สุรชัย ตรงงาม: ไม่มีพลเมืองตื่นรู้ในประเทศที่กดทับ

สุรชัย ตรงงาม

บนความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย ไม่เพียงจะมอบความอยุติธรรมให้แก่ประชาชนแล้ว ยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ว่า ในเมื่อประเทศนี้ยังคงใช้ช่องว่างทางกฎหมายปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน แล้วประชาชนจะเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้อย่างที่รัฐบาลวาดฝันไว้ได้อย่างไร …บรรทัดถัดจากนี้คือคำถามที่ยิงตรงไปถึงหัวใจของความไม่เท่าเทียม

กล่าวถึงความเป็นธรรมในสังคมไทย การผูกขาดใดๆ ในกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรม หากกระบวนการยุติธรรมยังถูกผูกขาด ไม่ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล ก็ย่อมเกิดปัญหา

ในฐานะที่ผมเข้าไปมีส่วนในการทำคดีของชุมชนหรือสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามบอกว่าต้องการพลเมืองที่ตื่นรู้ แต่ผมบอกเลยว่าการเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดจำนวนมาก

ถ้ายกตัวอย่างกรณีประมงพื้นบ้าน ตำบลยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านเขาใช้โพงพางเป็นเครื่องมือหาปลามาแต่ไหนแต่ไร วันดีคืนดีก็ถูกประกาศว่าเป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย จริงอยู่กฎหมายอาจจะบอกอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าประเทศเรามักจะมองกฎหมายเป็นเนื้อเดียวกันไปหมดทุกพื้นที่ โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่าง จริงๆ ชาวบ้านเขามีสิทธิที่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่กฎหมายจากส่วนกลางบอกว่าผิด แต่ในพื้นที่ของเขา ในบริบทวิถีชุมชนของเขา เครื่องมือหาปลาชนิดนี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ

สำหรับผม ผมคิดว่ากฎหมายไม่มีช่อง ไม่เปิดช่องทางให้เขาสามารถที่จะแสดงความเห็นหรือพิสูจน์ในเรื่องแบบนี้ได้เลย เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย แล้วก็เอาไปวางทาบทุกพื้นที่ นั่นจึงทำให้เกิดปัญหา

เรามักมองกฎหมายในมาตรฐานเดียว เราไม่เคยยอมรับความเป็น ‘พหุ’ ที่ยังมีกฎเกณฑ์ของชุมชน หรือสิทธิของชุมชนซ้อนทับอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะจัดวางให้เหมาะสมอย่างไร นี่คือประการแรก

ลองนึกดูว่า ถ้าวันดีคืนดี พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่อาจจะมีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาตั้ง อย่างบ่อขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งอยู่กลางทุ่งนา มันเป็นไปได้อย่างไร ของอันตรายขนาดนั้น ถามว่าชุมชนมีส่วนแสดงความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหนที่จะตัดสินใจเลือกได้ว่าการพัฒนาในชุมชนของเขาควรจะเป็นอย่างไร แล้วอะไรที่เป็นผลกระทบต่อชุมชนเขาจะถูกจัดการในพื้นที่ให้เหมาะสมอย่างไร เขาจะไปตรวจสอบได้ที่ไหน

ผมเคยไปขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ เพราะเรามีกฎหมายข้อมูลข่าวสาร หลักกฎหมายของข้อมูลข่าวสารคือ เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง แต่ในความเป็นจริงแล้วลองไปขอดูเถอะครับ มันไม่ง่าย คือหนึ่ง-ขออะไร สอง-เขาอาจจะไม่ยอมตอบว่าที่คุณขอไปเมื่อไหร่จะได้ ตอนนี้ผมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัตถุเคมีทางการเกษตร ขอไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพิ่งตอบกลับมาในเดือนพฤษภาคมว่าไม่ให้ ถามว่าอะไรทำให้ต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนที่จะบอกว่าไม่ให้

ถ้าชุมชนเพียงแค่สงสัยว่าจะมีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนตัวเอง แล้วต้องการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสารราชการ คงไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าราชการไม่ยอมให้ข้อมูลก็ต้องไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เราเคยมีคดีถึงขั้นว่า กรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้เปิด อีกฝ่ายก็ไปฟ้องศาลขอคุ้มครองชั่วคราวว่าไม่ให้เปิดอีก ถ้าชาวบ้านอยากรู้ว่าโครงการไปถึงไหนแล้ว ก็ไม่มีข้อมูลข่าวสารที่จะเปิดดูได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องเผชิญ สมมุติว่ามีโรงงานตั้งอยู่ตรงนั้นแล้ว พอชาวบ้านไปร้องเรียน หน่วยงานก็อาจจะบอกว่ามีการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่วันดีคืนร้าย ปัญหาเดิมก็กลับมาอีก กลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่ไม่มีการแก้ไข หมายถึงว่า บอกวันนี้ก็อาจจะแก้ แต่พออีกอาทิตย์หนึ่งปัญหาก็อาจจะกลับมาอีก พูดง่ายๆ คือ ไม่มีหลักประกันเลยว่า มีการอนุมัติหรือการอนุญาตอย่างไร และจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมอย่างไร

