ฆ่า แด่ศาลที่เคารพ: ประวัติศาสตร์แห่งตุลาการเบ็ดเสร็จ

“…จะดูแลรักษาความสงบเท่านั้น และขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่า อย่ากระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การปีนหรือรุกล้ำเขตศาล”

คำประกาศจากเครื่องขยายเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมในวันที่ 6 มีนาคม 2564 บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางไปถึงสถานที่นัดหมายและเริ่มกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เจ้าหน้าที่ยังคงกล่าวเน้นย้ำถึงอาณาเขตของศาลราวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องห้าม หากแม้มวลชนพยายามปีนข้ามกำแพงเข้าสู่ดินแดนของศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็พร้อมที่จะป้องกันอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์นั้นทันที 

นอกจากพื้นที่เชิงรูปธรรม ปริมณฑลอันลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ของศาลทั้งในประเทศไทยและระดับสากลนั้นมักเป็นที่ยอมรับในอำนาจของค้อนผู้พิพากษาที่หนักแน่นเหนืออิสรภาพของปัจเจกชนเสมอ อำนาจของศาลเบ็ดเสร็จและศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เคยมีปรากฏชัดเจนครั้งแรกห่างออกไปไกลถึงภูมิภาคยุโรป และห่างจากห้วงเวลาปัจจุบันไปอีกหลายร้อยปีนัก

ค.ศ. 1230 องค์สันตะปาปาแห่งโรมได้มีส่วนในการก่อร่างสร้างตัวขององค์กรสถาบันตุลาการชนิดพิเศษขึ้นมาเพื่อจัดการสภาพปัญหา ‘ไม่คริสเตียนเอาเสียเลย’ ตามเมืองน้อยใหญ่ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และบางส่วนของอิตาลี ซึ่งองค์กรที่ว่านี้ก็ได้ออกเดินทางไปตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีความต่างๆ ด้วยวิธีการอันรวบรัด ฉับไว และหากใช้แว่นตาของคนยุคปัจจุบันมองกลับไปก็คงเห็นถึงการตัดสินคดีที่ช่างไร้ซึ่งมนุษยธรรมและไม่เป็นไปตามหลักสากลเท่าใดนัก 

น่าเสียดายที่คำว่า ‘สากล’ ในยุค ค.ศ. 1230 หมายถึงเพียงแค่ในยุโรป และมาตรฐานการตัดสินโทษทั้งหลายของเหล่าตุลาการศาสนา (Inquisitor) แห่งศาลศาสนา (Inquisition) ก็ส่งประชาชนขึ้นตะแลงแกงไปแล้วนับพันชีวิต และความนิยมของการใช้องค์กรนี้แก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยในสังคมยังแผ่ขยายไปยังผู้ปกครองแห่งแคว้นคาสตีลและอารากอนที่นำไปปรับใช้บนแผ่นดินสเปน ซึ่งแน่นอนว่า มีการใช้อำนาจบันดาลความสงบเรียบร้อยจากปลายค้อนตุลาการเกิดขึ้นมากพอๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น 

ท่ามกลางคำตัดสินอันศักดิ์สิทธิ์และบัลลังก์ศาลอันสูงส่งเสียจนประหนึ่งแสงส่องจากสรวงสวรรค์ เราจำเป็นต้องกลับมาทำความเข้าใจถึงที่มาและสาเหตุของความศักดิ์สิทธิ์นี้ เพื่อชั่งน้ำหนักของค้อนที่ฟาดลงบนแท่นบัลลังก์ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลใดบนโลก ว่าความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งนี้เพิ่มน้ำหนักของแรงฟาดค้อนได้อย่างไร

Inquisition: ฆ่าคนนอกรีต…ไม่บาป

การก่อเกิดของกลุ่มตุลาการอันศักดิ์สิทธิ์เมื่อเกือบ 800 ปีที่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเท้าความไปถึงบริบทสังคมของยุโรปในอดีตเสียก่อน เนื่องด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในยุคกลางล้วนข้องเกี่ยวกับศาสนาจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่สามารถตัดศาสนาออกจากชีวิตประจำวันใดๆ ได้เลย แต่ด้วยกระแสของการปฏิเสธศาสนา หรือเรื่องเล็กน้อยอย่างเช่นการเอาใจออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้าไปบ้าง ก็มากเพียงพอแล้วที่ศาสนจักรจากกรุงโรมจะมองว่าเป็นการนำมาซึ่งภัยอันตรายใหญ่หลวงสู่ ‘สังคมสูงส่งศีลธรรม’ ทั้งหมด 

