สิ่งที่ต้องสูญเสียหลังคดีจำนำข้าว

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี
ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

คดีจำนำข้าวยังไม่สิ้นสุดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งคาดว่าเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งออกหมายจับ พร้อมเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 กันยายน 2560

ในระหว่างที่บรรยากาศยังคงคุกรุ่นและฝุ่นยังตลบ WAY พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยข้อสังเกตที่ได้จากการติดตามการพิจารณาคดีนี้ที่นอกเหนือไปจากการลุ้นระทึกว่า ศาลจะมีคำสั่งจำคุกหรือไม่จำคุกเท่านั้น แต่วิเคราะห์ไปถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคำตัดสินของศาลที่จะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของรัฐบาลชุดถัดๆ ไปในอนาคต

ในแง่หนึ่ง คำตัดสินของคดีนี้จะเป็นการพิสูจน์ความเป็น ‘สองมาตรฐาน’ ของกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง

ในแง่หนึ่ง คดีนี้จะเป็นตัวอย่างให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในระบอบเลือกตั้ง ต้องพึงสังวรทุกฝีก้าวในการกำหนดทิศทางบริหารประเทศ กระทั่งอาจไม่สามารถสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ เพื่อตอบสนองประชาชนเสียงส่วนใหญ่

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยคงไม่อาจก้าวพ้นกับดักของการพัฒนาอย่างที่คาดหวัง


กระบวนการพิจารณาคดีรับจำนำข้าว มีความแตกต่างไปจากภาวะปกติหรือไม่

กระบวนการพิจารณาคงไม่ได้แตกต่างนัก แต่ประเด็นที่แตกต่างอยู่ที่ที่มาของคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีที่มีการพิจารณาไต่สวนไปถึงตัวนโยบายของรัฐ หรือที่เรียกว่านโยบายทางการเมือง

นโยบายทางการเมือง หมายความว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถที่จะผลิตนโยบายต่างๆ และมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันได้ อย่างเช่นการรับจำนำข้าว ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้รูปแบบการประกันราคา ซึ่งนโยบายทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถ้านโยบายไหนไม่เหมาะสมก็ต้องมีการลงโทษทางการเมืองไป เช่น ถ้าเห็นว่านโยบายจำนำข้าวไม่เหมาะสม สูญเสียงบประมาณ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องออกมาคัดค้าน แต่กรณีนี้กลับถูกลากเข้าสู่คดีความทางกฎหมาย ซึ่งเดิมทีควรเป็นเรื่องความรับผิดทางการเมือง

ถ้าเป็นความรับผิดทางการเมืองจะมีขอบเขตของบทลงโทษแค่ไหน

ถ้าในระบอบการเมืองปกติก็ทำได้ตั้งแต่การตั้งกระทู้ อภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงมีผลต่อการเลือกตั้งใหม่ แต่พอลากมาเป็นความรับผิดทางกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะกระเทือนต่อไปในอนาคตก็คือ พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่กล้าผลิตนโยบายใหม่ๆ ออกมาหาเสียง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เรามักจะพูดกันว่า เลือกพรรคไหนก็ไม่เห็นต่างกันเลย นโยบายอะไรก็ไม่แตกต่าง แต่พอรัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายใหม่ขึ้นมา แล้วถูกลากไปเป็นคดีความ สุดท้ายมันก็จะย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมคือ ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าผลิตนโยบายอะไรใหม่ๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนโยบายที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กรณีการฟ้องร้องเอาผิดจากนโยบายทางการเมืองแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใช่ไหม

