครู-แม่เล้า คดีซื้อกาม-รุมโทรมที่แม่ฮ่องสอน

– กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 30 เมษายน 2560

จี้อัยการแจงไม่ฟ้อง ขรก. ซื้อบริการเด็ก

– Workpoint News 14 ธันวาคม 2560

เหตุ: เป็นอีกข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ข้าราชการ’ และ ‘การค้ามนุษย์’ ในเด็กและเยาวชน ทั้งเป็นคดีต่อสู้กันระหว่างประชาชนที่พึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้ จึงต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อร้องต่อสื่อมวลชนด้วยตัวเอง

วันที่ 22 เมษายน นางน้ำเพชร (สงวนนามสกุล) เดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาที่กรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีลูกสาวของตัวเองถูกบังคับให้ค้าประเวณี ข่มขู่ว่าถ้าไม่ขายบริการ จะเปิดเผยเทปที่เธอและเพื่อนกำลังเสพยาเสพติด และเด็กๆ ที่อยู่ในแก๊งนี้จะต้องสักนกฮูกที่บริเวณเนินอก พร้อมให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ซื้อบริการทางเพศคือข้าราชการในจังหวัด ทั้งครู ตำรวจ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ภายหลังพ้นคดี)

นางน้ำเพชรให้การว่า ก่อนหน้านี้ได้ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำรวจภูธรภาค 5 แต่เรื่องไม่คืบหน้า จนเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) แต่ผ่านไปกว่าหกเดือนไม่มีความคืบหน้า ทั้งถูกข่มขู่ให้หวาดกลัว จึงหลบหนีเข้ามาในกรุงเทพฯ และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวเริ่มเกาะติดข่าวนี้บนหน้าหนังสือพิมพ์และในโซเชียลมีเดียอย่างพร้อมหน้า จึงทำให้เกิดความกดดันต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในเวลาต่อมามีการสืบสวนพบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นธุระจัดการหาเด็กในขบวนการ คือ ดาบตำรวจยุทธชัย ทองชาติ ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.น้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่แม่เล้าคือ เมย์-ปิยะวรรณ สุขมา และ ฟ้า-ปิยะทัสน์ เทียนสุวรรณ เบื้องต้นดาบตำรวจยุทธชัย ปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวว่ารู้จักกับผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายเป็นสายข่าวยาเสพติดให้ตำรวจ ส่วนผู้เสียหายคนอื่นนั้นส่วนใหญ่เต็มใจ

คดี: บทสรุปของคดีนี้มีว่า ดาบตำรวจยุทธชัยถูกดำเนินคดีสองข้อหาคือ

  1. เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม
  2. ถูกดำเนินคดีร่วมกับ เมย์ และฟ้า ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปค้ามนุษย์ หมายจับลงวันที่ 24 และ 25 เมษายน 2560 ตามลำดับ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่านายสืบศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหลักฐานว่าพ้นผิด มีคำสั่งให้กลับไปประจำที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตามเดิม หลังปฏิบัติภารกิจช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย ดูแลแผนงบประมาณจังหวัดประจำปี 2560 และ 2561 เสร็จสิ้น

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ผู้มีส่วนพัวพันกับคดีการซื้อบริการประเวณีเด็กในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในคดีดังกล่าว ทั้งตำรวจ ครู และข้าราชการระดับสูง ท่ามกลางข้อกังขาของกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ยื่นจดหมายถึงหน่วยงานรัฐให้มีการชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่มีการฟ้องข้าราชการกลุ่มนั้น ด้วยเหตุผลว่า การค้าบริการทางเพศในเด็กผิดกฎหมายหลายฉบับ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับข้าราชการระดับสูง ซึ่งจะต้องถูกนับเป็นกรณีตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ระยะเวลา: ถ้านับตั้งแต่วันที่นางน้ำเพชรเข้าฟ้องสื่อมวลชนจนเป็นข่าวคือวันที่ 22 เมษายน 2560 แต่ถ้านับตั้งแต่วันที่นางน้ำเพชรร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่มีความคืบหน้า ก็ต้องถอยเวลากลับไปหกเดือน (ตามคำให้การของนางน้ำเพชร) นั่นก็คือราวเดือนธันวาคม 2559 คดีความสิ้นสุดลงเมื่อออกหมายจับดาบยิ้ม ฟ้า และเมย์ และคำสั่งอัยการยืนยันไม่ฟ้องข้าราชการที่มีส่วนพัวพันคดี วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

อ้างอิงข้อมูลจาก: voicetv.co.th
thaipost.net
หนังสือพิมพ์ข่าวสด 23 เมษายน 2560

คืนยศร้อยตรี ดวง อยู่บำรุง พ้นคดีฆ่าดาบยิ้ม

พาดหัวข่าว:

ยกฟ้องทีมฆ่าดาบยิ้ม

– คมชัดลึกออนไลน์ 26 มีนาคม 2547

ยกฟ้อง ‘ดวงเฉลิม’ พยานหลักฐานอ่อน

– สยามรัฐ 27 มีนาคม 2547

ลูกเหลิม ‘เฮ’ เมียดาบยิ้ม ‘โฮ’