ตัวอย่างกรณีหมู่บ้านคลิตี้ กาญจนบุรี ที่มีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย จะเห็นว่าไม่มีการควบคุมกำกับดูแลเลย มีการปล่อยสารเคมีกันมาอย่างยาวนาน ปนเปื้อนในแม่น้ำ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย ต้องรอให้ชุมชนตื่นตัว มีนักข่าวลงไปทำข่าว ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความหรือองค์กรต่างๆ จึงจะนำไปสู่การฟ้องร้องคดี ผ่านไป 10 กว่าปี ก็มาบอกว่าต้องฟื้นฟู พูดง่ายๆ ว่าถ้าฟื้นฟูตั้งแต่พบปัญหาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ป่านนี้ก็คงมีความคืบหน้า

ปัจจุบันมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษาศาลฎีกาบอกว่า หน่วยงานต้องฟื้นฟู เอกชนละเมิดต้องฟื้นฟู แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู ฉะนั้น กลไกในลักษณะนี้จึงไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เราจะมีหลักประกันใดในความยุติธรรม

สุรชัย ตรงงาม

ถ้าวันนี้เรามีพลเมืองผู้ตื่นรู้ ถามว่าเราจะพบอะไร เราจะพบว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีอาศัยกลไกบางอย่างในกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่นกรณีชาวบ้านสกลนครไปร้องเรียน อบต. ว่าการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลมีผลกระทบต่อที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีอำนาจในการดูแล ไม่ได้ไปโฆษณากล่าวหาอะไรเลย แต่ชาวบ้านที่ไปร้องเรียนกลับถูกฟ้องว่าหมิ่นประมาท

นี่คือตัวอย่างของการดำเนินคดีเพื่อที่จะฟ้องปิดปาก ฟ้องโดยไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ได้ผลในทางคดีโดยตรง แต่วัตถุประสงค์หลักจริงๆ เพื่อให้หวาดกลัว หรือเป็นภาระ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเพียงแค่ฟ้อง รับฟ้อง และไต่สวน ก็แทบจะบรรลุผลแล้ว เพราะทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน คดีที่สกลนคร หลายมูลนิธิต้องระดมเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าไม่มีล่ะ ชาวบ้านก็ต้องไปว่าจ้างทนายความ ซึ่งก็เป็นภาระของเขาอีก ลักษณะการฟ้องคดีแบบนี้ทำได้ง่ายมาก สามารถฟ้องเองก็ได้ ไปแจ้งความกับตำรวจ อัยการ ก็ได้

ปัญหาของเรื่องนี้คือ กระบวนการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ถ้าสิ่งที่ชาวบ้านร้องเรียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท แต่พอเจอกลไกการกลั่นกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ประชาชนที่ไปใช้สิทธิร้องเรียนมีความเสี่ยงต่อชีวิต กลายเป็นว่าเมื่อใช้สิทธิแล้ว แต่ขาข้างหนึ่งต้องไปอยู่ในคุก

สุรชัย ตรงงาม

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้อกำจัดค่อนข้างมาก วันดีคืนดีเราก็จะพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปอยู่ในนาข้าวได้อย่างไร แล้วเราก็อาจจะพบว่า อ๋อ…มันมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการประกอบกิจการเกี่ยวกับขยะหรือโรงไฟฟ้าในเขตผังเมือง พูดง่ายๆ คือผังเมืองเดิมที่เคยห้ามไว้ วันนี้ไม่ต้องไปดูแล้ว พื้นที่ที่เขาเคยจัดเป็นโซนต่างๆ เช่น พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่อยู่อาศัย ไม่ต้องไปดูแล้ว ดังนั้นก็อาจมีบ่อขยะไปอยู่ในนาข้าวเมื่อไหร่ก็ได้

ตัวบทกฎหมายอะไรก็ตามที่ประกาศขึ้นมาโดยไม่ผ่านการมีส่วนร่วม อย่างเช่นคำสั่ง คสช. ย่อมนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ๆ โดยไม่เปิดช่องให้ตรวจสอบได้ หรือแม้กระทั่งการชุมนุมของกลุ่ม We Walk ที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ด้วยการเดินจากธรรมศาสตร์รังสิตไปที่ขอนแก่น ก็ถูกดำเนินคดีว่าเป็นการมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทั้งๆ ที่ในขณะที่มีการชุมนุมช่วงเดือนมกราคม 2561 เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุม และมี พ.ร.บ.การชุมนุม ออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีคำสั่ง คสช. ออกมาใช้ขัดขวางการแสดงออกหรือเสรีภาพการชุมชนได้ ลักษณะแบบนี้จึงไม่ต่างจากคำพูดที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน และผมอยากเสริมด้วยว่า นอกจากขังคนจนแล้วยังขังคนที่มีปากมีเสียง ปกป้องประโยชน์เพื่อส่วนรวมด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในลักษณะนั้นมากขึ้น

เราจะปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นในลักษณะแบบนี้ต่อไปหรือไม่ หรืออาจจะต้องมีการทบทวนกลไกทั้งระบบ ทั้งการฟ้องร้องคดีที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อย่างกรณีหมู่บ้านคลิตี้ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ซึ่งในลักษณะที่ยาวนานแบบนี้ต้องมีการพิสูจน์ทางเทคนิค ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ชุมชนจะไปหาผู้เชี่ยวชาญได้จากไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีวิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันเราก็ยังไม่มี เราอาจจะมีศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งหมดก็ยังไม่วิธีพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงที่จะเอื้ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่ประชาชนได้


หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากบทเสวนาในงาน ‘WAY dialogue: ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 จัดโดย WAY ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า