การปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาตามแนวทางสากล

เรื่อง: ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง
ภาพประกอบ: Shhhh

 

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นการสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีและการพิจารณาพิพากษาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางด้านกฎหมาย วิธีบัญญัติมีความแตกต่างจากกฎหมายสารบัญญัติทางอาญาอย่างสำคัญ กล่าวคือกฎหมายสารบัญญัติทางอาญาเป็นเรื่องของการตรากฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ให้การกระทำใดเป็นความผิดและมีโทษในทางอาญา (Criminalization) กฎหมายสารบัญญัติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสอดคล้อง กับขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละท้องถิ่นที่มีการตราและบังคับใช้กฎหมายนั้น

ส่วนระบบการสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นกฎหมายว่าด้วยวิธีสบัญญัติเป็นเรื่องวิธีปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน กฎหมายวิธีสบัญญัติจึงต้องการการปฏิบัติที่มีมาตรฐานในระดับที่สอดคล้องกับหลักการสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ซึ่งในอดีตความด้อยมาตรฐานทางกฎหมายของประเทศไทยเคยนำมาซึ่งปัญหาการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยที่รัฐไทยต้องให้สิทธิพิเศษทางกฎหมาย (extraterritorial right) ให้แก่รัฐต่างประเทศสามารถบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่างประเทศต่อบุคคลของตนในดินแดนของประเทศไทยได้ กล่าวได้ว่าระบบการสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเป็นระบบที่จำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล ไม่อาจกล่าวอ้างว่าระบบกฎหมายแบบไทยๆ เหมาะกับสังคมแบบไทยๆ หากปล่อยให้มีระบบการสอบสวนดำเนินคดีที่ไร้มาตรฐานจะทำให้เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจและกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนตามอำเภอใจ การเรียกรับผลประโยชน์ในทางคดี ปล่อยปละละเลยให้คดีขาดอายุความ การสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือเพื่อการเอาเปรียบในทางคดี ก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมและสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมไทยในที่สุด

กระบวนการยุติธรรมที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีในหลากหลายมิติและวิธีการจะทำให้เกิดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้บังคับบัญชาแทรกแซงไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงปฏิรูประบบการสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาให้มีระดับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นต่ออารยประเทศ

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีความบกพร่องล้าหลังอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ดังนี้

  1. การใช้กำลังจับกุมเอาตัวประชาชนไปทำร้ายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ หากจับผิดตัวก็ปกปิดความผิดที่จะมาถึงตนโดยการยัดเยียดข้อหาและของกลาง เช่น ยาเสพติดแก่ผู้ถูกจับถูกทำร้าย
  2. เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาเกินกว่าความผิดที่อัยการจะฟ้องดำเนินคดีแก่ประชาชนผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกจำคุกหนักเกินกว่าข้อหาที่กระทำความผิดจริง
  3. แจ้งข้อหาที่ไม่มีมูลเหตุ พฤติการณ์และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีและภายหลังอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกเสียอิสรภาพเสียชื่อเสียงอย่างไม่เป็นธรรม
  4. ส่งสำนวนเร่งด่วนวันสุดท้ายของระยะเวลาฝากขังในคดีสำคัญๆ เช่น คดียาเสพติด โดยเจตนาทำให้อัยการพิจารณาคดีไม่ทัน เป็นเหตุให้อัยการต้องรีบฟ้องคดีไปก่อนเท่าที่พยานหลักฐานตามแนวทางที่พนักงานสอบสวนประสงค์จะให้เป็น [1] เพื่อให้อัยการไม่มีเวลาพิจารณาและสั่งสอบสวนเพิ่มเติมรวบรวมพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย (Beyond Reasonable Doubts) [2] และส่งผลเสียหายแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง กล่าวคือ
  • หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จริง เท่ากับได้ใช้อำนาจและบุคลากรของรัฐรังแกละเมิดสิทธิมนุษยชนคนบริสุทธิ์ และกรณีจะยิ่งเลวร้ายกว่าหากคนบริสุทธิ์นั้นต้องติดคุกสูญเสียชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี
  • หากจำเลยคือผู้กระทำผิดตัวจริง การยกฟ้องย่อมหมายถึงการปล่อยอาชญากรลอยนวลไปก่อกรรมกับประชาชนต่อไป และใช้กระบวนการสอบสวนฟ้องร้องที่ไม่รอบคอบนี้ฟอกตัวอาชญากรเพราะไม่อาจจะดำเนินคดีในความผิดเดิมได้อีกเพราะขัดต่อหลักการสากล ว่าบุคคลย่อมไม่ถูกดำเนินคดีในการกระทำใดถึงสองครั้ง (Ne bis in idem) [3]
  1. ส่งสำนวนการสอบสวนล่าช้าจนเสียหายต่อความยุติธรรมและคดีขาดอายุความ เช่น