ที่ผ่านมาถ้ามีการทุจริตในนโยบายทางการเมืองก็ต้องมีคนรับผิด แต่คำถามคือ แล้วจะขีดเส้นอย่างไร สมมุติว่ากรณีการซื้อเรือดำน้ำแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้น ถามว่านายกฯ ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายไหม ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลในภาวะปกติอยากซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ คุณก็ไปโฆษณากับประชาชนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำเยอะๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็ว่าไป ส่วนคนในสังคมจะชอบไม่ชอบ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อันนี้ก็ต้องมาว่ากันในทางการเมือง ถ้าฝ่ายค้านเห็นว่านโยบายนี้ไม่ดี ก็ต้องออกมาคัดค้าน ออกมาเสนอข้อมูลโต้แย้ง แต่เรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในเชิงนโยบาย ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะตัดสินได้

หากมีการทุจริตจากนโยบายทางการเมือง ตัวนายกฯเองต้องรับผิดอย่างไร

การที่จะให้นายกฯรับผิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ต้องปรากฏหลักฐานว่าตัวนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘โดยทุจริต’ หมายความว่า ต้องมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ และสามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน

กรณีจำนำข้าว ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้นโดยคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ยับยั้งอะไรสักอย่าง ก็อาจเข้าข่ายได้ว่าปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ มีการดำเนินการต่างๆ เพื่อขัดขวางการทุจริต อันนี้ก็แปลว่าไม่ได้เพิกเฉย เท่าที่จำได้คือ คุณยิ่งลักษณ์มีการตั้งคณะกรรมการให้ดูแลงานแต่ละด้าน ซึ่งถ้ากรรมการดำเนินการไม่เรียบร้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีโครงการจำนำข้าวถือว่าเลยจุดที่จะเอาผิดในทางการเมืองแล้วใช่ไหม

ถ้าตามกระบวนการปกติ หลังจากคุณยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งกันใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องชูนโยบายขึ้นมาแข่ง แต่สถานการณ์วันนี้ไม่เปิดโอกาสให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีความพยายามที่จะจัดการกับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ให้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่มุ่งจะให้เกิดการเอาผิดทางกฎหมาย

สิ่งที่ผมอยากเตือนก็คือ ในอนาคตการเลือกตั้งจะไร้ความหมายลงไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีพรรคไหนกล้าเสนอนโยบายที่ตอบสนองกับคนจำนวนมาก เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาก็สุ่มเสี่ยงที่จะติดคุกด้วย

ซึ่งแต่เดิมหากนโยบายของพรรคไหนไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนในวงกว้าง อย่างมากถ้ามีการเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้าพรรคนั้นไม่ได้รับความนิยมก็ต้องพ้นไป แต่บัดนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกำลังถูกลากให้กลายเป็นการรับผิดทางอาญา

เท่าที่ติดตามกระบวนการยุติธรรมในคดีจำนำข้าว นับตั้งแต่ขั้นไต่สวน ชี้มูล จนเข้าสู่การพิจารณาของศาล มีขั้นตอนไหนบ้างที่ดูแล้วผิดแปลกไปจากมาตรฐานปกติ

กรณีที่เห็นได้ชัดคือ การทำงานขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. แม้กระทั่งอัยการก็ตาม ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ถ้าย้อนไปดูคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นคดีเอาผิดกับพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าได้เร็วมาก ทั้งที่บางคดีเกิดขึ้นทีหลัง ขณะที่หลายคดีของพรรคประชาธิปัตย์กลับพิจารณาได้ช้ามาก ลักษณะเช่นนี้เองที่เขาเรียกกันว่า ‘สองมาตรฐาน’ แล้วก็เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

ถ้าเปรียบเทียบกรณีจำนำข้าว รัฐบาลเพื่อไทยถูกกล่าวหาให้ต้องรับผิดทางอาญา ขณะที่กรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี 2553 มีคนตายนับร้อย แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์กลับไม่ต้องรับผิด ซึ่งผมคิดว่าการออกแบบกระบวนการยุติธรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำให้สังคมไทยบิดเบี้ยวเยอะ

คดีนี้ถือเป็นการท้าทายความเป็นสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมอีกครั้งใช่ไหม

ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่หรือคนที่ติดตามคดีนี้มักไม่ค่อยได้คาดเดาผลการตัดสินบนฐานของหลักวิชา ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็นับว่าอันตราย เพราะสังคมใดๆ ก็ตามจะอยู่ร่วมกันได้มันต้องมีกระบวนการยุติธรรมซึ่งพอจะเป็นที่ไว้วางใจได้ หรือยืนอยู่บนหลักการที่พอจะคาดหมายได้

เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถมีอภินิหารทางกฎหมายได้ คืออย่างน้อยเมื่อเกิดคดีความ เราก็ต้องพอจะคาดเดาได้ว่าวิธีการตัดสินของศาลจะยืนอยู่บนบรรทัดฐานแบบไหน ไม่ใช่ว่าพอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วคาดเดาอะไรไม่ได้เลย ซึ่งผมคิดว่าที่ผ่านมาองค์กรที่ค่อนข้างมีปัญหามากคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาคำวินิจฉัยบนฐานของหลักวิชาได้

ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า สังคมไหนที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ตั้งข้อกังขา สังคมนั้นก็ยากจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้โดยสงบ

มีคำพูดอยู่ว่า กฎหมายเป็นเรื่องของการตีความ

การตีความทางกฎหมายจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีถ้อยคำในกฎหมายคลุมเครือหรือความหมายไม่ชัดเจน แต่ถ้าในเรื่องที่ต้องชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่ต้องมาตีความ ที่ผ่านมาในหลายกรณีถ้อยคำทางกฎหมายไม่ได้คลุมเครือ แต่ก็กลับมีการตีความไปเป็นอย่างอื่น อย่างเช่นกรณี คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นลูกจ้าง (รายการชิมไปบ่นไป) ซึ่งคำว่า ‘ลูกจ้าง’ มีนิยามทางกฎหมายชัดเจนมาก แต่ศาลรัฐธรรมนูญในยุคนั้นก็ไม่หยิบเอานิยามทางกฎหมายมาใช้ แต่ไปใช้นิยามตามพจนานุกรม พอเป็นแบบนี้ก็คงไม่ต้องเรียนกฎหมายกันแล้ว

ในการติดตามการพิจารณาคดีจำนำข้าว มีอะไรบ้างที่ประชาชนทั่วไปควรรู้

โดยส่วนตัวผมคิดว่า คำวินิจฉัยคดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของหลักวิชาทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ในแง่หนึ่งยังขึ้นกับเงื่อนไขและปัจจัยทางการเมืองด้วย และไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในทางใดก็ตาม ท้ายสุดแล้วก็จะไม่ทำให้สังคมไทยดีขึ้นในชั่วพริบตา หรือจะเลวลงหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้

สิ่งที่คนติดตามคดีนี้ต้องรู้ก็คือ สังคมไทยมาถึงจุดที่ต้อง ‘ปฏิสังขรณ์’ สถาบันทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิสังขรณ์ ไม่ใช่แค่ ‘ปฏิรูป’ หรือการเปลี่ยนผ่านอะไรอีกแล้ว มันต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา เนื่องจากทศวรรษที่ผ่านมาหลายๆ สถาบันถูกดึงมาใช้จนเละเทะไปพร้อมกับเงื่อนไขทางการเมือง โดยคนทั้งสังคมได้ร่วมกันทำให้มันเละเทะ

สิ่งที่คนไทยต้องคิดถึงคือ เราจะร่วมกันสร้างอนาคตข้างหน้าอย่างไร โดยเฉพาะสถาบันการเมืองกับกระบวนการยุติธรรมที่พอจะเป็นธรรม เป็นกลาง เป็นอิสระ และไว้ใจได้

คำวินิจฉัยคดีนี้ ในแง่หนึ่งจึงเป็นภาพสะท้อนของสัมพันธภาพทางการเมืองของผู้มีอำนาจ รวมถึงเห็นความขัดแย้งทางการเมืองว่ากำลังเดินไปถึงจุดไหน และใครมีอำนาจเหนือกว่าในระดับไหน

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า