การส่งผู้มีศรัทธาในคุณความดีของศาสนาและความจงรักภักดีต่อศาสนาจักรไปเป็นหูเป็นตา (และในหลายครั้งคือการ ‘เป็นมือ’ อีกด้วย) ในการควบคุมเสถียรภาพของความศรัทธาในพื้นที่ต่างๆ แทนที่นักบวชท้องถิ่น จึงกลายเป็นกลยุทธ์และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กร Inquisition ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจศาสนจักรอย่างลึกซึ้ง ภายใต้การเอ่ยอ้างนามของสันตะปาปาเพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดี ภารกิจขององค์กรนี้มีตั้งแต่การจัดการ ‘พฤติกรรมนอกรีต’ (hierarchy) ไปจนถึงพฤติกรรมละเมิดกฎของศาสนจักร ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดนั้นมีตั้งแต่การเนรเทศ การบังคับให้เดินทางแสวงบุญ จนถึงขั้นเลวร้ายที่สุดคือ การประหารด้วยการเผาทั้งเป็น

การไต่สวนด้วยวิธีสุดโหดเพื่อให้จำเลยยอมรับสารภาพภายใต้ Inquisition เริ่มครั้งแรกจากสาส์นของสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ภายใต้ชื่อสาส์นว่า Ad extirpanda ปี ค.ศ. 1252 ที่อนุญาตให้มี ‘การทรมานได้บ้าง’ กรณีที่ Inquisition เห็นว่าจำเป็น สาส์นนี้ของสันตะปาปาจึงเป็นเสมือนใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงในการไต่สวนต่อจำเลยได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ที่มาของอำนาจแห่งศาลได้สนับสนุนและรับรอง (endorsement) การใช้ความรุนแรงดังกล่าวแล้ว จนเหล่าจำเลยที่ถูกกล่าวหาและพาไปขึ้นศาลศาสนา แทบจะต้องทำใจได้เลยว่าจะเจอกับกระบวนการยุติธรรมอันไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน (แน่ล่ะ คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ยังไม่ปรากฏขึ้นในขณะนั้นจนกระทั่งอีกหลายร้อยปีถัดมา) ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เผชิญกับความเจ็บปวดทรมานแทบทนไม่ไหว จนต้องสารภาพถึงความผิดที่ตนเองอาจจะไม่ได้ก่อ ก่อนที่จะยินยอมให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่อโชคชะตาที่น่าสงสารของตนต่อไป

อำนาจตุลาการศักดิ์สิทธิ์ของ Inquisition เดินทางมาถึงสเปนเมื่อ กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอน และ พระนางเจ้าอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคาสตีล ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กร Inquisition แห่งสเปนขึ้น ภายใต้บริบทของความแตกต่างทางศาสนาระหว่างคริสเตียน ยิว และอิสลาม เนื่องด้วยสเปนเพิ่งถูกยึดครองกลับคืนมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนจักรอีกครั้ง อำนาจของคณะ Inquisition แห่งสเปนจึงมีหน้าที่ในการบังคับให้ผู้คนที่มีความเชื่อแตกต่างกันหันมานับถือศาสนาคริสต์ หรือไม่ก็ต้องได้รับโทษจากการไม่นับถือไปเสีย พิธีศีลจุ่มเพื่อเปลี่ยนศาสนาจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากการมีชีวิตในศาสนาใหม่อาจเป็นหนทางที่ดีกว่าการต้องเอาตัวเองไปขึ้นศาลเพราะไม่น่าจะได้เดินกลับออกมาแบบเป็นๆ

การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายของ Inquisition เกิดขึ้นที่เมืองวาเลนเซียในสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1826 ครูใหญ่ของโรงเรียนหนึ่งนามว่า กาเยตาโน ริโปล (Cayetano Ripoll) ถูกไต่สวนความผิดฐานสอนแนวคิดในการเข้าถึงความรู้ผ่านเหตุผลและสิ่งอื่นๆ บนโลกโดยไม่ผ่านหลักคิดทางศาสนาและพระผู้เป็นเจ้า ความผิดในการสอนให้นักเรียนใช้เหตุและผลมากกว่าความศรัทธานี้เองได้ทำให้ริโปลถูกประหารด้วยการรัดคอ

ดังนั้นนอกจากองค์กรศาลศาสนาอย่าง Inquisition จะไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือธำรงรักษาศีลธรรมที่ว่ากันว่าดีสำหรับสังคมยุคนั้น โดยกำหนดจากผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือกฎหมายของรัฐฆราวาสเท่านั้น แต่ยังใช้ควบคุมให้ผู้คนในสังคมต้องหันมาเชื่อถือในสิ่งเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องรับผลที่ตามมาอย่างเลวร้ายอีกด้วย เรียกได้ว่าค้อนของตุลาการสูงสุดนั้นมีน้ำหนักของความศรัทธาเพียงพอที่จะบีบบังคับให้ผู้คนหันมาศรัทธาเพิ่ม หาไม่แล้วก็จะถูกพลังศรัทธาอันเปี่ยมล้มบดขยี้เสียจนศพไม่มีที่ฝัง