1) คดีลักลอบนำไม้พะยูงออกนอกประเทศที่จังหวัดสมุทรปราการ เกิดเหตุ 16 พฤศจิกายน 2550 ส่งสำนวน กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังเกิดเหตุถึง 10 ปี อัยการไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมได้เพราะพยานหลักฐานหายหมดและบางข้อหาขาดอายุความ

2) คดีนำเข้างาช้างที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดเหตุ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ส่งสำนวน มกราคม 2560 ภายหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี อัยการไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมได้เพราะพยานหลักฐานหายหมดและบางข้อหาขาดอายุความ

3) คดีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเหตุลอบยิงผู้เสียชีวิตจากบริเวณนอกรั้วบ้าน ไม่ทราบตัวผู้ยิง ไม่มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิด ไม่มีตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ผู้ต้องสงสัย และส่งสำนวนเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี อัยการไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมได้เพราะพยานหลักฐานสูญหายหมดแล้ว

  1. ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดทางเลือกในการริเริ่มคดี โดยคดีอาญาส่วนใหญ่จะต้องผ่านช่องทางพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ทำให้ขาดการดุลและคานอำนาจสอบสวนในระหว่างหน่วยงานสอบสวนขั้นต้น ทำให้นักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลสามารถวิ่งเต้นหรือควบคุมแนวทางการดำเนินคดีฝ่ายตำรวจเพียงหน่วยงานเดียวได้โดยง่ายรวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ เช่น ป่าไม้ ศุลกากร อุตสาหกรรม ควบคุมอาคาร เป็นต้น ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติต่างๆ นั้นมีความชำนาญในกฎหมายต่างๆ ของตนยิ่งกว่าพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมากแต่ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนได้

 

แนวทางปฏิรูประบบสอบสวนฟ้องร้องตามแนวทางสากล

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยปกติจะเริ่มต้นในสองรูปแบบ คือ การจับกุมเพราะเหตุกระทำความผิดซึ่งหน้า และการดำเนินคดีจากการร้องทุกข์กล่าวโทษ การปฏิรูปจึงต้องกระทำทั้งระบบตั้งแต่เริ่มต้นคดีตั้งแต่การใช้อำนาจจับกุม การแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งเป็นระบบสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั้งระบบกล่าวหาแบบ Common law เช่น ประเทศอังกฤษ [4] สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น [5] เกาหลีใต้ [6] และระบบไต่สวนแบบ Civil Law เช่น ประเทศฝรั่งเศส [7] เยอรมนี [8] ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. เมื่อมีการใช้อำนาจจับกุมโดยกล่าวอ้างว่าประชาชนกระทำความผิดเป็นการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบและเพื่อป้องกันประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมิชอบ พนักงานผู้จับกุมจึงทำหน้าที่เพียงแจ้งข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการจับแก่ผู้ถูกจับ (ไม่ใช่การแจ้งข้อหา) [9] และรีบส่งรายงานบันทึกจับกุมให้อัยการเพื่อตรวจสอบเหตุแห่งการจับ พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตรวจสถานที่มีการควบคุมตัวหากมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจจับควบคุมตัว [10] โดยทันทีเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเร็วภายใน 48 ชั่วโมง และปัจจุบันสำนักงานอัยการทั่วประเทศมีการปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรชันสูตรในคดีที่เจ้าหน้าที่ทำให้บุคคลถึงแก่ความตายโดยอ้างการปฏิบัติหน้าที่ (การวิสามัญฆาตกรรม) ตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว การแจ้งการจับให้อัยการทราบทันทีจึงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริงและควรกระทำอย่างยิ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนผู้ถูกจับขณะยังมีชีวิตอยู่
  2. การแจ้งข้อกล่าวหาและการใช้อำนาจคุมขังควบคุมตัวประชาชนจะต้องเป็นข้อกล่าวหาที่บุคคลนั้นจะถูกฟ้องร้องว่ากระทำความผิดตามคำฟ้องของพนักงานอัยการเท่านั้น [11] เพื่อป้องกันการแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมากและข้อหาหนักเกินกว่าความเป็นจริงเป็นเหตุให้มีการคุมขังนานเกินกว่าข้อหาที่อัยการจะฟ้องดำเนินคดีจริงๆ หรือโดยต่อมาอัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีตามข้อกล่าวหานั้นเลย จึงเป็นการคุมขังผู้บริสุทธิ์ที่นับว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