– ไทยโพสต์ 27 มีนาคม 2547

หากเสิร์ชประโยค “รู้ไหม กูลูกใคร” บทความจำนวนหนึ่งจับคู่วลีนั้นกับทายาทนักการเมืองตระกูล ‘อยู่บำรุง’ หลายๆ บทความเจาะจงไปที่ชื่อของ ดวง อยู่บำรุง (เดิมชื่อ ดวงเฉลิม อยู่บำรุง) และ วัน อยู่บำรุง (เดิมชื่อ วันเฉลิม อยู่บำรุง) กับคดี ‘ร่วมกันฆ่าดาบยิ้ม’ ในปี 2544

เหตุ: กลางดึกวันที่ 29 ตุลาคม 2544 ดาบตำรวจสุวิชัย รอดวิมุต (ดาบยิ้ม) ถูกยิงด้วยอาวุธปืน 6.35 มม. บริเวณหน้าผากด้านขวาทะลุท้ายทอยด้านซ้าย ณ ทเวนตี้คลับ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ดวง อยู่บำรุง ขณะนั้นอยู่ในยศร้อยตรี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่าดาบยิ้ม (ฐานะจำเลยลำดับที่ 5) ขณะที่ นายวัน อยู่บำรุง ผู้เป็นพี่ชาย ต่อมาถูกฟ้องเป็นจำเลยลำดับที่ 3 ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ใช้กำลังประทุษร้าย และช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ให้ถูกจับกุม

หลังเกิดเหตุ ดวง อยู่บำรุง หลบหนีการจับกุมเป็นเวลาหกเดือน ท่ามกลางการระดมตรวจค้นบ้านพักย่านบางบอนและบ้านพักนักการเมืองที่คาดว่านายดวงจะหลบหนีไปพักอาศัยแต่ไม่มีใครพบ ก่อนที่นายดวงจะเข้ามอบตัวที่สถานทูตไทยในมาเลเซีย ในเช้าวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 จากนั้นจึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ตลอดระยะเวลานั้น ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่คือ ‘ปื๊ด’ เฉลิมชนม์ บุริสมัย คนสนิทผู้ติดตามนายดวง เป็นผู้ลงมือ

หลังเหตุการณ์ 17 วัน นายดวงถูกปลดออกจากราชการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ถูกถอดยศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544

คดี: วันที่ 26 มีนาคม 2547 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนายดวงกับพวกอีกสามคน เนื่องจากพยานโจทก์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิง ไม่มีน้ำหนักและไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ให้เชื่อว่านายดวงเป็นผู้ลงมือกระทำจริง ส่วนนายวัน จำเลยที่ 3 พิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามเข้าสถานบริการทั่วประเทศ ทั้งนี้ อัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีความเห็นไม่อุทธรณ์ในคดีดังกล่าว

ต่อคำสั่งศาล เบื้องต้น นางสุพัตรา รอดวิมุต ภรรยาดาบยิ้ม ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอาญา ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย แต่ต่อมานางสุพัตราถอนฟ้อง ทั้งพนักงานอัยการเห็นควรไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงถอนฟ้องไปในที่สุด

เขาอยู่ไหน: เมษายน 2551 นายดวง อยู่บำรุง ได้รับการคืนยศร้อยตรี พร้อมกลับเข้ารับราชการ สังกัดกองการเมือง สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการคืนยศในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และขณะนั้น ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่ 6 มิถุนายน 2560 ร้อยตรีดวง อยู่บำรุง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากตำแหน่งเดิม นว. (สบ.1) ผบก.ส.4 ปรับยศ เป็น พันตำรวจตรี ในตำแหน่งสารวัตรฝ่ายอำนวยการ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร (สว.ฝอ.ภ.จว.สมุทรสาคร)

และแม้ไม่แน่ใจว่าเจ้าของวลี “รู้ไหม กูลูกใคร” จะมาจากพี่น้องตระกูลอยู่บำรุงหรือไม่ แต่เมื่อ 7 มิถุนายน หลัง ร้อยตรีดวง อยู่บำรุง ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง นายวัน อยู่บำรุง (บุตรชายคนกลาง) โพสต์สเตตัสส่วนตัวชี้แจงว่า พี่น้องทั้งสามไม่ใช่เจ้าของคำพูด #รู้มั้ยกูลูกใคร ด้วยข้อความว่า…

“ขอย้ำนะครับว่า โต้ง หนุ่ม ชาย ไม่เคยมีคนไหนพูดว่า #มึงรู้มั้ยกูลูกใคร พวกผมจำพ่อแม่ผมได้ครับ!!! สื่อใดก็ตามที่ชอบเหน็บแนมพี่น้องผมขอให้บ้าน #บึ้ม โคตรเหง้าตระกูลผมไม่เคยกร่างนะจะบอกให้”

ระยะเวลา: 29 ตุลาคม 2544 – 26 มีนาคม 2547 (คดีถูกยกฟ้อง)

อ้างอิงข้อมูลจาก: komchadluek.net
komchadluek.net
manager.co.th
manager.co.th

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า