ในนามของความดี บัลลังก์ศาลจึงศักดิ์ศักดิ์และสูงส่ง

การขยายอำนาจและขอบเขตของ Inquisition มีเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากสงครามศาสนาในตะวันออก เนื่องจากทิศทางการต่อสู้กับศัตรูของศรัทธาไม่ใช่การออกไปหาศัตรูจากภายนอกอีกต่อไป แต่เป็นการกลับมามองหาศัตรูภายในบ้านของตนเองที่ประพฤติผิดแบบแผนที่ควรจะเป็น ซึ่งในยุคนั้นไม่ต้องพูดไปไกลถึงการนับถือลัทธิซาตาน การเป็นแม่มดหมอผี หรือการเชื่อถือศาสนาอื่นเดิมที่ตนนับถือก่อนคริสตจักรจะเข้ามา เพียงแค่ใครสักคนไม่มีศาสนา (atheist) คนผู้นั้นก็ต้องถูกขึ้นศาลเพื่อรับการไต่สวนจากผู้ที่ได้อำนาจมาจากศาสนจักร

การไต่สวนและลงโทษนั้นแทบไร้ข้อสงสัยใดๆ จากสาธารณชน เนื่องจากอำนาจที่พวกเขาใช้กล่าวอ้างนั้นมีที่มาจากองค์สันตะปาปา ซึ่งในความเชื่อของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก องค์สันตะปาปาคือประมุขสูงสุดและเป็นเพียงผู้เดียวที่ได้รับการส่งต่อความศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้า ประกอบกับการเชื่อมั่นถึงจุดประสงค์ของการธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดีของสังคม ศาลศาสนาจึงเป็นประหนึ่งตำแหน่งอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งด้วยอำนาจจากทางธรรมมากกว่าอำนาจจากทางโลก แม้แต่อำนาจทางโลกอย่างองค์กรของรัฐในยุคกลางก็ยังต้องยำเกรงและให้ความร่วมมือกับเหล่า Inquisitor ไม่ว่าจะย้อนแย้งหรือผิดหลักการทั่วไปของกฎหมายท้องถิ่นเพียงใดก็ตาม

สิ่งที่ทำให้ Inquisition อยู่เหนือกว่าศาลทั่วไปในพื้นที่คือ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งมิได้อิงอยู่บนตัวบทกฎหมายใด หรือพูดอีกแง่คือเป็นกฎหมายที่แยกไม่ออกอยู่แล้วตามธรรมชาติของชีวิตผู้คนในยุคกลาง แต่ปัจจุบันหลังจากการเกิดขึ้นและสลายไปของศาลศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏว่าความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจศาลทั่วโลกก็ยังคงดำรงอยู่ และในบางประเทศยังถูกสถาปนาให้ทรงอำนาจมากยิ่งขึ้นในการเมืองร่วมสมัย ดังเช่นตัวอย่างของบางประเทศที่ใช้คำว่า ‘บารมี’ ในการขึ้นสู่อำนาจหรือใช้อำนาจในทางศาลให้ศักดิ์สิทธิ์

คำว่า ‘ศาล’ แม้แต่ในคำนิยามของราชบัณฑิตยสถาน นอกจากจะหมายถึงองค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแล้ว ยังหมายถึงที่สถิตดำรงอยู่ของ ‘ผี’ หรือ ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ อีกด้วย ดังจะเห็นว่าการใช้คำเรียก ‘ศาลเจ้า’ หรือ ‘ศาลพระภูมิ’ นั้นเป็นคำเดียวกันกับ ‘ศาลแพ่ง’ ‘ศาลอาญา’ หรือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คำว่าศาลมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ 

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลผ่านการสะสมบารมีขึ้นมานี้เองที่ ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ทำให้ตุลาการสถาปนาอำนาจ ‘ตุลาการภิวัตน์’ (judicial activism) ในสนามการเมืองได้ โดยเฉพาะเมื่อสังคมเข้าสู่สภาวะฉุกเฉินที่เส้นแบ่งของอำนาจและการตรวจสอบอำนาจพร่าเลือน อำนาจตุลาการจึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดบทลงโทษ ชี้นำ และจัดการสภาพปัญหาอันวุ่นวายของสังคมให้กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งหากมองให้ละเอียดแล้วก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากข้ออ้างของยุคกลางถึงเหตุจำเป็นที่จะต้องมีการก่อตั้งศาลศาสนาตามเขตมณฑลต่างๆ เพื่อผดุงศรัทธาและศีลธรรมเอาไว้

หากจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อหลายร้อยปีก่อนก็คงจะมีเพียงการเปลี่ยนแหล่งที่มาของอำนาจศาลเท่านั้น ว่าพวกเขากำลังลงค้อนด้วยนามของสิ่งใดเพื่อรักษาความสงบและความศรัทธา

อำนาจเบ็ดเสร็จ จากแรงศรัทธาที่เด็ดขาด สู่แห่งหนในสังคมการเมือง 

ทั้งหลายที่กล่าวมานั้นได้ประกอบสร้างอำนาจศาลให้สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เสียจนบางครั้งทำให้เส้นแบ่งของอำนาจ ระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พร่าเลือน บารมีอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของอำนาจตุลาการเกิดขึ้นได้เนื่องจากได้รับการรับรองสถานะ ผู้ดี คนดี รู้ดี และภักดี จากอำนาจแหล่งอื่นตามที่ กฤษณ์พชร โสมณวัตร ได้อธิบายเอาไว้ในงานเขียนชื่อ Constructing the Identity of the Thai Judge: Virtue, Status, and Power ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักจะหลงลืมไปก็คือ แม้แต่ตัวศาลเอง ไม่ว่าจะเป็นศาลศาสนาในยุคกลาง หรือศาลยุคใหม่ในรัฐประชาธิปไตยใดๆ ก็ตาม ต่างก็ต้องถูกมองในฐานะ ‘ตัวแสดงทางการเมือง’ (political agent) ด้วยเช่นกัน 

ถึงแม้ว่าในโลกร่วมสมัยปัจจุบันเราจะรู้จักมักคุ้นกับระบบการคานอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่การปกครองในระบอบการเมืองโลกหลายรัฐยังคงใช้สิ่งเหล่านี้เป็นฉากหน้าในการปกครองด้วยกฎหมาย (Rule by Law) ที่ใช้อำนาจของกฎหมายและคำตัดสินในการกดดันหรือกำจัดศัตรูของรัฐอยู่ ประหนึ่งศาสนจักรในยุคกลางที่เคยใช้ศาลศาสนา กระทำต่อเหล่า ‘คนนอกรีต’

สิ่งที่องค์กรศาลทั้ง Inquisition และศาลอื่นๆ ยังมีลักษณะการใช้อำนาจและบารมีแบบเดียวกันก็คือ นอกจากจะใช้เพื่อจัดระเบียบสังคมให้เกิดศีลธรรมอันดีและธำรงไว้ซึ่งความศรัทธาแล้ว อีกด้านหนึ่งยังส่งผลให้เกิดการ ‘ล่าแม่มด’ หรือสิ่งที่ถูกอำนาจของสังคมในขณะนั้นมองว่านอกรีต เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่เต็มไปด้วยความโน้มเอียง จนแทบจะกล่าวได้ว่า ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ ว่าเป็นแม่มดนั้นถูกตัดสินว่าเป็น ‘ผู้กระทำความผิด’ ไปเสียตั้งแต่แรกแล้วก่อนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งขัดกับหลักกระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกยึดถือในปัจจุบัน ที่ระบุว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย มิใช่ผู้ต้องหาก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด และหากจะมีศาลใดในโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างปัจจุบันแสดงท่าทีต่อจำเลยในลักษณะดังกล่าว ก็แสดงว่าพวกเขากำลังพาสังคมย้อนกลับไปสู่โลกแห่งความหวาดกลัวและมืดมนเฉกเช่นสังคมยุโรปในสมัยยุคกลาง

ที่มา
  1. History.com inquisition
  2. Eustace Boylan SJ.(2012) THE INQUISITION: IN THE LIGHT OF HISTORICAL PERSPECTIVE. 
  3. Encyclopedia.com The Inquisition In The Old World
  4. Matthew A. McIntosh. (2020). A Brief History of Christian Inquisitions. จาก https://brewminate.com/a-brief-history-of-christian-inquisitions/
  5. ราชบัณฑิตสถาน
  6. Eugénie Mérieau (2016) Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 46:3, 445-466, DOI: 10.1080/00472336.2016.1151917
  7. นพพล อาชามาส. (2018). การบังคับใช้ศาลทหารต่อพลเรือน: ประวัติศาสตร์การเมืองว่าด้วยกลไกการปกครองของระบอบอำนาจนิยมในประเทศไทย. ตุลาการธิปไตย ศาล และการรัฐประหาร. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. 
  8. SOMANAWAT, K. (2018). Constructing the Identity of the Thai Judge: Virtue, Status, and Power. Asian Journal of Law and Society,5(1), 91-110. doi:10.1017/als.2017.32

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า