เช่น ปี 2559 คดีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่จับกุมเด็กสาวอายุ 18 ปีเศษ และตั้งข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดและนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังมากว่าสองเดือน จึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุเด็กสาวขับรถจักรยานยนต์ออกไปซื้อของและนำเงินที่เหลือวางไว้ในตระกร้าหน้ารถ หลังจากกลับมาแล้วเพื่อนก็ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวออกไปจำหน่ายยาบ้าคนเดียว แล้วนำเงินจากการล่อซื้อมาวางที่ตระกร้าหน้ารถปะปนรวมกับเงินเดิมของเด็กสาวตำรวจไล่ติดตามมาเพื่อนทิ้งรถหลบหนีไปได้ เด็กสาวไม่ทราบว่ามีเงินล่อซื้ออยู่หน้าตระกร้าด้วยจึงรับว่าเป็นเงินของตนทำให้ถูกจับไม่ได้ประกันตัวจึงถูกจำคุกในความผิดที่ตนเองไม่ได้กระทำมาแล้ว 2 เดือน 3 วัน อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องและปล่อยตัว เด็กสาวคนนี้ต้องออกจากโรงเรียน ติดคุกสูญเสียเสรีภาพ เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเพราะความบกพร่องของระบบการจับกุมสอบสวนและฝากขังของกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ

ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาจะกระทำได้โดยผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา พยานหลักฐานโดยได้รับความรับรองของข้อหาจากพนักงานอัยการแล้วเท่านั้น [12] หากอัยการไม่แจ้งข้อหาผู้ถูกจับภายในเวลา 48-72 ชั่วโมงจะต้องปล่อยตัวผู้ถูกจับทันที หากอัยการแจ้งข้อกล่าวหาและมีการควบคุมตัวต่อไปจะต้องฟ้องร้องต่อศาลให้ทันภายในเวลา 30 วัน [13] (ประเทศไทยไม่ว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ก็ตามผู้ต้องหาอาจถูกขังได้นานถึง 84 วัน)

  1. เมื่อมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความผิดมีอัตราโทษเท่าใดหรือทราบตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ หากคดีมีความจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนทันที[14] พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานต่อสำนักงานอัยการท้องที่เกิดเหตุเพื่อทราบเหตุโดยไม่ชักช้า [15] พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อพนักงานอัยการจะได้ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอัยการในเรื่องข้อหาที่จะฟ้องตามแนวทางการดำเนินคดีของอัยการเพื่อพิสูจน์ความผิดให้ได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษ เพื่อให้อัยการได้วางแนวทางการรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญตามข้อหานั้นก่อนที่พยานบุคคลหรือพยานวัตถุจะสูญหายไปและป้องกันการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดโดยปล่อยให้คดีขาดอายุความในความผิดที่อัยการต้องการจะฟ้องดำเนินคดี [16]
  2. เนื่องจากอัยการมีภาระการนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดให้ปราศจากข้อสงสัยเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษจึงต้องสร้างระบบการรวบรวมพยานหลักฐานที่อัยการมีโอกาสและเวลามากพอที่จะพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นสงสัยก่อนมีคำสั่งฟ้องคดี (Beyond Reasonable Doubts) [17] ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ใช้ในการสั่งคดีของอัยการในประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯ และสถิติคดีที่ญี่ปุ่นอัยการทำให้ศาลลงโทษได้สูงถึง 99 % เพราะสามารถป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตกเป็นแพะอย่างไม่เป็นธรรมออกไปจากคดีได้ตั้งแต่เริ่มคดี
  3. การมอบให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติต่างๆ เช่น ป่าไม้ ศุลกากร อุตสาหกรรม ควบคุมอาคารฯ มีอำนาจรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายที่ตนรักษาการณ์และความผิดอื่นๆ ด้วย หากตรวจพบในคราวเดียวโดยการแจ้งเหตุที่พบและปรึกษาข้อกฎหมายและปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ[18] โดยตนเองตั้งแต่ริเริ่มคดี เจ้าหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานอัยการในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน[19] แนวทางนี้จะขจัดปัญหาความไม่ชำนาญในงานการสอบสวนของตำรวจเพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีความรู้ ความชำนาญในกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนยิ่งกว่าพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมาก และในทางปฏิบัติปัจจุบันเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็เป็นฝ่ายรวบรวมพยานหลักฐานเองอยู่แล้วจึงช่วยลดขั้นตอน แต่เพิ่มประสิทธิภาพในทางคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

การตรวจสอบจับกุมได้หลายหน่วยงานนี้จะขจัดปัญหาการคอร์รัปชันเพราะจะเกิดการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานกันเอง ฝ่ายการเมืองหรือแม้แต่พนักงานอัยการก็ไม่สามารถควบคุมทิศทางคดีเพราะมีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจริเริ่มสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในทางคดีได้ด้วยตนเอง

ในการนี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง เพียงแต่หน่วยใดพบการกระทำความผิดก่อนก็มีอำนาจกล่าวโทษดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้จบไปในคราวเดียว เป็นการเพิ่มทางเลือกช่องทางการดำเนินคดีอีกหลายช่องทางจากช่องทางตำรวจที่มีอยู่เดิม จึงไม่มีปัญหาความไม่พร้อมเพราะไม่ตัดอำนาจฝ่ายตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่เดิม เป็นระบบที่ใช้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

  1. ให้พนักงานอัยการในทุกท้องที่สามารถรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและริเริ่มสอบสวนคดีได้เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญา เช่นเดียวกับประเทศอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น[20] ฝรั่งเศส[21] ในกรณีที่ประชาชนมาร้องเรียนว่าหน่วยงานอื่นปฏิเสธไม่ดำเนินคดีหรือดำเนินคดีโดยไม่ให้ความเป็นธรรมในทางคดี เช่น ไม่รวบรวมพยานหลักฐานบางประการ เป็นต้น หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนตั้งใจทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งอัยการล่าช้าเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา พนักงานอัยการก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ได้ด้วยตนเองไม่จำต้องให้เกิดความเสียหายจากเหตุคดีขาดอายุความเพราะการรอการส่งสำนวนคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การแสวงผลประโยชน์ในกระบวนการปราบปรามอาชญากรรม ผู้มีอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายนั้นมีมูลค่ามหาศาล การปฏิรูปย่อมได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ทุกระดับชั้นตลอดไปจนถึงนักการเมืองซึ่งเป็นผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารนี้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าจึงไม่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการของคนพวกนี้ ประชาชนเท่านั้นที่จะต้องตื่นรู้และร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ระบบการสอบสวนตามแนวทางใหม่นี้จะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพเพราะเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างของระบบยุติธรรมทางอาญา ทั้งปรัชญารากฐานแนวความคิด การบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงาน ที่จะช่วยตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน แทรกแซงวิ่งเต้นล้มคดี ผู้มีอิทธิพลหรือผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนไม่อาจจะสั่งการหรือควบคุมผลคดีตามที่ตนต้องการได้ พนักงานสอบสวนจะมีอิสระอย่างแท้จริงในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ ไม่ต้องตั้งหน่วยงานใหม่ เพียงแต่ใช้บุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่เดิมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบที่ถูกต้อง ประชาชนทุกคนจะได้รับความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกกล่าวหา ป้องกันการใช้อำนาจโดยไม่ชอบตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง


อ้างอิงจาก:
[1] McConville, M., Sanders, A. and Leng, R., The Case for the Prosecution, London: Routledge, 1991.
[2] CRS Annotated Constitution, “The due process clauses of the Fifth and Fourteenth Amendments “[protect] the accused against conviction except upon proof beyond a reasonable doubt of every fact necessary to constitute the crime with which he is charged” Legai Information Institute, Cornell University Law School.
In re Winship, 397 U.S. 358, 364 (1970) . Supplement: [P. 1761, add to n.83:] See also Sullivan v. Louisiana, 508 U.S. 275 (1993) (Sixth Amendment guarantee of trial by jury requires a jury verdict of guilty beyond a reasonable doubt).
[3] VAN BOCKEL, Willem Bastiaan, The Ne Bis in Idem Principle in EU Law, Kluwer Law International, 2010 http://cadmus.eui.eu/handle/1814/14641
[4] Brownlee, I. D., ‘The Statutory Charging Scheme in England and Wales: Towards a Unified Prosecution System’ (2004) Criminal Law Review, 869, at pp. 902-903.
[5] Article 203, The Code of Criminal Procedure of Japan
[6] Changwon Pyo, Prosecutor, Police and Criminal Investigation in Korea: Critical Review, (The Prosecutor’s Office Law, Cause 4, To Direct and Supervise police regarding criminal investigation), p.196
[7] Dr Despina Kyprianou, The Code of Criminal Procedure of France (CCP), “The police must report to prosecutors all offences known to them and seek instructions as to the lines of investigations. They also have the formal obligation to inform the public prosecutors of all arrests they make and of the decision to put a suspect in police custody..” University of London – LSE, 2006.
[8] Dr Despina Kyprianou, Comparative Analysis of Prosecution Systems (Part II): The Role of Prosecution Services in Investigation and Prosecution Principles and Policies, University of London – LSE, 2006,  p.9
[9]  Paul Bergman, UCLA Law School Professor, “Arrest and prosecution functions are separated primarily to protect citizens against the arbitrary exercise of police power. Police officers usually make arrests based only on whether they have good reason (probable cause) to believe a crime has been committed. By contrast, prosecutors can file formal charges only if they believe that they can prove a suspect guilty beyond a reasonable doubt.”
[10] The Criminal Procedure Code of the French Republic  Article 41 The district prosecutor supervises police custody measures. He visits the places where persons are held whenever he considers this to be necessary….
[11] U.S. v. Batcelder, U.S. Supreme Court. Ct. 1979.
[12] The Criminal Justice System in Japan: Prosecution, Unafei Paper, p.44
[13] 18 U.S. Code § 3161 – Time limits and exclusions
(b) Any information or indictment charging an individual with the commission of an offense shall be filed within thirty days from the date on which such individual was arrested or served with a summons in connection with such charges.
[14] Code of Criminal Procedure of German
Section 163 (Duties of the Police)
(2) The authorities and officials in the police force shall transmit their records to the public prosecution office without delay. Where it appears necessary that a judicial investigation be performed promptly, transmission directly to the Local Court shall be possible.
[15] The Criminal Procedure Code of the French Republic
Article 19 Judicial police officers are required to notify the district prosecutor forthwith of the felonies, misdemeanours and petty offences of which they have knowledge. As soon as their operations are concluded, they must send him the original copy as well as a certified copy of the official records they have drafted. Any document or other instrument related to the offence is sent to him at the same time; the articles seized are held at his disposal.
Official records must state the capacity as officer of the judicial police of the person who drew them up.
[16] Article 193, The Code of Criminal Procedure of Japan
[17] The Criminal Justice System in Japan: Prosecution, Unafei Paper, p.46
[18] The Criminal Procedure Code of the French Republic
Article 12 Judicial police operations are carried on under the direction of the district prosecutor by the officers, civil servants and agents designated by the present Title.
[19] Code of Criminal Procedure of German
Section 161 [Information and Investigations]
(1) For the purpose indicated in Section 160 subsections (1) to (3), the public prosecution office shall be entitled
to request information from all authorities and to make investigations of any kind, either itself or through the
authorities and officials in the police force provided there are no other statutory provisions specifically regulating their powers. The authorities and officials in the police force shall be obliged to comply with the request or order
of the public prosecution office and shall be entitled, in such cases, to request information from all authorities.
[20] The Criminal Procedure of Japan
Article 191
  • A public prosecutor may, if he/she deems it necessary, investigate an offense him/herself.
  • A public prosecutor’s assistant officer shall investigate an offense under the orders of a public prosecutor.
Article 193
(1) A public prosecutor may, within his/her jurisdiction, give necessary general instructions to judicial police officials regarding their investigation.  Such instructions  shall  be  given  by  setting  forth  general  standards  for  a  fair investigation and other matters necessary for the fulfillment of prosecution.
(2) A public prosecutor may, within his/her jurisdiction, also issue to judicial police officials  such  general  orders  as  are  necessary  for  them  to  cooperate  in investigations.
(3) A public prosecutor may, when it is necessary for the prosecutor him/herself to investigate an offence, issue orders to judicial police officials and have them assist in the investigation.
(4) In the case of the preceding three paragraphs, judicial police officials shall follow the instructions and orders of the public prosecutor.
[21] The Criminal Procedure Code of the French Republic
Article 41 the district prosecutor institutes or causes to be taken any step necessary for the discovery and prosecution of violations of the criminal law.

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า